จิตตปัญญาเวชศึกษา 60: หยั่งรากวิญญาณครู​ ผลิใบวิญญาณแพทย์


หยั่งรากวิญญาณครู ผลิใบวิญญาณแพทย์

เมื่อวันที่ 26-28 พฤษภาคมที่ผ่านมา ผมและคุณหมอวรวุฒิ โฆวัชรกุล ผอ.รพ.สันทรายเชียงใหม่ ได้มีโอกาสไปทำ workshop สุนทรียสนทนาให้กับคณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ เนื่องในวาระการอบรมปฐมนิเทศอาจารย์ใหม่ (บวกอาจารย์ที่มีประสบการณ์สูงบางท่านที่สนใจ) นัยว่าเป็นโครงการปูพื้นฐานให้อาจารย์แพทย์รุ่นน้องที่จะเข้ามาในวงการแพทยศาสตรศึกษา อ.พรรณี รองคณบดีแพทยศาสตรศึกษาขอให้ผมเขียนโครงการและหลักการให้หน่อย ผมก็เลยนั่งคิดอยู่ระยะหนึ่งก่อนที่ชื่อโครงการจะผุดกำเนิดขึ้นมาเอง คือ "หยั่งรากวิญญาณครู ผลิใบวิญญาณแพทย์" นี่เอง

จะว่าไปคำนี้ไม่ได้คิดขึ้นเองทั้งหมด พี่วิธาน ฐานะวุฑฒ์ (เจ้าของ column ในมติชนและแต่งหนังสือมากมาย อาทิ วิถีแห่งกอล์ฟ หัวใจใหม่ชีวิตใหม่ ฯลฯ) เคยเปรยๆว่ากลุ่มของเราที่สนทนามากันบ่อยๆต่างกรรมต่างวาระ พอจะเรียกเป็นกลุ่มอะไรดี ก็เกิดคำ "หยั่งราก ผลิใบ" เกิดขึ้น มีความหมายที่ดี มั่นคง ก้าวหน้า ไปอย่างช้าๆ สวยงาม ไม่เร่งรีบ เมื่อผมมีวาระอบรมครูแพทย์ปุ๊บ ก็เอามาสมาสกันได้อย่างแนบเนียน โครงการนี้ต้องเรียกว่าชื่อโครงการมาก่อนรายละเอียดว่าจะทำอะไรบ้าง (หลังจากตั้งชื่อเสร็จ ก็นั่งยิ้มน้อยยิ้มใหญ่อยู่หลายชั่วโมง ไม่รู้จะเขียนรายละเอียดโครงการอย่างไรดี!!)

หยั่งราก ผลิใบ

การศึกษาเสมือนกับการประคบประหงมปลูกต้นไม้ แต่ละต้นแต่ละพันธุ์ล้วนมีบุคลิก มีทื่มา มีจุดอ่อนจุดด้อยของตนเอง และทั้งหมดนี้ึคือสุนทรีย์แห่งสัจจธรรม หน้าที่ของครูก็เป็นเสมือนชาวสวน ที่ต้องเข้าใจและมีความรักอย่างไร้เงื่อนไขต่อเมล็ดพันธุ์ต่างๆเหล่านี้ทั้งหมด จึงจะถ่ายทอดจิตวิญญาณ ความงาม ความดี ลงไปในเนื้อนาของเมล็ดเหล่านี้ได้ทั้งหมด ขณะที่เราเพาะปลูกไม้ดอก ไม่้ผล ไม้ประดับนั้น เราอาจจะนึกถึงสิ่งที่เราต้องการ คือส่วนของดอก ส่วนของผล ส่วนของความสวยงามที่แต่ละต้นจะแสดงออกมา เราจะต้องคำนึงถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ีอยู่เบื้องหลังดอก ผล และส่วนต่างๆเหล่านี้อยู่เสมอ และตลอดเวลา คือ "รากและใบ"

รากและใบเป็นอวัยวะสำคัญที่อาจจะถูกละเลยจากผู้ดูแล เพราะมันไม่ได้ถูกแสดงออกมา แต่ดอก ผล จะสวยงาม แข็งแรง น่าประทับใจ จะต้องถูกหล่อเลี้ยงท่ามกลางดินอันอุดม น้ำท่าอาหารสมบูรณ์ครบทุกหมู่ และข้อสำคัญคือ ท่ามกลางความสุนทรีย์ ความเย็นฉ่ำ ท่ามกลางความไพเราะ อ่อนหวาน และความรักของผู้ดูแล องค์ประกอบอันมองไม่เห็นเหล่านี้ ที่จะเติมความสด เติมพลัง และเติมจิตวิญญาณลงไปในชีวิตที่กำลังงอกงามขึ้นมา

กว่าต้นไม้จะผลิดอก ออกผลมา จะต้องมีการตระเตรียมมากมาย เรียกได้ว่าเราไม่อาจจะคาดหวังดอกอันสวยสดงดงาม เนื้อผลอันหวานฉ่ำได้เลย หากไม่ได้ลงไปดูแลรายละเอียดของการหยั่งราก ผลิใบของต้นไม้ของเราก่อน

  

การสร้าง "ครูแพทย์" จึงเป็นกระบวนการที่ละเมียดละไม และสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการเรียนการสอนที่เน้นปฏิบัตินั้น  role model แทบจะเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของ end products ที่จะออกมาทีเดียว นักเรียนจะไม่ได้เรียนและเลียน จากอะไรที่เกิดขึ้นในห้องเรียน ห้องบรรยายหรอก แต่นักเรียนจะเรียนและเลียนจากสิ่งที่ครูอาจารย์ทำจริงๆ นอกห้องเรียน ในบริบทจริง ได้แก่ ที่แผนกผู้ป่วยนอก (OPD) ที่หอผู้ป่วยใน ตอนราวน์ข้างเตียง​ (bedside round) ว่าอาจารย์พูดอย่างไร วางเท้าอย่างไรที่ไหน มีปฏิสัมพันธ์กับคนไข้ยังไง ผมเคยพานักเรียนแพทย์ไปออกตรวจที่ OPD สักพักก็มีธุระออกมานอกห้องสักประเดี๋ยว ตอนจะกลับเข้าไปก็เกิดความอยากรู้ว่า เอ.. ตอนเราไม่อยู่ เด็กๆเขาทำอะไรกัน (นิสัยไม่ดีครับ ลักลอบอย่างนี้ไม่แนะนำ... อิ อิ) ก็เห็นนักเรียนกำลังเข้าคิว หยิบเอาฟิล์ม X-ray ของคนไข้มาลองเสียบเข้าตู้กันใหญ่ ก็เลยสงสัย เอ.. เขาหัดอะไรกัน เดินเข้าไปถาม นักเรียนก็ตอบอายๆว่า กำลังลองหัดสะบัดฟิล์มเสียบเข้าที่หนีบอยู่ เห็นอาจารย์เสียบทีไร ก็ดัง โป๊ะ! ฟิล์มติดแน่นกับที่หนีบ รู้สึกว่าเท่ห์ดี smart ดี ก็เลยถึงบางอ้อ อ๋อ..... ที่แท้เราพูดน้อยไปหน่อยว่าเราคิดอะไรอยู่ในหัว โถถั่ง..... เด็กๆไม่รู้จะเรียนอะไรดี ก็เลยเรียนการเสียบฟิล์มแทน

บทเรียนนี้สอนให้ทราบว่า ครูแพทย์ควรจะคิดออกมาดังๆเวลาดูคนไข้ นักเรียนจะได้ทราบว่าการเป็นแพทย์นั้น มีอะไรเกิดขึ้นในสติ สมาธิ และภายในศีรษะ หัวใจของแพทย์ตลอดเวลา

งานนี้พี่รัตนา พันธ์พานิช คณะแพทยศาสตร์ มช. ซึ่งเข้า workshop สุนทรียสนทนามากมายหลายครั้ง เป็นผู้ประสานงาน และจัดให้ที่สวนทวีชล ดอยสะเก็ด เป็นสวนพฤกษชาติขนาดใหญ่ 280 กว่าไร่ บรรยากาศดีมาก ถ้าใครต้องการก็สามารถเดินออกกำลังได้เต็มที่ท่ามกลางธรรมชาติสวยงามเลยทีเดียว เรียกว่าพ้องกับชื่อโครงการหยั่งราก ผลิใบของเรามากๆเลย

Session แรกของ workshop เราเรียกว่า "Check-in" (ปรากฏว่า มีผู้เข้าร่วมหลายท่าน เข้าใจว่าให้ไปเช็คอินที่โรงแรม ก็เลยเสียเวลาไปนิดหน่อยกว่าจะตามตัวมาเช็คอินที่ workshop ได้ครบ... อันนี้เรียกว่าผมเขียนกำหนดการไม่ชัดเจน และก็เห็นการ "downloading" ความหมายพร้อมๆกันไปด้วย) น้องๆอาจารย์ใหม่หลายๆคนสนใจมาเพราะชื่อโครงการ หรือถูกชื่อโครงการเตะตา รวมทั้งอาจารย์อาวุโสหลายท่านที่กรุณาสนใจ ก็ออกจะ intrigue ด้วยชื่อนี้เหมือนกัน ถือเป็นการประสบความสำเร็จทาง marketing ขั้นต้น แต่ที่เหมือนกันหมดก็คือรายการที่เขียนเอาไว้คืออะไรไม่มีใครทราบเลย อาทิ bodyscan, Stake-holder Interview, Revolution from Within, Theory U, The Inverted U, etc ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นขั้นที่สอง คือ ไม่มีใครสามารถจะ download ของเก่ามาได้

การ check-in ที่จริงแล้วนั้น ทำดีๆจะเป็นการทำ meditation กลายๆได้ทีเดียว เป็นการรวบรวมสมาธิ และ focus สิ่งที่กำลังทำ บางครั้งเมื่อเราได้ยินเสียงของเราเองบอกว่าเราอยากจะทำอะไร อยากจะเรียนอะไร หรือแม้กระทั่งบอกว่าเรามาทำ มาเป็น ครู และแพทย์นี่ จะเกิดการสะท้อนเสียงเหล่านี้ไปถึงตัวตนของเราเองได้

คำถามของ check-in คือ แนะนำตัว แนะนำประสบการณ์ครูและแพทย์ และความรู้สึกเมื่อได้ยินคำว่า "หยั่งรากวิญญาณครู ผลิใบวิญญาณแพทย์" ถึงตอนนี้ ทุกคนเริ่มได้ยินคำ "ครู" และ "แพทย์" และ "วิญญาณ" ซ้ำไปซ้ำมา ผมก็เลยฉวยโอกาสนำเข้า meditation อีกรอบหนึ่ง เป็น inducing meditation ขอให้ทุกคนนึกถึงคุณครูที่เรานึกชอบและเคารพ คุณครูที่เคยทำให้เราเกิดแรงบันดาลใจ คุณครูที่บางคนทำให้เราอยากเป็นนักเรียน และรวมทั้งคุณครูที่ทำให้เราอยากเป็นครู (ดูเหมือนจะเป็นอันที่สำคัญที่สุด) บางคนอาจจะนึกถึงคุณครูบางท่านที่​ "ทำให้เราไม่ประทับใจ" ก็ได้ ว่าเหตุการณ์แบบไหนที่เราไม่คิดว่าควรทำ หรือทำให้เราบางคน (รวมทั้งผม) คิดว่า "ถ้าเราเป็นครู เราจะไม่มีวันทำอย่างนี้กับลูกศิษย์เป็นอันขาด"

The Torch is carried on...

ผมดัดแปลงกิจกรรมกลับสู่วัยเยาว์ที่เราจะทำเป็นอย่างที่สอง มาเป็นกลับสู่แรงบันดาลใจแห่งความเป็นครูแทน หลังจากที่ meditate ครูที่เป็นแรงบันดาลใจ ก็ให้จับคู่สองคน หาเอาอาจารย์ที่เราไม่เคยมีเวลารู้จักสังสรรค์มาก่อนมาเป็นคู่ยิ่งดี หลังจากนั้นก็ให้คนหนึ่งเริ่มเล่าเรื่องราวของครูของตนให้อีกฝ่ายฟัง เล่่าเรื่องราวทั้งหมดที่เราประทับใจ เป็นแรงบันดาลใจ ส่วนคนฟังก็ขอให้ฟังอย่างตั้งใจ ไม่ต้องเออออ ไม่ต้องสนทนาตอบ ขอให้ฟัง ฟังอย่างลึกซึ้ง ฟังเรื่องราวที่มีความหมายที่บางเรื่องอาจจะถูกเล่าเป็นครั้งแรก ณ ที่นี้ เวลานี้ และอาจจะไม่เคยได้เล่าซ้ำอีกเลย

เล่่าเสร็จ (ที่จริงยังไม่เสร็จหรอก แต่เวลาผ่านไปประมาณ 10 นาที) ก็ให้ฝ่ายฟังลองเล่าซ้ำสิ่งที่ได้ยิน เล่าเท่าที่จำได้ คนเล่าคราวนี้ให้ฟังเฉยๆ ไม่ต้องขัดแย้ง ไม่ต้องท้วงติงว่าเมื่อตะกี้ไม่ได้เล่าอย่างนี้สักหน่อย ตอนนี้ทั้งคู่ก็ทราบกระบวนการแล้วว่าเดี๋ยวคงจะได้สลับกันเล่าและสะท้อนอีกรอบนึง

เราขยายวงแบบฝึกหัด dialogue คือ การฟังแบบศิโรราบ ฟังเข้าไปในเนื้อตัวของคนพูด พยายามเข้าใจไม่เพียงแค่เนื้อหาที่เล่า แต่เข้าไปถึง value เข้าไปถึงเหตุผล ที่มา the source ของสิ่งที่คนเล่าพยายามจะสื่อ เข้าถึงสิ่งที่คนเล่ากำลังคิด กำลังรู้สึกให้ได้ ขยายจากวงสอง เป็นวงสี่ จากวงสี่สลับสมาชิกอีกครั้ง ให้ทุกคนลองเล่าสิ่งที่ตนพึ่งเคยได้ยินและประทับใจ อยากจะเล่าต่อ นอกจากนั้น เรายังขอให้ทุกคนลองมองหาบุคลิกอะไรบางอย่างของครูที่เราประทับใจ ที่เราได้รับมาเป็นตัวตนของเราเอง เช่น เราเคยชอบครูคนหนึ่งเพราะสอนตลก สอนสนุกมีอะไรมาเล่า มาให้ทำ แล้วตอนนี้เราก็ได้ทำอย่างเดียวกัน บางครั้งโดยที่เราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าทำไมเราถึงสอนแบบนี้ หรือทำแบบนี้

ความประทับใจที่เกิดขึ้นตอนผ่อนคลาย ตอนที่เราไม่รู้ตัว จะสอดประสานเป็นหนึ่งเนื้อเดียวกันกับ "บุคลิก" ของเรา หรือพูดอีกอย่างก็คือ "กลายเป็นเรา" นั่นเอง เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นแบบเดียวกันกับการเล่าเรื่องวัยเยาว์ เล่าๆไป บางครั้งที่เรามองเห็นคนที่นั่งเล่าตรงเบื้องหน้า เหมือนกับมีเงาลางๆของเด็กน้อยวัยเยาว์ที่มีความสุข กำลังนั่งตรงเบื้องหน้า เพราะบุคลิกวัยเยาว์นั้นๆปรากฏชัดขึ้นในตัวตนปัจจุบัน เราจะมองเห็นที่มาของแต่ละคนได้อย่างชัดเจน ณ ขณะนี้ก็เหมือนกัน "ความเป็นครู" และวิธีการสอนของเรานั้น สืบสาวไปมักจะเป็น "เงา" ของสิ่งที่เราเองเคยประทับใจมาก่อน รวมไปถึง taboo บางอย่าง ที่เราจะ "ไม่ทำ" ก็เป็นเพราะเงาของสิ่งที่เราไม่ชอบ กลายเป็นสิ่งที่เราเชื่อว่าจะไม่ทำกับนักเรียนของเราเหมือนกัน

สังคมได้ถ่ายทอด Value หรือ Virtue เช่นนี้อยู่ตลอดเวลา คุณค่าต่างๆไม่ได้ถูกถ่ายทอดทางห้องเรียน หรือแค่กระบวนการอ่านหนังสือ ท่องจำ แต่ผ่านคุณค่าทางการปฏิบัติจริง หรีือคุณค่าทางการ "ใช้ชีวิตเช่นนั้นจริงๆ" เท่านั้น การถ่ายทอด value นี้เสมือนการวิ่งถือคบไฟและเมื่อถึงเส้นกำหนด เราเพียงส่งต่อคบไฟนี้ ให้คนรุ่นต่อไปวิ่งถือไปเรื่อยๆ The Virtue Torch is carried on และเราไม่ได้เพียงหวังว่าคนถือ จะถือไปเฉยๆ แต่จะมีเรื่องราว เรื่องเล่า ว่าคบไฟนี้มีความหมายว่าอย่างไร มีผลต่อวิถีการดำเนินชีวิตของเราอย่างไร

การสืบทอดของมนุษย์นั้น เป็นมากไปกว่าการถ่ายทอดพันธุกรรมในโครโมโซม ในยีนส์ของเรา แต่เรามี "คุณค่า" ของ species ของเรา มีวัฒนธรรม มีขนบธรรมเนียมประเพณี ในขณะที่หน้าที่การสืบทอดเหล่านี้ อยู่ใน instinct ของความเป็นพ่อแม่ ครอบครัว ชนเผ่าอยู่แล้ว ยังมีคนที่รับหน้าที่โดยเฉพาะคือ "ครู" อีกกล่่มหนึ่งด้วย

การเป็น "ครูแพทย์" นั้น จะเป็นการลำเลียงเอา value ของความเป็นครู ความเป็นแพทย์ จาก generation หนึ่งตกทอดไปยังอีก generation หนึ่งนั่นเอง ไม่เพียงแต่ medical contents (ซึ่งบางครั้ง ลูกศิษย์ของเราเองจะมีความรู้ที่ทันสมัย ล้ำหน้าเราในไม่ช้าไม่นาน) เท่านั้น แต่เป็นอะไรที่ลึกซึ้งกว่านั้น

ยิ่งนึกถึงความเป็นจริงของ breakthrough ของ medical knowledge ในปัจจุบัน ความเชื่อที่ว่าครูแพทย์กำลังสอนความรู้ที่ถูกต้อง ทันสมัยแก่นักเรียนนั้น อาจจะใช้ไม่ได้เสมอไปแล้ว ความรู้บางสาขา มีการเปลี่ยนแปลงทุกๆสามสี่ปีั ห้าปี เมื่อพิจารณาความเป็นจริงอันนี้ ก็เกิดคำถามสำคัญอีกประการหนึ่ง

"ความสัมพันธ์ของครูแพทย์ กับนักเรียนแพทย์ คือการถ่ายทอดอะไรกันแน่?"

 

หมายเลขบันทึก: 185762เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2008 19:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ อาจารย์ สบายดีไหมคะ วันที่ 29 30 พฤษภาคม อ.วรวุฒิท่านมาเป็นกระบวนกรให้โครงการ HHC ของหนูด้วยค่ะ โชคดีของสถาบันฯและรพ.ที่เข้าร่วมด้วยค่ะ แต่ว่า check in ดั้งเดิม check in คือการเข้าพักโรงแรมใช้กันมาบ่อยๆ แต่ยังมีความหมายอื่นๆ อีกด้วย ขอบคุณมากค่ะ ที่เล่าเรื่องราวดีๆ ให้ฟัง

สวัสดีครับ

  • แพทย์ ช่วยคนให้รอด ทางร่างกาย
  • ครู ช่วยคนให้รอด ทางจิตวิญญาณ
  • แพทย์ที่เป็นครู และเป็นด้วยจิตวิญญาณ จึงเป็นบุคคลที่สมควรได้รับยกย่องไว้สูงสุด ในฐานะผู้ช่วยมนุษย์ให้รอด ทั้งกายและจิตครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท