“คุณอำนวย” เป็นคำแรก ๆ ที่รู้จัก (โดยไม่เข้าใจ) ต่อจากคำว่าการจัดการจัดการความรู้ หรือ Knowledge Management: KM และเป็นคำนี้คำเดียวที่ผมเริ่มถามตัวเองว่า KM คืออะไร อย่างไร และยังไงที่เป็น KM รวมถึงคำถามที่เกี่ยวข้องอีกมากมายได้พรั่งพรูออกมา แต่อยู่ภายใน แล้วก็พยายามที่จะสร้างความเข้าใจด้วยตนเอง (Knowledge Construction by Self-Learning) แต่ก็รู้สึกตัวว่า “ไม่สำเร็จ” เหมือนไม่ get เลย แต่ก็ไม่กังวลอะไรมาก เพียงแต่รู้สึกบ้างเมื่อได้อ่านบันทึกใน GotoKnow.org แล้วถามตัวเองว่าเราอยู่ตรงไหนของ KM ผมเข้าใจเองในตอนนี้ว่า “เพราะเราติดกรอบ” จึงไม่เข้าใจในตอนนั้น ติดกรอบแม้วิธีคิดเพื่อที่จะสร้างความเข้าใจให้แก่ตนเอง (ได้เรียนรู้ว่า...อันตราย) กว่า 3 เดือนที่เริ่มต้นแบบ “งง-งง-งง” อยู่
“คุณอำนวย” เป็นรางวัลจาก สคส. หรือสถาบันจัดการความรู้แห่งชาติ ที่มอบให้ผมไว้ประจำเดือนกันยายน 2548 ผมเริ่มคิดในตอนนั้นว่า “ผู้ให้” เห็นอะไร และ “ผู้รับ” เป็น “คุณอำนวย” ตรงไหน ผมเห็นประกาศแบบ “ยิ้มเจื่อน ๆ” เพราะยัง “งง-งง-งง” อยู่นั่นเอง ตามประกาศผมได้รับจากการบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ใน Blog “ระบบหลักประกันสุขภาพ” ซึ่งในขณะนั้นผมทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนจังหวัดพัทลุงในงานสร้างหลักประกันสุขภาพแก่ประชาชน ภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของผมหลัก ๆ ในฐานะผู้ซื้อบริการสุขภาพ ก็คือการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ ด้วยความเข้าใจอย่างแท้จริง ในฐานะที่เขาเป็นผู้ใช้บริการ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้ให้บริการ ซึ่งก็คือเครือข่ายหน่วยบริการสาธารณสุขต่าง ๆ ในจังหวัดพัทลุง โดยการเดินสายไปตามคำเชิญบ้าง จัดขึ้นเองบ้าง หรือไปสมทบกับเขาบ้าง โดยรูปแบบเวทีนั้นได้พยายามที่จะปรับให้เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หมายถึง กลุ่มเป้าหมายได้พูดมากกว่าที่เราพูดเอง เป็นสำคัญ เป็นหัวใจของการจัดเวที ในขณะเดียวกันผมก็จะได้ประเด็นต่าง ๆ ที่ได้เรียนรู้มาจากเวที เชื่อมต่อเข้ากับผู้บริหาร โดยอาศัยการบันทึกเสนอ การนำเสนอในคราวประชุมไม่ว่าจะในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ หรือเป็นคณะกรรมการในคณะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ คณะทำงานกำหนดเขตพื้นที่รอยต่อฯ คณะทำงานพิจารณาช่วยเหลือหน่วยบริการที่ขาดสภาพคล่อง คณะอนุกรรมการบริหารงานหลักประกันสุขภาพฯ หรือแม้แต่คณะกรรมการจัดการความรู้ (KM) ของ สสจ.พัทลุง หรืออื่น ๆ รวมถึงการเขียนเป็นรายงาน เป็นบทความเพื่อเผยแพร่ในองค์กรอยู่เสมอ จนมาถึงในปัจจุบันคือการเขียนบันทึกไว้ใน GotoKnow.org
ผมคงโชคดีที่ นพ.ยอร์น จิระนคร (นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพัทลุง) หรือ นพ.บรรเจิด สุขพิพัฒปานนท์ (ผู้เขี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน) และคุณพี่สวาท กรศิริลักษณ์ (หัวหน้ากลุ่มงานประกันสุขภาพ) เพื่อนร่วมงานในงานทะเบียนที่ผมเป็นหัวหน้างานเอง หรืองานอื่น ๆ ในกลุ่มงานเดียวกัน ได้ให้การยอมรับ และพร้อมเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารจัดการ การทำงานแบบเดิม ๆ ที่เป็นการสั่งการ มาเป็นการนำเสนอจากผู้ปฏิบัติเพื่อการตัดสินใจ และใช้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยผู้ปฏิบัติได้รับโอกาสในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที เป็นกันเอง แม้จะมีอยู่บ้างที่ยังเป็นอุปสรรคอยู่ แต่มองเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการกล้าเปิดใจพูด หากเล็กลงมาภายในกลุ่มงานเองในทุก ๆวัน เราจะมีการทักทายกันเล็ก ๆ (Small Talk) ในตอนเช้าทุก ๆ วัน และการสุนทรียสนทนาเกิดได้เสมอเมื่อเกิดประเด็นที่เป็นเป้าหมายร่วม คือ การทำงานเป็นทีมของกลุ่มงานฯ ทุกคนมีส่วนร่วมช่วยคิดได้ แม้จะไม่ใช่หน้าที่โดยตรง กลุ่มงานประกันสุขภาพเรามีความเชื่อร่วมกันเป็นค่านิยมร่วม (Core Value) ว่า “ทั้งผู้รับและผู้ให้บริการมีความสุข” ฉะนั้นจากตรงนี้ผมมองว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความง่าย ในการทำงานไปพัฒนาไป และได้รับความสุขเป็นกำไรจากการทำงานกันถ้วนหน้า
“คุณอำนวย” อีกครั้งที่ได้ยินชื่อนี้ เป็นช่วงที่ผมและนพ.ยอร์น จิระนคร (นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพัทลุง) กำลังพัฒนาโครงการวิจัย แล้วได้ส่งโครงร่าง “ไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน” ไปยังสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพภาคใต้ มอ. (สวรส.ภาคใต้ มอ.) ซึ่งได้รับการตอบรับ และมีคำแนะนำจาก Reviewer ให้ผมทำหน้าที่ในฐานะ “คุณอำนวย” และ นพ.ยอร์น จิระนคร อยู่ในฐานะ “คุณเอื้อ” ครั้งที่ 2 ที่ “งง-งง-งง” แต่เป็นการ “งง” ที่นิ่งไม่ได้แล้ว เริ่มรู้สึกร้อน ๆ หนาว ๆ ว่าต้องรู้และเข้าใจให้จงได้ จึงลงมือ พยายามที่จะสร้างความเข้าใจด้วยตนเอง (Knowledge Construction by Self-Learning) อีกครั้ง แต่ก็รู้สึกตัวว่า “ไม่สำเร็จ” อีกจนได้ คือไม่สามารถ get ได้ แต่ยอมรับว่าครั้งนี้รวมกับที่สะสมมาแต่ต้น รวม “งง” 3 ครั้งแล้ว คือ เริ่มใช้ GotoKnow.org ได้รางวัล “คุณอำนวย” จาก สคส. และคำแนะนำจาก Reviewer จาก สวรส.ภาคใต้ มอ. จึงเป็น “Triple Daze”
และแล้วทาง สคส.ก็ได้ให้โอกาสอันยิ่งใหญ่ (จากฐานคิดผมเอง) ด้วยการเชื้อเชิญให้ไปร่วมงาน “มหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 2” จากงานนี้นี่เองผมได้เห็นกับตา ได้ฟังกับหู ได้เปรียบเทียบ ได้เรียนรู้ด้วยใจ และได้สนทนากับนักจัดการความรู้ตัวจริง ที่แท้แล้ว “KM คือความเป็นธรรมชาติของวิถีชีวิต ที่ผ่านการพิสูจน์ด้วยการปฏิบัติจริงในตัวตนของคน บางส่วน (ส่วนน้อย) ถูกนำไปจัดการเป็นความรู้สำเร็จรูป หรือความรู้ชัดแจ้ง บางส่วน (ส่วนใหญ่) ยังฝังลึกอยู่ในตัวคน ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว แล้วนำทั้ง 2 ส่วนนี้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน จนเกิดขบวนการเคลื่อนย้ายองค์ความรู้ไปมาระหว่างกันแบบหมุนเกรียว ทั้งระหว่างตัวคน ระหว่างกลุ่ม ระหส่างชุมชน และระหว่างความรู้ชัดแจ้งและความรู้ฝังลึก ก็จะเกิดเป็นความรู้ใหม่ไม่รู้จบ ซึ่งสุดท้ายปลายทางก็คือ คนได้รับการพัฒนา องค์กรและชุมชนก็จะได้รับการพัฒนาเป็นผลพวง และสุดท้ายปลายทางจริง ๆ คาดหวังว่า คุณภาพชีวิตของคนได้รับการยกระดับจนถึงขั้น ความสุขในระดับปัญญาที่แท้จริง” ผมเข้าใจอย่างนี้ที่ว่า KM คืออะไร ไม่น่าจะผิดหรือถูก เพราะเข้าใจได้เท่านี้ จริง ๆ เท่าที่มีปัญญาจะเข้าใจได้
“คุณอำนวย” ตามที่ผมเข้าใจต้องทำหน้าที่เอื้อ สนับสนุน สร้างโอกาส และรู้จักฉกฉวยโอกาส ที่ให้เกิดขบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน (ลปรร.) เพื่อให้เกิดขบวนการเคลื่อนย้ายองค์ความรู้ไปมาระหว่างกันแบบหมุนเกรียว อีกทั้งยังทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างผู้บริหาร หรือคุณเอื้อ กับผู้ปฏิบัติหรือคุณกิจ ในระดับต่าง ๆ ทั้งนี้ก็เพื่อหน้าที่ที่ระบุไว้ข้างต้นจะได้สมบูรณ์ ส่วนจะใช้เทคนิคอะไรบ้างก็ขึ้นอยู่กับบริบท หรือปัจจัยเอื้ออำนวยอื่น ๆ ที่เหมาะสม มองว่าต้องใช้ไหวพริบปฏิภานร่วมด้วย ทั้งนี้ก็ตรงที่จะทำให้รู้จักฉกฉวยโอกาสในการ ลปรร.กันให้ได้มากที่สุด
“คุณอำนวย” เป็นชื่อเรียกผู้ที่ทำหน้าที่ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกองค์การ ทุกชุมชน หรือทุกหน่วย คุณอำนวยจึงไม่ใช่ตำแหน่งแบบที่เราคุ้นชินกัน แต่เป็นตัวแสดงบทบาทหนึ่งในการจัดการความรู้เท่านั้นครับ
ในประเด็นที่ได้ทำและทำแล้วเกิดอะไรขึ้นบ้างใน สสจ.พัทลุง เทคนิคที่นำมาใช้ในแต่ละครั้ง แต่ละคราวมีอะไรเป็นอย่างไร ก็จะมาว่ากันในตอนต่อ ๆ ไป ครับ...ตอนนี้ของเอวัง...ด้วยประการฉะนี้
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย ชายขอบ ใน ไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน
ผมอ่านแล้วรู้สึกเหมือนนั่งดูหนังเลยครับ ตอนต่อไปคงทำให้ชวนติดตามเข้าไปอีกแน่ๆเลย
Small Talk ทำอย่างไรบ้างครับ พอขยายความนิดหน่อยได้มั๊ย และผลที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไรบ้างครับ?
ขอบคุณครับ