36. แนวคิดการพึ่งพาตนเองของท่านมหาตมา คานธี


โลกทั้งผองพี่น้องกัน

สัมมนาพิเศษ เรื่อง แนวพระราชดำริปรัชญา

เศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงกับแนวคิดการ

พึ่งพาตนเองของมหาตมา คานธี จัดโดย

สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท

มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตอินเดีย

ประจำประเทศไทยเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2551

ณ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท

มหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อรำลึกถึงวาระครบ 100

ปีของสัตยาเคราะห์ของท่านมหาตมา คานธีและ

เทิดพระเกียรติแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกัน

โดยมีวิทยากรรับเชิญจากประเทศอินเดียคือ

นายนาราย เดซาย บุตรชายเลขานุการท่านมหาตมา คานธี

ซึ่งได้ใช้ชีวิตในวัยเด็กกับท่านคานธีอย่างใกล้ชิดและ

ได้ซึมซับวิถีการดำเนินชิวิตด้วยการพึ่งพาตนเอง

บนวิถีแห่งความพอเพียงและการต่อสู้ด้วยสันติวิธี

ท่านปาฐกถาเรื่อง แนวคิดการพึ่งพาตนเองของมหาตมา

คานธี สรุปสาระสำคัญดังนี้

ท่านขอกล่าวทักทายทุกท่านด้วยวลีภาษาฮินดีว่า “Jay

Jagat” (จัย จากัด) หมายถึง ชัยชนะของโลก ซึ่งไม่ใช่

ของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นของทุกคน ไม่ควรแบ่ง

การศึกษาเกี่ยวกับคานธีออกเป็นส่วนๆ เช่นด้านเศรษฐกิจ

แบบคานธี การเมืองแบบคานธี จิตวิญาณแบบคานธี ฯลฯ

แต่ควรพิจารณาแนวคิดคานธีเป็นองค์รวม เศรษฐกิจ

ต้องไปคู่กับศีลธรรม การเมืองไปคู่กับจิตวิญญาณ

หากแบ่งความคิดออกเป็นส่วนๆ เป็นการแบ่งความจริง

แบ่งชีวิต ให้คิดถึงว่าอินเดียเป็นต้นมะม่วงที่มีเมล็ด ราก

ลำต้น กิ่ง ดอก ผล ที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้ แนวคิดของ

คานธีทางด้านจิตวิญญาณเปรียบได้กับเมล็ด ราก และ

ลำต้น ส่วนดอกและผลเปรียบได้กับด้านสังคม เศรษฐกิจ

โดยท่านคานธีแสดงออกด้วยการต่อสู้โดยไม่ใช้ความ

รุนแรงหรือสัตยาเคราะห์ ซึ่งรวมเข้าเป็นความคิดเดียว

ความคิดเกี่ยวกับการพึ่งพาตนเองคือผล ความคิดนี้เริ่มใช้

ครั้งแรกในปี 1909 เน้นการควบคุมตนเอง การควบคุมตน

เองเท่ากับการควบคุมโลก ควบคุมบรรยากาศรอบตนเอง

การพึ่งพาตนเองมิใช่เพื่อชนะสงครามแต่เพื่อชัยชนะ

เหนือศัตรูด้วยการทำให้เป็นเพื่อนของคานธี

นี่คือ อหิงสา (Ahimsa) หมายถึง ความรักที่

กระตือรือร้น การไม่ใช้ความรุนแรงหรือสัตยาเคราะห์

ของคานธีเป็นพลังเชิงบวก มิได้สื่อความหมายในด้านลบ

แต่อย่างใด แต่หมายรวมถึง สิ่งแรกเป็นพลังแห่งความจริง

สิ่งที่สองคือพลังแห่งความรัก และสิ่งที่สามคือพลัง

แห่งจิต ทั้งสามสิ่งรวมกันเป็นสัตยาเคราะห์

ท่านขอเพิ่มเติมที่ท่านอาจารย์เสรี พงศ์พิศได้บรรยาย

ก่อนว่าให้ถอยไปที่รากเหง้า ถอยไปสู่พื้นฐาน และถอย

ไปสู่ธรรมชาติ ท่านขอเพิ่มเติมว่าให้เดินหน้าไปสู่รากเหง้า

สู่ธรรมชาติ และสู่ชีวิตเพราะแนวคิดค่านธีมิใช่สิ่งที่ล้าสมัย

เหมือนกับคำสอนของผู้นำทางความคิดหลายๆ ท่านเช่น

พระพุทธเจ้า มาร์กซิส สังฆราจารย์ที่มีคำสอนร่วมกันคือ

ผลไม้ของอดีตในขณะเดียวกันก็นำมนุษยชาติไปสู่

เมล็ดพันธุ์แห่งอนาคต  หากเป็นเพียงผลไม้ของอดีต

อย่างเดียวจะไม่สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ ต้องปลูก

เมล็ดพันธุ์สำหรับอนาคตด้วย ความคิดของท่านคานธี

มิได้เชื่อมต่อกับอดีตเท่านั้น แต่ยังเชื่อมต่อกับอนาคตด้วย

ปรัชญาของท่านคานธีมีทัศนะว่าโลกหรือจักรวาลเป็น

เหมือนครอบครัวเดียวกัน ซึ่งจะมีความไว้วางใจกัน

ไม่เอาเปรียบกัน การควบคุมตนเองหมายถึงการควบคุม

สามส่วนของชีวิตคือ คนกับตัวเองในปัจจุบัน คนกับ

เพื่อนมนุษย์ และคนกับธรรมชาติ ทั้งนี้เพื่อดูแล เอาใจใส่

ไม่เบียดเบียน ทำร้ายกัน การพึ่งพาตนเองอย่างพอเพียง

คือไม่มองไปข้างหลัง แต่มุ่งแก้ปัญหาของอนาคต

การศึกษาในทัศนะของคานธีไม่ใช่คนที่เรียนมากๆ แต่

กลับทำงานน้อยๆ  แต่ควรเป็นคนที่เรียนมากและใช้จิตใจ

และมือเพื่อเพื่อนมนุษย์มากขึ้น  นี่เป็นการศึกษาที่พึ่ง

ตนเองในทัศนะของท่านคานธี ท่านกล่าวว่า จงวางเท้าไว้

ที่พื้น แต่ให้เรามีสมองอยู่ในอากาศ กระทำแบบชาวบ้าน

แต่คิดแบบนานาชาติ กล่าวคือคิดถึงเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เรา

ก่อนแล้วขยายออกไปสู่เพื่อนมนุษย์อื่นๆ ที่กว้างออกๆ

ท่านอยากให้เพื่อนบ้านมีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน

หน่วยเล็กๆ ทำงานหนุนเสริมหน่วยที่ใหญ่กว่า

ในขณะเดียวกันหน่วยที่ใหญ่กว่าต้องดูแลหน่วยย่อยๆ

ลงมา ท่านเน้นสังคมแบบกระจายอำนาจที่ยากต่อการ

ทำลายล้าง เช่น การทำลายเมืองใหญ่ๆ ด้วยระเบิดทำ

ให้คนตายเป็นล้านๆ  ทำได้ง่ายกว่าการทำลายหมู่บ้าน

ที่อยู่กระจายออกไปทั่วประเทศที่มีประชากรเป็นพัน

ล้านซึ่งต้องลงทุนมหาศาลในการทำลาย สังคมที่กระจาย

อำนาจจะมีความมั่นคงสูงกว่าสังคมที่รวมศูนย์อำนาจ

 

 

-------------------------------------

 

1) หากท่านสนใจหลักสูตรปริญญาโทอินเดียศึกษา ของสถาบันวิจัยภาษา

และวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล

กรุณาเข้าชมที่ www.lc.mahidol.ac.th หรือ โทร. 02-800-2308 ต่อ 3101

เปิดรับสมัครเดือนตุลาคม

 

2) หลักสูตรอบรมระยะสั้น ในเดือนมิถุนายน และกรกฎาคม ได้แก่

 

- ภาษาฮินดีและวัฒนธรรมอินเดียเบื้องต้น

 

- อายุรเวช การแพทย์แผนโบราณของอินเดีย

 

            กรุณาสมัครด่วนที่นางสาววาสนา ส้วยเกร็ด โทร.   02-800-2308-14 ต่อ 3209

 

           

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 184420เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2008 11:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 12:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

อ.โสภนาครับ

ขอบคุณสำหรับบันทึกดีๆ ครับ

อินเดียมีหมู่บ้านมากกว่า 4 แสนหมู่บ้านทั่วประเทศ

วิถีชีวิตคนอินเดียจริงๆ ก็คืออยู่ที่หมู่บ้านเหล่านี้ละครับ

และถือว่าฝังรากลึกจริงๆ

น่าสนใจครับ

เรียน ท่านพลเดช ที่เคารพ

ใช่ค่ะ แม้สังคมชนบทอินเดียจะยังยากจน แต่เขามีความสุขตามสภาพ อยู่บ้านดิน (เดี๋ยวนี้ที่เมืองไทย ก็มีทำบ้านดินอยู่กันบ้างแล้วค่ะ) ไม่มีสลัมในหมู่บ้าน (เท่าที่ไปมานะคะ) แต่เมื่อไรเข้ามาในเมือง สภาพสลัมในเมืองใหญ่ดูแล้วก็ต้องปลงอนิจจัง ก็ต้องตั้งคำถามว่าเขาอยู่อย่างนั้นได้อย่างไร ทำไมรัฐจึงไม่ช่วยให้ดูดีกว่านี้

ชาวอินเดียเคยพูดให้ฟังว่าหากรัฐไม่ต้องใช้งบเพื่อการป้องกันการก่อการร้ายทุกวันๆ เป็นร้อยล้านรูปี รัฐจะมีเงินมาพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวประชาดีกว่านี้ เขาพูดแบบไม่โทษรัฐบาลนะคะ แต่แสดงความเห็นว่าต้องทำเพื่อปกป้องคนและประเทศอย่างเข้มงวด

เรียนอาจารย์โสภานาครับ

ในฐานะคนที่อยู่ไกลบ้าน รู้สึกวิตกกับสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ครับ

เรียน ท่านพลเดช ที่เคารพ

ดิฉันเข้าใจค่ะว่าคนที่อยู่ไกลบ้าน ไกลสถานการณ์จะมีความวิตกกังวลกับข่าวสารมากกว่าคนที่อยู่ใกล้สถานการณ์ค่ะ

ดิฉันเองแม้จะอยู่ในประเทศก็ตาม มีบางช่วงที่ต้องไปทำอบรม สัมมนาต่างจังหวัดยังต้องคอยสอบถามข่าวคราวจากเพื่อนๆ

ด้วยกันเลยค่ะเพราะทุกคนก็เป็นห่วงบ้านเมือง ขอไม่ออกความเห็นส่วนตัวนะคะ

ขอให้เราท่านทั้งหลายได้รู้ว่า การเป็นผู้ที่เสียสละย่อมเป็นที่รู้จักและเป็นที่เคารพ เมื่อเราท่านทั้งหลายมีความเพียรที่จะทำต่อก็ขอให้เราท่านทั้งหลาย จงพบกับสิ่งที่ดีมีประโยชน์ และก่อให้เกิดสุขทุกเมื่อครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท