พัฒนาคุณภาพการศึกษา : ภารกิจของทุกคน


เรื่องคุณภาพการศึกษากำลังเป็นประเด็นร้อนของหลายประเทศ แต่...ประเทศไทยนั้นร้อนฉ่ากว่า

พัฒนาคุณภาพการศึกษา เป็นภารกิจของทุกคน

                                                                                   

                ผมได้อ่านวารสารการศึกษาไทย ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔๓ ประจำเดือนเมษายน ๒๕๕๑ ในบทความพิเศษ เรื่อง การพัฒนาคุณภาพการศึกษา: ภารกิจของทุกคน  เกิดความคิด ที่อยากจะนำเอาเรื่องราวด้านการศึกษามาเล่าสู่กันฟังในเชิงวิเคราะห์เปรียบเทียบ สุดท้ายเพื่อให้ผู้อ่านช่วยหาสาเหตุของปัญหา ทำไมการศึกษาของไทยจึงตกต่ำ มันเกิดอะไรขึ้นในวงการศึกษาของไทย

                ในบทความพิเศษดังกล่าวได้กล่าวว่า เรื่องคุณภาพการศึกษากำลังเป็นประเด็นร้อนของหลายประเทศที่มีความพยายามจะพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก บนพื้นฐานความเข้มแข็งทางการศึกษา โดยยึดเอาคุณภาพทางการศึกษาเป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จ และมักจะดูจากผลการประเมินคุณภาพการศึกษาขององค์กรระดับนานาชาติ เช่น การประเมินผลการเรียนรู้ของ PISA (Programme for international Student Assessment) ซึ่งเป็นโครงการที่โด่งดังของ OECD (Organization for Economic Cooperation and Development)

                OECD/PISA ทำการประเมินผลการเรียนรู้ของเยาวชนใน ๓ ด้าน คือ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เมื่อ OECD ประกาศผลการประเมินทั่วโลกคราใด ประเทศที่จัดอยู่ในอันดับต้นๆก็จะภาคภูมิใจและพยายามรักษาอันดับที่ดีไว้อย่างเหนียวแน่น ส่วนประเทศที่จัดอยู่ในอันดับท้ายๆก็ต้องสะดุ้งสะเทือนไปตามๆกัน และพยายามเร่งยกคุณภาพการศึกษาของเยาวชนของตนให้ดีขึ้น

                จากผลการประเมิน PISA ๒๐๐๖ เมื่อเร็วๆนี้ ไทยเรายังคงมีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยนานาชาติ ดังเช่นผลของ PISA ๒๐๐๐ และ PISA ๒๐๐๓ จึงถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ไม่น่าพึงพอใจเหมือนเดิม หรือแย่ลงกว่าเดิม กำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่เราจะต้องร่วมมือกันเร่งแก้ไขปรับปรุงอย่างจริงจัง

                กลับมาดูผล การประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน NT และ การสอบ O-NET ปี ๒๕๕๐ ที่ผ่านมาทั้งระดับประเทศ และระดับเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งเราประเมินผลกันเองภายในประเทศ และภายในเขตพื้นที่การศึกษา  พบว่า ค่าเฉลี่ยในผลการประเมินทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ของทุกชั้น (ยกเว้นป.๑)  ซึ่งบางชั้นประเมินผล ๒ กลุ่มสาระฯ บางชั้น ๔ กลุ่มสาระฯและบางชั้น ๕ กลุ่มสาระฯ  หลักๆ ประกอบด้วยกลุ่มสาระการเรียนรู้ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ปรากฏว่า ค่าเฉลี่ยในระดับประเทศของทุกกลุ่มสาระฯ ทุกระดับชั้น ไม่ถึงร้อยละ ๕๐ ยกเว้น กลุ่มสาระภาษาไทยในชั้นม.๖ ที่มีค่าเฉลี่ยร้อยละ ๕๐.๗๐ แปลความได้ว่า โดยรวมสอบตกทั้งหมดทุกวิชาทั่วทั้งประเทศ ทำให้ต้องครุ่นคิดไปว่า นี่มันเกิดอะไรขึ้นในวงการศึกษาไทย เรามีการปฏิรูปการศึกษามาหลายปี มันไม่เกิดการพัฒนาขึ้นมาบ้างเลยเชียวหรือ หรือว่าเป็นเพียงแค่(ปฏิลูบ) คือลูบหน้าปะจมูกเท่านั้น เราเดินทางผิดหรือไร เราถอยหลังเข้าคลองใช่ไหม  หรือ เราสะดุดอยู่ตรงไหนแล้วจะนำการศึกษาไทยสู่สากลได้อย่างไร

                จากผลการประเมิน PISA ดังกล่าวข้างต้น เมื่อกลางปีที่ผ่านมา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษามีความรู้สึกว่า นิ่งเฉยไม่ได้เสียแล้ว จึงได้ทำการศึกษาวิจัย เรื่อง แนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยสู่สากล โดยศึกษาแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจากประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง จัดอยู่ในอันดับต้นๆและประเทศที่สามารถพัฒนาแบบก้าวกระโดด รวม ๖ ประเทศ ได้แก่ จีน เวียตนาม ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมันและฟินแลนด์ ภายใต้กรอบแนวคิด ๕ ประการ คือ คนคุณภาพ ระบบคุณภาพ การจัดการคุณภาพ นโยบายคุณภาพ และวัฒนธรรมคุณภาพ เพื่อศึกษาว่าประเทศเหล่านี้มีอะไรเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเขาให้สูงขึ้น จากผลการวิจัยดังกล่าว พบแนวทางดีๆที่จะขอหยิบยกเอามาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้

                ด้านคนคุณภาพ พบว่า ทั้ง ๖ ประเทศ ประชาชนเห็นคุณค่าและความสำคัญของการศึกษา ชอบใฝ่รู้ใฝ่เรียน รักการทำงาน มุ่งการผลิตและสร้างสรรค์นวัตกรรม มีทักษะในการสื่อสารและการใช้เทคโนโลยี รู้เท่าทันอิทธิพลของต่างประเทศ ประการสำคัญ มีคุณธรรม จริยธรรมประจำชาติ รู้จักรักษาวัฒนธรรม มีความรักชาติและมีอัตลักษณ์ของความเป็นชาติตน ผมอ่านไปขนลุกไป แล้วประเทศของเราละ ประชาชนและเยาวชนของเราเห็นคุณค่าการศึกษามากน้อยแค่ไหน เยาวชนบางส่วนใช้โรงเรียนเป็นฐานในการมั่วสุมเพื่อสร้างปัญหาสังคม ไม่รักการทำงานหนีงานเกษตรมุ่งสู่เมืองใหญ่ ฆ่าแกงกันไม่เว้นแต่ละวัน แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ลืมวัฒนธรรมของตนลุ่มหลงมัวเมาอยู่แต่วัฒนธรรมของชาติอื่น

                ด้านระบบคุณภาพ พบว่า หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม เน้นการจัดระบบคุณภาพครู มีการพัฒนาครูอย่างต่อเนื่อง ให้เงินเดือนและสวัสดิการที่ดีควบคู่ไปกับการยกระดับความสามารถของครู มีระบบการเรียนฟรี แถมตำราให้ยืมใช้ในระยะยาว ส่วนระบบการประเมินผล มีทั้งการสอบข้อเขียน และสอบปากเปล่า การสอบวัดความรู้เพื่อศึกษาต่อระดับอุดมศึกษานั้นเข้มงวดมากในญี่ปุ่น เกาหลี จีนและเวียตนาม ผมอ่านไปหดหู่ใจไปกับ ประเทศของเราครูเกินในพื้นราบครูขาดในท้องถิ่นกันดาร เงินเดือนไม่พอกิน เป็นหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ สวัสดิการย่ำแย่ที่สุดในเอเซีย (ยกเว้นลาว เขมร และพม่า) นักเรียนต้องซื้อตำรา เสียค่าเรียน ค่า        กิจกรรมจนอ่วม บางคนคิดมากจนฆ่าตัวตาย

                ด้านการจัดการคุณภาพ  พบว่า รัฐบาลจีนและเวียตนามกำหนดเป้าหมายทิศทางอย่างเป็นระบบและมีขั้นตอนที่ชัดเจน รวมพลังจากทุกแหล่งเข้ามาจัดการศึกษา กำหนดคุณภาพหลายระดับ มีวิธีการที่ยืดหยุ่นและทางเลือกที่หลากหลาย ญี่ปุ่นและเกาหลี บัญญัติหลักการจัดการศึกษาไว้ในกฏหมายแม่บท ปรับปรุงคุณภาพการศึกษาโดยการพัฒนาหลักสูตรและพัฒนาครูควบคู่กัน ในเยอรมันและฟินแลนด์ ผู้บริหารสถานศึกษาต้องให้ความสำคัญกับภารกิจทางวิชาการเป็นหลัก เน้นวิชาการแบบเข้มข้นในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ผมอ่านไป นึกไปรู้สึกเศร้าใจระคนกัน ประเทศของเราผู้บริหารการศึกษาระดับสูงก็มัวแต่เอาใจนักการเมือง ระดับล่าง (ระดับเขต และระดับสถานศึกษา) เน้นการบริหารงานการเงินและสินทรัพย์เป็นส่วนใหญ่ ไม่อยู่ที่ทำงาน หรือโรงเรียน ประชุมเป็นอาจิณ บริหารเชิงกลยุทธ์ไม่เป็นท่า ผลการประเมินคุณภาพภายนอกของโรงเรียนบางส่วนหาคำตอบไม่ได้  คณะกรรมการประเมินบอกว่า ผมไม่รู้จะประเมินเขาอย่างไร เพราะไม่มีอะไรให้ผมประเมิน  หลายโรงเรียนต้องเข้าห้อง ICU เพื่อให้แพทย์ศึกษา (หมอศึกษานิเทศก์)เยียวยารักษาโดยเร่งด่วน

                ด้านนโยบายคุณภาพ พบว่า จีนและเวียตนามเน้นความมุ่งมั่นและความชัดเจนของผู้นำ รัฐเป็นผู้กำหนดทิศทางให้มีการแบ่งหน้าที่แข่งกันทำงาน ปฏิบัติตามมาตรฐานชาติ โดยใช้ยุทธศาสตร์ท้องถิ่น ญี่ปุ่นและเกาหลีเน้นการปฏิรูปการศึกษาปฐมวัย ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับ พัฒนาคนให้เข้มแข็งเพื่อร่วมกิจกรรมระดับนานาชาติ เน้นนโยบายการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ เยอรมันและฟินแลนด์ เน้นสร้างสังคมแห่งการสร้างสรรค์ ระดมความร่วมมือจากพ่อแม่ผู้ปกครองและพัฒนานวัตกรรมเพื่อศักยภาพการแข่งขัน   ผมมองดูประเทศของเราแล้วใจหาย จะเอาอย่างไรกันแน่ นโยบายเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเป็นรายวัน คิดอะไรได้ก็ทำอันนั้น คล้ายสโลแกนที่ว่า ของใครไม่สำคัญ ของฉันดีกว่าใคร หลักการปฏิรูปก็คือเอาคนระดับหัวหน้าไปรับหลักการแล้วนำมาขยายผล มันจึงหล่นหายไปกลางทางจากปฏิรูปก็กลายเป็นปฏิลูบ ดังได้กล่าวไว้ข้างต้น

                ด้านวัฒนธรรมคุณภาพ พบว่า จีนและเวียตนามเห็นคุณค่าของการศึกษาสูง ส่งเสริมคนเก่งจึงมีโรงเรียนอัจฉริยะ (Gifted School) จำนวนมาก ประชาชนรักการทำงานหนัก ญี่ปุ่นและเกาหลีมีวัฒนธรรมเคารพผู้อาวุโส ความรับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม ยกย่องผู้มีความรู้ กล้าหาญและอดทน ประหยัด ซื่อสัตย์ รักธรรมชาติ สะอาดและมีระเบียบวินัย เยอรมันและฟินแลนด์ส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ การคิดประดิษฐ์ ความเข้มแข็งและความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของประเทศ  อ่านเรื่องนี้ยิ่งอยากร้องไห้เอาเสียเลย ประเทศของเราปลูกฝังแต่วัฒนธรรมการคอรัปชั่น (ทำตัวอย่างให้เยาวชนเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน) การแบ่งพวก การล้มล้างซึ่งกันและกัน ยกย่องคนมีเงินมากกว่าคนมีความรู้ คนมีความรู้จึงไม่มีโอกาสทำงานเพื่อบ้านเมือง มีความกล้าหาญในทางที่ผิด ฆ่ากันเอง แม้แต่ครู พระสงฆ์ก็ไม่เว้น ทำลายธรรมชาติ สถาบันทางครอบครัวและสังคมเสื่อมสลาย มีการหย่าร้างปีละหลายแสนคู่ สังคมเต็มไปด้วยปัญหา เช่น เด็กติดเกม เด็กแว๊น เด็กมั่วสุม ใช้ความรุนแรง  ติดยาเสพติด เด็กเก่งเอาตัวไม่รอดเพราะขาดการสนับสนุน ที่สำคัญประชาชนชาวไทยที่เป็นผลิตผลของการศึกษา เป็นคนไม่สู้งาน หลั่งไหลเข้าสู่เมืองใหญ่เพื่อไปตายเอาดาบหน้า อนาคตฝากไว้กับโชคชะตา เกิดสภาวะการขาดแคลนแรงงานภาคเกษตรทั้งๆที่เป็นประเทศเกษตรกรรม

                ที่น่าคิดกว่านั้น ทุกประเทศให้ความสำคัญกับครู  ถือว่า ครูมีพลังในการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ ครูจึงได้รับการยกย่องส่งเสริมและพัฒนาในวิชาชีพ ในเวียตนามนั้น ครูเงินเดือนไม่มากนัก สิ่งสำคัญยิ่งกว่าก็คือ ครูเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูจากสังคมอย่างยิ่ง ทุกคนเป็นศิษย์มีครู วันครูของเวียตนาม ดอกไม้จะหายไปจากท้องตลาดอย่างรวดเร็ว เพราะทุกคนต้องรีบไปซื้อไปหาดอกไม้เพื่อนำไปไหว้ครู บูชาครู เป็นวันที่ทุกคนทั่วประเทศให้ความสำคัญกับครู การเรียนสาขาครูเป็นสาขาเดียวที่เรียนฟรี โดยการคัดเลือกคนเก่งมาเป็นครู

                จีน เกาหลีและเวียตนาม ซึ่งเคารพและนับถือลัทธิขงจื๊อมาตั้งแต่อดีต ก็ยังยึดถือเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เด็กและเยาวชนจึงมักได้รับการอบรมบ่มนิสัยตั้งแต่ในบ้านไปจนถึงโรงเรียน ให้เป็นคนขยัน ซื่อสัตย์ อดทน มีวินัยและกตัญญู เด็กและเยาวชนของเยอรมันและฟินแลนด์นั้นช่างคิดและวางแผน คิดว่าตัวเองชอบอะไร อยากจะทำอะไร และอยากจะเป็นอะไรเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาไปแสวงหาความรู้ใส่ตัว ชอบที่จะศึกษาความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยของโลก ดังนั้น เด็กและเยาวชนเหล่านี้จึงชอบใช้เวลาไปกับการอ่านหนังสือและค้นตว้าในห้องสมุด

                ห้องสมุดของหลายประเทศจัดบรรยากาศดีๆ มีสื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีหนังสือให้อ่านมากมายและหลากหลายประเภท นักเรียน นักศึกษาต้องแย่งกันจองที่เพื่อจะได้เข้าไปมีที่อ่านหนังสือ ไม่ได้ไปนัดหมายเพื่อการอื่น และห้องสมุดก็เปิดบริการอย่างเต็มที่ตั้งแต่แปดโมงเช้าไปจนถึงเที่ยงคืน

                เด็กและเยาวชนของเขามีความรักและความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ จึงพอใจที่จะรักษาวัฒนธรรมประเพณีของชาติตน และความมุ่งมั่นในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมและประเทศชาติ ไม่เน้นการแต่งหน้าทาปาก นุ่งสั้น บันเทิงเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งเพียงบางเวลา คงไม่แปลกใจว่า ทำไมเด็กและเยาวชนของประเทศเหล่านี้จึงมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าระดับนานาชาติ

                อันที่จริง ประเทศไทยของเราก็มีเด็กและเยาวชนที่มีคุณลักษณะดังกล่าวข้างต้น เรามีเด็กดี เด็กเก่ง มีความตั้งใจใฝ่รู้ ใฝ่เรียนและรู้จักคิดประดิษฐ์จนสามารถคว้ารางวัลเหรียญทองโอลิมปิกโลก และชนะเลิศการแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์ระดับโลกมาแล้ว แต่เมื่อเทียบกับจำนวนนักเรียนทั้งประเทศ นับว่ายังน้อยมาก

                ผลของ PISA ๒๐๐๖ ทำเอาผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการสะดุ้งสะเทือนไปตามๆกันยิ่งมาดูผลการประเมิน NT และ O-NET เห็นทีต้องเอาปิ๊บคลุมหน้ากันทั้งกระทรวง (รวมถึงพวกเราด้วย) คงต้องเร่งหาแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่เหมาะสมกับบริบทไทย แต่เราคงไม่สามารถโทษใครคนใดคนหนึ่งได้ เพราะการปฏิรูปการศึกษาจะสำเร็จได้นั้น  จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยคนทุกคนจากทุกภาคส่วนของประเทศ ร่วมใจกันตระหนักในความสำคัญของการศึกษาและร่วมมือกันปรับปรุงจุดอ่อนในส่วนที่เราสามารถเข้าไปเกี่ยวข้องให้ดีขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ พ่อแม่ ผู้ปกครอง โรงเรียน ครู ผู้บริหารโรงเรียน ผู้ประกอบธุรกิจ หน่วยงานเอกชน สื่อมวลชน และที่สำคัญที่สุดคือ ตัวของเด็กและเยาวชนเอง

                หากเยาวชนไทยหันมาเป็นตัวของตัวเองจริงๆ ไม่เลียนแบบวัฒนธรรมที่หลั่งไหลมากับสื่อและเทคโนโลยีโดยไม่แยกแยะ รู้จักคิดและวางแผนชีวิตตั้งแต่เนิ่นๆ อ่านหนังสือวันละนิด คิดงานวันละหน่อย และพยายามใช้เวลาให้เป็นประโยชน์เพื่ออนาคตของตนเอง สังคม และประเทศชาติ แน่นอนว่า เด็กและเยาวชนของเรานี่แหละจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศให้ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน

                                                               

อาจารย์เก

 

 

หมายเลขบันทึก: 184132เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2008 17:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 17:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เรียน อ.เก ที่เคารพครับ

นี่เป็นความจริงที่นักการศึกษาต้องยอมรับ

ผมเคยเป็นวิทยากรในการอบรมครูเชิงประจักษ์ ได้รับทราบข้อเท็จจริงบางประการในการทำประเมินผลเพื่อเลื่อนระดับ...ซึ่งแค่คิดก็ผิดแล้ว มหกรรมประเมินแบบนี้วิบากกรรมครูไทยจริงๆ ซึ่งข้างบนคิดได้ไง

ผมคิดว่า ยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาด ส่งผลกระทบต่อปัญหาอื่นๆมากมาย ปัญหาใดๆก็ตามในพื้นที่ หากคิดวนไปมาก็จะหยุดตรงการศึกษานี่หละ เป็นจำเลยทุกครั้งไป

จะปฏิรูปกันอย่างไร จะทำกันอย่างไร...ดีครับ??

สวัสดีครับอาจารย์เก

  • ครูสุมองอีกมุมหนึ่งนะครับ
  • เพราะมีความรู้สึกว่า การทดสอบระดับชาติ โอเน็ต เอเน็ตก็ดี  ข้อสอบมีความยากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งที่หลักสูตรใช้เหมือนเดิม
  • ยกตัวอย่างข้อสอบภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ไปดูแล้ว ข้อสอบทำเพื่อทดสอบ ป.6 แต่ข้อสอบระดับมหาวิทยาลัย หรือ สอบบรรจุครูด้วยซ้ำ
  • ก็สมควรที่ค่า NT หรือ ONET เด็กจะต่ำลงใช่ไหมครับ
  • ลองเอาข้อสอบปีเก่า ๆ มาเทียบกันนะครับ ข้อสอบปีนี้ยากกว่าข้อสอบเก่า ๆ มากครับอาจารย์

คุณภาพการศึกษาคือ คุณภาพของคน    ไม่ใช่คนเก่งคือ คนรู้มาก

คุณจตุพรครับ ผมก็ยังคิดไม่ออกว่าปัญหาจริงๆมันอยู่ตรงไหน ระดับใด จะโทษหลักสูตร หรือโทษครู หรือโทษระบบบริหารจัดการ หรือโทษผู้ปกครอง อะไรก็สาเหตุของปัญหาและจะแก้อย่างไร อย่าลืมว่าความรู้คู่โลก เราต้องติดความรู้ให้เยาวชนเพื่อเข้าสู่โลกของการแข่งขัน ไม่เช่นนั้นเราจะดูแลประเทศชาติของเราให้อยู่รอด ปลอดภัยคงเป็นเรื่องที่ลำบาก ผมว่าส่วนหนึ่งคือ ความจริงใจของระดับบน มันน้อยไป หรือไม่มีด้วยซำไป กลยุทธ์ล้มเหลว คิดไปคิดมาทำให้ลุงทดท้อไปเหมือนกัน คิดดูสิ เราทำการศึกษามา ๓๐ กว่าปี แต่คุณภาพการศึกษายังวนอยู่ในอ่าง เฮ่อ.....ชีวิตหนอ ชีวิตครู อาจารย์เก

เรียนครูสุ บ้างก็บอกว่า ข้อสอบส่วนใหญ่เน้นกระบวนการคิด แต่เราไม่ได้ฝึกเด็กในด้านนี้ จึงทำให้เด็กทำข้อสอบไม่ได้ เท็จจริงอย่างไร ครูสุลองตรวจสอบดู ที่สำคัญครูสุ ต้องสอนเด็กที่เน้นกระบวนการคิดให้มากๆนะครับ มีตำรับตำราให้อ่าน ให้ทำมากมาย กระบวนการคิดแบบทั่วไป และกระบวนการคิดที่เป็นลักษณะเฉพาะวิชา วันหน้าลุงจะนำมาเล่าสู่กันฟังถึงเทคนิคการสอนเรื่องกระบวนการคิดสู่ห้องเรียน อาจารย์เก

คุณ ประจักษ์ครับ ใช่ครับคำว่าคุณภาพมีความหมายมากกว่าคำว่า เก่ง เก่งอย่างมีคุณภาพ กับ เก่งอย่างไม่มีคุณภาพ ประเทศชาติไม่ต้องการคนเก่งเพียงอย่างเดียวต้องเป็น ประชากรคุณภาพด้วย เหมือนที่พวกเรากำลังสร้างอยู่นี่ไง อาจารย์เก

อาจารย์เกครับ

  • ใช่ครับ ข้อสอบเน้นกระบวนการคิดด้วยครับ
  • ครูสุจะรออาจารย์เกมาเขียนเล่าเรื่องด้วยกระบวนการคิดด้วยครับ
  • ขอบคุณมากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท