เทคนิคจัดการความรู้ ของคนไม่รู้หนังสือ


“แต่ก่อนไม่รู้จักการจัดการ พอมาทำ KM แล้ว รู้จักจัดการอะไรๆมากขึ้น”

        ในการทัวร์  KM สัญจรครั้งที่ 3 จ.บุรีรัมย์ วันที่ 6-8 มีนาคมที่ผ่านมา วันแรก 6 มีนาคม คณะดูงานทั้งนักวิจัย นักวิชาการ พร้อมด้วยสื่อมวลชน กว่า 40 คน ได้ลงพื้นที่ดูงานที่บ้านสวนป่าครูบาสุทธินันท์” ซึ่งคณะดูงานก็ต่างให้ความสนใจ ในฐานเรียนรู้ที่สวนป่าครูบาสุทธินันท์ หลายๆเรื่อง ทั้งการเลี้ยงโค ,การปลูกผักแบบเกษตรประณีต ,การเลี้ยงนกกระจอกเทศ ,การเลี้ยงปลา ,เลี้ยงไก่นานชนิด ฯลฯ
ซึ่งสร้างความเพลิดเพลิน และดึงดูดความสนใจของคณะดูงานได้จำนวนไม่น้อย พร้อมทั้งมีการแนะนำถึงฐานการเรียนรู้ 8 กลุ่ม ดูงานใน 4 พื้นที่การเรียนรู้ในวันที่สองของการดูงาน แยกกลุ่มตามความสนใจด้วย ซึ่งวันที่สอง เป็นการลงพื้นที่ดูงานแยกกลุ่มตามความสนใจ
                         ผู้เขียนได้ลงพื้นที่ดูงานของฐานการเรียนรู้ที่ 1 เป็นเรื่องของเกษตรพอเพียง ที่เลือกผู้เขียนเลือกลงพื้นที่นี้เพราะ ได้อ่านข้อมูลมาก่อนว่า พื้นที่นี้หัวหน้าฐานเป็นคนไม่รู้หนังสือ (อ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้) แต่มีเทคนิคในการเรียนรู้ยอดเยี่ยม จึงชวนให้ผู้เขียนมึนงงเล็กน้อย ว่าการเรียนรู้ของหัวหน้าฐานคนนี้จะออกมาในลักษณะไหนกันแน่ จึงได้พาตัวเองและคณะที่สนใจเหมือนกัน จำนวนหนึ่งลงไปที่บ้านของพ่อสำเริง เย็นรัมย์   

                        พ่อสำเริง เป็นหัวหน้าฐานการเรียนรู้เกษตรประณีต เป็นต้นแบบเกษตรพอเพียง มีลูกฐาน 5 คน เล่าให้คณะดูงานฟังว่า ผมเลือกลูกฐานที่มีความขยัน หัวไว..ใจสู้ ถ้าใครบอกว่า “วันหลังค่อยทำ” ผมไม่เอา เพราะว่าเราเอาความรู้ไปให้เขา เมื่อเขาไม่เห็นคุณค่า เขาก็คงไม่อยากเรียนรู้ ไม่มีใจเรียนรู้ เราก็ไม่รู้จะทำเอามาเป็นลูกฐานเราทำไม  
                        พ่อสำเริง บอกด้วยว่า กลุ่มลูกฐานของพ่อสำเริงก็จะทดลองทำเลย ไม่รีรอที่จะทำ และปฏิบัติทำจริงเลย ซึ่งทำให้กลุ่มเกษตรผสมผสานของพ่อสำเริงและลูกฐาน จำนวน 5 คน มีความสุขจากการทำงาน หลังจากที่เข้าเครือข่ายจัดการความรู้ระดับชุมชนได้ไม่นาน
                        พ่อสำเริง เป็นคนที่บุรีรัมย์ เมื่ออายุได้ 13 ปี พ่อแม่ก็ย้ายไปอยู่ที่กำแพงเพชร ไปจับจองที่ดินทำกินตรงนั้น ซึ่งเป็นที่รกร้าง ไม่มีบ้านคน อยู่ได้15 ปี ก็มีนายทุนมาทวงที่ดินตรงนั้นคืน ทำให้ครอบครัวต้องย้ายกลับมาอยู่ที่เดิม และทำเกษตรที่บ้านตามเดิม
                        ปัจจุบันพ่อสำเริงอายุ 49 ปี (ยังถือว่าหนุ่มมากในบรรดาพ่อๆทั้งหลายของปราชญ์บุรีรัมย์) แต่ พ่อสำเริง อ่าน-เขียนไม่ได้ เพราะเมื่อครั้งยังเด็ก ย้ายถิ่นฐานบ้านเกิดบ่อย จนไม่ได้เรียนหนังสือ และฐานะทางบ้านยากจน จึงไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน พ่อสำเริงบอกว่าพยายามเรียนรู้ที่จะอ่านเขียน แต่ฐานะทางบ้านยากจน ต้องเอาเวลาส่วนใหญ่ไปทุ่มกับการทำงานช่วยเหลือครอบครัวที่อดยาก
“ถ้าเอาเวลาไปเรียน บ้านเราก็อด ไม่มีกิน” เป็นคำพูดของพ่อสำเริง แต่ก็ไม่เสียใจที่ตัดสินใจมาทำงานเลี้ยงครอบครัว จนไม่ได้เรียนหนังสือ และแม้จะอ่านไม่ออก – เขียนไม่ได้ แต่พ่อสำเริงอาศัยวิชา “ครูพักลักจำ” เมื่อรู้อะไรมาก็จำ และเอามาลองปฏิบัติทันที
                        ผลจากสิ่งที่พ่อสำเริง ได้เรียนรู้มีอยู่มากมาย ที่เห็นผลเป็นที่ประจักษ์ต่อสายต่อของผู้ที่ไปเยี่ยมเยียนเสมอๆ กล้วยหวีโตสุกคาต้น , ผักผลไม้ , ปลาที่เลี้ยงไว้เต็มบ่อ  และเทคนิคต่างๆ ในการทำเกษตรผสมผสานในพื้นที่2 ไร่ 2 งาน มีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมมาชาติอยู่ทั่วทุกตารางนิ้ว เป็นที่ชื่นชอบของผู้พบเห็น ล้วนแต่เกิดจากหนึ่งสมองและสองมือของผู้ที่ไม่รู้หนังสือ แต่อาศัยการจำและนำมาทดลองปฏิบัติจนได้ผลเป็นต้นแบบด้านเกษตรพอเพียงให้กับเพื่อนบ้านจำนวนมาก
                        พ่อสำเริง เล่าว่า แรกๆเลี้ยงปลาบึกแล้วไม่เกิดผลสำเร็จ จึงหันมาสนใจปลูกกล้วยอย่างจริงจัง และให้ความสำคัญทั้งการดูแล รดน้ำใส่ปุ๋ย เพราะเห็นว่ากล้วยมีประโยชน์มากมาย และสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งต้น “หน่อกล้วย” สามารถนำมาหลักให้เป็นอามหารปลาได้ด้วย แม้กระทั้งลูกกล้วยยังขายได้กำไรดีถึงหวีละ 7 บาท ทีเดียว
                       เทคนิคการปลูกกล้วยให้มากกว่าการปลูกกล้วย คือ การใส่ปุ๋ยให้กับกล้วย เช่น การนำเอาโคนผักตบชวาทั้งต้นทั้งขี้โคนที่ติดมาด้วย มาโป๊ะเอาไว้ที่โคนต้น เพราะเชื่อว่าจะช่วยเป็นปุ๋ยให้กับกล้วย และทำให้กล้วยมีผลที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ผสมกับการใช้การหมักหน่อกล้วย มีส่วนผสมคือ หน่อกล้วย + ยอดสาบเสือ + แอลกอลฮอล(คุ) + เศษอาหารต่างๆ และเอาน้ำหมักเทใส่
                      พ่อสำเริง บอกว่า บางอย่างไม่มีสูตรตายตัว อาศัยความขยันเข้าใส่ ซึ่งตนเองสังเกตจากการใช้น้ำหมักหน่อกล้วย ไปใช้รดต้นกล้วยจะได้ทำหน่อกล้วยขึ้นมากขึ้น ทุก 15 วันถ้าปลูกได้ประมาณ 2 เดือนกว่า จะได้หน่อกล้วยเพิ่มขึ้นเป็น 10 หน่อ ซึ่งก็ส่งผลให้กล้วยของพ่อสำเริง งามทั้งต้น ใบ และผลใหญ่อิ่มเอิบ ไม่เหมือนกล้วยคนอื่นๆ
                      สิ่งที่พ่อสำเริง บอกว่า อยากทดลองต่อไปคือ อยากเลี้ยงปลา และปลูกมะละกอรอบๆบ่อปลา เพื่อให้ผลมะละกอสุกหล่นไปในบ่อ และเป็นอาหารแก่ปลา พ่อสำเริง เล่าว่า ความรู้ทุกอย่างที่ได้มาเกิดจากความคิดเล็กๆน้อย ที่อยากจะทำให้ทุกอย่างในงานของตัวเอง ดีขึ้นโดยที่ไม่ต้องลงทุนมาก อาศัยความขยันและความอดทน เมื่อได้เห็นว่างานดีขึ้นก็เกิดความสุข
                     พ่อสำเริง เรียนรู้กับลูกฐาน โดยมีเวทีประชุมเรียนรู้ร่วมกัน 2 เดือนต่อครั้ง ซึ่งทุกคนต่างก็จะนำประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เพื่อให้การทำเกษตรผสมผสานของตัวเองดีขึ้น และบอกว่า
 “ทุกครั้งที่ผมไปนาเลี้ยงวัว ผมจะเอารถลาก ติดไปด้วย เวลาเจอฟางหญ้า ผมก็จะเก็บขึ้นรถ เจอขี้วัวผมก็เก็บมาเป็นปุ๋ยให้ต้นไม้ที่บ้าน ไปไหนต้องมีของดีกลับมาบ้านด้วย แม้ลูกฐานเห็นขี้วัวแห้งๆ ก็เก็บมา ทุกคนเห็นว่าทุกอย่างมีประโยชน์อะไรประหยัดได้ ก็ควรประหยัด”
                      พ่อสำเริง บอกว่า บางวันอยากจะนอนในสวนของตัวเองสบายๆ ก็นอนไม่หลับ เพราะเห็นสวนของตัวเองแล้วมีความสุข และมีความคิดที่อยากจะทำอะไรต่อมิอะไรให้สวนตัวเองมากมาย ซึ่งเจ้าตัวบอว่า ทุกวันนี้เป็นเศรษฐีแล้ว แต่เป็น “เศรษฐีความสุข
                      นอกจากนี้ โรงเรียนบ้านตะแบง ยังมีการนำนักเรียนมาศึกษา เรียนรู้ในแปลงเกษตรผสมผสานของพ่อสำเริงด้วย เพราะพ่อสำเริง เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่ควรจะถ่ายทอด และปลูกฝังให้กับเด็กๆ ซึ่งนักเรียนก็สามารถนำความรู้ที่ได้ ไปทดลองทำที่โรงเรียน และที่บ้านตนเองด้วย
                      เทคนิค อีกอย่างในการทำเกษตรผสมผสานได้ผลดี คือการสูบน้ำมาปล่อยลงไปรอบๆแปลงผัก-ผลไม้ ให้ไหลออกไปแนวระนาบ ที่มีพื้นที่เทลาดลงและใช้ปุ๋ยเทลงไปกับวน้ำที่ปล่อยออกมา และเอาฟางมากลบผิวดิน เพื่อไม่ให้น้ำมันไหลเร็วเกินไป ผสมลงไปสังเกตผิวดินจะร่วมซุย ดินนิ่ม ซึ่งช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้ดีมาก ซึ่งจะช่วยให้ปุ๋ยกระจายไปทั่วพื้นที่แปลง เป็นเทคนิคที่ยอดเยี่ยมเกิดจากสมองที่คิดค้นอยู่ตลอดเวลาของผู้ที่ไม่รู้หนังสือ
                     พ่อสำเริง ย้ำให้ฟังว่าแต่ก่อนไม่รู้จักจัดการ พอมาทำ KM แล้ว รู้จักจัดการอะไรๆมากขึ้น” สิ่งต่างๆ ที่พ่อสำเริง ได้รู้ ได้ฟังก็จะจดจำ และนำไปทำทันที เมื่อได้ผลดีอย่างไร ก็จะนำมาบอกเพื่อนๆ สมาชิก พ่อสำเริงบอกด้วยว่า ทำงานอย่างนี้มีความสุข ไม่แก่ มีแต่จะหนุ่มไปเรื่อย (5555555....5555)
                     สุนทร ชินรัมย์ อายุ 67 ปี ลูกฐานกลุ่มเกษตรพอเพียง เล่าว่า ปลูกต้นไม้ที่บ้าน ไม้ผลหลายอย่าง เดิมทีไปขายของที่นวนคร จากบ้านไป 20 กว่าปี กลับมาบ้านบ่อย ซื้อนาไว้แต่ไม่ได้ดูแล ไปขายของประเภทเครื่องครัว ที่พระประแดง และนวนคร แต่ต้องมาเจ๊ง ที่นวนคร เพราะมีการไล่ที่ตลาด ให้ไปเซ้งขายในตลาดใหม่ย่านนั้น คุณสุนทร ลูกฐานคนนี้ มีประสบการณ์มาก และเป็นพ่อค้านักขายตัวยง แต่ก็ตามไม่ทันพ่อค้าหัวใสในแทบชานเมืองย่านนวนคร จ.ปทุมธานี จนทำให้เกือบหมดตัว และท้ายที่สุด คุณสุนทร ก็กลับมาทำเกษตรตามเดิม และมาร่วมเรียนรู้การทำเกษตรผสมผสานจาก พ่อสำเริง และพอพยุงตัวให้กลับมาให้ยืนขึ้นได้อีกครั้ง
                    ศิวพร ศรีโคตร ลูกฐากลุ่มเกษตรพอเพียง อีกท่านหนึ่ง เล่าว่า แต่ก่อนเป็นคนร้อยเอ็ด ตั้งแต่ 2538 พออยู่มาที่นี่เห็นว่า ที่นี่มีความอุดมสมบูรณ์ดี และเมื่อปี 44-45 ก็เริ่มมารู้จักกับพ่อสำเริง และเห็นว่าเขากำลังเรียนรู้กันเรื่องเกษตรผสมผสาน ก็สนใจมาเรียนรู้ด้วย ช่วงแรกๆ ก็ปลูกมะกอกน้ำ ชมพู่ กระท้อน แต่วัวก็เข้ามากิน มาย่ำพืชผักตายหมด ภายหลังต้องขึงลวดหนามล้อมไว้
                    คุณศิวพร บอกด้วยว่า การเข้ากลุ่มเรียนรู้กับกลุ่มเกษตรพอเพียงของพ่อสำเริง ก็ไปร่วมเรียนรู้ที่บ้านครูบาสุทธินันท์บ่อยครั้ง บางครั้งก็ไปแทนพ่อสำเริง และกลับมาเล่าให้กลุ่มฟัง
เช่นการทำสปริงเกอร์ไม้ไผ่ หลายแบบ ทดลองทำว่า แบบไหนจะช่วยให้น้ำกระจายตัวได้ดีกว่ากัน หรือจะเป็นเรื่องการปลูกกอไผ่ ทำไมก่อไผ่ตาย ก็ทดลองขุดมาดูก็พบว่าปลวกเยอะ และเราก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่ เป็นการทดลองไปเรื่อยๆ จนให้เห็นผลดีที่สุด
                   นอกจากนี้ยังปลูกหญ้าพันธุ์กินนี่ ที่เอามาจากร้อยเอ็ดให้วัวกิน และลองปลูกประดู่ มะเดื่อ หรือไม้ประดับอย่าง กระดุมทอง ไม้ผลอย่าง มะเฟือง วัวก็ชอบกิน ซึ่งเราก็พยายามปลูกเพื่อทดแทนหญ้าอย่างอื่นด้วย 
                   อ.สฤษดิ์พงษ์ ลิมปิษเสถียฐ จาก มสธ. แนะนำ คุณศิวพร ว่าอย่าให้แม่วัวกินมะเฟืองมากเพราะจะทำให้น้ำนมของแม่วัวลดน้อยลง เมื่อได้ยินเช่นนั้น คุณศิวพร ก็จดไว้เป็นองค์ความรู้ทันที
                  คุณศิวพร บอกว่า เมื่อได้เข้ามาเรียนรู้ในเครือข่ายนักจัดการความรู้ระดับชุมชน รู้สึกว่าชอบงานตรงนี้มาก เพราะพื้นฐานครอบครัวเป็นเกษตรกร เมื่อได้มาเข้ากลุ่มก็มีหน้าที่จดบันทึกด้วย แต่จะบันทึกแบบสรุปที่ทุกคนพูดหมดแล้ว และนำมาเขียนเป็นสรุปผลการประชุมทีเดียว
                 .นพ.วิจารณ์ พานิช แนะนำ เรื่องการจดบันทึกให้กับคุณศิวพร ว่า “หากมีการจดบันทึกบทสนทนาของคน จะทำให้เราเห็นความคิด และมุมมอง รวมทั้งความรู้เล็กๆน้อยๆของคน ซึ่งจะช่วยให้เกิดประโยชน์มากมายกับเรา และผู้มาอ่านบันทึก จะมีความสนุกในการอ่านมากขึ้นด้วย” คุณศิวพร รับฟังและบอกว่า “จะพยายามมากขึ้นค่ะ”   
                  นายเฉลิม สร้อยงาม ผู้ช่วย อบต. และว่าที่ผู้ใหญ่แห่งตำบลหัวฝาย เล่าว่า ตอนนี้ทำเรื่องการปลูกมะพร้าวน้ำหอม และกล้วย เทคนิคในการปลูกมะพร้าวน้ำหอม คือ เอาปุ๋ยคอกมา มาใส่ที่โคนต้นมะพร้าว เอาดินดำจากรากหัวบัวที่ติดขี้โคน ติดตมมาโป๊ะที่โคนต้นมะพร้าว ช่วยให้มะพร้าวงามขึ้นมาก แต่มีปัญหาเรื่องโดนขโมยจากเด็กๆ และก็ถูกวัวกัดกินยอด เพราะมะพร้าวน้ำหอมต้นจะเตี้ย และลูกเล็กดก แต่ปัญหาคือตอนนี้น้ำมะพร้าวไม่ค่อยหอมแล้ว และขาดพันธุ์ที่ดีไปหมดแล้ว
                  อ.สฤษดิ์พงษ์ จาก มสธ. ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า ควรเอาพันธุ์ที่คิดว่าดีที่สุดมาปลูก และไม่ควรปลูกผสมกันหลายพันธุ์ เพราะมะพร้าวจะผสมกันข้ามสายพันธุ์ และจะไม่เหลือพันธุ์ที่ดีเอาไว้ ดังนั้น มะพร้าวที่มีอยู่ ควรชิมเอง และดูว่าต้นไหนดีที่สุดและพยายามรักษาเอาไว้ รวมทั้งพยายามเก็บพันธุ์นั้นเอาไว้ เป็นพันธุ์ปลูกในรุ่นๆ ต่อๆไปด้วย เพื่อไม่ให้มีพันธุ์ใช้เอง และไม่ต้องไปซื้อพันธุ์มาจากที่อื่นบ่อยๆ 
                  มีเพื่อนบ้านที่นั่งฟังอยู่ด้วยกล่าวเสริมขึ้นมาว่า “ผมปลูกมะพร้าวมา 8 ปี ยังไม่มีลูกให้เห็นสักลูก” (ผู้ฟังนับสิบหัวเราะพร้อมเพียงกัน..55555 ) คุยไปคุยมา พี่เขาว่า เอาพันธุ์มาจากภาคใต้เป็นพันธุ์กะทิ ปลูกมานาน 8 ปีไม่เคยเห็นลูก หลายคนแซวว่า สงสัยจะเป็นพันธุ์ดูใบ (ดูได้แต่ใบ  ไม่มีลูก.. 5555 )   เจ้าของเรื่องบอกว่า นั่นสิไม่เคยได้ดูลูกเลย !!
                  ....เสียงหัวเราะค่อยๆเงียบลง และก็มีการไปศึกษาเดินดูพื้นที่รอบๆแปลงของพ่อสำเริง และสมาชิกในฐาน รวมถึงเพื่อนบ้านพ่อสำเริงที่ให้ความสนใจมาให้การต้อนรับ การเดินดูพื้นที่รอบๆ ต่างก็ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นกันอย่างเป็นธรรมชาติ 
                  สุดท้ายยังได้เห็นนวัตกรรมจากภูมิปัญญาของพ่อสำเริง ในการทำเครื่องอัดฟางทำมือ โดยเอาท่อนไม้ขนาดยาวสักสามศอกมาอัดเป็นแผง รูปทรงสี่เหลี่ยมทรงกระบอก และก็มีการนำฟางใส่เข้าไป โดยมีน้ำหนักของคนเข้าไปเหยียบฟางให้เป็นก้อนและใช้เชือกมัด จากนั้นก็ดึงบล็อกออกเพื่อเอาฟางก้อน ที่ได้น้ำหนักกว่า 25 กิโลกรัมออกมาใส่รถเข็นไปเลี้ยงวัวกลางทุ่งนาสบายใจเฉิบ ลดต้นทุนการขนฟางไปจ้างเครื่องอัดฟางก้อนละ 16 บาทได้ตั้งเยอะ ซึ่งคณะดูงานต่างก็ทึ่งในนวัตกรรมของพ่อสำเริง เย็นรัมย์ ที่แม้ไม่รู้หนังสือ แต่มีวิชาครูพักลักจำ และมีความเป็นนักวิทยาศาสตร์ในสายเลือด ที่ใช้วิธีการทดลอง ปฏิบัติเรื่องใกล้ตัวที่คนอื่นๆ มักมองไม่เห็นได้อย่างน่าอัศจรรย์
                  การดูงานที่พื้นที่แค่ชั่วโมงเศษ ได้คุยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างเป็นธรรมชาติ บรรยากาศสนุกสนาน ผมเชื่อว่าสุขทั้งเจ้าบ้าน และผู้มาเยือน ผมเกิดความคิดขึ้นมาว่า การเรียนรู้จากการปฏิบัตินั้น ช่างน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก นอกจากจะเห็นผลที่ปรากฏขึ้นแล้ว ยังช่วยให้เป็นนักจัดการและนักวางแผนที่ดีอีกด้วย

ผู้เรียบเรียง : อาทิตย์ ลมูลปลั่ง

แหล่งข้อมูล : พ่อสำเริง เย็นรัมย์ (หัวหน้าฐานเกษตรพอเพียง)
เลขที่ 94 หมู่ที่ 2 ตำบลหัวฝาย กิ่งอำเภอแคนดง จังหวัดบุรีรัมย์

และผู้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทุกท่าน


หมายเลขบันทึก: 18289เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2006 23:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณครับ....

ผมก็เรียนรู้จากพี่ๆ นั่นแหล่ะ ครับ

เล่าได้เยี่ยมมากมากครับ อย่างกะได้ไปดูเองเลย ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท