ความเห็นทางกฎหมาย ต่างจากคำพิพากษาอย่างไร?


ความเห็นทางกฎหมายแตกต่างจากคำพิพากษา คือว่า ความเห็นทางกฎหมายนั้นมีผลบังคับเฉพาะเรื่องเฉพาะหน่วยงานที่ร้องขอมา ส่วนคำพิพากษานั้นถือเป็นบรรทัดฐานให้กับทุกคดีที่เป็นกรณีเดียวกันคะ

วันที่ 15 พ.ค. 2551

 

วันนี้ค้นหาความเห็นทางกฎหมายของกฤษฎีกาเกี่ยวกับสถานะบุคคล ความเห็นทางกฎหมายแตกต่างจากคำพิพากษา คือว่า ความเห็นทางกฎหมายของกฤษฎีกานั้นมีผลบังคับเฉพาะเรื่องเฉพาะหน่วยงานที่ร้องขอมา ส่วนคำพิพากษานั้นถือเป็นบรรทัดฐานให้กับทุกคดีที่เป็นกรณีเดียวกันคะ

 

วันนี้เนตก็ไม่ค่อยแรงคะ ทำให้ทำงานที่ต้องหาจากอินเตอร์เนต หาได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็เลยช้าไป นิดหน่อยคะ แต่ก็หาได้จนครบ(หรือเปล่า)

 

วันนี้ก็เริ่มเตรียมทำงานฐานข้อมูลกับคำร้องที่ยื่นมาคะ บางเคสอาจจะต้องกรอกข้อมูลในแบบสอบถามเสียก่อนคะ

 

วันนี้ก็ผ่านพ้นไปด้วยดีคะ

ตัวอย่างความเห็นทางกฎหมายของกฤษฎีกา

ความเห็นทางกฎหมายฉบับย่อ

เรื่องเสร็จที่    325/2535

เรื่อง            หารือการตรวจค้นและรับรองสำเนาทะเบียนครอบครัว

ผู้ทำ               กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ 3

หัวข้อ             

พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478 [มาตรา 9]

        พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 [มาตรา 4  มาตรา 17 และมาตรา 49]

ประเด็น

         "ผู้มีส่วนได้เสีย" ตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช

2478 หมายถึงใคร มีขอบเขตแค่ไหน เพียงใด

ความเห็น

                เห็นว่า การพิจารณาความหมายของคำว่า"ผู้มีส่วนได้เสีย" ตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478  ควรพิจารณาในความหมายอย่างกว้าง โดยถือเอาผู้มีส่วนได้เสียตามความเป็นจริง ซึ่งนายทะเบียนจะต้องเป็นผู้ใช้ดุลพินิจว่าบุคคลผู้ขอดูหรือขอคัดสำเนาเป็นผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับทะเบียนที่ขอดูหรือขอคัดสำเนานั้นหรือไม่โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงในแต่กรณี

ข้อสังเกต

         ในปัจจุบันได้มีการประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎรพ.ศ.2534 ซึ่งในพระราชบัญญัติดังกล่าวได้รวมเอา "สถานะการสมรส" เป็นส่วนหนึ่งของ"ข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร"  และกำหนดเป็นหลักการสำคัญว่าข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรดัง กล่าว ต้องถือเป็นความลับห้ามมิให้ผู้ใดเปิดเผยข้อความแก่บุคคลใด ๆ หรือแก่สาธารณชนเว้นแต่เป็นการเปิดเผยแก่บุคคลซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียขอทราบสถานภาพทางครอบครัวของผู้ที่ตนจะมีนิติสัมพันธ์ด้วย และยังได้บัญญัติต่อไปอีกว่ากรณีใดจะนำข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรไปใช้เป็นหลักฐานที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของข้อมูลมิได้ ดังนั้น นายทะเบียนตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัวพุทธศักราช 2478 จะมีอำนาจให้ดูหรือคัดสำเนารายการในทะเบียนได้เฉพาะเพียงภายในขอบเขตที่กำหนดในกฎหมาย

ความเห็นทางกฎหมายฉบับเต็ม

                               เรื่องเสร็จที่ ๓๒๕/๒๕๓๕

 บันทึก

เรื่อง  การตรวจค้นและรับรองสำเนาทะเบียนครอบครัว

                  

 ตามที่ กระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือ ที่ มท ๐๔๐๒/๑๕๐๙๒ ลงวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๓๔ ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ความว่า  แนวทางปฏิบัติของนายทะเบียนอำเภอ กิ่งอำเภอ เขต และนายทะเบียนกลาง เมื่อมีกรณีผู้มีส่วนได้เสียร้องขอดูและขอคัดสำเนาทะเบียนครอบครัวต่างๆ ณ สำนักทะเบียน ได้แก่ทะเบียนการสมรส ทะเบียนหย่า ทะเบียนการรับรองบุตร ทะเบียนการรับบุตรบุญธรรม ทะเบียนการเลิกรับบุตรบุญธรรม ทะเบียนฐานะของภริยา ทะเบียนฐานะแห่งครอบครัว ให้นายทะเบียนดำเนินการให้และเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามที่กฎหมาย และระเบียบของทางราชการกำหนด สำหรับปัญหาในทางปฏิบัติที่สำนักทะเบียนอำเภอ กิ่งอำเภอ เขต และสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครองประสบอยู่ในขณะนี้ คือ

๑. ชายหญิงที่เป็นคู่รักชอบพอกัน จะร้องขอตรวจค้นและรับรองสำเนาทะเบียนสมรสหรือหย่าของฝ่ายตรงข้ามจะได้หรือไม่

๒. ชายหญิงที่เป็นคู่หมั้นกันแล้ว จะร้องขอตรวจค้นและรับรองสำเนาทะเบียนสมรสหรือหย่าของฝ่ายตรงข้ามจะได้หรือไม่

๓. ผู้มีส่วนได้เสียจะแต่งตั้งทนายความให้มาขอตรวจค้นและรับรองสำเนาทะเบียนครอบครัวของคู่กรณีฝ่ายตรงข้ามจะได้หรือไม่ เช่น กรณีสมรสซ้อน หรือกรณีระหว่างเจ้าหนี้-ลูกหนี้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้นายทะเบียนไม่มีบรรทัดฐานใดเป็นหลักเกณฑ์การอนุญาตไว้ว่าผู้มีส่วนได้เสียจะให้หมายถึงใคร มีขอบเขตแค่ไหนเพียงใด เมื่อนายทะเบียนอนุญาตอาจมีความผิดฐานละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๐ และมีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และฐานเปิดเผยความลับตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗ และมาตรา ๑๖๔ หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีก

กระทรวงมหาดไทยจึงขอหารือมา นั้น

 

คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๓) ได้พิจารณาปัญหาข้อหารือของกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว  โดยได้ฟังคำชี้แจงของผู้แทนกระทรวงมหาดไทย (กรมการปกครอง) แล้ว เห็นว่า ปัญหาข้อหารือนี้เป็นปัญหาในทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นเนื่องจากการที่มาตรา ๙[๑] แห่งพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัวพุทธศักราช ๒๔๗๘ ได้บัญญัติให้สิทธิแก่ผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะขอตรวจหรือขอคัดสำเนาทะเบียนตามกฎหมายนั้นได้  แต่โดยที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติบทนิยามของคำว่าผู้มีส่วนได้เสียไว้ จึงมีปัญหาในทางปฏิบัติเกิดขึ้นว่าผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิขอตรวจดูทะเบียนหรือจะคัดสำเนารายการในทะเบียนตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๙ จะมีขอบเขตความหมายเพียงใด ในการพิจารณาปัญหานี้ในประการแรก ควรต้องคำนึงว่าพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช ๒๔๗๘ เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อวางวิธีการจดทะเบียนครอบครัวตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕[๒] ซึ่งได้ประกาศใช้บังคับเมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๗ และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติให้การสมรส การรับรองบุตร และการรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ตามกฎหมายต่อเมื่อได้จดทะเบียนต่อนายทะเบียนก็ด้วยวัตถุประสงค์ที่มุ่งหมายที่จะรับรองสถานภาพเกี่ยวกับครอบครัวของบุคคล และบุคคลผู้นั้นสามารถใช้ทะเบียนดังกล่าวเป็นหลักฐานเพื่อยืนยันสถานภาพแห่งฐานะในครอบครัวของตนต่อสาธารณชนได้  ดังนั้น หลักฐานทางทะเบียนตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช ๒๔๗๘ เช่น สำเนาทะเบียนสมรส จึงเป็นเอกสารที่มิใช่ความลับอันต้องปกปิด และด้วยเหตุผลดังกล่าวบทบัญญัติในมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช ๒๔๗๘ จึงได้กำหนดหลักการให้ผู้มีส่วนได้เสียมีโอกาสขอดูทะเบียนครอบครัวได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม  เว้นแต่เป็นการขอให้นายทะเบียนรับรองสำเนารายการในทะเบียนจึงจะต้องเสียค่าธรรมเนียม  ดังนั้น การพิจารณาความหมายของคำว่าผู้มีส่วนได้เสียตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช ๒๔๗๘ จึงควรพิจารณาในความหมายอย่างกว้าง  โดยถือเอาผู้มีส่วนได้เสียตามความเป็นจริง ซึ่งนายทะเบียนจะต้องเป็นผู้ใช้ดุลพินิจว่าบุคคลผู้ขอดูหรือขอคัดสำเนาเป็นผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับทะเบียนที่ขอดูหรือขอคัดสำเนานั้นหรือไม่ โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงในแต่ละกรณี

ดังนั้นตามปัญหาทั้งสามประการที่กระทรวงมหาดไทย (กรมการปกครอง) ยกขึ้นเป็นข้อหารือนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๓) เห็นว่า

๑. ชายหญิงที่เป็นคู่รักชอบพอกันนั้น ตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานคำว่า คู่รักเป็นแต่เพียงชายหญิงที่รักกันในเชิงชู้สาวเท่านั้น  ดังนั้น การเป็นคู่รักที่ชอบพอกันยังไม่เพียงพอที่จะฟังว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย เว้นแต่จะมีข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนว่า กำลังจะมีนิติสัมพันธ์ในทางครอบครัวต่อกัน เช่น กำลังจะทำการหมั้น หรือกำลังจะทำการสมรสกัน หรือมีข้อเท็จจริงเห็นได้ชัดว่ามีความสัมพันธ์ต่อกันในฐานะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาอันเกินกว่าความสัมพันธ์เช่นคู่รักที่ชอบพอกัน กรณีเช่นนี้ก็อาจถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช ๒๔๗๘ ได้ โดยเทียบเคียงกับแนวคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๔๙/๒๕๑๕ [๓]

๒. ชายหญิงที่เป็นคู่หมั้นกันเป็นกรณีที่เห็นได้ชัดว่า เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยนิตินัย เพราะบุคคลดังกล่าวนั้นเป็นผู้มีนิติสัมพันธ์กันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว ในกรณีเช่นนี้คู่หมั้นฝ่ายหนึ่งย่อมขอดูหรือขอคัดสำเนาทะเบียนครอบครัวของอีกฝ่ายหนึ่งได้ และ

๓. ทนายความที่ได้รับแต่งตั้งจากผู้มีส่วนได้เสียให้มาขอตรวจค้นและรับรองสำเนาทะเบียนครอบครัวของคู่กรณีฝ่ายตรงข้ามนั้น โดยทั่วไปในการดำเนินคดี ทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจตามมาตรา ๖๑[๔] แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งให้ดำเนินคดีแทนคู่ความย่อมมีฐานะในการดำเนินคดีเช่นเดียวกับคู่ความ  ดังนั้น หากหลักฐานทางทะเบียนที่ขอดูหรือขอคัดสำเนานั้นเป็นหลักฐานที่ใช้ประโยชน์ในทางคดีของคู่ความฝ่ายนั้น ทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจนั้นก็ย่อมขอใช้สิทธิแทนคู่ความในการขอดูหรือขอคัดสำเนารายการในทางทะเบียนครอบครัวที่ต้องการได้

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๓) มีข้อสังเกตว่า ในปัจจุบันได้มีการประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎรพ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้รวมเอา สถานะการสมรสเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรตามที่กำหนดนิยามไว้ในมาตรา ๔ [๕] แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ และกำหนดเป็นหลักการสำคัญไว้ในมาตรา ๑๗[๖]แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ ว่าข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรต้องถือเป็นความลับ และให้นายทะเบียนเป็นผู้เก็บรักษาและใช้เพื่อการปฏิบัติตามที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้เท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ใดเปิดเผยข้อความแก่บุคคลใดๆ หรือแก่สาธารณชน เว้นแต่เป็นการเปิดเผยแก่บุคคลซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียขอทราบสถานภาพทางครอบครัวของผู้ที่ตนจะมีนิติสัมพันธ์ด้วย แต่ก็มิได้กำหนดบทนิยาม ของคำว่าผู้มีส่วนได้เสียไว้จากการประกาศใช้พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ ดังกล่าว จึงมีผลทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวบุคคลในทุกเรื่องนับตั้งแต่การเกิด การตาย การถือสัญชาติ การนับถือศาสนา การมีภูมิลำเนา สถานะการสมรส และในเรื่องอื่นๆ ที่กำหนดให้อยู่ในความหมายของคำว่าข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรทั้งหมดต้องถือเป็นความลับ”  และยังได้บัญญัติต่อไปอีกว่า  ไม่ว่ากรณีใดจะนำข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรไปใช้เป็นหลักฐานที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของข้อมูลมิได้ โดยมีบทกำหนดโทษแก่ผู้ฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวไว้ในมาตรา ๔๙[๗] แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ ด้วย  ดังนั้น นายทะเบียนตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช ๒๔๗๘ จะมีอำนาจให้ดูหรือคัดสำเนารายการในทะเบียนได้เฉพาะเพียงภายในขอบเขตที่กำหนดไว้ในกฎหมายเท่านั้น

 

 

(ลงชื่อ)  ไมตรี ตันเต็มทรัพย์

(นายไมตรี ตันเต็มทรัพย์)

รองเลขาธิการฯ

ปฏิบัติราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

   

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

          เมษายน ๒๕๓๕

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 182610เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2008 10:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 04:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ว้าวๆๆ อิอิ

หางานกัน จนเน็ต หมดแรงเลยเนาะ

หัดตั้งชื่อให้มันน่าสนใจกว่านี้ซิคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท