ข้อเสนอแนวคิด สำหรับอาศรมภูมิปัญญา กลุ่มการสื่อสารวิทยาศาสตร์ หลักสูตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค


ผู้เขียนเสนอให้มองการสื่อสารวิทยาศาสตร์ ในบริบทที่มีระบบความรู้อื่นๆเช่น ภูมิปัญญา ของชุมชน กลุ่มชน ดำรงอยู่ ว่าควรมองในมุมของการ ร่วมกันสร้างความรู้ใหม่ โดยใช้กระบวนการการสื่อสารให้เกิด การสนธิพลัง(Synergize) ระหว่างความรู้วิทยาศาสตร์ กับระบบความรู้อื่นๆ เช่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น (Indigenous Knowledge Systems – IKS หรือ Local Wisdom) เป็นการนำหลักการของการสร้างความรู้ (Knowledge Creation) และ การจัดการความรู้ (Knowledge Management) เข้ามาใช้

 

การเดินทางไปจังหวัดขอนแก่นของผู้เขียน เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม เพื่อร่วมปรึกษาหารือในการที่จะบ่มเพาะนักศึกษาปริญญาเอก ของ มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ หลักสูตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค ในกลุ่มวิชาใหม่ที่เพิ่งเปิดปีนี้ คือ กลุ่มการสื่อสารวิทยาศาสตร์ ผู้เขียนได้พบกับท่าน อธิการบดีของมหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ คือ รศ. ดร. อัจฉรา ภาณุรัตน์ ซึ่งได้ให้ความสำคัญมากกับการจัดทำหลักสูตรนี้ และสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบอาศรมภูมิปัญญา โดยเดินทางมาร่วมการประชุมปรึกษาหารือครั้งนี้ด้วยตนเองพร้อมอาจารย์และนักศึกษาปริญญาเอกจำนวนหนึ่ง

 

ร.ศ.สุภาพ ณ นคร ประธานอาศรมภูมิปัญญา กลุ่มการสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้เป็นผู้ดำเนินการประชุมให้เกิดการแสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างเต็มไปด้วยไมตรีจิต

 

  • ท่านอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ และ นักศึกษาปริญญาเอกที่กำลังจะเลือกกลุ่มวิชานี้ เล่ารายละเอียดหลักสูตรและความคาดหวังในการเปิดกลุ่มวิชาเฉพาะเลือกใหม่-การสื่อสาร วิทยาศาสตร์นี้

 

  • รศ. สุพัตรา ชาติบัญชาชัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำอาศรมภูมิปัญญา กลุ่มการสื่อสารวิทยาศาสตร์ ท่านมีความรู้และประสบการณ์สูงในเรื่องของวิทยาศาสตร์กับสุขภาพ การสาธารณสุขและเภสัชศาสตร์ ได้แสดงความคิดเห็นต่อหลักสูตร และการเผยแพร่ความรู้วิทยาศาสตร์ในสังคม

 

 

  • รศ.สุวิทย์ ธีระศาสวัต รองประธานอาศรมภูมิปัญญากลุ่มเศรษฐกิจและวัฒนธรรม และนักศึกษาปริญญาเอกในอาศรมนี้แบ่งปันความรู้วิธีการจัดการเรียนการสอนของอาศรม

 

 

·        ผู้เขียนถูกขอให้เล่าให้ฟังบ้างว่า การสื่อสารวิทยาศาสตร์ นั้นคืออะไร เขาทำอะไรกันในสากล แล้วเราควรทำอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับบริบทของเรา ทำไมจึงคิดเช่นนั้น

 

 

ผู้เขียนคิดว่าทุกเรื่องในชีวิต ไม่มีอะไรเป็นความบังเอิญ การที่ผู้เขียนไปร่ำเรียนวิชาการแขนงการสื่อสารวิทยาศาสตร์ในระดับปริญญาเอก นับว่าเป็นความสนใจส่วนบุคคล ที่อยากรู้ว่าวิชานี้เป็นอย่างไร ในเมืองไทยยังไม่มีการเรียนการสอนสาขาวิชานี้ในระดับปริญญาเอก (จบมาเป็นคนแรกๆของประเทศไทยในปีพ.ศ. ๒๕๔๘) ไม่ใช่เพราะเก่งวิเศษหรือมีเงิน แต่ธรรมะจัดสรรให้ได้เรียนในมหาวิทยาลัยที่ปฏิบัติต่อนักศึกษาต่างชาติเท่าเทียมกับผู้เรียนชาติของตน

 

วิชานี้ไม่เป็นที่รู้จักกันในเมืองไทยในฐานะศาสตร์ แม้ว่าจะมีการพูดถึง การสื่อสารวิทยาศาสตร์ หรือการสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์ ในวงวิชาการและหน่วยงานของรัฐอย่างกระทรวงวิทยาศาสตร์มาเกือบสิบปี ดูจากจำนวนผู้คนที่ไปเรียนสาขาวิชานี้และจบมา จนถึงวันนี้ในเมืองไทยยังมีไม่ถึง ๕ คน (อย่าเพิ่งพูดเป็นสิบเลย) ทั้งๆที่ความต้องการการเปิดการเรียนการสอนทั้งระดับปริญญาโทและเอกในสาขานี้นับวันมีแต่จะเติบโตชัดเจนขึ้น เอาจริงเอาจังมากขึ้น

 

นอกจากนี้เรื่องที่ได้เลือกทำวิทยานิพนธ์ก็เป็นเรื่องแหวกแนวคิดฝรั่งเจ้าของศาสตร์ อาจารย์ผู้ดูแลวิทยานิพนธ์ของผู้เขียนท่านตื่นเต้นกับหัวข้องานวิจัยที่ผู้เขียนทำมาก และบอกว่าผู้เขียนนั้นช่างกล้าหาญชาญชัยที่ทำเรื่องเช่นนี้ แถมยังก้าวข้ามไปใช้ศาสตร์อื่น คือ การสร้างความรู้ และ การจัดการความรู้มาบูรณาการกับเรื่องที่ทำอีก นั่นคือ การมองการสื่อสาร และกระบวนการสร้างความรู้ และ การจัดการความรู้ เป็นเครื่องมือที่จะบูรณาการระหว่างความรู้วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ กับ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้เกิดการพัฒนาในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ชาวบ้านและชุมชนมีความสุข มีอิสระ และได้ประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่แค่การพัฒนาปักป้ายโชว์ความสำเร็จของคนข้างนอกที่เป็นผู้ไปคิดให้ และสั่งการ

 

คิดๆแล้วเหมือนศึกษาในแนวนี้เพื่อรอวัน เวลา และสถานที่ที่จะนำไปขยายแนวคิด (รอมาพบกับมหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์นี่เอง) แม้ว่าจะออกมาจากการทำงานวิชาการอย่างเป็นทางการแล้ว

 

โดยทั่วไปความต้องการที่จะสื่อสารความรู้วิทยาศาสตร์ไปสู่คนธรรมดานั้น มักมาจากนักวิทยาศาสตร์ จึงมักพูดกันในแนว การถ่ายทอดความรู้ จากคนที่รู้มากกว่า ดีกว่า ไปสู่คนไม่มีความรู้วิทยาศาสตร์ หรือรู้น้อยแบบคนทั่วไปที่ไม่ได้เรียนมาทางวิทยาศาสตร์ โดยมักเป็นการคิดแทน ผู้รับข่าวสารว่าน่าจะรู้เรื่องนั้น เรื่องนี้ จึงจะดี ซึ่งก็ไม่ผิด แต่การที่มองแต่ตัวเองเป็นศูนย์กลาง จึงมองข้ามการทำความรู้จักผู้ที่ตนจะทำการสื่อสารด้วย รวมทั้งบริบทหลากหลายที่ผู้คนแตกต่างหลากหลายดำรงชีวิต

 

 

แม้แต่การมองเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่น นักวิทยาศาสตร์ทั่วๆไปก็มักเอาไม้บรรทัดวิทยาศาสตร์มาวัดว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้นมีความเป็นวิทยาศาสตร์หรือไม่ ที่ตรงไหน หรือพยายามหาเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายทุกสิ่งในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ไม่ตระหนักว่าคนโบราณใช้คำสอนหรือ คำบอกเล่าที่สืบทอดมาเพื่อเป็น อุบายในการสอนเด็กๆ หรือผู้คนที่อยู่ร่วมชุมชนให้อยู่อย่างเกื้อกูลกัน ระมัดระวังอันตราย นอบน้อมเคารพธรรมชาติ นักวิชาการมักขาดการใส่ใจอย่างให้ความเคารพกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิมในชุมชน ตามความเคยชินที่มองทุกสิ่งแบบแยกส่วน เพราะที่เรียนมาถูกสอนให้ให้มองโลกอย่างนี้ อีกทั้งมักคิดว่าความรู้สมัยใหม่นั้น เหนือกว่า ความรู้ที่ชุมชนมี และที่หนักกว่านั้นอาจถึงไปมองว่าสิ่งที่ชาวบ้านทำนั้นเพราะขาดความรู้ที่ถูกต้อง

 

แม้ว่าความรู้วิทยาศาสตร์จะเป็น สากล แต่เมื่อจะทำการสื่อสารความรู้ประเภทนี้ วัฒนธรรม การดำเนินชีวิต และ โลกทัศน์ ของกลุ่มเป้าหมายที่เราจะสื่อสารด้วยนั้นย่อมมีบทบาทสำคัญยิ่ง

 

 

ดังนั้นแนวคิดการสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่ผู้เขียนคิดว่าน่าจะสอดคล้อง เหมาะสมกับ หลักสูตร ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค ของ มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ ผู้เขียนในฐานะที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์และมองเห็นแง่มุมที่น่าสนใจในเรื่องนี้ จึงขอชวนให้อาจารย์และนักศึกษาทุกท่าน

  • เปิดใจออกนอกกรอบความคิดแบบวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยีล้วนๆ และ
  • มองคำว่า การสื่อสาร ให้กว้างกว่าแค่เรื่องของการใช้สื่อมวลชน-วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ การทำโปสเตอร์ แผ่นพับ การจัดนิทรรศการ และการจัดการบรรยายให้ความรู้แบบเดิมๆ

 

การสื่อสารวิทยาศาสตร์ ในฐานะศาสตร์ จัดว่าเป็นศาสตร์ใหม่ อายุน้อยเพียงสามสิบกว่าปีเท่านั้น แต่ในช่วงสิบปีหลัง นักวิชาการในศาสตร์นี้ได้ยอมรับว่าความรู้ด้านสังคมศาสตร์ได้ทำให้การสื่อสารวิทยาศาสตร์มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น เมื่อนำมิติทางสังคมศาสตร์เข้ามาร่วมพิจารณาในการวางนโยบายและแผนดำเนินการโครงการและกิจกรรมต่างๆ

 

ยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค ของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ย่อมต้องทำความเข้าใจและยอมรับความหลากหลายของวัฒนธรรมชนชาติและชาติพันธุ์ต่างๆ และแม้สังคมไทยเองก็ยังมีความเป็นพหุลักษณ์

 

ผู้เขียนเสนอให้มองการสื่อสารวิทยาศาสตร์ ในบริบทที่มีระบบความรู้อื่นๆเช่น ภูมิปัญญา ของชุมชน กลุ่มชน ดำรงอยู่ ว่าควรมองในมุมของการ ร่วมกันสร้างความรู้ใหม่ โดยใช้กระบวนการการสื่อสารให้เกิด การสนธิพลัง(Synergize) ระหว่างความรู้วิทยาศาสตร์ กับระบบความรู้อื่นๆ เช่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น (Indigenous Knowledge Systems – IKS หรือ Local Wisdom) เป็นการนำหลักการของการสร้างความรู้ (Knowledge Creation) และ การจัดการความรู้ (Knowledge Management) เข้ามาใช้

 

ดังนั้นในการนี้ การสื่อสารจะเป็นหัวใจของความสำเร็จ ในการสร้างความสัมพันธ์ การเรียนรู้ซึ่งกันและกันอย่างมีความเคารพต่อกัน ซึ่งนี่เป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาให้อยู่บนเส้นทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ในที่สุด

 

บัณฑิตที่จะผลิตออกมารับใช้สังคม จึงไม่ใช่แค่คนที่จะมานั่งเขียนข่าว เขียนบทความเอง เป็นชิ้นๆ เป็นเรื่องๆ หรือ จัดรายการวิทยุ โทรทัศน์ หรือไปจัดเวทีบรรยายทั่วภูมิภาคเพื่อถ่ายทอดความรู้ แก้ปัญหาสังคมแต่ละเรื่องๆไร้ที่สิ้นสุด โดยปราศจากการเข้าใจภาพใหญ่และมิติที่กว้างของการเป็นสังคมที่ใช้ความรู้เป็นฐานหรือ สังคมการรียนรู้ ในการที่วิทยาศาสตร์จะถูกบูรณาการเข้าไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันของผู้คนที่อยู่ในสังคม วัฒนธรรมและบริบทที่แตกต่างหลากหลาย

 

อธิการบดีของมหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ คือ รศ. ดร. อัจฉรา ภาณุรัตน์ ท่านเห็นชอบในแนวคิดนี้เช่นกัน ท่านจึงสรุปว่าต้องการให้หลักสูตรใน กลุ่มการสื่อสารวิทยาศาสตร์นี้  สร้างผู้นำการสนธิพลัง ระหว่างความรู้วิทยาศาสตร์ กับระบบความรู้อื่นๆ นับว่าเป็นความภูมิใจของผู้เขียนซึ่งเป็นนักวิชาการอิสระ ไร้ชื่อ (นอกวงการไปแล้ว) ที่ได้เสนอแนวคิดแล้วได้รับการยอมรับว่ามีประโยชน์และนำไปสู่การร่วมปั้นลักษณะบัณฑิตที่ต้องการ

 

นอกจากนี้ ร.ศ.สุภาพ ณ นคร ประธานอาศรมภูมิปัญญา กลุ่มการสื่อสารวิทยาศาสตร์ ยังได้เสนอในที่ประชุมให้ผู้เขียนรับตำแหน่งประธานอาศรมนี้ไปเสียด้วยโดยให้เหตุผลว่า มีความพร้อมทั้งด้านวิชาการและสถานที่ในการจัด อาศรมภูมิปัญญา ที่เหมาะสม ท่านใช้คำว่าบ้านผู้เขียนนั้น สัปปายะ ในการให้ศิษย์ไปเรียนรู้นอกบรรยากาศของห้องเรียนในมหาวิทยาลัย ทุกท่านเห็นด้วย ผู้เขียนจึงต้องน้อมรับไว้ด้วยความรู้สึกเป็นเกียรติยิ่ง และจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

 

ต่อไปบ้านริมแม่น้ำป่าสัก นอกจากจะเป็นจุดหมายให้ญาติสนิท และกัลยาณมิตรมาพักใจ คลายเครียดจากการงาน ให้ได้อิ่มใจกับธรรมชาติ และมาอิ่มท้องกับอาหารฝีมือพี่น้อยแล้ว ก็จะได้ทำอีกบทบาทในการเป็น อาศรมภูมิปัญญา เป็นแหล่งที่นักศึกษาปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ หลักสูตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค  กลุ่มการสื่อสารวิทยาศาสตร์ จะมาใช้เป็นที่บ่มเพาะปัญญาในช่วงหนึ่งของชีวิตการเรียนรู้

 

 

 



ความเห็น (29)

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ

สาธุ สาธุ สร้าง ฅน ให้เป็น ฅน คนให้ชีวิต เข้ากับบริบทเจ้าของ ครับ

  • ขอแสดงความยินดีด้วยครับ
  • ชื่นชมแนวคิดของมหาวิทยาลัยและของพี่นุช
  • แบบนี้เป็นแนวคิดที่ดีมากๆๆของมหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาให้สอดคล้องกับท้องถิ่น บริการชุมชนและสังคม เป็นที่พึ่งของประชาชนได้
  • การสนธิพลัง(Synergize) ระหว่างความรู้วิทยาศาสตร์ กับระบบความรู้อื่นๆ เช่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น (Indigenous Knowledge Systems – IKS หรือ Local Wisdom) เป็นการนำหลักการของการสร้างความรู้ (Knowledge Creation) และ การจัดการความรู้ (Knowledge Management)
สุขใจ สมพงษ์พันธุ์

ดีใจที่ได้รับทราบว่ามีผู้ที่สนใจและเห็นด้วยกับหลักสูตรนี้

ส่วนตัวมีความสนใจ และตั้งใจจะเรียนรู้ศาสตร์นี้

จึงยินดีที่จะมีโอกาสได้เรียนรู้เป็นนักศึกษาป.เอก สาขายุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค กลุ่มวิชาการสื่อสารวิทยาศาสตร์ รุ่นแรก ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์

ท่านใดมีข้อมูล ความคิดเห็นที่จะแลกเปลี่ยน เสนอแนะ ยินดีรับฟังคะ

ขอบคุณคุณP ธัญศักดิ์ ณ นคร ค่ะที่มาแวะอ่านบันทึกนี้และเห็นว่าดี ยินดีที่ได้พบค่ะ หวังว่าคงได้ไปมาหาสู่กันเสมอๆนะคะ(อย่าลืมแวะไปอีกบล็อกคือ riverlife ของดิฉันด้วยนะคะ)

เมื่อวานตอบอาจารย์  P  JJ ไปแล้วครั้งหนึ่งแต่มีปัญหาเทคนิคอย่างเดิม กดบันทึกแล้วหน้าเว็บไม่สามารถแสดงได้ ข้อความหายหมด เช้านี้ลองใหม่ค่ะ

อยากตอบเร็วๆนะคะ รู้สึกขอบคุณอาจารย์ค่ะที่เข้าใจและมาให้กำลังใจ

ขอบคุณค่ะอาจารย์ขจิตP พี่รู้สึกประทับใจในการวางหลักสูตรและแนวทางดุษฎีบัณฑิตของมหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ในวิชายุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาคมากค่ะ รู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจที่ได้มีโอกาสทำประโยชน์ร่วมกัน

ขอบคุณที่ให้กำลังใจกันนะคะ


สวัสดีค่ะ อาจารย์ สุขใจ สมพงษ์พันธุ์ ดีใจที่อาจารย์มาอ่าน

เป็นนักศึกษารุ่นแรกนั้นนับว่าเป็นโอกาสที่ได้เห็นทุกสิ่งตั้งแต่เริ่มต้น เพราะอาจารย์เองเมื่อสำเร็จการศึกษาก็ต้องเป็นผู้สร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับหลักสูตรนี้ต่อไปเพื่อประโยชน์ต่อประชาชน ชุมชนในภูมิภาคนะคะ เป็นงานที่มีเกียรติจริงๆ

  • ตามมาขอบคุณพี่นุช
  • สบายดีไหม
  • เอารูปนี้มาฝาก
  • จำได้ไหมว่าใครบ้างครับ
  • อิอิๆๆ

ขอบคุณอาจารย์ขจิตค่ะ ที่ส่งภาพน่ารักเช่นนี้มาให้ร่วมชื่นชม

รอจังหวะเหมาะๆที่จะได้มีโอกาสพบปะร่วมกระบวนการกิจกรรมการเรียนรู้ที่เบิกบานเช่นนี้บ้างค่ะ

สวัสดีค่ะพี่นุช

แวะมาอ่านแล้วอยากไปเรียนสาขาวิชานี้ด้วยคนจังค่ะ

ชอบความคิดและการมองการณ์ไกลของพี่นุชมากค่ะ ได้เปิดโลกทัศน์ตัวเองเลยค่ะเมื่อมาอ่านเกี่ยวกับการเกิดสาขาวิชายุทธศาสตร์ การพัฒนาภูมิภาค เห็นชื่อก็น่าเรียนแล้วค่ะแถมได้ไปบ้านอาศรมภูมิปัญญาของพี่นุชอีกต่างหาก อะไรจะโชคดีขนาดนั้น ;)

สวัสดีค่ะคุณอุ๊P a l i n l u x a n a =) ขอบคุณและดีใจที่คุณอุ๊แวะมาอ่าน คุณอุ๊ชื่นชมหลักสูตรอย่างนี้คณาจารย์และลูกศิษย์คงปลื้มใจค่ะ

พี่เองก็รู้สึกตื่นเต้นกับหลักสูตรนี้ที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูงมาก มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์นับว่าได้ทำสิ่งที่นอกกรอบระบบการเรียนการสอนทั่วไปมากค่ะ รู้สึกเป็นเกียรติที่เขาให้ความไว้วางใจในการสอนลูกศิษย์รุ่นแรกค่ะ และดีใจที่บ้านที่อยู่เป็นได้มากกว่าบ้านที่เจ้าของอยู่สุขสบายเท่านั้น ถือว่าลูกศิษย์ได้ของแถมบรรยากาศด้วยค่ะ

สวัสดีค่ะ อาจารย์

อยากไปอาศรมภูมิปัญญาด้วยจังเลยค่ะ

 

สบายดีนะคะ

ป้าแดงไม่ค่อยได้อยู่บ้าน ไม่ค่อยได้เข้าเนตค่ะ

อุปกรณ์ที่หอบหิ้วไปด้วยก็เหมือนเรือเกลือ เลยไม่ได้แวะเยี่ยมเลย

 

สวัสดีค่ะคุณแดงP pa_daeng [มณีแดง คนสวย แซ่เฮ] ชีพจรลงเท้าไปนอกบ้านเรื่อยๆ ยังอุตส่าห๋มาแวะเยี่ยมได้ ขอบคุณในความคิดถึงและความพยายามค่ะ อุปกรณ์ที่บ้านก็พอๆกับเรือเกลือเช่นกัน เข้ามาโพสต์ถึงใครๆได้ยากเย็นค่ะ

สบายดีค่ะ คุณแดงก็เช่นกันนะคะ หวังว่าคงได้มีโอกาสต้อนรับกัลยาณมิตรทุกท่านที่เคยมาเยี่ยมอีก และมิตรใหม่ๆที่จะชวนกันมานะคะ

มาเยี่ยม

เข้ามาแล้วแต่บางช่วงบันทึกไปติดนะครับผม

มีความสุขกับวิถึชีวิตอยู่กับธรรมชาตินะครับ...

ขอบคุณค่ะอาจารย์P umi ที่กรุณามาอีก อย่างให้ทราบแน่ๆว่ามาให้กำลังใจกัน

เราพบปัญหาคล้ายกันเลยค่ะ

ตามมาดูพี่นุช สบายดีไหม ตอนนี้กำลังสนุกสนานกับการสอนครับ

สัสดีค่ะอาจารย์ขจิต P ขจิต ฝอยทอง ที่เป็นห่วงตามมาดูพี่เนืองๆ ไม่สบายมาหลายวันเพิ่งจะดีขึ้นวันนี้ล่ะค่ะ อากาศอย่างนี้ทำให้หายได้ช้ามากเลยค่ะ

ดีใจที่อาจารย์กำลังสนุกกับการทำประโยชน์อย่างยิ่ง มีน้องขยัน และไฟแรงอย่างนี้ภูมิใจจังค่ะ

มาเยี่ยม...คุณนายดอกเตอร์

มาตามทางที่ฝากรอยไว้นะ ฮิ ฮิ ฮิ

วันนี้ที่สงขลาสดใส แสงแดดเจิดจ้า ทำให้เหมาะแก่การวักเสื้อผ้ามากเลยละ

หลงตาไปค่ะอาจารย์P umi เลยมาตอบช้า

หมู่นี้ฝนตกสลับแดดแจ๋เจิดจ้า ทำใจเลยค่ะ ยิ่งดูหนังเรื่องInconvenient Truthแล้วเข้าใจในความวิปริต ของดินฟ้าอากาศ

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมค่ะ

สวัสดีครับ พี่นุช

     มี 2-3 เรื่องที่อยากฝากไว้ที่บันทึกนี้ครับ 

     เรื่องแรกเป็นประเด็นที่แทรกอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือวิทยาศาสตร์กระแสหลัก ก็ตาม นั่นคือ มายาคติ หรือ myth ครับ (อันนี้แก้ยากจัง)

     อีกเรื่องหนึ่งคือ วิทยาศาสตร์ไม่ว่าจะในภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือวิทยาศาสตร์ที่นำเข้าจากโลกตะวันตก ต่างก็มีเงื่อนไข (conditions) หรือบริบท (context) ในการใช้งาน ปัญหาอย่างหนึ่งที่พบก็คือ คนเรา (ซึ่งอาจจะไม่จำกัดเฉพาะคนไทย) มักจะมีแนวโน้มว่า เอา/ไม่เอา ดี/ไม่ดี ใช่/ไม่ใช่ เช่น

  • จะเอา GMOs ไหม
  • จะเอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไหม
  • จะเอาบ่อนกาสิโนไหม

แทนที่จะถามว่า ภายใต้เงื่อนไขอย่างไร ที่เรื่องหนึ่งๆ ควรจะได้รับการเลือกใช้ หรือไม่เลือกใช้

หรือกลับกันคือ ถ้าจะเลือกอะไรสักอย่าง เงื่อนไขที่ต้องการคืออะไร

      ผมเข้าใจไปว่า คำว่า "วิทยาศาสตร์ล้วนๆ" นี่น่าจะเอียงไปทางเนื้อหา (content) เพราะถึงที่สุดแล้ว แม้แต่ Soft Science อย่างสังคมศาสตร์ ก็ใช้ กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (scientific process) ในการศึกษาด้วยเช่นกัน

      จริงๆ แล้ว แม้แต่ภูมิปัญญาชาวบ้านที่สั่งสมกันมานาน ก็ถือว่ามีฐานมาจาก การสังเกต & ความมั่นใจที่เพิ่มขึ้นด้วยหลักฐานที่ปรากฏ (evidence base) ซ้ำๆ ซึ่งเป็นหัวใจของ กระบวนการวิทยาศาสตร์ด้วยครับ

       อย่างสุดท้ายคือ การท้าทายความคิด ความเห็น หรือความเชื่อ ที่มีอยู่ ซึ่งหากปราศจากทัศนคติเช่นนี้แล้ว ก็จะไม่มีการทะลุผ่านไปสู่สิ่งใหม่ (breakthrough) คือ จะวนๆ อยู่กับของเดิม ที่แม้จะถุกต้อง แต่ก็ถุกต้องเฉพาะในเงื่อนไขที่จำกัดหนึ่งๆ เท่านั้นครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะP  ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ ขอบคุณมากเลยค่ะที่แวะมาและมาช่วยกันเปิดมุมมองที่บ้านเมืองของเราจะพัฒนาไปโดยใช้ "ความรู้" ไม่ว่าจะเป็นความรู้ประเภทไหน โดยให้ความสนใจ "บริบท" อยากให้มีนักวิทยาศาสตร์ที่คิดอย่างอาจารย์มากเพิ่มขึ้นจริงๆค่ะ นานๆจะเจอนักวิทยาศาสตร์ที่เข้าใจความสำคัญของบริบท ส่วนมากไปเน้นที่ตัวความรู้(วิทยาศาสตร์)ที่ต้องการถ่ายทอด(ป้อนหรือยัดเยียด)จนมองไม่เห็นอย่างอื่น

พูดถึง"วิทยาศาสตร์" หรือ "ภูมิปัญญาท้องถิ่น"หากเราเข้าใจว่า มีทั้งตัว "ความรู้" "กระบวนการ" และ "บริบท/เงื่อนไข" ที่เป็นของตนเอง แยกจากกันไม่ได้ พยามเปิดใจทั้งสองฝ่าย ก็จะเกิดประโยชน์ในการสร้างพลังความรู้ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง การพัฒนาอย่างที่มุ่งหวังได้

พี่มองว่ากระบวนการที่ใช้ในการสร้างความรู้-การจัดการความรู้ จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยละลายกำแพงแห่งมายาคติที่เคยกั้นคนจากสองโลก(วิทยาศาสตร์ กับ ชาวบ้าน/คนธรรมดา) หากยังไม่เปิดใจ ยึดสิ่งที่ตนเชื่ออย่างแน่นเหนียว ก็ไปไม่ถึงไหนค่ะ

ขอโทษนะคะที่มาตอบช้า หมู่นี้สังคมมากไปหน่อยค่ะ

เรียนรู้ทฤษฎี เน้นภาคปฎิบัติ บริหารเเละจัดสรรค์ พื้นที่ให้เกิดประโยขน์ ด้วยเเบบเเผนที่เข้าใจง่าย M.S.FM.

http://payathai.spu.ac.th/msfm/content/0/1929.phpจัดอบรมสัมมนาฟรี โดยมหาวิทยาลัยศรีปทุม

น่าสนใจมากค่ะ เป็นแนวคิดที่ดี ได้อ่านหนังสือของอาจารย์แล้วค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์

แนนำตัวเองนะคะ เป็นรุ่นน้อง รุ่นที่ 7 ค่ะ ด้วยความคิดที่ไม่ต่างกัน จึงจะสามารถเดินตามและเจริญรอยตามกันได้ อ่านตำราร้อยพันเล่มยังไม่เข้าถึงและมองไม่เห็นภาพ การเรียนรู้ทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติเป็นอะไรที่เข้าถึงได้อย่างลึกซึ้ง การเรียนการสอนพัฒนาขึ้นมากตามลำดับ รุ่น7 สาขานี้มีพลังมากมายที่จะเข้าถึงคำว่าชาติพันธ์ แต่รุ่นนี้ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่วัฒนธรรมมากว่า แต่ก็หนี้ไม่พ้นวิทยาศาสตร์ อาจจะได้ขอคำแนะนำจากรุ่นพี่ที่เข้าถึงและประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นครูบาใหญ่ของหลักสูตรนี้อย่างแท้จริง

สัวสดีค่ะอาจารย์หนูชื่อปิยะวรรณ ลำพุทธาค่ะ กำลังศึกษาระดับปริญญาโทอยู่ที่ มศว และกำลังศึกษา หาข้อมูลเรื่องการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ซึ่งจากการอ่านบันทึกของอาจารย์ที่เล้าเรื่งความเป็นมาเป็นไปของการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็เห็นด้วยกับอาจารย์ที่ว่าการสื่อสารในเมืองไทยยังไม่เ้ป็นที่กว้างขวางนัก จึงใคร่ขอความอนึชุเคราะห์ให้อาจารย์แนะนำแหล่งข้อมูลทางการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ความเข้าใจการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น ขอบพระคุณค่ะ

สวัสดีค่ะคุณปิยะวรรณ หากกำลังศึกษาตัว "ศาสตร์" ของการสื่อสารวิทยาศาสตร์ ซึ่งหมายถึงวิชาการแขนงหนึ่งที่มีแนวคิด ทฤษฎี งานวิจัยต่างๆ ข้อมูลภาษาไทยไม่น่าจะมีใครเขียนไว้เป็นเรื่องเป็นราวค่ะ คงต้องค้นจากภาษาอังกฤษ อ่านหนังสือที่เขียนโดยผู้คนหลายอาชีพที่ช่วยกันพัฒนาทำให้ศาสตร์นี้ได้รับการยอมรับเป็นรูปเป็นร่าง เช่น เล่มแรก When Science Becomes Culture,  At the Human Scale หรือ ลองค้นจากกิจกรรมการจัดประชุมวิชาการของ International Network of Public Communication of Science and Technology (PCST Network)นะคะ

ขอบพระคุณสำหรับคำแนะนำค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท