สวาทพร
สวาทพร เลขที่ 100 สวาทพร ศักดิ์ธนานุรักษ์

ความสัมพันธ์ไทย -จีน


ความสัมพันธ์ไทย -จีน
 
รายงานพิเศษ : ย้อนรอย...ความสัมพันธ์ไทย-จีน !!
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 21 มิถุนายน 2548 19:12 น.
       แม้ความสัมพันธ์ไทย -จีน จะดำเนินมาครบ 3 ทศวรรษในวันที่ 1 ก.ค. นี้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การติดต่อปฏิสัมพันธ์กันมีมาก่อนหน้าเป็นร้อยๆ ปีแล้ว แม้เหตุผลหรือนัยแห่งความสัมพันธ์จะอยู่บนความจำเป็นบ้าง หรือมีการตัดสัมพันธ์กันไปบ้างในบางช่วงก็ตาม แต่ด้วยสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยนบวกสายใยที่มีต่อกัน ก็เหนียวแน่นพอที่จะทำให้ทั้ง 2 ประเทศกลับมาแนบสนิทชิดเชื้อกันอีกครั้ง และยั่งยืนกระทั่งทุกวันนี้
       
       
                                                                   
1 
       ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน แม้จะได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการมานาน 30 ปีแล้ว แต่หากมองย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น พอจะมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยืนยันได้ว่า สัมพันธ์ไทย-จีนน่าจะดำเนินมาตั้งแต่ครั้งสุโขทัยเป็นราชธานี และต่อเนื่องมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ โดยมีวัตถุโบราณจากจีนบางอย่างที่บ่งบอกว่า ชาวจีนน่าจะเดินทางมาแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเวลานับพันๆ ปีแล้ว เช่น แผ่นป้ายหินสลัก เป็นต้น
       
       แต่ความสัมพันธ์ระหว่างกันในยุคนั้น ย่อมแตกต่างจากในปัจจุบัน อ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล แห่งภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนความสัมพันธ์
       ไทย-จีนเป็นแบบ”ระบบบรรณาการ” หรือจะเรียกอีกแบบก็คือ การ”จิ้มก้อง” นั่นเอง
       
       “ระบบบรรณาการ” คือ ถ้าใช้คำจีนที่คนไทยรู้จักกันดี คือ การ“จิ้มก้อง”เหตุผลที่เป็นเช่นนี้เพราะจีนเขาถือตนว่า เขาเป็นชาติอารยธรรมและเป็นศูนย์กลางของโลก นั่นคือ ใครที่จะติดต่อกับเขา ก็จะต้องมีอะไรไปจิ้มก้องเขาก่อน ซึ่งก็มีหลายประเทศที่เป็นไปในลักษณะนี้ ถ้าถามว่า ฐานะของจีนในเชิงความเป็นมหาอำนาจมีอยู่จริงมั้ย ก็ต้องตอบว่า มีอยู่จริง แต่มันมีความเข้าใจที่ลักลั่นกันระหว่างไทยกับจีนในเวลานั้น คือ จริงๆ แล้วฝ่ายไทยที่ต้องการไปมีความสัมพันธ์กับจีน ฝ่ายไทยเข้าใจว่า การที่จะมีความสัมพันธ์กับจีนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำมาค้าขาย เพราะตอนนั้นจีนเป็นมหาอำนาจที่มีสถานะทางเศรษฐกิจที่อาจจะกล่าวได้ว่า มั่นคงและเข็งแกร่งที่สุดในโลกก็ว่าได้ และมีขนาดเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่มาก ฉะนั้นหลายๆ ชาติจึงมุ่งที่จะไปทำการค้ากับจีน ทีนี้ทางฝ่ายไทยเข้าใจว่า การทำการค้านั้น จีนมีเงื่อนไขของการจิ้มก้องอยู่ด้วย ไทยเองก็ไม่ได้คิดอะไร ก็คงไปจิ้มก้องด้วยเหตุผลที่ต้องการทำการค้า แต่ในแง่ทัศนคติของจีน จีนจะมีความคิดว่า ชาติที่อยู่นอกอารยธรรมจีน หรือนอกวัฒนธรรมจีน มักจะเป็นชาติที่ป่าเถื่อน ดังนั้นการที่จะมาเคารพคบหากันอย่างนี้ ก็จะต้องยอมรับความยิ่งใหญ่ของเขา ฉะนั้นการที่ชาติใดก็ตามไปจิ้มก้องเขา ในทัศนคติของจีน เขาก็ดูว่าชาตินั้นเป็นเสมือนหนึ่งเมืองขึ้นของเขา”
       
       แต่ความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการ หรือจิ้มก้องที่ไทยมีกับจีนก็ดำเนินไปได้ไม่ตลอด โดยมาสิ้นสุดลงในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะทรงตระหนักว่า เป้าหมายของไทยที่ติดต่อการค้ากับจีน มิใช่ต้องการยกย่องจีนหรือยอมรับการเป็นประเทศราชจากจีน ราชสำนักไทยจึงตัดขาดความสัมพันธ์กับจีนนับแต่นั้น ประมาณปี พ.ศ. 2396 (ค.ศ.1853)

 
2
       กว่าที่ทั้ง 2 ประเทศจะกลับมาสานความสัมพันธ์กันอีกครั้งก็หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยก่อนหน้านั้นบรรยากาศหลังจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ในปี 2492 (ค.ศ.1949) ก็ยังไม่เอื้อให้ไทยและจีนกลับมามีความสัมพันธ์กันใหม่สักเท่าใดนัก เพราะภาพความเป็นคอมมิวนิสต์ของจีนมีผลต่อความมั่นคงของไทย อีกทั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็มีความสัมพันธ์และให้การช่วยเหลือเกื้อกูลพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอยู่ อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.จุลชีพ ชินวรรโณ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า จุดเปลี่ยนที่ทำให้ไทยและจีนเริ่มจะกลับมาสานความสัมพันธ์ต่อกัน ก็คือ การประชุมกลุ่มเอชีย-แอฟริกา(แอโฟรเอเชียน คอนเฟอเรนซ์) ที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี 2498(ค.ศ.1955) แม้การประชุมครั้งนั้นผู้นำ 3 ประเทศที่ริเริ่มจัด คือ อินโดนีเซีย-อียิปต์ และอินเดีย จะมีเป้าหมายให้ประเทศเกิดใหม่ในเอเชียและแอฟริกาได้มาพูดคุยกัน แต่ประเทศที่ไม่ได้เกิดใหม่อย่างไทยและจีนก็ได้รับเชิญเข้าประชุมด้วย โดยผู้แทนฝ่ายไทย ก็คือ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากรณ์ กรมหมื่นนราธิปพงษ์ประพันธ์ ส่วนผู้แทนของจีนคือ นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลและรัฐมนตรีต่างประเทศ
       
       การได้พบปะพูดคุยกันในเวทีดังกล่าว ทำให้ไทยได้รู้ว่า จีนไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด และจีนก็มีนโยบาย"อยู่ร่วมกันโดยสันติ"ด้วย แล้วหลังจากนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนก็เริ่มเดินหน้าอีกครั้ง แม้จะเป็นไปอย่างลับๆ ก็ตาม
       
       “จากการพบปะกันครั้งนี้เอง ก็ทำให้พระองค์วรรณ มาเล่าให้นายกรัฐมนตรีจอมพล ป. ทราบ ว่า จีนมีท่าทีที่ไม่ได้คุกคามเหมือนอย่างที่เราเคยทราบ ทำให้ จอมพล ป. มีความสนใจอยากติดต่อกับจีนมากขึ้น ที่ปรึกษาของจอม-พล ป. คนหนึ่งคือ นายสังข์ พัธโนทัย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่กรมโฆษณาการ มีเพื่อนฝูงอยู่ในแวดวงสื่อมวลชนภาษาจีนหลายคน เมื่อรู้ว่าจอมพล ป. ต้องการติดต่อกับทางฝ่ายจีน ก็ไปหาคนที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ติดต่อกับจีน ก็คือ คุณอารี ภิรมย์ และคุณกรุณา กุศลาสัย จอมพล ป. ก็ส่งสองคนนี้เดินทางไปอย่างลับๆ เพื่อไปติดต่อกับจีน .. การพบปะกันครั้งนั้น โจวเอินไหลก็แสดงท่าทีที่เป็นมิตร ทำให้ไทยกับจีนเริ่มมีการติดต่อกัน แต่การติดต่อกันในครั้งนั้นก็ไม่ได้ดำเนินไป เพราะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นในประเทศไทย คือ พล.อ. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจ ทำให้จอมพล ป. จำเป็นต้องลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ในญี่ปุ่น แล้วคุณสังข์ พัธโนทัย เองก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์”
       
       ไม่เฉพาะคุณสังข์เท่านั้น ใครที่เคยเดินทางไปจีนจะถูกกล่าวหาเป็นคอมมิวนิสต์หมด รวมทั้งศิลปินหลายๆ ท่าน เช่น คุณสุวัฒน์ วรดิลก ,คุณสุเทพ วงศ์กำแหง และคุณสุพรรณ บูรณพิมพ์ เป็นต้น ดังนั้นยุคที่จอมพลสฤษดิ์เรืองอำนาจ ความพยายามที่จะติดต่อกับจีนจึงยุติลง เพราะใครขืนเดินทางไปจีน เป็นอันต้องถูกจับ ขณะเดียวกันจอมพลสฤษดิ์ก็กวาดล้างคอมมิวนิสต์ในไทยยกใหญ่ ซึ่งนั่นหมายถึงการต่อต้านคอมมิวนิสต์จีนด้วย
       
       แต่แล้วก็มีจุดหักเหที่ทำให้จีนและไทยได้มีโอกาสกลับมาสานต่อความสัมพันธ์กันอีกครั้ง หลังจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติแทนไต้หวันในปี 2514(ค.ศ.1971) โดยก่อนจะสานสัมพันธ์กับไทย จีนได้เปิดความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ก่อน เพื่อคานอำนาจโซเวียตที่ขัดแย้งกับจีนอยู่ในขณะนั้น และจีนสู้ไม่ได้ จึงพยายามหาพันธมิตร สำหรับนโยบายที่จีนนำมาใช้ในการเปิดฉากความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ก็คือ นโยบายการทูตปิงปอง โดยจีนจัดแข่งขันปิงปองโลกขึ้นในประเทศ แล้วเชิญตัวแทนจากสหรัฐฯ เข้าร่วม แล้วจึงเพิ่มระดับเป็นการเชิญผู้นำสหรัฐฯ เยือนประเทศจีน ส่วนในแง่ไทย-จีนนั้น อ.จุลชีพ บอกว่า ผู้ที่มีบทบาทในการทำให้ไทยปรับนโยบายมาสานต่อความสัมพันธ์กับจีน โดยที่ไม่มีใครรู้ ก็คือ พ.อ.ถนัด คอมันตร์ ซึ่งนั่งตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศอยู่ในขณะนั้น ได้ไปประชุมสหประชาชาติ(ยูเอ็น) จึงทำให้ได้ทราบว่า ยูเอ็นรับจีนเข้าเป็นสมาชิก เมื่อสถานการณ์สะท้อนว่า จีนมีความสำคัญมากขึ้น บทบาทและความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนอาจจะต้องเปลี่ยนแปลง พ.อ.ถนัด จึงสั่งให้ทูตไทยประจำยูเอ็น คือ นายอานันท์ ปันยารชุน ติดต่อกับจีนที่ยูเอ็น เพื่อให้จีนรู้ว่า ไทยสนใจติดต่อกับจีน ซึ่งในที่สุดไทยก็ได้ทราบว่า จีนก็อยากติดต่อกับไทยเช่นกัน

 
3 
       “ทำไมจีนถึงสนใจอยากจะติดต่อกับไทย เพราะว่าจีนต้องการเอาไทยมาเป็นพวกเพื่อต่อต้านอิทธิพลของโซเวียตซึ่งแผ่เข้ามาในภูมิภาคนี้ ด้วยเหตุนี้เองก็นำมาสู่การทูตปิงปองเหมือนกัน จีนก็ส่งเทียบเชิญให้เราไปเล่นปิงปอง เราก็ไปโดยการส่งคุณ ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ไป คุณประสิทธิ์ เป็นที่ปรึกษา แต่หัวหน้าคณะก็คือ พลตำรวจเอก ชุมพล โลหะชาละ ซึ่งเป็นรองอธิบดีกรมตำรวจ ฝ่ายกิจการพิเศษ ก็คือ ฝ่ายกิจการคอมมิวนิสต์นั่นเอง นำทีมไป ทำไมถึงเป็นคุณประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ เพราะคุณประสิทธิ์สนิทกับจอมพล ประภาส จารุเสถียร ซึ่งตอนนั้นเป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย และคุมเรื่องการต่อต้านคอมมิวนิสต์ คุณประภาส ไว้ใจคุณประสิทธิ์มาก จึงส่งคุณประสิทธิ์ไป ”
       
       เมื่อกระบวนการที่จะสานความสัมพันธ์เริ่มต้นขึ้น ในที่สุดเมื่อมาถึงสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้ตัดสินใจเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2518 (ค.ศ.1975)
       
       อะไรเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เดินหน้าสถาปนาความสัมพันธ์กับจีน 1 ในผู้ที่ทราบดีก็คือ ดร. เกษม ศิริสัมพันธ์ ซึ่งเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ดร. เกษม บอกว่า เงื่อนปมปัญหามาจากสงครามเวียดนามและสถานการณ์ในกัมพูชา เมื่อประเทศในอินโดจีนตกเป็นคอมมิวนิสต์ ประเทศที่มีชายแดนติดกันอย่างไทย ย่อมต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องตกเป็นคอมมิวนิสต์ตามไปด้วย
       
       “เดือน เม.ย. สงครามเวียดนาม อเมริกันแตกในเวียดนามใต้ และที่สำคัญที่สุด คือ ในกัมพูชา เขมรแดงยึดประเทศได้ ผมจำได้ว่า มีการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีนายกฯ ผบ.สส.ผบ.ทบ. ซึ่งเวลานั้นก็คือ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา และเสนาธิการทหารก็คือ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ในการประชุมทีแรก ทางทหารบอกว่า กัมพูชาไม่แตก ก่อนหน้านั้น กระทรวงการต่างประเทศก็บอกแล้วว่า ให้เตรียมรับว่า สถานการณ์จะไม่ดีแล้ว จะมีคนกัมพูชาเข้ามาประเทศไทยจำนวนมาก กระทรวงการต่างประเทศเสนอให้กระทรวงมหาดไทยตั้งค่ายรับผู้ลี้ภัย เพื่อไม่ให้มาปะปนกับคนไทยเหมือนสมัยเดียนเบียนฟู ทหารยืนยันว่า ไม่แตก พอแตก ท่าน อ.คึกฤทธิ์ก็เรียกประชุมอีกทีว่า แตกแล้วจะทำยังไง เวลานั้นปัญหามันมีอยู่ว่า ทหารเขมรแดงไล่ตีทหารของลอนนอนเข้ามาทางพรมแดนไทยมากแล้ว และอาจจะตามตีอีก อ.คึกฤทธิ์ก็สั่งปิดชายแดน เพื่อป้องกันทหารลอนนอนตีเข้ามา แล้วท่านก็บ่นบอกว่า ทหารเขมรแดงจะนีเข้ามาได้หรือไม่ หรือตีบุกเข้ามาเลย ท่านก็ถามทางฝ่ายทหารว่า มีกำลังต่อต้านได้สักกี่วัน ผมจำได้ว่า คุณเกรียงศักดิ์เป็นคนตอบว่า 3 วัน อ.คึกฤทธิ์หันไปมองคุณชาติชาติ ซึ่งเวลานั้นเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ท่านบอก “ชาติชาย! 3 วันนี่มันยิงปืนเรียกพวกไม่ทันเลยนะ ไม่เอาแล้ว อย่างนั้นเราต้องหาเพื่อนใหม่ดีกว่า พาผมไปปักกิ่งดีกว่า”
       
       การเปิดฉากความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับจีนโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ในครั้งนั้น แม้จะเป็นช่วงเวลาที่
       ไทยยังอดหวั่นเกรงไม่ได้กับการที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังคงให้การสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย แต่ก็ถือว่า ไทยตัดสินใจไม่ผิด อ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล เล่าถึงผลที่ตามมาหลังจากไทยสถาปนาความสัมพันธ์กับจีน
       
       “หลังจากนั้นอีกไม่กี่ปีต่อมา พอจีนมีการเปลี่ยนผู้นำ มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายใน โดยเฉพาะกับการก้าวขึ้นมามีอำนาจของเติ้ง เสี่ยวผิง นับตั้งแต่ปี 1977 เป็นต้นมา เติ้งได้เปลี่ยนโยบายต่างประเทศของจีนไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ นั่นคือ พรรคคอมมิวนิสต์จีนเคยให้การสนับสนุนกับพรรคปฏิวัติต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เติ้ง เสี่ยวผิง เห็นว่า การที่ยังคงปล่อยให้ภาวะเช่นนี้ดำรงอยู่ มันจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลจีนกับรัฐบาลนานาชาติมีปัญหา ฉะนั้นหลังปี 1979 หรือ พ.ศ.2522 เป็นต้นมา ในที่สุดรัฐบาลจีนก็ได้ตัดสินใจหรือพูดให้ถึงที่สุด ก็คือ พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ได้ตัดสินใจยุติการให้ความช่วยเหลือกับขบวนการฝ่ายซ้ายทั้งหลาย ที่เคยให้ความช่วยเหลือมาก่อนหน้านี้ และนับตั้งแต่นั้นมา ก็ทำให้การคบหาระหว่างรัฐบาลไทยกับจีน ก็เป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น และในที่สุดมันก็นำมาซึ่งการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และทำให้ความมั่นคงที่เคยเป็นข้อวิตกกังวลของรัฐบาลไทยก็ได้หายไปด้วย ผมถึงบอกว่า การตัดสินใจของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ครั้งนั้น เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว”
       
       มาถึงวันนี้ หากมองย้อน30 ปีแห่งความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศแล้ว อ.จุลชีพ ชินวรรโณ บอกว่า ไทยและจีนมีความร่วมมือกันแทบทุกด้านทุกมิติแล้ว โดยจุดที่ช่วยเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกัน เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี และมีนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ในครั้งนั้น ไทยถือเป็นชาติแรกที่เจรจาทำความตกลงกับจีน เกี่ยวกับแผนความร่วมมือในศตวรรษที่ 21 ซึ่งแผนดังกล่าวจีนได้นำไปเป็นแบบอย่างในการเจรจากับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนในเวลาต่อมา
       
       ขณะที่ อ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล มองว่า 30 ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนอยู่ในระดับที่ดีมากและดีขึ้นโดยลำดับ แต่ความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมยังคงน้อยอยู่เมื่อเทียบกับด้านเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น จีนมีการเรียนการสอนภาษาไทยมากกว่าที่ไทยมีการเรียนการสอนภาษาจีน ซึ่งตรงนี้จะเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกันได้ ดังนั้นหากสามารถเพิ่มหรือขยายความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมได้มากขึ้นเท่าไหร่ ไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มความเข้าใจอันดีต่อกันเท่านั้น แต่ยังจะนำไปสู่การแก้ไขและพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างกันอีกด้วย!!
หมายเลขบันทึก: 181782เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2008 19:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ฮ่ายเว็บดีมากเลยงานส่งครูก็ผ่านแต่หวังว่าจะปรับปรุงเพิ่มเลื่อยๆนะคะ ขอบคุณมากๆค่ะ

ละเอียดมากๆค่ะจ๋านักโบราณคดีคนใหม่ขอฝากเนื้อฝากตัวด้วยนะคะ จุ๊บ จุ๊บ

ดีมากค่ะgoodๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท