กิจกรรมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษที่ AUA สู่ห้องเรียนวิชาภาษาไทย


ห้องเรียนครูภาทิพ

     เมื่อวันที่ 7- 11 เมษายน 2551 ครูภาทิพ  และครูธนา กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  ได้มีโอกาสเข้าอบรมภาษาอังกฤษสำหรับครูไทยที่สอนนักเรียนในโครงการหลักสูตรภาษาอังกฤษซึ่งไม่ใช่ครูที่สอนภาษาอังกฤษ ชื่อหลักสูตรการอบรมภาษาอังกฤษคือ

 Classroom English Program for Songkla Area Teachers

AUA Teacher Education Department : Higher Level

     สถานที่   สถาบันสอนภาษา AUA ราชดำริ

     ผู้เข้าอบรม   ครูไทยที่ช่วยงานหลักสูตรโครงการภาคภาษาอังกฤษ  14 จังหวัดภาคใต้ ทั้งระดับ อนุบาล  ประถมและมัธยมศึกษา จำนวน  38  คน

    วัตถุประสงค์  เพื่อให้ครูไทยสามารถสื่อสาร ทำงานร่วมกับครูโฮมรูมที่เป็นชาวต่างชาติได้

     หลักสูตร  เนื้อหาหลักสูตร

reading   Likes/ dislikes,follow-up questions,  Lifestyles,  Routines,  Weekends  ,Places   Strange happenings, Collections

Grammar focus  Yse/No/Wh-Questions, Adverbs of  Frequency, Thereis/are, Some/any ,Simple Past,  This,That ,These,Those

 Listening&speaking  Personal information, staying healthy, Freetime, Exercise, Hobbies, Lucky& unlucky events, Shopping

Writing  Writing  statements&questions , Topic sentences , Paragraphs, Connecting words (and, but,or), Sequencers (first, next, then, afterthat,etc)

 

     

สื่อการเรียนรู้   เครื่องบันทึกเสียง  ตำราเรียน Hemispheres1 ใบงานและแบบทดสอบ

 

         วามรู้เดิมเกี่ยวกับวิธีการสอนของครูชาวต่างชาติ

 

         ก่อนที่จะถึงการอบรม  ครูภาทิพเคยสอนนักเรียนในโครงการหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษมาเป็นเวลา 8 ปี  เคยสังเกตพฤติกรรมการสอนของครูชาวต่างชาติ  ที่น่าสนใจคือ

 

1.  ครูเหล่านี้จะรู้จักเด็กเป็นรายบุคคลได้ดีกว่าครูไทย  ซึ่งจำนวนนักเรียนในห้องเรียนต่างเท่ากันคือ 25 คน  ครูชาวต่างชาติจะรู้จักเด็ก (เข้าใจเด็ก)ทุกคน  แต่ครูไทยจะรู้จักเฉพาะเด็กที่มีลักษณะพิเศษคือ เก่ง  อ่อน  เกเร   เด็กกลุ่มหนึ่งที่อยู่ตรงกลางจะไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก      

 

2. บรรยากาศการเรียนรู้ในห้องเรียนของครูชาวต่างชาติ  เสียงดัง  มีการเคลื่อนไหว  สนุกสนาน  มีเกม    เด็กได้แสดงออกทั่วถึง  ให้เกียรติเด็กทั่วถึง

 

3. ความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับครูชาวต่างชาติ  นักเรียนจะไว้ใจ  กล้าซักถาม  กล้าตอบ  กล้าสนทนา  นักเรียนรัก  กล้าหยอกล้อ   มีของขวัญของฝาก

 

4. การปฏิบัติตามกฎระเบียบ   ครูชาวต่างชาติจะถือว่าการลอกการบ้านเป็นความผิดร้ายแรง   ถึงขั้นเชิญผู้ปกครองรับทราบ   หากเป็นเรื่องของมารยาทในห้องเรียนจะลงโทษโดยการกักบริเวณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง  หรือคัดคำข้อความตามจำนวนคำ

 

  ความสงสัยในใจมาเนิ่นนานคือ ทำไมครูชาวต่างชาติจึงรู้จักเด็กเป็นรายบุคคลได้ดีกว่าครูไทยที่สื่อสารกันง่ายกว่า  มีเวลาใกล้ชิดมากกว่า  ชั่วโมงสอนมากกว่า

        แล้วครูภาทิพก็ได้รับคำตอบเมื่อเข้ารับการอบรม   ซึ่งตรงกับคำสนทนา ของเพื่อนครูคนหนึ่งที่เล่าให้ฟังว่า   สิ่งที่จะได้จากการอบรมที่ AUA  ก็คือกิจกรรมการเรียนรู้  ซึ่งเขามีวิธีการสร้างองค์ความรู้  ออกแบบกิจกรรมได้สนุกสนาน  จะเป็นประโยชน์ต่อครูผู้เข้าอบรม

 

กิจกรรมการเรียนรู้ที่น่าสนใจและข้อค้นพบจากการอบรม

1.      ครูชาวต่างชาติให้ความสำคัญกับความรู้เดิมของผู้เรียน  ดังนั้นพวกเราจึงต้อง Pretest  ก่อนเป็นเบื้องต้น  ทั้ง ฟัง อ่าน  เขียนและไวยากรณ์

2.      จัดกลุ่มผู้เรียนตามระดับความสามารถ  พวกเราจึงถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มตามคะแนนที่ทดสอบ   และได้รับความรู้ต่างกัน  กลุ่มหนึ่งเรียนรู้เกี่ยวกับคำศัพท์ทั่ว ๆไป    ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งจะได้รับความรู้ตามตารางในหลักสูตร

3.      เน้นการเรียนรู้ร่วมกันเป็นกลุ่ม   และจะเปลี่ยนกลุ่มเปลี่ยนตัวบุคคลในกลุ่มอยู่บ่อย ๆ ให้ความสำคัญกับวิธีการแบ่งกลุ่ม  เช่น อาจจะให้ชื่อประเทศแต่ละคนไป  แล้วแต่ละประเทศหาผู้ร่วมในทวีปเดียวกัน   สำหรับชาวต่างชาติอาจจะคิดว่า ทุกคนต้องรู้จักประเทศและทวีปดี   แต่ไม่ใช่ครูภาษาไทย  (ซึ่ง80%)  เป็นครูภาษาไทย   ต้องพึ่งพิงแผนที่โลก  กิจกรรมการแบ่งกลุ่มครั้งนี้จึงใช้เวลาไปประมาณ 15-20 นาที  แต่ผู้เรียนก็สนุกและตื่นเต้น

4.      เป็นการสอนโดยใช้ Mind Mapง่าย ๆ  เมื่อเปิดประเด็นใดประเด็นหนึ่งขึ้นมา  ครูจะเขียนประเด็นไว้ในวงกลมหรือสี่เหลี่ยม   แล้วครูก็ยกตัวอย่างขึ้นมาให้เห็น 1- 2 ตัวอย่าง   แล้วสุ่มตัวแทนจากแต่ละกลุ่มให้แสดงความรู้ความคิดออกมา ครูก็เพิ่มกิ่งก้านของ Mind map จนเกิดเป็นตัวอย่างที่มากขึ้น  จากนั้นสอบถามเพิ่มเติมจากทั้งห้องอีกเล็กน้อย ก็สร้างกิ่งก้านของ Mind Map  จนครบประเด็น  เมื่อสังเกตว่าส่วนใหญ่เข้าใจแล้ว  ก็จะเริ่มการเรียนรู้เป็นรายบุคคล  โดยให้ผู้เข้าอบรมยืนเป็นแถว  2 แถวหันหน้าเข้าหากัน   ผลัดกันซักถาม หรือสนทนา 3-5 ประโยค  แล้วเคลื่อนที่ไปเจอคู่อื่น   ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์อย่างทั่วถึง

5.      สอนจากส่วนย่อยไปหาส่วนใหญ่  (อุปนัย)  เช่น การสอนไวยากรณ์  ผู้สอนจะไม่บอกกฎเกณฑ์หรือหลักอะไรมากมาย   เพียงแต่ขึ้นต้นว่า Tense  แล้วก็ตามด้วยการสื่อสารตามธรรมชาติของภาษา  ให้ผู้เข้าอบรมพูดเล่าสิ่งเคยทำมา  สิ่งที่กำลังทำอยู่  และสิ่งที่กำลังจะทำต่อไป    ถ้าใช้ tense  ผิด  เพื่อนหรือครูก็จะช่วยกันแก้ไขให้   และจะขีดเส้นประโยคต่าง ๆ ที่ผู้เข้าอบรมพูดออกมาให้เห็นถึงรูปแบบของไวยากรณ์

กิจวัตรประจำวันก็เช่นกัน   ก็จะเปิดประเด็นขึ้นมาและยกตัวอย่างโดยครู  ตามด้วยตัวแทนกลุ่ม   แล้วตามด้วยรายบุคคล   เมื่อครบทุกคน   ก็จะได้คำศัพท์ที่หลากหลาย

6.      การสอนคำศัพท์   ผู้สอนสอนโดยไม่ให้ผู้เข้าอบรมเปิด ดิกชันนารี   ทั้ง ๆ ที่ผู้เข้าอบรมไม่เคยรู้คำศัพท์นั้นเลย   ผู้สอนจะอธิบาย ยกตัวอย่าง ทำท่าทางประกอบ  หรือวาดภาพ จนผู้เข้าอบรมเข้าใจ

7    การสอนโดยใช้คำถามนำ   สังเกตว่า  ผู้สอนจะตั้งคำถาม ถามผู้เข้าอบรมอยู่ตลอดเวลา  ผู้เข้าอบรมไม่สามารถจะคุยหรือทำกิจกรรมอื่นได้เลย  เพราะถูกกระตุ้นอยู่ตลอด  และคำถามนำนี้เป็นตรวจสอบความรู้และนำไปสู่การค้นพบคำตอบนั่นเอง  

 

8.     หนึ่งหน้ากระดาน  1 องค์ความรู้   สังเกตว่า  เมื่อผู้สอนเปิดประเด็นใดประเด็นหนึ่งขึ้นมา  เขาจะเขียนทั้งความคิดของเขา และคำตอบของผู้เข้าอบรมลงไปตามกิ่งก้านของ Mind Map  ความรู้ปลีกย่อยอื่น ๆ ที่อาจจะมีผู้เข้าอบรมซักถามหรือบอก  ครูจะบันทึก  และบางครั้งให้นักเรียนออกไปเขียนไว้บ้าง  เมื่อเต็มหน้ากระดานก็จะจบประเด็นนั้น ๆ พอดี

9.      สอนโดยการใช้เกม   เป้าหมายที่ผู้สอนนำเกมมาใช้สอนนี้ก็เพื่อว่าผู้เข้าอบรมจะได้นำความรู้นี้มาใช้ในการเรียนการสอนและแนะนำครูชาวต่างชาติ   แต่เท่าที่สังเกตพบว่าเกมเหล่านี้ครูชาวต่างชาติในโรงเรียนสุราษฎร์ธานีได้นำมาใช้กับนักเรียนแล้ว   ครูภาทิพเองเคยเห็นและสนใจอยากเรียนรู้อยู่เช่นกัน  เกมที่นำมาใช้คือ

9.1 เกม 13 คำถาม   ผู้สอนจะนำการ์ดภาพสัตว์  ต่าง ๆ มา แล้วให้นักเรียนตั้งคำถามซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้ Yes/No/Wh –Questions นั่นเอง   ผู้เข้าอบรมจะตั้งคำถาม แล้วผู้สอนจะบอกว่าใช่หรือไม่ นั่นเอง

9.2 เกมเศรษฐี  Japadel (ไม่มั่นใจว่าสะกดถูกหรือไม่)  เป็นการแบ่งเนื้อหาสาระออกเป็นประเด็น ๆ  แล้วมีค่าคะแนนให้ตั้งแต่ข้อละ 100 -500 คะแนน       

เช่น  ประวัติศาสตร์     วิทยาศาสตร์      ศิลปะ     ดนตรี    กีฬา 

สมมุติว่ากลุ่มครูภาทิพ   ต้องการแสดงความรู้เรื่องประวัติศาสตร์อเมริกา เพื่อรับคะแนน 100 คะแนน  

                     ผู้สอนก็จะให้ข้อมูลมาว่า   ประธานาธิบดีคนแรกของอเมริกา         

                     หากกลุ่มครูภาทิพทราบก็จะถามกลับไปว่า  ใครคือจอร์จ  วอชิงตัน

        คะแนนยิ่งมากคำถามก็จะยิ่งยากไปตามลำดับ

7.      การสอนอ่านจับใจความสำคัญ    ผู้สอนจะแนะนำให้ทราบว่า  ใจความสำคัญส่วนใหญ่จะอยู่ที่บรรทัดแรกของแต่ละย่อหน้า  และไม่ต้องอ่านทุกตัวอักษร  ให้อ่านแบบผ่าน ๆ 

      Scanning  for Specific Information

          To scan, move your eyes quickly across  the text until you find the information you need. Don’t read every word.

     Skimming  for the Main Idea

          Skimming is reading quickly to identify  the topic and the main idea.

·       Look at the title, photos,and diagrams.

·       Read quickly, Don’t read every word.

·       Read the first and last two lines of each paragraph.

 

     11. เนื้อเรื่อง ที่นำมาให้อ่านและฟัง  จะเป็นเรื่องราวหลากหลายน่าสนใจ  ทั้งเรื่องชีวิตประจำวัน   ดารานักแสดง    วงการกีฬา     สุขภาพ 

 

     12. ทอสอบหลังสอน    เมื่อสอนจบ  ทุกคนต้องทำแบบทดสอบฟัง  อ่าน เขียนและหลักภาษาตามที่ผู้สอนได้สอนไปแล้ว  

 

           จากกิจกรรมการอบรมที่เล่ามา   เวลาเพียง 5 วัน  ผู้สอนก็สามารถทำให้ผู้เข้าอบรมเกิดความรู้และความประทับใจที่อยากจะนำวิธีการเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้กับวิชาภาษาไทย   และคิดว่าอาจจะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจท่านอื่น ๆ จึงได้นำเสนอไว้ในบล็อกนี้

 

 

หมายเลขบันทึก: 181299เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2008 18:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 12:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ตามมาดูครับอาจารย์ วิทยากรชื่ออะไรครับ ของ AUA ขอบคุณครับที่เอามาเล่าให้อ่าน

สวัสดีค่ะ อ.ขจิต ผู้สอนมี 2 ท่านค่ะ เช้า อ.Jeffe(เจฟฟี่) บ่าย อ.Tana จาก อเมริกาทั้งคู่ค่ะ ความคิดและคำบอกเล่าของครูภาทิพ อาจจะเชยหน่อยนะคะ แต่คิดว่าอาจจะเป็นแนวทางกับผู้สนใจที่ขาดโอกาสการอบรมได้ค่ะ

ดูรูปงานกิจกรรมของ aua ได้ที่

http:\\auathailand.hi5.com

ขอบคุณมากนะค่ะอาจารย์

ข้อมูลของอาจารย์เป็นประโยชน์ต่อการทำรายงานของหนูมาก

ตอนนี้หนูกำลังเรียน มสธ.สาขาหลักสูตรและการสอนอยู่ค่ะ...

สวัสดีค่ะรุ่นน้องหลักสูตรและการสอนของ มสธ.  ฝากกราบงามๆและความระลึกถึงไปยัง อาจารย์วรรณา  บัวเกิด  และอาจารย์ธนรัชน์ด้วยค่ะ   ยินดีด้วยค่ะที่บันทึกนี้ช่วยหนูได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท