กรณีศึกษา: เด็กไม่ยอมกลืนอาหาร (2)


ประทับใจในความตั้งใจของคุณพ่อคุณแม่ของเด็กท่านนี้...ที่มีความอดทนและพยายามเรียนรู้แนวทางการช่วยเหลือลูกอย่างเต็มความสามารถและความรัก

หลังจากเล่าเรื่องติดต่อกับกรณีศึกษาในบันทึกครั้งแรก

คุณพ่อของเด็กท่านนี้ก็ติดต่อและได้มารับการประเมินและจัดโปรแกรมการรักษาทางกิจกรรมบำบัด นาน 2 ชั่วโมง

ประเด็นที่ทำการประเมินและสรุปผลการให้คำปรึกษา ดังนี้

  • เด็กยังคงมีความวิตกกังวลและกลัวในระดับ "ไม่ยอมรับอาหาร (Psychogenic Food Refusal) ประเภทข้าวหรือกับข้าว"
  • อาการนี้เกิดขึ้นหลังจากเคี้ยวก้ามปูและติดลงในลำคอ บริเวณส่วนต้นของระบบการกลืนอาหาร ตั้งแต่เมษายนที่ผ่านมา
  • ระบบการกลืนและอวัยวะที่เกี่ยวข้องทำงานปกติ และเด็กสามารถทานเค้กและน้ำเปล่าได้ดี  
  • หากบังคับ เด็กร้องไห้แต่ฝืนกินและกลืนอาหารได้ 2 ใน 5 ช้อน มีอาการตั้งใจสำรอกอาหารและติดการบ้วนหรืออมน้ำลายบนกระดาษทิชชูหรือถุงพลาสติก
  • เด็กรู้สึกเลือกอาหาร (Food Selectivity) พยายามเลือกแต่เนื้ออาหารประเภทกลืนและละลายง่าย เช่น ไอศครีม
  • เด็กมีความรู้และความเข้าใจผิวสัมผัสของอาหารดี แต่ยังไม่สามารถปรับความรู้สึกผ่านการกัดเคี้ยวได้อย่างเหมาะสม เช่น พยายามเคี้ยวละเอียดมากเกินไปทั้งๆ ที่เนื้ออาหารนิ่ม
  • เด็กสามารถเบี่ยงเบนความตั้งใจเคี้ยวละเอียด โดยการนับสลับเคี้ยวอาหารซ้ายขวา การเคี้ยวพร้อมๆการเล่น เคี้ยวอาหารหลากหลายจากยากไปง่ายหรือง่ายไปยาก เช่น น้ำหรือไอศครีม (ผิวสัมผัสง่าย) น้ำผลไม้มีวุ้นเล็กๆกลืนได้ (สัมผัสปานกลาง) และชิ้นสัปปะรด (สัมผัสยาก)
  • สิ่งแวดล้อมการกินอาหารที่โรงเรียน เด็กสามารถเคี้ยวและกลืนอาหารได้ขณะอยู่กับเพื่อนและครูบังคับได้บ้าง แต่คุณพ่อคุณแม่ลองหลายๆวิธีแต่เด็กไม่ยอมกลืนอาหารเลย
  • ระยะการฟื้นฟูสภาพจิตใจหลังจากการจดจำเหตุการณ์ที่ก้ามปูติดคอ น่าจะมีการปรับตัวโดยธรรมชาติในระหว่าง 3-6 เดือน
  • ผมประสานงานให้นักกิจกรรมบำบัดลองปรับพฤติกรรมเพื่อเพิ่มทักษะการกินอาหารที่เหมาะสม 1 ครั้งต่อสัปดาห์ และประเมินความก้าวหน้าของการให้โปรแกรม ได้แนะนำผู้ปกครองถึงการปรับผิวสัมผัสอาหารในเมนูที่เด็กชอบและเลือกได้ด้วยเหตุผล และการลดความไวในการเคี้ยวที่เหมาะสมด้วยยางกัด
  • การปรับพฤติกรรม ได้อาศัยเทคนิค 2 รูปแบบและลองปฏิบัติพร้อมแนะนำคุณพ่อคุณแม่ให้ลองทำที่บ้าน ได้แก่ 1. การตั้งเงื่อนไขกับเด็กอย่างชัดเจน เช่น กำหนดให้ตักอาหารทานเอง 5 คำ พยายามตั้งใจกลืนให้ได้มากที่สุด หากไม่ไหว จะใช้เวลานับ 10 วินาทีแล้วบ้วนลงถุงพลาสติกแล้วทำความสะอาดภายหลังจบ 5 คำ และชมเชยจำนวนที่ทำได้ 2. ให้เด็กเข้าใจและเลือกเนื้ออาหารที่จำเป็นต้องฝึก แล้วเริ่มจากอาหารที่จำเป็นต้องใช้การเคี้ยวมากไปสู่การเคี้ยวน้อย  เทคนิคทั้งสองแบบนี้ สามารถปรับให้เห็นความก้าวหน้าของการปรับพฤติกรรมทางกิจกรรมบำบัดได้ คือ เพิ่มจำนวนคำและยืดเวลาของการอมค้างและบังคับกลืนก่อนบ้วนทิ้ง หรือเพิ่มจำนวนคำที่กลืนได้ให้มากกว่า 5 คำขึ้นไป จะได้กินของชอบ หรือทานอาหารแต่ละผิวสัมผัสในปริมาณมากน้อยต่างกัน ต้องการให้อาหารที่เคี้ยวมากกว่าเคี้ยวน้อย ก็ต้องเพิ่มความถี่หรือปริมาณอาหารนั้นๆ 

ผมกำลังรอดูผลของการปรับพฤติกรรมที่บ้าน นับว่าเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ

หากผู้สนใจเพิ่มเติม ลองคลิกดูวิธีการทางจิตวิทยาเพิ่มเติมจาก   http://www.vanderbilt.edu/AnS/psychology/health_psychology/FoodRefusal.htm

หมายเลขบันทึก: 181093เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2008 16:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

ขอบคุณมากครับคุณประจักษ์

ผมได้รับอีเมล์ความคืบหน้าหลังจากดูกรณีศึกษานี้ วิธีการประเมินและการใช้เทคนิคหนึ่งไม่ได้ผล แต่ผมได้เรียนรู้มากขึ้นเมื่อกรณีศึกษานี้ได้รับความช่วยเหลือจากจิตแพทย์ ซึ่งผมคิดว่าปัญหานี้ต้องได้รับการวางแผนการรักษาจากสหวิชาชีพครับ

ลองอ่านดูครับ

เรียน คุณพ่อน้อง ที่นับถือ

ดีใจด้วยครับ ที่คุณพ่อได้พาน้องไปพบจิตแพทย์และได้รับวิธีการที่เหมาะสม ต้องขอบคุณสำหรับการรายงานความคืบหน้า เพราะผมสามารถเรียนรู้ประสบการณ์การรักษาน้องด้วยครับ ได้เรียนรู้วิธีการไม่บังคับที่น่าจะช่วยได้ดีกว่าวิธีการสร้างเงื่อนไขและการปรับผิวสัมผัสอาหาร ต้องขออภัยหากไม่สามารถแนะนำวิธีการอื่นๆ ได้เพราะเคยชินกับการประเมินในรูปแบบจากการฝึกในต่างประเทศ ซึ่งพยายามจะประเมินและขอติดตามผลเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการในครั้งถัดมา

อย่างไรก็ตามขอส่งกำลังใจให้น้องรับประทานอาหารได้อย่างมีความสุขครับ

ขอแสดงความนับถือ

อ.ดร.ศุภลักษณ์ เข็มทอง

Subject: ความคืบหน้าของน้อง

To: supalakpop at hotmail.com

สวัสดีครับ อาจารย์

หลังจากได้พบอาจารย์แล้ว ได้ลองนำคำแนะนำมาปฎิบัติ ปรากฎว่าไม่ประสบผลสำเร็จ น้องยังคงมีภาวะกลัวการกลืนอาหารเช่นเดิม ได้พยายามพูดคุยกับน้อง เมื่อนำอาหารมาวางไว้ตรงหน้า ให้น้องมองอาหาร สักพักน้องจะร้องไห้ น้องยอมรับว่ากลัว พยายามกระตุ้นน้องว่า เคี้ยวแล้วกลืน กลืนไม่ติดคอ ที่ติดคือกระดองปู ไม่ใช่ข้าวหรืออาหารอย่างอื่น น้องพูดตาม และพยายามกลืน แต่ไม่สำเร็จ พาน้องไปเที่ยวว่ายน้ำ น้องแสดงอาการหิวอย่างชัดเจน ให้พาไปหาของกิน สุดท้ายก็ได้น้ำผลไม้กับนมมากิน พาไปกินพิซซ่า น้องเห็นแล้วอยากกิน ลองฉีกกินชิ้นเล็กๆ เล็กมาก แต่สุดท้ายก็คายออก สองวันที่ผ่านมานี้ น้องจะกินแต่นมกับขนมเค๊ก ซึ่งกินได้ดี แต่ทุกครั้งที่เป็นมื้ออาหาร น้องจะแสดงความกังวลขึ้นมาทันที และจะเป็นช่วงเวลาที่ทุกข์มาก ทั้งตัวน้องเอง และพ่อแม่

ผมตัดสินใจพาน้องไปพบจิตแพทย์ ได้เล่าประวัติ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (ซึ่งผมลืมบอกไปว่า น้องจะเป็นคนที่มีความกังวลเป็นทุนเดิม เช่น เมื่อรู้ว่าจะสอบ จะกังวลกลัวทำสอบไม่ได้ จนบางครั้งถึงกับอาเจียนออกมา แต่ระยะหลังอาการเหล่านี้ ดีขึ้นมาก เพราะน้องมีความมั่นใจขึ้น) จากการที่หมอได้คุยกับพ่อแม่ และคุยกับน้องเองตามลำพัง ความเห็นหมอสรุปได้ตรงกันกับอาจารย์และผม คือ น้องยังอยู่ในสภาวะกลัวอาหารติดคอ หมอแนะนำว่า ไม่ต้องบังคับ นำอาหารให้ทาน ทานได้ก็ทาน ทานไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แต่มีสิ่งล่อคือ หากวันใดทำสำเร็จ เริ่มจากกลืน 4 - 5 คำ ก็ให้ระบายสีดาวที่หมอให้มา แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร หมอเน้นว่า ห้ามบ่น ห้ามพูดซ้ำๆเกี่ยวกับเรื่องที่น้องไม่กินอาหาร ให้ทำสบายๆ ไม่ต้องบังคับ ทำให้เป็นเรื่องเล็กๆ ส่วนอาหารที่ยังกินไม่ได้ ก็ไม่ต้องกังวล เพราะน้องยังกินนม เค๊ก ซึ่งมีสารอาหารเพียงพอ และจะติดตามผลอีกประมาณ 2 สัปดาห์ ได้ลองปฎิบัติตามคำแนะนำของหมอ ถึงแม้น้องจะยังไม่ยอมทาน โดยยังคงพึ่งนม (ซึ่งหมอบอกไม่เป็นไร) แต่สิ่งหนึ่งซึ่งได้กลับมา คือ ความสุขของน้อง พ่อแม่ ในมื้ออาหารนั้นๆ และเมื่อน้องหิว น้องจะเดินเปิดตู้โน้นตู้นี้

ซึ่งผมถามว่า หาอะไร เขาบอกว่าหาของกิน ผมบอกว่า กินอะไรได้ก็กิน การไปหาหมอครั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่ผมและแม่น้องได้ก็คือ ได้คำตอบที่คลายกังวลว่า แม้น้องยังไม่กินช่วงนี้ก็ไม่เป็นไร เมื่อกินนม และเค๊ก หรือสิ่งที่น้องชอบ ก็สามารถทดแทนได้ และเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา น้องอาจจะน้ำหนักลดลงอีกก็ไม่เป็นไร มีเด็กที่ไม่กินอาหารตั้งเยอะที่หมอพบมา ต้องให้เวลากับน้อง และค่อยๆสร้างความมั่นใจให้น้อง มาหาหมอยังไม่สายเกินไป เพราะหากปล่อยไว้นานกว่านี้ จะทำให้ฝังในใจน้องมากขึ้นและจะแก้ไขยาก

ผมคงต้องปฎิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอ และติดตามดูการเปลี่ยนแปลงต่อไป เพราะอย่างน้อยน้องมีความสุข ร่าเริง ความวุ่นวาย ความกังวลใจในครอบครัวลดลง และหากมีข่าวดี ผมจะแจ้งให้อาจารย์ทราบ เกี่ยวกับการรักษา ซึ่งหวังให้เป็นเช่นนั้น

ขอบคุณอาจารย์ที่ให้ความใส่ใจกับกรณีของน้อง

สวัสดีคะ อาจารย์ป๊อป

พอดีว่า ดิฉันได้ไปอ่านเจอบันทึก 10 วิธีแก้ปัญหาลูกไม่ยอมกินข้าว ของ พ.ท.น.พ. กมล แสงทองศรีกมล ซึ่งท่านได้เขียนบันทึกไว้ในบล็อกพลิกเรื่องเรียนรู้สู่อัจฉริยะ

จึงอยากนำมาเป็นข้อมูลเพิ่มเติม ไว้ในบันทึกนี้คะ

ขอบคุณมากครับคุณมะปรางเปรี้ยว

สวัสดีค่ะ คุณหมอ

ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่มีปัญหาเกี่ยวกับการทานข้าวของลูก ตอนนี้ลูกอายุ1ขวบ3เดือนแต่น้ำหนักแค่9โล ซึ่งเล็กมากมีแต่คนทักว่ายังไม่น่าถึงขวบ ทำให้ดิฉันมีความกังวลใจเป็นอย่างมาก อยากได้คำแนะนำใครมีคำแนะนำดีๆๆช่วยส่งมาทางเมล์ด้วยค่ะ ขอบคุณมาก

คุณแม่น้องริว

ใจเย็นๆครับคุณแม่น้องริว

หากน้ำหนักของน้องผ่านเกณฑ์พัฒนาการ ก็ไม่ต้องกังวล

หากน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ คุณแม่ปรึกษาแพทย์และนักโภชนาการในการปรับเนื้ออาหารและสีสันของอาหารให้เด็กมีแรงจูงใจมากขึ้น ที่สำคัญต้องไม่บังคับทานข้าวนะครับ

สวัสดีค่ะ คุณหมอ

1 ลูกสาว 1 ขวบ10Kg.ไม่ยอมกินข้าว

2 เป็นผื่นรอบๆคอ คล้ายเชื้อรา

3 และมีหูน้ำหนวก กิ่นเหม็นมากคะ ประมาณ 2 อาทิย์แล้ว

อยากขอคำแนะนำอย่างละเอียด ทุกข้อ เป็นกังวนมากค่ะ

ขอบคุณค่ะ

แนะนำให้คุณแม่ Opor พาลูกสาวไปตรวจกับแพทย์ที่ใกล้บ้าน เพื่อดูว่าอาการผื่นและหูน้ำหนวกเกิดจากอะไรและควรได้รับการรักษาอย่างไร

สำหรับอาการไม่ยอมกินข้าว อาจทบทวนดูว่าน่าจะมาจากสาเหตุใด น้ำหนักน้อยหรือมากกว่าปกติหรือไม่ในช่วงพัฒนาการที่ผ่านมา หากน้ำหนักน้อยลงเรื่อยๆ จากการไม่ยอมกินข้าวและสาเหตุอื่นร่วม ต้องปรึกษากุมารแพทย์ประจำครับ

เด็กหลายคนที่ป่วยแล้วไม่รู้สึกอยากกินข้าว แต่ต้องพิจารณาว่าเด็กได้ทานอะไรแทนข้าวเมื่อหิวหรือไม่ทานหลายมื้อ ก็ไม่ควรบังคับให้ทานข้าวครับ

กลุ้มใจมากค่ะ น้องคุณ นน.1ปี = 8 Kg ปัจจุบัน 2ขวบครึ่งแล้ว นน.11.5 อยู่เลยค่ะ เคยไปพบแพทย์บอกว่าไม่เป็นไรถ้าน้องแข็งแรงดี ถึงตัวจะเล็กไปหน่อย

ปัญหาคือพอเค้าเริ่มบ้วนเป็นเค้าจะเอามือถู แล้วบ้วนออกตลอดตั้งแต่เล็ก แล้วค่ะไม่ยอมทาน อย่างมากที่ชอบคือจะเคี้ยวดูดแต่น้ำแล้วก็คายทิ้งเป็นแบบนี้มาตลอดค่ะ ทานได้แต่โยเกริต์ ไอศครีม หรือน้ำซุป เวลาทานข้าวร่วมโต๊ะกันจะทานอย่างมากคือที่ละ 2-3 เม็ดเท่านั้นค่ะเกินจากนั้นจะบ้วนทิ้ง และไม่ทานทุกมื้อนะค่ะ มีวิธีใหนพอฝึกได้ไหมค่ะ

รบกวนด้วยนะค่ะ ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณครับคุณแม่น้องคุณ

น้องค่อนข้างเรียนรู้การเคี้ยวอาหารและการสัมผัสอาหารแข็งได้ช้า แต่ไม่แน่ใจว่าจากการสอนทานอาหารหรือพัฒนาการการรับรู้ที่ผ่านมา

แนะนำให้พบนักกิจกรรมบำบัดและจิตแพทย์เด็กใกล้บ้าน เพื่อประเมินและหาแนวทางช่วยเหลือครับ เช่น การปรับพฤติกรรมในการกินอาหาร การฝึกเคี้ยวอาหารตามวิธีการทางกิจกรรมบำบัด ฯลฯ

หากไม่ได้รับความช่วยเหลือข้างต้น ลองติดต่อมาที่คลินิกกิจกรรมบำบัด คณะกายภาพบำบัด ม.มหิดล เชิงสะพานปิ่นเกล้า

ตอนนี้น้องมิกซ์ อายุ 1 ปี ปัญหาคือ น้องเป็นเด็กที่ทานได้น้อยมาก และไม่ยอมทานอาหารอื่นนอกจากนมและน้ำ เพราะทุกครั้งที่ทานข้าวหรืออาหารเสริมน้องจะอาเจียนออกมา โดยน้องจะทานแต่นมกับน้ำเท่านั้นและสามารถทานนมได้ครั้งละ 6 ออนซ์/มื้อ กลางวันจะทานแค่ 3 ขวด กลางคืน 2 ขวด

อาการที่พบคือ น้องจะอาเจียนออกมา ทุกครั้งถ้า นม ที่ทานเกิน 6 ออนซ์

เคยปรึกษาหมอที่อนามัยใกล้บ้าน เรื่องที่อยากให้น้องทานข้าว คุณหมอแนะนำว่า

- ให้ลดจำนวนมื้อของนมในเวลากลางวันและงดนมตอนกลางคืนเพื่อที่ตอนเช้าน้องหิวจะได้ยอมทานข้าว ( ทำแล้วไม่สำเร็จน้องยังอาเจียนเหมือนเดิม )

- ทุกครั้งให้ทานอารหารพร้อมกับทุกคนในบ้าน ( ทำแล้วแต่ไม่สำเร็จเหมือนเดิม )

ตอนนี้ทุกครั้งที่น้องเห็นว่าจะป้อนข้าวน้องจะสายหัวและปิดปากสนิทแต่ถ้าเป็นขนมทานเล่นหรือผักต่าง ๆ น้องเขาจะถือเอามาเคี้ยวและดูดเล่นแต่จะไม่ยอมกลืน

อาการของน้องมิกซ์อาจมีปัญหาระบบการรับความรู้สึกสัมผัสที่มีผลต่อการเคี้ยวกลืนอาหาร บางครั้งมีผลต่อสภาวะจิตใจจนอาเจียนบ่อยครั้ง เราเรียกว่า Anorexia

แนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์เด็กก่อนครับ หากไม่ได้ผลอย่างไร แนะนำให้มาปรึกษานักกิจกรรมบำบัดที่คลินิกกิจกรรมบำบัด คณะกายภาพบำบัด ม.มหิดล เชิงสะพานปิ่นเกล้า

เพื่อรับการตรวจประเมินสาเหตุและจัดโปรแกรมที่เหมาะสมต่อไป

ลูกสาว อายุ 4 เดือน น้ำหนัก 8 กิโล ส่วนสูง 60 กินได้แต่ นมกับน้ำ อาหารอย่างอื่นพอทานเข้าไป ก็อ๊วก ออกมาหมด ไม่ยอมกลืน และ ต่อต้านออกมา ทั้งๆ ที่ ยังไม่เคยกิน ของพวกนี้มาก่อน ทุกอย่างเลยคะ ไอศครีมก็เหมือนกัน แต่น้ำส้มคั้นทานได้คะ ไม่รู้จะทำไงดีแล้ว

แนะนำให้คุณอรอุษา นำลูกสาวมาตรวจประเมิน ณ คลินิกกิจกรรมบำบัด ชั้น 6 อาคารคณะกายภาพบำบัด ม.มหิดล เชิงสะพานปิ่นเกล้า โดยนำอาหารที่เคยทานได้บ้างมาทดสอบดูครับ ผมจะให้บริการที่คลินิกฯ ทุกวันจันทร์ครับ

นอกจากนี้แนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์ทางด้านเด็ก หรือ กุมารแพทย์ที่เชี่ยวชาญทางจิตเวชเด็ก ได้ครับ

ลูกชายอายุ8ขวบกินไก่ไม่มีกระดุกกับชานมไตหวันใส่บุกของเซเว่นกินแล้วรู้สึกว่ามีอะไรติดคอทุกคนคือตกใจและพยายามช่วยทุกวิธีทางน้องบอกว่ายังรู้สึกอยู่ว่ามีอะไรติดคอจึงพาไปหาหมอคุณหมอเช็คดูก็ว่าปกติไม่ได้มีอะไรติดคอแต่อย่างใดพอมาเป็นเวลากว่าอาทิตย์แล้วลูกชายมีอาการกลัวการกินทุกอย่างเวลากินเคี้ยวทุกอย่างจนละเอียดแต่ก็ไม่กลืนจะวิ่งไปคายทิ้งทุกครั้งและบอกว่ามันแข็งบางไม่กล้ากินเปลี่ยนจากเมื่อก่อนมากน้องเป็นคนชอบกินกินเก่งอ้วนตั้งแต่เกิดเรื่องอาหารติดคอก็เปลี่ยนไปเป็นคนล่ะคนเลยค่ะตอนนี้แม่มีความกังวลมากมากเลยไม่รู้จะพูดกับเขายังไงแค่ใข่ต้มก็ยังกลัวไม่แม่แต่จะกลัวรู้ว่าจะผอมลงเยอะด้วยค่ะแม่ต้องทำยังไงดีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท