เส้นแบ่งระหว่างจินตนาการกับความเป็นจริง


ขุมทรัพย์ KM นี้เป็นทรัพย์ในตนที่ค้นพบได้ในหมู่นักปฏิบัติเท่านั้น ขุมทรัพย์KMนี้ เป็นทรัพย์ในตนที่ค้นพบได้ในหมู่นักปฏิบัติเท่านั้น

ที่ไอนสไตน์กล่าวไว้ว่าจินตนาการสำคัญกว่าความรู้ อาจเป็นเพราะจินตนาการสามารถสร้างให้ความรู้ที่นอนนิ่งอยู่ เิกิดคุณค่าขึ้นมาได้โดยอาศัยการกระทำต่างๆ ในหลากหลายรูปแบบ แต่จินตนาการที่มากเกินไปก็ทำให้เจ้าของหลุดออกจากสมมติของความปกติได้เช่นกัน


เด็กหลายคนเรียนหนังสือได้ดีเพราะเขาคิดตามสิ่งที่ครูกำลังอธิบายได้ตลอด เมื่อมีโอกาสได้ลงมือทำงานจริงก็ใช้พื้นฐานของความเข้าใจที่มีอยู่เดิม ผนวกเข้ากับความรู้ที่เพิ่งได้รับเข้ามาใหม่ สร้างให้กลายเป็นความรู้ความเข้าใจของตนเอง

เมื่อมีโอกาสได้ฝึกฝนก็จะเกิดทักษะความชำนาญขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งสามารถพลิกแพลงออกไปได้อีกหลายกระบวนท่า หรือบางคนเมื่อได้รับวิชาเข้าไปแล้วก็อาจจะสร้างสรรค์ได้ถึงขั้นคิดสร้างกระบวนท่าใหม่ๆขึ้นมาได้ด้วยตนเอง


แต่ก่อนที่จะไปถึงขั้นนั้นได้ เด็กทุกคนควรที่จะฝึกทำงานให้ได้ตรงกับโจทย์ที่ได้รับให้ครบถ้วนเสียก่อน ที่สำคัญคือโจทย์ที่ให้ต้องนำพาสู่ปฏิบัติการที่เป็นเป้าหมาย เพื่อที่ผู้เรียนจะได้เกิดกระบวนการเรียนรู้ไปตามลำดับขั้น หากโจทย์ไม่รัดกุมเพียงพอ เป้าหมายที่ครูตั้งไว้ในใจกับผลงานจริงที่ได้รับกลับมา อาจจะห่างกันไกลจนกลายเป็นเหมือนคนละเรื่องเดียวกัน


คุณครูมัธยมท่านหนึ่งทดลองตั้งโจทย์เอาไว้กว้างๆว่าให้นักเรียนเขียนเรื่อง อาหารที่ตนชอบมาส่ง โดยมีข้อแม้ว่าต้องเขียนให้ดูน่ากิน เด็กคนหนึ่งแต่งเป็นนิทานเรื่องข้าวคลุกกะปิ แต่อยู่ในเวอร์ชั่นแฟนตาซี ที่อ่านแล้วน่ากลัวมากกว่าน่ากิน อีกคนหนึ่งเขียนเรื่องไข่เจียวหมูสับ แต่เป็นเรื่องแต่งที่หมูสลายร่างกลายเป็นหมูสับ ซึ่งทำให้อาหารจานนี้กินไม่ได้ไปอีกหนึ่งจาน เพราะจินตนาการทำงานมากกว่าความรู้จากการปฏิบัติ ต่างจากงานชิ้นก่อนหน้าที่คุณครูตั้งโจทย์ให้เขียนวิธีทำอาหารจานโปรด ที่มีสักษณะของโจทย์บังคับอยู่เองว่าเป็นจานที่นักเรียนชอบ และ(คง)เคยทำอาหารจานนั้นมากับมือ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องเคยสังเกตวิธีทำอย่างละเอียดมาก่อน งานทุกชิ้นที่เขียนมาส่งจึงมีการแสดงถึงวิธีการที่นำไปใช้ปรุงอาหารได้จริง ส่วนจะอร่อยมากหรืออร่อยน้อยกว่าที่เคยเป็นมาก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้ปรุงรู้จักอาหารชนิดนั้นแค่ไหน อันเป็นความสามารถเฉพาะตัวที่เลียนแบบกันได้ยากอยู่สักหน่อย แต่ถึงอย่างไรก็รับประกันได้ว่าอาหารจานนี้กินได้แน่นอน


สิ่งสำคัญที่ทำให้นักเรียนทุกคนเดินไปสู่ปลายทางเดียวกันได้ก็คือ การกำหนดให้งานเขียนชิ้นนี้ต้องเขียนในสิ่งที่นำไปทำได้จริง พร้อมกับต้องนำเสนอวิธีการกินให้อร่อยด้วย นั่นคือต้องทำได้จริงและมีบริบทที่เป็นกรณีเฉพาะรองรับ


หากจะเปรียบไปแล้วก็คงคล้ายกับความรู้ที่ได้มาจากการปฏิบัติ ซึ่งเป็นความรู้ที่ใช้การได้จริง ที่ได้มาจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้บนบริบทของสังคมนี้ และมี"ขุมความรู้" ที่สกัดมาจากกระบวนการทำงานเป็นเครื่องแสดงคุณภาพ


ถ้าถามว่าการทำงานจัดการความรู้ หรือKMมีความอร่อยที่ตรงไหน ก็คงอยู่ตรงที่ใครใคร่ได้รสไหนก็ปรุงไปอย่างนั้น ให้ถูกปากถุกใจได้ทุกครอบครัว แถมแต่ละคนยังนำเอาสูตรที่เคยทำและนำเอาเคล็ด(ไม่)ลับ มาแบ่งมาปันกันได้ว่าจานไหนอร่อยอย่างไร ไม่อร่อยอย่างไร เผื่อว่าใครจะนำไปทำดูบ้าง เพราะการทำKMไม่มีการกำหนดสูตรตายตัว และเป็นไปเพื่อการยกระดับความรู้ของสังคม



KMเป็นการเรียนรู้ในหมู่ผู้ปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความงอกงามของความรู้ภาคปฏิบัติ ที่สามารถย้อนกลับไปสร้างให้กลายเป็นความเข้าใจในภาคทฤษฎีได้ไม่ยาก เหมือนการทำอาหารจานอร่อยแล้วมีการจดสูตรมาเผยแพร่กัน และ หากนำสูตรนี้ไปให้นักโภชนาการวิเคราะห์ท่านก็จะบอกเราได้ว่าอาหารจานนี้มีคุณค่าอย่างไร ให้พลังงานกี่แคลลอรี่ หากนำไปให้นักเคมีวิเคราะห์ ท่านก็จะบอกได้ว่าที่มีรสกลมกล่อมนี้เกิดจากสารใด มีขั้นตอนใดที่ทำให้อาหารกรอบอร่อย ด้วยคำอธิบายตามหลักการทางเคมี เป็นต้น



ดังนั้น การทำงานการจัดการความรู้ในทุกองค์กรจึงเป็นการสะสมทรัพยากรความรู้ ที่จะพาให้การงานในหน้าที่เดินหน้าไปได้ด้วยการทำงานบนฐานความรู้ ที่พาให้ทั้งคนทำงานและการทำงานเติบโตไปพร้อมกัน โดยไม่ต้องอาศัยชั่วโมงการอบรมที่แยกขาดจากหน้างานจริง ซึ่งขุมทรัพย์KMนี้ เป็นทรัพย์ในตนที่ค้นพบได้ในหมู่นักปฏิบัติเท่านั้น


การลงมือปฏิบัติจริงจึงเป็นเส้นแบ่งที่ชัดเจนที่สุดระหว่างสิ่งที่อยู่ในจินตนาการ และสิ่งที่เรียกว่าความเป็นจริง ที่พอเอาเข้าจริงก็คงไม่จริงนัก เพราะเราทุกคนต่างก็อาศัยอยู่ในความจริงชุดหนึ่งที่มีลักษณะเป็นมายาภาพ แต่ก็เป็นชุดของความจริงที่เราต้องอิงอาศัยเพื่อสร้างพิกัดของเราในโลกสมมติใบนี้ ส่วนจินตนาการที่ไม่มีฐานของการปฏิบัติจริงมารองรับก็คือชุดของความคิดอีกชุดหนึ่ง ที่มักล่อลวงให้เราพลัดหลงเข้าไปอยู่ในสมมติชุดใหม่อย่างว่องไว โดยไม่ทันรู้ตัว จนอาจมีบางคนกำลังหลงคิดไปว่าโลกที่จินตนาการสร้างขึ้นคือความเป็นจริงของเขาก็มี


แม้ความคิดและจินตนาการจะโลดแล่นไปไกลเพียงใด แต่ถ้ามีเงื่อนไขของการปฏิบัติจริงมารองรับ สิ่งที่เกิดขึ้นก็ย่อมตั้งอยู่บนฐานความเป็นจริงของสังคม(สมมติ)อยู่เสมอ





คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 18109เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2006 10:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
ตามความเข้าใจของผม คำว่า "จินตนาการ" ของไอน์สไตน์ น่าจะหมายถึงการ "ก้าวข้าม" ความรู้ที่มีอยู่ หรือ "กระบวนทัศน์" ปัจจุบันที่ทำให้เรานั้นคิดติดอยู่แต่ "ในกรอบ" ...ผมชอบประเด็นนี้ครับ ...และจะรออ่าน comment จากท่านอื่นๆ อีกครับ

ผมก็คิดว่าจินตนาการสำคัญกว่าความรู้อะ ถ้าคนนั้นไม่มีกรอบของความรู้อื่นหรืออยู่เหนือกรอบของความรู้เดิมที่ตนเองมีอะครับ และก็เรื่องของความกลัว ผมว่าหลายคนที่มีจินตนาการดีแต่กลัวว่ามันจะผิดก็มีมากมายอะ ผมว่าการเป็นเด็กและมีอารมณ์แบบเด็กๆ ที่ไม่ค่อยรู้เหตุผลของความเป็นผู้ใหญ่จะทำให้เด็กมีจินตนาการมากมาย รวมทั้งเราๆที่มีอายุด้วย และบางทีการที่เด็กคิดแล้วทำอาจจะเป็นเรื่องใหม่ก็ได้นะครับ เพราะเราอาจจะถูกของบริบทเดิมที่ว่าของกินต้องเป็นแบบนี้อย่างนี้มานาน ลองให้เด็กคิดดูผมว่าเด็กอาจจะสร้างบริบทใหม่ออกมาก็เป็นได้นะครับ

ขอโทษทีนะครับ ที่บางครั้งความคิดผมก็มักจะออกนอกทางกับคนอื่นเค้าน่อ

ข้าพเจ้าเองก็ชอบคำว่าจินตนาการสำคัญกว่าความรู้เช่นกัน ซึ่งข้าพเจ้าเรียนทางด้านสถาปัตย์อาจได้ประโยชน์มากตรงที่ การจินตนาการมองภาพรวมเป็นมิติสัมพันธ์ก่อนทำงานทุกครั้ง จะทำให้ทำงานได้เร็วและมากขึ้นมากเลยค่ะ ทุกครั้งที่อาจารย์ให้โจทย์มา อาจารย์มักจะรอดูให้เด็กได้คิดสร้างสรรค์มากๆ แล้วก็คอยบอกคอยสอนจนความคิดนั้นเป็นรูปเป็นร่างค่ะ สิ่งที่อาจารย์สถาปัตย์บอกเสมอก็คือต้องการสิ่งใหม่ที่ช่วยสร้างสรรค์โลกนี้ สิ่งที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใคร จากหนังสือซีเคร็ทน่ะค่ะ มีข้อความเล่าว่า บางอย่างยังไม่ทันทำเลยก็รู้แล้วว่าตอนเสร็จแล้วจะออกมาเป็นหน้าตาแบบไหน ซึ่งตามความคิดของข้าพเจ้าความรู้เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การทำงานของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่จินตนาการเป็นสิ่งที่บอกเราเองว่าเราจะเอาเครื่องมือไปใช้แบบไหน

ข้าพเจ้าคิดว่าเด็กๆที่แต่งนิยายแฟนซีในเรื่องอาหารที่ชอบ แสดงว่าโรงเรียนสอนได้มีความสุขมากๆจนเด็กสามารถแสดงความคิดนอกกรอบออกมาได้

เพิ่งคอมเมนครั้งแรกค่ะ ไม่รู้ว่าจะถูกประเด็นคุณครูไหม

ใช่เลยค่ะคุณนุ๊ก ที่จริงแล้วการแสดงทัศนะต่อเรื่องราวต่างๆ นั้น ไม่มีผิดมีถูกหรอกนะคะ เพราะขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน ขอบคุณที่เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ค่ะ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท