BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

หัวครก ๓


หัวครก

คำที่เรียกมะม่วงหิมพานต์ในภาษาใต้ตามที่เล่ามาแล้ว คือ หัวครก ยาร่วง ท้ายเล็ต เล็ตล่อ เม็ตล่อ ท้ายล่อ และยังมีคำว่า กาหยู และ กาหยี ซึ่งผู้เขียนจะเล่าต่อไป...

บรรดาคำเหล่านี้ คำว่า หัวครก นั้น ผู้เขียนรู้จักเป็นคำแรกตั้งแต่จำความได้ นั่นก็คือ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เรียกว่า หัวครก... ต่อมา (๒๕๑๘) เมื่อครอบครัวย้ายเข้ามาอยู่บ่อยาง ตัวเมืองสงขลา วันหนึ่งก็มีเพื่อนเล่นใกล้ๆ บ้าน ชวนไปเก็บลูกยาร่วง ผู้เขียนก็สงสัยว่า ยาร่วง ? แต่เมื่อเห็นต้นเห็นลูก จึงรู้ว่า อ๋อ ! ยาร่วงก็คือหัวครก... ส่วนคำว่า ท้ายเล็ด เล็ดล่อ เม็ตล่อ ท้ายล่อ ทราบจากการพูดคุยกัน แต่ก็จำไม่ได้ว่าเมื่อไหร่...

 

ต่อมา ๒๕๒๙-๓๐ ผู้เขียนบวชแล้ว มีโอกาสได้ไปเที่ยวจังหวัดระนอง พักที่วัดตโปทาราม (บ่อน้ำร้อน) ก็เห็นคำขวัญจังหวัดระนองว่า

  • คอคอดกระ ภูเขาหญ้า กาหยูหวาน ธารน้ำแร่ มุกแท้เมืองระนอง

สงสัยว่า กาหยูหวาน ? เมื่อสอบถามจึงทราบว่า กาหยูก็คือมะม่วงหิมพานต์ หรือลูกหัวครกบ้านเรานี้เอง (5 5 5...) และในฐานะนักนิรุกติศาสตร์ ( ไม่มีใครตั้งให้ ตั้งเอาเอง 5 5 5...)

  • กา + หยู = กาหยู

กา คือ นกชนิดหนึ่ง

หยู มาจากคำว่า อยู่ (เสียงเพี้ยนไปตามสำเนียงท้องถิ่น) เป็นคำบ่งชี้การครอบครองสถานที่นั้นๆ

ขยายความได้ว่า ต้นไม้ใดมีผลไม้เป็นอาหารที่ชอบใจของกา และกามักมาอาศัยครอบครองเป็นอยู่ที่ต้นไม้ชนิดนี้ ดังนั้น ต้นไม้ชนิดนี้ จึงชื่อว่า กาหยู กล่าวคือ ต้นไม้ที่มีกาอยู่นั่นแล เรียกว่า กาหยู

........

ต่อมาก็ได้ความรู้เพิ่มเติมว่า จังหวัดระนองเรียก กาหยู แต่จังหวัดพังงาเรียก กาหยี ... แต่คำว่า กาหยี นี้ ผู้เขียนคิดอยู่หลายปีก็ยังคิดไม่ออกว่า จะวิเคราะห์ตามภาษาไทยได้อย่างไร ? จนกระทั้งเมื่อวาน เล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนฟัง แล้วก็กลับมาคิดอีกครั้ง ก็ได้มาหนึ่งกรอบความคิด กล่าวคือ

  • กา+ หยี = กาหยี

กา คือ นกชนิดหนึ่ง

หยี มาจาก ยี  (ยี หรือ หยี บางทีเสียงก็เพี้ยนไปตามสำเนียงท้องถิ่น) ในภาษาใต้ ปกติใช้เป็นคำกิริยา บ่งชี้ความหมายว่า การทำบางสิ่งบางอย่างให้ละเอียด หรือทำบางสิ่งบางอย่างให้แหลก  หรือบางครั้งก็อาจแปลตรงตัวได้ว่า เช็ด ป้าย ขยี้ ทา.. ดังเช่นสำนวนปักษ์ใต้ว่า

  • เวลาผงเข้าตา อย่าเอานิ้วมือไปหยีตา (อย่าเอามือขยี้ตา)
  • ล้มลงหัวเขาได้เลือด ไปเอายาแดงหรือทิงเจอร์ ยีๆ สักหีดตะ (เอายาแดงหรือทิงเจอร์ทาสักหน่อย)
  • ไม่มีครกทิ่ม เอามือยีๆ ให้เนียนก็ได้ (ไม่มีครกตำ ใช้มือขยี้ให้พอแหลกก็ได้)
  • ฯลฯ

เมื่อถือเอาความหมายว่า หยี (ยี) ทำนองนี้ ก็อาจวิเคราะห์ที่มีของคำว่า กาหยี ได้ว่า...

ผลไม้ของต้นไม้ใดซึ่งกาชอบมาหยีจนเละ (กาชอบมาจิกกินหรือจิกเล่น จนผลของมันแหลกเละ) ดังนั้น ต้นไม้นั้นจึงคือว่า กาหยี กล่าวคือ ต้นไม้ที่กาชอบมาหยีผลของมัน เรียกว่า กาหยี

..........

มะม่วงหิมพานต์ ยาร่วง ท้ายเล็ด ท้ายล่อ เม็ตล่อ เล็ดล่อ หัวครก กาหยู และกาหยี.... ผู้เขียนก็ได้วินิจฉัยที่มาของคำเหล่านี้จนครบแล้ว  โดยทั้งหมดผู้เขียนคิดและคาดเดาเอาเอง มิได้ลอกเลียนหรืออ้างอิงมาจากหนังสือใดๆ  ดังนั้น ผิดถูก หรือสมเหตุสมผลหรือไม่อย่างไร  เชิญพิจารณาเองเถิด...

เรื่องหัวครก ยังมีประเด็นที่เล่าได้อีกเยอะ... แต่ผู้เขียนจะเล่าวิธีการนำมาประกอบเป็นอาหารทั้งของหวานของคาวอีกครั้งในตอนต่อไป เป็นตอนสุดท้าย...

 

หมายเลขบันทึก: 180992เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2008 10:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2012 17:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

นมัสการท่านด้วยนะครับ

สำหรับผมแล้ว ชอบรับประทานหัวครกมากเลยครับ

โดยเฉพาะหัวครกชุบน้ำตาลครับ

นมัสการหลวงพี่

นึกว่าหัวครก ๒ แล้วจะหมดเสียอีก ;)

เคยได้ยินหลายชื่อเหมือนกันครับ

สมมุติฐานของหลวงพี่ยอดเยี่ยมจริงๆ ต้องสังเกตว่า กามันอยู่ และกามันหยี จริงไหม

ตอนเด็กเคยคั่วเม็ดม่วงเล็ดล่อ (บ้านผมเรียกอย่างนี้)

สนุกจริงๆ เอากะละมังเก่าๆ วางบนก้อนเส้า ใส่เม็ดม่วงนี่แหละ พอน้ำยางฟู่ๆ ก็แหย่ไฟลงในกะละมัง ลุกพรึบแบบผักบึ้งไฟแดง แล้วราไฟ เคาะเปลือกออกกินได้เลย

แต่กลิ่นหอมไปสามบ้านห้าบ้าน โดยมากจะคั่วกันตอนเย็นๆ ค่ำๆ

รีบเขียนก่อนเพล ประเดี๋ยวหลวงพี่จะอาบัติ ;)

P

ธ.วั ช ชั ย

 

วิธีการตามที่ว่า.... บางครั้งก็ ซาไฟ (ลดไฟ) ไม่ทัน ปรากฎว่าไหม้หมด... เหลือแต่ก้อนเถ้าหัวครกดำปี้ทั้งโคม (กะละมัง) 5 5 5...

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท