รสนิยม การเลือกอ่านหนังสือ สอนกันได้หรือ?


หนังสือที่ขายดีตลอดกาลคือ how to รวย ฉลาด และขึ้นสวรรค์

ผมมองว่า รสนิยมการเลือกอ่านหนังสือนั้น สอนกันได้ แนะนำกันได้

แต่ต้องใช้เวลา

และต้องใช้เงินด้วยครับ

วันก่อนเข้าไปดูในร้านหนังสือซีเอ็ด สาขาภูธร แห่งหนึ่ง ที่จะเข้าไปซื้อหนังสือประจำทุกสัปดาห์

คอยสังเกตเด็กวัยรุ่นว่าเขาเลือกอ่านหนังสือประเภทไหน ปรากฎว่าหนังสือที่ได้รับความนิยมมากคือนิยายรักประเภทที่หน้าปกเป็นภาพวาดคู่พระนางในสไตล์การ์ตูนญี่ปุ่นครับ, นอกจากนี้ก็ยังมีหนังสือประเภท แฉ และประเภทที่ดาราขวัญใจเขียน

ผมไม่เคยอ่านหนังสือประเภทนั้นเหมือนกัน เลยไม่รู้ว่ามันสนุกแค่ไหน

อีกอย่างหนึ่งคือ คอยสังเกตว่าหนังสือขายดี ที่จัดอันดับไว้บนบอร์ด คือหนังสือประเภทไหน...หลังจากตามดูมาหลายปีนะครับ สรุปได้ว่า หนังสือขายดีสิบอันดับแรก ไม่เคยพ้นจากเรื่อง ทำยังไงให้รวย ร๊วย รวย, เรื่องอิทธิปาฏิหารย์ ชาตินี้ชาติหน้า เวรกรรม, เรื่องทำยังไงให้ลูกฉลาด

ราวจะคาดหวังได้ว่า อีกไม่นานคนไทยผู้อ่านหนังสือทั้งประเทศนี้คงจะ รวย, ฉลาด, และมีแดนสวรรค์เป็นปลายทางหลังจากตายไปแล้ว

รสนิยมการอ่าน เสพสารจากหนังสือในมิติอื่น นอกจากบันเทิง และประเภทฮาวทู รวย ฉลาด และไปสวรรค์ หายากจริงๆ ครับ

นึกย้อนกลับไปว่า ใครเป็นคนสอนเรื่องรสนิยมการอ่านและการซื้อหนังสือกันหนอ

หลักสูตรในโรงเรียนมัธยม ก็มีแต่วิชา การใช้ห้องสมุด กับหนังสืออ่านนอกเวลา (เล่มที่ดีที่สุดในจำนวนนั้นคือ "ละครแห่งชีวิต" ของ มจ.อากาศดำเกิง)

หลักสูตรในมหาวิทยาลัยก็ไม่มีสอน

คิดไปคิดมาผมว่ารสนิยมการอ่านของผมได้มาจาก คนรอบๆตัว พ่อแม่ ญาติ เพื่อนๆ รุ่นพี่ รุ่นน้อง อ่านตามๆ พวกเขาไป แล้วขยายผลไปตามแนวที่เราชอบ

นอกจากนั้นนะครับ ผมว่า ความเจ๋งของห้องสมุด กับการจัดหนังสือในร้านหนังสือ มีส่วนช่วยอย่างมากในการสร้างรสนิยมการอ่านครับ

ห้องสมุดที่มีหนังสือดีๆ (ห้องสมุดโรงเรียนมัธยมของผมเจ๋งมากในเรื่องนี้ เพราะมีเงินบริจาคจากศิษย์เก่ามาให้ซื้อหนังสือดีๆ จำนวนมาก) กับบรรณารักษ์ดีๆ นั้นช่วยให้การขยายผลการอ่านได้ดีครับ มันทำให้เราไม่ต้องซื้อหนังสือทุกเล่มที่เราอยากอ่าน จากร้าน และทำให้เราเข้าถึงหนังสือสมัยก่อนที่เขาไม่พิมพ์ออกมากอีก

ส่วนร้านหนังสือดีๆ ที่จัดวางหนังสือที่น่าอ่าน หนังสือที่ส่งสารประเภทที่ช่วยยกระดับของจิตใจ ไว้ในที่ที่สังเกตง่าย ผมมักจะชอบร้านหนังสือเล็กๆ และเจ้าของร้านเป็นผู้มีรสนิยมในการอ่าน และไม่ค่อยแคร์หนังสือกระแส ร้านที่มีพื้นที่จำกัด มันเป็นโจทย์ที่ทำให้เจ้าของร้านต้องเลือกหนังสือที่เขาคิดว่า มันเจ๋ง เอามาขายในร้าน พอเข้าไปในร้านเราก็จะหนังสือดีๆ ก็ลอยมาเตะตาเราโดยอัตโนมัติ ไม่เหมือนในร้านซีเอ็ดที่พนักงาน (ส่วนใหญ่ไม่ใช่หนอนหนังสือ, และขายหนังสือประดุจกับขายผัก) จะหาหนังสือแต่ละครั้งต้องกดคอมพิวเตอร์...หายไปห้านาที....แล้วก็มาบอกว่า ไม่มีค่ะ (ประสบการณ์ซีเอ็ด ภูธร "บางร้าน" เท่านั้นนะครับ: บอกเลยก็ได้ว่า ร้านที่ BigC สกลนคร จัดหนังสือได้ &^%*#!!*&^ มากๆ เทียบกับสาขา Lotus ที่จัดหนังสือได้เป็นระบบกว่ากันเยอะ)

สรุปว่าในความเห็นผมนะครับ รสนิยมการอ่าน สอนกันได้ เป็นการสอนแบบไม่เป็นทางการผ่านกัลยาณมิตรต่างๆ อ่านตามเขาในแบบที่เราชอบ และขยายผล สร้างรสนิยมได้โดยมีตัวช่วยที่สำคัญคือ ห้องสมุด กับร้านขายหนังสือที่เจ๋งๆ ครับ

หมายเลขบันทึก: 180742เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2008 20:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 00:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • สวัสดีค่ะ ..

รสนิยมในการอ่าน คงจะเป็นรสนิยมเฉพาะบุคคลน่ะค่ะ  ซึ่งก็อาจจะมีแนวโน้มในการเปลี่ยนแนวได้ต่อไปในอนาคต

http://gotoknow.org/blog/naepalee/110176

เคยเดินดูซุ้มหนังสือแล้วคิดในใจ ส่ายหน้่าในใจว่า &^%*#!!*&^

เช่นกันค่ะ

แต่ก็คิดว่ายังดีกว่าไม่รักการอ่าน คิดในใจว่าเค้าแค่อยากหาคำตอบให้สิ่งที่เค้าสนใจสงสัยเท่านันเอง ซึ่งเค้่าอาจจะเปลี่ยนแนวไปเองเมื่อเวลาผ่านไป เมื่อมีเรื่องที่เข้ามาในชีวิต (หวังว่า)

เรื่องรสนิยม นั้นเราค่อยๆสร้างตัวเอื้ออย่างที่พี่สุธีบอกเอา

มัทอยากทำห้องสมุดเอกชนแบบ Nielson Hays ที่กรุงเทพฯ ก็ด้วยประการนี้

จะสู้กับ ทุนนิยิม บริโภคนิยม เราก็ต้องแทรกตัวเข้าไป ตอนนี้สนใจเรื่อง social business ของ Prof. Yunus มากๆ อยากทำจริงๆ

ทำให้"เนียน"

[ปล. ขำว่ะ: "คาดหวังได้ว่า อีกไม่นานคนไทยผู้อ่านหนังสือทั้งประเทศนี้คงจะ รวย, ฉลาด, และมีแดนสวรรค์เป็นปลายทางหลังจากตายไปแล้ว"]

เรื่องนี้เรื่องใหญ่มาก (สุธีชอบคุยเรื่องใหญ่) บางครั้งรู้สึกหงุดหงิดเหมือนกันที่เป็น นักศึกษา ถือหนังสือติดมือกันคนละเล่ม 2 เล่ม แต่พอดูน่าปก....โอย.....#$%&*&@&#*@%^%^ (การพิมพ์ตัวยึกยือพวกนี้สนุกดีเหมือนกันเนอะ)

เรื่องนี้จริง ๆแล้ว ตัวเองก็ยังสับสนอยู่ระหว่างการพยายามทำใจอย่างมัทนาว่า "ก็ยังดีกว่าไม่รักการอ่าน" แต่บางครั้งก็ไม่ค่อยแน่ใจเท่าไรว่า "เอ๊...หรือว่าบางครั้งไม่อ่านจะดีกว่า (วะ) การอ่านมันอาจจะคล้าย ๆ internet รึเปล่าที่ มันไม่ได้ "ดี" โดยตัวของมันเอง เพราะมันเป็นแค่เครื่องมือที่อาจจะนำไปสู่สิ่งที่ดี หรือสิ่งที่เลวก็ได้

หรือมากไปกว่านั้น การที่นักศึกษากระเหี้ยนกระหือรือ  (ภาษาโบราณนะครับ ไม่ใช่คำหยาบ ถามราชบัณฑิตมาแล้ว) มากกับ Harry Porter จนกระทั่งมีอยู่ช่วงนึง การถือ Harry ไว้ในมือกลายเป็น fasion โก้เก๋ไปซะฉิบ แต่พอชวนให้ลองให้ชิม โมโม่,  Never ending story หรือ Little prince ถึงกับส่ายหน้าดิก

จริงอยู่ว่า การอ่าน Harry อาจจะดีกว่าไม่อ่านอะไรเลย แต่การติดกับและหยุดอยู่แค่ Harry ก็ดูจะเป็นเรื่องน่าเศร้า

 

เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว เจอร้านหนังสือเช่า (เล็กๆ)ร้านนึง อยู่ข้าง ๆ โรงพยาบาลนครพิงค์

เจ้าของร้านเป็นพยาบาลที่ลาออกมาเลี้ยงลูกได้หลายปีแล้ว ในร้านนั้นเต็มไปด้วยหนังสือน่าสนใจ ตั้งแต่ ฤทธิ์มีดสั้น ยัน ข้างหลังโปสการ์ด ทะลุไปถึง โลกของโซฟี

คุยกับเจ้าของร้านได้ความว่า แกเอาหนังสือของแกเองที่สะสมไว้นั่นแหละ มาเปิดร้านเช่า แต่ก็ต้องสั่งหนังสือที่เป็นกระแสหลักมาเติมใส่ไว้ เพราะลูกค้ามักจะถามหา

เวลาลูกค้าเข้าร้านแต่ละครั้ง แกก็จะคอยลุ้นว่าลูกค้าจะหยิบหนังสือที่แกชอบรึเปล่า หรือบางครั้งก็คอยแอบเชียร์เล็ก ๆ ให้ลองหยิบเล่มนู้นเล่มนี้ไปอ่าน แกบอกว่าพอสำเร็จแกก็มีความสุข แต่มันก็ไม่ง่ายนัก (แกบอกว่าเดด็สมัยนี้ ขนาด โน๊ต อุดม มันยังไม่อ่าน!!!)

ถ้ามีร้านเช่าหนังสือแบบนี้กระจายอยู่ทุกซอกมุมของเมืองก็คงจะดี

 

ขอบพระคุณอาจารย์พี่ตู่ครับ

จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

รสนิยมการอ่านของผมกับน้องๆ ที่ทำกิจกรรมร่วมกันมาอีกหลายคน

ได้รับการหล่อหลอมมาจากพี่ตู่ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท