ใช้ “ค.ว.ย.” ให้อยู่ในวิถี 1


แน่ใจหรือยัง ว่าเรารู้จัก "ค.ว.ย." กันดีแล้ว?

คุณภาพทางการศึกษา เป็นเครื่องมือหนึ่งในการกันเด็กให้ออกจากระบบ ใครที่ไม่ปฏิบัติตามกรอบตามระเบียบก็ต้องถูกจับตาเป็นพิเศษหรือแม้แต่การคัดเลือกเด็กที่มีแนวโน้มก่อปัญหาซึ่งเหมือนเป็นจุดด่างพร้อยของห้องเรียนมาอยู่รวมกันโดยอาศัยวิธีการคัดกรองจากการสังเกตพฤติกรรมโดยครูที่ปรึกษาหรือครูประจำชั้น เช่น เอาเด็กเก่งไว้ห้องต้น ๆ เด็กอ่อนหรือเด็กมีปัญหาไว้ห้องบ๊วยยังพบเห็นได้อยู่ทั่วไป ในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งซึ่งเป็นโรงเรียนสายอาชีพเพื่อดำรงคุณภาพขององค์กรจึงมีการคัดกรองหรือเรียกกันว่า สกรีนเด็ก โดยนำเด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรมมาเรียนรวมกัน มีทางเลือกหนึ่งซึ่งเป็นธงที่ปักไว้แล้วล่วงหน้าคือ เอาออก แต่ก่อนหน้านั้นทางโรงเรียนยื่นข้อเสนอให้กับผู้ปกครองเด็กที่จะยังไม่เอาเด็กออกจากระบบทันทีแต่ทางผู้ปกครองต้องจ่ายเงินในอัตราที่สูงขึ้นเพื่อเป็นค่าเรียนเพิ่มเติมที่ต้องมีการเรียนมากกว่าเด็กปกติ โดยมีครูที่โรงเรียนเป็นผู้สอนในแต่ละรายวิชาเพิ่มเติม เด็กกลุ่มนี้ถูกจับตาเป็นพิเศษเหมือนกับเป็นเป้าหมายที่ต้องกำจัดออกไปเนื่องจากมีพฤติกรรมมาสาย ขาดเรียน ง่วงนอนในห้อง ติดเกม เที่ยวกลางคืน สูบบุหรี่ ขี้เกียจ ไม่มีความรับผิดชอบ ดังนั้นหากมีการสุ่มตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะเด็กกลุ่มนี้จึงเป็นเป้าหมายแทบทุกครั้ง เพราะครูสันนิษฐานไว้ก่อนล่วงหน้าว่าสาเหตุพฤติกรรมทั้งหลายเกิดจากการใช้ยาเสพติด ทำให้เด็กยิ่งมีพฤติกรรมต่อต้านสังคมที่รุนแรงขึ้นทั้งครูประจำวิชาและครูประจำชั้นเองก็ไม่ได้มีความรู้เรื่องจิตวิทยาวัยรุ่น ครูสอนเก่งแต่ยังขาดทักษะด้านการใช้กิจกรรมบำบัด เมื่อเห็นสภาพดังกล่าวจึงพยายามที่จะเสนอแนวทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เขาได้เห็นคุณค่าในตนเองมากกว่าการที่จะต้องใช้กฎระเบียบควบคุมถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นครูผู้สอนเด็กกลุ่มนั้นโดยตรงก็ตาม ครูผู้สอนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยและสนับสนุนแนวทางให้เด็กออกจากโรงเรียน เนื่องจากเป็นปัญหาและควบคุมยาก พูดไม่ฟัง สั่งไม่เชื่อ  แต่เมื่อให้ข้อมูลด้านสิทธิเด็กและการรับอาสาที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแก่เขาเหล่านั้น ทำให้ครูหลายคนเริ่มลังเล ภารกิจที่หนักอึ้งเริ่มขึ้นเมื่อผู้บริหารระดับสูงของโรงเรียนซึ่งเป็นคนสมัยใหม่มีวิสัยทัศน์ เรียกเข้าพบพร้อมกับคุยถึงความหนักใจทั้งเรื่องของครูและนักเรียนที่ซึ่งจริง ๆ แล้ว อยากจะปรับเปลี่ยนทั้งพฤติกรรมครูและนักเรียน คุณจะทำยังไงก็ได้ให้เด็กกลุ่มนั้นเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งนอกจากได้รับมอบหมายให้เป็นผู้สอนในวิชาชื่อแปลก ๆ ที่ไม่มีหลักสูตร ไม่มีเนื้อหา ไม่มีหนังสือเรียน ที่ชื่อวิชาว่า การใช้ชีวิตอย่างมีความสุข หรือทักษะชีวิต นั่นเอง ก่อนอื่นได้ใช้วิธีการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ทั้งในเรื่องของการวางตัว การถามสารทุกข์สุกดิบ ฯลฯ ซึ่งเป็นการให้ได้มาซึ่งข้อมูลเพื่อที่จะทำให้รู้จักตัวตนของเขาให้มากขึ้นโดยก่อนที่จะทราบถึงสาเหตุของพฤติกรรมต้องทราบก่อนว่าแต่ละคนมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหาอย่างไร เช่น อาท อายุมากกว่าเพื่อนในห้องสองปี เนื่องจากเคยเรียนที่โรงเรียนสามัญและออกมาเรียนในสายอาชีพ มีพฤติกรรมเป็นตัวป่วน ขี้เกียจและติดเล่น ชอบทำตัวเป็นหัวโจก ทศ ไม่มีความรับผิดชอบ ไม่ส่งงาน แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสกปรก มาโรงเรียนสายแถมยังค้างจ่ายค่าเทอม  มาร์ค เป็นลูกครึ่งอายุมากกว่าเพื่อนในห้อง 3 4 ปี ชอบเที่ยวกลางคืน สูบบุหรี่ มีพฤติกรรมก้าวร้าว เสก ขาดเรียนบ่อย ดื่มเหล้า เที่ยวกลางคืน รวมกลุ่มเป็นแก๊ง พี เป็นคนไม่มีความกระตือรือร้น ไม่สนใจเรียน ชอบนอนในเวลาเรียน พีท สมาธิสั้น เรียนไม่ค่อยทันเพื่อน ขาดความกระตือรือร้น ฯลฯ ทั้งหมด 20 คน แต่ละคนมีเอกลักษณ์ของตนเองแทบทั้งสิ้น และสิ่งที่ต้องเรียนรู้จากกลุ่มนี้ก็คือสาเหตุของพฤติกรรม ที่พบหลากหลาย เช่น กรณีของ ทศ พบว่า ทศ อาศัยอยู่กับแม่ ที่มีโรคประจำตัวทางสมอง ไม่ได้ทำงาน บางวันหากแม่ไม่สบายทศต้องป้อนข้าวป้อนยาก่อน และต้องนั่งรถมาเนื่องจากว่าไม่มีรถมอเตอร์ไซด์เหมือนเพื่อน บางวันเพื่อนสนิทก็ไปรับ พ่อของทศมีครอบครัวใหม่ ให้เงินเขาใช้เพียงสัปดาห์ละ 100 บาท หรือหากบางสัปดาห์พ่อไปต่างจังหวัดทศต้องใช้เงิน 100 บาท ให้อยู่ได้สองสัปดาห์ เพื่อนทราบปัญหาดีจึงอยากช่วยเหลือด้วยการเลี้ยงข้าวและให้ยืมเงินบ้างตามกำลัง ทุกกรณีมีสาเหตุของพฤติกรรมที่หลากหลายและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่สามารถทำได้เฉพาะในคาบเรียนหรือในกิจกรรมการเรียนการสอนได้หากแต่ต้องเชื่อมโยงถึงวิถีชีวิตของเขาให้ได้

ดังนั้นเค้าโครงกิจกรรมที่จะให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กกลุ่มนี้จึงถูกกำหนดไว้ในใจคร่าว ๆ ก่อนแปลงมาสู่การปฏิบัติ ในช่วง 1 เทอมที่ขอรับอาสาเพื่อที่จะดึงศักยภาพที่เขามีออกมาให้ได้ เริ่มตั้งแต่การใช้เทคนิค Mata plan หรือการกำหนดข้อตกลงร่วมกันโดยเขียนบนฟลิปชาร์ตก่อนที่แต่ละคนจะนำเสนอและติดบนกระดานให้ทุกคนได้รับรู้รับทราบร่วมกันเป็นข้อปฏิบัติในการเรียนการสอนและทำกิจกรรมร่วมกัน มีตัวอย่างข้อตกลงที่เขาเสนอกันอาทิเช่น อยากเรียนนอกสถานที่ อยากทำกิจกรรม อยากเล่นเกม อยากฝึกปฏิบัติ ฯลฯ ซึ่งก็เข้าทางที่วางไว้อยู่แล้ว เหล่านี้เป็นที่มาที่ไปส่วนหนึ่งของการส่งเสริมให้เขาเกิดทักษะการใช้ ค.ว.ย.” หรือทักษะการคิด วิเคราะห์ แยกแยก ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานด้านการคิด อันจะนำไปสู่การคิดในมิติอื่น ๆ ทั้งการคิดสร้างสรรค์ คิดสังเคราะห์ คิดเชิงกลยุทธ์ คิดเชิงอนาคต ฯลฯ บนฐานคิดที่ว่า ทักษะชีวิตความเป็นมนุษย์ควรเริ่มจากการใช้ความคิดนำการปฏิบัติ

การฝึกให้เด็กมีทักษะการใช้ ค.ว.ย. ต้องเริ่มจากสิ่งที่เขามี สิ่งที่เขาเป็น โดยต้องนำสิ่งที่มีอยู่ในตัวเขาออกมา ต้องทราบว่าเขากำลังคิดอะไร สิ่งหนึ่งที่จะดึงความคิดเขาเหล่านั้นออกมาได้นั่นคือ เกมและ กิจกรรม แต่การสร้างความรู้สึกไม่แปลกแยกเริ่มจากให้เราและเขารวมกันเป็น เรา ก่อนยกตัวอย่างเช่นกิจกรรมดังต่อไปนี้

การให้เขาได้มีโอกาสสะท้อนความคิดจากภาพที่เห็นประกอบกับการใช้คำถามกระตุ้นช่วยได้มาก เมื่อให้เขาได้ดูภาพที่มีจุดสีดำอยู่ตรงกลาง พร้อมกับให้จินตนาการว่าภาพที่เห็นคืออะไร?

 

ซึ่งตำตอบที่ได้รับจากแต่ละคนมีความหลากหลายเมื่อได้นำมาเขียนสรุปไว้บนกระดานให้ทุกคนได้เห็นพร้อมกันไปด้วยอันมีทั้ง เป้าปืน หยดหมึก เงาของเหรียญ กระดุม รอยสัก  ฯลฯ เมื่อแต่ละคนได้เสนอความคิดและจินตนาการของตนเองแล้วก็มีการมาสรุปร่วมกันว่า จริงๆ แล้วความคิดของทุกคนไม่มีใครถูกไม่มีใครผิด ภาพที่เห็นเป็นแค่จุดสีดำเล็ก ๆ บนกระดาษแผ่นหนึ่งเท่านั้น ที่เราเห็น สีขาวหรือสีดำมากกว่ากัน ? ซึ่งทุกคนก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า สีขาว  แล้วสีขาวมีมากกว่าเพราะอะไรเรามองไม่เห็น เพราะอะไรคำตอบของเราจึงมุ่งไปที่สีดำ เราคิดว่ากิจกรรมนี้ ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรบ้างถ้าหากเป็นชีวิตของเรา?

o      จุดดำ ๆ แม้จะเล็กกว่า แต่เพราะมันมีสีดำเลยมองเห็นชัดเจนกว่า

o      พอเราเห็นสิ่งที่ไม่ดี เราเลยยึดติดกับสิ่งนั้น ๆ ลืมมองสิ่งอื่น ๆ ที่อาจจะดีกว่า

o      คนเรามีทั้งความดีและความไม่ดี แต่เรามักจะมองที่ความไม่ดีมากกว่าทั้งที่เขาอาจจะมีความดีอยู่มากกว่าความไม่ดี

o      คนอื่นเขาคงมองว่าเราเหมือนรุดสีดำแต่เราก็เชื่อว่าเราก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย บ่างอย่างเราอาจจะเก่งกว่าหลาย ๆคนด้วยซ้ำ

o      หมึกสีดำที่หยดลงในกระป๋องสีขาว ถ้าเราเติมสีขาวลงไปเยอะ ๆ สีดำก็จะหายไป

และในตอนสรุปถึงข้อคิดที่ได้จากกิจกรรมนี้ก็ใช้ข้อสรุปที่ทุกคนได้บอกมาเป็นข้อสรุปรวมโดยเชื่อมโยงแต่ละข้อเข้ากับชีวิตจริงซึ่งก็แทบจะไม่ได้สรุปอะไรเพิ่มเติม งั้นตั้งแต่นี้ต่อไปเรามาช่วยกันทำให้จุดสีดำมันหายไปและให้คนมองเห็นสีขาวในตัวเรามากขึ้น แต่เราก็ต้องมองให้เห็นสีขาวในตัวของคนอื่นให้มากขึ้นด้วย ตกลงมั้ย? นี่เป็นข้อพิสูจน์แรกของ เด็ก (ที่ถูกทำให้) เลว ว่าเขามีศักยภาพไม่ด้อยกว่าคนอื่นแถมยังมากกว่าด้วยซ้ำในมุมมองที่หลายคนไม่คาดคิดภายใต้เวลาไม่ถึง 10 นาที

การทลายกรอบคิดให้คนเราเห็นมุมมองที่กว้างขึ้นจากมุมเดิม ๆ เป็นสิ่งที่จะทำให้คนเราเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น เห็นแนวทางวิธิคิดที่หลากหลายมากขึ้น กิจกรรมคิดนอกกรอบ หรือ คิดแนวข้าง จึงถูกนำมาใช้ โดยรูปต่อไปนี้

โจทย์อยู่ว่า มีจุดอยู่ 9 จุด ดังรูป ให้ใช้เส้นตรงสี่เส้นลากผ่านทั้ง 9 จุดโดยไม่ยกปากกา ห้ามลากทับเส้นเดิม นี่คือโจทย์ที่ทุกคนต้องทำและแก้ไข

หลายคนนั่งทำอยู่นานและเมื่อผ่านไปราว 10 นาที ส่วนใหญ่ยังทำไม่ได้ จึงต้องให้ทุกคนหันมาใส่ใจและทบทวน โจทย์ร่วมกันอีกครั้ง ว่าให้ทำอะไรและห้ามทำอะไรบ้าง พร้อมกับคำใบ้เพิ่มเติมว่า ไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบ ซึ่งเวลาผ่านไปไม่นานส่วนใหญ่เริ่มจะทำได้และแต่ละคนจะภูมิใจกับความสามารถที่ตนเองทำได้เป็นอย่างมาก บางคนที่ยังทำไม่ได้มีเพื่อนตะโกนแนะนำว่า รูปที่ออกมามันจะเป็นรูปลูกศรชี้เข้าหาตัวมึง... และบางคนก็บอกว่า เอ็งต้องลากให้มันเลยพ้นจุดออกไปก่อน ซึ่งภาพที่ได้จะออกมาในภาพตามนี้

เพราะอะไรในตอนแรกหลายคนถึงทำไม่ได้ตามโจทย์ที่กำหนด? เป็นคำถามที่ใช้เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนเกิดความคิดซึ่งทำตอบที่ได้ก็มีความหลากหลาย เช่น

o      คิดว่าต้องลากเส้นให้อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมเท่านั้น เลยต้องใช้ถึง 5 เส้น เด็กที่ร่วมกิจกรรมคนหนึ่งยกมือตอบคำถาม

o   แล้วเราคิดไว้อย่างเดียว ทำไมเราไม่ถามว่าจะลากเส้นเลยออกไปได้หรือไม่? เป็นคำถามย้อนกลับและคำตอบที่ได้ก็คือ ไม่กล้าครับ และ คิดไม่ถึงครับ

o   ที่บอกว่ามีกรอบสี่เหลี่ยมนั้น อยู่ตรงไหน? เป็นคำถามที่ย้อนกลับอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเด็กผู้เข้าร่วมกิจกรรมก็ตอบว่า มันเป็นจุดเก้าจุดเรียงกันแถวละสามเป็นรูปสี่เหลี่ยมเลยคิดว่าต้องลากให้อยู่ในกรอบนั้น

นั่นแสดงว่าเรากำลังหลอกตัวเองด้วยจินตนาการของเราเองว่ามันมีกรอบล้อมอยู่? ดังนั้นกรอบนั้นคือปัญหาหลักใช่หรือไม่?  ใช่ครับเด็กน้อยตอบแทบจะเป็นเสียงเดียวกัน งั้นเรามาสรุปว่าเราได้ข้อคิดอะไรจากกิจกรรมนี้?

o      ถ้าไม่แน่ใจอะไรให้รู้จักถาม อย่าเก็บไปคิดแล้วสรุปเอาเองครับ

o      ถ้ามีปัญหา เราก็ต้องลองผิดลองถูกแก้ไขหลาย ๆ ครั้งครับ

o      บางทีความคิดหรือจินตนาการของเราอาจะจะไม่ถูกเสมอไปครับ

o      ดีไม่ดีความคิดของเราจะกลายเป็นกรอบขังตัวเราเองครับ

o      ถ้าเราลองทำในสิ่งที่นอกกรอบ นอกกฎระเบียบเราอาจจะค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ครับ

o   รูปที่ได้เป็นรูปหัวลูกศรชี้เข้าหาตัวเรา เหมือนเป็นปริศนาที่ซ่อนอยู่ว่า ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเราจะต้องแก้ไขด้วยตัวเราก่อนที่จะโยนภาระให้คนอื่นครับ

เช่นเดียวจากกิจกรรมแรกว่า เราแทบไม่ต้องสรุปเพิ่มเติมใด ๆ ให้ แต่ข้อคิดที่เกิดจากการสรุปร่วมกันนั้นดูมีคุณค่ามากกว่าที่ผู้ใหญ่ ๆลาย ๆ คนจะเข้าใจหรือมีมุมมองเช่นนั้น.... และถ้าหากใช้หลักการดังที่กล่าวไปแล้ว แก้โจทย์รูปต่อไปนี้คือ "ให้ใช้เส้นตรง 6 เส้น ให้ลากผ่านทั้ง 16 จุด ห้ามยกปากกาและห้ามซ้ำเส้นเดิม จะทำได้หรือไม่?"

ติดตามต่อตอนที่ สอง

หมายเลขบันทึก: 179926เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2008 10:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ขอบคุณที่ให้ความรู้ในการแก้ปัญหาเด็ก

ขอบคุณที่ให้ความรู้ในการแก้ปัญหาเด็ก แต่ในการปฏิบัติอาจจะยาก

ไม่ยากเลยครับ เราต้องเข้าใจว่าในเชิงปฏิบัติต้องเกิดจากทักษะที่เรานำทฤษฏีไปใช้จริงอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เอาทฤษฏีมาวางแผน ที่เรียกว่า Planning คือวางแผนแล้วไม่เอามาปฏิบัติ แผนเลย "นิ่ง"อยู่กับที่

จริง ๆ แล้วในกระบวนการหากจให้เกิดผลต้องมีการควบคุมด้วยวงจร "เดมมิ่ง" คือ plan-การวางแผน do-การนำแผนมาปฏิบัติ check-การติดตามตรวจสอบประเมินผล และ act-การนำผลการประเมินมาปรับปรุงเพื่อวางแผนแลนำไปปฏิบติ ซึ่งต้องทำเป็นวงจรไปเรื่อย ๆ ไม่ใชทำปีละครั้ง หรือที่เราทราบกนดในนามของวงจร pdca

อยากเห็นภาพเฉลยคร้าบ

ด่วนมากเลยคร้าบ

คิด วิเคราะห์ แยกแยะ ค ว ย.คำนี้เคยใช้ในเวที่มีคนไม่รู้ความหมายอีกมากครับท่าน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท