สภามหาวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยวิจัยกับ “สัญชาติ” ของเจ้าหน้าที่


 

          มหาวิทยาลัยวิจัยที่แท้จริงจะมีการ “จัดองค์กร” (Organization) ในรูปแบบที่แตกต่างหลากหลายกัน    เป็น “การจัดองค์กร” เพื่อทำงานวิจัยตอบคำถามใหญ่ และทำงานยาวนาน   นำโดยนักวิจัยระดับยอด มีการรวมตัวกันของกลุ่มนักวิจัยที่มีความสามารถ และมีความทุ่มเท   มีหน่วยงานให้ทุนสนับสนุนการวิจัยภายนอกให้ทุนแบบต่อเนื่อง    โดยที่ทุนวิจัยมักจะมาจากหลายแหล่งทุน

 

          “โครงการวิจัยขนาดใหญ่” เช่นนี้ จะต้องมีคน ๓ จำพวก ทำงาน
                    ๑. นักวิจัยชั้นยอด
                    ๒. ผู้ช่วยวิจัย และนักศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่ระดับบัณฑิตศึกษา
                    ๓. เจ้าหน้าที่ธุรการ

          ในสภาพปัจจุบัน   คนกลุ่มที่ ๑ เป็น “พลเมือง” (citizen) ที่มีศักดิ์และสิทธิ์ครบถ้วนของมหาวิทยาลัย   เพราะมักเป็นอาจารย์ของคณะ ภาควิชา   แต่คนในกลุ่มที่ ๒ และ ๓ มักมีปัญหาในเรื่อง citizenship ของมหาวิทยาลัย    มักโดนจัดเป็น “คนไร้สัญชาติ” ของมหาวิทยาลัย   คือ “ไม่มีบัตร ไม่มีสิทธิ์”   ไม่เป็น “พลเมือง” ตามความคิดแบบยึดมั่นกับระเบียบราชการ    ดังนั้น ผลที่เกิดขึ้นคือ โครงการวิจัยเหล่านี้จะมี turn over ของเจ้าหน้าที่กลุ่มที่ ๒ และ ๓ สูงมาก   ทำให้โครงการวิจัยเข้มแข็งได้ยาก

          ในสภาพของ “มหาวิทยาลัยวิจัย” สภาพปัญหา “สัญชาติ” ของเจ้าหน้าที่เช่นนี้จะต้องหมดไป    เพราะมหาวิทยาลัยระดับยอดในอนาคตจะมีแหล่งทุนมาจากหลากหลายแหล่ง    คนเก่ง ที่ได้รับการยอมรับสูงต้องช่วยกันหาทุนมาทำงานสร้างสรรค์วิชาการ    มีการสร้างองค์กร/โครงการ ขึ้นรองรับงานสร้างสรรค์ ที่แม้จะไม่ใช่หน่วยงานถาวรแบบราชการ    แต่ก็ต้องการการทำงานระยะยาว ๑๐ – ๒๐ ปี หรือหนึ่งชั่วคน   จึงต้องมีระบบบริหารงานบุคคลในแนวคิดใหม่   ไม่ใช้แนวคิดราชการ

          ในมหาวิทยาลัยวิจัย เจ้าหน้าที่ที่มีความสามารถต้องได้รับ citizenship   โดยในบางกรณีอาจให้ชั่วคราว ๑ – ๒ ปี ตามสัญญาจ้างงาน    แต่ต้องให้เกียรติให้ศักดิ์ศรีแก่คน    จึงจะได้คนเก่ง มีความสามารถ และมีใจรักทุ่ทเทต่องาน มาทำงานร่วมสร้างสรรค์

          ประมาณ ๒๐ ปีมาแล้ว สมัยผมทำหน้าที่คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มอ.   ผมได้ “ออกกฎหมายให้สัญชาติ” แก่เจ้าหน้าที่ของโครงการวิจัย   ซึ่งทำได้ง่ายๆ โดยออกเป็นมติของคณะกรรมการประจำคณะ   ให้สิทธิต่างๆ แก่เจ้าหน้าที่ที่จ้างโดยทุนโครงการวิจัยตามที่ประกาศ    สิทธิที่ให้ได้แก่สิทธิในการใช้ห้องสมุด ในการรับสวัสดิการต่างๆ ตามที่กำหนด   โดยประกาศระบุชัดเจน ว่าถือว่าคนเหล่านั้นเป็นสมาชิกของคณะแพทยศาสตร์    คนเหล่านี้จะค่อยๆ กลมกลืนเข้ากับประชาคมของคณะ จนไม่มีใครสนใจว่าเป็นข้าราชการหรือไม่   แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะแก้ปัญหาได้ ๑๐๐%   คงจะแก้ได้เพียง ๗๐ – ๘๐% เพราะยังมีคนลาออกไปบรรจุเป็นข้าราชการที่อื่น    เพราะในสมัยนั้นความเป็นข้าราชการให้ความรู้สึกมีเกียรติ และสวัสดิการดีมาก

          ผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่ต้องการพัฒนาไปเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย น่าจะต้องมี KPI ภายในของมหาวิทยาลัย   ใช้ประเด็น “citizenship” ของพนักงานหลากหลายแบบ   เป็นตัวบ่งชี้ (ทางอ้อม) อย่างหนึ่งของความเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย

          ในบันทึกนี้ผมใช้ศัพท์ที่เรียนมาจากอาจารย์แหววครับ

 

 

วิจารณ์ พานิช
๒๙ เม.ย. ๕๑

 

                

หมายเลขบันทึก: 179925เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2008 10:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท