บันทึกจาก FA ฝึกหัด


ดิฉันยังฝึกฝนอยู่ตลอดค่ะ เรื่องการเป็น Facilitator หรือ คุณอำนวย คราวนี้ในบทบาทของวิทยากรกระบวนการอบรมเรื่อง KM วันที่ 7 มี.ค. ดิฉันได้รับโอกาสอันมีค่าจากหน่วยประกันคุณภาพการศึกษา วิทยาเขตสารสนเทศพะเยา มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้รับหน้าที่นี้

ก่อนถึงวันจริง ดิฉันได้ขอร้องให้ทางหน่วยประกันของวิทยาเขตฯ จัดซื้อหนังสือเรื่อง การจัดการความรู้ ฉบับมือใหม่หัดขับของท่าน อ.ประพนธ์ (ดร.ประพนธ์  ผาสุขยืด) แจกแก่ผู้เข้ารับการอบรมทุกท่านล่วงหน้า เพื่ออ่านทำความเข้าใจกันก่อน  ทางหน่วยฯ ก็ดำเนินการตามคำขอโดยทันที แบบที่ไม่มีข้อซักถามใดใดเลย ดิฉันต้องขอขอบคุณจริงๆ ในความร่วมมืออย่างดียิ่งเช่นนี้   

การเดินทางจากมหาวิทยาลัยนเรศวรส่วนหนองอ้อ ไปพะเยาด้วยรถตู้ (วิทยาเขตฯ จัดรถมารับ) กินเวลาประมาณ 4 ชั่วโมงเศษๆ จึงต้องเดินทางล่วงหน้า 1 วัน (ออกเดินทางเวลา 13.00 น. ของวันที่ 6 มี.ค.) แล้วพักค้างคืนที่โรงแรมเกทเวย์ในตัวเมือง 1 คืน (ห่างจากวิทยาเขตฯ ราว 24 กม.)ซึ่งผู้จัดตระเตรียมให้ดิฉันได้รับความสะดวกสบายอย่างดียิ่งเช่นกัน

วันที่ 7 มี.ค. ตามโปรแกรมของผู้จัด ช่วงเช้าต้องการให้ดิฉันบรรยายเรื่อง KM และการประเมินของ สมศ. รอบ 2  ส่วนตอนบ่าย อยากจะให้สอนเรื่อง Blog

ดิฉันได้เตรียมรูปแบบตามความประสงค์ แต่เน้นให้เป็นกระบวนการแบบ KM คือให้เป็น active learning มากขึ้น โดย

ประมาณ 8.30 น. ก่อนเริ่มอบรม ดิฉันได้ขอความกรุณาให้ผู้จัด จัดโต๊ะฟังบรรยายแบบห้องเรียนเสียใหม่ให้เป็นวงรูปตัวยู  มีที่นั่งเพียงพอสำหรับผู้เข้าอบรม 30 กว่าท่าน

9.00 - 10.00 น. ตั้งใจว่าหลังจากพิธีเปิด จะเริ่มด้วยการสร้างความคุ้นเคย โดยให้ผู้เข้าอบรมจับคู่กับคนที่นั่งอยู่ติดกัน เพื่อผลัดกันสัมภาษณ์ ระบุคำถามที่จำเป็น คือ ชื่อเสียงเรียงนาม ที่อยู่ที่ทำงาน ถามว่ารู้จัก KM มาก่อนไหม ?  และอื่นๆ สุดแล้วแต่ความต้องการของแต่ละท่าน โดยใช้เวลาประมาณ 5 นาที  หลังจากนั้นก็เริ่มกระบวนการแนะนำตัว  แต่ให้แนะนำเพื่อนคู่หูที่สัมภาษณ์ของแต่ละคนให้ผู้เข้าอบรมได้รู้จักทีละคน ทีละคน จนครบวง  วัตถุประสงค์ก็คือ ต้องการสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกันก่อน  หัด story telling นิดๆ Deep Listening หน่อยๆ

บทเรียนและข้อสังเกต 

  1. แทบจะสรุปเป็นทฤษฏีได้แล้วว่า การอบรมในสถานที่ทำงาน ไม่ได้ผลในเรื่องการควบคุมเวลา  ท่านผู้เข้าร่วมอบรมทยอยกันมาจนเพียงพอที่จะเริ่มอบรมได้เมื่อเวลาล่วงเลยไปแล้วกว่า 45 นาที  ทำให้แผนการที่ดิฉันวางไว้ต้องเร่งร้อนกว่าที่ควร
  2. หลายท่านที่รู้จักกันมาก่อนแล้ว มักนั่งติดกัน การให้แนะนำตัวแบบแนะนำคนอื่นแทนนี้  ได้ผลดีในแง่ทำให้รู้จักคนอื่นดีขึ้นอย่างน้อยก็ 1 คน (แม้จะรู้จักกันมาก่อนก็ตาม) ดิฉันคิดว่าถ้ามีโอกาสทำอีก จะต้องเพิ่มกติกาว่า เมื่อสัมภาษณ์แล้ว ห้ามจด ห้ามดูโพย  ต้องจำไว้ เพราะหลายท่านทีเดียวในวันนี้ ไม่ได้ฝึก Deep listening จึงไม่สามารถจดจำได้ แม้แต่ชื่อ-สกุล จึงเหมือนแนะนำด้วยการอ่านให้ฟัง
  3. การเล่าเรื่องให้ฟังก็เช่นกัน ดิฉันไม่ควรระบุหัวข้อคำถามให้เลย เพราะส่วนใหญ่จะเล่า หรือถามซึ่งกันและกัน จากคำถามหลักเท่านั้น ไม่ทราบว่าได้ถามไถ่เรื่องอื่นๆกันเพิ่มเติมหรือเปล่า เพราะถึงตอนแนะนำตัว ดูเหมือนเป็นช่วงเวลาของการตอบคำถามมากกว่าการแนะนำตัวอย่างธรรมชาติ ซึ่งเรื่องนี้ดิฉันก็พลาดอีก

10.00 - 11.00 น.

ดิฉันเตรียมบรรยายเรื่อง KM โดยตั้งใจว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่งโมง ในสถานการณ์จริง ตอนเริ่มเวลาได้ล่วงเลยเกิน 10.00 น. ไปบ้างแล้ว  และตอนใกล้ช่วงท้ายของการบรรยาย ไฟฟ้าเกิดดับกระทันหัน  (โดนแซวว่า เพราะวิทยากรพูดเป็นน้ำไหลไฟดับ) ทำให้ต้องพักไปครู่ใหญ่ แผนของดิฉันรวนอีกแล้ว  เดิมทีกะไว้ว่า เมื่อบรรยายเสร็จ จะจัดกลุ่มย่อย เพื่อฝึกสุนทรียสนทนา ในเรื่อง ความสำเร็จเล็กๆในการทำงานของข้าพเจ้า  ใช้เวลา 11.00 น. 12.00 น. แต่ก็ต้องเลื่อนเป็นช่วงบ่าย

13.00 - 14.00 น.

เดิมที ดิฉันอยากให้เป็นช่วงของ AAR แต่ก็ไม่เป็นไร เริ่มสุนทรียสนทนา ในเรื่อง ความสำเร็จเล็กๆในการทำงานของข้าพเจ้า  โดยแบ่งกลุ่มย่อยกลุ่มละประมาณ 10 คน ข้อแม้คือ แต่ละกลุ่มต้องมีคู่ของแต่ละท่านอยู่แบบครบคู่  เพราะการสนทนานี้ คู่ของใครก็ให้ช่วยจดบันทึก ฝึกเป็นคุณลิขิต (Note taker) สกัดประเด็นความสำเร็จในงานของเพื่อนออกมา  เมื่อจดเสร็จ ก็ให้คืนแก่เจ้าของเรื่อง เพื่อเก็บไว้ใช้ประโยชน์ในช่วงของการทำ Blog  วัตถุประสงค์ของช่วงนี้ คือ การหัดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยสุทรียสนทนา  และหัดสกัดความรู้ด้วยการฟังอย่างตั้งใจและจดบันทึกไว้

บทเรียนและข้อสังเกต

  1. การคุยกันแบบนี้ อาจไม่สามารถชักจูงความสนใจของกลุ่มให้ร่วมกันได้อย่างเต็มที่ ไม่สามารถดึงดูดความต้องการเล่าเรื่องของแต่ละคนได้มาก  เพราะความหลากหลายของบุคลากรที่มาจากต่างสำนักวิชา  ต่างภาระงาน ทั้งที่เป็นอาจารย์ และบุคลากรสายสนับสนุน  ต่างก็มีเรื่องที่สนใจต่างๆกัน  ต่างก็ไม่มั่นใจว่าเรื่องที่เล่าจะเป็นที่ยอมรับหรือได้รับความสนใจหรือไม่  จึงคุยกันไม่เต็มที่นัก
  2. การกำหนดเรื่องที่จะคุยให้แคบหน่อย การจัดคนให้เหมาะกับเรื่องที่จะคุย มีส่วนสำคัญต่อกระบวนการกลุ่มแบบ story telling มาก
  3. และก็ตามเคย การอบรมในที่ทำงาน ผู้เข้าอบรม จะลดลงเป็นลำดับ ตามเวลาที่ผ่านไป หรือไม่ก็เข้าๆ ออกๆ ทำให้ขาดความต่อเนื่อง

14.00 - 15.00 น.   

เราย้ายห้องอบรมกันไปยังห้องคอมพิวเตอร์  เพื่อเรียนรู้เรื่อง Blog ต่อ ดิฉันปรับ power point ของ อ.จันทวรรณ (ดร. จันทวรรณ  น้อยวัน) ผนวกรวม กับของอ.กรกฎ (อ. กรกฏ เชาวะวนิชย์วณิช ) เพื่อปูพื้นความรู้ของ Blog เพียงเล็กน้อย และแนะนำ Gotoknow.org แล้วก็ฝึกสร้าง blog กันจริงๆ เลย ดูเหมือนไม่มีอะไรยุ่งยากมากนัก ในเรื่องวิธีการสร้าง Blog  แต่ที่ยากก็คือ ตอนเขียน blog  แม้ดิฉันจะได้เตรียมให้มีเรื่องกันไว้แล้วทุกท่าน แต่หลายท่านก็ยังเหนียมที่จะลงบันทึก  ดิฉันจึงขอให้ทำ AAR เพิ่ม ด้วยข้อจำกัดของเวลา และสถานที่ เราจึงไม่ได้ทำ AAR กันอย่างเต็มที่  เราได้อาสาสมัครออกมา AAR สดๆ กันเพียง 2 ท่าน นอกนั้นดิฉันขอร้องให้ AAR กันบน Blog  ต่อ

ดิฉัน รีบกลับมา Blog ไว้ ณ เวลานี้ ก็เพราะอยากเรียนท่านผู้เข้าอบรมในวันนี้ว่า  ดิฉันยังรออยู่นะค่ะ  รออ่านเรื่องราวความสำเร็จเล็กๆ (หรือใหญ่ๆ ก็ได้) จาก Blog ของท่าน ดิฉันยังรอ AAR จากท่าน  รอรู้จักท่านให้มากกว่านี้ ด้วยรูปถ่ายใน Blog และประวัติของท่าน ทุกท่านเป็นเพื่อนใหม่ที่นับเป็นวาสนาที่ดิฉันได้รู้จักในวันนี้  ทุกท่านมีเรื่องราว และความรู้ที่มีคุณค่าอยู่ในตัวมากมาย  ชาว มน. อีกหลายๆท่าน ก็อยากรู้จักท่านเช่นกัน

บทเรียนและข้อสังเกต   

  1. หลายๆ ท่านบอกว่า มีเรื่องอยากถ่ายทอด แต่ไม่ถนัดที่จะเขียน ดิฉันเข้าใจดี เพราะดิฉันเองก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกันนี้เสมอ และนี่เองเป็นเหตุให้ดิฉันไม่ชอบการประกวด การแข่งขันกันบน Blog (ทั้งที่มีส่วนดีอยู่มาก) ดิฉันอยากให้ท่านที่เริ่มต้นเขียน รู้สึกว่า Blog เป็นพื้นที่ที่มีความเป็นอิสระ มีความเป็นส่วนตัว เขียนได้เท่าที่ใจอยากจะคิด อยากจะเขียน (อย่างไม่เบียดเบียนใคร) ไม่มีใครมาเทียบเคียงให้รู้สึกต่ำต้อย ด้อยค่า มีแต่กำลังใจ และความปรารถนาดีต่อกัน  เขียนเพื่อฝึกตน ให้เป็นคนช่างคิด ช่างบันทึก ทำบ่อยๆ ก็จะชำนาญมากขึ้นเรื่อยๆ  ในขณะเดียวกันก็จะได้อ่านของคนอื่น ทำให้เราได้เรียนรู้ด้วยตนเอง และพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นได้
  2. ระบบของ Gotoknow ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหา การรวนของโปรแกรม เมื่อมีผู้ใช้คราวเดียวกันเยอะๆได้ ดังเช่น การจัดอบรมการสร้าง Blog ทุกครั้ง ซึ่งกรณีเช่นนี้ มีความจำเป็นต้องแก้ไข เพราะมีผู้นิยมใช้ Gotoknow มากขึ้นทุกทีๆ  โปรแกรมการอบรม ก็มีแนวโน้มจะจัดกันถี่ขึ้นๆ

15.00 - 16.00 น.

ความจริง late กว่านี้  ดิฉันขออนุญาตใช้ห้องคอมฯ บรรยายอย่างรวบรัด เรื่องการประเมินรอบ 2 ของ สมศ. ต่อ เพื่อให้ครบถ้วนตามที่ผู้จัดแจ้งความประสงค์ไว้ ดิฉันคิดว่าเป็นการปิดท้ายที่ไม่น่าสนใจแล้ว เพราะเป็นเรื่องเครียด ทุกท่านน่าจะล้ากันแล้ว และได้เวลากลับบ้านด้วย  อย่างไรก็ตาม ดิฉันขอขอบพระคุณผู้เข้าร่วมอบรมทุกท่าน มา ณ ที่นี้ ที่ท่านให้ความสนใจ โดยไม่มีทีท่าเหนื่อยหน่ายแม้แต่น้อย

บทเรียนและข้อสังเกต    

  1. บุคลากรของวิทยาเขตสารสนเทศพะเยา ม.นเรศวร ทั้งที่เป็นผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากรสายสนับสนุน ล้วนเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ มีความใฝ่รู้ ไม่ยากเลยที่จะนำ KM เข้าไปบูรณาการเพื่อการพัฒนาคน  งาน และองค์กร ให้เจริญก้าวหน้ายิ่งๆขึ้น ดิฉันรู่สึกมั่นใจมาก
  2. วันที่อบรมมีเวลาน้อย คาดว่าวันรุ่งขึ้น จะมีข้อเขียนลง Blog ตามมาเป็นพรวน
คำสำคัญ (Tags): #facilitator#การสร้างblog
หมายเลขบันทึก: 17927เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2006 00:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

อ.มาลินีคะ

ดิฉันได้จัดทำ Quick reference สำหรับการใช้ GotoKnow.org ไว้ที่นี่คะ http://gotoknow.org/archive/2006/03/08/00/43/42/e17936 จะช่วยให้เห็นภาพการใช้งานโดยรวมได้ง่ายขึ้นคะ

ดีจริงๆ  ดีจริงๆ  ขอบคุณมากค่ะ ขอบคุณมาก  

 

    นานแล้วที่ผมไม่ได้เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นกับท่านอาจารย์มาลินี แต่ผมติดตามข้อเขียนของอาจารย์มาโดยตลอด แบบเป็นแฟนพันธุ์แท้เลยก็ว่าได้ และยอมรับว่าอาจารย์เอาถ้อยคำมาร้อยเรียงได้อย่างสุดยอดครับ

   อย่างเรื่องการไปเป็นวิทยากรที่พะเยานี้ ผมได้เฝ้าติดตามทางบล็อกเมื่อวานนี้ ก็ทราบว่าท่านอาจารย์มาลินีไปเป็นวิทยากร และคิดว่าน่าจะได้อ่านบันทึกดีๆ จากท่านอาจารย์มาลินี และก็เป็นไปตามคาด

   และข้อความทั้งหมด ผมเห็นว่า เป็น Storytelling ที่ถ่ายทอดประสบการณ์ออกมา มีทั้งความคาดหวัง สิ่งที่เป็นไปตามคาด และไม่เป็นไปตามคาด

   ทำให้วิทยากรกระบวนการคนอื่นๆ เห็นแบบอย่าง และ Idea ที่จะทำ และจะเกิด เห็นธรรมชาติของคนที่จะมาเรียนรู้ได้อย่างดียิ่งขึ้น

   ถึงแม้ว่าอาจจะไม่เป็น Best Practice สำหรับท่านอาจารย์มาลินี แต่ผมคิดว่ามันเป็น Best Practice ที่ผมจะเก็บเอาไว้เป็นตัวอย่างครับ

นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์
  • ขอขอบคุณอาจารย์มาลินี อาจารย์จันทวรรณ และอาจารย์สมลักษณ์ที่แนะนำอะไรดีๆ หลายอย่าง
  • ครูภาษาไทยให้ข้อคิดในเรื่องการเขียนไว้หลายอย่างครับ... มีเรื่องบางเรื่องที่คนเรามักจะเขียนได้ดี
  • ถ้าเราสอนให้คนเขียน blog จะเริ่มแบบนี้ก็ได้...
    (1). เด็กๆ...ให้เขียนเรื่องประวัติของข้าพเจ้า
    (2). โตขึ้นมาหน่อย...ให้เขียนเรื่องอะไรก็แสนจะประทับใจเชิงบวก เช่น ครูในฝัน หัวหน้าในฝัน เพื่อนในฝัน ฯลฯ พร้อมให้ยกตัวอย่าง(ครู หัวหน้า เพื่อน)ที่มีจริงมา 1 ท่าน
    (3). เขียนแล้วให้แต่ละคนนำลักษณะเด่นๆ ของครู หัวหน้า และเพื่อนออกมารวมกัน จะได้ "ลักษณะของเพื่อนร่วมงานที่ดี (consensus of good companions)" เพราะเพื่อนร่วมงานที่ดีจะมีลักษณะของโค้ช(ครู) หัวหน้า และเพื่อนที่ดีรวมกัน ถ้าเป็นรุ่นพี่ควรจะมีความเป็นครูกับหัวหน้ามากหน่อย ถ้าเป็นรุ่นเดียวกันหรือรุ่นน้องควรมีความเป็นเพื่อนมากหน่อย
    (4). เขียนแบบนี้มีส่วนช่วยให้คนที่เขียน blog รู้จักตัวเองเพิ่มขึ้น ให้เขาเรียนรู้ด้วยตัวเองดีกว่าเราไปสอน (Let them learn. Don't let them be taught.)

ดิฉันเคยรู้สึกปลื้ม ที่มีส่วนได้ชักชวน อ.สมลักษณ์ และ อ.หมอวัลลภ มาเขียน Blog มาบัดนี้ ท่านทั้งสองทำให้ดิฉันประจักษ์ชัดว่า สิ่งที่เคยปลื้มนั้น เทียบไม่ได้เลยกับสิ่งที่ท่านทั้งสองกำลังทำอยู่อย่างต่อเนื่อง  นั่นก็คือ ธำรงค์รักษาแบบกัดไม่ปล่อย แถมยังส่งเสริม บำรุงขวัญและคอยให้กำลังใจแก่ทุกๆคน รวมทั้งตัวดิฉัน ที่ไม่ค่อยอยู่กับร่องกับรอย เสมอมา

ดังนั้น ยากยิ่งกว่าการสร้างคือการรักษาไว้ นับเป็นสัจธรรมจริงๆ 

ขอบคุณครับทั้งท่านอาจารย์มาลินีและทุกคนที่พะเยาที่ช่วยกันเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ NUKM ผมเอง ต้องขอโทษและรู้สึกเสียดายเหมือนกันที่ไม่สามารถไปร่วมแสดงความชื่นชมที่พะเยาได้ ขอขอบคุณและชื่นชมกันเองที่นี่ก็แล้วกัน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท