ก้าวขึ้นสู่...ประสบการณ์ของเวทีนักส่งเสริมการเกษตร


ถ้าวันนี้ไม่กล้าทำ... วันข้างหน้าก็จะยังทำไม่เป็น

     เรื่องที่จะเล่าให้ฟังในเรื่องนี้  เป็นเนื้อหาที่มาจากประสบการณ์ของดิฉันที่ได้ทำหน้าที่ของการทำหน้าที่เป็นผู้แทนเพื่อเล่าเนื้อหาสาระเกี่ยวกับ "ระบบส่งเสริมการเกษตร กรณี : การปฏิบัติงานในพื้นที่"
ที่สืบเนื่องมาจากกรมส่งเสริมการเกษตร ได้มีแนวคิดและนโยบายให้คณะทำงานปรับปรุงระบบส่งเสริมการเกษตร ทำหน้าที่ปรับปรุงระบบการทำงานเพื่อใช้ปฏิบัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง 
ภารกิจหน้าที่ให้สอดคล้องกับการทำงานในปัจจุบัน  และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการได้อย่างพึงพอใจ  ดังนั้นการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจึงมีกระบวนการปฏิบัติ คือ

 1.  ค้นหา Best Practice ที่ทำงานส่งเสริมการเกษตรแล้วได้ผล มีผลงานเป็นรูปธรรม
 2. รวบรวมตัวแทน Best Practice เข้าสู่เวทีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ
 3. ถอดบทเรียน Best Practice โดยการจัดเก็บข้อมูลเป็นรายคน/กลุ่มย่อย/ภาพรวม
 4. ประมวล/วิเคราะห์/สังเคราะห์ เนื้อหาสาระและข้อมูลที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์และการปฏิบัติจริงของ Best Practice
 5. สรุปและจัดเป็นองค์ประกอบในการทำงานส่งเสริมการเกษตร
 6. จัดเวทีนำเสนอเพื่อรับฟังความคิดเห็นและปรับแก้
 7. นำสู่กระบวนการปฏิบัติงาน

     ก่อนจะมีการจัดเวทีเพื่อนำเสนอระบบการทำงานที่ผ่านการปรับปรุงและแก้ไขในชั้นเรียนเสร็จแล้วนั้น การปฏิบัติงานในขั้นตอนต่อไปก็คือ นำแนวคิดและเนื้อหาที่เกิดขึ้นเข้าสู่กระบวนการปฏิบัติ 
ฉะนั้น จึงได้มีการรวมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาร่วมรับฟังเพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน บทบาทที่ดิฉันได้รับในเวทีการนำเสนอก็คือ  เป็นผู้แทนในเล่ารายละเอียดของเนื้อหา จำนวน 2 เรื่อง คือ  เรื่องการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรระดับตำบล  และ เรื่องการจัดการเรียนรู้/การถ่ายทอดเทคโนโลยี
ดังนั้น เมื่อได้รับมอบหมายงานมา ดิฉันจึงเริ่มต้นจาก

 1. การศึกษารายละเอียด  ทำความเข้าใจข้อมูล  แยกแยะกรอบของเนื้อหาสาระ  และสรุปเป็นหลักการที่จะนำเสนอ
 2. ย้อนข้อมูลสู่เนื้อหาสาระที่ทีมงานกลางได้จัดเตรียมสำหรับการนำเสนอในเวทีจริง
 3. นำเนื้อหาสาระทั้ง 2 ส่วนมาสรุปเป็นแนวคิดของตนเองที่จะถ่ายทอดความรู้ หรือ เล่าให้คนอื่นฟัง
 4. นำหลักการของ KM มาใช้ในการนำเสนอ/ถ่ายทอดเนื้อหาสาระ พร้อมทั้งใส่ "เทคนิคการนำเสนอ" ของตนเอง
 5. จัดทำ/แปลงข้อมูลและเนื้อหาเป็นสื่อเพื่อใช้นำเสนอ
 6. ทดลองนำเสนอ/เล่าให้ฟัง  และปรับแก้

     ดังนั้น เมื่อถึงเวทีของการนำเสนอเนื้อหาสาระเรื่องการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรระดับตำบล  และ เรื่องการจัดการเรียนรู้/การถ่ายทอดเทคโนโลยี  ที่ให้เวลาเรื่องละ 10 นาที  ที่เกิดขึ้นนั้นสำหรับดิฉันถือว่า "เป็นประสบการณ์ใหม่" กับเวทีในลักษณะเช่นนี้กับกลุ่มบุคคลเป้าหมาย ประมาณ 500- 600 คน  และเป็นความใหม่กับเนื้อหาสาระที่เป็นความรู้ทางด้านระบบส่งเสริมการเกษตร ฉะนั้น จึงเป็นประสบการณ์ที่ตัวเราเองสามารถค้นพบความรู้และการประเมินจุดดี/จุดอ่อน ด้วยตนเองได้เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ได้  เช่น  เทคนิคการนำเสนอ  การใช้สื่อประกอบการเล่าเนื้อหา  และอื่น ๆ โดยสิ่งเหล่านี้ถ้าตัวเราเองมีโอกาสในการฝึกฝนก็จงรับและเรียนรู้ให้สนุกกับการทำงาน

 ถ้าไม่กล้าทำ ก็จะไม่กล้ารู้
 ถ้าไม่กล้ารู้  ก็จะไม่กล้าเป็น
 ถ้าไม่กล้าเป็น ก็จะไม่กล้าพูด
 ถ้าไม่กล้าพูด ก็จะไม่รู้จริง
 ถ้าไม่รู้จริง  ก็ไม่เป็นมืออาชีพ...สักที.

หมายเลขบันทึก: 179206เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2008 13:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สรุปว่าถ้าไม่ลงมือทำ ก็ไม่มีวันจะเป็นมืออาชีพ ใช่ไหมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท