05. เมื่อเป็นหัวหน้า V.S เมื่อเป็นลูกน้อง...ทำอย่างไรจึงไม่เครียด


เป็นลูกน้อง..ให้ทำงานจนสุดความสามารถ เป็นหัวหน้า..อย่าลงนรก

          ในตอนนี้ผมจะเล่าวิธีสอนของแม่ ป.4 ที่ชี้แนะแนวทางการทำงานจนมีผลดีต่อผม ทำให้ผมเป็นคนไม่เครียด ไม่ว่าจะเป็นลูกน้อง หรือ เป็นหัวหน้าคนอื่น  เชิญติดตามนะครับ

เมื่อผมจบปริญญาตรีใหม่ ๆ แล้วเป็นหัวหน้าหมวดวิชาอยู่ที่โรงเรียนบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ช่วงปิดเทอม ผมกลับบ้าน แล้วไปบ่นให้คุณแม่ของผมฟังว่า "โอ๊ย..เบื่อมากเลยแม่ ครูเดียวนี้ ทำอะไรก็ไม่ค่อยเป็น ไม่รู้จบปริญญามาได้อย่างไร  มอบหมายงานอะไรให้  ก็ทำไม่ถูกใจเลย"

แม่ถามว่า  “แล้วทำไมจึงต้องไปมอบงานให้เขาทำล่ะ”

“ก็ ผมเป็นหัวหน้าหมวดนี่แม่ ก็ต้องมอบหมาย หรือกระจายงานซิครับ” ผมตอบ

แม่ก็เลยสวนกลับหรือสอนกลับว่า

"ถ้าอยากได้อะไรตามใจเราทุกอย่าง ขอให้ทำเองน่ะลูก"  

“เมื่อไหร่ที่มอบหมายงานให้คนอื่นทำ หากทำได้ตรงตามใจเราสัก 60 %  ก็ถือว่าดีมากแล้ว”   

“ไม่มีใครในโลกนี้ที่ทำได้ตามใจเราหมดทุกเรื่องหรอกลูก”

"ถ้าลูกคิดเช่นนี้ และเครียดกับเรื่องเหล่านี้ ลูกไม่เหมาะที่จะเป็นผู้นำคน หรือหัวหน้าคนอื่นหรอก"

ตั้งแต่นั้นมา ผมไม่เคยเครียดเมื่อมอบหมายงานให้คนอื่น แม้เขาจะทำไม่ถูกใจ ก็ได้แต่พยายามชี้แนะให้เขาปรับปรุงงาน และถ้าเห็นว่าเขาปรับปรุงจนสุดความสามารถแล้ว บ่อยครั้งที่ต้องแก้งาน หรือปรับปรุงเพิ่มเติมงานด้วยตัวเอง

ภายใต้การสอนในเรื่องนี้ แม่ชี้แนะแบบต่อเนื่องว่า  “หากเราเป็นลูกน้อง  ให้ทำงานอย่างเต็มที่ จนสุดความสามารถ” งานจะออกมาอย่างไรก็ต้องถือว่า “เราทำดีที่สุดแล้ว”  “จิตใจเราก็ควรจะมีความสุขแล้ว หรือขึ้นสวรรค์ได้แล้ว เพราะงานสำเร็จด้วยการทุ่มเทจนสุดความสามารถของเราแล้ว”

“แล้วถ้า หัวหน้าไม่พอใจในผลงานเราล่ะแม่” ผมถาม

“ถ้าเป็นเช่นนั้น หัวหน้าก็จะมีจิตใจร้อนรุ่ม หรือด่าเราแบบไม่ยั้ง หรือ อีกนัยหนึ่ง คือ หัวหน้ากำลังตกนรก” คุณแม่ตอบ

“หากเป็นไปได้ ลูกก็ควรช่วยหัวหน้าให้ขึ้นจากขุมนรก ด้วยการช่วยปรับแก้งานให้ดีที่สุด แบบเต็มความสามารถอีกครั้งหนึ่ง ตามคำชี้แนะของหัวหน้า โดยลูกไม่ควรโกรธหัวหน้า ให้ระลึกเสมอว่า เขาอยู่ภาวะที่น่าเห็นใจ(กำลังอยู่ในขุมนรก) มากกว่าการที่จะโกรธตอบ”

ท่านเชื่อ หรือไม่...คำสอนของ แม่ ป.4 เหล่านี้ ช่วยให้ผม ไม่เครียด เมื่อเป็นลูกน้อง  (ฮิ..ฮิ..ได้แต่เห็นใจ  “ตายแล้ว หัวหน้าเรา ลงนรกอีกแล้ว เพราะได้ยินเสียงเอะอะโวยวาย” ในขณะที่เรากำลังจะไปขึ้นสวรรค์ หรือ รับประทานอาหารเที่ยง)  และ ผมจะไม่ลงนรก หรือโกรธเลย เมื่อลูกน้องทำงานไม่ถูกใจ ในขณะที่ผมเป็นหัวหน้า   และเมื่ออยู่ในวงวิชาการก็มีความคิดว่า “การถกเถียงกัน หรือมีความเห็นไม่ลงรอยกัน ก็เป็นเรื่องปกติ  คนเรา ไม่มีทางที่จะคิดและทำอะไรเหมือนกันไปหมด  ถกเถียงกันได้ โดยต้องพยายามอธิบายเหตุผล แต่ถ้าเขายังไม่เข้าใจอีก ก็ต้องรอ “วันหนึ่งเขาคงเข้าใจ”

หมายเลขบันทึก: 179058เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2008 19:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)
  • หากสอบวัดความรู้คิดแล้ว แม่ไม่ได้จบ ป.๔ นี่ครับ เข้าใจว่า เหนือกว่า ป.เอกด้วยซ้ำไปนี่ครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์สุพักตร์ หนูเพิ่งอบรมกับอาจารย์เมื่อวันพฤหัสที่ 24 เมษายน ในการอบรมการบริหารโครงการวิจัยระดับหัวหน้าโครงการ รุ่นที่ 9 และเข้ามาในG2K ก็เพราะคำแนะนำของอาจารย์ค่ะ หนูอยากบอกว่า คุณแม่หนูจบ ป.4 ค่ะ ไม่ใช่ไม่อยากเรียน แต่เมื่อก่อนที่บ้านคุณยายฐานะยากจนมากถึงมากที่สุด แม่มีน้องอีก 7 คน เลยต้องเสียสละให้น้องเรียน ออกมาทำงาน และเลี้ยงน้องที่ยังเล็กๆ จนกระทั่งแต่งงานมีลูก เลยค่อยสบายขึ้นนิดนึง ทุกวันนี้ก็สบายมากหน่อย คำสอนของแม่น่ะ ถึงวันนี้ก็ยังเสียใจว่า บางอย่างก็ฟัง บางอย่างก็ฟังแต่ไม่ทำตาม ถ้าทำตามที่แม่บอก ก็คงไม่เจอกับความเสียใจบางอย่างในชีวิต แต่เมื่อผ่านไปแล้ว แม่ก็ไม่เคยซ้ำเติม ได้แต่บอกใหเริ่มต้นใหม่ แม่บอกว่า "ไม่สายเกินไปที่จะเริ่มต้น" นี่คือ แม่ป.4 ของหนูค่ะ ไว้จะติดตามผลงานอาจารย์อีกนะคะ

  1. อ.นมินทร์  ขอบคุณครับที่ชมความสามารถทางสมองของคุณแม่ของผม
  2. อ.ฟ้าใส  ยินดีต้อนรับสมาชิกใหม่นะครับ  ดีใจครับ ที่อาจารย์เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  วันนั้น ไม่ทราบว่าบรรยายแล้วได้อะไรบ้างหรือไม่  มากน้อยเพียงใด
  • คุณแม่อาจารย์สอนดีจังเลยครับ
  • ท่านอาจารย์หมอประเวศ บอกว่า แม่คือครูคนแรกของลูกครับ
  • ตามไปดู แม่ของอาจารย์มหาประยุทธ ของอาจารย์ เจิมศักดิ์ ก็ไม่จบสูงอะไร แต่สอนลูกให้ได้ดีได้ครับ
  • ขอบคุณครับ

อาจารย์สุพักตร์ขา หนูคือคนที่เข้าไปบอกอาจารย์ว่า "อาจารย์บรรยายสนุกมากเลยค่ะ" (แต่อาจารย์อาจจำไม่ได้ เพราะคงมีลูกศิษย์บอกแบบนี้หลายคน) คือว่า...คือ...หนูเขียนบันทึกบอกใน G2K ไปแล้วล่ะค่ะ ว่าหนูได้มาเยอะค่ะ แต่บางอย่างก็จดไม่ทัน มัวแต่ขำ ฮาๆๆๆ แต่ชอบนะคะ อาจารย์เริ่มต้นเข้าสู่บทเรียนด้วยการเล่าเรื่องให้ลูกทำงบประมาณค่าใช้จ่ายมานำเสนอก่อนอนุมัติเป็นรายไตรมาส จะเก็บไว้สอนลูกบ้างค่ะ อิอิ

  • ขอบคุณอาจารย์ขจิต มาก ๆ ที่คอยแวะมาเยี่ยมตลอดเวลา
  • ขอบคุณ อ.ฟ้าใสอีกครั้งที่ชมการบรรยาย "ผมนึกออกแล้วครับ ว่า มีคนเดินเข้ามาชมให้กำลังใจ"  อีกทั้งได้เข้าไปอ่านอนุทินของอาจารย์แล้วครับ   ภรรยาผมเป็นชาวราชมงคลเหมือนกันนะครับ(รม.สุวรรณภูมิ  วิทยาเขตนนทบุรี ตอนบรรยาย ยกตัวอย่างเรื่องลูก ไม่มีโอกาสยกตัวอย่างเรื่องแม่)

คุณ morisawa

  • ขอบคุณครับที่แนะบทสอนใจ "ต้องเป็นให้เป็น"
  • อ.ฟ้าใส เป็นคนที่พูดจริง น่าเชื่อถือครับ(เห็นไหมครับ คนเราน่าเบื่อตรงไหน)

มีแม่เรียน ป2 เหมือนกันแต่ลูกๆ จบปริญญาตรีกคน (5คน) ขอเป็นกำลังใจคะ

  • อ่านแล้วค่ะ  เขียนเรื่องอะไรอาจารย์ก็มีหมดเลย   ตรงประเด็นเสียด้วย
  • แต่หนูไม่ถึงขนาด  หัวหน้าที่กำลังตกนรก  เพียงแต่คาดหวัง และถึงแม้อยากทำก็ไม่สามารถทำเองได้
  • เอาเป็นว่า "หนูจะเป็นคนล้างจานที่มีความสุขกับการล้างจานดีกว่า  คนที่มีความสุขเมื่อล้างจานเสร็จ"   นะคะ
อภิศักดิ์ จันทร์สนาม

เรียน ดร สุพักตร์

ผมกำลังเครียดกับลูกน้องอยู่พอดีเลย เข้ามาอ่านเรื่องของอาจารย์แล้ว ตอนนี้เริ่มจะทำใจได้บ้างแล้วล่ะครับ

ศิริพร หย่องบางไทร

เป็นกำลังใจให้กับพ่อป.เอก และพ่อทุกๆคนคะ อ่านแล้วประทับใจ

ติดตามบทความเรื่องนี้ทุกตอนเลยคะ เพราะเชื่อว่าฟังเรื่องเล่า...เป็นทางลัดของการเรียนรู้

มีข้อคิดดีๆมากมายที่แม่อาจารย์สอน....นำไปเล่าให้ลูกศิษย์ฟังคะ

ในอนาคตหนูอาจจะได้อ่านหนังสือ...พ่อป.เอกสอนลูกสาว.....และลูก(ศิษย์)

ศิริพร(ลูกศิษย์วัดผลรุ่น6)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท