หากลองมองโลกในแง่ร้ายเราจะพูดถึงมิติของความเป็นมนุษย์ในระบบการศึกษาของโรงเรียนแพทย์อย่างไร


การ “เพิ่มเติม” ยุทธวิธีมากเท่าใดเพื่อเติมเต็ม “ความเป็นมนุษย์” ให้กับนักศึกษาแพทย์ จึงไม่มีวันที่จะเพียงพอ และมิอาจเป็นไปได้หากไม่หวนย้อนกลับไปตั้งคำถามถึงกฏเกณฑ์เบื้องลึกที่กำหนดความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้คนในโรงเรียนแพทย์และเป็นกฏเกณฑ์ที่ยึดถืออยู่ร่วมกัน เพราะการไม่รื้อถอนสิ่งที่มีอยู่เดิมไม่อาจทำให้สิ่งที่เพิ่มเติมใหม่สามารถมีที่อยู่ที่ยืนได้

ระบบบริการสุขภาพที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ ดูจะเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงกันมากในแวดวงการแพทย์ปัจจุบัน ในโรงเรียนแพทย์เองก็มีความพยายามต่างๆมากมายหลากหลายที่จะ เพิ่มเติม มิติของความเป็นมนุษย์เข้าไปในตัวนิสิตนักศึกษาแพทย์ ทำให้พวกเขา/เธอเรียนรู้การให้บริการทางด้านการแพทย์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเข้าอกเข้าใจในมิติของความเป็นมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความสลับซับซ้อนของคนไข้แต่ละคน

ข้อเขียนสั้นๆชิ้นนี้จะเป็นการเสนอความคิดเห็นบางประการต่อประเด็นนี้

ประการแรก [การที่แพทย์จะสามารถเข้าอกเข้าใจ มิติของความเป็นมนุษย์ ของคนไข้ มีปฏิสัมพันธ์ และให้การเยียวยารักษาคนไข้บนพื้นฐานของความห็นอกเข้าใจนั้น  วางอยู่บนรากฐานของความรู้ที่แอบอิงอยู่กับปรัชญาแบบมนุษยศาสตร์] ซึ่งมีความแตกต่างอย่างมากกับ [การที่แพทย์จะสามารถเข้าอกเข้าใจ มิติทางชีววิทยาของคนไข้และให้การเยียวยารักษาคนไข้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานของความรู้ที่แอบอิงอยู่กับปรัชญาแบบวิทยาศาสตร์] ดังนั้นในหลายครั้งหลายสถานการณ์การที่จะคงไว้ทั้ง 2 มิตินั้นเป็นไปไม่ได้  (ไม่มิติใดมิติหนึ่งจะต้องถูกละทิ้ง และโดยมากสุดท้ายแล้วมิติแรกมักจะถูกละทิ้งเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของโรงพยาบาลใหญ่ๆเช่นโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์)

ประการที่สองเป็นข้อพิจารณาเกี่ยวกับ เรื่องเล่า ซึ่งเป็นยุทธวิธีหนึ่งที่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาใช้เพื่อให้ก่อให้เกิดความเข้าอกเข้าใจในความเป็นมนุษย์ โดยการพยายามให้บุคลากรสาธารณสุขเข้าไปสัมผัสชีวิตของคนไข้และถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่องราวที่ตลบอบอวลไปด้วยกลิ่นอายของความเข้าอกเข้าใจ แทนที่จะลดทอนเรื่องราวของคนไข้ให้เหลือแต่มิติทางชีววิทยาและถ่ายทอดออกมาอย่างแห้งแล้ง ในนักศึกษาแพทย์ก็เช่นเดียวกันที่มักจะมีความพยายามปรับขั้นตอนของการพูดคุยซักประวัติให้มีความละมุนละไมมากขึ้น โดยหวังว่าจะเป็นหนทางให้นักศึกษาได้เรียนรู้และเข้าอกเข้าใจชีวิตของผู้คน แต่ปัญหาก็คือ ในบริบทของโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์นั้นเมื่อนักศึกษาได้เรียนรู้เรื่องราวเหล่านั้นแล้วในชีวิตจริงส่วนใหญ่นักศึกษาแทบจะไม่มีช่องทางให้ถ่ายทอดบอกเล่าเรื่องราวเหล่านั้นออกมา

เพราะ โครงสร้างของเรื่องเล่า นั้นมีหลายแบบ เรื่องเล่าไม่ได้หมายความถึงเพียงแค่เรื่องที่มีโครงสร้างอันนุ่มนวลอ่อนโยนและอ่อนไหวต่อความเป็นมนุษย์หรือ เรื่องเล่าแนวชีวิต เท่านั้น แต่ยังคงมีโครงสร้างของ เรื่องเล่า ชนิดที่ปฏิเสธมิติอันสลับซับซ้อนของความเป็นมนุษย์ออกไปจากตัวเรื่องอย่างสิ้นเชิงอยู่อีกด้วย ซึ่งเรื่องเล่าที่สร้างขึ้นโดยแพทย์ภายใต้ความสัมพันธ์ระหว่างตนกับคนไข้ที่ปฏิเสธความเป็นมนุษย์นี้เองคือสิ่งที่ไบรอนและแมรี่โจ กู๊ด [i]เรียกว่า เรื่องเล่าแนวคลินิก หรือ เรื่องเล่าแนวหมอๆ และการที่หมอสักคนจะเลือกเล่าเรื่องภายใต้โครงสร้างแบบใดนั้นยังขึ้นอยู่กับว่าเรื่องเล่านั้นเป็นเรื่องที่เล่าให้ใครฟัง เพราะเรื่องเล่าจะกลายเป็นปฏิบัติการที่นำไปสู่การจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของผู้เล่าบนความสัมพันธ์ทางสังคมที่เต็มไปด้วยลำดับชั้นอีกด้วย คำถามก็คือว่าเรื่องเล่าแบบใดที่เป็นปฏิบัติการที่เหมาะสมในการแสวงหาตำแน่งแห่งที่ที่ดีของผู้เล่าภายใต้ความสัมพันธ์ทางสังคมในโรงเรียนแพทย์ แน่นอนคงไม่ใช่ เรื่องเล่าแนวชีวิตที่อ่อนไหวไปกับเรื่องราวอันนุ่มนวลของชีวิตมนุษย์เป็นแน่ เรื่องเล่าแบบนี้นั้นคงถูกเลือกใช้เป็นปฏิบัติการที่เหมาะสมบ้างในบางครั้งที่นักศึกษาแพทย์ต้องใช้ชีวิตอยู่ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน เวชศาสตร์ครอบครัว หรือเมื่ออาจารย์โกมาตร[ii]มาเป็นอาจารย์พิเศษ แต่ในชีวิตทางสังคมที่เป็นส่วนใหญ่และจริงกว่าของนักศึกษาแพทย์นั้นเรื่องเล่าชนิดๆนี้แทบจะไม่มีประโยชน์อันใด มิหนำซ้ำยังจะเป็นโทษด้วยซ้ำไปหากนักศึกษาคิดจะเลือกใช้เป็นปฏิบัติการในการแสวงหาตำแหน่งแห่งที่ที่ดีของตนบนโครงสร้างของความสัมพันธ์ที่เป็นชั้นๆในโรงเรียนแพทย์

ดังนั้น ถึงแม้ว่าความพยายามที่จะฝึกปรือนักศึกษาให้ละเอียดอ่อนต่อความเป็นมนุษย์ให้มากในขั้นตอนของการซักประวัติ แต่ท้ายที่สุดความพยายามนั้นก็แทบจะสูญเปล่าเมื่อข้อมูลหรือเรื่องราวมากมายที่นักศึกษาอาจจะแสวงหามาได้ ไม่ได้มีคุณค่าพอที่พวกเขา/เธอเหล่านั้นจะเลือกหยิบมาใช้เพื่อนำไปสู่การจัดวางตนเองให้ได้มีตำแหน่งแห่งที่ที่เหมาะสมท่ามกลางความสัมพันธ์กับบุคคลกลุ่มต่างๆในโรงเรียนแพทย์ แต่เรื่องราวเหล่านั้นกลับถูกดูดกลืนเข้าสู่รูปแบบของการเขียนและการพูดที่มีความเฉพาะตัวของการแพทย์ชีวภาพ และถูกถ่ายทอดออกมาในรูปของเรื่องเล่าแบบหมอๆ เพื่อใช้เป็นปฏิบัติการที่เหมาะสมกว่าในการแสวงหาตำแหน่งแห่งที่ที่ดีกว่าของตน เรื่องเล่าแนวชีวิต ที่ดำเนินเรื่องไปภายใต้โครงสร้างของเรื่องที่ ตลบอบอวลไปด้วยกลิ่นอายของความเข้าอกเข้าใจ จึงมิอาจมีที่อยู่ที่ยืนภายในโรงเรียนแพทย์ซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องเล่าอีกแบบหนึ่งซึ่งดำเนินเรื่องไปตามโครงสร้างของเรื่องที่ แข็งแกร่งไปด้วยกลไกทางชีววิทยา

การ เพิ่มเติมยุทธวิธีมากเท่าใดเพื่อเติมเต็ม ความเป็นมนุษย์ ให้กับนักศึกษาแพทย์ จึงไม่มีวันที่จะเพียงพอ และมิอาจเป็นไปได้หากไม่หวนย้อนกลับไปตั้งคำถามถึงกฏเกณฑ์เบื้องลึกที่กำหนดความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้คนในโรงเรียนแพทย์และเป็นกฏเกณฑ์ที่ยึดถืออยู่ร่วมกัน เพราะการไม่รื้อถอนสิ่งที่มีอยู่เดิมไม่อาจทำให้สิ่งที่เพิ่มเติมใหม่สามารถมีที่อยู่ที่ยืนได้

หากแต่การรื้อถอนย่อมมิได้หมายถึงการกลับหัวกลับหางความสัมพันธ์ให้ เรื่องเล่าแนวชีวิต ก้าวขึ้นมาอยู่ในสถานภาพที่เหนือกว่า สำคัญกว่า เรื่องเล่าแนวหมอๆ เพราะนั่นย่อมเป็นการทำลายจุดแข็งของการแพทย์ชีวภาพไปเสีย คงไม่มีคนไข้คนใดพึงพอใจที่เห็นหมอเอาแต่เล่าและพูดถึงเรื่องราวของชีวิตของตนได้อย่างออกรสและเต็มไปด้วยความเข้าอกเข้าใจ แต่ไม่ใส่ใจที่จะพูดถึงอาการทางกายของตนหรือเห็นสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่การรื้อถอนหมายถึงการทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อกฏเกณฑ์ที่ดำรงอยู่ในโรงเรียนแพทย์มิใช่เพียงแต่ยอมรับอย่างเซื่องๆถึงความเป็นสถาบันที่ยึดมั่นในความรู้แบบวิทยาศาสตร์ในฐานะสิ่งที่เป็นความจริงสิ่งสุด เป็นธรรมชาติและมีความโปร่งใส หากแต่เป็นการมองให้เห็นความรู้ที่สัมพันธ์อยู่กับอำนาจและผูกโยงอยู่กับยุทธวิธีในการจัดวางความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้คน และด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้งนี้เองที่อาจจะนำไปสู่การสั่นคลอนความยึดมั่นถือมั่นอยู่กับความรู้ที่วางอยู่บนรากฐานบางชนิดอย่างมากเกินไปและเปิดที่ทางให้กับความรู้ที่วางอยู่บนรากฐานแบบอื่นให้สามารถก้าวขึ้นมาดำรงอยู่ร่วมได้บ้าง เพียงในบางโอกาสที่จำเป็นก็น่าจะเพียงพอ การรื้อถอนไม่ได้หมายถึงการกลับหัวกลับหางควาสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เหลื่อมล้ำระหว่างความรู้สองชนิด หากแต่หมายถึงการเปิดช่องทางของความเป็นไปได้ที่ความรู้หลากหลายชนิดมีโอกาสได้มีสิทธิมีเสียงบ้างในบางจังหวะที่มีความเหมาะสมในขณะที่แพทย์กับคนไข้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันและกัน

 



[i] Good, Mary-Jo Delvecchio and Good, Byron J.2000 “Clinical Narratives and the Study of Contemporary Doctor-Patient Relationships” in Albrecht, Gary L., Fitzpatrick, Ray and Scrimshaw, Susan (eds.) The Handbook of Social Studies in Health & Medicine. (pp. 243-258).  London: SAGE Publications.

[ii] อ.นพ.ดร.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ บุคคลสำคัญคนหนึ่งของแวดวงสาธารณสุขไทยที่ผลักดันเรื่อง Humanized health care อย่างแข็งขัน

หมายเลขบันทึก: 178721เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2008 18:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอกล่าวถึงประสบการณ์ของตนเองจาก รพ. ของรัฐแห่งหนึ่ง

  • การซักประวัติคนไข้ ของนิสิตนักศึกษาแพทย์ที่ได้ยิน ได้เห็นด้วยตนเอง คุณเธอซักถามด้วยน้ำเสียงเสมือนหนึ่งคนไข้ คืออาชญากรตัวฉกาจ และคุณเธอกำลังเล่นบททนายความฝ่ายตรงข้าม สีหน้าของคุณเธอนิ่งสนิท ปราศจากรอยยิ้ม บางครั้งจะมองเห็นสีหน้าบึ้งตึง คิ้วย่นเข้าหากัน พร้อมน้ำเสียงตวาด (10 คน มี เขา 1 คนที่มีน้ำเสียงและสีหน้าที่เป็นมิตร)
  • คุณเธอคนต่อไป เป็นคุณหมอจักษุสาวสวย อายุอานามน่าจะประมาณ 24-25 เธอทะเลาะกับแฟนมาหรือเปล่าไม่ทราบได้ บรรดาคนไข้ที่เข้าพบ จึงถูกตวาดใส่ทุกคน คุณหมอมือใหม่ พลิกเปลือกตาคนไข้ไม่แม่น ดึงอยู่หลายครั้ง ผลก็คือ คุณเธอโมโห กระแทกตาคนไข้เล็กๆ แบบสะบัดสะบิ้ง
  • คุณหมอหลายท่าน (เดี๋ยวนี้นะ) ไม่ค่อยรับฟังคนไข้ ตรวจอาการ วินิจฉัยไม่ละเอียด ทำให้เกิดเรื้อรังหรือมีโรคแทรกซ้อน

ข้านี้ คือหมอ คนไข้ต้องสยบต่อข้า เพราะข้าคือผู้ที่จะปัดเป่าความเจ็บปวด รักษาชีวิตของเจ้าให้รอดพ้นจากโรคภัย

               คงไม่เป็นเช่นนี้ทุกหมอ แต่ นี้คือตัวอย่างที่เคยพบ หมอดีก็มี ทั้งเก่ง ทั้งดี ได้เขียนชื่นชมไว้กับทาง รพ. แต่ที่ไม่น่ารัก ก็ไม่ได้เขียนอะไรลงไป เพราะสักวัน เธอ หรือ เขา คงเข้าใจ

สวัสดีเจ้า วันนี้แวะเค้ามาทักทาย เพราะพี่ชายเราขยันเขียน blog มากๆ ยินดีต้อนรับสู่พื้นที่ถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนทางความคิดแห่งนี้ค่ะ

อยากชวนคุยต่อ เพราะสนใจประเด็นที่ว่า เราจะร่วมกันพัฒนามิติความเป็นมนุษย์ให้เกิดขึ้นในระบบโรงเรียน(ทันตแพทย์)ได้อย่างไร สิ่งที่ อ.อติศักดิ์เสนอ "เรื่องเล่า" น่าจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะนำไปเราไปสู่สิ่งนี้ได้ ในความเห็นของตัวเอง มองว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ใจของครูผู้สอน หากครูเข้าใจถึงอำนาจที่ตัวเองมีต่อนักเรียน สามารถแปรเปลี่ยนอำนาจนั้นมาใช้ในการสอนอย่าง "กรุณา" ความรักที่เกิดขึ้นระหว่าง ครูและนักเรียน น่าจะช่วยต่อเติมมิติความเป็นมนุษย์ให้เกิดขึ้นได้ทั้งสองฝ่าย

ก็เพียงสงสัยว่า "เรื่องเล่า" ที่มีพลังจะช่วยต่อเติมมิติของความเป็นมนุษย์ หรือว่า มิติของความเป็นมนุษย์น่าจะทำให้บังเกิด "เรื่องราว อันเป็นเรื่องเล่าที่งดงามและมีพลัง"

ส่วนตัวคิดว่าเรื่องนี้ซับซ้อนและมีประเด็นพัวพันกันอยู่หลายเรื่อง

ที่ อ.อ้อ สงสัยว่า "เรื่องเล่า" ที่มีพลังจะช่วยต่อเติมมิติของความเป็นมนุษย์ หรือว่า มิติของความเป็นมนุษย์น่าจะทำให้บังเกิด "เรื่องราว อันเป็นเรื่องเล่าที่งดงามและมีพลัง"

ความเห็นของผมก็คือข้อสงสัยนี้ก็คล้ายปัญหาเรื่อง "ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน" เพราะ

หากไม่มีมิติของความเป็นมนุษย์ (หรือความรักต่อกันและกัน)"เรื่องราว อันเป็นเรื่องเล่าที่งดงามและมีพลัง" ก็ไม่อาจบังเกิด

แต่หากไม่โต้เถียง หรือให้ความสำคัญกับประเด็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างศาสตร์ ที่วิทยาศาสตร์ครอบงำอยู่อย่างทุกวันนี้ แม้เราจะค่อยๆสร้างมิติของความเป็นมนุษย์ (หรือความรักต่อกันและกัน)ให้เกิดขึ้นทีละเล็กละน้อย ในตัวนักศึกษา "เรื่องราวที่งดงามและมีพลัง" ที่อาจจะบังเกิดขึ้น ก็จะไม่มีที่ "เล่า" เรื่องราวที่งดงามที่เกิดขึ้นจึงไม่สามารถกลายเป็นเรื่องเล่าได้ เพราะไม่มีคนฟัง (หรือมีคนฟังอยู่ไม่กี่คน) และเล่าไปก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรกับตัวเอง (ทั้งนี้เราต้องยอมรับว่าโดยพื้นฐานแล้ว มนุษย์ หรือ นักศึกษา ธรรมดา ๆ ที่ยังไม่บรรลุอะไรบางอย่าง ล้วนแล้วแต่ดิ้นรนแสวงหาการยอมรับจากผู้อื่นทั้งสิ้น)เพราะ และอาจจะค่อย ๆ เลือนลางจางหายไปในที่สุด

สิ่งคิดว่าที่ผมเสนอใน blog คือ เรื่องของ "ความรู้" สิ่งที่ อ.อ้อเสนอ คือ เรื่องของ "ความรัก"

ผมคิดยังงี้นะ ที่ อ.อ้อ เสนอว่า "หากครูเข้าใจถึงอำนาจที่ตัวเองมีต่อนักเรียน สามารถแปรเปลี่ยนอำนาจนั้นมาใช้ในการสอนอย่าง "กรุณา" ความรักที่เกิดขึ้นระหว่าง ครูและนักเรียน น่าจะช่วยต่อเติมมิติความเป็นมนุษย์ให้เกิดขึ้นได้ทั้งสองฝ่าย "

เห็นด้วยครับ แต่ไม่ทั้งหมด เพราะนั่นคือ การสอนบนพื้นฐานของความรัก แต่หากเป็นความรักที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของความรู้ที่หลงใหลคลั่งใคล้ ยึดติด และถามหาแต่เหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ (เก่า) ความรู้แบบนี้พร้อมที่จะ เขี่ยทิ้ง "มิติความเป็นมนุษย์" ออกไปจากกระบวนการเยียวยารักษา

หรือมากไปกว่านั้น ความรู้แบบนี้อาจจะเป็นตัวปิดกั้นไม่ให้เกิด "ความรัก" ขึ้นระหว่างอาจารย์และนักศึกษาด้วยซ้ำไป เพราะ "ความรัก" มักไม่มีและไม่ต้องการเหตุผล แต่ครูที่เป็นวิทยาศาสตร์มากๆ อาจจะถามว่า "ก็นักศึกษามันเป็นเสียอย่างงี้ ฉันหา "เหตุผล" ที่จะรักมันไม่ลงจริง ๆ" ในความเห็นของผม การถกเถียงเรื่องพื้นฐานของศาสตร์ 2 ศาสตร์ และหาวิธีทำให้ "มนุษยศาสตร์" เข้ามามีบทบาท ในแพทยศาสตร์ หรือ ทันตแพทยศาสตร์ มากขึ้น แทนที่จะมีแต่วิทยาศาสตร์ เท่านั้นที่ยึดครองพื้นที่อยู่จึงเป็นสิ่งจำเป็น และการเข้ามามีบทบาทของมนุษยศาสตร์ควรจะดำรงอยู่ในสถานะของการอยู่ร่วมกับวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่อยู่ใต้วิทยาศาสตร์ อยู่ร่วมในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงควรจะมีสัดส่วนปริมาณเท่าๆ กัน เพราะก็ไม่ได้มีความจำเป็นอะไรมากมายขนาดนั้น แต่อยู่ร่วมหมายถึงความเท่าเทียมกันในศักดิ์ศรีของความเป็นศาสตร์ ไม่ใช่มาถามว่ามนุษยศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์หรือไม่ และ ความสามารถทางมนุษยศาสตร์ ที่จะทำความเข้าอกเข้าใจผู้คนของนักศึกษาก็ควรจะเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับมีศักดิ์ศรีมากไม่น้อยไปกว่า ความสามารถทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถรักษา แต่ไม่อาจเยียวยาคนได้

เรื่อง "ความรู้" กับ "ความรัก" จึงอาจดูคล้ายปัญหาเรื่อง "ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อน" เช่นกัน ที่ไม่อาจหาคำตอบสุดท้ายได้ว่าอะไรสำคัญกว่า และอะไรจะก่อให้เกิดอะไร

แต่ผมคิดว่าหากต้องตอบให้ถึงที่สุดจริง ๆ ผมก็เห็นด้วยกับ อ.อ้อ ว่า ฐานที่มั่นที่สำคัญที่สุดสำหรับภารกิจครั้งนี้คือ "ความรัก" ครับ

แต่ภารกิจครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก และต้องการกำลังใจมากมาย เราต้องหาแนวร่วมและเป็นกำลังใจให้กันครับ

คุณ morisawa ครับ

ชอบใจที่คุณบอกว่า "ข้านี้ คือหมอ คนไข้ต้องสยบต่อข้า เพราะข้าคือผู้ที่จะปัดเป่าความเจ็บปวด รักษาชีวิตของเจ้าให้รอดพ้นจากโรคภัย"

ผมว่านี่เป็นอุดมคติของแพทย์สมัยใหม่ใหม่เลยครับ คือ แพทย์เท่านั้น ที่เป็น active knower ส่วนคนไข้ไม่ใช่อะไรนอกจาก passive known

ที่คุณเล่าถึงประสบการณ์การเจอแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐ นั่นก็แสนจะจริง แต่ทว่า ถ้าเราถอยอารมณ์ออกมาสักนิด เราอาจจะเข้าใจว่า นั่นอาจจะไม่ใช่ปัญหาหรือความเลวร้ายส่วนบุคคล ของแพทย์แต่ละคน

เพราะแพทย์แต่ละคนก็เป็นผลผลิตของระบบความรู้และระบบงานที่ปฏิเสธและมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์นั่นแหละ

และยิ่งไปกว่านั้น ยิ่งแพทย์มองไม่เห็นความเป็นมนุษย์มากขึ้นเท่าไร ความเป็นมนุษย์ในตัวเขาและเธอก็จะค่อย ๆ ถูกลดทอนลงไปเท่านั้น

ขอบคุณครับ สำหรับความคิดเห็น

สมการนี้ครับ เรื่องเล่า กับมิติความเป็นมนุษย์

เรื่องเล่างามๆ <-> มิติความเป็นมนุษย์

มันเกื้อหนุน กันและ กัน เป็น สมดุลแบบพลวัตร

ไม่ใช่ แบบ A->B ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท