กิจกรรมชาวบ้านสุดสร้างสรรค์ที่บ้านปากน้ำเชี่ยว


ความหลากหลายทางชีวภาพเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากชุมชมมีความเข้าใจ และช่วยกันอนุรักษ์ พัฒนา จะทำให้คนและธรรมชาติอยู่ร่วมกันอย่างไม่เบียดเบียนซืงกันและกัน

บ้านปากคลองน้ำเชี่ยว เป็นชุมชนเล็ก ๆ  แบ่งออก 2 โซน คือ โซนนาและโซนประมงหรือชายฝั่ง สิ่งที่เราสนใจในวันนี้คือแถบโซนประมงหรือชายฝั่ง ซึ่งมีบ้านเรือนผู้คนอยู่หนาแน่น ตั้งอยู่ริมฝั่งคลองและทะเล มีอาชีพทำประมงชายฝั่ง เลี้ยงปลากระชัง  มีลำคลองหลายสาย เช่น คลองน้ำเชี่ยว  คลองท่าตะเภา  คลองหัก   คลองนา  คลองไอ้ด้วน  คลองยายเภา

ในชุมชนนี้มีการเปลี่ยนแปลงด้านทรัพยากรธรรมชาติ  ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ ของพวกเขาในช่วงที่ผ่านมา คือ มีการให้สัมปทานไม้ชายฝั่งแก่เอกชน เพื่อนำไปเผาถ่าน ทำให้พืชสำคัญเริ่มหายาก บางชนิดเกือบสูญหายไปจากที่นี่  ต่อมาเมื่อนิยมทำนากุ้ง เพราะได้ผลกำไรมากกว่า ก็ทำให้ผืนดินป่า หายไปหลายร้อยไร่    ชาวบ้านเริ่มหาสัตวน้ำยากขึ้น ต้องออกไปหาปลาไกลขึ้น ด้วยเรือลำเล็ก ๆ  ที่เมื่อก่อนแทบไม่ต้องใช้เครื่องยนต์  เพียงแค่พายเรือล่องไปตามคลองก็สามารถจับปลาได้แล้ว  นอกจากนี้ชาวบ้านเองก็ใช้เลื่อยยนต์ตัดไม้เพื่อเป็นเครื่องเรือน เพราะความสวยของลายไม้  มิหนำซ้ำยังมีเรืออวนรุนจากภายนอกเข้ามาจับสัตว์น้ำในแหล่งเดียวกับที่ชาวบ้านใช้ทำมาหากิน  สัตว์น้ำบางชนิดที่เคยเห็นว่ายน้ำเล่นตามคลอง เช่น นากทะเล ก็ไม่มีอีกต่อไป

ชาวบ้านเริ่มเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุต่าง ๆ จึงเริ่มมีการเคลื่อนไหว และตื่นตัวเพื่อทำให้ชุมชนบ้านปากคลองน้ำเชี่ยว ได้อยู่ในสภาพใกล้เคียงกับเมื่อก่อนอีกครั้ง  หน่วยงานราชการหลายหน่วยได้ลงไปให้ความช่วยเหลือ เช่น การแนะนำให้ชาวบ้านประกอบอาชีพอื่นโดยไม่ตัดไม้ทำลายป่า  มีการหางบประมาณให้  โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวและอนุรักษ์ป่า  โดยสร้างบ้านพัก home stay ซื้อเรือแคนู  สร้างทางเดินศึกษาป่าภายใน ตั้งศูนย์ศึกษาสิ่งแวดล้อมบ้านปากคลองน้ำเชี่ยว  มีการอบรมชาวบ้านเรื่องการนุรักษ์ป่า โรงเรียนบ้านปากคลองน้ำเชี่ยว มีส่วนร่วมกับเยาวชน APEC จัดสร้าง Aquarium ตู้ปลาเพื่อการศึกษา และมอบให้ อบต.เป็นผู้ดูแล

หลังจากนั้นมีหน่วยงานจัดกิจกรรมกันหลายหน่วยงาน โดยให้ชาวบ้านจัดหาพื้นที่บริเวณปลูกป่า และนำมาปลูกป่าในโอกาสพิเศษ ทำให้เกิดกลุ่มอนุรักษ์ป่าที่เกิดจากการส่งเสริมต่าง ๆ ดังกล่าว

มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาเพื่อชุมชน และการพัฒนาท้องถิ่น จึงเข้ามาศึกษาและจัดทำโครงการเพื่อเป็นแนวทางการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน

โครงการนี้เป็นโครงการที่มุ่งสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะกลุ่ม "ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย"  ซึ่งกลุ่มที่จะก่อให้เกิดคุณค่า (value) ในโครงการนี้มากที่สุดคือ "คนในชุมชน"  ซึ่งเมื่อก่อนที่ผ่านมาชุมชนจะเป็นผู้ถูกให้หรือถูกจัดการโดยส่วนใหญ่ แต่ชุมชนยังไม่ใคร่ได้มีโอกาสเข้ามีส่วนคิดเห็นหรือแสดงรากฐานทางภูมิปัญญาของตนเองที่มีอยู่ว่า "จะทำอย่างไรกับสิ่งที่ผู้ให้ได้มอบให้"

บ้านปากคลองน้ำเชี่ยว "มีทุน (asset) อยู่ในมือคือ ทรัพย์สินที่ผู้อื่นจัดให้มาและยังคงไม่ได้ใช้ประโยชน์  ทรัพยากรธรรมชาติป่าชายเลนที่ยังอุดมสมบูรณ์  และสิ่งที่จะสำคัญที่สุดคือ "มีผู้นำชุมชนที่แข็มแข็ง"

มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี โดย ผศ.ไพโรจน์  แสงจันทร์  จึงจัดทำ "โครงการจัดทำคู่มือการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์และพื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ  ตำบลหนองโสน (อ่านว่า สะ-โหน) อำเภอเมือง จังหวัดตราด" 

โครงการนี้เริ่มเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2550  ใช้เวทีชาวบ้าน ประเมินสถานการณ์และความต้องการของชุมชนในการเข้าร่วมโครงการ

ผลที่ได้รับจากวันนี้คือ คณะทำงานได้ข้อมูลเบื้องต้นและรับทราบระดับความความต้องการในการร่วมทำโครงการของชุมชน และได้แกนนำในการทำงานเบื้องต้น

วันที่ 1 พฤษภาคม 2250 ทำความเข้าใจกับชุมชนและผู้นำในพื้นที่ รวมถึงการค้นหาสภาวะทรัพยากรที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน วัตถุประสงค์ในวันนี้เพื่อสร้างความเข้าใจกับชุมชนเกี่ยวกับโครงการที่จะจัดทำและเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการอนุรักษ์ป่าชายเลนของหมู่บ้านอย่างยั่งยืน

ผลที่เกิดขึ้นคือ ชุมชนได้เข้าใจโครงการมากขึ้น เห็นประโยชน์ในการทำโครงการมากขั้น

วันที่ 30 ตุลาคม 2250 มีเวทีประเมินวิเคราะห์สถานการณ์ของฐานทรัพยากรโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน

ผลที่เกิดขึ้น ชุมชนเข้าใจและตระหนักสถานการณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะป่าชายเลน และได้แนวทางการในการเก็บข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ

วันที่ 10 พฤศิกายน 2550 วางแผนเก็บข้อมูล โดยการแบ่งหน้าที่การทำงานให้แต่ละบุคคลในชุมชน โดยใช้วิธีการเก็บข้อมูลคือ การตั้งวงคุย  การจัดเวที  การเดินสำรวจ   การสัมภาษณ์เชิงลึก

วันที่ 8-11 มกราคม 2551 ดำเนินการเก็บข้อมูลในพื้นที่ ทำให้ทราบถึงความเป็นมาของประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิตคนในชุมชนที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ และรวบรวมองค์ความรู้ด้านพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์  ระบบนิเวศน์และความสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตในพื้นที่  ภูมิปัญญาในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ  และวงจร การเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลของระบบนิเวศน์ในป่าชุมชน นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีได้เข้าไปช่วยชุมชนสำรวจข้อมูลและการเก็บข้อมูลก็ดำเนินเรื่อยมาจน ได้กิจกรรมที่ชุมชนอยากจะทำคือ

  • กิจกรรมฟื้นฟูพันธุ์ไม้หายากในป่าชายเลน
  • กิจกรรมการอนุรักษ์ปูแสม (สะ-แหม)
  • กิจกรรมการเลี้ยงเพรียง

ทั้งสามกิจกรรมได้เริ่มดำเนินการแล้วโดย กิจกรรมแรก ได้เก็บเมล็ดพันธุ์ไม้ขายให้แก่กรมป่าไม้นำไปเพาะเป็นต้นกล้า แล้วนำมาปลูกในป่าชายเลนในพื้นที่ของมันอีกครั้ง โดยชาวบ้านจะปลูกไม้ชนิดหนึ่งปนกับไม้อื่นเพื่อให้ต้นไม้ได้พึ่งพาอาศัยกัน  และนำไปปลูกในบริเวณที่ว่าง

การอนุรักษ์ปูแสม ชาวบ้านได้นำปูแสมไปปล่อยในพื้นที่ที่จัดสรรไว้ (หมู่บ้านจัดสรรปูแสม..ชื่อนี้ตั้งเองค่ะ)  เพื่อให้ปูแสมได้สร้างอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ของตนเองอีกครั้ง โดยไม่มีผู้ใด๋มารบกวน

กิจกรรมการเลี้ยงเพรียง  ชาวบ้านได้ทำแปลงสาธิตการเลี้ยงเพรียง โดยนำท่อนไม้ยางพารา มาทดลองให้เพรียงเกาะกิน และเป็นที่พักอาศัย  ชาวบ้านเล่าว่า ปกติเพรียงจะอาศันอยู่กับ "ขอนไม้ที่ตายแล้ว" อาจจะเป็น"ขอนไม้ที่ลอยน้ำ"  แค่ปริ่ม ๆ น้ำ แต่ต้องตายแล้ว ซึ่งไม้ทีเพรียงชอบมาคือ ไม้ตะบูน ตะบัน บางแห่งเรียก ตะบุน แต่ไม่ใช่ ตะบี้ตะบัน แน่นอน แต่ตอนนี้ไม้พวกนี้แทบไม่เหลือในป่าแล้ว เจ้าเพรียงทีตัวดูน่าเกลียด น่าชัง กินซากไม้ แต่สุดยอดของความอร่อย และเขาเชื่อกันว่าเป็น ยาโป๊ว  ก็พากันหายหน้าหายตาไปด้วย ชาวบ้านที่หาเลี้ยงชีวิตด้วยการขายเพรียงก็อึงกิมกี่ เพราะไม่มีเพรียงขาย กิโลละ 300 -400 บาท ทีเดียวเชียว

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 177815เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2008 16:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • โชคยังดีนะครับ ที่คิดแก้ไขทัน  มิฉนะนั้น พวกนายทุน คงทำลายทรัพยากรธรรมชาติไปป่นปี้กว่านี้
  • การให้สัมปทานนายทุนทำธุรกิจเกี่ยวกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ต้องระวังเรื่องระบบนิเวศน์ ให้ดีๆนะครับ
  • ขอบคุณอาจารย์มากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท