บทเรียนตอนที่ 2 จาก C# และ G# โดยการชมเพลงและฟังภาพ (Seeing Debussy, Hearing Monet)


หากเปรียบการชมผลงานศิลปะเข้ากับการอ่านหนังสือคณิตศาสตร์ (ซึ่งผมกำลังอ่านและกำลังทนทุกข์ทรมานอยู่ในขณะนี้) เราคงมิได้หยุดเพียงแค่การทำความเข้าใจในวิธีการคำนวณหรือเพียงเฉพาะการแก้โจทย์แต่ละข้อ หากแต่เราควรเข้าใจถึงคุณค่าพื้นฐานว่าทำไมเราจึงต้องใช้คณิตศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในชีวิตจริง หากเราเรียนรู้เฉพาะเทคนิคแต่ละด้าน แต่ถ้าไม่รู้ว่าเมื่อใดต้องใช้เทคนิคใดในสถานการณ์ใด ก็เท่ากับยังแก้ปัญหาไม่เป็นนั่นเอง

เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2548

ผมเพิ่งเข้าใจมุมมองบางอย่างในชีวิตของตนเองจากการได้ชมเพลงและฟังภาพของ Debussy และ Monet เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเคยเข้าใจว่าการชมภาพก็คือการมองว่าภาพนั้นมีจุดเด่นที่ไหน ใช้เทคนิคในการวาดยากหรือไม่ หรือว่าสีสันลงตัวหรือไม่ โดยที่มิได้เคยมองถึงศิลปะที่ซับซ้อนและรายละเอียดที่ซ่อนอยู่ในภาพนั้นเลยแม้แต่น้อย และมิได้เคยคิดเลยว่าภาพที่ถูกวาดขึ้นนั้นมาจากวิธีคิดและความเข้าใจในธรรมชาติของผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานชิ้นดังกล่าวมาก่อน

 

ในทำนองเดียวกัน เมื่อผมฟังบทเพลง ผมจะเลือกฟังเฉพาะเสียงทำนองหลัก (Melody) ของบทเพลงว่าไพเราะขนาดไหน ยิ่งด้วยผมเคยเล่นดนตรีมาก่อน ยิ่งทำให้เกิดวิธีคิดแบบแปลกๆ ที่จะต้องใจจดใจจ่อฟังเฉพาะท่อนที่มีเครื่องดนตรีที่ผมเคยเล่นมีบทเด่นในเพลง ส่วนท่อนอื่นๆ ของบทเพลงก็ไม่สู้จะสนใจฟังเท่าใดนัก ส่วนตอนที่มีอารมณ์สุนทรีย์หน่อยก็เมื่อสนใจฟังในส่วนของการเรียบเรียงเสียงประสาน (Harmony) ว่าสอดรับกับทำนองหลักหรือไม่ หรือช่วยขับให้ทำนองหลักของบทเพลงมีความโดดเด่นกินใจหรือไม่

 

เมื่อได้ไปชมคอนเสิร์ตที่ Carnegie Hall เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมานั้น ผมถึงบางอ้อเลยว่าวิธีทำความเข้าใจในผลงานศิลปะที่ผมมีอยู่นั้นคับแคบเหลือเกิน สายตาผมเปิดให้กับเฉพาะส่วนปลีกย่อย (Fragmented-Piecemeal) มิได้ให้ความใส่ในภาพใบใหญ่ (the Whole) และแนวคิดที่มาของการเกิดขึ้นของผลงานศิลปะเหล่านั้น และทำให้ผมเข้าใจตัวเองมากขึ้นว่าทำไมตัวเองถึงได้ชอบเพลงในลักษณะ Fugue หนักหนา ก็เพราะว่าเพลงลักษณะดังกล่าวมีทำนองหลัก (Motif) แบบเดียว และมีเครื่องดนตรีหลักในการนำเสนอท่วงทำนองเหล่านั้นวนซ้ำไปมา อนิจจา...ชีวิตผมในช่วงที่ผ่านมาช่างจำเจเหลือเกิน

 

ตอนนี้ ผมเข้าใจมากขึ้นว่าผลงานที่ผ่านการสร้างสรรค์ขึ้นล้วนมีชีวิตและคุณค่า มิได้มีจุดเด่นเพียงแค่องค์ประกอบย่อยๆ ที่ปรากฏในผลงานเหล่านั้นเท่านั้น หากเปรียบการชมผลงานศิลปะเข้ากับการอ่านหนังสือคณิตศาสตร์ (ซึ่งผมกำลังอ่านและกำลังทนทุกข์ทรมานอยู่ในขณะนี้) เราคงมิได้หยุดเพียงแค่การทำความเข้าใจในวิธีการคำนวณหรือเพียงเฉพาะการแก้โจทย์แต่ละข้อ หากแต่เราควรเข้าใจถึงคุณค่าพื้นฐานว่าทำไมเราจึงต้องใช้คณิตศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในชีวิตจริง หากเราเรียนรู้เฉพาะเทคนิคแต่ละด้าน แต่ถ้าไม่รู้ว่าเมื่อใดต้องใช้เทคนิคใดในสถานการณ์ใด ก็เท่ากับยังแก้ปัญหาไม่เป็นนั่นเอง

 

หรือถ้าหากเราเปรียบเทียบการเข้าถึงคุณค่าของงานศิลปะเข้ากับการอ่านหนังสือซักเล่มหนึ่ง หากผู้อ่านไม่พินิจลงให้ลึกซึ้งถึงที่มาและวิธีคิดที่ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดของหนังสือแต่ละเล่มแล้ว การอ่านหนังสือเหล่านั้นก็คงจะน่าเบื่อมากทีเดียว และในทางกลับกัน ผู้เขียนหนังสือที่มิได้ใส่ ชีวิต ให้กับสิ่งที่ตนเขียนแล้วนั้น หนังสือเล่มนั้นก็คงไม่ต่างอะไรไปจาก กระดาษที่เลอะหมึกพิมพ์ ที่ไม่มีสิ่งใดซ่อนไว้ให้ผู้อ่านได้ค้นหาเลยจริงๆ (พอเขียนประเด็นนี้ทำให้ไม่แน่ใจว่าเมื่อสมัยที่ผมเขียนหนังสือนั้น ได้ให้ชีวิตกับหนังสือหรือบทความที่ผมเขียนด้วยหรือเปล่า....ใครรู้ช่วยบอกทีเถอะ จะเป็นพระคุณอย่างสูงครับ)

 

จากการฟังภาพและชมเพลงของ Debussy และ Monet ผมเริ่มมั่นใจในวิธีคิดและมุมมองเกี่ยวกับชีวิตมากขึ้น ประการแรก ชีวิตคนเรามีขึ้นลงเหมือนที่ Debussy ใช้ Horizontal line ในการดำเนินบทเพลง (หรืออาจเปรียบเสมือนเส้นกราฟที่มีจังหวะขึ้นลงในลักษณะ Regression to the mean) เมื่อคนเรามีชีวิตที่ขึ้น-ลง และกลับไปสู่สภาพดังเดิมแล้ว ในทางพุทธศาสนาท่านสอนให้มนุษย์เราอย่ายึดติดกับสิ่งใด ให้ดำเนินชีวิตและปฏิบัติตนอย่างเหมาะสม พอเหมาะพอควร (บางคนอาจเรียกว่าทางสายกลางก็คงจะไม่ผิด)

 

ยามใดที่ท่วงทำนองของบทเพลงเดินเร็วขึ้น ชีวิตเราก็ต้องมีจังหวะที่ก้าวไปเร็วหรือช้าเสมือนหนึ่งกับตัวโน้ตที่ปรากฏในบรรทัดห้าเส้นฉันใดก็ฉันนั้น หากก้าวผิดจังหวะ เพลงก็ตกร่อง และชีวิตก็สะดุดได้เช่นกัน และยามใดที่บทเพลงบรรเลงไปแบบมี Reflection ชีวิตปุถุชนคนเราก็อาจจะได้รับสิ่งสะท้อนกับจากปัจจัยรอบข้างได้ในลักษณะเดียวกัน ชีวิตมนุษย์เราในสังคมจึงมีลักษณะ Holistic โลกนี้มิได้มีเฉพาะมนุษย์ หากแต่มีสภาพแวดล้อมทั้งทางกายภาพ ชีวภาพ และทางจิตรายล้อมเราอยู่ตลอดเวลา

 

สิ่งที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งได้จากบทเพลงของ Debussy และภาพวาดของ Monet ก็คือ ศิลปินทั้งสองนั้นใช้แนวคิดหลักประการเดียวในการเดินบทเพลงหรือในการนำเสนอภาพ หากแต่ในรายละเอียดของบทเพลงในแต่ละห้อง (Bar) นั่น มีการทดลองด้วยลีลาที่แปลกใหม่ต่างกันไป หรือแม้แต่ภาพของ Monet ก็คือภาพเดียวกันหลายๆ ภาพ หากแต่ถูกบรรจงวาดด้วยสีสันที่ต่างกันไป หากเปรียบเข้ากับชีวิตคนเราแล้ว อาจมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่กำลังแสวงหาชีวิตในลักษณะต่างๆ ตามจังหวะที่ตนถนัด แต่ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะพอใจกับสิ่งที่เป็นไปหรือไม่ก็ตาม ทุกคนล้วนจบชีวิตลงที่เส้น Horizontal ด้วยกันทั้งสิ้น So, what are we living for?

 

ผมเองก็ยังตอบคำถามตัวเองไม่ตกเลยว่า ตอนนี้ชีวิตผมกำลังดำเนินอยู่ด้วยบทเพลงหรืองานศิลปะชิ้นใด หรือพูดง่ายๆ ก็คือ "ฉันกำลังทำอะไรอยู่หรือกำลังไปเดินไปทางไหน?"  แต่หากมองให้ลึกๆ แล้ว เราก็น่าจะที่จะเริ่มคิดเป็น "ศิลปินให้กับตัวเราเอง" ซึ่งก็คือเราต้องเเต่งเพลงสำหรับให้ชีวิตเราเดิน น่าจะเหมาะกว่า....

คำสำคัญ (Tags): #ฟังภาพ ชมเพลง
หมายเลขบันทึก: 176532เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2008 22:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 00:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท