ทันตแพทยศาสตร์ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์(จบ) : ศิลปะของวิชาชีพคือศิลปะในการทำความเข้าใจมนุษย์


ความเป็นศิลปะที่น่าภาคภูมิใจของวิชาชีพนั้น หมายถึงความมีศิลปะที่จะทำความเข้าใจมนุษย์ และทำงานที่เกี่ยวข้องกับคนอย่างเข้าใจถึงความมีชีวิตจิตใจและมองเห็นถึงความแตกต่างระหว่างคนแต่ละคน

หากเราเริ่มต้นจากการให้ความสนใจในความซับซ้อนของชีวิต และตระหนักว่าร่างกายของมนุษย์เป็นสิ่งที่มีความหมายที่หลากหลายเกินกว่าที่จะเป็นสิ่งที่จะอธิบายจากแง่มุมของชีววิทยาที่ระบุถึงกลไกในการทำงานของมันเท่านั้น ร่างกายที่เป็น "ธรรมชาติ" อยู่ตรงไหน เหตุใดเราจึงคิดว่าร่างกายของเราควรเป็นเช่นใด เหตุใดเราจึงมีวิธีปฏิบัติต่อร่างกายในรูปแบบหนึ่ง ในขณะที่คนอื่นก็มีความคิดและวิธีปฏิบัติต่อร่างกายของเขาในรูปแบบที่ต่างออกไป หากเราให้ความใส่ใจ ไม่ละเลย ในคำถามเหล่านี้ และเคารพในคำตอบที่ผู้คนต่างก็มีต่อคำถามเหล่านี้แตกต่างกันไป หรือจะกล่าวอย่างง่ายที่สุดก็คือให้ความสำคัญกับอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ระหว่างการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้ ให้เสมือนหนึ่งปฏิสัมพันธ์ที่มนุษย์ต่อมนุษย์พึงจะมีต่อกัน ผู้เขียนเห็นว่าสิ่งเหล่านี้คือจุดเริ่มต้นที่สำคัญหากเราจะพูดถึงทันตแพทยศาสตร์ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์

อย่างไรก็ดีการหยิบยกเรื่องเล่าเหล่านี้มานำเสนอเพื่อชี้ชวนไปสู่การใคร่ครวญถึงมิติของความเป็นมนุษย์ในการให้บริการนั้น มิได้หมายถึงการเสนอให้สุดโต่งไปอีกด้านว่า เราควรที่จะยอมรับกับอารมณ์ความรู้สึกและความหมายที่หลากหลายซับซ้อนเหล่านี้ และปล่อยวางเสียโดยไม่ต้องคิดทำอะไร มิได้หมายถึงว่าเราควรที่จะปล่อยให้คราบจุลินทรีย์ของมนัสสูงลิบอยู่เช่นนั้น ควรปล่อยให้อุ๊ยใส่ฟันปลอมตอนนอนโดยมิได้ที่จะทำอะไร ปล่อยให้คนไข้อื่น ๆ ที่เป็นเช่นเดียวกับหนุ่มคนนั้นไปทำฟันกับหมอชาวบ้านตลอดไป หรือปล่อยให้เด็กน้อยกินนมมื้อดึกและเกิดฟันผุลุกลามไม่หยุด  หากแต่การคำนึงถึงมิติของความเป็นมนุษย์ในการให้บริการนั้นหมายถึงการแสวงหาหนทางการให้การบำบัดรักษาและเยียวยาผู้คนที่มีความสมดุลระหว่างการพยายามรักษามาตรฐานของวิชาชีพ ในขณะเดียวกันก็คำนึงถึงและให้ความเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขาและเธอเหล่านั้น เรื่องเล่าเหล่านี้กำลังชวนเราสนทนาว่าเรื่องราวของชีวิตและช่องปากมิใช่เป็นเพียงปรากฏการณ์ทางชีววิทยา ดังนั้นการดูแลมนุษย์สักหนึ่งคนของทันตแพทย์จึงมิได้มีเป้าหมายเพียงเพื่อให้เกิดสภาพช่องปากที่สมบูรณ์พร้อมตามมาตรฐานความรู้ทางทันตแพทยศาสตร์ แน่นอนว่า ความเป็นศาสตร์แห่งวิชาชีพ ที่วางอยู่บนวิธีคิดแบบเหตุและผลและให้ความสำคัญกับหลักฐานเชิงประจักษ์ที่มีความเป็นภาวะวิสัยนั้นเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อ "ความถูกต้อง" และ "แม่นยำ" ในแง่วิชาการของการบำบัดรักษา ทันตแพทยศาสตร์ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์จึงมิใช่การละทิ้งศาสตร์ของวิชาชีพโดยสิ้นเชิง เพราะศาสตร์หรือวิชาใดๆต่างก็มิใช่ปัญหาในตัวของมันเอง หากแต่การยึดมั่นถือมั่นในศาสตร์แบบใดแบบหนึ่งว่าเป็นวิถีทางเดียวในการทำความเข้าใจโลกและชีวิตต่างหากที่ก่อให้เกิดปัญหา

ในฐานะของความเป็นวิชาชีพที่ประกอบไปด้วย 2 มิติแห่งศาสตร์และศิลป์ ความเป็นศิลปะของวิชาชีพนั้นมิใช่หมายความเพียงแค่ความสามารถในการอุดฟันสวย กรอฟันเนี้ยบ หรือใส่ฟันได้เหมือนจนดูไม่ออกเท่านั้น แต่ความเป็นศิลปะที่น่าภาคภูมิใจของวิชาชีพนั้น หมายถึงความมีศิลปะที่จะทำความเข้าใจมนุษย์ และทำงานที่เกี่ยวข้องกับคนอย่างเข้าใจถึงความมีชีวิตจิตใจและมองเห็นถึงความแตกต่างระหว่างคนแต่ละคน หรือแม้กระทั่งความต่างระหว่างเรากับคนไข้ และสามารถให้การดูแลรักษาและมีปฏิสัมพันธ์กับคนไข้บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ที่มนุษย์พึงจะมีต่อมนุษย์

หมายเลขบันทึก: 174976เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2008 15:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 23:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เจอแล้วคนที่มัทหาตัวมานาน!

ทราบว่าพี่อ่านอยู่แต่ไม่ทราบว่าพี่เขียนบล็อก

มัทคิดว่าอีกหน่อยต้องรบกวนพี่ให้ช่วยเรื่อง คำศัพท์ภาษาไทยที่ใช้ทางสังคมศาสตร์/มนุษยวิทยาแน่ๆเลยค่ะ

มัทดีใจที่พี่เขียนบันทึกนี้ มัทขออนุญาตล่วงหน้าว่าจะอ้างอิงถึงตอนจะเขียนบันทึกเรื่อง วัตถุประสงค์ของการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุนะคะ เพราะพี่เขียนได้สละสลวยและตรงใจมาก

ดีใจที่หากันเจอคะ : )

แอบชื่นชม blog ของ อ.มัท มานาน

ยินดีที่ได้เจอกันครับ

และยินดีอย่างยิ่งหากสิ่งที่เขียนไว้จะมีประโยชน์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท