สารคาเฟอีนในกาแฟ


  
              ปัจจุบันการดื่มกาแฟเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน  บางคนมักนิยมดื่มกาแฟในตอนเช้า  บางคนดื่มหลังการรับประทานอาหารหรือวันละหลายๆ ถ้วย ระหว่างทำงาน      ยิ่งบางคนต้องเข้าประชุมบ่อยๆ จะได้รับประทานกาแฟทั้งในช่วงพักเช้า (ประมาณ 10 โมงเช้า )  และช่วงพักบ่าย (ประมาณบ่าย 3 โมง)   จะเห็นว่า  กาแฟได้กลายเป็นวัฒนธรรมของการประชุมไปแล้ว      
                กาแฟทำให้สมองและร่างกายตื่นตัว มีความกระปรี้กระเปร่า ดื่มแล้วสดชื่น  ในกาแฟมีสารคาเฟอีน(Caffeine) ซึ่งมีผลในการกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง   กระตุ้นหัวใจทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น  กระตุ้นกระเพาะอาหารให้หลั่งกรดออกมาเพื่อช่วยในการย่อยอาหาร  กระตุ้นการขับปัสสาวะทำให้ปัสสาวะบ่อยและขยายหลอดลม
                 คาเฟอีนเป็นอัลคาลอยด์ธรรมชาติพบในเมล็ดกาแฟ  ใบชาและเมล็ดโกโก้     มีลักษณะเป็นผงสีขาว มีรสขม       นอกจากชาและกาแฟที่นิยมดื่มกันแล้ว  ในเครื่องดื่มหลายชนิดยังมีคาเฟอีนเป็นส่วนผสมอยู่  ได้แก่  น้ำอัดลมพวกเป็ปซี่โคล่า  เครื่องดื่มชูกำลัง  ชาเขียว  ฯลฯ   ซึ่งเครื่องดื่มแต่ละประเภทจะมีปริมาณคาเฟอีนแตกต่างกันไปดังตารางที่ 1        นอกจากนี้ยังพบในขนมหลายชนิด  ได้แก่  ช็อกโกแลต  ลูกอมรสกาแฟ  ลูกอมสอดไส้ช็อกโกแลต  คุกกี้กาแฟ  เค้กกาแฟ  เค้กช็อกโกแลต  ไอศกรีมกาแฟ  ฯลฯ     
    
                          ตารางที่ 1  ปริมาณคาเฟอีนในเครื่องดื่ม


ประเภทเครื่องดื่ม                         ปริมาณเครื่องดื่ม            ปริมาณคาเฟอีน

                                      (1 ออนซ์ = 30 มิลลิลิตร)            (มิลลิกรัม) 


กาแฟเอสเพรสโซ                         1.5 - 2 ออนซ์                     100 
กาแฟต้ม                                       8 ออนซ์                       80 – 135  
กาแฟสำเร็จรูปพร้อมชงดื่ม                 8 ออนซ์                       65 – 100  
กาแฟพร่องคาเฟอีน                          8 ออนซ์                        2 – 4  
ชาสำเร็จรูปพร้อมชงดื่ม                     8 ออนซ์                           30 
ชาเขียว                                         8 ออนซ์                           20  
ชาขาว                                          8 ออนซ์                           15 
ชาชงจากใบชา                                8 ออนซ์                           50 
Coca Cola                                    12 ออนซ์                          45.6 
Pepsi Cola                                   12 ออนซ์                           37.2  
นมรสช็อกโกแลต                             8 ออนซ์                            8 
โกโก้หรือช็อกโกแลตร้อน                   8 ออนซ์                            5 
เครื่องดื่มชูกำลัง                            8.2 ออนซ์                          80 


                     

                 คาเฟอีนถูกดูดซึมอย่างรวดเร็วที่กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กเข้าสู่กระแสโลหิต  ถึงระดับสูงสุดใช้เวลา 15 – 45 นาที    ออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางสูงสุดภายใน 30-60 นาที    คาเฟอีนถูกเปลี่ยนแปลงที่ตับและขับออกทางปัสสาวะ    บางส่วนที่ไม่เปลี่ยนแปลงจะถูกขับออกทางน้ำลาย น้ำอสุจิและน้ำนม     โดยทั่วไปคาเฟอีนมีค่ากึ่งชีวิตในผู้ใหญ่ 3 - 4 ชั่วโมง   ผู้หญิงท้อง 18 - 20 ชั่วโมง   ผู้หญิงทานยาเม็ดคุมกำเนิดอาจถึง 13 ชั่วโมง  และเด็กแรกเกิดราว 30 ชั่วโมง    
                  ในขนาดต่ำ 50 – 200 มิลลิกรัม  จะกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางทำให้ไม่ง่วง ตื่นตัว  กระปรี้ กระเปร่า สดชื่น มีเรี่ยวแรง หายจากอาการอ่อนเพลีย      หากได้รับในขนาดสูง 250 – 750 มิลลิกรัม (2 - 7 ถ้วย)  จะมีอาการกระสับกระส่าย  มึนงง คลื่นไส้ ปวดศีรษะ กล้ามเนื้อตึงตัว  นอนไม่หลับและหัวใจเต้นเร็วหรือผิดจังหวะ       ถ้าได้รับในขนาดสูงเกิน 750 มิลลิกรัม (7 ถ้วย)   นอกจากอาการดังที่กล่าวแล้วข้างต้น   จะมีอาการกระสับกระส่าย  ตื่นเต้น ตกใจง่าย  ความคิดสับสน  พูดจาวกวน  วิงเวียน  ท้องเดิน  อาเจียน  หน้าแดง  หายใจขัด และชักได้    คาเฟอีนมีค่า  LD_50 (ขนาดยาที่มีรายงานว่าจำนวนประชากรที่ได้รับยาเข้าไปถึงตายได้ 50 %)  อยู่ที่ประมาณ 10 กรัม     ถ้าปริมาณคาเฟอีนในกาแฟแต่ละถ้วยอยู่ที่ประมาณ 50 - 200 มิลลิกรัม  การดื่มกาแฟในขนาด 50 – 200 ถ้วย อาจทำให้ตายได้  
                   ความไวต่อฤทธิ์คาเฟอีนในแต่ละบุคคลจะแตกต่างกัน   โดยทั่วไปแล้วผู้ที่ได้รับเป็นประจำและต่อเนื่อง  ร่างกายก็จะทนต่อฤทธิ์คาเฟอีนได้         สำหรับบุคคลทั่วไป  คาเฟอีนขนาด 200 – 300 มิลลิกรัมต่อวัน ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย            หากได้รับในขนาดสูงเกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน  ก็มีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจล้มเหลว หัวใจวายหรือเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจได้  โดยผลการวิจัยบอกว่าเสี่ยงในอัตรา 2.8 เท่าของคนที่ไม่ดื่มกาแฟ   ยังพบว่าคาเฟอีนในปริมาณสูง 300 มิลลิกรัมต่อวัน (2 - 3 ถ้วยต่อวัน)  จะไปขัดขวางการดูดซึมของแคลเซียมและเป็นตัวเร่งอัตราการสูญเสียแร่ธาตฺจากกระดูกได้  ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคกระดูกพรุน
                    จะเห็นได้ว่า หากร่างกายได้รับในปริมาณมากเกินไป   คาเฟอีนจะมีผลเสียต่อร่างกายได้ คาเฟอีนจัดเป็นสารเสพติด       ถ้าใช้คาเฟอีนอย่างต่อเนื่องไประยะหนึ่ง  แล้วหยุดทันที  จะมีอาการขาดยาเกิดขึ้น  ความดันโลหิตลดต่ำลงทำให้มีอาการปวดศีรษะ 1 – 5 วัน  (แต่บรรเทาอาการได้โดยรับประทานยาแก้ปวดหรือดื่มกาแฟ)  นอกจากนั้นอาการขาดยาที่มักพบ ได้แก่ หงุดหงิด ไม่สามารถทำงานได้ ตกใจง่าย กระสับกระส่าย และรู้สึกง่วงนอน       ในรายที่รุนแรงอาจมีอาการคลื่นไส้และอาเจียน        ดังนั้น  ถ้าต้องการเลิกคาเฟอีน   ควรค่อยๆ ลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนลงในอัตราวันละ ½ ถ้วย หรือสัปดาห์ละ 2 – 5 ถ้วย ขึ้นกับปริมาณการดื่มเครื่องดื่มดังกล่าว
                        

 สนใจอ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่          

1.      http://www.erowid.org/chemicals/caffeine/caffeine_effects.shtml

2.     http://www.bkkfood.com/choicecoffee/fact.php

3.     http://www.cs.unb.ca/~alopez-o/caffaq.html

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 17484เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2006 13:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
ดื่มกาแฟเป็นประจำครับ ทั้งๆที่รู้ว่ามีคาเฟอีนในกาแฟ แต่ด้วยความเคยชิน จึงได้แต่ดื่มๆ จนลืมนึกถึงส่วนนี้ไป ขอบคุณที่นำเนื้อหานี้มากระตุ้นเตือนครับ

เรียนรู้จากเพลง สาวกระโปรงเหี่ยน
I like your article. But I have question, what does it mean ค่ากึ่งชีวิต?

อยากรู้ว่าการทดสอบสารคาเฟอีนในกาแฟทำไง

ใครรู้ช่วยตอบทีนะ

ต้องการข้อมูลด่วน

 

อยากทราบวิธีการวิเคราะห์สารคาเหอีนในกาแฟจากเมล็ดกาแฟ ใครทราบช่วยตอบทีนะครับ

ขอบคุณล่วงหน้าสำหรับข้อมูลครับ

มีคำถามอยากถามผู้รู้ โปรดให้ความรู้ด้วยครับ

1. อยากรู้ว่าโดยทั่วไปในเม็ดกาแฟสด หรือกาแฟที่ตากแห้งมี คาเฟอินเท่าไร หน่วยเป็นอะไร

2. ในเม็ดกาแฟมี คาเฟอินมากหรือน้อยดีครับ

3. ถ้ามีตั้งแต่เท่าไรถีงจะถือว่า เม็ดกาแฟ มีคุณภาพ น้อยเท่าไรจึงถือว่าด้อยคุณภาพ

ขอบพระคุณผู้ตอบทุกท่านครับ

ข้อมูลคาเฟอีนที่แสดงมา น่าจะคลาดเคลื่อนครับ

เช่น ในเอสเปรโซนั้น เมล็ดกาแฟถูกคั่วจนไหม้ ทำให้คาเฟอีนถูกทำลาย ดังนั้น เวลาดื่มเอสเปรโซจะรู้สึกขมจากเมล็ดที่คั่วจนไหม้ แต่สักพักก็จะง่วงเนื่องจากคาเฟอีนต่ำ แต่ในกาแฟที่มีรสอ่อนเช่น บลูเม้าเท็นต์ นั้นรสจะรู้สึกอ่อน แต่ตาจะแข็งเนื่องคาเฟอีนยังเหลือมากอยู่

การทดสอบหาคาเฟอีนในกาแฟ ต้องทำในแลปทางเคมีครับ

สกัดด้วยตัวทำละลายครับ ^o^ แต่ผมว่า หาข้อมูลจากข้างซองง่ายกว่าเยอะครับ

โทรไปถามจากทางผู้ผลิตก็ง่ายกว่านะครับ

ไม่รู้เหมือนกันนะคะ ง่วงน่ะ แล้วเราต้องทำงาน ต้องไปซื้อกาแฟมากินน่ะค่ะ แต่เพื่อนบอกว่ากินกาแฟ มันทำลายสมอง และทำให้หน้าแก่  ต้องลดๆลงแล้วล่ะ เพราะเป็นคนสมองมีปัญหา และผิวหน้าไม่ค่อยสดใส กลัวอันตรายต่อร่างกาย กลัวเป็นเบาหวานด้วยค่ะ แต่ก็เป็นคนดูแลตัวเองอยู่ อยากมอบสิ่งดีๆให้ตัวเอง ตอนนี้น่ะกำลังดื่มชาเขียวแทนกาแฟ มันคงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้วนะ ต้านอนุมูลอิสระ และไม่ค่อยหวาน ส่วนปริมาณเคเฟอินน้อยไม่เป็นไรหรอกมั๊ง และสุดท้ายนี้ขอขอบคุณเวฟนี้นะคะ ที่ให้ความรู้เรื่องกาแฟ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท