การนำพาผู้ป่วยระยะสุดท้าย


ความผ่อยคลาย ไว้วางใจต้องอาศัยเวลา บรรยากาศ การสัมผัสด้วยรัก ความเมตตา ที่จะทำให้เกิดความแนบสนิทอย่างไว้วางใจ

เรื่องราวดีๆที่บำราศนราดูร

31 มีนาคม 2551,09.30-11.30 น.

การเตรียมผู้ป่วยระสุดท้าย

ความเงียบของตึกอายุรกรรมชั้นสามที่ได้เข้าไปสัมผัสมีความสงบไม่พลุกพล่านมีผู้ป่วยนอนอยู่ในส่วนแรก 4 คน ส่วนที่ 2 มีม่านกั้นเตียงถูกนำมาวางกั้นไว้ตั้งแต่เมื่อวานนี้แล้ว พยาบาล และญาติอีก 4 คนยืนอยู่รอบเตียงที่มีผู้ป่วยชายระยะสุดท้ายนอนอยู่อย่างสงบนิ่ง มี mask oxygen ครอบปาก จมูกเอาไว้

ผมห่วงแม่ แม่จะอยู่คนเดียวได้หรือไม่หากผมต้องจากไป เป็นเสียงของผู้ป่วยที่พูดกับป้าพยาบาลหัวหน้าตึก(คุณพุทธิพร ลิมปนดุษฏี) ที่ได้รู้จักและคุ้นกันที่ตึกแห่งนี้ เป็นความห่วงกังวลของลูกคนเดียวที่มีต่อแม่ที่คิดว่าจะมีเวลาอยู่ไม่มากนัก นิวส์เด็กหนุ่มวัย 16 ปีที่ทางตึกได้ทำบุญวันเกิดให้เมื่อ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา ตอนนี้แม่ได้พูดคุยกับลูกแล้วในความรู้สึกของแม่ต่อความห่วงใยของลูก เรื่องความเป็นอยู่  แม่อยู่ได้ และลูกยังอยู่ในความรู้สึกของแม่ตลอดไป แม่ลูกได้บอกกล่าวสิ่งดีๆให้แก่กันและกันในบรรยากาศที่อบอุ่นในตึกผู้ป่วยแห่งนี้

ในห้องพยาบาลมีเพลงเสนาะที่เอาเนื้อบทสวดมนต์เข้าไปใส่ เป็นบรรยากาศ ความสบายๆของคนทำงานที่มีความสุขถึงแม้ว่าจะดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย น้องคนี้ติดเชื้อมาจากตั้งแต่คลอดและมารู้ว่าตัวเองติดเชื้อในภายหลังเมื่อโตแล้ว อยู่กับแม่ที่ดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี พร้อมทั้งมาอยู่กับลูกในระยะสุดท้ายนี้ทุกวันจนมีปัญหาเรื่องการขาดงานจนหัวหน้าต้องตามลงมาดูถึงสาเหตุและก็อนุญาตให้มาอยู่กับลูกได้ ผู้ป่วยรู้ว่าตัวเองอยู่ได้อีกไม่นาน มีพฤติกรรมแปลกๆเกิดขึ้น เช่นแกล้งชัก เพื่อต้องการที่จะให้แม่มาอยู่ด้วย  โดยไม่พ้นการเฝ้าดูความผิกปรกติของป้าพยาบาลหัวหน้าตึก ที่มีจิตใจอย่างผู้คนธรรมดา รับรู้ได้ไว้ต่อความรู้สึกของผู้คนอันเนื่องจากประการณ์ที่ผ่านมาอย่างมากมาย พร้อมทั้งได้เล่าการเตรียมผู้ป่วยรายนี้ให้ฟัง ทีมเราเตรียมมานานแล้ว สร้างความค้นเคย เป็นกันเอง ไว้วางใจ และก็ได้รับการตอบสนองกับผู้ป่วยและแม่อย่างดี และเปิดเผยทำให้การเตรียมเป็นเรื่องง่ายขึ้น ระยะการยอมรับ และการปฏิเสธ สลับกันไปมา ผู้ป่วยกังวลมากและต่อต้าน หรืออาจเกิดจากตัวโรค ทีมเลยปรึกษาแม่ผู้ป่วยที่จะให้ยานำ และก็ได้การยินยอม และเริ่มให้มอร์ฟินผ่านในน้ำเกลือตั้งแต่เมื่อวานตอนเย็นจึงทำให้อาการสงบขึ้น แต่ผู้ป่วยยังรับรู้ได้โดยการกรอกสายตา และหลับตาได้เมื่อได้รับการบอกกล่าว ทีมให้ผู้ป่วยได้ทำบุญวันเกิด และใส่บาตรเมื่อวันที่ 29 ที่ผ่านมา และผู้ป่วยได้อโหสิกรรมแก่ผู้ที่ตนเองได้ทำไม่ดีที่ผ่านมา  อาการผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในความสงบ จนมาถึงเมื่อวานตอนบ่าย (30 มีนาคม) ทีมพยาบาลจะไปที่เตียงสัมผัสผู้ป่วย และสวดมนต์ให้ผู้ป่วยเป็นระยะๆ และเราก็มีโอกาสเข้าร่วมประสบการณ์ในตอนนั้น เราพบว่าหัวหน้าตึกและทีมงานได้ดูแลผู้ป่วยเสมือนหนึ่งเป็นญาติสนิทเวลาพูดกับผู้ป่วยทุกครั้งปากเธอ แนบกับหูผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด กระซิบเบาะๆบอกว่าทีมงานจะทำอะไรให้แก้ผู้ป่วย เราสังเกตุว่ามีการรับรู้ น้ำตาผู้ป่วยไหลออกมา

เรามีโอกาสได้คุยกับแม่ผู้ป่วยเธอก็เล่าถึงการให้กำเนิดลูก ได้มอบความมีชีวิตและสิ่งที่กลับมาทำร้ายลูกเราเปลี่ยน เรื่องคุย ผมสอบถามความต้องการของลูก แม่เล่าด้วยความรักด้วยผูกพันธ์ที่ลูกเป็นห่วง และยังไม่ได้ทดแทนคุณด้วยการบวช ซึ่งเป็นความปราถนาของลูกที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง  หากคุณแม่ต้องการทำให้ลูกก็สามารถทำได้ ทีมของตึกก็ไว้พอที่จะตอบสนอง เราได้ปรึกษาญาติของผู้ป่วยก็ได้รับการตอบรับ และจะดำเนินการที่ให้พระมาทำให้ในตอนบ่ายวันนี้(ขณะนี้ได้ทำแล้ว)

เราได้นำพาการเรียนรู้กับทีมโรงพยาบาล และญาติผู้ป่วยนำพาให้ผู้ป่วยให้มีโอกาสสัมผัสสิ่งดีๆ งามๆอย่างบ่อยครั้ง จากการที่ให้แม่พูดคุยกับลูกในสิ่งดีๆที่คุณแม่ และผู้ป่วยได้มีประสบการณ์ร่วมกันมา พูดบ่อยๆใกล้ชิดที่หู เพื่อให้เกิดการน้อมนำ นำพาจิตของผู้ป่วยสัมผัสกับสิ่งดีงามให้ยาวนานที่สุดจนวาระสุดท้ายมาถึง จิตวิญญาณที่มีแต่สิ่งดีงามเมื่อจากร่างไป จะไปสู่ภพชาติที่ดีงามเช่นกัน

เราได้เรียนรู้เรื่องการประเมินผู้ป่วย เพื่อนำพาการจากไปของผู้ป่วยระยะสุดท้ายอย่างสงบ เป็นเรื่องยากเพราะผู้ป่วยยังไม่ไว้วางใจเรา ความพยายามที่จะทำให้เกิดความผ่อยคลาย ไว้วางใจต้องอาศัยเวลา บรรยากาศ การสัมผัสด้วยรัก ความเมตตา ที่จะทำให้เกิดความแนบสนิทอย่างไว้วางใจก็เป็นบทเรียนที่ไม่เคยซ่ำกันเลย และพบว่าวัยรุ่นประเมินง่ายกว่าผู้สูงอายุ และการนำพาเข้าระยะสุดท้ายยากกว่าผู้สูงอายุ รวมไปถึงการสร้างบทเรียนที่จะให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้เรียนรู้ร่วมกันก็เป็นงานที่ท้าทายทีมงานของโรงพยาบาลและเราเช่นเดียวกัน................

ขณะที่จบย่อหน้าสุดท้ายหัวหน้าตึกได้สื่อถึงเราว่านิวส์ได้จากโลกนี้ไปอย่างสงบภายใต้บรรยากาศอย่างอบอุ่นที่มีแม่ ญาติพี่น้อง เจ้าหน้าที่ตึก และผู้ป่วยในตึกผผู้ป่วยอายุรกรรม 7 ชั้น 3 ทุกคน

 

...................................................................................

หมายเลขบันทึก: 174758เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2008 14:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

.....การประเมินผู้ป่วย เพื่อนำพาไปสู่ระยะสุดท้ายอย่างสงบเป็นสิ่งท้าทาย การสร้างความไว้วางใจ ความพยายามที่จะทำให้เกิดความผ่อยคลาย ต้องอาศัยเวลา การสร้างบรรยากาศ การสัมผัสด้วยรัก ความเมตตา และสิ่งสำคัญเราควรเรียนรู้เรื่องเกียวกับความตาย และภาวใกล้ตายซึ่งเป็นธรรมชาติของสรรพสิ่งเพื่อที่จะได้สามารถนำพาสู่ระยะสุดท้ายอย่างสงบ ผมได้นำตรงนี้มาแบ่งปัน ขอบพระคุณท่าน รศ.นพ.อำนาจ ศรรรัตนบัลล์ ที่รวบรวมและมอบสิ่งดีๆมาให้

ความตายและภาวะใกล้ตาย

(เก็บความจากหนังสือ On Death and Dying โดย Elisabeth Kubler Ross ซึ่งเคยเป็นหนังสือประเภท Best Seller เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว.อำนาจ ศรีรัตรบัลล์)

แพทย์ที่เคยรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายรักษาไม่หายและจะต้องตายในระยะเวลาอันสั้นคงจะเคยพบผู้ป่วยหรือญาติของผู้ป่วยแสดงพฤติกรรมบางอย่างที่แพทย์เห็นว่า ไม่สมควรทำให้แพทย์ที่ตั้งใจดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างดีรู้สึกแปลกใจไม่พอใจหรือโกรธได้

ความเข้าใจเกี่ยวกับจิตวิทยาของมนุษย์ที่มีต่อความตายและภาวะใกล้ตายอาจจะช่วยให้แพทย์และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาผู้ป่วยเข้าใจพฤติกรรมของผู้ป่วยและญาติของผู้ป่วยได้ดีขึ้น จะช่วยทำให้หายแปลกใจ ลดความไม่พอใจและคลายความโกรธลงได้บ้างโอกาสที่จะแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบในทางที่ไม่สมควรก็จะได้ลดลง

ความตายเป็นสิ่งที่เราไม่อาจเข้าไปศึกษาโดยตรงแล้วกลับมารายงานได้จึงต้องอาศัยศึกษาจากภาวะใกล้ตายแทน หนังสือเล่มนี้ผู้เขียนอาศัยประสบการ์ที่ได้จากการศึกษาผู้ป่วยกว่า 200 คน ในระยะเวลาสองปีครึ่ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้ายผลการศึกษาทำให้สรุปได้ว่าผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะใกล้ตายแสดงปฏิกิริยาต่อภาวะที่ประสบอยู่ต่างๆกันเป็น 4 ระยะด้วยกัน

ระยะที่หนึ่ง-ไม่ยอมรับความจริงและเก็บตัว

ผู้ป่วยส่วนมากเมื่อแรกรู้ว่าเป็นโรคที่จะทำให้เสียชีวิตในระยะเวลาอันใกล้จะแสดงปฏิกิรินาไม่ยอมรับความจริง ปฏิกิริยาเช่นนี้จะเกิดขึ้นไม่ว่าผู้ป่วยจะรู้ผลการวินิจฉัยโรคจากคำบอกเล่าอย่างตรงไปตรงมาของแพทย์หรือผู้ป่วยจะรู้โดยอ้อมจากผู้อื่น ปฏิกิริยาจะแสดงออกเป็นพฤติกรรมต่างๆ เช่น กล่าวหาว่าแพทย์วินิจฉัยผิด เอกซ์เรย์ที่เอามาให้ดูอาจสลับกับผู้ป่วยรายอื่น รายงานทางพยาธิวิทยาอาจจะไม่ถูกต้อง ถึงแม้แพทย์จะเอาหลักฐานมายืนยันก็ไม่ยอมเชื่อ การที่ผู้ป่วยพยายามไปตรวจที่โรงพยาบาลหลายๆแห่งก็เป็นส่วนหนึ่งของปฏิกิริยานี้

สิ่งที่เราควรจะทราบเกี่ยวกับปฏิกิริยาไม่ยอมรับความจริงก็คือ

1) ปฏิกิริยาเช่นนี้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยทุกรายไม่มากก็น้อย บางรายเป็นๆหายๆ เคยเชื่อแล้วต่อมาก็ไม่เชื่ออีก คงเนื่องจากไม่อยากตายนั่นเอง

2) ปฏิกิริยานี้จะเกิดขึ้นรุนแรงในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับคำบอกเล่าผลการวินิฉัยโรคอย่างกระทันหันโดยที่ผู้ป่วยยังมิได้เตรียมตัวเตรียมใจพร้อมที่จะรับฟังความจริง

3) การไม่ยอมรับความจริงเป็นเพียงวิธีการป้องกันตัวชั่วคราวของผู้ป่วย หลังจากนั้นจะเป็นการยอมรับความจริงอย่างน้อยก็เป็นบางส่วน การไม่ยอมรับความจริงเลยจนวาระสุดท้ายนั้นมีน้อยมากพบเพียง 3 รายในผู้ป่วย 200 ราย

4) หลังจากแสดงพฤติกรรมไม่ยอมรับความจริงแล้ว ผู้ป่วยบางคนจะเก็บตัวไม่อยากพูดกับใคร หากผู้เกี่ยวข้องทอดทิ้งผู้ป่วยก็จะยิ่งทำให้ผู้ป่วยเก็บตัวมากขึ้น หลักการแก้ไขก็คือพูดกับผู้ป่วยในเรื่องที่ผู้ป่วยอยากพูด แล้วในที่สุดผู้ป่วยก็จะผ่านพ้นระยะนี้ไป

ระยะที่สอง-โกรธ

เมื่อปฎิกิริยาไม่ยอมรับความจริงไม่อาจจะใช้ได้ต่อไปอีกแล้วก็ถูกแทนที่ด้วยปฏิกิริยาที่แสดงถึงความรู้สึกโกรธ เดือดดาล อิจฉา ไม่พอใจ ความรู้สึกเช่นนี้จะแสดงออกได้ทุกรูปแบบต่อทุกสิ่งทุกอย่างแม้แต่เรื่องเล็กน้อย ทำความลำบากใจให้แก่ญาติ และผู้ดูแลรักษายิ่งกว่าระยะของการไม่ยอมรับความจริง

ถ้าเรามองปัญหาจากทางด้านของผู้ป่วยก็คงจะพอเข้าใจได้ว่า ผู้ป่วยรู้ตัวว่าชีวิตของตนจะต้องสิ้นสุดลงในเวลาอันใกล้นี้แล้ว งานที่ทำไว้ก็ยังไม่เสร็จ เงินที่เก็บสะสมไว้ก็คงไม่มีโอกาสได้ใช้ ขณะที่ตนกำลังนอนทุกข์ทรมานอยู่ คนอื่นๆกลับสุขสบาย คนอื่นมีแต่มาทำความลำบากให้ตน ห้ามนั่นห้ามนี้ รักษาเท่าไหร่ก็ไม่ดีขึ้นแล้วต้องยังมาเจาะเลือด บ่อยๆ นอกจากจะบ่นทำนองนี้แล้ว ผู้ป่วยมักจะเรียกร้องขอนั่นขอนี้ซึ่งเป็นการแสวงหาความสนใจจากผู้ที่อยู่ใกล้นี่เอง

ปฏิกิริยาตอบโต้จากผู้ดูแลรักษาและผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยจึงเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราคิดว่าผู้ป่วยโกรธเราจริงๆ และไม่พอใจเราอย่างไร้เหตุผลแล้วก็จะเกิดความรู้สึกไม่พอใจโกรธตอบ และทอดทิ้งผู้ป่วยไปก็ยิ่งจะทำให้ผู้ป่วยวุ่นวายใจและแสดงความโกรธมากขึ้น ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติของผู้ป่วยในระยะนี้ ในเวลาและให้ความสนใจแก่ผู้ป่วยตามสมควร เสียงบ่นของผู้ป่วยจะน้อยลงและหายไปในสุด

ระยะที่สาม-ขอต่อรอง

หลักจากพยายามหลีกเลี่ยงไม่ยอมรับความจริงในระยะแรกและเปลี่ยนมาเป็นโกรธในระยะที่สองแล้วผู้ป่วยอาจจะคิดได้ว่า หากหลีกเลี่ยงไม่ได้จะต้องตายจริงๆ ก็ขอให้ได้อยู่ต่อไปอีกสักระยะหนึ่งก็ยังดี เป็นความพยายามที่จะประวิงเวลาออกไป ผู้ป่วยอาจจะแสวงหาความหวังจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือการรักษานอกแบบอื่นๆ ระยะนี้จึงเป็นระยะที่มีประโยชน์ต่อผู้ป่วยแม้จะเป็นช่วงเวลาอันสั้นก็ตาม

ระยะที่สี่-ซึมเศร้า

เมื่อความเจ็บป่วยดำเนินต่อไป อาการมากขึ้นต้องอยู่โรงพยาบาลหลายๆครั้ง ผอมลงอ่อนเพลีย ยากที่จะปฏิเสธความจริงเกี่ยวกับความเจ็บป่วยของตนต่อไปได้อีกแล้วเห็นแต่ความสูญเสีย ตั้งแต่อวัยวะที่อาจจะถูกผ่าตัดออกไป เสียค่าใช้จ่ายและเสียความสามรถที่จะทำงานได้ สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุเพียงพอที่จะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการซึมเศร้า

สิ่งที่ควรเข้าใจ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยได้ถูกต้องก็คือความซึมเศร้าของผู้ป่วยในระยะนี้มีได้ต่างกันเป็น 2 แบบกล่าวคือ แบบหนึ่งเป็นความซึมเศร้าที่เกิดจากความสูญเสียที่ผ่านไปแล้วเช่น เสียอวัยวะ เสียเงิน การช่วยเหลือผู้ป่วยอาจทำได้โดยการให้กำลังใจ ชี้ให้มองในแง่ดีที่ยังเหลืออยู่ แบบที่สองเป็นความซึมเศร้าที่เตรียมรับความสูญเสียอันยิ่งใหญ่คือเสียชีวิตการปล่อยให้ผู้ป่วยระบายความเศร้าดีกว่าที่จะปลอบไม่ให้เสียใจ การแสดงความเห็นใจด้วยการอยู่เป็นเพื่อนเงียบๆได้ผลดีกว่าการพูด

ระยะที่ห้า-ยอมรับความจริง

ถ้าผู้ป่วยมีเวลามากพอคือไม่เสียชีวิตก่อนในเวลาอันสั้น และได้รับความช่วยเหลือผ่านระยะต่างๆก่อนหน้านี้ไปด้วยดีผู้ป่วยก็จะมาถึงระยะที่เลิกไม่เชื่อ เลิกโกรธ เลิกซึมเศร้า เพียงแต่รู้สึกอาลับที่จะต้องด่วนจากโลกนี้ไป ในระยะนี้ผู้ป่วยมักจะเหนื่อยง่าย และอ่อนเพลียมากแล้วอยากอยู่ตามลำพังจริงๆไม่ต้องการคนเยี่ยม สนใจกับเรื่องราวต่างๆน้อยลงนอนหลับเป็นส่วนมาก ระยะนี้ผู้ป่วยต้องการความช่วยเหลือน้อย ญาติของผู้ป่วยเสียอีกทีจะกระวนกระวายต้องการความช่วยเหลือมากกว่า

มีผู้ป่วยบางรายที่ขอสู้จนวาระสุดท้าย พยายามที่จะรักษาความหวังไว้เต็มที่จนไม่อาจจะเข้าสู่ระยะยอมรับความจริงได้ แม้โรคจะเป็นมากเกินกว่าที่จะแก้ไขแล้วก็ตาม แพทย์ผู้ดูแลรักษาและญาติผู้ป่วยประเภทนี้มักเห็นว่าผู้ป่วยเป็นคนเข้มแข็ง และมักจะสนับสนุนให้ผู้ป่วยสู้ต่อทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าหากยอมแพ้ก็จะเป็นคนขลาดทั้งจะทำให้ผู้อื่นผิดหวังจึงคิดสู้ต่อทั้งทีอึดใจหนึ่งพร้อมที่จะยอมรับความจริงแล้วก็ตาม การสนับสนุนให้ผู้ป่วยสู่ในระยะที่ไม่สมควรจึงอาจจะเกิดโทษมากกว่าคุณ ในทางตรงข้ามหากผู้ป่วยบางรายยอมแพ้เร็วเกินไปไม่ยอมรับการรักษาในขณะที่โรคยังอยู่ในระยะที่ยังรักษาให้ทุเลาได้ กรณีเช่นนี้ต้องแยกให้ดีจากระยะยอมรับความจริง

สรุป

ปฏิกิริยาของผู้ป่วยในระยะต่างๆที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ ทางจิตวิทยาถือเป็นวิธีการป้องกันตน(Defense mechanism) ที่บุคคลใช้จัดการกับสถานการณ์ที่ลำบากยิ่ง (ในที่นี้คือความตาย) วิธีป้องกันตนดังกล่าวนี้ผู้ป่วยแต่ละรายใช้แต่ละระยะนานไม่เท่ากัน และบางรายอาจจะอยู่ในสองระยะซ้อนกันได้ มีข้อที่สังเกตอยู่อย่างหนึ่งว่าในทุกระยะจะมีสิ่งหนึ่งคงอยู่ด้วยเสมอคือ ความหวัง แม้ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะยอมรับความจริงแล้วก็ยังแสดงให้เห็นว่ามีความหวังพิเศษซ่อนอยู่แม้จะรู้อยู่ว่ามีความเป็นไปได้น้อยมากก็ยังขอหวังไว้ เช่นหวังว่าสักวันหนึ่งจะมีคนค้นพบยาใหม่ หรือวิธีการรักษาใหม่ๆ ที่อาจจะช่วยชีวิตตนได้ความหวังนี้เป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงให้ผู้ป่วยรักษาชีวิตของตนไว้ทนต่อความยากลำบากอยู่ได้นานเป็นวันเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือนเพื่อรอคอยวันนั้น แพทย์ไม่จำเป็นจะต้องโกหกผู้ป่วยเพียงแต่แสดงความเห็นด้วยว่าความหวังของผู้ป่วยนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เพียงแค่นั้นก็นับว่าเพียงพอแล้วสำหรับผู้ป่วยที่แสวงหาความหวังไม่มีอะไรจะเจ็บปวดยิ่งกว่าได้ฟังคำว่าหมดหวังแล้ว.

ชีวิตมันกำไรแล้ว

           แดกร้อนมากในบ่ายวันนี้ผมขับรถสิงห์โต(ลูกชายผมเรียก)คู่ใจของผมจากกรุงเทพฯถึงทางแยกพนมสารคาม ฉะเชิงเทราเลี้ยวซ้ายเข้าไปทางเกาะขนุน ผ่านคลองส่งนำชลประทานตรงไปวัดหนองเสือเลี้ยวขวาผ่านหน้าโรงเรียนบ้านหลังแรกชั้นเดียว มีผู้คนนั่งอยู่กับพื้น 8-9 คน ผมทักท้ายทุกคนที่เป็นพี่ๆ ของคนที่ผมจะเข้าไปเรียนรู้ ผมนั่งลงกับพื้นฟังเรื่องราวของ น้าสมัย กองแก้ว

          สิบสามปีมาแล้วที่ หมอที่โรงพยาบาลเมืองบอกน้าว่าน่าจะอยู่ได้อีก 7-8 ปี และตอนนี้ก็อยู่ได้เป็นปีที่ 13 แล้ว หมอคนนั้นไม่รู้ว่าไปอยู่ไหนแล้ว เมื่อปีที่แล้ว เดือน เมษายน น้าก็ไปผ่าเอาเนื้อร้ายที่ลำไส้ ใหญ่ออกอีก นอนโรงพยาบาลที่โรงพยาบาลเมืองฉะเชิงเทรา เดือนเศษ ทุกอย่างเรียนร้อยดี น้าถามหมอว่าอีกนานแค่ไหน หมอบอกว่าไม่เกิน 2 ปี และก็ไปหาคุณหมอทุกเดือน ยังไม่ทันครบปีเลย คุณหมอก็ลาออกไปไปแล้ว หมอคนใหม่ก็รักษาต่อให้ ยาอะไรไม่รู้ หมอให้มากินเดือนแรกก็ดีนะอาการออกนิดหน่อย ตอน2 อาทิตย์ก่อนยาจะหมดผิวหนังที่มือ และเท้าแตก เป็นสะเก็ด ผิวหนังบาง ที่สำคัญคือกินข้าวได้น้อย หมดยาแล้วก็กินได้ตามปรกติ แต่มาถึงเดือนที่ 2 นี้สิก่อนยาจะหมอสักอาทิตย์อยากจะหยุดยาเลย แต่ก็ฝืดก่นยาจนหมด ถึงแม้ว่าบางมื้อจะไม่ได้กินข้าวเลย มันไม่อยาก เหม็นอาหารทุกอย่าง เกือบยืนไม่อยู่ ยาหมด 2 วันแล้วยังกินอะไรไม่ได้เลย ท้ายสุดข้าวเหนียวนึ่งก็ทำให้ชีวิตเรากลับมาได้อีก มีคนบอกน้าว่าทางภาคอิสานตอนแพ้ท้องข้าวเหนียวเปล่าๆนี้แหละที่ทำให้เขามีกำลังมากขึ้น เหมือกุศลของเราที่มีคนมา บอก มาเดือนนี้หมอก็ให้ยามาทาบอีก แต่น้าเลือกที่จะทานอาหารให้ได้ก่อนสัก 2 อาทิตย์ และจะกลับมาทานยาตามที่คุณหมอที่โรงพยาบาลให้มา

      อาทิตย์แรกผ่านไปด้วยดีอาการออกนิดหน่อย ในใจน้าคิดว่าหากเป็นมากก็ต้องกินข้าวเหนียวสู่ หากไม่ไหวจริงๆ ก็ต้งไปหาหมอเพื่อขอหยุดยา น้าฝึกสติให้ระลึกรู้ในสิ่งที่ตัวทำทุกขณะตรงนี้ช่วยน้าได้มากเลย เอาละมันเกิน 8 ปีแล้วกำไรแล้วละ น้านับเดือนวันแล้วอย่างก็เกิน 2 ปี น้าคุยกับมันทุกวัน หากชีวิตน้าจากไป มันไม่มีที่อยู่แน่ มาอยู่กันอย่างสันตินะ น้าก็อยู่ มะเร็งก็อยู่คู่กันไปอย่างนี้...

       คุณน้าสมัย กองแก้ว อายุ 60 ปี (ผมอนุญาตจากท่านแล้ว)ที่เป็นมะเร็งเต้านมซ้ายตัดเอาออก ไปเมื่อ 13 ปีที่แล้ว และผ่าเอาก้อนเนื้อที่ลำไส้ใหญ่เมื่อ เมษายน 2550 ตอนนี้ผมมีโอกาสที่เข้าไปเรียนรู้การนำพาผู้ป่วยครับ

แบ่งปันประสบการณ์กันบางนะครับ

บทเรียนนี้ผมทำเอาไว้เมื่อปีที่แล้วตอนที่ลงไปเรียนรู้กับโรงพยาบาลในภาคอิสาน ผมเอามาแบ่งปันกัน เป็นเรื่องเล่าครับ

ตอน "บททดสอบที่ไม่ต้องประเมิน"

........ลองทำอย่างที่พี่บอก "หากเห็นคนไข้เป็นทุกข์และได้เป็นส่วนหนึ่งในการบำบัดทุกข์ นั้นคือความเป็นมนุษย์ของคนธรรมดาที่เบื้องหลังเป็นหมอ" "เราเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย กับทุกๆคน แล้วน้องต้องการอะไรอีก" "เราเพิ่มทุกข์ให้แก่ผู้ป่วยอีกหรือเปล่า ในขณะที่ให้การรักษาโรค หมอรักษาส่วนที่ผู้ป่วยเป็นหรือทั้งร่างกาย จิตใจ จิตวิญญาณ" "ที่นี้เราอยู่กันแบบพี่น้อง เป็นญาติกันหมด เราเป็นลูกเป็นหลาน พี่ ป้า น้า อา เป็นสรรพนามที่คนในโรงพยาบาล เราและผู้ป่วยเรียกขานกันทำให้เกิความใกล้ชิด และไว้วางใจซึ่งกันและกัน นานๆจะได้ยินคำว่าหมอออกมาจากผู้ป่วยและญาติ" เป็นคำพูดของผู้อำนวยการที่ปฐมนิเทศแก่เจ้าหน้าที่ พยาบาลใหม่ 10 คน และหมอ 2คน และทุกคนก็เริ่มทำงานทุกคำพูดดังอยู่ในสมองหมอตลอดเวลา

.......ผู้ป่วยหญิงอายุ 38 ปี เป็นมะเร็งระยะสุดท้ายเพิ่งย้ายกลับมาจากโรงพยาบาลมหาราช เดินทางมาด้วยตนเองกับญาติ เกือบสี่โมงเย็นแล้ว ผู้ป่วยรู้ตัวดี มาโดยลำพังไม่มีญาติมาด้วย(แวะลงเข้าบ้านก่อน) ป้าบอกว่าแม่ห่วงหลานที่ได้ทิ้งไป 2 วัน(ฝากเพื่อนบ้านไว้)เดียวจะตามมา ผู้ป่วยบอกหมอเมื่อถูกถามถึงญาติ ดูจากใบส่งตัวและอาการคนไข้แล้วคงจะไม่นาน ผู้ป่วยยังพูดได้อย่างชัดถัอยชัดคำ เดินได้แต่สังเกตเห็นความอ่อนแรงได้อย่างชัดเจน คงพยายามมากในการช่วยตนเอง แผลที่ใต้รักแร้ขวามีหนองออกมาตลอดเวลา และมีกลิ่น "เรามีห้องแยกสำหรับผู้ป่วยมั้ย?" "มีความจำเป็นต้องเอาไว้ห้องเดียวค่ะ” “ตอนนี้มีว่างอยู่” เสียงพยาบาลสื่อสารหมอขณะเปิดหน้าจอคอมพิวเตอร์ “เอาป้าเข้าไปนอนพักก่อน โทรบอกโภชนาการ ขออาหารให้ผู้ป่วยด้วยนะพี่ หากญาติมาแล้วตามหนูด้วย” หมอบอกพี่พยาบาล ประมาณทุ่มน่าจะได้ เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น “น้องญาติคนไข้มาแล้วค่ะ” พี่พยาบาลที่ตึกโทรบอกหมอที่บ้านพัก ขอบคุณค่ะ เมื่อขึ้นมาเยี่ยมผู้ป่วย เห็นแม่กอดลูก 2 คนร้องไห้ หลังจากที่ที่ไม่ได้พบกัน 2 เดือนที่แม่ไปรักษาตัวในเมือง ทุกคนหยุดร้องเมื่อเห็นหมอเปิดประตูเข้ามา......

... “ร้องเถอะป้า ร้องเถอะลูก” เสียงคุณหมอทักทาย “สวัสดีหมอซิลูก” แม่บอกให้ลูก อายุ 12 ปี และ 9 ปี ไหว้คุณหมอ “สวัสดียาย” “คุณพระคุ้มครอง” แม่ผู้ป่วยวัย 60 ปี และหมอ ทักทายกัน"หนูกับน้องจะมานอนกับแม่ได้ไหมค่ะ" "ได้ซิลูก" หมอตอบพร้อมทั้งหันไปยิ้ม เด็กทั้ง 2 ยกมือไหว้พร้อมทั้งกล่าวคำขอบคุณ นอกจากการรักษาตามแผนที่โรงพยาบาลมหาราชเขียนมาแล้ว หมอได้มาเยื่ยมผู้ป่วยรายนี้เป็นรายแรก และสุดท้ายของทุกวัน(เดินผ่านจากบ้านพักมาอาคาร รพฺ.) และตอนกลางวันและแวะมาเยี่ยมผู้ป่วยเสมอ ในห้องพิเศษเป็นบ้านของผู้ป่วยที่อยู่รวมกันทั้งแม่ของผู้ป่วย และลูกๆทั้ง 2 ได้ทานอาหารร่วมกันทุกๆวัน พี่ๆพยาบาลจะแบ่งปันอาหารและขนมมาให้เด็กๆและคุณยายเสมอตามที่หมอสังเกต มีเพื่อนนักเรียนของลูกแวะเวียนมาเยี่ยมผู้ป่วยเกือบทุกวัน และบางวันก็มีคุณครูมาด้วย ผู้ป่วยรายนี้อยู่กับเรา 39 วัน คนในตึกมีความผูกพันธ์กันมากทั้งลูก และแม่ของผู้ป่วย บางวันหมอมาประชุมที่ในเมือง หรือมากรุงเทพๆก็คิดถึงในใจคิดว่า อย่าจากไปก่อนนะรอหมอให้ทำหน้าที่ของตนเองให้มากกว่านี้ก่อน และวันสุดท้ายก็มาถึง เช้าวันหยุดพี่พยาบาลบอกว่าผู้ป่วยเริ่มที่จะบอกฝากให้ช่วยดูลูกๆ 3-4 ครั้ง และฝากขอบคุณทุกคนที่เอาใจใส่ดูแลตนเองและแม่ หมอและพี่พยาบาลอีก 3 คน พร้อมลูกและแม่ผู้ป่วยอยู่กันพร้อมหน้าทุกคน......

.........ที่หอผู้ป่วยทีมเราดูแลผู้ป่วยทุกรายเหมือนกัน คือการเอาใจใส่ดูแลเสมือนญาติ กรณีของคุณป้าทีมเราจะคิดเสมอว่าหากเป็นเราและต้องการอะไร จะมีคำตอบให้เราดำเนินการต่อทุกครั้งที่เราติดขัดที่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ผู้ป่วยรายนี้เช่นเดียวกัน หมอ พยาบาลมิใช่เฉพาะตึกเราเท่านั้นที่ได้มีส่วยร่วมในการดูแลรักษา ที่เน้นทางด้านจิตใจทั้งผู้ป่วยที่กำลังจะจากเราไป(เราในที่นี้ได้รวมแม่ ลูกผู้ป่วย และเพื่อนบ้านที่มาเยี่ยม) จากประสบการณ์ของทุกคนเราคุยกันและถามกันว่าหากเป็นเรา เราต้องการอะไรมีคำตอบมากมาย เราให้ทีมซึ่งมีพี่พยาบาล 2 คนและตัวหมอเองนำคำตอบของทีมไปเรียนรู้กับผู้ป่วย และเราพบว่าคำตอบมีมากกว่าที่เราคิด และเราเริ่มที่จะตอบสนองความต้องการของผู้ป่วย และก็พบทางที่ต้องเลือกมากขึ้นเมื่อเราเอาความคาดหวังของผู้ป่วยมาเรียนรู้กับแม่ และลูกทั้ง 2 คน "แม่อยากเห็นลูกมีคุณค่าได้สร้างสิ่งดีๆไว้ให้สังคมที่ตนเองอยู่ และช่วยดูแลยาย ตลอดจนพี่ๆป้าๆที่โรงพยาบาล" แม่และลูกผู้ป่วยอยากเห็นแม่จากไปอย่างไม่เจ็บปวดและอยู่ในบรรยากาศที่อยู่กันพร้อมหน้าของทุกคน ทีมเราได้มีโอกาสได้ช่วยทำให้เกิดสิ่งต่างๆเหล่านั้น แต่การเริ่มต้นที่สับสนและลูกสาวตนโตก็เป็นผู้ไขปริศนา ก่อนหมอจะกลับบ้านทุกวันได้แวะเยี่ยมผู้ป่วยและเห็นภาพว่าลูกคนโตกำลังอ่านนิทานให้แม่ฟังทุกวันจนแม่หลับ เธอหันมาหาพร้อมกับยกมือไหว้ "สวัสดีค่ะคุณน้า หนูจะไปอ่านนิทานให้ป้าๆยายๆที่นอนป่วยอยู่ข้างนอกฟังได้มั้ยค่ะ" “ได้ซิถ้าหนูต้องการ” เป็นคำจากหมอและหมอก็เดินกลับไปที่ห้องพยาบาล และแจ้งความจำนงค์ของหนูน้อยของพวกเรา มีหลายเตียงที่ไม่มีญาติเฝ้า แล้วทีมเราไปถามผู้ป่วยได้รับคำตอบที่ดีทุกคนที่เราได้ถาม และเป็นวันแรกที่เธอได้มาอ่านนิทานให้ผู้ป่วยรายอื่นฟัง มีผู้ป่วยสูงอายุ 3-4 รายที่เป็นขาประจำของเธอ เสียงเธอเบามากไม่รบกวนผู้ป่วยรายอื่นๆ แม่ของหนูน้อยมารู้หลังจากนั้นน่าจะ 10 วันหลังจากที่เธอได้ไปอ่านมาแล้ว ทุกวันน้าๆและป้าพยาบาลจะนำเงิน 20 ถึง 50บาท มาให้ไว้ที่แม่ของเด็ก และบอกว่าว่าน้องออกไปทำประโยชน์เล่านิทานให้ป้าๆที่นอนป่วยอยู่ฟังทุกวันเป็นสิ่งตอบแทน และสองคนยังได้ช่วยน้าๆ ป้าๆในห้องพยาบาลพับผ้าก๊อส พันสำลีในเกือนทุกวัน เสาร์ อาทิตย์มีเพื่อนมาเยี่ยมแม่ ก็จะมาช่วยกันทำให้ตึกต่างๆด้วย เราเห็นรอยยิ้มของแม่ที่มีลูกและได้ช่วยเหลืองานโรงพยาบาล และคนอื่นๆ “ไปรบกวนคนอื่นหรือเปล่าค่ะ” ผู้ป่วยถามพยาบาลด้วยความเกรงใจ ไม่หรอกน้องเข้าได้บุญด้วย และหลังจากนั้นเงินที่ได้ส่วนหนึ่งลูกจะเก็บเอาไว้ทำบุญให้แม่ และแบ่งเอาไปชื้ออาหารเป็นชุดที่มีขายในโรงพยาบาลให้แม่ และยายจบ(อธิฐาน) และสองพี่น้องเอาไปใส่บาตที่หน้าโรงพยาบาลทุกเช้า ที่แม่เคยทำก่อนป่วยหลังจากพ่อเกิดอบัติเหตุ เสียชีวิตเมื่อ 3 ปีก่อน .........และน่าจะ 5 วันสุดท้ายทีมเราได้นิมนต์พระเข้ามาบิณฑบาตที่ห้องของผู้ป่วย และตามเตียงผู้ป่วยรายอื่นๆ ทำให้ทุกอาทิตย์ในวันพุธที่ไม่ตรงกับวันพระจะมีพระเข้ามาบิณฑบาตรในโรงพยาบาลของเรา (เป็นสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการ)

ตอนแรกๆ ทีมให้ยาแก้ปวดบ่อยมากวันละ 2-3 ครั้ง และค่อยลดลงใน 10 สุดท้ายและ 3 วันสุดท้ายผู้ป่วยไม่แสดงความเจ็บปวดเลย

การเตรียมตัวผู้ป่วย........ “ได้คุยกับแม่และยายเกี่ยวกับแม่อย่างไรบ้าง” หมอ พี่พยาบาลหัวหน้าตึก และพี่พยาบาลเวรได้ถามลูกสาวทั้ง 2 คน “เราคุยเรื่องนี้กันเกือบทุกวันตั้งแต่แม่ย้ายกลับมาจากในเมือง แม่รู้ว่าจะไปไหน และยังอยู่กับเราทั้ง 3 คน ถึงแม้วันนั้นจะไม่เห็น และได้กอดแม่อีก(น้องเล็กเข้าไปกอดพี่) แม่บอกให้เราเข้มแข็งตั้งใจเรียนหนังสือ ดูแลยาย และมาช่วยเหลือผู้ที่มีพระคุณต่อเราได้แก้ป้าๆ และน้าๆที่โรงพยาบาล”........ “หนู น้อง และยายกำลังคิดว่าจะทำอะไรให้แม่ดีใจบ้าง และจะช่วยแม่อย่างไรให้แม่ได้ไปพบ และได้ไปอยู่กับพ่อ ปู่ ย่า และตาที่ได้จากไปแล้ว” ........ “ป้าๆ น้าๆ จะช่วยยาย และเราทั้ง 2 ด้วยดีไหม” พี่หัวหน้าตึกบอกกับหลานๆทั้ง 2 คน ตาเด็กทั้ง 2 มีประกายที่เห็นว่าเรื่องที่เขาและยายคุยกันนั้นก็อยู่ในความสนใจของหมอและพยาบาลด้วย “พรุ่งนี้ตอนเช้า(วันหยุด)ชวนยายมาคุยกันดีมั้ย?” หมอให้ความเห็นกับทุกคน วันนี้เกือบสามทุ่มแล้วยายกำลังรอหนูกลับมานอน สวัสดีค่ะ สวัสดีค่ะ เป็นการลากันของทีมเรกับเด็ก 2 คนในคืนนั้น

.......ทีมเราคุยกันต่ออีกสักครึ่งชั่วโมง เพื่อเตรียมการในวันพรุ่งนี้........

......... “เมื่อคืนคนไข้เป็นอย่างไรบ้าง” พี่หัวหน้าตึกถามน้องถึงผู้ป่วยที่เราจะคุยกันในวันนี้.... “คนไข้ดีไม่ปวด แผลมีหนองออกมามากกว่าเมื่อวานนี้ มีเรื่องบ้างอย่างที่เรายังไม่รู้จากคุณยาย”

“มีอะไรหรือ” หมอถามกลับทันที่ “พวกเราสังเกตไหมว่าในห้องผู้ป่วย และบริเวณหน้าห้องพิเศษด้านนี้สะอาด กว่าอีกด้านหนึ่ง” เป็นฝีมือของคุณยาย ยายบอกว่าทำเพื่อตอบแทนหมอ และพยาบาลที่ได้มีจิตใจอารีต่อครอบครัว ใช้เวลาช่วงเช้าประมาณตีสี่ครึ่งของทุกวันก่อนที่จะกลับมาดูแลลูก และหลาน และทำเท่าที่ทำได้ตอนนี้ลูกช่วยตัวเองได้น้อยลง......

........."ยาย เข้ามาซิลูก" เสี่ยงเชื้อเชิญให้เข้ามาในห้องของป้าๆพยาบาล "แม่ทำอะไรอยู่คะ" "หลับค่ะคุณน้า หนูอ่านหนังสื่อธรรมให้แม่ฟังจนหลับ" พี่สาวตอบหมอ “หนูเอาเรื่องดีๆพวกนี้มาจากไหน” คุณยายบอกให้เราทำ

......... “ยายคิดว่าเรามีเวลาอีกเท่าไร” เป็นคำถามที่ตรงไปตรงมาที่อยากทราบความคาดหวังของญาติ แต่ก็ไม่ได้คิดว่าเด็ก 2 คนจะรับรู้สิ่งเหล่านี้ได้หรือไม่ ว่าสิ่งที่กำลังคุยกันนั้นเป็นวันที่จะไม่ได้เห็นหน้าและกอดแม่อีก.......เราประเมินก่อนแล้วว่าเด็กรับได้จากการที่ได้คุยกันเมื่อคืน ...... “ถึงจะไม่ได้เห็นและกอดแม่อีกแต่หนูรู้ว่าแม่ทรมานมากการที่แม่สงบนิ่งทำอะไรช้าลงหนูว่าใกล้ถึงเวลานั้นแล้ว” เราพึงรู้ว่าทุกคืนเด็ก 2 คนจะสลับกันไปนอนบนเตียงกับแม่ (ผู้ป่วยและเด็กตัวไม่ใหญ่นัก) “หากแม่ป่นปวดต้องบอกให้ป้าๆรู้ทันที่นะ จะได้ช่วยแม่ไม่ให้ทรมาน” “หนูอยากอยู่กับแม่ขณะที่ป้าทำแผล” “หนูอยากให้แม่ได้ใส่บาต” ได้สิลูกพี่หัวหน้าตึกบอกและทุกคนในห้องพยักหน้า “หากต้องการให้ป้าๆ น้าๆ ช่วยหนู เรื่องอะไรบอกนะค่ะ” หากแม่ตื่นเราจะไปให้กำลังใจแม่กันอีกครั้ง หมอกล่าวกับยาย และหนูน้อยอีก 2 คน

.........ครึ่งชั่วโมงต่อมา "น้าแม่ตื่นแล้ว" ลูกคนเล็กมาบอกที่ห้องพยาบาล เดี่ยวน้าไปนะ! พยาบาลโทรตามหมอ และพี่ๆพยาบาล ...... “วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง” พี่หัวหน้าตึกทักทายผู้ป่วย นำเสียงเบา และช้าลง “ขอบคุณทุกคนนะที่ให้การดูแลเป็นอย่างดี ดีที่สุดในชีวิตนี้ ไม่รู้จะตอบแทนอย่างไร” เป็นคำตอบที่เหมือนกับจะสื่ออะไรให้ทีมเราได้รู้ เราจะรออะไรอีกไม่ได้แล้ว ทีมเราขอบคุณผู้ป่วยที่ให้เราได้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ยายได้ทำประโยชน์แก่โรงพยาบาล ลูกๆช่วยเหลือโรงพยาบาล และผู้ป่วยรายอื่นๆที่ไม่มีญาติมาดูแล เราสังเกตเห็นแววตาที่มีความสุขของผู้ป่วย ทีมเราบอกผู้ป่วยว่าเราจะเอาเทปสวดมนต์มาให้ลูกเปิดให้ฟัง หากมีอะไรให้ช่วยก็บอกได้เลยเราเป็นครอบครัวเดียวกัน แล้วเราก็ไหว้เพื่อลา.....

......... “พี่ค่ะ หนูจะขออนุญาตให้พระเข้ามาบิณฑบาตที่ตึกผู้ป่วยนะค่ะ” หมอได้โทรศัพท์ปรึกษาผู้อำนวยการ “หากทีมเราว่าดีพี่ว่าให้มาเป็นประจำก็น่าจะดี” ขอบคุณค่ะเป็นคำตอบของหมอที่ได้คุยกับผู้อำนวยการ..........เราได้ตอบสนองความต้องการของผู้ป่วย ญาติทั้งทางร่างกาย และจิตวิญญาณแล้ว.......ความผูกพันธ์ของยาย และเด็กทั้งคู่เราพบกันทุกอาทิตย์หลังจากหนูน้อยทั้งสองมาเป็นอาสาสมัครอ่านนิทานให้ผู้ป่วยฟัง เธอมีลูกค้าทั้งเด็กๆ และผู้ใหญ่ ที่คอยเขาคิวฟังเธอในทุกวันหยุดทำให้เราได้อยู่กับความจริง ความดี ความงานอย่างที่สังคมพึ่งมี ..................

ยงยุทธ สงวนชม

วันนี้ของน้าสมัย

         เมื่อปลายเดือนที่แล้วได้มีโอกาสไปเยี่ยมผู้นำการเรียนรู้ของผมที่ฉะเชิงเทรา นำหนักขึ้นมาอีก 2 กิโลกรัมทำให้มีแรงมากขึ้นและดูแลตนเองได้ดี พร้อมทั้งย้ายออกมาจากบ้านพี่สาวที่คอยดูแลซึ่งกันและกันเมื่อน้องออกจากโรงพยาบาลมาใหม่ๆ "น้าไม่ได้กินยาของหมออีกเลยนะ กินแล้ว 2-3 มันแย่จริง เหมือนกับว่าเราต้องแยกจากกัน(มะเร็งกับน้าสมัย)" เป็นประโยคแรกที่น้าสื่อสารมาถึงผมก่อนที่ผมจะถาม "ดีแล้ว" ผมตอบไปอย่างสั้นๆ กับมาอยู่ตัวเองได้สักสิบกว่าวัน บ้านป้าเขามาหลาน อยู่กันหลายคน พอช่วยตัวเองได้ก็ออกมาเอาไว้จำเป็นจริงถึงกลับไปอีก(บ้านติดกันเพียงแต่มีถนนขั้นเท่านั้น) ตอนนี้เริ่มทำอะไรบ้าง เป็นคำถามชวนคุยของผม จริงๆก็คิดถึงลูก และหลานที่มาอยู่ในกรุงเทพฯ หากปล่อยเวลาเราก็จะคิดถึงเขามากไม่หยุดหย่อน ป้าก็ทำงานเล็กน้อยพอมาแรงทำได้ ทำสวน ปลูกผัก ตัดไม้เล็กที่ขึ้นตามรอบๆบ้านทั้งของตนเอง และบ้านพี่ๆน้องๆที่อยู่ติดกัน แดดจัดก็ไปอยู่ที่บ้านป้า ที่มีพี่น้องมานั่งล้อมวงคุยกันทุกวัน(ยังมีพี่ และน้อง อีก 7 คน) เป็นเรื่องที่น้าสม้ยเล่าให้ผมฟัง

      ผมเห็นป้ามีความสุขดี เราไม่ได้คุยเรื่องโรคที่น้าเผชิญอยู่เลยผมว่าน้าสามารถจัดการและอยู่กับมันได้ดี และไม่กังวล เรื่องยา มะเร็งน้าบอกว่าจะกลับไปบอกหมอว่าท่านไม่ได้ตอนที่หมอนัดต้นเดือนมิถุนายน นี้

 ผมได้เอาเรื่องราวดีๆที่ศูยน์มะเร็งมหาวชิราลงกรณ์ จากการประชุมโรงพยาบาลคุณภาพด้วยความรัก  มาฝากครับที่เข้ากับที่ผมไปเยี่ยมน้าสมัย

เมื่อรู้ตัวว่าต้องอยู่คู่กับเจ้า   ใจมันเฝ้ากังวลอยู่เสมอ

ว่าวันหนึ่งวันนั้นคงได้เจอ   วันที่เธอกับฉันต้องแยกทาง

ถ้ากูตายมึงก็ตายไอ้เพื่อนยาก   กูลำบากมึงลำบากเพื่อนของฉัน

เพราะมึงอยู่คู่กับกูทุกคืนวัน   เพราะฉะนั้นมึงอย่าทำให้กูตาย

 

แล้วก็มาถึงจุดหนึ่งของการเดินทาง

เช้านี้เป็นวันอาทิตย์ที่อยู่บ้านแบบสบายๆ ที่เมื่อวานได้ทำความสะอาดบ้านเรียนร้อยแล้ว เสียงโทรมือถือมีสัญญาณเข้ามาจากต้นทางที่บ้านน้าสมัย ความรู้สึกแรกรู้ว่า น้าได้เดินทางต่อไปยังที่ที่ได้เตรียมตัวไว้นานแล้ว ทำให้วันนี้ที่ฉะเชิงเทราของผม นอกจากไปเยี่ยมพ่อ แม่ พี่ๆ น้องๆ หลานๆ แล้ว และต้องไปเยี่ยมคารวะศพน้าพิสมัยที่ผมได้ไปเยี่ยมมาอย่างยาวนานตั้งได้รับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลฉะเชิงเทรา เมื่อ 2 ปีเศษมาแล้ว สำหรับผมแล้วเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2551 ผมก็ได้ไปเยี่ยมและสังเกตเห็นว่าคราวนี้ น้าอ่อนแรงลงไปอย่างมาก ผมแวะไปบ้านที่น้าเคยอาศัยอยู่ที่เป็นบ้านพี่สาวและได้ข่าวว่าไปอยู่บ้านตนเองที่อยู่ไม่ไกลเพียงข้ามถนนประมาณ 30-40 เมตรซึ่งพักอยู่คนเดียวพอได้ยินเสียงผมน้าก็เดินข้ามถนนมาหาในวันนั้น

ไปถึงบ่ายโมงเศษๆ ผมได้เข้าไปทันรดน้ำศพ ที่ญาติเอาศพไว้ที่บ้านและขอขมาที่ได้ล่วงเกิน  ซึ่งผมก็เคยพูดเล่นกับท่านหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายวันที่ 23 ที่ผ่านมา ท่านเดินข้ามถนนเพื่อมาคุยกับผมท่านอ่อนแรงลงไปมาก หลังจากคุยกันสักระยะ ผมคาดการจากประสบการณ์ของผมก็คาดว่าคงเร็วๆนี้อาจจะไม่เกิน 1-2 เดือนนี้ ผมถามว่ายังไม่ได้ทำอะไรอีกตามที่ผมคุ้นเคยกัยท่าน ท่านก็บอกว่าเตรียมตัวมานานแล้ว ทำอะไรไปมากแล้วและต้องทำบุญเพิ่ม ซึ่งผมก็ได้ทราบว่าหลังจากวันนั้นท่านก็ทำบุญเลี้ยงพระที่บ้านไปครั้งหนึ่ง ในบ้านหลักเล็กๆชั้นเดียวน้าก็อยู่คนเดียวและไม่ทราบว่ามีพี่น้อง หลานๆเข้ามาเยี่ยมบ้างหรือเปล่า พี่ น้องทุกหลังอยู่บ้านเป็นกลุ่มเดียวกันรั่วติดกัน ท่านคงจะเหงา และเศร้ามากที่เดียวที่อยู่คนเดียว เพราะในสมุดบันทึกของท่านมีข้อความว่า ฉันอยู่คนเดียว ทำให้พี่ๆ น้องๆ และหลานๆเมื่อเห็นแล้วทุกก็เศร้าอย่างที่น้ามีอยู่และของน้านั้นหมดไปแล้ว พี่ๆ น้องๆ และหลานๆ ผมก็ได้แต่แนะนำว่าเป็นบทเรียนที่ควรรับรู้ จดจำอย่างมีสติ และทำอย่างไรมิให้เกิดขึ้นกับพี่น้องคนหนึ่งคนใดอีก ตอนที่ท่านเสียชีวิตในตอนตีสอง สามี ลูก และหลานที่มาจาดกรุงเทพฯในตอนกลางวัน พร้อมทั้งพี่ๆน้องๆ อยู่กันอย่างพร้อมหน้า น้ามีอาการเหนื่อย นิดหน่อย หายใจช้าลงเหมือนคนนอนหลับจากทุกคนไปอย่างสงบ เหลือไว้แต่สิ่งที่น้าได้กระทำมา สำหรับผมเป็นบทเรียนของชีวิตอีกบทเรียนหนึ่งที่มีโอกาสได้นำพาบางช่วงของจิตใจน้าที่เข้มแข็งอยู่แล้วให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตัวเองจนวาระสุดท้าย.................แล้วผมก็กราบลาศพน้ากลับเข้ากรุงเทพฯตอนประมาณสี่โมงเย็น...................

 

.................................................................

น้าจากไปแล้วแต่เรื่องราวของน้าเป็นบทเรียนให้แกพยาบาลที่ได้ดูแล และผมได้รับเรื่องเล่าเรื่อง "วาระสุดท้ายด้วยหัวใจที่รอความหวัง" จากคุณสุพิชชา ทองประสิทธิ์ (พย.ม.) การพยาบาลผู้ใหญ่ พยาบาลวิชาชีพ 7 (ด้านการพยาบาล) งานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลพนมสารคาม ฉะเชิงเทรา

               ดิฉันจำได้ว่า  ในเวรเช้าวันหนึ่งขณะที่ดิฉันกำลังปฏิบัติงานที่ตึกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน   ดิฉันได้มีโอกาสพบและดูแลผู้ป่วยหญิงค่อนข้างสูงอายุ  วัยประมาณ 61 ปี  มาโดยเปลนอน  รูปร่างของคุณป้าค่อนข้างซูบผอม  ใบหน้าซีด  ดิฉันเข้าไปทักทายตามหน้าที่เนื่องจากยังไม่ทราบว่าคุณป้าเป็นอะไรมา   ดิฉันทักทายคุณป้าเหมือนผู้ป่วยทั่วๆไปที่เข้ามารับบริการ

   ป้าคะ  เป็นอะไรมาคะ

คุณป้าท่านนั้นตอบว่า

มาทำแผลที่หน้าท้อง  แหม  ไม่อยากเปิดให้ดูเลย มันน่าเกลี๊ยด น่าเกลียด

            คุณป้าเน้นเสียง  ท่าทีลุกลน  และคุณป้าเริ่มเปิดผ้าให้ดู  สิ่งที่ดิฉันพบคือ  แผลก้อนเนื้อบริเวณหน้าท้องด้านขวา ที่ยื่นออกมาทางหน้าท้องคล้ายดอกกระหล่ำปลี   ขนาดเท่าผลฝรั่ง  มีDischarge  ซึมชุ่ม   และมีกลิ่นเหม็น   เหม็นจนทำให้ดิฉันผงะ   แต่ยังคงดูแผลให้คุณป้าต่อไป  พร้อมรายงานแพทย์    แพทย์และดิฉันช่วยกันซักประวัติคุณป้า     คุณป้าบอกว่า  เมื่อประมาณปี 2541   คุณป้าตรวจพบมีก้อนเนื้อที่เต้านมข้างขวาขนาดเท่าหัวแม่มือของคุณป้า   และมาพบศัลยแพทย์ที่โรงพยาบาลพนมสารคาม   แพทย์ทำผ่าตัดและส่งไปตรวจชิ้นเนื้อพบว่ามีเซลล์ของมะเร็ง   แพทย์จึงส่งตัวคุณป้าไปยังศูนย์มะเร็ง  ที่จังหวัดชลบุรี   และให้เคมีบำบัดจำนวน  6  ครั้ง  และนัดทำผ่าตัดซ้ำในปี  2542   แต่เนื่องจากมารดาเสียชีวิต  คุณป้าจำเป็นต้องยุติการผ่าตัดตามนัดเนื่องจากหมดกำลังใจ          ต่อมาในปี  2549  คุณป้าเริ่มตรวจพบว่ามีก้อนในท้อง  บริเวณลำไส้  จึงต้องกลับไปทำผ่าตัดที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด  และให้ยาเคมีบำบัดต่ออีก 6 ครั้ง  และให้รับประทานยาต่ออีก 2 ปี  แต่คุณป้าไม่สามารถทนทานต่อฤทธิ์และอาการข้างเคียงของยาได้  เนื่องจากคุณป้ารับประทานอาหารไม่ได้  อาเจียน ร่างกายซูบผอมลง  หลังจากนั้นเคราะห์กรรมเหมือนยังไม่หมดไป  เมื่อเดือนกุมภาพันธ์   2551  คุณป้าพบว่าอยู่ดีๆก็มีก้อนเนื้อโผล่ยื่นออกมาทางหน้าท้องด้านขวา  และเริ่มโตขึ้นเรื่อยๆ  จึงกลับไปพบแพทย์คนเดิม  แพทย์ให้รับประทานยา  แผลแห้งดี  แต่สภาพของคุณป้าไม่สามารถต้านทานได้  คุณป้าเริ่มถ่ายเป็นน้ำทุก 1  ชั่วโมง   ริมฝีปากเปื่อย  มีน้ำเหลืองซึมเยิ้ม  รับประทานอาหารไม่ได้เลย   ตอนนั้นคุณป้าบอกว่ารู้สึกท้อแท้ หมดกำลังใจมาก  จนกระทั่งในที่สุดคุณป้าตัดสินใจหยุดยาเองเมื่อประมาณเดือนมิถุนายน   2551 และไม่กลับไปพบหมออีกต่อไป คุณป้าทนทำแผลเองบ้าง ให้หลานข้างบ้านทำให้บ้าง  จนอาการไม่ดีขึ้นจึงตัดสินใจเข้ามาโรงพยาบาล     ซึ่งเมื่อแพทย์ได้รับทราบประวัติจึงพิจารณาส่งตัวไปรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลจังหวัด   สถานที่ที่คุณป้าเคยผ่าตัดและรับการรักษา    ก่อนไปดิฉันได้ทำแผลให้คุณป้า  ถึงแม้ดิฉันจะผูก Maskไว้  แต่กลิ่นของแผลที่ขาดการดูแลเนื่องจากความกังวลและไม่กล้าเปิดเผยของผู้ป่วยทำให้สภาพของแผลค่อนข้างไม่ดีเท่าที่ควร   ดิฉันยอมรับว่า  รู้สึกคล้ายอยากอาเจียนใน  Mask  หลายครั้ง จนน้ำตาไหล เนื่องจากกลิ่นที่รุนแรงมาก  แต่พยายามฝืนไว้เพราะเกรงว่าคุณป้าจะเสียกำลังใจ

                เช้าวันรุ่งขึ้นดิฉันได้พบกับคุณป้าอีกครั้ง    ดิฉันตกใจจึงถามคุณป้าว่า

อ้าวป้า  เมื่อวานไม่ได้ไปหาหมอที่โรงพยาบาลจังหวัดเหรอคะ 

คุณป้าตอบว่า

  ไปมาแล้ว  หมอบอกว่าคงไม่ต้องทำอะไร  เพราะถ้าตัดเอาก้อนออก  เลือดจะออกมาก  และสภาพป้าคงจะทนไม่ไหว  

 ดิฉันรับทราบด้วยตนเองว่าหมอคงไม่กล้าบอกอะไรมากไปกว่านั้น  และทำแผลให้คุณป้าต่อไปทุกวันๆละ  2  ครั้ง  ซึ่งมาทราบภายหลังว่า  เด็กสาวคนที่ขับรถมอเตอร์ไซด์มาส่งคุณป้าทุกวันระยะทางเป็นสิบกิโลเมตรนั้นเป็นเพียงหลานสาวข้างบ้าน  ดิฉันจึงบอกว่า เอาอย่างนี้ไหมคะคุณป้า  หนูจะสอนหลานคุณป้าเปลี่ยนแผลให้ในตอนเย็นและทำเบิกอุปกรณ์ไปให้หลานสาวช่วยทำแผลให้   ป้าจะได้ไม่ต้องลำบากมาไกล   ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวประกอบด้วย  Top Gauze  ขนาดใหญ่     ก๊อสแผ่นและ   พลาสเตอร์  เพื่อให้หลานคุณป้าช่วยเปลี่ยนให้ในตอนเย็น  ไม่ให้น้ำเหลืองไหลซึม  ชื้นแฉะก่อให้เกิดความรำคาญเวลานอน   ดิฉันเฝ้าดูและพูดคุยกับคุณป้าทุกๆวัน  เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ  คุณป้าจะขอบคุณทุกครั้ง  และกล่าวชมเชยมาโดยตลอด   

                วันที่  6   พฤศจิกายน  2551  ดิฉันมองคุณป้าอย่างตกใจเล็กน้อย  เนื่องจากคุณป้ามีอาการบวมบริเวณขาทั้ง 2  ข้าง   และบ่นบวมตึงบริเวณหน้าท้อง  รับประทานอาหารได้เพียงมื้อละ  3-4  คำ   แต่คุณป้าก็อดทนมิได้ปริปากอะไรมากมาย   ดิฉันยังพูดให้กำลังใจเธอต่อไป

                วันที่  8   พฤศจิกายน  2551    คุณป้าใบหน้าซูบซีด   อิดโรยอย่างเห็นได้ชัด   ไม่ค่อยมีแรงแม้แต่จะเดิน   ขาทั้ง 2  ข้างยังบวมมาก   วันนี้ดิฉันให้คุณป้านั่งรถเพื่อขึ้นเตียงทำแผลและพบแพทย์ตรวจ   คุณป้ายังมองและฝืนยิ้ม  พูดคุยตลอดด้วยหัวใจที่มีแต่ความต่อสู้ต่อโรคร้าย   และเป็นเรื่องแปลกที่ดิฉันไม่เคยพบสามีและลูกของคุณป้าเลย   หลังแพทย์ส่งตรวจเลือดพบว่าคุณป้ามีภาวะซีด  ความเข้มข้นเลือดเพียง  18 %  แพทย์จึงบอกให้ป้านอนโรงพยาบาลเพื่อให้เลือด     หลังจากที่ดิฉันเลิกจากงานจึงกลับบ้านและไปเปลี่ยนเสื้อผ้าเพื่อไปเยี่ยมคุณป้าที่ตึกผู้ป่วยในหญิง   ดิฉันยังไม่ลืมซื้อนมไปฝากคุณป้าด้วย   เมื่อไปถึงเตียงคุณป้านอนหลับตา    กำลังได้รับเลือดเป็นถุงที่ 2   ข้างเตียงมีผู้หญิงสูงอายุกว่าคุณป้า  ผมสีดอกเลานอนฟุบอยู่ข้างเตียง   ทราบทีหลังว่าเป็นพี่สาวของคุณป้าเมื่อดิฉันไปยืนข้างเตียงคุณป้าตื่นลืมตาขึ้น  สายตาดีใจที่เห็นดิฉัน   ดิฉันจึงขออนุญาตพูดคุยด้วยและขออนุญาตคุยถึงเรื่องส่วนตัวเพิ่มเติม   คุณป้าทำท่ายันตัวจะลุกขึ้นนั่งและบอกว่า ยินดีมาก  จะได้เอาไว้เป็นที่ศึกษาของคนอื่น    ดิฉันจึงบอกว่าให้คุณป้านอนพักตามสบาย   สิ่งที่สนทนาและได้จากคุณป้าคือ  คุณป้าอยู่บ้านคนเดียว   สามีอายุ   70   กว่าปี  และมีโรคประจำตัวคือความดันโลหิตสูงและเบาหวาน  ไปอาศัยอยู่กับญาติที่กรุงเทพฯนานแล้ว  นานนานจะกลับมาเยี่ยมคุณป้าสักครั้ง   ส่วนบุตร  คุณป้ามีบุตรชายคนเดียวอายุประมาณ 30 ปี  เลิกกับภรรยาแล้ว  ทิ้งบุตรอายุประมาณ  7  ปีไว้ 1  คนและไปทำงานรับจ้างอู่ซ่อมรถที่กรุงเทพฯ ไม่ค่อยได้กลับมาบ้าน   ขณะพูดคุยคุณป้าจะกำพระเลี่ยมทองที่ห้อยคอไว้   ดิฉันจึงบอกว่าให้คุณป้าฝากกับญาติไว้เนื่องจากอาจมีพวกมิจฉาชีพแฝงตัวมากับญาติคนไข้   คุณป้าบอกว่า 

ป้าอยากมีพระไว้คุ้มครอง  ไม่อยากถอดออก 

ดิฉันจึงบอกว่า

ถ้างั้น หนูจะหาพระมาให้ป้าคล้องคอใหม่เอาไหมคะ  ไม่ต้องเลี่ยมทอง ปลอดภัยด้วย  คุณป้าบอกว่า

เอาซิ  แหมหนูใจดีจริงๆ     แต่ขอเป็นหลวงพ่อโสธรนะ  ป้าชอบ 

หลังจากนั้นคุณป้าเล่าเรื่องส่วนตัวว่าตอนนี้ทำกับข้าวกินเองไม่ไหว    ต้องอาศัยหลานและญาติๆข้างบ้านนำไปให้  แต่กินได้ไม่มาก  เลยไม่ค่อยมีแรง

                วันที่   9   พฤศจิกายน  2551    หลังให้เลือดหมด  แพทย์อนุญาตให้คุณป้ากลับไปพักผ่อนที่บ้าน   ดิฉันจึงเดินทางไปเยี่ยมคุณป้าที่บ้าน   ซื้อขนมครกไปฝาก สภาพบ้านของคุณป้าที่ดิฉันพบคือบ้านหลังคาเตี้ย  โบกปูนติดกับพื้น  ภายในบ้านมีฝุ่น  หยักไย่เกาะตามข้างฝาและหน้าต่างและรกมากพอควร  มุ้งเก่าดำ  รอบบ้านมีขยะ  ต้นกล้วยและตอไม้ค่อนข้างรกเนื่องจากอาการเจ็บป่วยจึงไม่สามารถดูแลตนเองและบ้านได้   คุณป้าให้ดิฉันนั่งที่เตียงไม้หน้าบ้านที่คุณป้าใช้นอนเล่นเวลากลางวัน  พื้นเบาะที่ปูเตียงเก่าและดำ  จนเห็นคราบสกปรก  พื้นทางเดินมีแต่ฝุ่น  แต่ดิฉันก็เข้าไปนั่งสนทนากับคุณป้าด้วยความเต็มใจ  ถามถึงอาการเจ็บป่วยของคุณป้าและให้กำลังใจ  คุณป้าดีใจมากที่เห็นดิฉัน  และบอกด้วยความรู้สึกปลงระคนท้อแท้ว่า

  ชีวิตคนเราจะไปกลัวอะไรกับความตาย    เดี๋ยวก็ตายแล้ว 

ดิฉันเฝ้าแต่ปลอบใจและให้กำลังใจ   ให้คุณป้าใช้ธรรมะเข้ามาช่วยปลดเปลื้องจิตใจ   สวดมนต์ก่อนนอน   พร้อมกับมอบหลวงพ่อโสธร  พระศักดิ์สิทธิ์ที่คุณป้าเคารพนับถือไว้เพื่อเป็นกำลังใจแก่คุณป้า    ซึ่งคุณป้าดีใจมาก ยกมือไหว้ดิฉันและพนมมือรับองค์พระไว้ทันที        เช้าวันต่อมาคุณป้ามาทำแผลและอวดองค์พระหลวงพ่อโสธรที่ดิฉันให้ไว้เมื่อวานนี้  และบอกว่าเธอสวมทันทีหลังจากที่ดิฉันกลับแล้ว    และทุกคืนคุณป้าจะนอนกำองค์หลวงพ่อพุทธโสธรไว้ในอุ้งมือและสวดมนต์ก่อนนอนทุกคืน   ดิฉันรู้สึกดีใจและปลื้มปิติเช่นเดียวกัน  ที่คุณป้าตอบรับความรู้สึกดีๆที่ดิฉันมีให้  แม้เพียงน้อยนิดก็ตามที      

จากวันนั้นดิฉันยังไปเยี่ยมคุณป้าที่บ้านอีกและได้มีโอกาสรับรู้สิ่งที่ค้างคาใจของคุณป้าคือ  บุตรชายมักจะโทรศัพท์มาบอกคุณป้าว่า  ….จะมาเยี่ยมแม่ …. หลังคุณป้ารับโทรศัพท์   ในทุกเย็นวันศุกร์คุณป้าจะนั่งเฝ้ารอการกลับมาของบุตรชายจนดึกดื่นและบ่อยครั้งที่เขาไม่กลับมาเยี่ยมแม่ตามสัญญา  ทำให้คุณป้าเสียใจและน้อยใจ   จนเดี๋ยวนี้ ถ้าบุตรชายโทรศัพท์มา คุณป้าจะไม่กล้ารับ   หลานสาวของคุณป้าบอกกับดิฉันว่าแกห่วงลูกชายมากและอยากให้ลูกมาเยี่ยมบ่อยๆ     ดิฉันจึงขอเบอร์โทรศัพท์ของบุตรชายคุณป้า(ซึ่งเคยเห็นดิฉันเข้าไปดูแลคุณป้ามาแล้ว)  และโทรศัพท์ไปขอร้องให้บุตรชายคุณป้าหาเวลากลับมาเยี่ยมคุณป้าบ่อยๆ  เนื่องจากคงเหลือเวลาที่เขาได้มีโอกาสอยู่กับแม่ของเขาอีกไม่นานนักและการให้กำลังใจในครั้งนี้อาจทำให้หัวใจที่กำลังรอความหวังของคุณป้าเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขในวาระสุดท้าย        และดิฉันคิดว่าสักวันหนึ่ง  …..ดิฉันจะได้เห็นสามีและลูกที่คุณป้ารักจะมาให้กำลังใจคุณป้าบ้าง……

เช้าวันที่  20  พฤศจิกายน 2551  คุณป้ามาทำแผลด้วยท่าทางอิดโรย  ญาติเดินประคองมาตลอด  ดิฉันจึงให้พนักงานเปลนำรถเข็นมาให้คุณป้านั่ง  และทำประวัติให้คุณป้าพบแพทย์ตรวจ  คุณหมออยากให้คุณป้านอนพัก  คุณป้าบอกว่าป้ายังไหว   ดิฉันเดินไปจับมือคุณป้าและถามว่า

ป้าเหนื่อยมั๊ยคะ    เพลียไหม   คุณป้าบอกว่า

เหนื่อยเหมือนกัน  แต่ยังไหว  แม้เสียงจะดูเข้มแข็ง  แต่ใบหน้าและดวงตาคุณป้าหม่นหมองมาก  

เช้าวันที่  21  พฤศจิกายน 2551  คุณป้ายังดูเหนื่อย  ปลายมือทั้ง 2 ข้างเริ่มบวมเปล่งขึ้น จนทำให้แหวนที่สวมอยู่เริ่มคับ    ดิฉันเข้าไปนั่งคุยและปลอบโยน   ให้กำลังใจ  และคืนนี้เป็นคืนที่คุณป้ารอคอยบุตรชายที่สัญญาว่าจะกลับมาเยี่ยม   ดิฉันถามคุณป้าว่า

ป้ากลับบ้านไหวไหมจ๊ะ   นอนโรงพยาบาลก่อนไหม  คุณป้าบอกว่า

ยังไหวจ๊ะ  แต่แววตาคุณป้าอ่อนล้าเต็มที   ดิฉันจับมือคุณป้าเบาๆ  สายตาส่งให้กำลังใจ คุณป้ายิ้มน้อยๆให้ดิฉัน   ดิฉันชมคุณป้าต่อว่า

เก่งจริงๆเลยป้า 

เย็นวันนี้แล้วที่ลูกชายของคุณป้าบอกว่าจะกลับมาเยี่ยมตามที่ได้โทรศัพท์บอกแม่ของเขาและบอกกับดิฉันเมื่อ  2  วันก่อน

และแล้ววันที่คุณป้ารอคอยมาตลอดเวลาก็มาถึงจริงๆ  เมื่อคืนวันศุกร์ที่   21  พฤศจิกายน 2551  ลูกชายคุณป้ากลับมาพร้อมด้วยหลานชายคนเดียวของคุณป้าอายุ 7 ขวบ  กลับมาหาคุณป้าที่บ้าน 

เช้าวันเสาร์ที่  22  พฤศจิกายน 2551  เวลาประมาณ  07.30  .  ดิฉันได้รับโทรศัพท์จากลูกชายคุณป้าว่า 

พี่นกหรือเปล่าครับ     ผมโย  ลูกป้าสมัยนะครับ  แม่เขานิ่งไปแล้ว ดิฉันรู้สึกตกใจและบอกกับลูกชายคุณป้าว่า

น้องโยเข้าไปพูดกับแม่ใกล้ๆหูนะ    อยู่เป็นเพื่อนแม่ใกล้ๆ     เดี๋ยวพี่จะไปนะ

ลูกชายเล่าให้ฟังว่า

  เมื่อคืนนี้   แม่เขาอาเจียน  ผมยังเอาถุงอ๊วกไปทิ้งให้  และแกบ่นเพลีย  ผมก็นอนอยู่ใกล้ ๆ แก     พอตื่นเช้ามาผมไปเรียก    แกนอนนิ่งไป

ดิฉันไปเยี่ยมคุณป้าที่บ้าน  เป็นการไปเยี่ยมคุณป้าครั้งสุดท้าย  ครั้งนี้คุณป้านอนหลับตาอยู่บนเตียง      หายใจนานๆครั้ง    ไม่มองหน้าดิฉัน  ไม่ยิ้มทักทายและดีใจเหมือนทุกครั้งที่เห็นดิฉัน  หลานคุณป้ารีบเข้าไปพูดใกล้ๆหูคุณป้าว่า

  ป้า    พี่นกมาแล้ว  พี่นกมาเยี่ยมป้าแล้วนะ  คุณป้าไม่ตอบ  นอนหายใจช้าๆดังเดิม   ญาติถามดิฉันว่า 

หมอ  ต้องเอาไปโรงพยาบาลไหม   ดิฉันตอบว่า  ไม่ต้องหรอกค่ะ  ให้คุณป้านอนหลับพักผ่อนอยู่ที่บ้านเถอะค่ะ  ญาติทุกคนของคุณป้าเห็นด้วยกับดิฉัน

พี่สาวคุณป้าบอกว่า    มันเคยบอกป้าไว้ว่า  ถ้าฉันใกล้ตาย  ฉันขอตายที่บ้านนะ  ไม่ต้องเอาฉันไปกดหน้าอก  ขย่มๆ  มันทรมาน    นี่คือพินัยกรรมชีวิต หรือ  Living  Will  ที่คุณป้าได้เคยสั่งเสียไว้กับญาติเมื่อครั้งยังมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์   

วันนี้ดิฉันมีโอกาสทำแผลให้กับคุณป้าเป็นครั้งสุดท้าย   ก่อนที่คุณป้าจะเสียชีวิตลงในวันที่  23  พฤศจิกายน 2551  เวลา  01.50.  ด้วยอาการสงบ

บทสรุป   

ผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรือผู้ป่วยใกล้ตาย  เป็นผู้ป่วยที่หมดหวังจะหายจากโรคและความเจ็บป่วยที่ไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ด้วยวิธีการใดๆ   แนวทางการดูแลจึงไม่ได้มุ่งหวังให้ผู้ป่วยหายจากโรคและมีสุขภาพดังเดิม  แต่เน้นให้ผู้ป่วยได้รับความสุขสบายมีคุณภาพชีวิตที่ดี  มีศักดิ์ศรีใช้ช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ให้มีค่าที่สุด ได้อยู่ใกล้บุคคลอันเป็นที่รักอบอุ่น หลุดพ้นจากความเครียดความวิตกกังวลและความเจ็บป่วยเพื่อจากไปอย่างสงบ  (วันดี  โภคะกุล, 2543)

โครงการดูแลด้านจิตวิญญาณผู้ป่วยระยะสุดท้ายและครอบครัว             ของโรงพยาบาลพนมสารคาม   มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบองค์รวม  ลดการให้การดูแลแบบแยกส่วน  และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการประสานงานระหว่างทีมสหสาขาวิชาชีพและพัฒนาแนวทางระบบการส่งต่อผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้ได้รับการดูแลที่บ้าน   ครอบครัวและชุมชน  และอยู่อย่างมีความสุขจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

                          .....................................................................

เป็นเรื่องที่ชัดเจนในประเด็นทางจิตวิญญาณมากค่ะ 

ทางโครงการจัดการความรู้ สุขภาวะระยะท้าย

ดำเนินการโดยสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย - THAPS

ขออนุญาตินำไปอ้างอิง ที่นี่ นะคะ

ในบันทึกเรื่อง การนำพาผู้ป่วยระยะสุดท้าย
ไม่ทราบว่าคุณหมอพอจะมีเทคนิค หรือวิธีแนะนำในการประเมินทางจิตวิญญาณไหมคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท