หลากหลายผีเสื้อจากที่บ้านขอมาโชว์ตัวบ้าง


ผีเสื้อที่เห็นนี้มาต่างช่วงเวลากัน แล้วแต่ว่ามีดอกไม้อาหารของเขาชนิดไหนกำลังอุดมสมบูรณ์ และเกือบทุกชนิดที่นี่เป็นผีเสื้อธรรมดาๆที่พบได้ชุกชุมทั่วไปหากสภาพนิเวศเหมาะแก่การอยู่อาศัยคือ มีต้นไม้ มีแสงแดด มีน้ำ มีลมพอดี มีอาหารพอเพียง

ตอนที่แล้วชมความมีเสน่ห์ของผีเสื้อหนอนใบรักลายเสือจากแถบร้อน งดงามไม่แพ้ ผีเสื้อโมนาร์ค จากแถบที่มีอากาศหนาวมากอย่างทวีปอเมริกา

ที่จริงผีเสื้อชนิดไหนก็สวยทั้งนั้น เห็นแล้วอัศจรรย์ใจกับการสร้างสรรค์ของธรรมชาติ ได้อ่านเรื่องของเด็กๆในค่ายฤดูร้อน ที่นี่ ของคุณครูเมษา ที่กำลงฟูมฟักหนอนผีเสื้อหลายชนิด รอวันความงามเผยโฉม เลยคิดว่าน่าจะนำผีเสื้อต่างๆที่พบเห็นที่บ้านอยุธยามาให้ชมกัน เด็กๆจะได้ลองเปรียบเทียบว่าผีเสื้อทางเหนือกับทางภาคกลางนี้เหมือนกันไหม และท่านผู้อ่านก็ยังจะได้เพลิดเพลินกับความงามที่หลากหลายจากผีเสื้อนานาชนิดที่จะมาโชว์ตัวคราวนี้

เด็กๆยุคนี้ฉลาดได้เรียนรู้วงจรชีวิตของผีเสื้อ ในอดีตโบราณกาล ไม่มีใครรู้มาก่อนว่าผีเสื้อมาจากไหน และไม่คิดว่าผีเสื้อกับหนอน เป็นสัตว์ประเภทเดียวกัน นักนิยมธรรมชาติคนหนึ่งชื่อ Pliny the Elder หรือ ผู้เฒ่าพลินี่ เข้าใจว่าหนอนมาจากหยาดน้ำค้างยามเช้าที่เกิดขึ้นตามใบไม้ คนจึงเชื่อตามกันมานานหลายศตวรรษ

ผีเสื้อที่เห็นนี้มาต่างช่วงเวลากัน แล้วแต่ว่ามีดอกไม้อาหารของเขาชนิดไหนกำลังอุดมสมบูรณ์ และเกือบทุกชนิดที่นี่เป็นผีเสื้อธรรมดาๆที่พบได้ชุกชุมทั่วไปหากสภาพนิเวศเหมาะแก่การอยู่อาศัยคือ มีต้นไม้ มีแสงแดด มีน้ำ มีลมพอดี มีอาหารพอเพียง

อย่างไรก็ตามน้ำหวานจากดอกไม้ไม่ใช่อาหารชนิดเดียวของผีเสื้อ ผีเสื้อบางชนิดก็กินอาหารจากผลไม้สุกงอม ซากเศษหรือมูลสัตว์ ซึ่งให้สารไนโตรเจนและเกลือแร่บางชนิด เราจะเห็นผีเสื้อบางตัวชอบกินเกลือแร่จากเหงื่อของคนและสัตว์ หรือกินดินโป่ง หากใครถูกผีเสื้อเกาะนิ่งๆนานๆ มักถูกล้อว่า"เป็นคนเค็ม"


ผีเสื้อหนอนมะพร้าวธรรมดา(Common Palmfly)

ผีเสื้อหนอนมะพร้าวธรรมดา อยู่ในวงศ์ผีเสื้อขาหน้าพู่ ผีเสื้อชนิดนี้จะวางไข่เป็นฟองเดี่ยวเป็นลูกกลมๆ ปกติอาหารโปรดตอนเป็นหนอนคือใบของต้นไม้ประเภทปาล์ม

ตอนที่ข้าวโพดกำลังออกดอก เห็นตุ่มขาวๆเหมือนเม็ดข้าวโพดก็ไปนึกว่าเป็นเม็ดข้าวโพดออกผิดที่ผิดเวลา สงสัยเป็นข้าวโพดผ่าเหล่า จนข้าวโพดแก่ เก็บมากินหมดไปแล้ว เพิ่งมาเจอหนังสือบอกว่าไข่ผีเสื้อนี้เป็นเม็ดกลมสีขาวขุ่น เลยยกประโยชน์ว่าเป็นไข่ผีเสื้อ ดีกว่าไปคิดว่าข้าวโพดพันธุ์ผ่าเหล่า คงต้องถามผู้เชี่ยวชาญการเกษตรว่าข้าวโพดเป็นอย่างที่คิดได้ไหม

 

ซ้ายบน ผีเสื้อแพนซีมยุรา(Peacock Pansy) และ

ที่เหลือ ผีเสื้อเสือดาวใหญ่(Common Leopard)

  • ผีเสื้อแพนซีมยุรา  เป็นผีเสื้อในวงศ์ผีเสื้อขาหน้าพู่ ผีเสื้อชนิดนี้สังเกตเห็นได้ง่ายมากเพราะเวลาเขาลงเกาะดอกไม้มักจะกางปีกอวดศักดา พื้นปีกสีส้มมีจุดวงกลมที่ปีกคู่หน้าหนึ่งจุด ที่ปีกคู่หลังสองจุด เสมือนดวงตาหลอกให้ศัตรูยำเกรง อาหารโปรดตอนเป็นหนอนคือ ต้อยติ่งและไมยราบ

  • ผีเสื้อเสือดาวใหญ่ เป็นผีเสื้อในวงศ์ผีเสื้อขาหน้าพู่ ที่เวลาเกาะมักกางปีกเช่นกัน เลยชอบมาด้วยกันได้ช่วยกันอวด หรือมาด้วยเพื่ออาศัยบารมีดวงตาหลอกที่น่ายำเกรงก็ไม่ทราบ พื้นปีกสีน้ำตาลส้ม  มีจุดสีดำทั่วทั้งแผ่นปีก คล้ายลายเสือดาว ชอบหากินตามริมน้ำ ตอนเป็นหนอนชอบกินตะขบป่า สนุ่น และหลิว

 

ซ้ายบน  ผีเสื้อถุงทองธรรมดา(Golden Birdwing) และ

 ขวาล่าง ผีเสื้อหนอนใบรักธรรมดา(Plain Tiger)

 

  • ผีเสื้อถุงทองธรรมดา อยู่ในวงศ์ผีเสื้อหางติ่ง มาที่บ้านบ่อยๆ เป็นผีเสื้อขนาดใหญ่มาก ปีกกางกว้างได้ราว ๑๕-๑๗ เซนติเมตร ชอบบินสูงจึงมองดูคล้ายนก และความที่มีสีเหลืองเด่นสะดุดตาจึงเป็นที่มาของชื่อ Golden Birdwing เนื่องจากมักบินสูงจึงถ่ายภาพยากมาก แถมตัวที่ถ่ายภาพได้นี้ไม่ทราบว่าไปสู้กับใครมา ปีกล่างซ้ายแหว่งไปตั้งเยอะ มีผู้ถ่ายภาพไว้ได้สวยขอเชิญตามไปชมนะคะ

http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=white-chair&date=08-03-2006&group=2&gblog=1)

 

ผีเสื้อถุงทองธรรมดานี้เป็นผีเสื้อแสนสวยประดับป่า และได้รับสมญานามว่า "ราชินีแห่งป่าสยาม"

ผีเสื้อถุงทองมีหลายชนิด อยู่ในสกุล Troides เช่น ถุงทองป่าสูง ถุงทองปักษ์ใต้ ล้วนเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง (ผีเสื้อที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองทั้งหมดมีอยู่ ๙ สกุลด้วยกัน)

  • ผีเสื้อหนอนใบรักธรรมดา  อยู่ในวงศ์ขาหน้าพู่ ข้อมูลน่าสนใจคือ พวกผีเสื้อในกลุ่มหนอนใบรักทั้งหมดมีพิษในตัว(มักไม่ถูกล่า เพราะกินไม่ได้) คาดว่าได้รับการสะสมมาจากการกินใบไม้ที่มียางในช่วงระยะเป็นตัวหนอน เช่นใบของ ต้นรัก ยี่โถ ไทรย้อย ข้าวสาร สลิด กระทุงหมาบ้า พวกผีเสื้อหนอนใบรักนี่หากได้เห็นใกล้ๆ ให้ดูที่ส่วนอกจะเห็นเป็นลายจุดดำ-ขาว ในภาพนี้ก็มองเห็นเหมือนกัน

ผีเสื้อขาวแคระ(Psyche) และ ผีเสื้อแพนซีมยุรา(Peacock Pansy)

ผีเสื้อขาวแคระ อยู่ในวงศ์ผีเสื้อหนอนกะหล่ำ ชอบบินอยู่ตามพุ่มไม้เตี้ยๆ เป็นผีเสื้อขนาดเล็ก ลักษณะเด่นคือเวลาเกาะปีกหุบดูคล้ายหยดน้ำ หรือฝรั่งมองว่าเหมือนเทพธิดาตัวน้อย สวมกระโปรงสุ่มบานสีขาวครีมมีลายประเล็กๆ จึงเป็นที่มาของชื่อ ไซคี Psyche  ซึ่งเป็นชื่อเทพธิดาในตำนานกรีกโบราณที่เป็นคู่รักกับ กามเทพ หรือ Cupid

มุมปลายปีกของปีกคู่หน้ามีสีดำ กลางปีกมีสีดำใหญ่หนึ่งจุด ดูภาพเขากางปีกจะเห็นจุดสีดำที่ว่า (ขออภัยภาพเล็กไปหน่อยค่ะ)

ซ้าย  ผีเสื้อหนอนละหุ่งธรรมดา(Common Castor) และ

ขวา  ผีเสื้อแพนซีสีตาล (Lemon Pansy)

  • ผีเสื้อหนอนละหุ่งธรรมดา อยู่ในวงศ์ขาหน้าพู่ ขณะเกาะมักกางปีก มีลักษณะคล้ายผีเสื้อแมวลาย จนแทบแยกไม่ออก ผีเสื้อแมวลายเขาจะมีลายเส้นสีดำยาวขนานกับขอบปีกด้านข้างชัดเจน

ผีเสื้อหนอนละหุ่งธรรมดา  ภาพบนเขาเกาะอยู่บนใบละหุ่ง ภาพล่างเกาะบนใบผักกวางตุ้งค่ะ ตอนเป็นหนอน ชอบกินละหุ่ง จึงเป็นที่มาของชื่อ

  • ผีเสื้อแพนซีสีตาล อยู่ในวงศ์ขาหน้าพู่ ขอบปีกด้านนอกของปีกคู่หน้ามีแถบสีขาว มีจุดวงกลมเป็นตาหลอกคล้ายผีเสื้อแพนซีมยุรา

ตอนเป็นตัวหนอนชอบกินพืชพวก ต้อยติ่ง หญ้าเกล็ดปลา และอังกาบหนู

บนซ้าย  ผีเสื้อหนอนมะนาว (Lime Butterfly)

บนขวา ผีเสื้อปีกไข่ใหญ่(Great Egg-fly) และ

ล่าง ผีเสื้อกลาสีธรรมดา (Common Plain Sailor)

 

  • ผีเสื้อหนอนมะนาว อยู่ในวงศ์ผีเสื้อหางติ่ง จัดว่าเป็นผีเสื้อที่พบบ่อยมาก ที่บ้านมีมะนาวต้นใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง และมีต้นส้มที่ไม่เคยออกลูกอีกสองต้น ก็เลยพบบ่อยเพราะอาหารเขาคือใบของพืชสกุลส้ม ผีเสื้อชนิดนี้ตำราบอกว่า มีหนวดซ่อนอยู่ภายในบริเวณส่วนหัว เมื่อตกใจจะยืดหนวดพร้อมกับปล่อยกลิ่นเหม็นฉุนออกมาจากต่อมเพื่อขับไล่ศัตรู

  • ผีเสื้อปีกไข่ใหญ่ อยู่ในวงศ์ผีเสื้อขาหน้าพู่ จัดว่าเป็นผีเสื้อขนาดค่อนข้างใหญ่(แต่ภาพเล็กมากเลย )  ปีกกางกว้างราว ๗-๑๑ เซนติเมตร พื้นปีกสีดำ มีแต้มสีขาวรูปไข่ขนาดใหญ่อยู่บนปีกหลัง เสียดายถ่ายภาพตอนกางปีกไม่ได้ จึงเป็นที่มาของชื่อ หนอนผีเสื้อชนิดนี้จะอยู่ในกลุ่มของ "บุ้งร่าน" คือมีหนามเป็นพิษ โดนเข้านิดเดียว เจ็บปวดมาก เคยโดนครั้งหนึ่ง เข็ดมาก ทำให้ระมัดระวังยิ่งขึ้นเวลาเดินชมสวน พบที่บ้านเป็นพักๆ ทั้งผีเสื้อ ทั้งหนอน เพราะมีอาหารที่หนอนผีเสื้อนี้ชอบกินอยู่ที่ท่าน้ำหลายชนิด เช่น ต้นกะเม็ง ผักแครด ผักปราบ ผักเป็ดไทย ผักบุ้ง และมะเดื่อ

  • ผีเสื้อกลาสีธรรมดา อยู่ในวงศ์ผีเสื้อขาหน้าพู่ ขนาดเล็ก ปีกกางแล้วกว้างเพียง ๕-๖ เซนติเมตร ลักษณะเด่น คือ ลายสีขาวพาดขวางปีกและลำตัว ชอบบินกระพือปีกถี่ๆ ๒-๓ ครั้งแล้วจึงบินร่อน จะบินไป เกาะพักไปเรื่อยๆ ขณะเกาะมักจะกางปีก ตำราบอกว่าพบได้ชุกชุม แต่เห็นที่บ้านสองสามครั้งแค่นั้น พืชอาหารของหนอนผีเสื้อนี้คือ ต้นถั่วแขก ต้นถั่วกระเป๋า ต้นคนทีสอ ต้นสะบ้า ต้นหญ้าแมงมี่

ยังมีผีเสื้ออีกชนิดที่มาที่บ้านบ่อยมาก และสีสวยงามมากจริงๆ ชื่อก็บ่งบอกความงาม ดูไม่เคยเบื่อ ทั้งตัวผู้ตัวเมีย อยากให้ชมแบบเดี่ยวๆ เลยจะนำมาโชว์ตอนหน้านะคะ

(ข้อมูลจากหนังสือ ๓ เล่ม นี้ ขอขอบคุณผู้จัดทำหนังสือนี้ที่ทำให้ได้รู้จักผีเสื้อรอบตัวได้ดีขึ้นมากค่ะ

  1. ผีเสื้อ คู่มือดูผีเสื้อในประเทศไทย โดย จารุจินต์ นภีตะภัฏและแกรียงไกร สุวรรณภักดิ์
  2. คู่มือผีเสื้อ โดย เกรียงไกร สุวรรณภักดิ์
  3. ผีเสื้อแสนสวย โดย นิดดา หงษ์วิวัฒน์  )

 



ความเห็น (29)
  • สวัสดีค่ะ อ.พี่นุช
  • วันนี้ได้รู้เรื่องของผีเสื้อมากขึ้นค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะคุณนายด็อกเตอร์

เคยจับหนอนผีเสื้อมาเลี้ยงค่ะ อ้วนกลมน่ารัก เลี้ยงจนเป็นดักแด้

แต่ไม่ทราบว่าเป็นผีเสื้อชนิดไหน เพราะตอนที่มันออกจากดักแด้

มันก็บินหายไป...

คงเป็นสักตัวในนี้หละมังคะ (^__^)

 

เอ มันมีธรรมดา แล้วก็ต้องมีแบบไม่ธรรมดา ด้วยใช่มั้ยครับ อิๆๆ

สวัสดีครับ

  • สวัสดีค่ะคุณนุช
  • ต้องขอบคุณมากเลยนะคะที่เขียนเรื่องผีเสื้อต่อจากบันทึกที่แล้ว
  • คุณครูที่ค่ายกำลังคุยกันว่าอยากจะปรับแผนให้สอดคล้องกับความสนใจของเด็กๆ ที่ตอนนี้เที่ยวไปเดินเก็บใบแพงพวยมาเลี้ยงหนอนผีเสื้อ
  • โบกี้ก็ท่อมๆ หาหนอน จนคุณครูบอกว่าหนอนเกิดไม่ทันแล้ว
  • กะว่าสัปดาห์หน้าช่วงที่เด็กๆ เข้าห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์จะชวนเด็กๆ มาศึกษาจากบันทึกของคุณนุชด้วย มาเจอบันทึกนี้น่าจะตื่นเต้นกัน
  • เมื่อวานนี้ไปแถวๆ เรือนเพาะชำของโรงเรียน เจอผีเสื้อปีกดำ ขอบปีกเป็นจุดขาวหรือเหลืองนวลเรียงเป็นแถว  พยายามถ่ายภาพอยู่นาน..ไม่สำเร็จค่ะ..ได้มาแบบเบลอๆ ภาพเดียว พอจะเข้าไปใกล้อีกนิด เธอก็บินหนีไปทางอื่น
  • บินวนอยู่ในตาข่ายเรือนเพาะชำ จนต้องไปช่วยต้อนให้บินหาทางออกไปข้างนอกได้
  • ชื่นชมในฝีมือการถ่ายภาพและเล่าเรื่องราวของคุณนุชนะคะ
  • ขอบคุณค่ะ
  • ผีเสื้อถุงทองธรรมดาและผีเสื้อถุงทองป่าสูง
  • มาเป็นประจำที่บ้านแต่พวกเขาชอบดอกเข็มค่ะ
  • ไม่ว่าเข็มเศรษฐี เข็ม ขาว หรือเข็มแดง ค่ะ แต่ที่ต้นปีปไม่เห็นค่ะ อาจจะสูงไปหน่อยประจวบกับสายตา สว.อาจมองไม่เห็นค่ะ
  • http://www.thaitrip4u.com/TravelStory/STA01.asp?QID=316
  • คุณนุชอาจจะเคยเข้าไปดูแล้วก็ได้ ที่เอามาฝากเพราะเป็นแมลงอนุรักษ์ค่ะ

มาเยี่ยม คุณนายดอกเตอร์

ได้ชื่มชมธรรมชาติของผีเสื้อหลายสีและหลายชนิดเลยนะครับ

เพราะความสนใจในผีเสื้อจึงเกิดขึ้นมากมีตรงนั้นนะครับ

สวัสดีค่ะพี่นุช

สำหรับตัวเองแล้วกลับคิดว่าคนที่ผีเสื้อมาเกาะนานๆ เป็นคนหวานเหมือนเกสรดอกไม้นะคะ

เคยโดนผีเสื้อบินมาเกาะเหมือนกัน แต่นานมาแล้วตอนไปเที่ยว ^ ^

พี่นุชถ่ายภาพผีเสื้อไว้ได้หลายพันธ์มากเลยนะคะ แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์บริเวณที่พี่นุชอยู่ด้วยแหละค่ะ ส่วนใหญ่แล้ว ผีเสื้อบอบบางหรือหนอนนั้น ถ้าไม่มีอะไรกินก็จะหมดไปก่อน เหมือนแถวบ้านที่อยู่ ไม่มีให้เห็นสักกะตัวนึง ^ ^ นานๆ จะโผล่มาให้เห็นเสียที

ขอบคุณที่นำมาฝากกันนะคะ

สวัสดีค่ะทุกท่าน ตอบช้าไปนิด ขอโทษด้วยนะคะ

คุณแดงP pa_daeng [มณีแดง คนสวย แซ่เฮ] ดีใจที่คุณแดงมาแวะดูผีเสื้อเป็นคนแรกเลย ที่บ้านคุณแดงก็คงมีผีเสื้อมาแวะเวียนเหมือนกันนะคะเพราะมีดอกไม้ไม่น้อย ไปชมความงามของไม้เท้าฤาษีที่บันทึกคุณแดงมาแล้วเช่นกัน เลยทำให้นึกสงสัยว่าทำไมผีเสื้อไม่ค่อยเกาะกินน้ำหวานดอกกล้วยไม้ที่บ้านเลย ชอบเกาะดอกไม้ที่บานสั้นๆมากกว่า

 

คุณP บ้านของเรา ได้ไปแวะที่บล็อกคุณมาแล้วแต่ยังไม่ได้ฝากร่องรอยไว้ จะกลับไปใหม่ค่ะ ยินดีต้อนรับนะคะ ชอบเรื่องและวิธีเขียนของคุณค่ะ ขอบคุณที่มาแวะให้ได้รู้จักกันและได้แลกเปลี่ยนกัน เราชอบอะไรคล้ายๆกันมากค่ะ 

 

คุณP  กวินทรากร รูปหล่อเปลี่ยนรูปอีกแล้วนะคะ นั่นซีคะ มีธรรมดาแล้วก็ต้องมี ไม่ธรรมดา ภาษาอังกฤษยิ่งพาสงสัยใหญ่ มีทั้ง Common และ Plain

คุณP สิทธิรักษ์ หมีแพนด้ารักธรรมชาติอยู่แล้ว สิ่งสวยงามจากธรรมชาติต้องรีบมาดู น่ารักจังมาแบบเงียบๆ แอบมาดู กลัวผีเสื้อตกใจ ^__^

 

คุณดวงพรP dd_L ขอบคุณค่ะ นึกสนุกไปกับเด็กๆ ที่เขากำลังตื่นเต้นในการเรียนรู้จากธรรมชาติด้วยการลงมือเอง ได้จับ ได้เห็นกับตาตัวเอง แล้วยังจะได้พบภาพสวยๆ และเรื่องราวจากอินเทอร์เน็ตประกอบ เขาก็จะยิ่งเห็นคุณค่าของการเรียนรู้จากการค้นคว้าข้อมูลจากหลากหลายแหล่ง

ถ่ายภาพสัตว์ในธรรมชาตินี่ยากจริงๆค่ะ ชื่นชมคนที่เขาถ่ายภาพได้สวยๆ คมชัดและใกล้จนเห็นรายละเอียด ตัวเองกว่าจะได้ภาพขนาดที่ลงให้ชมนี่ก็ทำสุดปัญญาแล้วค่ะ โดยเฉพาะผีเสื้อนี่ต้องค่อยๆขยับไปใกล้ หากเขาหนี เราต้องลงนั่งนิ่งๆ ส่วนมากเขาก็จะกลับมากินน้ำหวานต่อ แต่บางทีก็ไม่กลับมาซะอย่างนั้นแหละ

เดี๋ยวนี้มีหนังสือผีเสื้อที่มีภาพประกอบสวยงามมากกว่าสมัยก่อนเยอะเลยนะคะ 

อาจารย์พรรณี P  Lin Hui ขอบคุณที่อาจารย์นำลิงค์มาฝากค่ะ ผีเสื้อถุงทองเขาสวยงามสง่าจริงๆนะคะ บรรยากาศบ้านอาจารย์ต้องถูกใจผีเสื้อถุงทองทั้งสองชนิดมาก มาเป็นแขกประจำ โอกาสเหมาะๆคงได้มาขอดื่มชาในสวนกับอาจารย์นะคะ นุชยังไม่เคยเป็นผีเสื้อถุงทองป่าสูงเป็นๆเลยค่ะ เห็นแต่ในหนังสือ

อาจารย์P umi ขอบคุณอาจารย์ค่ะที่มาเยี่ยม ธรรมชาติยอดเขาที่อาจารย์มักได้ชื่นชมวิวนั้น มีผีเสื้อบ้างมั้ยคะ อย่างผีเสื้อถุงทองนั้น เขาก็มีชนิด "ผีเสื้อถุงทองปักษ์ใต้" ด้วยนะคะ

 

อาจารย์P กมลวัลย์ เคยโดนผีเสื้อเกาะเหมือนกัน และคิดอย่างเดียวกับอาจารย์ค่ะ จนมาค้นคว้าเรื่องผีเสื้อ อิ อิ หลงนึกว่าตัวเองอ่อนหวาน ที่ไหนได้ อ่อนหวาน เค็มมากกว่า เรียกผีเสื้อมาเกาะซะเลย

ผีเสื้อที่บ้านค่อนข้างมากค่ะ ต้องได้เห็นกันทุกวัน บางวันมาก บางวันน้อย ยังมีอีกหลายชนิดที่ไม่สามารถถ่ายรูปเขาได้เพราะอาจอยู่สูง หรือบินเร็ว แล้วพวกนี้มักสีสวยเสียด้วยค่ะ ทำให้เกิดความอยากถ่ายรูปให้ได้ จนต้องตั้งสติว่าที่ถ่ายได้แค่นี้ก็บุญแล้ว และที่ได้เห็นเขาก็บุญตาแล้ว


 

  • สวัสดีค่ะ
  • ขอแสดงความยินดีด้วยนะค่ะ
  • ที่ได้รับเลือกเป็นกุลสตรีไทยประจำปี2551 คิคิคิ

สวัสดีค่ะอาจารย์P Lin Hui ไม่ทราบว่าอากาศร้อนๆใครจึงมาตั้งตำแหน่งล้อเล่นให้ขำๆนะคะ ^___^ หากคนข้างกายทราบคงขำกลิ้งค่ะ เพราะเขาให้ตำแหน่ง"นางฟ้า..."นุชมาแล้ว คือ "นางฟ้าผ่า" ค่ะ

  • สวัสดีเจ้า พี่นุช..

โห  ผีเสื้อมีตั้งมากมายหลายชนิดนะคะ   ต้องขอขอบพระคุณพี่นุชมากๆ ที่มาให้ความรู้กันตรงนี้  

ชอบมองผีเสื้อค่ะ  สวยดี  ราวกับว่านั่นน่ะเป็นนางฟ้าตัวน้อยๆ ในเทพนิยาย

สวัสดีเจ้าคุณต้อมP  เนปาลี ผีเสื้อบินกันว่อนทั้งๆที่ร้อนมากเลยค่ะ ได้รับโปสการ์ดผีเสื้อจากคุณต้อมด้วยขอบคุณที่น้องระลึกถึงและส่งถ้อยคำไพเราะเย็นใจแบบไม่เปลืองไฟฟ้าไปให้นะคะ

ผีเสื้อในโปสการ์ดนั้นคือผีเสื้อกระทกรกธรรมดาค่ะ ไม่ค่อยมาที่บ้าน ทั้งๆที่ฟากตรงข้ามมีเถากระทกรกขึ้นเต็มไปหมด ดอกสีขาวสวยมาก เคยเห็นมั้ยคะ และมีลูกสีส้มอมเหลือง ตอนเด็กๆเวลาเดินเที่ยวจะคอยมองหาบีบกินเม็ดข้างในเปรี้ยวๆหวานๆชุ่มคอดีค่ะ

  • พี่นุช คะ..

โปสการ์ดไปถึงเร็วจัง   พอดีช่วงนี้จะคุยเรื่อง "จดหมาย" กับพี่สาวคนหนึ่งบ่อยๆ   ก็เลยมีเหตุให้ชอบแอบไปเปิดกล่องความทรงจำสีฟ้าใบเล็กๆ ดู   และในนั้นก็มีโปสการ์ด ทั้งที่เขาแจกฟรี  มีคนใจดีส่งมาให้  ซื้อเอง ไว้พอสมควร  หยิบออกมาดูก็เอ๊ะ มีผีเสื้อด้วย   เลยนึกถึงพี่นุชด้วยประการฉะนี้    แต่จริงๆ แล้วก็นึกถึงโดยตลอด   แอบๆ นึกถึงน่ะค่ะ   และที่บ้านตอนนี้ลีลาวดีก็จะออกดอกหลายช่อ (วันนั้นที่คุยกัน  ยังบอกว่าแค่ช่อเดียวเอง)  คงเพราะได้ฝนด้วยเนอะ   เลยสะพรั่งบาน   ก็แค่ช่อนั้นที่ให้พี่นุชดู   ต้อมมานับดูวันหลังมีราว 20 ดอกน่ะค่ะ

กระทกรก..รู้จักเจ้าค่ะ   เมื่อก่อนรู้สึกว่าในสวนจะมีด้วย   แต่หายไปตอนไหนก็ไม่รู้   รสชาติเปรี้ยวสะใจ  กลิ่นแปลกๆ   ชอบค่ะ  ^^

มาอ่านไว้หลายวันแล้วค่ะพี่ พึ่งจะพอมีเวลาหายใจวันนี้เลยเอาภาพผีเสื้อที่ไปถ่ายไว้จากภาควิชากีฏวิทยา ม.เกษตรมาฝากให้ดู มีเยอะแยะเลยค่ะ บางตัวเห็นแล้วก็ตื่นเต้น เพราะใหญ่เกือบๆ ขนาดกระดาษ A5 แน่ะ

หวัดดีค่ะ...พี่นุช

แวะมาชมความงาม และเรื่องน่ารู้ของผีเสื้อค่ะพี่ ผีเสื้อนี่...มีมนต์เสน่ห์นะค่ะ

  • สวัสดีอีกรอบค่ะคุณนุช
  • แวะมาบอกว่า เด็กๆ ยังไม่ได้เข้าห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา
  • แต่พาไปดูฟาร์มผีเสื้อที่ อ.แม่ริม เชียงใหม่
  • ตื่นเต้นกันใหญ่..  ได้รับแจกด้วงจริงๆ มากันคนละตัว
  • ประทับใจกับผีเสื้อกระเทย ทั้งครูทั้งนักเรียน
  • เห็นบอกว่า พี่ๆ วิทยากรถูกรุมซักถามซะเหน็ดเหนื่อย
  • ว่างๆ ลองแวะไปอ่านที่บันทึกนี้นะคะ
  • สวีสดีค่ะ ขอเรียกพี่นุชด้วยคนนะคะ ...
  • ปีก่อนที่ต้นทับทิมหน้าบ้าน มีหนอนผีเสื้อเป็นร้อยตัวเลยค่ะ...ได้โม้
  • ผ่านมาผ่านไป ก็ได้แต่ระวัง...กลัว แป๊ะ...หล่นใส่หัว
  • ผ่านไปสักระยะ... เริ่มกลายเป็นผีเสื้อ...สวนน่าดูทีเดียวค่ะ

สวัสดีค่ะ

คุณต้อมP เนปาลี ว้าว เจอแต่คนเปลี่ยนรูปรับลมร้อน รูปนี้น่ารักจังค่ะ ลีลาวดีที่บ้านพี่ก็คงเป็นอย่างคุณต้อมว่าคือได้ฝนก็ออกดอกกันใหญ่หอมกรุ่นไปทั่วเลยค่ะ แปลกใจนิดๆที่สาวรุ่นคุณต้อม ยังรู้จักกระทกรกป่า แต่ดีใจค่ะที่พืชพื้นบ้านยังเป็นที่รู้จักและอยู่ในความทรงจำของคนรุ่นใหม่

น้องซูซานP Little Jazz \(^o^)/ ไหนว่างานยุ่งคะ เห็นหน้าตาแจ่มใส แช่มชื่น ขอบคุณที่นำภาพผีเสื้อมาฝากเป็นฝูงๆกันเลย สวยงามค่ะ พี่ชอบผีเสื้อมาก และอยากรู้จักมากขึ้นกว่ามองมันบินสวยๆโฉบไปมา เลยซื้อหนังสือButterflie of Thailand หนาเกือบสี่ร้อยหน้า เป็นเชิงวิชาการมาก แต่ชอบตรงที่มีภาพผีเสื้อแต่ละชนิดที่พบในไทยสวยงามชัดเจนมากค่ะ

น้องอ้อยควั้น  (sirintip) ผีเสื้อเป็นสัตว์แสนสวย ทรงเสน่ห์อย่างบอบบาง มองผีเสื้อบินไปมาแสนเพลิดเพลินค่ะ

คุณดวงพรP dd_L น่ารักนะคะที่เด็กๆตื่นเต้นกับการเรียนรู้จากธรรมชาติรอบตัว เขาจะสนใจที่จะเรียนรู้ต่อๆไปไม่สิ้นสุด ดียิ่งกว่าจับให้เขานั่งนิ่งๆเรียบร้อย เรียนกันในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว ขอบคุณนะคะที่นำลิงค์มาฝาก จะตามไปค่ะ

น้องตุ๊กกะตูนP tuk-a-toon โอ้โหหนอนผีเสื้อเป็นร้อยเวลาเป็นผีเสื้อแสนสวยบินกันว่อน คงงามคุ้มค่าการอุทิศต้นทับทิมแน่ๆ เป็นผีเสื้อชนิดไหนทราบมั้ยคะ

สวัสดีค่ะคุณนายด็อกเตอร์ วันนี้มีรูปน้องหนอน ตัวอ่อนของด้วงมาฝากค่ะ

ค้นพบโดยน้องโบกี้เจ้าประจำคนรักหนอน เมื่อสอง สามวันก่อน

http://www.goosave.com/10-04-2008/200804101207840890.jpg

แอบไปหาข้อมูลมาได้ว่าตัวอ่อนด้วงที่เรียกว่า white grub หนอนเป็น typical form ที่เรียกว่า scarabaeiform มาจากชื่อวงศ์ Scarabaeidae ได้แก่วงศ์ ด้วงกว่างที่เขา ด้วงแรด กว่างสามเขา ห้าเขา กว่าญี่ปุ่น กว่างชน ด้วงขี้ช้าง แมงกินูน ด้วงดอกไม้ เป็นต้น เป็นวงศ์ด้วงที่ใหญ่มาก หนอนด้วงเขี้ยวกางอีกวงศ์ก็มีลักษณะงอเป็นรูปแบบนี้ด้วย แต่ขนน้อยกว่า หนอนด้วงยังไม่มี key ที่ใช้ อาจจะต้องใช้วัดขนาด ดูสี ขนอ่อนตามลำตัว ลักษณะของปาก เป็นต้น

น้องโบกี้ชอบอกชอบใจใหญ่ ถึงขนาดหอบกลับบ้านไปเลี้ยงที่บ้านด้วย

หลังสงกรานต์นี้จะไม่พลาดให้เด็กๆเข้ามาดูผีเสื้อสวยๆในบล๊อกนี้แน่นอนค่ะ

ขอบคุณสำหรับความรู้ใหม่ๆเรื่องผีเสื้อนะคะ

อ่ะ ๆๆ ขอโทษนะคะ รูปไม่ขึ้น

 

รูปนี้เองค่า

อ่ะ ๆๆ ขอโทษนะคะ รูปไม่ขึ้น

 

รูปนี้เองค่า

กึ๋ยยยย....P คุณครูเมษา เอาหนอนด้วงตัวเบ้อเริ่มมาฝาก น้องโบกี้และเพื่อนๆเก่งมากที่ไม่เกลียดหรือกลัวหนอน คนรุ่นเก่าอย่างพี่โรงเรียนไม่เคยสอนให้สัมผัสธรรมชาติอย่างเรียนรู้เช่นนี้ จะไม่คุ้นกับการไปเอ็นดูเขาค่ะ

หนอนด้วงและหนอนผีเสื้อในที่สุดก็เติบโตเป็นแมลงและผีเสื้อแสนสวย ธรรมชาติช่างแสนมหัศจรรย์จริงๆ

สวัสดีปีใหม่แบบไทยๆ ค่ะ  ขอให้พี่นุชมีความสุข  สดชื่นเย็นฉ่ำดั่งสายน้ำค่ะ

สุขสันต์วันสงกรานต์ครับ ขอให้มีความสุขมากๆ สุขภาพแข็งแรง สดชื่นแจ่มใสครับ

สวัสดีปีใหม่ไทย เทศกาลสงกรานต์ แด่ทุกท่านค่ะ และขอบคุณสำหรับน้ำใจฉ่ำชื่นที่คิดถึงกันและมาอวยพร และขอให้พรทุกประการที่นำมามอบให้จงมีแด่ผู้อวยพรและครอบครัวด้วยค่ะ

น้องจิ P น้องจิ แซ่เฮ ^๐^! มาอวยพรแบบเก๋ไก๋ จะส่งอะไรเก๋ๆกลับไปขอบคุณบ้างก็ทำไม่เป็นหรอกค่ะ ขอบคุณนะคะที่คิดถึงกัน ช่วงสงกรานต์พี่อยู่บ้านค่ะ จะได้ทยอยไปเยี่ยมเยียนสวัสดีปีใหม่ชาวบล็อกหลังจากหายไประยะหนึ่ง ของฝากอยากได้ต้องมารับเองที่อยุธยานะคะ

คุณหมีเชอรี่P ทะเลดาว ยกขันลงหินฝีมือไทยแท้ ที่เหลือการผลิตอยู่เพียงชุมชนเดียวในประเทศไทยใส่น้ำลอยดอกไม้หอมมาฝาก ประทับใจค่ะ และเห็นดอกมะลิและกุหลาบที่ลอยมาพร้อมขันใบน้อยน่ารักมาก เย็นใจดีจริงๆ 

คุณP สิทธิรักษ์ หมีแพนด้าคงร้อนไม่น้อยนะคะในอากาศแห่งเดือนเมษา ^_^ อวยพรมา ก็ได้รับพรนั้นไปด้วยกัน เย็นฉ่ำหายร้อนีแต่ความสดชื่นเบิกบานใจนะคะ

  • ตามมาร้องว้าวค่ะ
  • โอ้โหบ้านพี่นุชเป็นแหล่งรวมผีเสื้อสวยๆจริงๆนะคะ

อยากชวนมานั่งชมผีเสื้อด้วยกัน ดีมั้ยคะ เมื่อไหร่ดีน้อ

คิดถึงอาจารย์ไม่ได้พบกัน(ในบล็อก)นานเหมือนกันนะคะ รอพบตัวจริงด้วยล่ะ หากว่าง (แปลว่ามีคนขับรถให้ จะไปเยี่ยมค่ะ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท