AnthroCat-Thailand
นาย ปรัชญาณินทร์ วงศ์อทิติกุล

ลาหู่... (เรา)ไม่ใช่นะ....เรามูเซอ


แม่ค้า: ลาหู่ มูเซอ เหมือนกัน แต่เราอยากให้เรียกว่า มูเซอ เพราะที่นี้เป็นตลาดมูเซอ..........ฉะนั้น ถ้า เจ้าของความเป็นชาติพันธุ์ออกมา พูดอย่างนี้ สงสัยเราต้องมีการรื้อปรับ องค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ที่ถูกเขียน ถ่ายทอด และกำหนดไว้ในลักษณะภาพลักษณ์ตายตัว (Monotype) กันเสียใหม่จะดีไหม

ขากลับจากไปเดินซื้อของฝากให้คุณแม่ที่ตลาดริมแม่น้ำเมย แม่น้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนตั้งแต่ในเขตประเทศไทย มีต้นน้ำอยู่ที่ตำบลพบพระ อำเภอแม่สอด ไหลผ่านอำเภอแม่ระมาด ท่าสองยาง ไปตลอดถึงจังหวัดแม่ฮ่องสอน ลงบรรจบกันกับแม่น้ำสาละวิน ไหลเข้าในเขตพม่า ลงสู่อ่าวมะตะบัน ชาวพม่าเรียกว่า ต่องยิน

แม่น้ำเมยเป็นเขตแดนทางภูมิศาสตร์และเป็นขอบเขตของรัฐชาติสมัยใหม่ที่ชัดเจนระหว่างไทยกับประเทศพม่า

ตลาดที่แห่งนี้ คนน้อยไม่พลุกพล่านสักเท่าไร คนขายเป็นคนที่ อู้กำเมือง สำเนียงแปร่ง ๆ เหน่อ ๆ คล้ายคนเหนือลำพูน เชียงใหม่ แต่ก็มีแม่ค้าที่เป็นคนพูดภาษาไทยกลาง มีลูกจ้างชาวพม่า คนเดินก็มีทั้งคนไทยและคนพม่า และ คนเมียง คนเมือง อย่างผม

สินค้าในตลาดทั่วไป ไม่ต่างจาก ตลาดท่าขี้เหล็ก ตลาดแม่สาย ตลาดริมโขง คลองถม แต่มีสิ่งที่คนนิยมซื้อมากที่สุดคือ กระปุกยาดมสมุนไพร อันมโหฬาร ซึ่งทุกครั้งที่สูดดม สามารถเอาจมูกลงไปในปากของกระปุกได้ทั้งหมด สูดหนึ่งที ได้กลิ่นสองรู กันไปเลย

หลังจากได้ของฝากแล้วก็เดินทางกลับกรุงเทพฯกัน แต่ได้มาแวะที่ ตลาดมูเซอ ซ้ำอีกครั้ง หลังจากที่แวะไปก่อนหน้านี้ในวันเดินทางไปบ้านปูแป้

พอจอดรถปุ๊บก็ไปจอดตรงหน้าร้าน ขายเมลอน แคนตาลูป และเมลอนพันธุ์ใหม่ ที่เปลือกมีสีเหลืองแต่มีลายนูนขรุขระแบบเปลือกผลเมลอน ของแม่ค้าชนเผ่าลาหู่ (น่าจะเป็นลาหู่ดำ เพราะชุดใส่เน้นสีดำมีลายเป็นดอกไม้ดอกใหญ่) สนนราคา เมลอน 4 โล 100 บาท แคตาลูป 6 โล 100 อาโวคาโด้ โลละ 50 บาท ยอดมะระ 3 กำใหญ่ 20 บาท สตรอเบอร์รี่ โลละ 80 บาท เบบี้แครอท ถุงละ 25 บาท อีกหลายอย่างที่เป็นผลผลิตทางการเกษตร อ้อ...ผักหวานป่า โลละ 100 บาทเช่นกัน

ผมเป็นคนที่ชอบกินแกงผักหวานมาก ถึงฤดูผักหวานออกยอดอ่อนทีไร เป็นต้องขอให้คุณแม่ทำ แกงผักหวานใส่ปลาหมึกแห้ง ให้กินอยู่เรื่อย ผมอยากซื้อผักหวาน เลยเดินไปถามแม่ค้าที่นั่งขายผักหวานอยู่ริมถนนอีกฟากหนึ่ง

ผม:      ผักหวานขายยังไง

แม่ค้า:  โลละ 100 บาท....ค่า......พี่คนคนหล่อ (พูดเสร็จ ต่อด้วยประโยค) พี่ช่วยซื้อถั่วลันเตาหน่อยค่ะ เขาฝากขาย

ผม:      เอ๊า แล้วกัน จะซื้อผักหวาน

แม่ค้า:  ซื้อถั่วลันเตาเถอะคะ เขาฝากขาย

ผมก็เลยเดินจากมาด้วยความงุนงง ก็มาเจอแม่ค้าอีกคนหนึ่งที่ขายผักชนิดอื่นๆหลายชนิดอยู่ แต่ในกระด้งเหลือกองผักหวานอยู่ 3 กอง ตั้งราคาขายอยู่กองละ 20 บาท ผมเลยไปต่อราคาผักหวาน 3 กองนั้น แม่ค้าเด็กคล่องแคล่วบอกว่า เอาไปเลยพี่ 3 กอง 50 บาท แต่ผมต่อรองว่า เอาทั้งหมดนั่นแหละ 30 บาท ก็ยื้อกันไปมา ระหว่าง 40 บาท กับ 35 บาท ผมก็เลยเดินกลับออกมายืนที่รถตู้ สักพักโดยที่ผมแอบสังเกตดูก็เห็นว่า เขาเริ่มเอาผักหวาน 3 กองใส่ในถุง ผมก็เลยเดินกลับไป ก็ได้ผักหวานกลับมาในราคา 30 บาท สมใจ...

ขณะที่ยืนดูและรอคนอื่นๆ ซื้อของอยู่นั้น ในหัวของผมก็นึกขึ้นมาว่า ตอนทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโท ผมตั้งใจจะศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่(มูเซอ)ไปด้วย แต่ด้วยที่พื้นที่วิจัยเป้าหมายไม่มีกลุ่มลาหู่อาศัยอยู่ก็เลยได้ศึกษาแต่กลุ่มชาติพันธุ์อาข่า ประกอบกับด้วยความที่ผมอยู่กับกลุ่มชาวอาข่าที่ปฏิเสธคำเรียกกลุ่มหรือตัวเขาเองว่า อีก้อ ถือกันว่าเป็นการดูถูกและไม่ให้เกียรติแก่เขา และอยากให้คนทั่วไปเรียกว่า อาข่า

ผมก็เลยนึกอยากจะทดสอบสิ่งที่เป็นความรู้ที่ได้จากการอ่านหนังสือว่า กลุ่มชาติพันธุ์มูเซอ เรียกตัวเองว่า ลาหู่ ก็เลยถามแม่ค้าที่นั่งขายของอยู่ใกล้ ๆ รถตู้ว่า

ผม:      ที่นี้มีอาข่าไหม? (ที่ถามเพราะอาข่ากับลาหู่มักตั้งถิ่นฐานใกล้กันเสมอ และภาษามีความใกล้เคียงกันมาก แต่เชื่อไหมว่า ต่างฝ่ายต่างไม่เข้าใจในภาษาของกันและกัน)

แม่ค้า:  อ้อ อีก้อเหรอ มีทางนู้น นิดเดียว แต่ข้างบน (ชี้ไปบนดอย) มีหมดแหละ ทุกเผ่า

ผม:      แล้วนี้เป็น ลาหู่ หมดเลยเหรอ

แม่ค้า:  ใช่...เป็นตลาดมูเซอ มูเซอหมด

ผม:      แล้วอยากให้คนเรียกแบบไหนมากกว่าระหว่างคำว่า ลาหู่ กับ มูเซอ

แม่ค้า:  มูเซอ สิ มูเซอ ...ลาหู่ มันเป็นภาษา (ผมเพิ่งรู้)

ผม:      เอ๊า... แล้วอันไหนดีกว่ากัน

แม่ค้า:  ลาหู่ มูเซอ เหมือนกัน แต่เราอยากให้เรียกว่า มูเซอ เพราะที่นี้เป็นตลาดมูเซอ

ผม:      อืม

จากการสนทนาในครั้งนี้ ระหว่างนั่งรถตู้  ผมก็นึกขึ้นได้ว่า อัตลักษณ์ (Identity) มันไม่ตายตัว มีการเลือกใช้ และเลื่อนไหล ไปมาระหว่างสองสิ่งหรือมากกว่านั้น ซึ่งนักวิชาการใช้คำว่า Oscillation

ในสถานการณ์นี้ แม่ค้าชาวมูเซอเลือกใช้คำว่ามูเซอและยอมรับได้มากกว่า การที่มูเซอในพื้นที่อื่น ๆ ไม่ชอบให้เรียกแต่จะให้เรียกว่า ลาหู่ และผมก็เห็นว่าเป็นการผูกโยงอัตลักษณ์เข้ากับระบบเศรษฐกิจตามชื่อของตลาดที่ถูกเรียกว่า ตลาดมูเซอ และแน่นอนว่า ใครก็ตาม ถ้าเดินทางไปจังหวัดตากด้วยถนนเส้นตาก-แม่สอด ก็ต้องไปแวะที่ตลาดแห่งนี้

ผมลืมเล่าไปว่าแม่ค้าทุกคนจะสวมชุดประจำเผ่าที่เป็นเสื้อตัวนอก ส่วนผู้ชายแต่งกายธรรมดาทั่วไป ซึ่งก็สอดคล้องกับที่ผมเคยคิดและเขียนไว้ในรายงานสำหรับวิชาชาติพันธุ์ศึกษาว่า ผู้หญิงของชนเผ่านอกจากหน้าที่ตามระบบโครงการสร้างการหน้าที่แล้ว ยังมีหน้าที่ในการธำรงอัตลักษณ์และเป็นตัวแทนของการเสนอถึงอัตลักษณ์ของกลุ่มอีกด้วย

ดังนั้น คำเรียกว่า มูเซอ จึงเป็น การเลือกใช้ รับ ยินยอม ในอัตลักษณ์ที่มาจาก คนนอก เป็นของตนเองผ่านการศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองในฐานะ คนใน ซึ่งก็คือ ชาวมูเซอ (ลาหู่) นั่นเอง ว่า อัตลักษณ์ของคำเรียก มูเซอ นี้ สามารถนำพาไปสู่สิ่งที่จะได้มาจากอัตลักษณ์นั้น อีกประการหนึ่ง คงเป็นการเลือกใช้อัตลักษณ์ภายใต้ระบบการท่องเที่ยวอันที่จะนำมาซึ่งฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี

แต่อย่าลืมว่า คำว่า มูเซอ มีความหมายที่ให้ภาพความด้อยเจริญ ความเป็นดั้งเดิม ความต่ำต้อย ในฐานะที่ต่ำกว่าคำว่า ลาหู่ดังนั้น การที่จะยอมรับว่าเป็น มูเซอ ตามที่ถูกเรียก จึงกลายเป็นการจัดการทางการตลาดอันมี gimmick แฝงเร้นอยู่ข้างใน เพราะคนที่ไปท่องเที่ยวมักจะตั้งใจอยู่เป็นอันดับแรกแล้วว่า การได้ไปเยือนชนเผ่า คือ การกลับไปสู่ความเป็นดั้งเดิม และจะได้เห็นคนที่มีความเจริญในด้านต่าง ๆ น้อยกว่าตนเอง ซึ่งผมคิดว่า พวกชนเผ่าเองนั้น เขาคงไม่ได้คิดเหมือนอย่างที่ผมกำลังคิดวิเคราะห์นี้หรอก (ผมมันเป็นพวกนักวิชาเกิน)

ดังนั้น ชาวลาหู่ ณ ที่ตลาดแห่งนี้ จึงรับได้กับความเป็นมูเซอ ในฐานะชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเอง

ฉะนั้น ถ้า เจ้าของความเป็นชาติพันธุ์ออกมา พูดอย่างนี้ สงสัยเราต้องมีการรื้อปรับ องค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ที่ถูกเขียน ถ่ายทอด และกำหนดไว้ในลักษณะภาพลักษณ์ตายตัว (Monotype) กันเสียใหม่จะดีไหม

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 174012เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2008 13:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

เอารูปมาลงด้วยดีไหมคะ

เดี๋ยวจะเอาภาพโหลดขึ้นให้ค่ะ

ขอบพระคุณครับ อาจารย์

ไปคราวนี้ ผมไม่ได้เอากล้องไปด้วย

เลยอดเอารูป มาอวด จนได้

ครับอัตลักษณ์ ปรับเปลี่ยนลื่นไหลดังเช่น "วัตถุย่อมไม่ดับสูญ"แต่ปรับเปลี่ยน ตาม สภาพแห่งเหตุและปัจจัย

พอมาอ่านบทความตอนนี้ ทำให้คิดถึงคำว่า..กะเหรี่ยง./.ปกาเกอะญอ..และมา เปรียบเทียบกับ..มูเซอร์..ลาหู่.. คำบางคำถูกเลือกใช้ เพราะ คำนั้นมี ราคา และราคา สร้างอำนาจ

พาลเลยเถิดถึงคำว่า..พริกกะเหรี่ยง ..เกี๋ยวเตี๋ยวลูกชิ้นพริกกะเหรี่ยง..ที่บางท่านเคยได้ยินสรรพคุณ ว่าพริกกะเหรี่ยงทั้งเผ็ด และฉุน(หอม)และบ้างก็คงได้ลิ้มชิมรส สมมุติว่า พริกกะเหรี่ยง ถูกเรียกว่า..พริกปกาเกอะญอ..ธุรกิจเกี๋ยวเตียวลูกชิ้นพริกกะเหรี่ยง..คงต้องสั่นสะท้านสะเทือน..เป็นแน่แท้ครับ ถ้ามีเวลาผมจะหาโอกาสมาร่าย ..พริกกะเหรี่ยงตัวตนคนกะเหรี่ยง" ดูถ้าจะดีหรือไม่ดี ครับ

ทำไปทำมาจะมาเป็นแฟนคลับกันเสียแล้วครับ

อืม ดังเช่น อ.วุฒิ ว่าครับ

คำว่า "กะเหรี่ยง" ที่หมายถึงตัวตน ทำไมถึงมีความหมายไปในเชิง

ความล้าหลัง "กะเหรี่ยงตกดอย"

ความหวาดระแวง "พวกกะเหรี่ยงบุกเมือง"

ความด้อยอารยะ "อี๋ กะเหรี่ยง"

และอีกจิปาถะ

แต่ถ้าหากถูกนำไปผนวกเข้ากับ สิ่งที่ "เรา" เป็นผู้ที่ได้ประโยชน์ทั้งทางกายและใจ

ดังเช่น กรณี "ก๋วยเตี๋ยวพริกกะเหรี่ยง"

ทำไมถึงให้การยอมรับและยินยอมในการจะเข้าไปถึง "การใช้อัตลักษณ์เพื่อการบริโภค" ส่วนหนึ่งคงเป็น สิ่งที่คนเขาพูดกันว่า "Exotic" เช่นเดียวกับที่ฝรั่งเห่ออาหารไทย

และในที่นี้ "ก๋วยเตี๋ยวกะเหรี่ยง" ผมก็มองว่า คงเป็นการบริโภคอัตลักษณ์เชิงวัฒนธรรมที่ถูกผนวกเข้ากับความเป็นตัวตนของพี่น้องชาวกะเหรี่ยง

สวัสดีครับ

สำหรับคนนอกแล้ว บางทีก็งงๆ สับสนได้มาก

ผมก็เคยประสบเหตุการณ์ทำนองนี้

แต่เจ้าตัวเขาก็ไม่ค่อยใส่ใจเท่าไหร่ ว่าจะเรียกอย่างไร

เพราะเราไม่ได้มีท่าทีดูถูกเขา

คำที่ใช้กันถูกต้อง เช่น ลาว, ไทย ถ้าใส่ความรู้สึกไม่ดีเข้าไป ก็ไม่เหมาะเหมือนกัน

ฉะนั้น ความหมายไม่ได้อยู่ที่รูปศัพท์ แต่อยู่ในคำศัพท์ที่เขาใช้นั้นเอง

เคยไปบ้านชาวกะเหรี่ยง ได้กินพริกกะเหรี่ยง อิๆ เป็นพริกอย่างอื่นไม่ได้เลย

นึกถึงหลายชื่อที่เปลี่ยนกัน แต่บางชื่อก็ยังไม่เปลี่ยน อย่าง น้ำพริกนรก ก็ได้ยินมานาน ไม่มีใครว่าอะไร ก่อนนี้มีเรื่องโจ๊ก จะเปลี่ยน "แห้ว" เป็น "สมหวัง" ได้ขำกันอยู่พักหนึ่ง

เราก็ไม่ชอบให้ใครมาเรียกเราว่า มูเซอ เพราะมันไม่ใช่ชื่ออริจินอล ของเรา แล้วภายในหมู่บ้าน พวกเราก็ไม่ได้ใช้คำนี้ด้วย เป็นชื่อที่ใครก็ไม่รู้ มาใช้เรียกพวกเรา ก็เหมือนกับว่าถ้าคนไทยคนหนึ่ง ถูกเรียกว่า ไอ้บ๊อง ไอ้เหี้ย จะมีความรู้สึกยังไง? ลาหู่บางคนเค้ารับคำนี้ได้ ไม่ใช่เพราะเค้ายอมรับได้หรือเพื่อการค้าหรอก เค้าเขียนอ่านภาษาไทยไม่ออกต่างหาก ไม่รู้ว่าคำว่า มูเซอ แปลว่าอะไรในภาษาไทย อยากให้คนที่เรียกพวกเราว่ามูเซอ ให้ทวบทวนคิดดูใหม่ แล้วเรียกพวกเรา(ลาหู่)อย่างที่พวกเราเป็น แล้วได้โปรด อย่าเรียกพวกอาข่า ว่าอีก้อ (สงสารเค้า) เค้าก็คนเหมือนกัน มีเกียรติศักดิ์ศรีเท่ากันกับคนอื่น อาข่าไม่ใช่ อีก้อ หรือ อี......อะไรต่างๆ ที่ ในคำภาษาไทยมันมีความหมายในแง่ลบ ถ้าลองมาเปลี่ยนเป็นคุณที่ถูกเรียกก็คงไม่ชอบ ไม่พอใจเหมือนกัน จริงมั้ย?

ผมเป็นคนลาหู่นะ อยากให้เรียก ลาหู่มากกว่านะครับ

I'm is Lahu, I went your call me <Lahu>.

thank you so much.

Thank you for your the kindnese.

LAHU LANGUAGE.

CEH SA CEH LA AW CAW O.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท