AnthroCat-Thailand
นาย ปรัชญาณินทร์ วงศ์อทิติกุล

เหตุเกิดที่บ้านปูแป้ ตำบลพะวอ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก


คุณพ่อมนัส ก็บอกว่า “ถึงจับได้ ก็ไม่มีวันหมด เพราะปกาเกอญอถือมีดตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ พอคลอดออกมาร้องอุแว้ ก็พร้อมจะตัดไม้อยู่แล้ว” การที่คุณพ่อมนัสพูดแบบนี้ไม่ใช่เป็นการประชดชาวปะกาเกอญอในหมู่บ้าน แต่คุณพ่อกำลังจะสื่อให้เห็นว่า วิถีความเป็นอยู่ของชาวปะกาเกอญอที่หมู่บ้านปูแป้นั้นใช้การยังชีพจากธรรมชาติและอยู่ร่วมกับป่าตั้งแต่เกิดจนตายต่างหาก.....เหตุที่นำไปสู่ภาวะสมานฉันท์เช่นนี้ เกิดจากความสัมพันธ์ทางเครือญาติของชาวปะกาเกอญอในหมู่บ้าน และความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน ที่ไม่อาจถูกแบ่งแยกด้วยระบบความเชื่อของแต่ละฝ่าย อีกประการหนึ่งเป็นเพราะผู้นำด้านจิตวิญญาณของทั้งสองกลุ่มมีความเข้าใจในสารัถถะของธรรมะที่แท้จริงด้วย

 

 

 

 

 

 

บันทึกนี้ได้จากการลงพื้นที่ในฐานะผู้สนใจทั่วไปในงาน สมัชชาชนเผ่าประจำปี 2551/2008” ที่บ้านปูแป้ ตำบลพะวอ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2551 (จริง ๆ จัดตั้งแต่วันที่ 24-27 มีนาคม 2551) ก่อนอื่นขอเล่าถึงหมู่บ้านนี้เสียก่อน

          โดยตลอดระยะการเดินทางเข้าไปก่อนจะถึงหมู่บ้านปูแป้ สองข้างทางมีสภาพภูมิประเทศเป็นเนินเขาเตี้ยและถูกถางเตียนโล่งเพื่อใช้เป็นพื้นที่ทำการเกษตรปลูกข้าวโพด กล้วย ผัก เลี้ยงสัตว์ และเป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มคนอาศัยอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน เป็นหมู่บ้านทั้งที่เป็นคนไทยที่ไม่ใช่ชนเผ่าที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ห่างจากถนนสายตาก-แม่สอด ไม่ไกลนัก เริ่มตั้งแต่หมู่บ้านปางส้าน ถัดไปเป็นหมู่บ้านแม่ละเมา ไปถึงหมู่บ้านห้วยไคร้ ในพื้นที่ของหมู่บ้านห้วยไคร้นี้มีอีกหลายหมู่บ้านที่อาศัยอยู่ติดกัน จากนั้นผ่านไปจนถึง หมู่บ้านปูแป้ หมู่บ้านของชาวกะเหรี่ยงที่เรียกตัวเองว่า ปกาเกอญอ

          การเดินทางไปที่หมู่บ้านปูแป้ครั้งนี้ เพราะได้รับการเชิญชวนจาก อาจารย์แหวว (รองศาสตราจารย์ ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร) ที่เดินทางไปร่วมงานและอาจารย์รับผิดชอบกิจกรรมในส่วนของการอธิบายถึงกฎหมายสัญชาติฉบับใหม่ให้แก่ชาวบ้านที่มีปัญหาด้านสถานะบุคคล ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้เขียนเองมีความสนใจอย่างมากและสืบเนื่องมาจากการทำวิทยานิพนธ์ที่สำเร็จแล้วมาจนถึงปัจจุบันนี้ ก็ยังคงสนใจและติดตามอยู่เสมอ

หมู่บ้านปูแป้มีจำนวนครัวเรือนผู้อยู่อาศัยประมาณ 180 หลังคาเรือน ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีเพียงจำนวนหนึ่งที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกประมาณ 26 ครัวเรือน ชาวปกาเกอญอในหมู่บ้านเป็นผู้มีสัญชาติไทยเกือบทั้งหมด แต่ยังมีผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยอยู่ประมาณ 10 กว่าคน  ดังนั้น ปัญหาสำคัญของพี่น้องชาวปกาเกอญอ หมู่บ้านปูแป้ อันที่จริงมีอยู่หลายปัญหาที่สืบเนื่องมาจาก 2 ปัญหาใหญ่ คือ 1) ปัญหาสถานะบุคคลของคนที่ตกค้าง และ 2) ปัญหาพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน แต่ผู้เขียนขออนุญาตกล่าวถึงแค่ 2 ปัญหานี้เท่านั้น

จากการลงพื้นที่ครั้งแรกในครั้งนี้ ผู้เขียนก็พบว่าปัญหาหลักคือปัญหาพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน เพราะว่า จังหวัดตากได้ออกประกาศให้พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่อุทยานและเขตป่าสงวน ซึ่งเป็นการประกาศทับลงบนพื้นที่อยู่อาศัยคือพื้นที่ของหมู่บ้านและพื้นที่ทำกินที่อยู่รายรอบหมู่บ้านที่ชาวบ้านได้อยู่อาศัยและใช้ประโยชน์มาหลายช่วงอายุคน สภาพการสัญจรในหมู่บ้านเป็นถนนคอนกรีต มีไฟฟ้าใช้

อันที่จริงชาวปกาเกอญอหมู่บ้านปูแป้ ไม่ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ พื้นที่ปัจจุบันมาตั้งแต่แรกเริ่ม แต่จากการบอกเล่าโดย คุณพ่อมนัส ศุภลักษณ์ บาทหลวงประจำวัดคาทอลิกในหมู่บ้านปูแป้ ในวันที่ท่านขึ้นให้ความรู้แก่ชาวบ้านเกี่ยวกับเรื่อง การบริหารจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีส่วนร่วมว่า แต่เดิมชาวปกาเกอญอตั้งถิ่นฐานไกลจากที่ปัจจุบัน คือ เลยจากบริเวณศาลพะวอไปหน่อย แล้วจึงย้ายมาที่บริเวณวัดดอนแก้ว และพื้นที่ปัจจุบันไม่สามารถจะโยกย้ายไปแห่งไหนได้อีกเพราะติดภูเขา คุณพ่อมนัสบอกว่า ที่ย้าย เพราะหนีคนไทย อาชีพในปัจจุบันของชาวบ้านยังคงดำรงชีพแบบเดิม คือ เก็บของป่า นายพรานล่าสัตว์ ประมง (สระ ลำห้วย) เลี้ยงวัว ควาย ช้าง ที่สำคัญยังคงใช้ป่า เพื่อประโยชน์ยังชีพและอยู่ร่วมอาศัย

ดังนั้น บ่อยครั้งที่ชาวบ้านที่เข้าไปเลี้ยงสัตว์ หาของป่า ถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้จับในข้อหาบุกรุกเขตป่าสงวน คุณพ่อมนัสก็บอกว่า ถึงจับได้ ก็ไม่มีวันหมด เพราะปกาเกอญอถือมีดตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ พอคลอดออกมาร้องอุแว้ ก็พร้อมจะตัดไม้อยู่แล้ว การที่คุณพ่อมนัสพูดแบบนี้ไม่ใช่เป็นการประชดชาวปกาเกอญอในหมู่บ้าน แต่คุณพ่อกำลังจะสื่อให้เห็นว่า วิถีความเป็นอยู่ของชาวปกาเกอญอที่หมู่บ้านปูแป้นั้นใช้การยังชีพจากธรรมชาติและอยู่ร่วมกับป่าตั้งแต่เกิดจนตายต่างหาก

ชาวปกาเกอญอส่วนใหญ่ออกไปทำไร่ในช่วงเวลากลางวัน จะมีเพียงชาวปกาเกอญอบางคนที่เป็นแม่บ้านอยู่กับบ้าน ทำการทอผ้าที่มีลวดลายเป็นของตนเองด้วยมือ ส่วนหนึ่งเอาไว้เพื่อขายและส่วนหนึ่งก็เพื่อไว้ใช้สอยของสมาชิกในครอบครัว ภายในบริเวณบ้านมีการเลี้ยงหมูดำ ไก่ และวัวพันธุ์

ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ เกิดขึ้นเพราะรัฐไม่เชื่อว่าชาวบ้านมีความรู้และสามารถบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ด้วยตนเอง ซึ่งคงเหมือนกรณีทั่วไปที่รัฐมักจะบอกว่า ชาวบ้านหรือกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าไม้ คือ ผู้ทำลายทรัพยากรป่าไม้ ดังนั้น การตื่นตัวและการต่อสู้เรียกร้องของชาวบ้านจึงมุ่งมาด้านนี้เป็นหลักมากกว่าด้านปัญหาสถานะบุคคล

อีกประการหนึ่ง ขณะนี้ได้มีการตื่นตัวเกี่ยวกับการปลูกพืชทางการเกษตรที่เป็นระบบ Contact Farming ของชาวบ้านหมู่บ้านรอบข้าง ซึ่งจากที่ได้เล่าว่า สองข้างทางก่อนที่จะเดินทางไปถึงหมู่บ้านปูแป้นั้น ถูกถางเตียนโล่งเพื่อเตรียมไว้ เพื่อเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดในระบบ Contact Farming ที่กล่าวถึงนี้ โดยมีบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ประกอบธุรกิจด้านอาหารสัตว์ในประเทศไทยเป็นนายทุน ด้วยการทำการเกษตรด้วยระบบ Contact Farming นี้ ผู้ทำต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยและฮอร์โมนจากบริษัทนายทุน ถึงแม้จะมีการนำเมล็ดจากผลผลิตมาเป็นเมล็ดพันธุ์ปลูกอีกครั้ง ก็ให้ผลผลิต(คุณภาพ)ได้ไม่เท่าเมล็ดพันธุ์ที่ซื้อมาจากบริษัทนายทุน ดังนั้น ระบบ Contact Farming จึงเป็นระบบอุตสาหกรรมการเกษตรแบบผูกขาดในทุกด้าน ยิ่งไปกว่านั้น พันธุ์พืชพื้นเมืองที่เคยปลูกกันก็จะค่อยๆ สูญหายไปเรื่อย ๆ อย่างช้า ๆ จนกระทั่งสูญพันธุ์ไปในที่สุดอีกด้วย

หันกลับมาว่าเรื่อง พื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน ด้วยความที่ชาวปกาเญอหมู่บ้านปูแป้ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งส่วนที่เป็นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน ถึงแม้จะได้รับการยืนยันว่าพวกตนอาศัยอยู่ ณ พื้นที่แห่งนี้มานานกว่า 100 ปี (จากการสอบถามจากผู้ใหญ่บ้านที่บอกว่า ตนเองเป็นคนที่เกิดและเติบโตที่นี้ ในชีวิตของตนเองได้เห็นทั้ง พ่อ ปู่) ดังนั้น ความต้องการของพวกชาวปกาเกอญอหมู่บ้านปูแป้ คือ ต้องการจัดการ ควบคุมและดูแลป่าไม้ด้วยชุมชนร่วมกันกับป่าไม้จังหวัด โดยการจัดคณะทำงานหรือหน่วยอาสาสมัครภาคประชาชนไว้คอยสอดส่องดูแลซึ่งกันและกัน (ผู้เขียนคิดว่าคงจะมีการขยายออกไปเป็นเครือข่ายร่วมกับหมู่บ้านอื่น ๆ ที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ป่าเดียวกัน) ซึ่งการยื่นข้อเสนอในลักษณะนี้ต่อรัฐ จะได้รับการตอบรับและเกิดผลหรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามต่อไป ภายใต้พระราชบัญญัติป่าไม้ชุมชนของรัฐไทย

ปัญหาที่สอง คือ ปัญหาด้านสถานะบุคคล ก็ถือว่าเป็นปัญหาสำคัญไม่น้อยไปกว่าปัญหาที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น เพราะการไม่มีสถานะบุคคลใด ๆ ของคน ๆ หนึ่ง ย่อมส่งผลในด้านต่าง ๆ ต่อตัวเขาได้อย่างไม่มีวันสิ้นสุด ซึ่งอาจารย์แหววก็ได้เสนอว่า ทั้งสองปัญหานี้สามารถแก้ไขไปพร้อมกันได้ ซึ่งผู้เขียนก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง

ปัญหาที่ต่อเนื่องมาจากปัญหาการดำเนินการเกี่ยวกับสถานะบุคคลที่ชาวปกาเกอญอมีอยู่ในขณะนี้ คือ หนี้สินที่คั่งค้าง ยังชำระคืนนายทุนเงินกู้ที่เป็นพี่น้องคนไทยจากหมู่บ้านข้างนอกไม่หมด เพราะเพื่อนคนหนึ่งที่ลงพื้นที่และเป็นทีมงานของคุณพ่อมนัสเล่าว่า ชาวบ้านต้องไปกู้เงินเขามา เพื่อวิ่งไป วิ่งมา ในการทำเรื่องสัญชาติ ตอนนี้ก็ยังคืนเขาไม่หมด หนี้สินที่มี เอามาซื้อรถกะบะได้ครอบครัวละคันเลยทีเดียว

อันที่จริง ถ้าการทำงานของคนของรัฐตรงไปตรงมาและคนที่ต้องการซึ่งสถานะภาพบุคคลที่ถูกต้องของตนเอง ต่างฝ่ายต่างไม่คิดฉ้อฉลหรือคิดเอาแบบทางลัด ก็คงไม่จำเป็นต้องใช้เงินทองอะไรมากมายขนาดนั้น ซึ่งผมก็พอจะมองเห็นภาพได้ว่า เมื่อก่อนก็ลำบากในเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับตัวตน พอได้สัญชาติเป็นคนไทย (ซึ่งเป็นอยู่แล้ว) ก็ต้องมาเผชิญปัญหาที่อยู่ที่ทำกินอีก ก็น่าใจหายและน้อยใจในโชคชะตาที่ลำบากอย่างนี้พอสมควร

ดังที่ได้กล่าวเอาไว้แล้วว่า ชาวปกาเกอญอ หมู่บ้านปูแป้ มีอยู่ 2 กลุ่มความเชื่อ ถึงแม้จะต่างความเชื่อต่างศาสนาก็ไม่ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งใด ๆ ระหว่างชาวปกาเกอญอในหมู่บ้านแห่งนี้ ซึ่งคุณพ่อมนัส เล่าว่า ถึงแม้ชาวบ้านจะต่างความเชื่อต่างศาสนา แต่เราก็อยู่ด้วยกันได้ ต่างฝ่ายต่างให้ความร่วมมือระหว่างกันในการทำกิจกรรมของหมู่บ้านหรือช่วยงานของแต่ละฝ่ายในด้านการศาสนาได้เป็นอย่างดีอีกด้วย และบางที่ชาวพุทธก็ยังมาช่วยงานในงานฉลองวัด (คาทอลิก) กันเกือบทั้งหมู่บ้าน

เมื่อถามถึงการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้เปลี่ยนศาสนาโดยหันมารับศาสนาคริสต์ คุณพ่อมนัสก็กล่าวว่า เท่าที่อยู่ที่นี้มา 5 ปี จำนวนผู้ที่มารับเชื่อเป็นคริสตัง ไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าจะเพิ่มก็เพิ่มจากคนที่เป็นลูกของชาวปะกาเกอญอที่คริสตังอยู่แล้ว

จากประเด็นข้างต้นนี้ ทำให้มองเห็นถึงความสมานฉันท์ที่แท้จริงที่ดำรงอยู่ท่ามกลางความต่างของระบบความเชื่อได้อย่างกลมกลืน ที่ต่างฝ่ายต่างยอมรับในระบบความเชื่อของอีกฝ่ายได้เป็นอย่างดี ณ จุดนี้ จึงทำให้ผู้เขียนมองไปที่ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังคงมีอคติทางชาติพันธุ์และศาสนาอยู่อีกหลายพื้นที่ ที่สำคัญ ความใจกว้างของชาวปะกาเกอญอที่เป็นพุทธศาสนิกชนที่มีต่อชาวปะกาเกอญอที่เป็นคริสตังในหมู่บ้านปูแป้นี้ ล้ำเลิศมากมายเกินคำบรรยายยิ่งนัก อีกอย่างหนึ่ง สถานที่ที่ใช้จัดการประชุมสมัชชาชนเผ่า ซึ่งทั้งหมดที่มาเป็นชนเผ่าต่าง ๆ ที่เป็นคริสตัง ก็จัดขึ้นที่ศาลาการเปรียญหลังใหม่ที่เพิ่งสร้างเสร็จในบริเวณของวัดพุทธ เจ้าอาวาสวัดพุทธกับเจ้าอาวาสวัดคริสต์ก็ต่างมีมิตรไมตรีที่ดีต่อกัน

เหตุที่นำไปสู่ภาวะสมานฉันท์เช่นนี้ เกิดจากความสัมพันธ์ทางเครือญาติของชาวปกาเกอญอในหมู่บ้าน และความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน ที่ไม่อาจถูกแบ่งแยกด้วยระบบความเชื่อของแต่ละฝ่าย อีกประการหนึ่งเป็นเพราะผู้นำด้านจิตวิญญาณของทั้งสองกลุ่มมีความเข้าใจในสารัตถะของธรรมะที่แท้จริงด้วย 

 

หมายเลขบันทึก: 173654เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2008 10:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:53 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

เยี่ยมค่ะ

เสนอให้เขียนใน คำสำคัญว่า "คุณพ่อมนัส ศุภลักษณ์" ด้วยค่ะ

เกษตรพันธะสัญญา (contact farming)นี่มันไปทุกที่จริงๆ

เยี่ยมมาก ๆค่ะ

ถ้าจำไม่ผิด สามหมื่นทุ่ง เป็นชื่อที่ใช้เรียกชุมชน

ผ่านมาเกิน 10 ปีแล้ว เคยไปออกค่ายอาสาพัฒนาตนเอง กับโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ขึ้น-ลง เขามาแล้ว 5 ครั้ง ชอบบรรยากาศ 2 ข้างทางมาก สามารถร้องเพลงเกี่ยวกับธรรมชาติกันได้ตลอดทาง

ชุมชนชวปกาเกอญอนี้ มีเรื่องราวอีกมากมายหลายอย่างให้เราเรียนรู้ ธรรมเนียมขึ้นบ้านแล้วต้องดื่มจนหมด สร้างความสนุกสนานให้ทีมแพทย์ ที่ไม่เคยดื่มของเราอยางยิ่ง

ในเรื่องเล่าเป็นประสบการณ์ การเล่าที่ดี เกิดขึ้นจากความรู้สึกของผู้เล่าอย่างแท้จริง ชอบประโยค "ผู้นำด้านจิตวิญญาณของทั้งสองกลุ่มมีความเข้าใจในสารัตถะของธรรมะที่แท้จริง" นี้มาก

ถ้า มิมี อ.แหวว.. ส่งสารมา คงไม่ได้ อ่านบทความดีๆ อย่างนี้ ครับ ดังนั้น

...จึงขอขอบพระคุณ อ.แหวว เป็นอย่างยิ่งที่ สะกิดให้เข้ามาอ่านเนื้อหาที่ตรงนี้

...และอยากจะบอกกับผู้เขียนว่า นำเสนอได้น่าสนใจ โดยเฉพาะประเด็นที่ทำให้เห็น" ความแตกต่างแต่ไม่แตกแยก" ของคนเผ่าเดียวกันในชุมชน ปูแป้ ซึ่งผมมองว่า พระ พุทธ และ พระคริสต์ ที่บ้านนี้ เขาเข้าถึงธรรมว่าด้วยความ สมานฉันท์

เห็นว่าผู้นำเสนอได้นำเสนอเกี่ยวกับ ชนชาวปกาเกอะญอ เพราะมีความสนใจในศาสตร์ของสังคม/มนุษย์ อยากจะชวนผู้เขียนบทความ ลองแวะไปดู กระทู้ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ " การเสวนาว่าด้วยการเรียกชื่อ..กลุ่มชาติพันธุ์ กะเหรี่ยง" ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ได้จัเวทีเสวนา (ถ้ามีเวลาอยากจะชวนแวะแลกเปลี่ยนในกระทู้นี้ด้วยครับ)

ก่อนอำลา จากกัน อยากบอกว่า จะเข้ามาเยี่ยมอ่านทีนี่อีกครับ

เพิ่มเติมในความเห็นที่ 5 ครับ

ลืมบอกไปว่า กระทู้ที่ว่านั้น อยู่ในกระดานถาม - ตอบ ของ www.hilltribe.org .ครับ

ผมมีเกร็ดเล็กๆน้อยๆ เล่าสู่กันบนพื้นที่แห่งนี้ เป็นเรื่องที่อาจจะเกี่ยวโยงกับ ผู้คนปกาเกอะญอ และ พื้นที่ เส้นทาง แม่สอด - ตาก เมื่อประมาณปี ค.ศ.1871ก็ย้อนเวลากลับไปราวๆ 137ปี ก็คงเป็นช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5

เป็นเรื่องของมิชชั่นนารีคาทอลิก ชาวฝรั่งเศส ชื่อ คุณพ่อ สมิต ที่เดินทางจากเมาะละแหม่งในพม่า ข้ามเทือก ธนนธงชัย มายังเมืองระแหง(ตาก)จากบันทึกการเดินทางระหว่าง เส้นทาง เมียวดี ผ่านป่าเขา ในครั้งนั้นท่านได้บันทึกถึงผู้คนระหว่างเส้นทาง ว่าได้พบกับคนกะเหรี่ยง(ปกาเกอะญอ)

ในบันทึกนั้นว่าอย่างนี้ครับ

....ข้าพเจ้าออกจากเมืองเมียวดีแต่เช้า ข้ามแม่น้ำแล้วก็ขี่ช้าง...ลาวคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นควานทหารสองคนถือปืนติดตามมา เราเริ่มเข้าป่าใหญ่ทันทีโดนเดินเป็นเส้นตรงจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก มุ่งไปเมืองตาก เราเดินไปตามเส้นทางเล็กๆผ่านสายน้ำเชียว ผ่านภูเขา ไท่ได้หยุดแม้แต่ครู่เดียวเลย พอหัวค่ำก็มาถึงหมู่บ้านกะเหร่ยงแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่บนทางแคบๆ ระหว่างเขาริมแม่น้ำสายเล็กๆสายหนึ่งหัวหน้ากะเหรี่ยงต้อนรับข้าพเจ้าอย่างดียิ่ง เชิญให้นอนในบ้านของเขา...

ที่มา..

ประวัติพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย น.208-209สนพ.แม่พระยุคใหม่

ทำให้ผมเห็นภาพลางๆ ถึงไม่กระจ่างชัดแจ้งแต่ก็พอคาดคะเนเอาเองว่า ระหว่างเส้นทางโบราณ ระหว่างเมียวดี มาเมืองระแหง โดยเส้นทาง ที่ต้องผ่านด่านแม่ละเมา ซึ่งเป็นเส้นทางเก่าที่ไม่ใช่สายตัดใหม่ในปัจจุบัน บ้านปูแป้ ต.พะวอ ( พะวอ คือนายด่าน คนกะเหรี่ยง) บรรพบุรุษของคนกะเหรี่ยงบ้าน ปูแป้ คงเป็นผู้ทำหน้าที่ดูแล ช่องทางด้านด่านแม่ละเมา ย้อนกลับไป เมื่อสมัย พระเจ้าตาก จากบันทึกทางประวัติศาสตร์อะแซหวั่นกี้ใช้เส้นทางทางสายนี้ ติดตามครัวมอญเข้ามา บรรพบุรุษของคนปกาเกอะญอในละแวกนี้ก็คือคนที่อยู่มากว่า 200 ปี ประมาณนั้นถ้าเชื่อมโยง อดีตมาสู่ปัจจุบัน ดดยอาศัยหลักฐานที่มีอยู่

ครับก็อย่างที่เคยบอกว่า..จะกลับมาเยี่ยมอ่านที่นี่อีกครับ..ในความเห็นที่ 5

มาแล้วมีอะไรก็ขีดเขียนคุยกันครับ

เป็นความรู้ที่ดีมาก ๆ เลยครับ อ.วุฒิ (ตามไปดูที่ เวปบอร์ดที่แนะนำไว้ ใคร ๆ ก็เรียกท่านว่า อาจารย์ ก็เลยขอเรียกตามแล้วกัน)ซึ่งตัวผมเองยังไม่ได้ลงลึกในเนื้อหาของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอญอกลุ่มนี้สักเท่าไหร่ (ถ้าจะให้เข้าใจและรู้มากยิ่งขึ้น ต้องไป participate กันอย่างน้อยสัก 6 เดือน)

การที่ผมได้มีโอกาสไปที่หมู่บ้านปูแป้แห่งนี้ ก็เป็นครั้งแรก และไม่ได้คุยและสอบถามลึกลงไปในเนื้อหาประวัติศาสตร์ชุมชนหรือความเป็นมาของบรรพบุรุษของชาวปกาเกอญอกลุ่มนี้เลยแม้แต่น้อย

แต่ที่ผมเขียนว่า กว่า 100 ปี ก็เพราะผมเทียบเคียงเอาจากอายุของผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันที่มีอายุประมาณ 50 ต้น ๆ บวกด้วยระยะห่างของอายุบิดาและปู่ ที่ห่างประมาณ 20 ปี แต่ไม่น่าจะเกิน 30 ปี ก็จะสามารถย้อนถึงระยะเวลาของการการอยู่ในชุมชนของคน ๆ หนึ่งได้ถึงเกือบร้อยปี แต่ถ้า รุ่นพ่อได้เห็นทวด ขณะที่เกิดและเติบโตมา ณ ที่แห่งนี้ ก็เกิน 100 ปี แหง ๆ ชัวร์ป๊าด ครับ อ.วุฒิ

ขอบพระคุณมากที่ นำเอา ความรู้นี้มาเผยแพร่ ซึ่งจากเอกสารที่อ้าง ก็เอามาจากเอกสารที่ไม่ค่อยได้มีเผยแพร่มากนัก (ผมคิดอย่างนี้ เพราะคิดว่า โดยส่วนมากเอกสารที่จัดพิมพ์โดยสายคาทอลิก มักจะไม่ค่อยเผยแพร่ แต่จะมีอยู่ในห้องสมุดขององค์กรตัวเองมากกว่า)

ขอบคุณครับ ที่มาเยี่ยมเยียน Blog ของผม

ว่าแต่ว่า อ.วุฒิ น่าจะมี Blog หรือมีแล้วก็ บอกหน่อยละกัน จะไปถล่ม ครับ

สงสัยโอ๋ต้องไปเยี่ยม อ.วุฒิที่สวนผึ้งกับพี่เสียแล้ว

เขียนได้เห็นภาพเลยค่ะ นึกถึงวันที่เข้าไปประชุมจริงๆ

พี่โอ๋เขียนได้ดีมากเลยอะครับ อ่านแล้วเข้าใจที่ต้องการสื่อได้อย่างชัดเจนเลยครับ

เป็นคนบ้านปูแป้คะ ดีใจมากค่ะที่มีคนสนใจที่นี่ และที่อ่านมาทั้งหมดเป็นความจริงค่ะ

เป็นอดีตเด็กนักเรียนที่คุณพ่อมนัส ศุภลักษณ์ เคยมีบุญคุณอย่างถ่วมท้นในการให้การศึกษาและให้ข้อคิดในการดำเนินชีวิตและตอนนี้อยากทราบว่าจะติดต่อท่านได้อย่างไร พอจะมีใครทราบบ้างไหมคะถ้ามีขอความกรุณาติดต่อกลับทาง e-mail จะขอบพระคุณอย่างยิ่งค่ะ ขอขอบคุณพื้นที่ดีๆตรงนี้ที่ทำให้ได้ข้อมูลของคุณพ่อมนัส เพิ่มเติมด้วยนะคะ ขอบคุณมากค่ะ

ผมไม่มีเบอร์คุณพ่อมนัส ครับ

แต่ถ้าจะสอบถาม

ผมคิดว่า ลองติดต่อไปที่ สังฆมณฑล ที่คุณพ่อมนัส ท่านสังกัดดูนะครับ

ขอบคุณที่มาเยี่ยมครับ

อันที่จริงคนปูแป้เองกับคนสามหมื่อนทุ่งเขายังมีคาทอลิกเยอะกว่าที่เห็นเพราะคนไม่ยอมสำรวจตัวเองว่าควรจะต้องเปลี่ยนคนใหม่ได้แล้วอยู่ไปทำให้คนเสื่อมศัทธา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท