การจำลองคลื่น...กัดเซาะบางขุนเทียน...(กรณีศึกษา)


 

กราบสวัสดีทุกท่านครับ

       สบายดีกันนะครับ ช่วงหนึ่งเคยมีข่าวเรื่องการนำเสนอเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งทะเลทางภาคใต้ โดยเฉพาะชายฝั่งหาดทรายครับ ต่อมาช่วงนี้ จะมีการพูดถึงการกัดเซาะชายฝั่งที่เป็นหาดโคลน ชายเลนกันอีกนะครับ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าชายเลนบริเวณ บางขุนเทียนนะครับ ซึ่งเห็นว่า กทม. จะมีการสนับสนุนงบประมาณในการหาทางแก้ไข 316 ล้านบาท

       ส่วนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งก็ต้องหาทางออกทางแก้กันด้วยตัวเอง ทดลองกันหลายๆ วิธีจากที่ตามข่าวนะครับ ที่ได้ในที่สุดคือการปักไม้ไผ่เป็นกลุ่มๆ พบว่าจะมีการทำให้เกิดการสะสมของตะกอนมากขึ้นบริเวณหลังแนวไม้ไผ่

       ผมเคยนำเสนอเรื่องการจัดวางเรียงหินชายฝั่งทะเลไปในบทความนี้ ...มาเรียงหินชายฝั่ง มานั่งดูคลื่นสึนามิ และ ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง - คนหนึ่งฝัน คนหนึ่งแก้ คนหนึ่งไม่สนใจ  ตอนแรกคิดว่าจะวางหินอย่างไรในการรับแรงต้านคลื่นสึนามิ ก็เกิดความถามมากมายว่าจะต้องหินขนาดไหน เอาหินจากไหน จัดเรียงอย่างไร วางห่างไกลฝั่งอย่างไร เกิดผลเีีสียต่อทิวทัศน์อย่างไร ซึ่งก็ต้องทำการวิจัยต่อไปครับ

       ผมได้รับข้อมูลจากกัลยาณมิตร(คุณเบิร์ด และพี่เหลียง) ช่วยจดรายละเอียดจากทีวีในรายการเกี่ยวกับรับฟังปัญหาจากชาวบ้านบางขุนเทียนมา ทำให้เข้าใจความเป็นอยู่ของชาวบ้านมากขึ้น ตลอดจนการต่อสู้ของชาวบ้าน โดยการใช้ธรรมชาติเพื่อต่อสู้กับธรรมชาติ (คือ เอาไม้ไผ่ไปต่อสู้กับคลื่น) จริง อาจจะเรียกว่า การเอาธรรมชาติไปต้อนรับธรรมชาติเพื่อป้องกันธรรมชาติ ดั่งที่เคยเสนอในไว้ในการวางหิน (เอาธรรมชาติ(หิน) ไปต้อนรับธรรมชาติ(คลื่น)เพื่อป้องกันธรรมชาติ(ฝั่ง)) ในหลักการเดียวกัน

       ผมขอเอาข้อมูลจากกัลยาณมิตรที่บันทึกไว้ให้เอามาฝากนะครับ เพื่อรับรู้พื้นฐานของข้อมูลกันเบื้องต้นนะครับ ก่อนจะไปสู่การจำลองในตอนท้ายครับ


 

แกนนำชุมชน นำโดย นายนรินทร์ บุญร่วม ข้าราชการบำนาญ อดีตประมงอำเภอมหาชัย  อาจารย์ประสาน เอี่ยมวิจารณ์  อาจารย์โรงเรียนพันท้ายนรสิงห์ และนายสมชาย ดวงล้อมจันทร์

 

    สมชาย ดวงล้อมจันทร์  แกนนำกลุ่มอนุรักษ์โคกขาม-พันท้ายนรสิงห์ บอกว่า วันหนึ่งเขาไปนั่งอยู่บนสะพานและเห็นไม้ไผ่ที่ปักอยู่ในน้ำ 1 ลำ แหวกน้ำออกเป็น 2 ข้าง จึงกลับมานั่งคิดว่าถ้าไม้ไผ่หลายลำก็น่าจะลดแรงเฉื่อยของน้ำได้ และยิ่งถ้าปักเป็นหลายๆ ชั้น นอกจากจะชะลอกระแสน้ำกว่าจะเข้าถึงฝั่งได้แล้ว ยังทำให้เลนตกตะกอนท้ายแนวไม้ ตอนนี้เมื่อเริ่มมาหลายปีโดยใช้พื้นที่หน้าบ้านของตัวเองก็พบว่านอกจากจะหยุดการกัดเซาะได้แล้ว ยังมีดินเลนงอกขึ้นมาสำหรับปลูกป่าชายเลน

เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึง ที่มาของปัญหา ที่ชุมชนประสบซึ่งมีอยู่ 2 ประการด้วยกัน คือ

ประการแรก......คลื่นลมที่แรงมากขึ้นๆทุกที ทำให้ตลิ่งถูกกัดเซาะ และป่าชายเลนเสียหายเป็นบริเวณกว้าง

ประการที่สอง...การทำประมงชายฝั่งของเรือลากหอยแครง เรืออวนรุนจับเคย โดยใช้อุปกรณ์การจับคือคราดและอวนตาถี่ เข้ามาลากบริเวณใกล้ฝั่ง  ส่งผลให้การจับตะกอนเลนหน้าผิวดินแตก เมื่อโดนคลื่นซัดกระหน่ำซ้ำเติม หน้าเลนก็มลายหายไปเรื่อยๆ

จากภาพถ่ายทางอากาศของป่าชายเลนในปี 2517 ค่อนข้างสมบูรณ์ พอในปี 2539 ความสมบูรณ์ของป่าเหลือแค่ 2 เปอร์เซ็นต์

ไม่น่าเชื่อว่า...เวลาผ่านไป 22 ปี ป่าชายเลนหายไปถึง 98 เปอร์เซ็นต์ !!!!!!!!!

เมื่อป่าหาย...แนวหน้าเลนชายฝั่งก็หายไปด้วย วัดได้เป็นกิโลเมตร ส่งผลให้การเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของท้องถิ่นนี้ต้องหดหายไปราว 60-70 เปอร์เซ็นต์

ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นทำให้ชาวบ้านเกิดการตื่นตัวที่จะต้องช่วยเหลือชุมชนของตัวเอง ในขณะที่ทางราชการยังเข้าไปช่วยเหลือไม่ถึง

สิ่งแรกที่ชาวบ้านคิดทำ ก็คือ การเร่งฟื้นฟูชายฝั่ง ป้องกันไม่ให้แนวป่าชายเลนพังทลายมากไปกว่านี้

ขั้นแรก ที่ต้องทำแบบเร่งด่วน คือการป้องกันแนวเขตจากชายฝั่ง 2 กิโลเมตร ให้เป็น "เขตโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาที่ยั่งยืน" เพื่อสงวนไว้ให้ชาวบ้านหากิน...ห้ามไม่ให้เรืออวนเข้ามาลากหอย...ปลา...ปู  ในเขตนี้ ซึ่งจะช่วยทำให้เลนในบริเวณนั้นตกตะกอน เป็นที่พักอาศัยหลบภัยและแหล่งหากินของสัตว์น้ำวัยอ่อนได้ต่อไป

การแสดงเขตอนุรักษ์ ก็คือให้เจ้าของที่ดินพื้นที่นากุ้งติดทะเล ปักไม้ไผ่ตงสูง 4 วา หรือ 8 เมตร เอาไว้ปักป้าย (ไม้ไผ่อยู่ในน้ำทะเลขึ้นๆลงๆอยู่ได้นาน 6 -7 ปี)  โดยปักต้นไผ่จำนวน 2 ต้นทุกๆระยะ 1 เส้น (80 เมตร) ซึ่งวิธีนี้แก้ปัญหาเรือใหญ่ไม่ให้เข้ามาเบียดเบียนทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่งได้ แต่ยังไม่สามารถป้องกันคลื่นลม คลื่นทะเลกัดเซาะชายฝั่งได้

ขั้นที่สอง ก็ต้อง สร้างแนวกันคลื่น

ขั้นตอนนี้จะปักกลุ่มไม้ไผ่ในลักษณะ 3 เหลี่ยม กลุ่มละ 55 ต้น หน้ากว้างด้านละ 4.5 เมตร เพื่อลดแรงคลื่นที่จะปะทะฝั่ง เศษไม้ที่ลอยมาติดลำไผ่ก็จะใช้เสริมทำให้ตะกอนเลนตกในบริเวณนั้น ผลพลอยได้จากวิธีการนี้ก็คือ ชาวบ้านใช้ต้นไผ่เลี้ยงหอยแมงภู่ และระหว่างกลุ่มต้นไผ่ ก็จะใช้วางกระชังเลี้ยงปูทะเล โดยชาวบ้านช่วยกันออกเงินคนละ 200 บาทมาทำกระชังปู

(ภาพตัวอย่างแนวไม้ไผ่ และภาพชายเปรียบเทียบฝั่งเมื่อปี 2517 และ 2539)

การปักไผ่นั้นเป็นผลงานของชาวบ้าน ม.8 ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.มหาชัย จ.สมุทรสาคร

ขั้นสุดท้าย คือการปลูกต้นไม้ชายเลนประเภทแสมสลับกับโกงกางเพื่อช่วยยึดและประคองหน้าดิน

จากการปรึกษาขอความรู้ด้านวิชาการ ทำให้ทราบว่าตะกอนจากการปักเสาไผ่จะขยายออกไปเรื่อยๆ

ส่วนป่าโกงกางนั้นถ้าขึ้นหนาแน่นเกินไปก็จะต้นลีบหัวโต ทำให้ประสิทธิภาพในการกักดินตะกอนลดน้อยลง โดยทั่วๆไปนั้นต้นโกงกางจะสูง 15 เมตรภายใน ปี ซึ่งอาจจะตัดมาใช้ประโยชน์ได้ โดยมีการปลูกทดแทนไปเรื่อยๆ

ขณะนี้ได้จัดกิจกรรม โดยมีอาสาสมัครทั้งประชาชนทั่วไป นักเรียน นิสิต นักศึกษา ข้าราชการ มาช่วยปลูกป่าชายเลน  และเก็บขยะที่ลอยมาติดตามแนวชายฝั่ง

ความคาดหวัง ของชุมชนจากการทำกิจกรรมต่างๆก็คือ พื้นที่ชายฝั่งงอกออกมา สามารถเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนได้มากขึ้น ปริมาณสัตว์น้ำและนกน้ำเพิ่มมากขึ้น และมีการจัดธนาคารปูม้าเพื่อส่งเสริมอาชีพของชาวบ้านในชุมชน 

 

ปัญหาที่ชาวบ้านประสบอยู่ในขณะนี้ มีอยู่สามประการคือ

ปัญหาด้านกฏหมายในพื้นที่ทำกิจกรรม.....พื้นที่ทั้งหมดเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน เจ้าของที่ดินบางแห่งไม่ให้ความร่วมมือกับชุมชน เจ้าของที่ดินชายฝั่งบางแห่งทำการป้องกันหน้าดินของตัวโดยการสร้างเขื่อนด้วยวัสดุต่างๆ ที่บางครั้งไปก่อให้เกิดผลกระทบ เกิดความเสียหายกับที่ดินข้างเคียง ซึ่งกฎหมายเอาผิดไม่ได้

ปัญหามลภาวะ......มีการทิ้งของเสียของคนในชุมชนและผู้ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ทำให้สกปรกและเป็นพิษต่อสัตว์ทะเลและนก

ปัญหาการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่รัฐ....ทางการยังไม่ได้เข้ามาให้การช่วยเหลือทางด้านงบประมาณและการจัดการอย่างเต็มที่

การฟื้นฟูชายฝั่งเป็นเรื่องที่จะต้องใช้ธรรมชาติสู้กับธรรมชาติ  การสร้างเขื่อนโดยใช้หินมาถมนั้นไม่เป็นไปตามธรรมชาติและต้องใช้เงินทุนมหาศาล การปักต้นไผ่ และการปลูกป่าจะเป็นทางออกที่ได้ผลดีที่สุดในสถานการณ์ขณะนี้

    ตอนนี้เรากำลังขยายผลไปยังหน้าบ้านของชาวบ้านในอ่าวมหาชัยคนละ 5 ไร่ โดยใช้เทคนิคง่ายๆ ปักไม้ไผ่เลี้ยงหอยห่างจากฝั่ง 2 กิโลเมตร จากนั้นปักไผ่เป็นแนวสามเหลี่ยม ช่วยเบรกคลื่นก่อนถึงฝั่ง จึงต้องเลือกไม้ที่สูงเกิน 5 เมตรขึ้นไป และมีความแข็งแรงทนอยู่ในน้ำได้ 4-5 ปี ลึกเข้าไป 100 เมตรก็ปลูกป่าชายเลนเสริม ถ้าถามว่าจะได้ผลเร็วหรือช้า ตอนนี้ผมมองว่าแค่หยุดปัญหากัดเซาะไปได้ 100 เมตรก็ดีกว่าปล่อยให้ทะเลพังเข้ามาเรื่อยๆ ที่สำคัญชาวบ้านยังได้แหล่งทำมาหากินกลับมา ปู ปลาที่เคยหายไปก็เริ่มกลับมาเยอะขึ้น ซึ่งถือเป็นบทเรียนที่ชาวบ้านต้องจดจำ โดยเค้าเริ่มจากการลองผิดลองถูก

ในอนาคตอันใกล้นี้ ทางการจะมีโครงการที่จะทำให้อ่าวรูปตัวกอไก่ ( ด้านบนสุดของอ่าวไทย เริ่มจากสมุทรปราการ--->กทม--->สมุทรสาคร---> สมุทรสงคราม---> เพชรบุรี) ที่ขาหดสั้นลงทุกที ขยายยาวออกไป โดยลดการกัดเซาะของน้ำทะเลโดยใช้วิธีที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน คือใช้ทั้งไผ่และปลูกป่าชายเลนลงตามแนวชายฝั่ง
 
  รู้จักคำว่า "กะซ้า" ไหม .. หมายถึงเปลือกหอยที่ตายแล้วและถูกคลื่นซัดจนเข้าไปกองขาวเหมือนหาดทรายที่ชายฝั่ง และเค้าบอกว่าทรายก็มาจากเปลือกหอยเหล่านี้แหละ.....หากเราปล่อยให้เปลือกหอยมีมากๆในทะเลที่มหาชัยแล้ว อีกหน่อยมหาชัยอาจจะมีหาดทรายขาวสะอาดให้เราได้ไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจก็ได้...จริงไหม....


    จะเห็นว่าชาวบ้านเป็นนักวิจัยที่ดีเลย เริ่มจากการสังเกตและหากระบวนการนำไปสู่การทดลองและนำไปสู่ทางแก้ และมีบทบาทในการนำไปสู่การแก้ปัญหาเพื่อชุมชนของตัวเองได้เป็นอย่างดี แม้ว่าปัญหาที่เกิดจากการกัดเซาะเกิดจากอะไรซึ่งชาวบ้านก็ทราบดีเพราะเป็นคนในพื้นที่

    และที่ดีกว่านั้น คือ แนวไม้ไผ่นี่สามารถจะเป็นแนวทำให้คลื่นแตกตัวได้ และในพร้อมๆ กัน ช่องว่างระหว่างลำไม้ไผ่นั้น จะทำให้คลื่นชนไม้ไผ่แล้วแตกตัวเป็นกระแสแล้ววนผ่านลำไม้ไผ่ในระดับย่อยด้วย จะำทำให้แนวไม้ไผ่เป็นแนวที่ดูดซับพลังงานคลื่นไปได้ด้วยในตัวเอง ซึ่งจะต่างจากแท่งคอนกรีต หรือวัสดุแข็งที่มีการสะท้อนกลับอย่างแรง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสภาพรอบนอกด้วย

    ผมได้ลองจำลองโดยใช้โปรแกรม SiTProS เป็นตัวตั้งและคลอดลูกออกมาเป็น VirtualShore3D  เพื่อให้ตอบสนองการทำงานบริเวณชายฝั่งได้ด้วย โดยคำนวณเอาคร่าวๆ จากการออกแบบแนวกันคลื่นจากโปรแกรม โดยให้แนวกันคลื่นนั้นเป็นการปักแนวไม้ไผ่ โดยมีการกำหนดค่าดูดซับพลังงานคลื่นได้ พร้้อมกับการปลูกป่าชายเลนเพื่อดูดซับพลังงานคลื่นที่บริเวณชายฝั่ง ซึ่งชาวบ้านสามารถจะปลูกป่าชายเลยรุกพื้นที่เข้าไปเมื่อมีการสะสมของตะกอน และสามารถจะขยับแนวไม้ไผ่ลงไปได้อีกกรณีที่แนวตะกอนเกิดการสะสมที่มากขึ้น ซึ่งทำให้อยู่กันแบบธรรมชาติอย่างเข้าใจของชาวบ้าน และทำให้มีโอกาสดูแลรักษากันเพราะเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านต้องเข้าใจและอยู่ร่วมให้ยั่งยืน และเรียนรู้จากความผิดพลาดและประสบการณ์ที่สะสมและถ่ายทอดไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไปได้

    มาดูตัวอย่างคลิปจำลองสั้นๆ นะครับ

 

 

       ซึ่งรูปแบบของการออกแบบบริเวณชายฝั่งนั้น สามารถเรียนรู้ได้จากโปรแกรมจำลองได้้ง่ายๆ เพื่อค้นหาคำตอบและแนวทางในการปักไม้ไผ่เพื่อดูแนวคลื่นแบบภาพรวมได้ครับ ผมได้ส่งโปรแกรมจำลองคลื่นชายฝั่งไปให้ทางกรมอุตุนิยมวิทยาแล้ว(ต้องพัฒนาต่อยอดให้ดีขึ้นต่อไป) ซึ่งทางชาวบ้านสามารถปรึกษา ดร.วัฒนา กันบัว ได้เลยครับ ซึ่งคิดว่าได้รู้จักกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วครับ เพื่อหาแนวทางร่วมกันครับ

 

ท้ายสุดผมฝากคำถามไว้ให้คิดกันต่อนะครับ...โดยเฉพาะชาวบ้านทุกท่านและ กทม. ต้องคิดกันว่า

  1. หากมีการงอกของพื้นที่และกู้พื้นที่ป่าขึ้นมาได้แล้วนั้น จะมีการบริหารจัดการพื้นที่นั้นอย่างไรต่อไป เพื่อความยั่งยืนและเป็นแนวกันคลื่นให้กับพื้นที่ภายใน
  2. พื้นที่เหล่านั้น อาจจะมีคนเคยอาศัยมาก่อน จะมีการจัดการอย่างไรหากพื้นที่กลับคืนมา จะมีการมาทวงสิทธิ์คืนจากชาวบ้านที่เคยอยู่ และจะมีการตกลงกันอย่างไร จะมองตรงไหนเป็นจุดสำคัญ
  3. จะมีแนวทางในการไม่ทำลายป่าชายเลนต่อไปอย่างไร เพราะหากตัดป่าชายเลนอีก ปัญหาเดิมจะมาหาอีกวนเวียนไม่รู้จบ
  4. อื่นๆ

ปล. ขอบพระคุณกัลยาณมิตรที่ช่วยให้ข้อมูลนะครับ

กราบขอบพระคุณมากครับ

เม้งครับ

หมายเลขบันทึก: 173260เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2008 19:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

สวัสดีค่ะคุณเม้ง

ขอใช้สิทธิที่ถูกพาดพิงค่ะ

นอกจากกะซ้าแล้วยังมี .."กะยอ" เป็นศัพท์อีกคำหนึ่งที่เเกี่ยวข้องค่ะ

"กะยอ" หมายถึง น้ำที่เป็นโคลนถูกปั่นจากการไหลของกระแสน้ำ จนจับตัวกลายเป็นตะกอนตกลงไปนอนอยู่ที่ใต้ท้องน้ำ

บริเวณใต้น้ำใกล้ชายฝั่งของที่นี่ส่วนมากจะเป็นตะกอน "กะยอ" ทั้งนั้นค่ะ..

การทำแนวกันคลื่นจากภูมิปัญญาท้องถิ่น คือ นำไม้ไผ่ปักในทะเลเป็นรูปสามเหลี่ยม เพื่อลดความรุนแรงของคลื่น และห่างจากจุดแรกเข้าใกล้ฝั่ง ก็จะทำกำแพงไม้ไผ่อีกแนวหนึ่งเพื่อเป็นแนวดักตะกอนนั้นได้ผลค่อนข้างดีเชียวค่ะ..

ตะกอนที่มากับคลื่นจะเป็นปุ๋ยอย่างดีให้กับป่าชายเลนที่ชาวบ้านปลูกไว้ ซึ่งมีผลงานทางวิชาการพิสูจน์ชัดเจนว่ารูปแบบการปักไม้เป็นรูปสามเหลี่ยมที่ชาวบ้านทำกันอยู่นั้น สามารถดักตะกอนที่มากับคลื่นได้ และป่าชายเลนช่วยกันการปะทะของคลื่นทะเลอย่างได้ผล 100% พิสูจน์ได้จากกรณีเหตุการณ์สึนามิ เพราะพื้นที่ที่มีป่าชายเลนเป็นแนวกันชนได้รับความเสียหายน้อยมาก หรือแทบไม่ได้รับเลย ถ้าเราเอาหลักการธรรมชาติสู้กับธรรมชาติมาช่วย ก็คงเหมือนภาษิตจีนกล่าวไว้น่ะค่ะ ใช้ความอ่อนสยบความแข็งแกร่ง ..เมื่อคลื่นที่มีพลังมหาศาลปะทะไม้ไผ่ ไม้ไผ่จะอ่อนลู่ไปตามแรงคลื่น พลังคลื่นจะลดลงอย่างมาก แถมยังได้กรองตะกอนดินเพิ่มมากขึ้นด้วยนะคะ

เบิร์ดเคยอ่านเจอข่าวว่า ในปี 2550 ทช.( กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง )ได้รับงบประมาณมา 41 ล้านบาท ปลูกป่าชายเลนใน 5 จังหวัด ที่เรียกกันว่า อ่าวตัวกอไก่ ได้แก่ จ.สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และ กทม. ความยาว 51 กิโลเมตรค่ะ โดยจะมีการปลูกป่าชายเลนจากแนวชายฝั่งประมาณ 300 เมตร และจากแนวป่าชายเลนประมาณ 1 กิโลเมตร จะใช้ไม้ไผ่กั้นเป็นแนวยาว 2 ชั้น ทั้งนี้ จะกระจายงบประมาณไปที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นให้ร่วมดำเนินการ แต่เบิร์ดไม่ทราบว่า้ได้ผลเป็นอย่างไร หรือว่าหยุดชะงักไปจากเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในประเทศของเรา

แล้วจะเข้ามาคุยใหม่ค่ะ ^ ^

นิราศนรินทร์

๒๕. บางขุนเทียนถิ่นบ้าน นามมี

เทียนว่าเทียนแสงสี สว่างเหย้า

เย็นยามพระสุริยลี- ลาโลก ลงแม่

เทียนแม่จุดจักเข้า สู่ห้องหาใคร

แกนนำชุมชน นำโดย นายนรินทร์ บุญร่วม ข้าราชการบำนาญ อดีตประมงอำเภอมหาชัย

อะไรจะบังเอิญขนาดนี้ ...ชื่อนรินทร์เหมือนกันเลยนะครับอาจารย์ อิๆ

เข้ามาอีกรอบค่ะ เพราะเอาข่าวมาแปะให้

"ปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น" หมู่ที่ 8 ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมืองสมุทรสาคร คว้ารางวัลดีเด่นยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข ประจำปี 2550 เพราะถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่เป็นประโยชน์และก่อให้เกิดการเรียนรู้ในการฟื้นฟูนิเวศริมฝั่งควบคู่กับการอนุรักษ์ธรรมชาติ

นายชาญวิทย์ วสยางร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม เปิดเผยว่า จังหวัดสมุทรสาครได้แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกโครงการกิจกรรมดีเด่น ภายใต้แผนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข ระดับจังหวัดประจำปี 2550 ตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย โดยดำเนินการคัดเลือกโครงการ/กิจกรรมดีเด่น เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อจังหวัดและชุมชน

จากการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ปรากฏว่า โครงการ "ปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น" หมู่ที่ 8 ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมืองสมุทรสาคร ได้รับการคัดเลือกเป็นโครงการ/กิจกรรมดีเด่น เนื่องจากเป็นโครงการที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้าน และเป็นกระบวนการเรียนรู้ของคนในชุมชน เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ให้กับธรรมชาติ รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้การศึกษาระบบนิเวศทางธรรมชาติ

รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวอีกว่า โครงการดังกล่าวมีความชัดเจนที่จะสร้างพื้นที่ป่าใหม่ รวมถึงการเพิ่มพื้นที่ป่าเดิมเพื่อสร้างแหล่งอาหารของสัตว์น้ำ โดยการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น สามารถช่วยลดความรุนแรงของคลื่นและลดการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งทะเล จึงนับว่าเป็นโครงการที่เหมาะสมกับรางวัลโครงการ/กิจกรรมดีเด่น ภายใต้ยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข ประจำปี 2550 ของจังหวัดสมุทรสาครค่ะ

จาก : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 28 กันยายน 2550

................................

บริษัทเสนอแก้บางขุนเทียนผิดวิธี นักวิชาการรุมค้านเชื่อไม่ได้ผล

รายงานข่าวจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนว่า ขณะนี้กทม.ได้ประชุมร่วมกับนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนบน เพื่อหาข้อสรุปการแก้ปัญหาชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน เนื่องจากที่ผ่านมาได้รับการคัดค้านจากนักวิชาการว่าโครงการแก้ปัญหาของกทม.ใช้ไม่ได้ผล โดยนักวิชาการทั้งหมดยืนยันว่าลักษณะของคลื่นบริเวณชายฝั่งบางขุนเทียน เป็นคลื่นที่ซัดเข้าหาชายฝั่งในแนวตั้งฉาก ซึ่งขัดกับผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาของกทม.ที่ระบุคลื่นบริเวณบางขุนเทียนเป็นคลื่นซัดเข้าหาฝั่งในแนวขนานหรือเฉียงเข้าหาชายฝั่ง ซึ่งข้อขัดแย้งดังกล่าวส่งผลกระทบถึงลักษณะของโครงการแก้ปัญหาที่บริษัทที่ปรึกษาที่เสนอให้ก่อสร้างรอดักทราย (Groin) รูปตัวทีตั้งขนานตลอดแนวชายฝั่งเพื่อชะลอแรงคลื่นที่ซัดเข้าชายฝั่ง และช่วยกักเก็บตะกอนไม่ให้ซัดออกนอกชายฝั่งเวลาที่คลื่นม้วนตัวออกจากฝั่ง ซึ่งอาจจะใช้ไม่ได้ผล

ทั้งนี้ เหตุที่รอดักทรายอาจจะใช้ไม่ได้ผลเนื่องจากรอดักทรายเหมาะสำหรับลักษณะของชายหาด ที่มีคลื่นซัดเข้าหาฝั่งในลักษณะเฉียงหรือขนานชายฝั่งเท่านั้น เพราะขารูปตัวทีจะสามารถกักเก็บตะกอนได้ แต่หากเป็นคลื่นซัดตั้งฉากกับชายฝั่งจะส่งผลให้ลักษณะการพัดพาตะกอนเป็นทิศทางตรงข้ามกับขารูปตัวที จึงอาจจะไม่ยาวเพียงพอที่จะกักเก็บตะกอน ซึ่งปัญหาทั้งหมดมาจากการตั้งสมมติฐานผิดของที่ปรึกษา จึงทำให้เกิดการศึกษาหรือเสนอโครงการที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งขณะนี้ได้ให้สำนักผังเมือง (สผม.) แจ้งข้อมูลให้ที่ปรึกษาเร่งปรับเปลี่ยนโครงการใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้นเพราะล่าช้ามากแล้ว

รายงานข่าว เปิดเผยว่า อย่างไรก็ตามนักวิชาการได้เสนอโครงการแก้ปัญหา 2-3 วิธี ประกอบด้วย

1.ไส้กรอกทราย (sand sausage) หรือถังใส่ทรายขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีลักษณะเหมือนไส้กรอกหรือหมอนข้างยักษ์ วางบนฟูกทรายขนานกับแนวชายฝั่ง

2.เขื่อนสลายกำลังคลื่นหรือขุนสมุทรจีน คือการปักเสาซีเมนต์รูปสามเหลี่ยม โดยปักเป็นแถวยาวขนานชายฝั่ง โดยปักเรียงแถวหน้ากระดานหนา 3 ชั้นและปักสลับแบบฟันปลา โดยเสาซีเมนต์สลับฟันปลาจะช่วยลดแรงคลื่นโดยการหักเหกำลังคลื่นลงได้ และ

3.การปักไม้ไผ่เป็นแนวเขื่อนริมชายฝั่ง โดยทุกโครงการได้ดำเนินการทดลองทำที่จ.สมุทรปราการและจ.สมุทรสาครมาแล้ว

จาก : แนวหน้า วันที่ 4 สิงหาคม 2550 ค่ะ ^ ^

น่าสนใจ และน่าติด ตระหนักอย่างยิ่ง จ้ะ

สวัสดีเจ้าค่ะ พี่เม้ง

สบายดีหรือเปล่าเจ้าค่ะ....น้องจิแวะมาเยี่ยม บันทึกนี้ อ่านแล้วรู้สึกว่า...ธรรมชาตินี่หนอ เฮ้ออออออ 55555++....รักษาสุขภาพด้วยนะเจ้าค่ะ

เป็นกำลังใจให้เจ้าค่ะ -----> น้องจิ ^_^

เอาสาเหตุการกัดเซาะที่บางขุนเทียนและตอนบนของอ่าว ตัว ก.มาฝากอีกรอบค่ะ

1. การสร้างเขื่อนตอนบนของประเทศทำให้ตะกอนลดลง เพราะเขื่อนเก็บตะกอนไว้ทำให้ตะกอนปากแม่น้ำน้อยลง

2. การทำลายป่าชายเลน เช่นการทำนากุ้ง

3. สูบน้ำบาดาลมาใช้

4. โลกร้อนทำให้คลื่นจากมรสุมแรงขึ้น มีบางตำราบอกว่าน้ำทะเลสูงขึ้นจากน้ำแข็งขั่วโลกละลาย เหตุผลน้ำทะเลสูงขึ้นจากการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกนี้สมเหตุผลเพียงใดคะ ?

5. การรบกวนโดยการกระทำของมนุษย์ มีสิ่งปลอมปนลงไปเช่นเขื่อนกันคลื่น ไส้กรอกทราย หรือท่าเทียบเรือ บังกาโล ฯลฯ

แล้วจะแวะมาเล่นใหม่นะคะ

สวัสดีครับคุณเบิร์ดเบิร์ด

       ขอบคุณมากๆ เลยครับ ที่มาเพิ่มเติม นับว่าดีมากๆ เลยครับ ยิ่งพาดพิงยิ่งได้ข้อมูลเลยนะครับ อิ อิ

ลักษณะคลื่นเป็นพลังงานในรูปแบบหนึ่งครับ เคลื่อนที่วิ่งเข้าสู่ฝั่ง โดยมีแรงกำเนิดหลักๆ เกิดมาจากลมที่เป่าไปยังผิวน้ำในทะเลพัดมายาวไกลทำให้คลื่นเกิดการสะสมส่งเป็นพลังงานออกไปกระทบกับฝั่ง หรือวัสดุที่ก้นทะเลทำให้เกิด กระแสน้ำ การกัดเซาะเหล่านี้ที่เกิดขึ้น เกิดจากผลกระทบของกระแสน้ำเหล่านั้น ในรูปแบบอ่าเราจำเป็นต้องดูว่าลักษณะของกระแสน้ำในภาพรวมนั้นเป็นอย่างไรทำให้เราทราบได้ว่าสร้างสิ่งแปลกปลอมตรงไหนในทะเล จะส่งผลต่อตรงไหนในบริเวณอื่นได้ หากเรามีพื้นดินจำกัด ตะกอนกำจัด แต่น้ำพัดไปมาตลอดเวลา แน่นอนว่าหากมีตรงไหนงอก แสดงว่าต้องมีบางที่หดหายแน่นอนครับ

    ช่วยกันหาข้อมูลนะครับ จะเป็นประโยชน์กับสาธารณะ ขอบคุณมากๆ นะครับ สำหรับข้อมูลดีๆครับ

ผมว่าแนวทางของชาวบ้านเรื่องแนวกันคลื่นไม้ไผ่นั้นเป็นเรื่องที่ดีแล้วครับ โดยอาจจะทำวิจัยเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบในการทำให้ตกตะกอนในแบบต่างๆ ศึกษาทดลองของจริง ซึ่งชาวบ้านทำจริงรู้จริงอยู่แล้วครับ การจำลองจะช่วยในเบื้องต้น ผมได้ทำลองแบบต่างๆ ไว้ ยังไม่ได้เอาขึ้นนะครับ ไว้จะรวบรวมก่อนนะครับ

ขอบคุณมากๆ นะครับ

สวัสดีครับคุณกวินทรากร

    ขอบคุณมากๆ นะครับ สำหรับกลอนบางขุนเทียนเพราะๆ นามมี นะครับ มีความสุขในการทำงานนะครับ

สวัสดีครับพี่สุวรรณา

    ขอบคุณมากๆ นะครับ สบายดีนะครับ

สวัสดีครับน้องจิน้องจิ

    สบายดีนะครับ ธรรมชาติคือธรรมชาติ เป็นมาอย่างธรรมชาติ อยู่อย่างธรรมชาติ และไปอย่างธรรมชาติครับ เข้าถึงการมา การอยู่ การไป ล้วนธรรมชาติ จริงๆ นะครับ

ขอบคุณทุกท่านครับผม

 

 

สวัสดีครับ อ.เม้ง

ไม่ได้พบกันนานครับ คิดถึงครับ

ผมถามจริงครับอาจารย์ ( กระซิบ ๆ ) ที่ยุโรป หรืออเมริกา ในแวดวงวิชาการในทางข้อมูลที่เกี่ยวกับโลกใบนี้แล้วเนี่ยครับ เขามีแผนอพยพ ผู้คนหรือเปล่าครับ ในทางความมั่นคงเลยนะครับเนี่ย ( ผมอาจเพ้อฝันไปหน่อย แต่ก็เชื่อว่าฝรั่งเขาฝันไปมากกว่านี้แน่ ๆ ผมว่า ) ถ้าเป็นความลับไม่ต้องตอบก็ได้นะครับ เข้าใจครับ

สวัสดีครับคุณmr. สุมิตรชัย คำเขาแดง

    สบายดีไหมครับ ขอบคุณมากๆ นะครับ คิดถึงเช่นกันครับ

เรื่องนี้ผมไม่ได้ติดตามเลยครับ เพียงแต่ผมว่ามันเป็นความคิดผิดของคนนะครับหากคิดจะย้ายคนครับ....โลกนี้ดีอยู่แล้ว สมดุลที่สุดแล้วในระบบสุริยะวงนี้ คุณมิตรลองคิดตั้งแต่ดาวพุธ ไปจนถึงพลูโต หรือดวงใหม่ๆ ที่เกิดใหม่นะครับ  ใจกลางของความร้อนอยู่ที่ดวงอาทิตย์ ใกล้ไปก็ร้อนไป ไกลไปก็หนาวไปครับ โลกจึงเกิดความพอดี สิ่งมีชีวิตเยอะ จึงอยู่ได้ หากวันหนึ่ง อาทิตย์หมดพลัง หรืออ่อนพลังลง โลกอาจจะเย็นขึ้น ดาวพุธอาจจะเหมาะสม สิ่งมีชีวิตก็เกิดขึ้นได้

    ถามว่าเราจะย้ายไปดาวอังคารเหรอครับ.... หรือดวงจันทร์หรือครับ สภาพยังไม่เหมาะครับ....ถามว่าทำไมคนมีอายุแค่ไม่เกินสามหมื่นวัน ยังคิดเกินตัวครับ... หากทำได้ก็เป็นการล้ำหน้าทางเทคโนโลยีครับ ได้รู้ว่าที่นั่นปลูกต้นไม้ได้ แต่ถามว่าเราจะหนีโลกนี้ไปเหรอครับ..อาจจะเห็นแก่ตัวมากไปครับ.... จะย้ายหนีเพราะโลกเน่าแล้วหรือ? ไ่ม่น่าจะเป็นความคิดของผู้มีปัญญาครับ

    ดังนั้นผมคิดว่า ควรจะอยู่กับสิ่งที่เป็นอยู่และเข้าใจระบบธรรมชาติที่สมบูรณ์อยู่แล้วครับ...

อิๆๆๆๆ ส่วนการคิดในระดับลึกผมไม่ทราบครับ... และหากมีโอกาสไปก็คงไม่ไปครับ ขอตายบนโลกนี้ครับ...ขี้ไคลเราก็กลายเป็นดินให้กับโลกนี้ต่อไปครับ ซากร่างกายก็คือกลับไปยังธาตุสี่ครับ

ขอบคุณมากๆ ครับผม....สนุกในการทำงานนะครับ

แผ่นดินที่ตกน้ำไปแล้ว ถือเป็นของรัฐโดยอัตโนเม็ต (ยกเว้นว่าเจ้าของที่ดินแสดงสิทธิ์ เช่น ปักรั่วล้อมรอบ)- กฤษฎีกาตีความแล้ว

ป่าชายเลนที่ชาวบ้านฟื้นฟูแล้วปลูก - บางแห่ง รัฐให้ทำสัญญาว่าจะไม่ตัดไว้ (กำ แต่ถูกชาวบ้านด่าว่าถ้ามีประโยชน์จริง เค้าฉลาดพอ ไม่ต้องทำสัญญาหลอกเค้ารู้เอง T.T)

อย่างไรก็ตามเคสนี้ยังไม่เคยเกิด หากที่งอกแล้วแข็งแรงจิง (ตอนนี้ ปีกว่า ปลูกป่ายังพึ่งจะเกือบได้ ดินเริ่มแข็งนิ....ด นิ..ด)

ต้นแสมที่ล้ม (ในพื้นที่นั้น) ส่วนใหญ่ เกิดจากระดับตะกอนดินลดลงเกิน 50 ซม (รากต้นไม้ป่าชายเลนไม่ลึก ประมาณ 50 ซม)

(ขอแอบแจมนะคับ เห็นกระทู้มีประโยชน์ดี ขอบคุณครับ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท