สบู่ดำ


พลังงานทดแทน สบู่ดำ มหาวิทยาลัย เกษตรกร

แปรรูปสบู่ดำผลิตไบโอดีเซล ดึงชุมชนทำให้เองลดค่าใช้จ่าย

ปัจจุบันความต้องการใช้พลังงานของทั่วโลกมีปริมาณเพิ่มขึ้นส่งผลให้ปริมาณน้ำมันสำรองของโลกกำลังลดลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดปัญหาวิกฤติพลังงานตามมา เช่นเดียวกับประเทศไทยที่มีการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศเกือบ 60% ของพลังงานภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานเชื้อเพลิงน้ำมันที่มีการนำเข้าทั้งในรูปน้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และก๊าซธรรมชาติ รวมแล้วเกือบ 90% ของการใช้แต่ละวัน สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจ การเสียดุลการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะพลังงานเชื้อเพลิงปีละไม่ต่ำกว่า 7-8 แสนล้านบาท ทางเลือกหนึ่งที่จะลดการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล เหล่านี้ได้ก็คือ การสร้างพลังงานทดแทนโดยเฉพาะการใช้พลังงานชีวมวล (Biomass) มาเป็นพลังงานทดแทน เพื่อลดการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลจากต่างประเทศ

ผศ.วิจิตร อุดอ้าย ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร หัวหน้าโครงการ วิจัย “การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตน้ำมันและไบโอดีเซลจากสบู่ดำ” กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าปัจจุบันทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างให้ความสนใจในการคิดค้นวิจัยและพัฒนาพลังงานชีวมวลมาเป็นพลังงานทดแทน ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการปลูกพืชเศรษฐกิจที่สามารถนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงทดแทนเหล่านี้ ได้แก่ พืชน้ำมันประเภทน้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว และสบู่ดำ ที่สามารถนำเป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซล รวมถึงพืชที่ผลิตแป้งและน้ำตาล เช่น ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวฟ่างหวาน ข้าวโพด ซึ่งพืชพลังงานเหล่านี้ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเชื้อเพลิงไบโอเอทานอลที่สามารถลดการนำเข้าพลังงานฟอสซิล ได้ระดับหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันนี้พืชที่กำลังอยู่ในความสนใจมากที่สุดที่นำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนนั่นก็คือ สบู่ดำ (jatropha or Physic nut) เป็นพืชพลังงานที่มีศักยภาพในการผลิตน้ำมันในเขตภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ โดยน้ำมันที่สกัดจากเมล็ดสบู่ดำสามารถใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลที่เกษตรกรใช้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการผสมกับน้ำมันชนิดอื่นอีก หรือจะผสมกับน้ำมันดีเซลก็ได้ สบู่ดำจึงเป็นพืชที่ใกล้ตัวกับเกษตรกรมากและได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่งในสภาวะที่ราคาน้ำมันดีเซลมีราคาสูงอย่างในปัจจุบัน
 
สบู่ดำเป็นพืชยืนต้นที่มีอายุยืนนานโดยปลูกเพียงครั้งเดียวสามารถเก็บผลผลิตได้ตลอด 15-20 ปี ซึ่งในการเพาะปลูกนั้นใช้เวลาเพียง 8-9 เดือน ก็จะสามารถให้ผลผลิต และยังช่วยปรับสภาพพื้นดินเสื่อมสภาพให้ฟื้นตัวที่สำคัญพืชชนิดนี้จัดเป็นพืชพลังงานที่ควรส่งเสริมโดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือของประเทศสามารถแก้ปัญหาด้านพลังงานอย่างเร่งด่วนได้ เพราะน้ำมันสบู่ดำที่สกัดได้นั้นหากนำมากรองให้ใสหรือปล่อยให้ตกตะกอนสามารถนำไปใช้ทดแทนน้ำมันดีเซลสำหรับ เครื่องยนต์สูบ เดียวของ เกษตรกร โดยไม่  ต้องผสม ส่วนผสมใด ๆ อีก

 ผลพลอยได้จากการสกัดแปรรูปน้ำมันสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ เช่น กากสบู่ดำนำมาทำเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล (gasifier) หรือนำมาทำเป็นปุ๋ยชีวภาพ กลีเซอรีน และสบู่ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากกระบวนการผลิตไบโอดีเซลสามารถนำมาใช้เป็นสารทำความสะอาดและเครื่องสำอางได้

โดยในกระบวนการศึกษาวิจัยการผลิตไบโอดีเซลนั้นได้จัดให้มีแปลงสาธิตการเตรียมกล้าพันธุ์สบู่ดำ การเตรียมพื้นที่ การปลูก การดูแลเก็บเกี่ยว การแปรรูป เครื่องกะเทาะเปลือก เครื่องหีบ และการนำไบโอดีเซลไปใช้ทดสอบกับสถานการณ์จริง โดยขณะนี้ทาง ม.นเรศวร ใช้พื้นที่ในการ
   
ทดลองเพาะปลูกสบู่ดำบนเนื้อที่จำนวน 200-250 ไร่ ที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุ โลก เพื่อเป็นแปลง สาธิตเพาะปลูกพันธุ์สบู่ดำและ คัดเลือกสายพันธุ์ว่าพันธุ์ใดที่เหมาะสำหรับภูมิประเทศไทย และให้ปริมาณน้ำมันมากน้อยเพียงไร ซึ่งในแต่ละปีสามารถผลิตเมล็ดสบู่ดำได้ไม่น้อยกว่า 120-150 ตัน/ปี และสกัดน้ำมันสบู่ดำได้ 30,000-40,000 ลิตร/ปี ผลิตไบโอดีเซลได้ไม่น้อยกว่า 35,000 ลิตร/ปี ซึ่งในการสกัดน้ำมันสบู่ดำนั้นมีกรรมวิธีการผลิต 2 วิธี คือ การนำเมล็ดสบู่ดำมาผสมกับสารทำละลาย และการหีบ โดยการนำเมล็ดสบู่ดำมาสกัดกับสารทำละลายนั้นจะได้ปริมาณน้ำมันในอัตราส่วน เมล็ดสบู่ดำ 3 กิโลกรัม/น้ำมัน 1 ลิตร ส่วนการหีบจะใช้เมล็ดสบู่ดำ 4 กิโลกรัม/น้ำมัน 1 ลิตร
 
นอกจากนี้ทางภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ม.นเรศวร ได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตน้ำมันและไบโอดีเซลจากสบู่ดำเพื่อให้ความรู้แก่ชุมชน เกษตรกร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ซึ่งขณะนี้มีผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าวบางส่วนแล้ว โครงการดังกล่าวจึงนับเป็นการสนองต่อนโยบายของรัฐในการส่งเสริมให้เกษตรกร ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถผลิตพลังงานขึ้นใช้เอง ลดการนำเข้าพลังงานน้ำมันจากต่างประเทศ และแก้ปัญหาพลังงานในระดับฐานรากให้เกษตรกรที่ต้องใช้เครื่องยนต์เพื่อการเกษตร สามารถผลิตพลังงานขึ้นใช้เองในท้องถิ่นและพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว หากเกษตรกรหรือท่านใดที่สนใจเพาะปลูกสบู่ดำเพื่อผลิตน้ำมันไบโอดีเซล สามารถติดต่อสอบถามและขอต้นพันธุ์สบู่ดำได้ฟรีที่ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร.

ความคิดเห็น

ช่วยกันพัฒนานะครับ ชาว gotoknow

อ้างอิง
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=158574&NewsType=1&Template=1

หมายเลขบันทึก: 172826เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2008 07:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท