การสนทนาแบบโบห์ม ๔ : แนวคิดและวิธีการสนทนาแบบโบห์มมีอะไรบ้าง?


กฤษณมูรติกล่าวไว้ว่าในขณะที่เราสังเกตโลกภายนอกนั้นแท้จริงแล้วเราเห็นโลกผ่านการคิดภายในตัวเรา (the observer is the observed)

การสนทนาแบบโบห์ม คือ การสื่อสารกันระหว่างมนุษย์รูปแบบหนึ่งที่ทำให้คนเข้าใจกันอย่างแท้จริง เป็นการสื่อสารที่สร้างสรรค์

 

ในทัศนะของโบห์ม การสื่อสารส่วนใหญ่ที่เราทำกันอยู่โดยทั่วไปเป็นการสื่อสารที่ไม่ลึกซึ้งพอที่จะทำให้คนเข้าใจกันอย่างแท้จริง เนื่องจากมีอคติแฝงอยู่ด้วยโดยไม่รู้ตัว เป็นการสื่อสารที่เอาความคิดของตนเป็นใหญ่ เพื่อครอบงำกัน เอาชนะคะคานกัน เทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่พัฒนาแทนที่จะทำให้คนเรามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากขึ้นกลับแยกคนออกจากกัน

 

ในหนังสือ On Dialogue โบห์มเริ่มต้นบทแรกด้วยการชวนให้เราคิดถึงคำว่า communication รากศัพท์คือ commun หมายถึง การทำให้เป็นธรรมดา ซึ่งในความหมายของการสื่อสารก็คือ การทำให้เข้าใจความหมายร่วมกัน ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า ความแตกต่างระหว่างบุคคลทำให้เราแต่ละคนไม่อาจสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจได้หมดทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ของสิ่งที่เราคิด เรารู้สึก ด้วยเหตุนี้ ในการสื่อสาร แต่ละคนจึงต้องเปิดใจ ต้องใช้ใจฟังด้วย ไม่ใช่หูอย่างเดียว  ฟัง ให้ได้ยินความคิดรวมทั้งความรู้สึกของคนอื่น และของตัวเราเองไปพร้อมกัน  ฟังให้ได้ยินทั้งความต่างความเหมือน โดยไม่ให้มีอุปสรรคขัดขวาง ซึ่งจะทำได้ก็ต้องปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น(อคติ)ของตัวเองลง โบห์มบอกว่า การฟังอย่างอิสระจะทำให้เราเข้าถึง ความหมาย ที่แท้จริงในการสื่อสารได้

 

โบห์มเห็นว่าวิกฤติการณ์ต่างๆ ของมนุษยชาติมีต้นเหตุมาจากความคิดของมนุษย์เราเอง ในการสื่อสารกันเรามักไม่ให้ความสนใจมากต่อความคิด (thought) ในฐานะกระบวนการ (process) แต่ไปให้ความสนใจกับเนื้อหา (content) โบห์มเรียกร้องให้เราให้ความสนใจต่อความคิดในฐานะของกระบวนการ

 

การสื่อสารแบบสนทนา (Dialogue) ที่โบห์มเสนอนั้น เขาให้ความหมายต่างจากที่มีการใช้กันอยู่ทั่วไป คำ dia ที่มาจากภาษากรีกนั้น นอกจากหมายถึง สอง (two) แล้ว ยังหมายถึง ผ่านตลอด (through) ด้วย เมื่อนำมารวมกับคำว่า logue ซึ่งมาจากคำว่า logos ที่หมายถึง คำ (the word) หรือ ความหมาย (meaning) คำว่า dialogos หรือ Dialogue ของเขาจึงหมายถึง กระแสแห่งความหมาย (stream of meaning) ที่ไหลผ่านตลอดตัวเราและทุกคนที่ร่วมวงสนทนา อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจใหม่ๆ ที่อาจไม่เหมือนกับที่แต่ละคนเข้าใจเมื่อเริ่มสนทนากันเลยก็ได้ เป็นสิ่งที่ผู้ร่วมสนทนาร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้น และความหมายที่ทุกคนร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้นนี้เป็นเสมือนกาวใจที่เชื่อมยึดผู้คนและสังคมเข้าด้วยกัน

 

การสนทนาแบบโบห์มจึงต่างจากการพูดจากันแบบที่มีการตั้งประเด็น มีข้อโต้แย้ง มีการแสดงเหตุผลเพื่อลบล้างเหตุผลของอีกฝ่าย ซึ่งการทำเช่นนั้นมักจะเกิดผลลัพธ์แบบแพ้-ชนะ (win-lose) ในการสนทนาแบบโบห์มจะมีแต่ชนะ-ชนะ (win-win) กันทุกฝ่าย โบห์มบอกว่า การสนทนาแบบที่เขาเสนอนั้น ...ไม่มีใครพยายามจะชนะ ทุกคนชนะหากใครคนใดคนหนึ่งชนะ...

 

ในทัศนะของโบห์ม วิกฤติการณ์ต่างๆ เป็นผลของ การคิด ของมนุษย์ เรามัวแต่ไปแก้ที่ตัวปัญหาซึ่งเป็นปลายเหตุ และเป็นการแก้ชั่วคราวเท่านั้น  การแก้อย่างถาวรต้องทำที่ต้นเหตุคือการคิด เราต้องสามารถรู้เท่าทันความคิดตัวเอง หากทำได้ก็เท่ากับเป็นการสกัดต้นเหตุแห่งปัญหาได้

 

โบห์มเห็นว่าความคิดของแต่ละคนนั้น แท้จริงแล้วหาใช่ความคิดของใครคนใดคนหนึ่งไม่ แต่เป็นความคิดที่เป็นมรดกตกทอดกันมาของมนุษยชาติ และจากสิ่งแวดล้อมทั้งครอบครัว โรงเรียน สังคม สื่อต่างๆ รวมๆ กัน ในทัศนะของโบห์ม สมองมนุษย์จึงเปรียบได้กับคอมพิวเตอร์ที่สร้างขึ้นมาจากแหล่งรวมของความรู้เดียวกัน มนุษย์เราสร้างความรู้ขึ้นมาจากประสบการณ์การปฏิบัติ ความรู้จากการปฏิบัตินั้นได้เข้าไปสะสมเป็นความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในคนๆ นั้น (tacit knowledge) บางครั้งก็ยากจะบอกความรู้นั้นออกมาเป็นคำพูดได้ง่ายๆ โบห์มยกตัวอย่างคนถีบจักรยานได้ แต่บอกไม่ได้ว่าทำไมมันไม่ล้ม

 

โบห์มเห็นว่าคนเรามีทั้ง การคิด (thinking) และ ความคิด (thought) แต่ทั้งสองอย่างนั้นต่างกัน การคิดเป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับเรา ณ ปัจจุบัน ซึ่งอาจมีความรู้สึกรวมอยู่ด้วย แต่ความคิดนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการคิด มันเกิดขึ้นในสมองแล้วก็ทิ้งร่อยรอยบางอย่างไว้ ร่องรอยนั่นเองคือตัวความคิด ซึ่งเป็นตัวทำให้เราแสดงพฤติกรรมต่างๆ ออกมาอย่างอัตโนมัติ  ความคิดจึงเป็นการตอบสนองต่อความจำของเรา ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้วจากการคิด

 

โบห์มอาศัยงานวิจัยทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองมาอธิบายเรื่องการคิด  สมองมนุษย์มีวิวัฒนาการมากกว่าสัตว์ชนิดอื่น การคิดของมนุษย์เกิดขึ้นที่สมองส่วนหน้าด้านนอกสุด ส่วนที่เป็นศูนย์กลางของอารมณ์อยู่ลึกลงไปอีก แล้วก็ไปเชื่อมโยงกับระบบประสาท วิวัฒนาการของสมองที่ทำให้มนุษย์เราสามารถจินตนาการถึงสิ่งที่ไม่ได้อยู่ตรงหน้าได้อย่างแจ่มชัดเป็นตัวสร้างปัญหาให้เรา เพราะในกระบวนการสร้างมโนภาพนี้มีการ ปรุงแต่ง เกิดขึ้นจากการที่แต่ละคนนำฐานคติ (assumption) ของตัวเองเข้าไปผสมกับมโนภาพนั้นโดยไม่รู้ตัว ทำให้เราแต่ละคนเห็นโลกหรือคนอื่นบิดเบี้ยวไปจากความเป็นจริง มีคนจำนวนน้อยที่สนใจและสามารถสังเกตเห็นกระบวนการคิดที่เกิดขึ้นในตัวเองนี้ (การเจริญสติ???)  แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักและไม่ได้สังเกต ทั้งที่กระบวนการนี้ทำงานอยู่ในตัวเรา ในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา รวมทั้งในวิธีการสื่อสารของเรา ประเด็นคือจะทำอย่างไรให้เราได้เห็นว่าความจริงที่เราเห็นนั้น แท้จริงแล้วอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น โบห์มบอกว่า การเห็นกระบวนการทำงานของการคิดของเราจึงเปรียบเหมือนการเห็นความลับของนักมายากล ที่เมื่อเห็นแล้วก็ไม่ใช่ความลับอีกต่อไป

 

กุญแจสำคัญอยู่ที่การที่ทุกคนได้เห็นความลับนี้ด้วยกัน การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงจึงจะเกิดขึ้น นั่นคือโลกจะถูกสร้างขึ้นโดยการเห็นกระบวนการคิด ปล่อยวางอคติทั้งปวง แล้วมาเรียนรู้ร่วมกัน สร้างสรรค์ร่วมกัน

 

โบห์มไม่ได้บอกว่า Dialogue เป็นคำตอบสุดท้ายในการแก้ปัญหาของมนุษยชาติ แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น

 

วิธีการสนทนาแบบโบห์มแม้จะไม่มีกฎตายตัว (no firm rule) ว่าจะ ต้อง ทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะหัวใจของการสนทนาแบบนี้คือการเรียนรู้ ผู้เข้าร่วมสนทนาแบบโบห์มจะต้องฝึกตัวเองให้มีอุปนิสัยต่อไปนี้

 

  1. ไม่ด่วนสรุป (suspending of judgment) การชะลอการตัดสินคำพูดและความคิดของผู้อื่นทำให้ใจเราเปิด เราจะ ได้ยิน และเข้าใจทัศนะของทุกคนได้ดีขึ้น เป็นการได้ยินในแบบใหม่ที่เราอาจไม่เคยได้ยินมาก่อน เราจะได้ยินสิ่งที่คนอื่นพูดอย่างแท้จริง  โบห์มบอกว่า ...ในกลุ่มสนทนา เราจะไม่ตัดสินว่าจะทำอะไรทั้งสิ้น อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก มิฉะนั้นเราจะไม่เป็นอิสระ  เราต้องมีที่ว่างที่ไม่ผูกพันกับอะไรทั้งสิ้น แม้กระทั่งกับข้อสรุป กับข้อที่ว่าต้องพูดและไม่พูดอะไร มันเปิดและเป็นอิสระ... นอกจากนี้ การไม่วิพากษ์วิจารณ์ ไม่ตัดสิน ยังช่วยสร้างบรรยากาศแห่งความไว้วางใจกันในกลุ่มสนทนา
  2. ฟังลึก (deep listening) ในการสนทนาแบบโบห์มเราฟังทั้งสิ่งที่เราชอบและไม่ชอบ ไม่โจมตีความคิดที่ไม่เห็นด้วย นั่นคือ ฟังโดยไม่ต้องไปให้คุณค่าว่าดีหรือเลว น่าเชื่อหรือไม่น่าเชื่อ แต่ละคน ฟัง เพื่อให้ ได้ยิน ทั้ง ความหมาย (meaning) ที่แท้จริงที่แต่ละคนสื่อ และทั้ง ความหมาย ที่คลี่ (unfold) ออกมาจากสนทนาของกลุ่ม
  3. ค้นหาข้อสมมุติฐานของตน (Identifying Assumption) เราเห็นโลกตามข้อสมมุติฐานของเราและเราก็แสดงออกต่อคนอื่นตามสมมุติฐานนั้น โดยที่เราเองไม่เห็นข้อสมมุติฐานที่อยู่ในตัวเรา การเรียนรู้ที่จะค้นให้พบข้อสมมุติฐานของตัวเอง  ซึ่งทำได้โดยการฝึกสังเกตความคิด ไล่ให้ทันความคิดของตัวเอง ...เราสามารถชะลอกระบวนการคิดให้ช้าลงเพื่อให้สามารถสังเกตความคิดขณะที่กำลังเกิดขึ้น... (การมีสติอยู่กับปัจจุบันขณะ???) การเห็นข้อสมมุติฐานของตัวเองจะทำให้เราสามารถมองโลกแตกต่างออกไป และจะทำให้เราเคารพคนอื่น ยอมรับคนอื่น แม้กระทั่งคนที่คิดต่างจากเรา มองเห็นว่าทุกคนที่แตกต่างกันนั้นล้วนสามารถมีส่วนในการเรียนรู้และสร้างสรรค์ได้
  4. ติดตามตรวจตราและไตร่ตรอง (Inquiry and Reflection) เมื่อเราไม่เข้าใจในความหมายที่คนอื่นพูด เราสอบถามเพื่อหาคำตอบอย่างบริสุทธิ์ใจที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เป็นการตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการค้นหาและเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งต่างจากการตั้งคำถามเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ที่จะทำให้ผู้ร่วมสนทนารู้สึกถูกคุกคาม ไม่ปลอดภัย แต่เป็นการตั้งคำถามเพื่อขุดความคิดความเห็นที่ใหม่ๆ ที่อยู่ลึกลงไปขึ้นมา เป็นคำถามที่ช่วยให้ทุกคนในกลุ่มได้ไตร่ตรองและพัฒนาความเข้าใจร่วมกันไปด้วย

 

การจัดสถานที่ในการสนทนาแบบโบห์ม ผู้เข้าร่วมสนทนาอาจนั่งเป็นวงเห็นหน้ากัน การนั่งล้อมเป็นวงทำให้เกิดบรรยากาศที่ทุกคนเท่าเทียมกัน ทุกคนถอดหัวโขนออก ไม่มีใครนั่งหัวโต๊ะ ไม่ใช้โต๊ะเลยยิ่งดีเพื่อไม่ให้มีสิ่งสะกัดกั้นกระแสความคิดที่ไหลวนในกลุ่ม ไม่ต้องมีประธานการประชุมหรือผู้นำการสนทนา ไม่ต้องมีวาระ แต่ในช่วงแรกๆ โบห์มบอกว่า อาจมีผู้อำนวยกระบวนการ (facilitator) ที่คอยสะท้อนภาพการสนทนาว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในวงสนทนา ผู้อำนวยกระบวนการสนทนาอาจเป็นใครคนใดคนหนึ่งในวงสนทนานั้นก็ได้ แต่เมื่อทุกคนฝึกฝนจนชำนาญแล้วก็ไม่ต้องมีผู้อำนวยกระบวนการอีก

 

จำนวนของผู้เข้าร่วมสนทนา โบห์มบอกว่าจริงๆ แล้วสามารถทำได้ตั้งแต่คนเดียวขึ้นไปคือสนทนากับตัวเอง (One can even have a Dialogue with oneself) หรือจะมีจำนวนเท่าไรก็ได้  อย่างไรก็ตามโบห์มแนะนำว่ากลุ่มขนาด 20 - 40 คน กำลังดี หากมีผู้เข้าร่วมมากกว่านั้นก็จะยากขึ้น แต่หากสามารถจัดการได้ก็ทำได้ โดยอาจจัดเป็นสองวงซ้อนกันเพื่อให้ได้ยินเสียงและเห็นหน้ากัน  ข้อดีของการมีคนมากพอก็คือกลุ่มจะควบคุมกันเอง หากกลุ่มเล็กเกินไป เช่น น้อยกว่า 20 คน จะขาดความหลากหลาย ไม่พอที่จะเป็นตัวแทนความคิดความเห็นของคนในสังคมได้ โบห์มเห็นว่ากลุ่มคนขนาด 20 – 40 คนสามารถเป็นตัวแทนของความแตกต่างทางความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรมของสังคมใหญ่ได้ เป็นการย่อส่วนของวัฒนธรรม (microculture)

 

ความถี่ของการสนทนา อาจจะเป็นสัปดาห์ละครั้งหรือทุกสองสัปดาห์ การพบกลุ่มสนทนาเป็นระยะเช่นนี้ควรทำให้ได้อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องอย่างน้อยสักปีหรือสองปีหรือนานกว่านั้น แล้วจะเกิดผลการทำ Dialogue ตามที่โบห์มบอก (การค้นพบความหมายใหม่ร่วมกัน) แต่ละครั้งจะใช้เวลาเท่าใดก็ตกลงกันเอง แต่หากได้สัก 1 – 2 ชั่วโมงก็ดี เพราะเป็นเวลาที่นานพอจะทำให้เกิดภาวะกระแสไหลเวียนของความคิดภายในกลุ่ม

 

การเริ่มต้นการสนทนาโดยไม่มีวาระ ไม่มีประธานนำการประชุมอาจสร้างความกังวลให้ผู้เข้าร่วม และเมื่อเริ่มฝึกใหม่ๆ จะเกิดความรู้สึกคับข้องใจ แต่โบห์มยืนยันจากประสบการณ์ของเขาและคณะที่ทดลองวิธีการสนทนาแบบนี้มานานปีว่าเมื่อเวลาผ่านไปสักชั่วโมงหรือสองชั่วโมงทุกคนจะเริ่มพูดได้อย่างอิสระ การมีใครสักคนทำหน้าที่ผู้ดำเนินการสนทนา (facilitator) อาจจำเป็นในระยะแรกๆ คนนี้คอยเฝ้าดูสิ่งที่เกิดขึ้นในวงสนทนาแล้วสะท้อนภาพนั้นเป็นระยะๆ คือ คอยบอกว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในวงสนทนา แต่เมื่อฝึกไประยะหนึ่ง เมื่อทุกคนคุ้นเคยแล้ว ความต้องการผู้อำนวยการสนทนาจะเริ่มน้อยลงน้อยลง

 

โบห์มแนะนำว่า เมื่อเริ่มการสนทนากันในครั้งแรกๆ ยังไม่ควรนำปัญหาส่วนตัวของใครมาพูดกัน เมื่อผ่านไปหลายๆ ครั้งจนทุกคนเริ่มรู้จักและวางใจกันแล้ว หากจะมีคนพูดปัญหาส่วนตัวขึ้นมาบ้างก็ไม่เป็นไร แต่อย่าบ่อยจะดีกว่าเพราะโดยหลักๆ แล้วจะเป็นการสนทนากันในประเด็นวัฒนธรรม อย่างไรก็ตามเรื่องส่วนตัวก็อาจเข้ามาบ้างเพราะปัญหาส่วนตัวกับวัฒนธรรมก็ผสมผสานกันอยู่  ข้อที่พึงเข้าใจกันก่อนข้อคือกลุ่มสนทนานี้ไม่ใช่กลุ่มบำบัดปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง แต่หากปัญหาใครจะคลี่คลายไปเองจากการเข้าร่วมกลุ่มก็ถือเป็นผลพลอยได้ ไม่ใช่จุดมุ่งหมาย  Patric de Mare เพื่อนของโบห์มคนหนึ่งที่เป็นนักจิตบำบัด และเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อความคิดของโบห์มในด้านวิธีการสนทนา (ในขณะที่กฤษณมูรติมีอิทธิพลด้านแนวคิดเชิงปรัชญา) เรียกการสนทนาแบบโบห์มว่าการบำบัดสังคม (socio-therapy) ไม่ใช่การบำบัดบุคคล (individual therapy) กลุ่มสนทนาเป็นตัวแทนของสังคมใหญ่ที่ถูกย่อส่วนลงเป็นโลกใบเล็ก หรือ จุลโลก (microcosm) หากกลุ่มหรือใครคนใดคนหนึ่งในกลุ่มได้รับการรักษาตัวเองให้หาย ก็จะเป็นการเริ่มต้นของการรักษาที่ใหญ่ขึ้นเอง

 

สิ่งสำคัญยิ่งยวดเลยก็คือ การสนทนานี้จะต้องไม่มีการตัดสินใจใดๆ ทั้งสิ้น มิฉะนั้นแล้วเราจะไม่เกิดความรู้สึกอิสระ การสนทนาจะต้องทำให้บรรยากาศ เปิดและ ว่าง จริงๆ อย่างที่กฤษณมูรติบอกว่า ต้องไม่เป็น ชาล้นถ้วย (The cup has to be empty to hold something)

 

โบห์มเล่าในหนังสือ On Dialogue ว่า นานมาแล้วเคยมีนักโบราณคดีเข้าไปอยู่กับชนเผ่าดั้งเดิมของอเมริกาเหนือกลุ่มหนึ่ง ซึ่งโดยทั่วไปชนเผ่าที่หากินด้วยการล่าสัตว์จะอยู่กันเป็นกลุ่มประมาณ 20 – 40 คน สมาชิกทั้งหมดจะมาประชุมแบบล้อมวงคุยกันอยู่เรื่อยๆ โดยจะคุย คุย และคุย (talk talk and talk)โดยไม่มีวัตถุประสงค์อะไร  ไม่มีการตัดสินใจอะไร ไม่มีผู้นำการประชุม ทุกคนสามารถเข้าร่วมได้ อาจจะมีผู้อาวุโสที่มีประสบการณ์มาก นั่งฟังอยู่ด้วย ทุกคนสามารถพูดในสิ่งที่อยากพูด การพูดกันดำเนินไปแล้วก็เลิกราแยกย้ายกันไปเองเมื่อถึงเวลาของมัน แต่หลังจากนั้นดูเหมือนทุกคนจะรู้ว่าตัวเองต้องทำอะไร เพราะเขาเข้าใจกันและกันดีมาก จากนั้นเขาอาจจะจับเป็นกลุ่มๆ ที่เล็กลงเพื่อไปทำบางสิ่งบางอย่าง หรือตัดสินใจในเรื่องต่างๆ

 

การสนทนาแบบโบห์มใช่ว่าจะต้องไม่มีจุดประสงค์ใดโดยเด็ดขาดเสียทีเดียว โบห์มบอกว่าเราอาจจะตั้งจุดประสงค์บางอย่างที่เราอยากสืบค้นร่วมกัน แต่ก็ไม่ใช่วัตถุประสงค์อันสมบูรณ์ที่ต้องยึดถืออย่างจริงจังอยู่ดี ไม่มีการบังคับให้ทุกคนต้องยึดติดกับวัตถุประสงค์นั้น วัตถุประสงค์ของการสนทนาแบบนี้ก็คือการสื่อสารให้ประสานสนิทเข้าด้วยกันจนเป็นเป็นเนื้อเดียว (to communicate coherently in truth) หากเราตั้งจุดประสงค์อย่างที่ในสังคมทั่วไปตั้งกัน ไม่ว่าเพื่องานหรือเพื่อความบันเทิง จุดประสงค์นั้นก็จะกลายเป็นข้อจำกัดของการสนทนาแบบโบห์มไป

 

ข้อจำกัด ในการนำการสนทนาแบบโบห์มไปใช้ก็มี เช่น หากจะนำไปใช้ในครอบครัว ก็อาจมีข้อจำกัดตรงที่ครอบครัวโดยทั่วไปมักมีโครงสร้างแบบอำนาจ และโครงสร้างแบบอำนาจและการบังคับตามลำดับชั้นโดยหลักการแล้วก็ไม่มีพื้นที่ให้กับการสนทนา การสนทนาแบบโบห์มดำเนินไปไม่ได้ในที่ที่ไม่มีอิสระ อย่างไรก็ตามครอบครัวใดจะนำหลักการของการสนทนาแบบนี้ไปใช้อย่างจำกัดก็ได้ โดยมีจุดมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ในใจ แล้วให้สมาชิกทุกคนยอมรับในหลักการของการ เปิดใจเพื่อให้เกิดการสื่อสารอย่างอิสระ

 

ในองค์กรทั่วไปซึ่งมีโครงสร้างอำนาจและการบังคับบัญชาตามลำดับชั้นก็สามารถนำหลักการสนทนาแบบโบห์มไปใช้เพื่อวัตถุเฉพาะบางอย่างได้ เช่น ใช้เพื่อทำให้สมาชิกขององค์กรเข้าใจกันว่าความเข้าใจของแต่ละคนต่างกันอย่างไร การสนทนาแบบโบห์มโดยหลักการแล้วไม่ต้องการไปเปลี่ยนความคิดของผู้ร่วมสนทนา เมื่อสนทนากันแล้วใครจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนอย่างไรก็เป็นเรื่องของแต่ละคนที่จะไปคิดเอาเอง ไปตัดสินใจเอาเอง ความสำคัญอยู่ที่การให้แต่ละคนได้ตระหนักถึงสิ่งที่อยู่ในใจของตน ของคนอื่น ของกลุ่ม ไม่ต้องสรุป ไม่ต้องตัดสินในขณะสนทนา  การรีบด่วนสรุปหรือรีบตัดสินจะเป็นการปิดกั้นความคิดใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น นั่นคือ ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ

 

การสนทนาแบบโบห์มยังเป็นเครื่องมือสำหรับให้แต่ละบุคคลได้สื่อสารกับตัวเอง โดยผ่านการสังเกตความคิดและกระบวนการคิดของตัวเอง อย่างที่กฤษณมูรติกล่าวไว้ว่า ในขณะที่เราสังเกตโลกภายนอกนั้นแท้จริงแล้วเราเห็นโลกผ่านการคิดภายในตัวเรา (the observer is the observed)

 

การสนทนาแบบโบห์ม ๑ : เกริ่นนำ

การสนทนาแบบโบห์ม ๒ : โบห์มคือใคร?

การสนทนาแบบโบห์ม ๓ : หนังสือ On Dialogue สำคัญอย่างไร?

การสนทนาแบบโบห์ม ๔ : แนวคิดและวิธีการสนทนาแบบโบห์มมีอะไรบ้าง?

การสนทนาแบบโบห์ม ๕ : ประยุกต์ใช้การสนทนาแบบโบห์มอย่างไร?

การสนทนาแบบโบห์ม ๖ : สรุป

หมายเลขบันทึก: 171782เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2008 23:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 14:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)
  • ผู้เข้าร่วมสนทนาแบบโบห์มจะต้องฝึกตัวเองให้มีอุปนิสัยต่อไปนี้ ไม่ด่วนสรุป ฟังลึก ค้นหาข้อสมมุติของตน (การมีสติอยู่กับปัจจุบันขณะ???) ติดตามตรวจตราและไตร่ตรอง
  • เคยได้ยินมาเหมือนกัน กาลามสูตร + การฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา + ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่มีใจเป็นประธาน สำเร็จลงแล้วด้วยใจ + .....
  • ดูเหมือนจะไปด้วยกันได้นะครับอาจารย์

คุณ ม.ชีวิต เคยคิดอย่างผมไหมครับว่าเรื่อง "การมีสติ" นี้ เป็นเรื่องที่พูดง่ายทำยาก(มากๆ)การจับความรู้สึกและความคิดตัวเองขณะที่มันเกิดขึ้นไม่ใช่จะทำได้ง่ายๆ ไม่เช่นนั้นเราคงไม่บ่น ไม่โกรธคนอื่นที่ทำอะไรขัดใจหรือไม่ได้ดังใจเรา หรือโทษคนอื่น-โทษตัวเอง ฯลฯ ผมเป็นคนหนึ่งที่ยัง ก.ไข๋ ข.ไข่ อยู่ในเรื่อง "สติ" นี้ ยังไม่ค่อยทันตัวเอง มันออกไปใส่คนอื่นหรือสิ่งอื่นแล้วค่อยรู้สึกตัว มานึกเสียใจภายหลังอยู่บ่อยๆ

P

นาย สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์

 

อ่านๆ ไปแล้วสงสัยว่า Dialogue กับคำว่า ระดมความคิด ซึ่งรู้สึกว่าสมัยหนึ่ง จะได้ยินบ่อยๆ มีความเหมือนความต่างกันอย่างไร ?

ตามที่เดาเอา ระดมความคิด มักจะใช้ในคราวที่องค์กรมีปัญหาแล้วต้องการแนวทางแก้ไข... (ไม่รู้รายละเอียดจริงๆ เกรงอาจารย์ย้อนถามอีก 5 5 5)

เจริญพร

นมัสการพระคุณเจ้า BM.chaiwut

  • คำ "การระดมความคิด" หรือ "ระดมสมอง" ตามที่ผมเข้าใจ เป็นคำที่มีคนแปลมาจากภาษาอังกฤษ ว่า "brain storming" ซึ่งมีรูปแบบ วิธีการ และเครื่องมือหลายอย่างที่พัฒนากันขึ้นมาใช้ในองค์กร แต่ไม่ว่าจะใช้รูปแบบ วิธีการ และเครื่องมือใด จะแบบมาอยู่ในสถานที่เดียวกันแบบเห็นหน้าค่าตา จะแบ่งกลุ่มย่อยหรือไม่แบ่ง จะให้เขียนลงกระดาษส่งมา หรือทำ mind map กันบนกระดาน ก็มีหลักการสำคัญที่ยึดถือร่วมกันว่า ทุกความคิดที่ระดมเข้ามา ไม่มีถูกไม่มีผิด ไว้ก่อน นั่นคือ ระดมก็คือระดม ยังไม่ให้ใครไปวิพากษ์วิจารณ์ความคิดใคร เมื่อได้ความคิดมาจากทุกคนแล้ว จากนั้นจึงค่อยมาร่วมกันพิจารณาแต่ละความคิดร่วมกัน เอาความคิดที่ทุกคนเห็นว่าไม่เข้าท่าออกไป จนได้ความคิดที่ดีๆ ไปปฏิบัติต่อไป หรือถ้าเป็นองค์กรที่ผู้นำต้องการตัดสินใจเองก็พิจารณา "เลือก" เอาเอง ไม่ต้องอภิปราย ก็แล้วแต่ ซึ่งอันนี้ก็ยังไม่ใช่ "การสนทนาแบบโบห์ม"
  • เรื่องของ "การสนทนาแบบโบห์ม" หรือที่บางคนเรียกว่า "สุนทรียสนทนา" (เพราะคิดว่าสนทนากันได้ได้สุนทรียะ???) หรือ "สารสนทนา" (เพราะคิดว่าสนทนากันแล้วได้สาระ???) หรือ "วาทวิจารณ์" (เพราะคิดว่าเป็นการพิจารณาวาทะของกันและกัน???) หรือบางคนก็ใช้ประโยคอธิบายว่า "การสนทนาแบบมนุษย์สัมผัสมนุษย์และการเปลี่ยนวิธีคิดด้วยการฟังอย่างลึกซึ้ง" นี้ ผมเข้าใจว่า การฟังหรือการอ่านอาจทำให้เข้าใจหลักการได้ แต่ก็ไม่เท่ากับ "ความรู้สึก" ที่เกิดขึ้นจากการได้เข้าร่วมจริง
  • อย่างไรก็ตาม อาจทำความเข้าใจได้ในระดับหนึ่งโดยค่อยๆ อ่านอย่างช้าๆ
  • ผมเองก็ยังไม่เชื่อว่ามีประสบการณ์พอที่จะสามารถเขียนให้คนอ่านเข้าใจได้หรอกครับ)ถือว่าเป็นการบันทึกไว้เพื่อ "ย่อย" ต่อไป อย่างน้อยการที่ผมยังคงใช้คำเรียกแนวคิดและวิธีการนี้ว่า "การสนทนาแบบโบห์ม" ตามอย่างภาษาอังกฤษคือ Bohm's Dialogue ก็สะท้อนว่าผมเองก็ยังไม่แจ่มชัดจริงในเรื่องนี้ ยังต้องทำความเข้าใจต่อไปอีก ด้วยการร่วมในการปฏิบัติจริง

 

  • ขอแลกเปลี่ยนจากประโยคที่อาจารย์เขียนนะคะ

ในกระบวนการสร้างมโนภาพนี้มีการ ปรุงแต่ง เกิดขึ้นจากการที่แต่ละคนนำฐานคติ (assumption) ของตัวเองเข้าไปผสมกับมโนภาพนั้นโดยไม่รู้ตัว ทำให้เราแต่ละคนเห็นโลกหรือคนอื่นบิดเบี้ยวไปจากความเป็นจริง มีคนจำนวนน้อยที่สนใจและสามารถสังเกตเห็นกระบวนการคิดที่เกิดขึ้นในตัวเองนี้ (การเจริญสติ???)

  • ข้อความข้างบน คือ กระบวนการที่ตัวเราเองสร้างโลกทัศน์ ความคิดยึดติด และความใส่ใจ ตามทฤษฎีนพลักษณ์ค่ะ
  • และความสามารถที่จะเห็นได้... ในทางศาสนาพุทธ ก็มีแนวทางการเจริญสตินั่นแหละค่ะ ที่จะ "เห็น" ให้ทัน

 แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักและไม่ได้สังเกต ทั้งที่กระบวนการนี้ทำงานอยู่ในตัวเรา ในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา รวมทั้งในวิธีการสื่อสารของเรา ประเด็นคือจะทำอย่างไรให้เราได้เห็นว่าความจริงที่เราเห็นนั้น แท้จริงแล้วอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น โบห์มบอกว่า การเห็นกระบวนการทำงานของการคิดของเราจึงเปรียบเหมือนการเห็นความลับของนักมายากล ที่เมื่อเห็นแล้วก็ไม่ใช่ความลับอีกต่อไป

  • คงคล้ายกับการเห็น "แผนที่" มังคะ ว่าเรามักจะมีกลไกทางจิตวิ่งไปได้ในทิศทางใดบ้าง ตามที่เราสั่งสม "ความคิด" เอาไว้ในสมอง ...... ถ้าเราศึกษาศาสตร์นพลักษณ์ เราแต่ละคนจะมองเห็นกลไกทางจิตของตัวเองได้ไม่ยากนักค่ะ ...เท่ากับเรามีแผนที่ไว้ให้เลือกเดินทางสำหรับชีวิตของเราเองค่ะ

ขอบคุณคุณ P อัญชลี อุชชิน มากครับ

ดูเหมือนว่าคุณอัญชลีพยายามโยงความคิดของโบห์มเข้ากับทฤษฏีนพลักษณ์ และพุทธศาสนา

  • ส่วนที่คุณอัญชลีว่า "คงคล้ายกับ 'แผนที่' มังคะ" นั้น ผมไม่เข้าใจครับว่าทำไมจึงคล้ายกับแผนที่ คงจะต้องการบอกว่า นพลักษณ์เป็นแผนที่ให้คนเข้าใจความคิดของตัวเอง ใช่ไหมครับ? (ผมเห็นด้วยครับ ว่านพลักษณ์เป็นเครื่องมือที่ดีอันหนึ่งในการให้คนเข้าใจตัวเอง-และคนอื่น ศึกษานพลักษณ์แล้วเกลียดใครไม่ลง สามารถรักและเมตตาทั้งตัวเองและคนอื่น ดีจริงๆ ครับ)
  • ส่วน "กลไกทางจิตวิ่งไปได้ในทิศทางใดบ้าง ตามที่เราสั่งสมความคิดเอาไว้ในสมอง..." นั้นหมายถึงลูกศรในนพลักษณ์หรือเปล่าครับ? ถ้าใช่ก็หมายความว่า นพลักษณ์ช่วยเปิดไต๋ของ "นักมายากล" ให้เราเห็น อย่างนั้นหรือเปล่าครับ?

ผมเห็นด้วยครับ ว่านพลักษณ์เป็นเครื่องมือที่ดีอันหนึ่งในการให้คนเข้าใจตัวเอง-และคนอื่น ศึกษานพลักษณ์แล้วเกลียดใครไม่ลง สามารถรักและเมตตาทั้งตัวเองและคนอื่น ดีจริงๆ ครับ

  • โมทนา สาธุ ด้วยกับสิ่งที่อาจารย์เห็นจากการศึกษานพลักษณ์ค่ะ

นพลักษณ์ช่วยเปิดไต๋ของ "นักมายากล" ให้เราเห็น อย่างนั้นหรือเปล่าครับ?

  •  ถูกต้องแล้วคร้าบบบบบ .... ไม่ใช่เพียงพลวัตรเรื่องภาวะลูกศรเท่านั้นค่ะ ยังมีเรื่องปีกด้วย   และเรื่องการใช้กลไกป้องกันตนเองอีกหลากหลายประการ ที่นพลักษณ์เผยไต๋หมดเปลือก ...... สิ่งที่ผู้ศึกษานพลักษณ์ต้องขบให้แตกคือ คุณอ่านแผนที่เป็นหรือเปล่า... เท่านั้นเอง
  • คงต้องอาศัยการศึกษาเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ค่อยเป็นค่อยไปค่ะ แค่การอบรมขั้นต้น ขั้นกลาง คงอาจจะไม่เพียงพอในการศึกษาแผนที่เก่าแก่โบราณนี้ค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์ สุรเชษฐ

ได้อ่านแล้วก็นึกถึงคำพูดธรรมดาของชาวบ้านครับ

การสนทนาแบบชาวบ้าน เช่น นั่งใต้ร่มไม้พูดคุยกัน ภาษาถิ่นว่า "เว้าพื้นกัน" การพูดคุยถึงคน หรือเรื่องนั้นเรื่องนี้ในทางที่ดีไม้ดีก็ตามแต่  ซึ่งคำพูดเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นไปโดยตามธรรมชาติ

กระผมคิดว่านั้น คือ การสื่อสารที่มาจากหัวใจของแต่ละคน เป็นการเปิดใจที่จะรับหรือไม่รับข้อมูลที่ได้ยิน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการที่ทำให้คนเข้าใจกันอย่างแท้จริง แต่คนส่วนมากมักไม่ค่อยชอบเพราะเข้าใจว่าเป็นคำติเตียนลับหลังที่ไม่สร้างสรรค์

ขอบพระคุณครับ

P

"โบห์มเล่าในหนังสือ On Dialogue ว่า นานมาแล้วเคยมีนักโบราณคดีเข้าไปอยู่กับชนเผ่าดั้งเดิมของอเมริกาเหนือกลุ่มหนึ่ง ซึ่งโดยทั่วไปชนเผ่าที่หากินด้วยการล่าสัตว์จะอยู่กันเป็นกลุ่มประมาณ 20 – 40 คน สมาชิกทั้งหมดจะมาประชุมแบบล้อมวงคุยกันอยู่เรื่อยๆ โดยจะคุย คุย และคุย (talk talk and talk)โดยไม่มีวัตถุประสงค์อะไร ไม่มีการตัดสินใจอะไร ไม่มีผู้นำการประชุม ทุกคนสามารถเข้าร่วมได้ อาจจะมีผู้อาวุโสที่มีประสบการณ์มาก นั่งฟังอยู่ด้วย ทุกคนสามารถพูดในสิ่งที่อยากพูด การพูดกันดำเนินไปแล้วก็เลิกราแยกย้ายกันไปเองเมื่อถึงเวลาของมัน แต่หลังจากนั้นดูเหมือนทุกคนจะรู้ว่าตัวเองต้องทำอะไร เพราะเขาเข้าใจกันและกันดีมาก จากนั้นเขาอาจจะจับเป็นกลุ่มๆ ที่เล็กลงเพื่อไปทำบางสิ่งบางอย่าง หรือตัดสินใจในเรื่องต่างๆ"

ที่โบห์มเล่านั้นเหมือนเล่าสิ่งที่เป็นอดีต แต่บ้านเรายังเป็นปัจจุบันอยู่ในชุมชนส่วนใหญ่ อย่างนั้นหรือเปล่าครับ?

ผมสังเกตเห็นชาวบ้านเรานั่งคุยกัน ต่างคนต่างพูดพร้อมๆ กัน แต่ก็ดูเหมือนว่าจะเข้าใจกัน พอแยกย้ายกันไปแล้วก็ทำในสิ่งที่แต่ละคนสมควรทำได้ด้วย!

นิทานการเรียนรู้ Listening to the Volcano สดับเสียงภูเขาไฟ

หากต้องการเปลี่ยนแนวทาง เราต้องฝึกทักษะที่เรียกว่าการเปิดเผย อย่างคิดไตร่ตรอง (Reflective Openness) ซึ่งสมาชิกแต่ละคนมีส่วนร่วม พร้อมด้วยกรอบความคิดต่อไปนี้:

 นี่เป็นเพียงความคิดที่ดีที่สุดของฉันในปัจจุบัน ฉันรู้ว่ามีความเป็นไป ได้เรื่องอื่นๆ ที่ฉันอาจมองไม่เห็นในขณะนี้

 ตำแหน่งและระดับไม่ได้มีความสำคัญในการสนทนานี้ ฉันอยู่ใน ระดับที่เท่าเทียมในฐานะมนุษย์กับคนอื่นทุกคน

 ฉันจะสงบการตัดสินของฉันขณะที่คนอื่นพูด

 ฉันสามารถเรียนรู้ได้มากจากพวกคุณ

 ฉันคาดหวังว่าฉันจะต้องเปลี่ยนแปลงจากการสนทนาครั้งนี้

 ฉันไม่ได้คาดหวังว่าจะโน้มน้าว แข่งขัน เอาชนะ หรือ ชนะ

 ฉันรับช่วงเวลาที่เงียบๆ ในการสนทนาได้

ขอบคุณ นิทานการเรียนรู้ Listening to the Volcano สดับเสียงภูเขาไฟ

เมื่อ พ. 18 มี.ค. 2552 @ 06:13

ขอนำแนวคิดในข้อต่างๆ (หลังจุด)ไปใช้ครับ

ยกเว้นข้อ "ฉันคาดหวังว่าฉันจะต้องเปลี่ยนแปลงจากการสนทนาครั้งนี้" ครับ

ขอไม่คาดหวังอะไรก็แล้วกัน เปลี่ยนก็เปลี่ยน ไม่เปลี่ยนก็ไม่เปลี่ยน คือ ไม่ถึงถึงความคาดหวังใดๆ ในการสนทนาไว้ก่อนล่วงหน้าก็แล้วกัน

อย่างนี้ไม่ทราบว่าจะดีไหม?

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์สุรเชษฐ

ผมพึ่งได้อ่านเจอบันทึกนี้ครับ

ดีใจมากที่อาจารย์ได้เผยแพร่เนื้อหาใน On Dialogue ออกสู่สาธารณะครับ

ผมก็มีเล่มนี้อยู่เช่นกัน แต่อ่านแล้วก็งง กับศัพท์แสง  ที่ค่อนข้างจะเข้าใจได้ยากครับ

ในหน่วยงานผม มีการนำเรื่อง Dialogue เข้ามาเผยแพร่ประมาณปีกว่าๆ และผมก็โชคดีที่ได้มีโอกาสฝึกฝนทักษะ โดยในครั้งนั้นได้เชิญ อ.ดร. มนต์ชัย พินิจจิตรสมุทร  มาเป็นวิทยากร  ซึ่งท่านก็เป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในเรื่องของ Bohmian Dialogue  ก็ฝีกกันอยู่ 2 วันเต็มๆ ครับ

หลังจากนั้น หน่วยพัฒนาบุคลากรในบริษัท ก็ได้เดินสาย เพื่อเผยแพร่ให้กับหน่วยย่อยที่สนใจจะฝึก ก็ทำกันเองครับ ทำแบบลองผิดลองถูกไป  ผมก็โชคดีที่ได้มีโอกาสติดตามไปร่วมสังเกตการณ์ด้วยแทบทุกครั้ง (ประมาณ 10 กว่าครั้ง) ออกมาก็ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง คละเคล้ากันไป

ท่านอาจารย์มนต์ชัย ได้กล่าวสรุปเป็นหลักสำคัญให้ว่า "ดู Dialogue ให้ดู Meaning Flow"  ซึ่งน่าจะหมายถึง Stream of Meaning ดังที่อาจารย์ว่า   พวกเราก็สับสนกันอยู่นานครับ  จนถึงวันนี้ก็ยังไม่แน่ใจ ว่าอะไรคือ การไหลลื่นของความหมาย ในวงสนทนา

แต่จากความเข้าใจผมในตอนนี้  ซึ่งก็ไม่แน่ใจนักว่าถูกต้องหรือเปล่า  เลยอยากถือโอกาสขอแลกเปลี่ยน ขอคำชี้แนะด้วยนะครับหากมีสิ่งใดที่คลาดเคลื่อนไป

ในวง Dialogue ที่ผมถือว่าประสบความสำเร็จ  มันมักจะเริ่มที่คนในวงได้บอกเล่า Meaning (ความหมาย ตามการตีความของตัวเอง) ออกมาสู่วง  (Share Meaning???)   และหากคนในวงฟังกันอย่างมีสติ มันจะนำไปสู่การยอมรับในความหมายที่แตกต่าง   และเมื่อทุกคนยอมรับในความหมายที่แตกต่าง ก็จะเกิดเป็น "ความหมายใหม่" ที่จะไหลเวียนไปยังทุกคนวง    ซึ่งจะสะท้อนออกมาในรูปของ ความคิดสร้างสรรค์ ที่ต่อยอดกันไปได้เรื่อยๆ  

ข้อสรุปส่วนตัวของผมในตอนนี้ก็คือ  การเกิด Dialogue นั้น ประเด็นการสนทนาเป็นสิ่งคำคัญในเบื้องแรก  เพราะหากเราใช้ประเด็นที่มี Meaning  ให้แชร์ หรือให้ตีความ   ก็จะทำให้คนในวงสนทนาได้มีโอกาส Share Meaning ของตัวเองออกมา  และหากคนในวงฟังกันอย่างลึกซึ้งจริงๆ  คนในวงจะค้นพบความหมายใหม่ร่วมกัน

ผมคิดว่า Dialogue จะมีประโยชน์มากในการจูนความคิดของกลุ่มคน  ให้เห็นภาพเดียวกัน (ภาพที่เป็นองค์รวม)  แต่มันคงไม่ใช่การล้างสมอง ให้ทุกคนเชื่อในสิ่งเดียวกัน หรือเหมือนกันนะครับ

ผมมองว่า มันเหมือนการต่อจิ๊กซอว์มากกว่า  เราแต่ละคนก็คือชิ้นส่วนเล็กๆ ของภาพจิ๊กซอว์  และทุกคนก็ต้องเข้าใจว่า  การมองหรือยึดเอาจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กๆ   เพียงชิ้นใดชิ้นหนึ่ง  ย่อมไม่มีวันที่จะทำให้เราให้ภาพรวมของจิ๊กซอว์ทั้งหมดได้  แต่เมื่อไรก็ตามที่ทุกคน ตระหนักในความจริงว่าเราก็คือชิ้นส่วนนึง ซึ่งถ้ามาประกอบกันเมื่อไหร่   เมื่อนั้นเราก็จะสามารถเห็นภาพรวมของจิ๊กซอว์อันงดงามได้

ผมเรียนรู้จาก Dialogue ว่า

เราทั้งหมดคือจิ๊กซอว์แห่งจักรวาลครับ

ขอบคุณครับสำหรับโอกาสในการแลกเปลี่ยน

วันหน้าคงได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับอาจารย์อีกนะครับ

ขอคำชี้แนะกับสิ่งที่เขียนมาจากความเข้าใจอันน้อยนิดของผมด้วยนะครับ

ตอบ คุณซวง ณ ชุมแสง

เมื่อ พ. 18 มี.ค. 2552 @ 09:24

ตามความเข้าใจของผม meaning หรือ ความหมาย ที่โบห์มกล่าวถึง มีความหมาย ๒ นัย นัยแรกก็คือ ความหมายในเชิงเนื้อหาสาระตามที่คนหนึ่งสร้างขึ้นจากการรับรู้โลก(หรือปรากฏการณ์) และต้องการสื่อให้คนอื่นเข้าใจตามที่ตนเข้าใจ แต่เป็นเรื่องยากมากที่คนอื่นจะเข้าใจความหมายที่เขาสร้างขึ้น เพราะทุกตนล้วนมีอคติจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว บางคน (เช่นผม) ที่ชอบใช้ความคิดก็จะสนใจเฉพาะ "ความหมาย" ของคำ จึงไม่ได้ยินเสียงอื่นๆ ใน "กระบวนการสื่อสาร" ทั้งหมด ของเขา เช่น ไม่ได้ยินน้ำเสียง สีหน้า ท่าทาง ฯลฯ ที่สำคัญกว่านั้นอีกก็คือ ความเชื่อ ทัศนคติ วิธีการมองโลก ของผมทำให้ผมบิดเบือนความหมายที่เขาต้องการให้เป็นไปตามความเชื่อ ทัศนคติ และวิธีการมองโลกของผม บางที่ผมก็ตัดสินเขาทั้งๆ ที่ผมไม่ "ได้ยิน" ความหมายทั้งหมดที่เขาต้องการสื่อ ด้วยเหตุนี้ในกระบวนการไดอาลํอก การฝึกฟัง โดย "เปิดใจอย่างเต็มที่" ฟังทั้งสิ่งที่อยากฟังและไม่อยากฟัง ฟังอย่างใส่ใจเต็มที่เพื่อให้เข้าถึง "ความหมาย" ที่แต่ละคนในวงไดอาล็อกต้องการสื่อให้มากที่สุด ในวงวิชาการสื่อสารว่าเป็นไปได้ยากที่ใครจะสามารถสื่อความหมายที่สร้างขึ้นได้ 100% โดยภาษาคำล้วนๆ เพราะเราไม่มีคำที่จะใช้เพียงพอ ด้านผู้รับสารก็ยากที่จะรับสารได้ 100% การฟังอย่างเต็มใจ ตั้งใจ ใส่ใจเต็มที่ ไม่ตัดสิน ไม่ถามหรือแสดงความเห็นสอดแทรก ฟังอย่างสงบ(ปากสงบฟัง)จะช่วยให้เราเข้าถึง "ความหมาย" ที่เขาต้องการสื่อได้มากขึ้น

นัยที่สอง คือ ความหมายใหม่ที่เกิดขึ้นจากวงไดอาล็อก ที่ทุกคนช่วยกันสร้างขึ้นมาใหม่ โดยไม่ใช่สิ่งที่ใครคิดมาก่อน เมื่อถึงจุดนั้น ทุกคนจึง "รู้สึก" มีความสุขที่ใครพูดขึ้นมาก็เหมือนเราพูดเอง หรือเราพูดขึ้นมาคนอื่นๆ ก็รู้สึกว่าเป็นความคิดของเขาด้วย จะเรียกว่าเป็น "ความรู้ใหม่" ที่ทุกคนช่วยกันสร้างขึ้นมาก็ได้ (ไดอาล็อกจึงมีมิติของความเป็นเครื่องมือของ KM ด้วย หากจะเรียกว่าเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นจากการต่อจิ๊กซอว์ก็คงได้ละ แบบตาบอดคลำช้างอย่างเข้าใจและเข้าใจว่าส่วนที่ตัวเองคลำเจอ-รับรู้นั้นไม่ใช่ช้างทั้งตัว หรือความจริงทั้งหมดของช้าง เมื่อได้ share กันแล้วก็จะทำให้ทุกคนได้เข้าถึงความจริงของช้างมากขึ้น) ส่วนความสุขที่ว่านั้นเกิดจากกระแสแห่งความหมายใหม่ (stream of meaning) ที่ไหลวนอยู่ในวงนั้น

ขอบคุณมากค่ะ อาจารย์

อ่านแล้ว ได้แนวคิดทั้งทางด้านการทำงานและ ชีวิตบ้านเมืองเรา ที่เอาแต่สาดคำพูดใส่กัน

ไม่ทราบว่า ท่านใดเคยอ่านหนังสือ เรื่อง Listening to the Volcano ของ David Hutchens

พูดถึงคนในหมู่บ้านภูเขาไฟ ซึ่งภูเขาไฟกำลังจะระเบิด แล้วคนในหมู่บ้านก็ มีท่าที คำพูด ต่อสถานการณ์ที่แตกต่างกัน.. ที่จะทำให้เราตระหนักถึงการสนทนาที่สร้างสรรค์และสร้างความตระหนักรู้ ที่เรียกว่าไดอะล็อก (Dialogue) หรือ สุนทรียสนทนา

เค้าเปรียบเทียบได้ดีที่เดียว

ต้องการคุณอำนวยไปจัด Workshop Dialogue ค่ะ

กลุ่มผู้ร่วมใส่เสื้อแดง และเสื้อเหลือง อย่างละครึ่งค่ะ

ขอความกรุณาล่ะค่ะ

การฟังอย่างลึกซึ้งในวง Dialogue จะทำให้เราได้คิดในบางเรื่องที่ตอนแรกเราคิดไม่ถึง แต่พอเราได้ยิน ได้ฟังคนในกลุ่มพูด ทำให้ไปกระตุ้นความคิดของเราที่อาจจะฝังลึกอยู่ให้ผุดขึ้นมาได้

จากประสบการณ์ของตัวเองที่นั่งฟังคนอื่น อย่างไม่ตัดสิน เปิดทั้ง หัวสมอง และหัวใจ ก็จะทำให้เราโอบอุ้มทุกสิ่งที่ได้ยิน และพร้อมรับเข้ามาตกผลึกในตัวเรา แล้วเกิดเป็นความคิดใหม่ๆ ขึ้นมา ตามหลัก Theory U เลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท