การบริหารจัดการกองทุน (บริหารจัดการทุน)


ทุนเงินตรา ทุนที่เป็นทรัพย์สิน ทุนทางสังคม

   การบริหารจัดการทุน แบ่งเป็น 3 ทุน

     1.  ทุนเงินตรา

     2.  ทุนที่เป็นทรัพย์สิน ทรัพย์สมบัติ

     3.  ทุนทางสังคม และวัฒนธรรม กฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกันของคน

       ในสมัยก่อนจะมีการลงแขกเกี่ยวข้าว ถ้ามีเพื่อนมาช่วยเรา เราก็ต้องไปช่วยเพื่อนเหมือนกัน กฎเกณฑ์แบบนี้จะทำให้คนอยู่ร่วมกันได้ การลงแขกเป็นการลดการใช้เงิน ไม่ต้องไปกู้เงินมาเพื่อจ้าง แต่เป็นการเปลี่ยนสังคมวัฒนธรรมให้เป็นทุน หลักการบริหารทุน คือ

   1. ทุนหมุนเวียน

   2. ทุนต้องมีปรับเปลี่ยนสลับหมุนเวียนกันไปมาได้

   คลองเปรี๊ยะมีทุน 10,000,000 ได้ก็เพราะว่ามีการหมุนเวียน และคลองเปรี๊ยะมีกลุ่มย่อยอยู่ 12 กลุ่ม 12 หมู่บ้าน แต่ละกลุ่มบริหารจัดการกันเอง ส่งตัวเลขเงินไปรวมกันที่ตำบล แต่เงินจะอยู่ที่กลุ่มย่อย จะฝาก จะกู้ จะคืนเงิน จะมีการทำกันที่กลุ่มย่อย ที่ตำบลจะไม่มีเงินแต่จะมีเพียงยอดเงินรวมเท่านั้น ซึ่งก็เหมือนกับกะหรอ มีกลุ่มย่อย 9 กลุ่ม และมีเครือข่ายเพื่อนำตัวเลขยอดเงินของแต่ละหมู่บ้านมารวมกัน มาพบกันเดือนละ 1 ครั้ง ยอดเงินรวมจะอยู่ที่เครือข่าย แต่เงินจริง ๆ ก็จะอยู่ที่กองทุนของแต่ละหมู่บ้าน ตัวอย่างที่คลองเปรี๊ยะในแต่ละเดือนจะมีการกู้ยืมกันที่กลุ่มย่อย และส่งยอดเงินทั้งหมด รวมทั้งเงินที่เหลือในกลุ่มย่อยทั้ง 12 กลุ่ม ให้ส่วนตำบลรับทราบ กลุ่มไหนที่เงินไม่พอ ก็สามารถมาเอาเงินจากกลุ่มที่เงินเหลือได้

    หากกะหรอถ้าจะทำแบบนี้ ก็จะต้องมีคณะกรรมการกลางสำหรับทำหน้าที่พิจารณาเรื่องเงินทั้ง 9 หมู่บ้าน เพราะว่าถ้าเกิดปัญหาอะไรขึ้นมากรรมการต้องเป็นคนรับผิดชอบ บางกลุ่มมีเงินให้กู้ไม่เพียงพอ แต่บางกลุ่มมีเงินเหลือ และนำไปฝากธนาคาร ไม่ได้นำมาเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้หมู่อื่นได้ยืม แต่ถ้าจะทำแบบนี้ก็ต้องดูว่า หมู่ไหนเงินเหลือและหมู่ไหนเงินขาด ก็มาผ่านคณะกรรมการ เอาเงินของหมู่ที่เหลือส่งต่อให้หมู่บ้านที่ขาด แต่ถ้าไม่มีคณะกรรมการเป็นตัวกลางในการพิจารณาอาจจะมีปัญหาได้

    บ้านคลองเปรี๊ยะ วันออมทรัพย์จะทำกัน 2 วัน วันแรกจะเป็นการออมเงิน และใช้หนี้เงินกู้ รวมถึงยื่นแบบฟอร์มขอกู้เงิน จะทำให้ทราบยอดเงินที่เข้ามาในเดือนนี้ และยอดเงินกู้ที่ขอกู้เป็นเท่าไหร่ จะทำให้ทราบว่าแต่ละกลุ่มจะมีเงินเพียงพอสำหรับการกู้หรือไม่ และมีกลุ่มใดบ้างที่เงินขาด และกลุ่มใดบ้างที่มีเงินเหลือ และในวันที่ 2 จะเป็นวันกู้เงิน เพราะฉะนั้นการหมุนเวียนทุนจากหมู่ที่ 1 ไปหมู่ที่ 2 เพื่อให้เงินไม่ติด เมื่อเงินหมุนได้หลายรอบ เงินก็จะมากขึ้น ดอกผล กำไรก็จะมากขึ้น

    ทุนต้องมีการหมุนเวียนสลับปรับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปมา คนในสมัยก่อนไม่ค่อยมีเงินเก็บ แต่จะมีทรัพย์สมบัติแทน สมบัติในที่นี้ก็คือ บ้าน สวน ที่นา ที่ดิน วัว ควาย คนในสมัยก่อนถ้าต้องการใช้เงิน ก็นำทรัพย์สมบัติไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินแทน ถ้าปีไหนทำนาขายข้าวได้ดีจะไม่เก็บเงิน จะซื้อวัว ซื้อที่นา เก็บไว้แทน มีการปรับเปลี่ยนหมุนเวียนทุนกลับไปกลับมา

   ทุนทางสังคมและวัฒนธรรม ปัจจุบันทุนทางสังคมและวัฒนธรรมมีเพิ่มมากขึ้น การรวมกลุ่มของคนเพื่อทำงาน ก็ถือเป็นทุนทางสังคมวัฒนธรรมในการรวมกลุ่ม ในหมู่บ้านเรากฎเกณฑ์ ความสัมพันธ์ตรงจุดนี้มีมาก ในวันหนึ่งเราสามารถเปลี่ยนแปลงมาเป็นทุนได้ เช่น การสร้างวัด เจ้าอาวาสที่วัดไม่มีเงินในการสร้างวัด แต่ก็สามารถสร้างวัดได้ก็เนื่องมาจากความสัมพันธ์ระหว่างคนกับวัด  หรือเมื่อเราถูกเรื่อง แล้ว้เราจะเลี้ยงน้ำชา ไม่ใช้ว่าเราจะเชิญใครมาก็ได้ แต่เราต้องเชิญคนที่เรารู้จัก คุ้นเคยกัน และมีความสัมพันธ์กันทางสังคม ถ้าถามว่าคุ้มไหมเวลาไปกินน้ำชา น้ำชา 1 แก้ว ข้าวเหนียว 1 ห่อ 300 บาท แต่ถ้าเราไปกินที่ตลาดก็แค่ 15 บาท แต่ทำไมถึงต้องจ่ายถึง 300 บาท ก็เพราะว่าความสัมพันธ์ความคุ้นเคยกันทางสังคม ได้ช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกัน

      การเปลี่ยนวัฒนธรรมทางสังคมให้เป็นทุน (ให้นึกถึงว่าเรามีความสัมพันธ์อยู่กับใคร ) เช่นการขอแรงช่วยสร้างบ้าน สร้างวัด พอมีเรื่องขึ้นมา เราจะไปหาและพึ่งพาอาศัยใคร โดยเฉพาะคนจนจะมีเรื่องตรงจุดนี้มากกว่าคนรวย คนจนเป็นคนที่ขาดหลักประกัน คนจนเมื่อเกิดเรื่องอะไรขึ้นมาก็ต้องแบ่งปันคนอื่น เพื่อเป็นหลักประกันว่าวันที่เขามีเรื่องอะไรขึ้นมา เพื่อนจะได้เป็นหลักประกันให้เขาบ้าง

      ตามความคิดของนายกทักษิณ นักเศรษฐศาสตร์ มีนโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุนของรัฐบาล เพราะคิดว่าคนจนเพราะไม่มีเงิน ถ้าจะแก้ไขก็ต้องให้เข้าถึงแหล่งทุน เพราะจะเอาเงินมาสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้คน เพื่อให้คนหายจน

     แต่ความคิดของ อ.จำนงค์ คนจนก็เพราะวัฒนธรรม เมื่อมีเงินลงมาในหมู่บ้าน คนก็จะเอาเงินไปกินกันหมด เพราะว่าไม่รู้จักวิธีคิด

    การบริหารจัดการทุน เราอย่าคิดว่าทุน มีแต่เงินเพียงอย่างเดียว ทุนเป็นทรัพย์สมบัติที่สามารถปรับเปลี่ยนไปมาได้ บางช่วงถ้าถือเงินอาจจะไม่ปลอดภัยก็สามารถเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินได้ เอาเงินและทรัพย์สมบัติที่มีเปลี่ยนเป็นทุนทางวัฒนธรรม คือการช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกัน เราอย่าคิดแต่จะกอดเงินไว้อย่างเดียว เพราะว่าบางครั้งถ้ากอดเงินไว้มันอาจจะมีความเสี่ยงเยอะ เงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน และในขณะเดียวกันเงินก็เป็นสินค้าในการซื้อขายด้วย ทำให้ค่าของเงินไม่สามารถควบคุมได้

     การบริหารจัดการธุรกิจ ในประเทศไทยในยุคแรกการสอนให้คนทำธุรกิจ โดยการรวมกันคิด รวมกันทำ รวมกันขาย ยุคแรกที่ส่งเสริมให้จัดตั้งกลุ่มองค์กรต่าง ๆ เปรียบเหมือนปลาตัวเล็ก ๆ ต้องอยู่ร่วมกัน เพื่อต่อสู้กับปลาใหญ่ สร้างอำนาจต่อรอง กับพ่อค้าหรือนายทุน แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่สามารถต่อรองกับพ่อค้า หรือนายทุนได้

       ถ้าเราจะรวมตัวกัน เราจะเปลี่ยนจากการรวมตัวกันเพื่อการต่อรอง มาเป็นการรวมตัวกันเพื่อยกฐานะให้เท่าเทียมกับคู่ค้า เป็นเพื่อนกัน มานั่งคุยกันก็จะสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ ไม่ใช่รวมตัวกันเพื่อไปทะเลาะกับคู่ค้า

      ขั้นที่ 2 รวมกันคิดแล้วแยกกันทำ การที่เราเป็นเกษตรกรการรวมกันคิดเป็นสิ่งจำเป็น ใครมีข้อมูลอะไรก็นำมาแลกเปลี่ยนกัน แต่เมื่อถึงเวลาทำก็ต้องแยกกันทำ การรวมกันคิดของกลุ่ม คือการรวมพล รวมคน รวมความคิด แล้วแยกกันทำ มันก็มีตัวอย่างความสำเร็จมากมาย แต่ถ้ารวมกันทำจะไม่สำเร็จ เพราะว่าสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกร มีเวลาไม่แน่นอน เพราะภาระกิจแต่ละคนไม่เหมือนกัน จึงอาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งได้ แต่ถ้าแยกกันทำก็จะได้ผลมากกว่า เช่น การทำข้าวซ้อมมือ บางแห่งที่มีโรงงานและมารวมกัน ก็อยู่ได้ไม่นานก็ต้องเลิกไป เพราะว่าในกลุ่มสมาชิกอาจจะมีภาระและเวลาไม่แน่นอน จึงทำให้เกิดปัญหาและต้องเลิกทำ แต่ถ้าเราแยกกันทำ ทำบ้านใครบ้านมัน เช่นที่วัดขวด จ.สงขลา มีการจัดตั้งกลุ่มขึ้น ที่กลุ่มมีการรับซื้อข้าวเปลือก และให้สมาชิกในกลุ่มมาซื้อข้าวเปลือกกับกลุ่ม และนำไปทำข้าวซ้อมมือที่บ้านของตนเอง ต่างคนต่างทำ ถ้าทำที่บ้านข้าวที่หกจากครกไก่ที่บ้านก็จะได้กิน ในขณะเดียวกันก็สามารถดูแลลูก ดูแลหลานไปด้วย ข้าวที่ซ้อมได้ก็ใช้กินในครอบครัว ถ้าข้าวเหลือก็สามารถเอามาขายคืนให้กับกลุ่มได้ กลุ่มที่ตั้งขึ้นก็มีหน้าที่สำหรับขายข้าวเปลือก รับซื้อข้าวซ้อมมือ นำไปขายให้กับนักท่องเที่ยว

      ในปัจจุบันการทำงานส่วนมากจะไปทำกันที่กลุ่ม พ่อแม่ก็จะทิ้งลูกไปทำงานที่กลุ่ม ทำให้เด็กขาดการเรียนรู้ การเรียนรู้เรื่องการเกษตรลูกจะได้จากพ่อแม่มากกว่าโรงเรียน แต่ตอนนี้กลุ่มจะทำให้พ่อแม่แยกออกจากลูก เพราะเวลาทำงานไปที่กลุ่มถ้าพาลูกไปด้วย จะทำให้ทำงานได้ไม่เต็มที่ เพราะธรรมชาติของเด็กจะซน และอาจทำให้สมาชิกในกลุ่มไม่พอใจได้ ตัวอย่างกลุ่มที่ร่วมกันคิด แยกกันทำ      โรงปุ๋ยที่นาหม่อม ทำปุ๋ยสูตรน้ำหมักจุรินทรีย์ เป็นโรงปุ๋ยที่มีขนาดเล็ก โรงปุ๋ยจะไม่ทำน้ำหมักจุรินทรีย์ที่กลุ่ม แต่ทางกลุ่มจะรับสมัครสมาชิกและมีการอบรมการทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ และให้สมาชิกกลับไปทำที่บ้าน ใครมีพืชหรือผลไม้อะไรก็สมารถทำได้จากสิ่งเหล่านั้น และที่สำคัญ คนในครอบครัว พ่อ แม่ ลูก จะได้ช่วยกันทำ ปุ๋ยน้ำหมักเมื่อใช้ได้แล้ว ก็ให้นำไปใช้กับพืชผักที่บ้านของตัวเองก่อน และถ้าเหลือก็นำมาขายกับกลุ่ม และประโยชน์ที่จะได้รับมากที่สุด คือคนในครอบครัวมีความใกล้ชิดกัน พ่อแม่ทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ ก็จะทำให้ลูกได้เรียนรู้ร่วมกันกับพ่อแม่รู้วิธีและขั้นตอนในการทำ และสามารถเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวได้อีกด้วย การแยกงานกันทำจะทำให้สอดคล้องกับการทำงานในชีวิตประจำวันของแต่ละคน

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 17132เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2006 14:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท