HA forum 9th: งานคุณภาพสู่จิตวิวัฒน์


งานคุณภาพ สู่จิตวิวัฒน

โดยทั่วๆไปแล้ว คนเราอาจจะรู้สึกว่าเพียงขอมีงานทำ ก็นับว่าโชคดี มีความสุขเพียงพออยู่แล้ว จะเป็นเช่นไร ถ้าหากงานนั้น เป็นเพียงเราแค่ "ใช้ชีวิต" และนอกเหนือไปจากนั้นยัง "ทำให้จิตของเราวิวัฒน์" ไปด้วย?

งานประชุมประจำปี Hospital Accreditation National Forum (HA forum 9th) ปีนี้มี theme คือ Living Organization หรือ "องค์กรที่มีชีวิต (ชีวา...จิตใจ)" นับว่าเป็นกระบวนทัศน์ต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว คือ Humanized Health Care หรือ การบริการสุขภาพที่มีหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ เนื้อหาในปีนี้ก็อุดมสมบูรณ์และมีเฉดสีสันที่งดงาม โดนใจ โดนเจตจำนง ไม่ได้โดนเฉพาะสมองอย่างเดียว (ถึงแม้ว่าก็ยังอุตส่าห์แอบได้ยิน คนที่กะจะมาจดทฤษฎีงามๆไปกกกอดว่า "เอ... ปีนี้หาหัวข้อน่าสนใจยากจัง ไม่รู้จะจดอะไร!!") แต่ถ้าตัดสินตามความรู้สึกของผมเอง ก็คงจะบอกว่าเป็นปีที่ชอบมากที่สุดของ HA Forum เลยทีเดียว แม้ว่าด้วยกิจกรรมทำให้อดไปร่วมฟังของดีหลายห้อง หลายที่ก็ตาม

งานคุณภาพสู่จิตวิวัฒน์

เป็นหัวข้อ symposium แรกที่ผม join session กับพี่หมอวิรัช ผอ.ลำพูน และ ดร.สรยุทธ หรือที่วงการจะรู้จักในนามของ ดร.เอเชีย แห่งมหิดล รับประเด็นนี้มา ก็มีโจทย์ที่เห็นๆอยู่สองประการ คือ 1) จิตวิวัฒน์คืออะไร และ 2) งานอะไรที่เราเรียก "งานคุณภาพ" และโจทย์ที่แฝง (หรือคำตอบของโจทย์แรกทั้งสอง) คือ ทั้งสองอย่างมีปฏิสัมพันธ์อย่างไรที่เราจะนำมาเชื่อมโยงกัน

เพื่อที่จะได้พูดอย่างเต็มปาก เต็มคำ ผมก็ต้องเริ่มจากงานที่ตัวเองทำ นั่นคือเป็นอาจารย์แพทย์ ผมจึงปะหัวข้อรองลงไปอย่างวิสาสะว่า "ในบริบทของแพทย์ที่เป็นครู"

บริบทของแพทย์ที่เป็นครู

ครู

ครูนั้นไม่ได้เป็นเพียงผู้สอนเท่านั้น ตรงนี้เป็นการก่อให้เกิดความเข้าใจผิดพลาด และถ้าใครเกิดนำไปเป็นสรณะ ก็จะนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่พึงปราถนาและความทุกข์ต่อๆไป ที่แท้ครูคือ "ผู้หล่อเลี้ยงให้เกิดการเรียนรู้" ต่างหาก

ฟังเผินๆ อาจจะไม่ได้รู้สึกว่ามันต่างกันอย่างไร แท้ที่จริง ตรงนี้สำคัญอย่างยิ่ง เพราะถ้าครูไป focus ที่กิจกรรมการสอน ก็อาจจะเผอเรอ ละเลยสิ่งที่สำคัญกว่าคือ "แล้วนักเรียนได้เรียนหรือไม่ และเรียนอะไรไป" อาทิ ครูอาจจะพร่ำสอนจริยธรรม ศีลธรรม ในห้องเรียนจนจบครบกระบวนความ แต่พอออกนอกห้องเรียน หรือเวลาแสดงออกจริงๆ โกงกัน ลอกในห้องสอบก็ได้ สิ่งที่สอนในห้องเรียนตนเองก็ไม่ได้สนใจ จะกระทำ หรือให้ความหมายมันจริงๆจังๆ ในกรณีนี้ "การสอน" ดูเหมือนจะ OK แต่ปรากฏว่านักเรียนไปเรียนจากตัวอย่างจริงมากกว่า พากันลอกข้อสอบ พากันท่องจำแต่ไม่ปฏิบัติ ดังนั้น การสอนที่แท้จริงนั้น กลับไปอยู่ที่ "การเรียน" มากกว่า

หมอ

ใครคือหมอ หมอคือใคร คำตอบทั่วๆไปคงจะเป็น "หมอคือผู้เยียวยา"  แต่ทว่า จากความรู้  ความสามารถ และเจตจำนง intention ของหมอ งานของหมออาจจะมีมิติที่กว้างและลึกไปกว่านั้น

หมอคือผู้หล่อเลี้ยงให้เกิดสุขภาวะแก่บุคคลและนิเวศ

ถ้าเป็นอย่างนี้ จะเป็นอย่างไร? ทั้งนี้เราพบแล้วว่า "สุขภาวะกำเนิด (salutogenesis)" นั้น เป็นองค์รวม โรคที่หาย อาการที่ดีขึ้น ไม่ได้เกิดจากนำ้มือหมอทั้งหมด แต่ทว่ามีบริบทแวดล้อมมาช่วยเสริมมากมาย และบางครั้งก็เป็นอุปสรรคที่ทำให้การเยียวยาจากหมอไม่ได้ประสบความสำเร็จก็ยังได้ ถ้าเรา define งานของหมอ เป็นเพียง active role จากหมอเพียงโสตเดียว ก็จะเป็นการมองแคบ และไม่เห็นความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยง และไม่เข้าใจ "สุขภาวะกำเนิด" อย่างแท้จริง กลับไปเน้นแต่เพียงการเยียวยาแก้ไข pathogenesis หรือพยาธิกำเนิดเท่านั้น

นักเรียนแพทย

คือผู้ที่กำลังศึกษาวิธีการดำรงชีวิตของผู้หล่อเลี้ยง เยียวยา สุขภาวะของประชาชน และสามารถใช้ชีวิตเช่นนั้นอย่างมีความสงบสุข

นักเรียนแพทย์พึงเรียนรู้ชีวิต และมีเวลาใคร่ครวญสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นรอบๆตัว มองหา และทำความเข้าใจความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงของสิ่งเหล่านี้ งานที่อุทิศตน และทำเพื่อผู้อื่นนั้น เป็นงานที่พัฒนาจิตใจ open heart และลด voice of cynicism ลง สามารถทำให้เรา empathy หรือนำเอาใจเขามาพิจารณา และมองออกไปจากมุมมองที่ผิดแผกแตกต่่างได้ดีขึ้น

คนไข้

คือ "ครูที่ย่ิงใหญ่ที่สุดของแพทย์ พยาบาล"

มุมมองที่เรามีต่อเรื่องราวใดๆมีความสำคัญอย่างย่ิงยวด เพราะจะเป็นตัวกำหนดกระบวนทัศน์ พฤติกรรม ความคิด เจตคติ ต่อเรื่องนั้นๆ อิทธิบาทสี่จึงเริ่มที่ "ฉันทา" หรือความพึงพอใจ เพราะถ้าขาดเจตคติเสียแล้ว อุปสรรคก็จะตามมา และจะไม่สามารถเรียกพลังมาแก้ไขได้

ถ้าเรามองคนไข้เป็นเพียง "ผู้เจ็บป่วย ผู้รับเคราะห์ ผู้กำลังทรมาน" ถึงแม้ว่าจะทำให้เราเห็นความสำคัญของงานที่เราทำ แต่อาจจะทำให้เราเผอเรอ เข้าใจไปว่าเราเป็น "savior" มีอำนาจยิ่งใหญ่ มีบุญคุณล้นเหลือ และพาลจะเกิด relationship อีกแบบหนึ่ง ที่เราเสมือนผู้ให้ และอีกฝ่ายเป็นผู้รับ จะเกิดลำดับชั้น

ที่จริงนั้น ตลอดเวลาที่เราทำงานเยียวยา เราก็ได้ไม่น้อยเลย และเกิดประโยชน์อย่างลึกซึ้งถึงจิตวิญญาณของเราเอง อย่างอาสาสมัครมูลนิธิพุทธฉือจี้ ที่จะแสดงความเคารพอย่างสูงต่อคนที่เขาเข้าไปช่วยเหลือทุกครั้ง เพราะทำให้เขาได้สั่งสมบุญบารมีมากขึ้นๆ ก็ในทำนองเดียวกัน ดังนั้น relationship ของอาสาสมัครฉือจี้และผู้รับความช่วยเหลือ ก็จะกลายเป็นวางอยู่บน mutual benefit คือทั้งสองฝ่ายเป็นผู้รับและผู้ให้ในเวลาเดียวกัน

นักเรียนแพทย์ ควรจะฝึกฝน ทำ mental rehearsal แต่แรกๆ ว่าการไปดูแลคนไข้ ดูแลคนอื่นนั้น ไม่ได้้เป็นเพียงผู้ให้อย่างเดียว แต่เราเป็นผู้รับด้วย และเมื่อเรา "รับรู้" ว่าคนไข้ที่แท้เป็นครู ความสัมพันธ์อีกรูปแบบหนึ่งก็จะ "ผุดบังเกิด" ขึ้น

ดังนั้นงานคุณภาพในบริบทของแพทย์ที่เป็นครู จึงเป็นสูตรผสมของคนสี่กลุ่ม คือ ครู แพทย์ นักเรียน คนไข้ ที่น่าสนใจก็คือ นอกเหนือจากสิ่งที่เราปกติจะคาดหวังจากการทำงาน ได้แก่ ใช้เวลา ฝึกฝน ได้เงินมาเลี้ยงตนเองและครอบครัว อะไรเกิดขึ้นกับ "จิต" เราบ้าง?

จิตวิวัฒน์

จิตที่พัฒนา เรียนรู้ จากประสบการณ์ตรง

ประสบการณ์ตรงในการดำรงชีวิตเป็นครูแพทย์นั้น มีสีสันมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเรา focus ที่ intention ของนักเรียน และเราพยายามมองหา "จุดเปลี่ยน" เพราะตามจริงแล้ว education หรือ การเรียนรู้ ก็คือ "การเปลี่ยนแปลง" นั่นเอง ที่เกิด intention ใหม่ ต่างจากเดิม ด้านคุณภาพและปริมาณ

ผมคิดว่า ถ้าหากอาจารย์แพทย์พอมีเวลา และสามารถจับจุดสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ผุดบังเกิด ณ เดี๋ยวนั้น ขณะนั้น ของนักเรียน ขณะที่เขากำลังฟัง กำลังสัมภาษณ์ กำลังคิดใคร่ครวญไตร่ตรองเรื่องของคนไข้อยู่ นั่นจะเป็น precious time เวลาแห่งความมหัศจรรย์ของการเป็นครู

มันไม่ได้ไปลุ้นตอนเกรดออก หรือตอนรับปริญญา หรือตอนสอบ national test อะไรนั้นเลย แต่การเรียนรู้ของนักเรียนแพทย์ เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงที่สดๆ บนหอผู้ป่วย ที่ OPD ใน OR หรือที่ห้องฉุกเฉิน เป็นตอนที่กลายสภาพจากดักแด้หุ้มไว้ด้วย textbook sheets หนังสือ ทลายรังออกมาเป็นผีเสื้อออกไปหาดอกไม้คือคนไข้ที่นอนรอความช่วยเหลือ

ณ ขณะนั้น เป็นห้วงเวลาแห่งจิตวิวัฒน์ของครูแพทย์ทีีแท้จริง

หมายเลขบันทึก: 171210เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2008 22:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2012 14:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ อาจารย์

  • ที่คนเขาชอบพูดกันว่า "ผิดเป็นครู"เพราะอย่างนี้นี่เอง คือ การสอนที่แท้จริงคือการได้เรียนรู้ จากประสบการณ์ซึ่งครูเป็นคอยหล่อเลี้ยง
  • ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณ นกไฟ มากครับ ที่มาช่วยงาน HA National Forum ครั้งนี้อย่างเต็มตัว ตั้งแต่เริ่มต้นหล่อเลี้ยงการเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการ dialogue ให้กับชาว HA ร่วมกับทีมงานของมูลนิธิขวัญเมืองเมื่อกลางปีที่แล้ว การให้ข้อคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา การเสนอแนะและรับอาสาเข้ามาจัดเวที World Cafe' ซึ่งผู้เข้าร่วมล้วนติดอกติดใจ การร่วมเป็นกรรมการในการคัดเลือกโรงพยาบาลที่จะได้รับรางวัล Humanized Healthcare Award รวมทั้งการทำหน้าที่เพิ่มเติมอย่างไม่คาดฝันในหลายๆ เรื่องด้วยกัน

เป็นเพราะ input ที่หลากหลายเหล่านี้ครับ ที่ทำให้งาน HA National Forum ปรากฏรูปดังที่เห็น เราพยายามทำให้กระบวนการ HA เป็นระบบที่เปิดรับต่อข้อมูลข่าวสารรอบด้านครับ ด้วยความเชื่อว่าสิ่งนี้จะทำให้เราเดินไปได้ถูกทาง และตอบสนองความต้องการของ รพ.ได้

บริบทของแพทย์ที่เป็นครูนั้น โดนใจมากเลยครับ อยากจะเพิ่มเติมอีกหน่อยว่าแพทย์ที่ไม่ได้เป็นครู ก็ทำหน้าที่เช่นเดียวกับครูแพทย์ในความหมายนี้ได้ทุกวัน

ขอบพระคุณมากครับ อ.อนุวัฒน์

ผมคิดว่างานและความสำเร็จของ HA Forum เป็นหน้าที่ของคนที่อยู่ในวงการระบบบริการสุขภาพทุกคน และประชาชนทุกคนเป็น stake-holders ฉะนั้น อะไรที่ผมพอจะเป็นประโยชน์ ก็จะเป็นเกียรติในหน้าที่ที่ได้มีส่วนร่วมทุกอย่างอย่างเต็มที่ครับ

อย่างที่อาจารย์กรุณาชี้แนะครับ ถ้าหากผมมีความเห็น หรือข้อคิดเห็นอย่างไร ผมจะแสดงความคิดเห็นด้วยความจริงใจที่สุดเสมอ

เห็นด้วย 100% ครับ แพทย์ พยาบาล ผู้หล่อเลี้ยงสุขภาพ เป็นทั้งช่างซ่อม เป็นทั้งครู เป็นผู้หล่อเลี้ยง และเป็น midwife ทุกๆคน

ยินดีกับความสำเร็จของ HA ปีนี้ และปีต่อๆไปครับ ชื่นชมในพลังขับดันของอาจารย์ พี่ต้อย อ.ยงยุทธ พี่วรา และคนอื่นๆอีกมากมายในครอบครัวใหญ่นี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท