งานทันตกรรมชุมชนเกี่ยวข้องกับปรากฎการณ์สองอย่าง คือ ปรากฎการณ์ธรรมชาติ กับปรากฏการณ์ทางสังคม.
ปรากฎการณ์ธรรมชาตินั้น อธิบายได้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ทำซ้ำได้ มีความน่าจะเป็นสูงที่จะเกิดปรากฎการณ์นั้นๆ ภายใต้ปัจจัยที่กำหนด เช่น ถ้าฟันจะผุได้ ต้องมีแบคทีเรีย มีน้ำตาล มีฟัน และมีโอกาสที่จะทำให้ทั้งสามอย่างทำปฏิกริยากันและกัน หรือ plaque สัมพันธ์กับโรคปริทันต์. ปรากฎ-การณ์ทางธรรมชาติ ใช้เครื่องมือทางสถิติเพื่ออธิบาย ความน่าจะเป็นของปรากฎการณ์นั้นๆ คำที่เรามักจะได้ยินก็คือ "มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมากกว่า...." หรือ "มีโอกาสมากกว่า...เท่า ที่จะเกิดโรค"
ปรากฎการณ์ทางสังคม มีเงื่อนไขและโครงสร้างทางสังคมในการเอื้อให้มันเกิดขึ้น. มักจะเกี่ยวข้องการใช้อำนาจในสังคมนั้น สัมพันธ์กับบริบท หรือสภาพแวดล้อมในสังคม เชื่อมโยงกับอารมณ์และความรู้สึกของคน ซึ่งมักจะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ.
ลองยกตัวอย่างเรื่องการสูบบุหรี่กับโรคปริทันต์
บุหรี่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคปริทันต์...เป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติ การศึกษาเพื่อดูปฏิกริยาของสารเคมีในบุหรี่และไอความร้อน ต่อการทำลายเนื้อเยื่อในช่องปาก
การสูบบุหรี่...เป็นปรากฎการณ์ทางสังคม เพราะมันเชื่อมโยงกับอิทธิพลของกลุ่มเพื่อน เกี่ยวข้องกับการดื่มสุรา สัมพันธ์กับความเข้มแข็งของครอบครัว การศึกษา หรือแม้กระทั่งราคาบุหรี่ซึ่งผูกไว้กับภาษีที่รัฐเรียกเก็บ
ความสับสนปนเป ที่ได้พบเห็นก็คือ เราเข้าใจว่า ปรากฎการณ์ทางสังคม สามารถจัดการได้ในแบบเดียวกับปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ กล่าวคือ จัดการแบบตรงไปตรงมาโดยใส่"กิจกรรมบางอย่าง"เข้าไป แล้วคาดหวังว่ามันจะไปจัดการกับตัวแปรต่างๆ เหมือนๆ กับการเกิดปฏิกริยาในปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ ที่โชคร้ายก็คือ "กิจกรรมบางอย่าง" ที่เราทำเป็น เอาไปเอามา มันมีอยู่อย่างเดียว คือ "การให้ความรู้"
เราเลยลงเอยด้วยการจัดการกับปรากฎการณ์ทางสังคม ด้วยการให้ความรู้ แล้วคาดหวังว่า มันจะเกิดผลแบบปรากฎการณ์ธรรมชาติ คือ ไปทำปฏิกริยาให้คนเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
ทฤษฏีการสร้างเสริมสุขภาพในหลักสูตรของเรา เสนอแนวทางการศึกษาและจัดการกับปรากฎการณ์ทางสังคมไว้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น OTTAWA Charter หรือ PRECEDE-PROCEED Model
แต่ฐานคิดที่เราต้องมั่นคงคือเข้าใจปรากฎการณ์ธรรมชาติ และแยกมันออกจากปรากฎการณ์ทางสังคม เข้าใจว่ามันไม่เหมือนกันทั้งในวิธีการศึกษาและวิธีการจัดการครับ
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย ทันตกรรมชุมชนสยาม ใน ทันตกรรมชุมชนสยาม
คำสำคัญ (Tags)#สาธารณสุข#สร้างเสริมสุขภาพ#วิธีคิด#ทันตสาธารณสุข#ทันตกรรมชุมชน
หมายเลขบันทึก: 171046, เขียน: 15 Mar 2008 @ 21:43 (), แก้ไข: 23 Jun 2012 @ 17:38 (), สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการ, ความเห็น: 3, อ่าน: คลิก
มีนักวิทยาศาสตร์อีกหลายกลุ่มที่เชื่อว่าแม้แต่ ปรากฎการณ์ธรรมชาติก็ไม่สามารถศึกษาได้ ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แบบการทดลองทำซ้ำได้ หรือการจัดการแบบตรงไปตรงมา (reductionism)
เช่น การศึกษาระบบภูมิคุ้มกันของคนหรือภัยธรรมชาติ
นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้จะใช้ non-linear equation มองปรากฎการณ์เป็นระบบ แต่เค้าก็ยังมองว่า ความจริงเป็นสิ่งที่รู้ได้กำหนดได้แน่ (deterministic reality หรือ นิยัตินิยม) เพียงแต่ต้องใช้ทฏษฎี Chaos มาเป็นกรอบ
ในขณะที่มีนักวิทยาศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งที่คิดว่าปรากฎการณ์ บางอย่าง เป็นระบบเหมือนกันเพียงแต่ไม่มีทางคาดเดาได้แน่นอน (stochastic process, non-deterministic) เช่น หมอให้ยาตัวเดียวกันกับคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคเดียวกัน แต่คนไข้บางคนหาย บางคนไม่หาย
ทั้ง 2 กลุ่มนี้ไม่เชื่อใน linear causation และ reductionism อีกทั้ง จัดการแบบตรงไปตรงมา
------------------------------------------------
นักศึกษาจะสับสนเพิ่มไหมนี่ แฮะๆ
เอาเป็นว่า ขอเสนอให้ทุกคน (รวมทั้งตัวมัทเอง)เตืิอนตัวเองทุกครั้งก่อนจะแบ่งอะไรเป็นแค่ 2 ค่าย 2 ด้าน (dichotomy)
คนเรามักจะเผลอมองอะไรแยกเป็นแค่ 2 กลุ่มชัดเจน
สรุปว่าทั้ง ปรากฎการณ์ธรรมชาติ และ ปรากฎการณ์ทางสังคมก็มีหลายแบบ
ดังนั้นวิธีการศึกษาและวิธีการจัดการก็จะต่างกันไปดังที่อ.สุธีเขียนไว้