กลยุทธการพัฒนานิสิตนักศึกษาสู่สังคมแห่งการเกื้อกูลธรรม


            (24 ก.พ. 49) ร่วมอภิปรายหัวข้อ กลยุทธการพัฒนานิสิตนักศึกษาสู่สังคมแห่งการเกื้อกูลธรรม” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) และเป็นส่วนหนึ่งของ “การประชุมวิชาการระดับชาติเพื่อพัฒนาบัณฑิตอุดมคติไทย ครั้งที่ 6” เรื่อง บัณฑิตอุดมคติไทยเพื่อสังคมแห่งการเกื้อกูลธรรม ระหว่าง 23 – 24 ก.พ. 49
            “สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้ดำเนินกิจกรรมในโครงการพัฒนาบัณฑิตอุดมคติไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งรัดพัฒนาศักภาพนักเรียน นิสิตนักศึกษา ให้มีความรู้ควบคู่กับการมีคุณธรรมจริยธรรม เป็นบัณฑิตอุดมคติไทยที่มีทั้งความเก่ง ความดี และความรับผิดชอบต่อตนเอง องค์กรและสังคมโดยส่วนรวม สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษามีการพัฒนาความสัมพันธ์เชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ประสบการณ์ด้านการเรียนการสอน นวัตกรรมการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรและเสริมสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนาสมรรถนะบุคลากร ได้แก่ คณาจารย์ นิสิตนักศึกษาให้มีจิตสำนึกด้านคุณธรรม จริยธรรม เป็นบัณฑิตอุดมคติไทยที่พึงประสงค์ โดยเน้นให้มีเครือข่ายการพัฒนาบัณฑิตอุดมคติไทยให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศอย่างรวดเร็วและมีความคงอยู่อย่างยั่งยืน” (ข้อความคัดลอกจากเอกสารโครงการประชุมวิชาการครั้งนี้)
            ผมได้ให้ความเห็นสรุปเป็นสาระสำคัญได้ดังนี้
            “สังคมแห่งการณ์เกื้อกูลธรรม” ควรจะหมายถึง สังคมแห่งคุณธรรมความดี และ “การพัฒนานิสิตนักศึกษาสู่สังคมแห่งการเกื้อกูลธรรม” ก็น่าจะหมายถึงการพัฒนานิสิตนักศึกษาให้เป็น “บัณฑิตแห่งคุณธรรมความดี”
            “ความดี” ควรเป็นเป้าหมายหลักของการพัฒนานิสิตนักศึกษา ตามด้วยการพัฒนานิสิตนักศึกษาให้มี “ความสุข”และ “ความสามารถ” ประหนึ่งเป็น “สามเหลี่ยม” แห่งการพัฒนานิสิตนักศึกษาที่มี “ความดี” อยู่ที่ยอดของสามเหลี่ยมเป็นอันดับแรก ส่วน ความสุข และ ความสามารถ ให้อยู่ที่ฐานของสามเหลี่ยม เป็นสิ่งรองรับ “ความดี” และอยู่ภายใต้อิทธิพลของ “ความดี”
            ผมเห็นว่าปัจจัยสำคัญ หรือ “กลยุทธ” ที่จะหนุนนำการพัฒนานิสิตนักศึกษาสู่สังคมแห่งการเกื้อกูลธรรม ควรจะประกอบด้วย
            1.   การเรียนรู้ ซึ่งควรมี
                        1.1    วิธีการเรียนรู้ ที่เน้นการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ (Experiential Learning) การเรียนรู้แบบนักศึกษามีส่วนร่วมสูง (Participatory Learning) และการเรียนรู้ในแบบการจัดการความรู้ (Knowledge Management)
                        1.2    การพัฒนาหลักสูตร ที่มีการออกแบบและสร้างความเชื่อมโยงอย่างเหมาะสมโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมเข้ามาผสมผสานและเสริมหนุนด้วย
                        1.3    การพัฒนาคณาจารย์ ในด้านทัศนคติและพฤติกรรม ด้านการจัดการเรียนการสอน (หรือการจัดการการเรียนรู้) การมีปฏิสัมพันธ์ที่เหมาะสมและสร้างสรรค์กับนักศึกษา และอื่นๆ
            2.   การบริหารสถานศึกษา ในด้านต่างๆ ที่สำคัญคือ
                        2.1    ด้านนโยบาย ควรให้ชัดเจนเป็นรูปธรรมว่าเน้นการพัฒนานิสิตนักศึกษาให้เป็น “คนดี มีความสุข มีความสามารถ” และมีนโยบายอื่นๆรองรับให้เพียงพอ
                        2.2    ด้านการสร้างสภาพแวดล้อม ภายในสถานศึกษา ที่เอื้ออำนวยต่อการ “เกื้อกูลธรรม” ทั้งในด้านอาคารสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก สิ่งกระตุ้นคุณธรรม บรรยากาศโดยทั่วไป เป็นต้น
                        2.3    ด้านกิจกรรม ของนักศึกษา อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาอื่นๆ เป็นกิจกรรมทั้งในหลักสูตร นอกหลักสูตร และกิจกรรมทางสังคม ควรให้สอดรับและเอื้ออำนวยต่อการสร้างคุณธรรมความดีในหมู่นิสิตนักศึกษา
            3.   การบริหารสังคม ให้เอื้อต่อการสร้างสังคมแห่งการเกื้อกูลธรรม มีองค์ประกอบสำคัญ คือ
                        3.1    การสร้างนวัฒนธรรมที่เหมาะสมในสังคม
                        3.2    การมีนโยบายที่เหมาะสมของรัฐหรือรัฐบาล
                        3.3    การมีพฤติกรรมที่เหมาะสมของผู้นำในสังคม
                        3.4    การมีสื่อและการดำเนินกิจกรรมของสื่อที่เหมาะสม
            4.   การพัฒนาครอบครัว ให้เอื้อต่อการสร้างคุณธรรมความดีของนิสิตนักศึกษา รวมถึง
                        4.1    การพัฒนาวัฒธรรมครอบครัวที่ดี
                        4.2    การพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว
                        4.3    การปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมภายในครอบครัว
                        4.4    การประพฤติปฏิบัติตนที่ดีของพ่อแม่
            จาก “กลยุทธ” หรือ “ปัจจัยสำคัญ” ทั้ง 4 ประการนี้ 2 ประการแรก อยู่ใกล้ตัว และอยู่ในขอบข่ายความสามารถของผู้บริหารการศึกษา รวมถึง คณาจารย์ต่างๆ ที่จะดำเนินการได้ จึงควรร่วมกันศึกษาเรียนรู้และพิจารณาดำเนินการให้ได้อย่างดีที่สุดและมากที่สุด ส่วน “กลยุทธ” 2 ประการหลัง อาจดูไกลตัวหน่อย แต่ก็ยังอยู่ในวิสัยที่คณาจารย์และผู้บริหารการศึกษาจะมีส่วนในการติดตามดูแลและโน้มนำให้เกิดการปรับปรุงพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น
            กลยุทธ หรือ “ปัจจัยสำคัญ” ทั้ง 4 ประการ ควรจะได้ผสมผสานเกื้อหนุนซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่อง จึงจะเป็นพลังนำพาให้สามารถพัฒนานิสิตนักศึกษาสู่สังคมแห่งการเกื้อกูลธรรมได้ดีขึ้นเป็นลำดับ

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
27 ก.พ. 49

หมายเลขบันทึก: 17030เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2006 19:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท