"กองทุนสวัสดิการชุมชน 50% จากสัจจะออมทรัพย์" VS "กองทุนสวัสดิการจากสัจจะวันละบาท"


ครูชบบอกว่าการจัดสวัสดิการรูปแบบนี้จะมีแต่ความสุข เพราะเป็นการให้ เป็นบุญ เป็นการช่วยเหลือกันในกลุ่ม ไม่มีดอกเบี้ย ไม่ต้องเครียดเหมือนการทำสวัสดิการจากสัจจะออมทรัพย์ !!

เมื่อต้นสัปดาห์ก่อน อ.แหววให้หนังสือ สัจจะออมทรัพย์ : สะสมทุนทางสังคม เขียนโดย พระสุบิน ปณีโต และหนังสือ กองทุนชุมชน : เครือข่ายสัจจะออมทรัพย์จังหวัดสงขลา เขียนโดย อ.ภีม ภคเมธาวี  จึงได้มีโอกาสศึกษารายละเอียดอย่างตื่นเต้นยินดีถึงรูปแบบการจัดกองทุนสวัสดิการชุมชนที่เป็นที่ปรารถนา... (ที่จริงช่วงที่ผ่านมาก็มี อ.บางท่านได้แนะนำรูปแบบของ ครูชบ และ พระสุบิน ว่าน่าจะสอดคล้องกับความต้องการที่จะเริ่มต้นในพื้นที่อยู่บ้างแล้ว แต่ยิ่งได้อ่านรายละเอียดโดยตรงเช่นนี้ยิ่งเข้าใจมากขึ้น และรู้สึกมั่นใจ ตรงใจ...)

 

ช่วยให้ได้มองเห็นภาพรูปแบบที่จะเริ่มต้นพูดคุยกับชาวบ้านในชุมชนชัดเจนขึ้น ว่าน่าจะเลือกนำเสนอรูปแบบ 3 บัญชี โดยบัญชีแรกเป็นสัจจะออมทรัพย์ และนำผลกำไรจากปีแรก มาแบ่งครึ่ง 50% ปันผลคืนสมาชิก อีก 50% จัดสรรเป็นกองทุนสวัสดิการชุมชน ในบัญชี 2  ส่วนบัญชี 3 เป็นเงินออมบุญจากสมาชิกและคนทั่วไปที่อยากทำบุญ ซึ่งจะนำมาสมทบกับกองทุนสวัสดิการในบัญชี 2 (ตอนนี้ใช้พื้นฐานทางศาสนาเริ่มต้นรณรงค์ทำบุญในบัญชี 3 แล้ว) .. เพิ่ง get ที่ อ.ช่วยให้คำแนะนำไว้หลายเดือนแล้ว..

 

แต่ภายหลังจากนั้น 2-3 วัน ได้มีโอกาสพบกับ ครูชบ ยอดแก้ว ตัวจริงเสียงจริง ซึ่งท่านได้แนะนำแนวคิดและวิธีการของ สัจจะวันละ 1 บาท เพื่อทำสวัสดิการภาคประชาชน  ซึ่งเราก็เคยได้เรียนรู้มาพร้อมๆ กับรูปแบบข้างต้นผ่าน gotoknow นี้ และมีความสนใจไม่แพ้กัน แต่ที่ผ่านมาเข้าใจว่าเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะพูดถึงการจัด สวัสดิการชุมชน เหมือนกัน แต่เมื่อมาฟังรายละเอียดและคำแนะนำจากครูชบ ก็ให้เข้าใจมากขึ้นว่ามีความแตกต่างกันพอสมควร

 

ครูชบแนะนำให้เราเริ่มต้นทำสวัสดิการชุมชน โดยให้ชาวบ้านออมเงินจากรายจ่ายวันละ 1 บาท  เมื่อรวบรวมได้ 180 วัน ก็เริ่มจัดสวัสดิการให้ตามเงื่อนไข  ครูชบบอกว่าการจัดสวัสดิการรูปแบบนี้จะมีแต่ความสุข เพราะเป็นการให้ เป็นบุญ เป็นการช่วยเหลือกันในกลุ่ม ไม่มีดอกเบี้ย ไม่ต้องเครียดเหมือนการทำสวัสดิการจากสัจจะออมทรัพย์  !!

 

เอาอย่างไรกันดีล่ะเนี่ยเรา ?! 

ขอรบกวนผู้มีประสบการณ์ช่วยแนะนำเพิ่มเติมถึงความแตกต่างของการจัดกองทุนสวัสดิการชุมชนทั้ง 2 รูปแบบนี้ด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

คำสำคัญ (Tags): #สวัสดิการชุมชน
หมายเลขบันทึก: 168944เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2008 08:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 08:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

"คุณ pilgrim" ไม่ต้องเอาอย่างไรหรอกค่ะ  

ทำความเข้าใจ  แล้วลองเสนอความคิดกับชาวบ้าน ให้ "ช่วยกันคิด" ว่าจะเอาอย่างไรน่าจะดีกว่า

สิ่งที่ชาวบ้าน "เอา" (เริ่มต้นคงทดลองก่อน) อาจเป็นรูปแบบผสม หรือ อาจเป็นรูปแบบ (จินตนาการ) ใหม่ๆไปเลยก็ได้นะคะ

 

ขอบคุณค่ะ อ.ปัท

อ.หมายความว่า รูปแบบต่างๆ เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างประสบการณ์ของชุมชนอื่นๆ ที่เราอาจยกตัวอย่างให้ชาวบ้านเห็นภาพทางออกจากปัญหาใช่ไหมคะ

แล้วที่เหลือก็ค่อยๆ "ช่วยกันคิด" และลงมือ "ทดลองทำ" ใช่ไหมคะ ?

 

นกน้อยทำรังแต่พอตัว

ได้อ่าน สิ่งที่แต่ละคนได้แลกเปลี่ยน แต่ละคนที่ได้เอ๋ยชื่อมา ก็พอรู้จักบ้าง ส่วนคนที่เคยทำงาน นกคิดว่าควรจะช่วยกันคิดจากการเริ่มต้นจากขบวนการชาวบ้านที่มีความคิด และอุดมการณ์เดียวกัน ไม่ต้องนำวิธีการจากกลุ่มอื่นมาทำเลย เพียงนำส่วนที่กลุ่มอาจจะนำมาดัดแปลงและสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับกล่มเราได้เป็นบางเรื่อง  สร้างกฏระเบียบร่วมกันปฏิบัติร่วมกันจากการพึ่งตนเอง ให้ได้มากที่สุด เพราะบางสิ่งต้องเกิดจากความคิดร่วมกัน ถึงจะปฏิบัติไปได้ บางครั้งจะเจอปัญหาแต่ต้องรีบแก้ไข ให้จบอย่าปล่อยปัญหาค้างไว้ ทำแล้วจะเกิดการเรียนรู้เอง สนุกเพราะเป็นเรื่องที่ต้องเข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน (การเรียนรู้ตลอดของการทำงานกลุ่ม)

ถ้าเริ่มงานใหม่ควรทำตามข้อเสนอของครูชบ แต่ตอนนี้ทุกหมู่บ้านล้วนมีกองทุนหมู่บ้านที่เป็นกองทุนสวัสดิการของรัฐให้คนในชุมชนได้กู้ยืมแล้ว ปัญหาคือกองทุนนี้ส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องสำนึกร่วมและการบริหารจัดการ ทำให้เป็นแหล่งผลประโยชน์หรือเครื่องมือสร้างความเห็นแก่ตัวมากกว่าสร้างความเอื้ออาทรในชุมชน       นักพัฒนาจะเข้ามาช่วยเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้หรือไม่? ถ้าประเมินว่าพอทำได้ ก็ใช้วิธีบัญชี1 บัญชี2ตามแนวทางของสัจจะสะสมทรัพย์ แล้วใช้บัญชี3ของครูชบเพิ่มเข้ามาตามที่คิดไว้นะดีแล้วครับ

วิธีการทางศาสนาจะมีพลังลึกซึ้งที่สุดเพราะเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของผู้คนเข้าด้วยกัน ไม่จำกัดเชื้อชาติ ช่วงวัย โลกก่อนและโลกหน้า คือทุกคนเป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น พลังบุญจะช่วยเปลี่ยนให้คนในชุมชนดีขึ้น เป็นพลังที่มองไม่เห็นเหมือนกับสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่เป็นตัวนำข้อมูลเข้ามือถือ เกิดเป็นเสียงให้ได้ยิน ถ้าคนในชุมชนเชื่อเรื่องบุญ ช่วยกันทำบุญเพื่อลดความเห็นแก่ตัว ชุมชนก็จะดีขึ้น ปัญหาที่ยากก็จะแก้ไขได้

ต่อจากที่เขียนมานะคะ

เคยได้ฟังมาว่า บาทหลวงชาวคริสต์เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดเรื่อง "วัฒนธรรมชุมชน"   การเปลี่ยนแปลงใดๆ ต้องเริ่มจากความเข้าใจก่อนว่า "พระเจ้า" ของชาวบ้านคืออะไร  พระเจ้า น่าจะหมายถึงความศรัทธาใช่ไหมคะ

ตอนทำเรื่องระบบแลกเปลี่ยน ชาวบ้านเชื่อว่า ใจแลกใจ การให้ เป็นเรื่องสำคัญกว่า  จึงเปลี่ยนจากการคิดเรื่องเงินตราชุมชน   กลับมาคิดเรื่อง การให้ของ การลงแขก

ชาวบ้านในพื้นที่เข้าใจการ "ออม" ไหมคะ  บางทีสิ่งที่เราคิดว่าเป็นเรื่องปกติทั่วไป  อาจเป็นเรื่องที่ชาวบ้านไม่เคยมีภาพเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อนเลย  เรื่องที่คิดว่าง่าย ก็กลายเป็นยาก

เมื่อสิบปีก่อนตอนพี่อยู่เวียงจันทน์  ชาวบ้านที่ลาว ไม่รู้จัก "ถังขยะ" มาก่อนเลยในชีวิต  ส่วนใหญ่ก็ใช้วัสดุธรรมชาติและทิ้งสิ่งไม่ใช้คืนธรรมชาติ  เมื่อ JICA มาสร้างถังขยะวางไว้ให้ที่สถานีรถขนส่ง ผู้คนก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร  ขยะก็เลยเกลื่อนอยู่รอบๆถังขยะนั่นเองค่ะ   เรื่องนี้ โทษชาวบ้านไม่ได้แน่ๆ

ขอบคุณ อ.ทุกท่านนะคะ ที่ช่วยแนะนำ

และต้องขอโทษ อ.ด้วยค่ะ ที่ถามแล้วถามอีกมาหลายเดือน แต่ไม่ได้เริ่มซักที

ก็อย่างที่เห็นล่ะค่ะ ไม่ค่อยมั่นใจซักเท่าไร ไม่เฉพาะเมื่อมีกระแสองค์กรการเงิน กองทุนต่างๆ ของรัฐ เข้ามาในหมู่บ้านมากมายเท่านั้น แต่ที่นี่เองก็เริ่มๆ แนวคิดเหล่านี้ก่อนจะมีกองทุนของรัฐเสียอีก แต่ก็มีปัญหาพอสมควรอย่างที่ได้แบ่งปันไว้แล้ว

ก้าวใหม่นี้ .. เลยพยายามเรียนรู้ทั้งจากประสบการณ์ตรงนี้และที่อื่นๆ เพื่อจะได้เดินไปได้อย่างมั่นคง (กว่าเดิม) โดยเฉพาะแนวคิด "วัฒนธรรมชุมชน" ที่ อ.ปัทแบ่งปันนี้ ก็เป็นสิ่งที่กำลังพยายามเรียนรู้ เพื่อมาผนวกกับการเริ่มต้นใหม่ที่นี่ เพราะเชื่อมั่นว่านอกจากรากฐานด้าน "ศาสนา" แล้ว รากฐานด้าน "วัฒนธรรม" ก็เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ที่จะทำให้งานสวัสดิการชุมชนที่จะเริ่มก้าวใหม่นี้ มีความมั่นคง ท่ามกลางกระแสทุนนิยมบริโภคนิยมเช่นนี้

ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นสิ่งแปลกปลอมสำหรับชีวิตของชาวบ้าน เช่นเดียวกับ "ถังขยะ" ที่ประเทศลาวใช่ไหมคะ ?!

พระสุบิน ปณีโต  ใช้คำว่า การ"สะสม"ทรัพย์  แทน การ"ออม"ทรัพย์  ท่านบอกว่าคำว่า "สะสม"มาจากฐานคิดทางศาสนา(และวัฒนธรรม) และใช้แนวคิดเรื่อง "บุญ".... ชาวบ้านเห็นภาพชัดกว่า... นี่เป็นตัวอย่างของการปรับใช้เครื่องมือค่ะ

การเริ่มต้นไม่มีช้าไม่มีเร็ว  มีแต่ "กาละ"และ "เทศะ"  คิดว่าเริ่มเมื่อพร้อมดีที่สุดค่ะ .. เราพร้อม+ชาวบ้านพร้อมที่จะเริ่ม..

แนะนำง่ายกว่าปฎิบัติจริงค่ะ

 

สวัสดีค่ะหนู Pilgrim

มาให้กำลังใจอีกครั้งค่ะ

หนู Pilgrim ลองเริ่มจากการเปิดวงคุยนะคะ ชวนชุมชนคุยด้วยเรื่องสบาย ๆ ใกล้ตัว...เล่าสิ่งที่เราได้รับรู้จากการอ่านหรือศึกษาดูงานของชุมชนอื่น ๆ ...ลองตั้งคำถามว่า แล้วพวกเรา...ชุมชนของเราจะทำกันบ้างไหม เพื่อที่เราจะได้มีกองทุนชุมชนที่เป็น "ศูนย์รวมใจ" ที่พวกเราจะ "ร่วมด้วยช่วยกัน" ทำในสิ่งดี ๆ ให้กันและกัน

เราต้องเริ่มจากสิ่งง่าย ๆ ที่เราพอทำได้ไปก่อนนะคะ พอทำสำเร็จแล้วจะมีกำลังใจค่ะ ทำต่อไปทีละน้อย ๆ ...พอวิทยายุทธทั้งเราและชุมชนมากขึ้น ...ชั่วโมงบินสูงขึ้น ...เก่งขึ้น แล้วจึงค่อยขยับไปทำเรื่องที่ยากขึ้น ๆ เรื่อย ๆ ค่ะ

ช่วงปีนี้พี่มีเวทีขับเคลื่อนเรื่องยุทธศาสตร์สังคมและการจัดสวัสดิการชุมชนที่ลำปางเป็นระยะ ๆ ค่ะ ช่วง 14-15 มีนาคมนี้ก็ต้องไปลงพื้นที่ที่อบต.พิชัยและห้างฉัตรค่ะ ถ้าหนูมีเวลาอยากชวนมาเรียนรู้ดูงานที่ลำปางด้วยกันนะคะ

สู้ ๆ ค่ะ

ขอบคุณ อ.ตุ้มมากๆ นะคะสำหรับกำลังใจ และโดยเฉพาะคำแนะนำที่มีคุณค่าสำหรับ "การเริ่มต้นเก็บชั่วโมงบิน"

แล้วจะโทรหา อ.เรื่องวันที่ 14-15 นี้นะคะ

ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

จาก มีค.51 ถึงตอนนี้ สค.53 ได้ค่อยๆ เริ่มบางสิ่งบางอย่างที่เป็น "แบบของเรา" เองไปบ้างแล้ว แบบค่อยเป็นค่อยไป พร้อมกับกลับมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนอื่นๆ เพื่อก้าวเดินต่อไป :D

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท