โรงพยาบาลเรือลำเดียว เทียวไปบริการชาวบังคลาเทศ 4 ล้านคน


...

เร็วๆ นี้ท่านผู้อ่านบล็อกท่านหนึ่งเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ท่านกินผักได้แล้ว เพราะชีวิตจริงนั้น... บางครั้งก็ขมมากกว่า "มะระ" เสียอีก

วันนี้ผู้เขียนขอนำเรื่องชีวิตแบบ "มะระๆ" ของชาว "บินกลา (ภาษาพม่า = ชาวบังคลาเทศ)" 4 ล้านคน ซึ่งอาศัยอยู่ตามริมแม่น้ำบรามาปุตรา (บรามา = พราหมณ์ / ปุตรา = บุตร = ลูก)

...

ก่อนอื่นขอนำแผนที่จากสารคดีของ BBC มาแสดงให้ดูก่อนว่า แม่น้ำบรามาปุตรานั้นไหลมาจากอินเดีย เข้าสู่ใจกลางประเทศบังคลาเทศ และออกทางปากอ่าว

ปัญหาที่พบเป็นประจำคือ บริเวณปากอ่าวของบังคลาเทศอยู่ต่ำมาก น้ำทะเลจะท่วมปีละหลายๆ เดือน และมีแนวโน้มจะท่วมมากขึ้นเรื่อยๆ จากภาวะโลกร้อน

...

ภาพที่ 1: แผนที่บังคลาเทศ แสดงให้เห็นทิศทางการไหลของแม่น้ำบรามาปุตรา [ Picture from BBC ]

...

คนไทยเรามีสำนวนหนึ่งที่กล่าวว่า "เคราะห์ซ้ำ กรรมซัด" นั่นคือ บางครั้งการให้ผลของกรรมนั้นมาเป็นชุดๆ... เคราะห์ร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ชาวบังคลาเทศแถบนี้ได้ชื่อว่า เป็นเร่ร่อน หรือ "โนแมด (nomadic)" เนื่องจากต้องอพยพย้ายถิ่นฐานจากเกาะหนึ่งไปสู่อีกเกาะหนึ่งเรื่อยๆ เพราะน้ำจะท่วมเกาะปีละหลายๆ เดือน อยู่กันอย่างแออัด แถมแหล่งน้ำจำนวนมากในบังคลาเทศก็มีสารหนู ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งปนเปื้อนอีกต่างหาก

...

บริการสุขภาพที่นี่อาศัยเรือลำเดียว ซึ่งองค์การ "เฟรนด์ชิพ (Friendship = มิตรภาพ)" ของฝรั่งเศสบริจาคให้

โปรดชมภาพเรือโรงพยาบาล ซึ่งถึงตรงนี้... ผู้เขียนทนไม่ไหวแล้ว ต้องขอกราบอนุโมทนาในกุศลเจตนาของท่านผู้บริจาคก่อนพิมพ์ต่อ... สาธุ สาธุ สาธุ

...

ภาพที่ 2: เรือโรงพยาบาลสีฟ้า-ขาว-แดงลำเดียวบริการชาว "บินกลา" 4 ล้านคน [ Picture from BBC ]

...

คุณคลอเดีย แฮมมอนด์ ผู้สื่อข่าว BBC กล่าวว่า วันที่ตามเรือโรงพยาบาลไปออกหน่วย มีการทำเพิง "หอผู้ป่วย" ชั่วคราว เป็นเตียงไม้เรียงติดกัน 30 เตียง

วันนี้จะมีการผ่าตัดต้อกระจก (cataract) หรือโรคเลนซ์ตาขุ่นขาว ทำให้ตามองไม่เห็น ซึ่งจัดเป็นตาบอดประเภทหนึ่งที่เห็นแต่แสงสีขาวๆ ขุ่นคล้ายๆ กับการมองแสงผ่านผ้าขาว

...

คนไข้ที่รอคิวจะมีแถบกระดาษขนาดเล็ก(สติกเกอร์)ติดไว้ที่หน้าผาก แน่นอนว่า ที่นี่ไม่มีการอธิบายว่า จะทำอะไร จะทำอย่างไร คนไข้รู้แต่ว่า จะได้รับการผ่าตัดต้อกระจก และอาจจะได้มองเห็นเหมือนคนอื่นๆ บ้าง... ก็เท่านั้นเอง

คนไข้ที่ถึงคิวจะต้องนอนลงบนเตียงผ่าตัดทันที คนที่กลัวหรือเปลี่ยนใจจะถูกคัดออกจากคิวทันที พอนอนลง... คุณหมอตาก็จะฉีดยาชาทันที อีก 7 นาทีต่อมา... ยาชาเริ่มออกฤทธิ์ก็จะผ่าตัดทันที

...

ภาพที่ 3: คุณหมอตากำลังเตรียมผ่าตัดต้อกระจก... ทุกอย่างต้องทำกันอย่างรวดเร็วที่สุด เพราะคนไข้มาก คุณหมอมีน้อย คุณคลอเดียบอกว่า นับแล้ว... คุณหมอท่านนี้ผ่าตัดแบบ "ไม่มีเสียงบ่นสักคำ" ก้มหน้าก้มตาทำงานลูกเดียว กว่าจะได้เงยหน้าขึ้นมาแต่ละครั้งก็ตอนผ่าตัดเสร็จ แถมยังผ่าตัดได้มากถึงวันละ 100 ราย

[ Picture from BBC ]

...

คนไข้รายหนึ่งเป็นเด็กผู้หญิงอายุ 7 ขวบ มองไม่เห็นเพราะเป็นต้อกระจกมาตั้งแต่แรกเกิด... เธอบอกว่า เธอคงจะได้เห็นโลกเป็นครั้งแรกในชีวิต

หลังผ่าตัด... พอเปิดแผลผ่าตัดออก เธอก็ได้มองเห็นโลกที่มีสีสันเป็นครั้งแรก หลังจากที่เห็นแต่ "โลกสีขาวขุ่น" คล้ายกับมองผ่านกระจกขาวขุ่นมาตลอดชีวิต

...

ภาพที่ 4: เด็กน้อยที่มีโอกาสมองโลกเป็นครั้งแรกในชีวิต เธอนั่งขัดสมาธิบนพื้น ก่อนผ่าตัด... เธอบอกว่า ถ้ามองเห็น... เธอจะทำงานทุกอย่างที่ทำได้ ตอนนี้เธอมองเห็นแล้ว

[ Picture from BBC ]

 

...

ชะตากรรมมักจะมาแบบไม่คาดคิดเสมอ... ขณะที่คนหลายคนกำลังมีหวัง(คงจะได้มองเห็น) หลายๆ คนสมหวัง(ได้มองเห็นแล้ว)นั้น อยู่ๆ ก็มีเสียงร้องไห้ครวญครางดังลั่นออกมาข้างๆ เรือ

คุณแม่ท่านหนึ่งร้องไห้โฮทันทีที่ลูกชายอายุ 6 ขวบที่ตาบอดจากต้อกระจกมาตลอดชีวิตเกิดกลัวขึ้นมา ไม่ยอมขึ้นไปบนเรือ เพื่อรับการผ่าตัด... เพราะคิวที่นี่อาจจะไม่ได้นับเป็นวัน เป็นเดือน หรือเป็นปี ทว่า... โอกาสอย่างนี้ส่วนใหญ่จะมีเพียงครั้งเดียวในชีวิต (เรือลำเดียวจะหมุนเวียนบริการคน 4 ล้านคน)

...

คนไข้คนหนึ่งเล่าว่า มือข้างขวาของเขาถูกน้ำร้อนลวกตั้งแต่เด็ก แผลเป็นดึงรั้ง ทำให้เอ็นหดสั้นลง ใช้มือข้างขวากินข้าว หรือทำงานไม่ได้มานานกว่า 20 ปี

ก่อนหน้านี้... ไม่เคยมีแม้แต่มื้อเดียวที่เขาจะนั่งลง และกินข้าวรวมกับคนอื่นๆ ในบ้านได้ เพราะธรรมเนียมที่นั่นถือว่า ต้องใช้มือขวาเปิบข้าว มือซ้ายเป็นมือสกปรก มีไว้ใช้ทำความสะอาดหลังอุจจาระเท่านั้น...

...

ชะตากรรมสำหรับคนที่ใช้มือข้างขวากินข้าวไม่ได้ เพราะเส้นเอ็นหดจนมือคู้เข้าหากันมาตั้งแต่เล็กๆ และใช้มือซ้ายเปิบข้าวคือ เข้าสังคมไม่ได้ ใครๆ ก็รังเกียจ แม้แต่กินข้าวในบ้านจะกินร่วมกับคนอื่นก็ไม่ได้

หลังได้รับการผ่าตัดจากเรือโรงพยาบาลลำนี้... ชีวิตเขาก็เปลี่ยนไป เดี๋ยวนี้เขากินข้าวด้วยมือขวาได้ กินข้าวร่วมกับคนในบ้านได้ เข้าสังคมได้... "ต่อไปผมคงจะได้แต่งงาน ผมกินข้าวกับมือขวาได้ เพราะเรือโรงพยาบาลแท้ๆ" เขากล่าวอย่างนั้น

...

ผู้ช่วยคุณหมอในเรือให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว BBC ว่า เรือโรงพยาบาลแบบนี้เหมาะกับหมอที่จบใหม่ ไฟยังแรงอยู่ เพราะหมอแบบนี้จะมีความสุขกับความสำเร็จในท่ามกลางความยากแค้น

ไม่ว่าเรือพยาบาลลำนี้จะเหมาะ หรือจะไม่เหมาะกับใคร... ทุกวันที่ไม่มีพายุ มันคงจะแล่นต่อไป จากบ้านสู่บ้าน จากเกาะสู่เกาะ เพื่อให้โอกาสกับชาว "บินกลา" 4 ล้านคนต่อไป

...

ถึงตรงนี้... ผู้เขียนขอกราบอนุโมทนาในกุศลเจตนาของมูลนิธิ "เฟรนด์ชิพ(มิตรภาพ)" ของฝรั่งเศสที่บริจาคเรือลำนี้ คุณหมอ ทีมผู้ช่วยแพทย์บังคลาเทศ และท่านผู้มีส่วนในการทำดีแบบนี้ทุกท่าน

สาธุ สาธุ สาธุ...

...

หมายเหตุ                                           

  • ต้อกระจก (cataract) เป็นกลุ่มโรคที่ทำให้เลนซ์ตา (lens) ซึ่งปกติควรจะใส แสงผ่านได้ ทำหน้าที่คล้ายเป็นแว่น อยู่ด้านในลูกตา กลับขุ่นขาว ทำให้การมองเห็นตกลงไปเรื่อยๆ เปรียบคล้ายการมองผ่านกระจกฝ้า
  • สาเหตุของต้อกระจกมีทั้งพันธุกรรม เช่น ติดเชื้อหัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์ ฯลฯ และสาเหตุต่างๆ (หลังคลอด) เช่น อุบัติเหตุ อายุที่เพิ่มขึ้น (ส่วนใหญ่ 45 ปีขึ้นไป) การได้รับรังสี

 

  • เบาหวานมีส่วนเร่ง ทำให้เลนซ์ตาเสื่อมเร็วขึ้นมาก เป็นต้อกระจกเร็วขึ้นมาก
  • เมืองไทยเรามีแนวโน้มจะพบคนไข้ต้อกระจกเพิ่มขึ้น เนื่องจากประชากรสูงอายุมากขึ้น และเป็นเบาหวานกันมากขึ้น

 

  • การออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำ การควบคุมอาหาร อย่าให้อ้วน หรือถ้าน้ำหนักเกินแล้วก็ระวังอย่าให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นอีก และการกินอาหารจากพืชผักให้มากพอทุกวัน โดยเฉพาะการกินธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ฯลฯ แทนข้าวขาว ขนมปังผสมรำหรือจมูกข้าว(โฮลวีท)แทนขนมปังขาว วันละ 3.5 ส่วนบริโภค เทียบเท่า 3.5 ทัพพี หรือขนมปังโฮลวีท 3.5 แผ่น การไม่กินแป้งและน้ำตาลมากเกิน มีส่วนช่วยป้องกันเบาหวานได้

ที่มา                                                 

  • Thank pictures from BBC > [ Click ]
  • Thank BBC > Claudia Hammond > The chance of see in Bangladesh > [ Click ] > Feb.23, 2008.
  • ขอขอบพระคุณ medinfo.psu.ac.th (คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) > อ.นพ.จักรี หิรัญแพทย์ > Lens and cataract >  [ Click ] > 26 กุมภาพันธ์ 2551.
  • ข้อมูลและการอ้างอิงในบล็อก "บ้านสุขภาพ" เป็นไปเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ไม่ใช่รักษาโรค
  • ท่านที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาหมอ พยาบาล เภสัชกร หรืออนามัยที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้
  • ขอขอบคุณอาจารย์ณรงค์ ม่วงตานี + อาจารย์เบนซ์ iT ศูนย์มะเร็งลำปาง > สนับสนุนเทคนิค iT.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ > 26 กุมภาพันธ์ 2551.
หมายเลขบันทึก: 167525เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2008 15:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท