จากเซ็นเซอร์สู่เรตติ้ง...ระบบที่ต้องเรียนรู้จากสังคม


หากจะเปลี่ยนไปใช้ระบบเรตติ้ง สังคมต้องยอมรับเรื่องบางเรื่อง

  "จากเซ็นเซอร์สู่เรตติ้ง...ระบบที่ต้องเรียนรู้จากสังคม"

(20 กุมภาพันธ์ 2551 กับ ผศ.ดร.กฤษดา เกิดดี หัวหน้าภาควิชาภาพยนตร์ ม.รังสิต)

 

เช้าวันนี้มีนัดพบกับท่านอ.กฤษดา เกิดดี ผู้เป็นทั้งนักวิชาการและนักวิจารณ์ที่คร่ำหวอดในแวดวงภาพยนตร์ต่างประเทศและภาพยนตร์ไทย ท่านมีผลงานทั้งงานทางวิชาการและผลงานบทวิจารณ์มากมาย อาทิ พิพากษานอกศาล (2541, สนพ.มติชน) / การเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ (2548, สนพ.ห้องภาพสุวรรณ) ฯลฯ และยังเป็นนักเขียนทั้งในหนังสือพิมพ์ข่าวสดและนิตยสารสตาร์พิคส์ นิตยสารที่ได้ชื่อว่าอยู่คู่กับวงการภาพยนตร์ทั้งไทยและเทศมากว่า 40 ปี ในครั้งนี้ทีมงานมีนัดกับอ.กฤษดา 10 โมงเช้าที่คณะนิเทศศาสตร์ (อาคารอุไรรัตน์) มหาวิทยาลัยรังสิต

เมื่อถึงเวลานัดหมายทีมงาน ME ซึ่งประกอบด้วยท่านอ.อิทธิพล / พี่เหยียน / อี๋ / แนทและน้องคิว ได้แลกเปลี่ยนแนวคิดและร่วมรับฟังความคิดเห็นของอาจารย์ต่อการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อภาพยนตร์ งานวิจัยที่อ.อิทธิพลกำลังดำเนินการศึกษาอยู่ โดยอาจารย์กฤษดาได้ให้ข้อคิดที่ควรคำนึงถึงในเรื่องของกฎหรือเกณฑ์ที่จะใช้ประกอบในการให้เรตติ้งแก่ภาพยนตร์ไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งชาว ME สามารถประมวลมาได้ดังนี้

  • การเขียนหลักเกณฑ์เพื่อใช้ประกอบการจัดระดับความเหมาะสม(เรตติ้ง)นั้น ในต่างประเทศจะมีแนวทางวางไว้ให้กว้างๆ อย่างเช่น หากภาพยนตร์จะเล่าถึงความไม่ดีหรือการทุจริตของศาล ในต่างประเทศสามารถจะเล่าเรื่องแบบนี้ได้ แต่ต้องแสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพียงความประพฤติที่ไม่ดีของบุคคลคนนั้นเท่านั้น แต่จะมาว่าระบบของศาลหรือกระบวนการยุติธรรมว่าไม่ดีนั้นไม่ได้ และภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องแบบนี้ยังต้องทำให้คนที่ประพฤติไม่ดีนั้นถูกลงโทษไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการติดคุกหรือการได้รับความทุกข์ทรมานทางจิตใจ ฯลฯ ความสำคัญคือต้องแสดงให้เห็นว่าเมื่อทำชั่วต้องถูกลงโทษจะมาลอยนวลไม่ได้ (เดี๋ยวเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี)
  • การวางหลักเพื่อกำหนดเรตติ้งภาพยนตร์นั้น ในต่างประเทศมักจะใช้วิธีกำหนดที่ค่อนข้างครอบคลุมถึงธรรมชาติของการผลิตภาพยนตร์ เช่น หากจะอนุญาตให้มีภาพโป๊ได้ ก็มักจะกำหนดไปกว้างๆ ว่า ให้สามารถเห็นผู้ชายโป๊ได้ทั้งตัวในระยะภาพไกลๆ (long shot) แต่ระยะใกล้ห้ามเห็นเด็ดขาด หรือถ้าเป็นผู้หญิงจะสามารถเห็นได้ในระยะภาพขนาดกลาง (medium shot) และเห็นอะไรได้บ้างก็กล่าวถึงไว้กว้างๆ เหล่านี้เป็นต้น เพื่อที่ให้ผู้ผลิตเลือกได้ว่า ภาพแบบนี้จำเป็นต่อหนังของเขาหรือไม่ หรือให้เขาสามารถเลือกมุมในการนำเสนอได้ แต่ต้องในระยะที่เหมาะสมที่ได้ตั้งเกณฑ์กันเอาไว้ ซึ่งก็จะยุติธรรมสำหรับผู้ผลิตมากกว่าการที่บอกว่า ห้ามนำเสนอภาพแบบนี้
  • บางประเด็นที่เคยมีปัญหาสำหรับสังคมไทยที่เคยถูกตัดทิ้งเมื่อตอนใช้ระบบเซ็นเซอร์ ประเด็นเหล่านั้นน่านำมาพิจารณาอย่างมาก โดยต้องหยิบมาพิจารณากันว่าประเด็นเหล่านั้นเมื่อเป็นระบบเรตติ้งแล้วนั้นจะยอมรับกันได้หรือไม่ ไม่เฉพาะแต่คณะกรรมการหรือกฎเกณฑ์แต่ต้องดูถึงสังคมด้วยว่า สังคมยอมรับประเด็นปัญหาบางอย่างได้ไหม เช่น ประเด็นที่กล่าวถึงหรือพาดพิงถึงแนวคิดหลักของสังคมหรือความเชื่อบางอย่างของสังคม โดยเรื่องนี้อ.กฤษดาเห็นว่าเป็นสาระสำคัญหากจะเปลี่ยนไปใช้ระบบเรตติ้ง สังคมต้องยอมรับเรื่องบางเรื่อง และการให้น้ำหนักความสำคัญของแต่ละประเด็นที่ใช้จัดเรตติ้งเอง ก็ควรมีหมวดหมู่ที่ชัดเจน และเน้นย้ำว่าจะให้น้ำหนักความสำคัญไปที่ประเด็นใดเป็นลำดับต้นๆ เช่น เรื่องเพศ ความรุนแรง หรือเรื่องทางศาสนา เป็นต้น
  • ผู้ทำหน้าที่พิจารณาให้เรตจะต้องมีความเข้าใจในเรื่องผลกระทบต่อวิชาชีพด้วยว่า จุดใดเป็นเรื่องที่ยอมรับได้และจุดใดยอมรับไม่ได้ โดยทั้งหมดต้องมีเหตุผลที่ไม่นอกเหนือไปจากเกณฑ์ที่ได้วางไว้
  • ภาพยนตร์ที่รัฐจะส่งเสริม รัฐไม่ควรมีกำหนดกฎเกณฑ์ที่ตายตัว แต่ควรตั้งในลักษณะเป็นโจทย์เพื่อการทำงาน(ที่ขยับเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละปี) โดยภาพยนตร์ที่รัฐจะช่วยส่งเสริมนี้อาจเป็นได้ทั้งภาพยนตร์ประเภทบันเทิงและภาพยนตร์ประเภทสารคดีหรืออื่นๆ ส่วนเรื่องเงินทุนหมุนเวียน รัฐสามารถเก็บภาษีจากภาพยนตร์ได้ เพื่อนำมาใช้พัฒนาภาพยนตร์ในเรื่องต่อไป (นโยบายด้านนี้จะคล้ายกับของฝรั่งเศสที่เก็บภาษีประมาณ 20% แล้วไปตั้งเป็นกองกลาง เอาไว้เป็นทุนสำหรับส่งเสริมภาพยนตร์ที่นายทุนไม่ค่อยอยากจะลงทุนทำ วิธีการนี้จึงน่าสนใจเพราะเป็นการนำเงินจากภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ไปพัฒนาภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่ง เป็นเงินจากหนังเพื่อหนังที่แท้จริง)

            นอกจากนี้อาจารย์ยังให้ความเห็นในเรื่องของการพาเด็กเข้าไปชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ด้วยว่า เด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ปี ไม่ควรเข้าไปชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ เพราะนอกจากจะเป็นเหตุผลทางด้านสมาธิในการนั่งนิ่งๆ ในที่มืดๆ เป็นเวลานานๆ (ที่เด็กๆ มักทำไม่ได้)แล้ว ยังมีเหตุผลอื่นๆ อีก เช่น เหตุผลในด้านสภาพแวดล้อมของโรงภาพยนตร์ที่ไม่เหมาะสำหรับเด็กเล็ก(ถึงแม้จะไปชมกับผู้ปกครองก็ตาม) เพราะอันตรายต่อเด็กทั้งในเรื่องความปลอดภัย (หากเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้น) อากาศหมุนเวียนในโรงภาพยนตร์ ฯลฯ เด็กที่อายุน้อยมากๆ ผู้ปกครองจึงไม่ควรพาไปชมในโรงภาพยนตร์เพราะเด็กอาจได้รับเชื้อโรคและกลับบ้านมาป่วยได้  แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่อาจารย์กฤษดา เน้นย้ำในประเด็นการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อก็คือ เกณฑ์ต่างๆ ที่จะออกมาเป็นคู่มือต้องเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายสามารถทำความเข้าใจร่วมกันได้ และไม่ควรมีเหตุผลหรือเกณฑ์อื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากที่ระบุในคู่มือดังกล่าวที่จะยกมาใช้เป็นเหตุผลในการตัดเนื้อหาภาพยนตร์ซ้ำอีก

 

หมายเลขบันทึก: 167175เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2008 22:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 09:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ดิฉันชอบดูหนัง และอยากเห็นหนังไทยมีการจัด Rating  และอยากให้โรงหนังจำกัดคนเข้าชมตาม Rating ในกรณีฉายหนังต่างประเทศ  ไม่อยากเห็นพ่อแม่พาเด็กๆ เข้าไปดูหนังที่ไม่เหมาะสม (ที่เห็นประจำ) จริงๆ แล้วพ่อแม่ไม่เข้าใจว่าหนังบางเรื่องเป็นอันตรายต่อสุขภาพ(จิต)ลูกอย่างมาก

เห็นพูดกันมานานแล้ว  ปัญหามันอยู่ตรงไหนคะ

หรือว่าตอนนี้อยู่แล้ว  เพราะดิฉันไม่เข้าโรงหนังมาใกล้ครบปีแล้วค่ะ

ตอนนี้ประเด็นปัญหาหลักๆ น่าจะอยู่ที่เรื่องของความรู้ความเข้าใจ ทั้งจากตัวพ่อแม่ผู้ปกครองเอง และตัวสังคมรอบๆ ข้างค่ะ ถ้าจะกล่าวถึงปัญหาภาพรวมใหญ่ๆ ต้องบอกว่า สังคมเรากำลังขาดความรู้ในเรื่องนี้(เรื่องเรตติ้งและอีกหลายๆ เรื่อง) ที่บอกว่าขาดความรู้ไม่ใช่ว่าไม่รู้นะคะ ส่วนใหญ่จะรู้ว่าเรตติ้งคืออะไร แต่ส่วนใหญ่ไม่เห็นความสำคัญของเรตติ้งต่างหากค่ะคุณนุ้ย

ถ้าตัดฉากร่วมรักจากหนังที่มีเนื้อหาดีๆ เรื่องหนึ่งโดยไม่ให้คนดูได้ดูบริบทแวดล้อมใดๆ ของเรื่องเลยนะ  และตัดฉากร่วมรักจากคลิบฉาวๆ มาให้คนดู  ตัดสินได้เลยว่า 2 ฉากจากสื่อ 2 ประเภทนี้จะถูกจัดให้อยู่เรตเดียวกัน

บางฉากบางตอนในหนังมีความจำเป็นต่อการเล่าเรื่อง  ผู้สร้างที่ดีควรรู้ว่าศิลปะในการถ่ายทอดทำอย่างไรได้บ้าง  ในขณะที่ผู้ชมก็ควรมีความรู้เท่าทันธรรมชาติของสื่อแต่ละสื่อด้วย

ที่สำคัญไปกว่านั้น  คนที่จะทำงานเกี่ยวกับการจัดเรตติ้งก็ควรเข้าใจศิลปะในการสร้างสรรค์งานของสื่อแต่ละชนิดด้วย  ไม่อย่างนั้นการสร้างสรรค์ทางสังคมที่พยายามทำ  ก็อาจกลายเป็นดาบสองคม  เป็นเครื่องมือที่ทำลายและจำกัดความคิดสร้างสรรค์ในทางศิลปะลงได้ 

อีกประเด็นหนึ่งเป็นเรื่องของศิลปะและศิลธรรม

บางทีรู้สึกว่าเรื่องของศิลธรรม และศิลปะ เป็นเรื่องที่สังคมของเราได้แต่เพียงแตะๆ เอาไว้  พูดถึงศิลธรรมคนนึกถึงวัด พูดถึงศิลปะคนนึกถึงรูปวาด  แต่ไม่เข้าใจลึกซึ้งจริงๆ ปัญหาเลยเกิดขึ้นมากมาย  อย่างหนังหรือภาพยนตร์คนทั่วไปก็อาจจะไม่ได้มองว่ามันคือศิลปะอีกแขนงหนึ่ง

ถ้าทั้งผู้ให้/ผู้สร้างสื่อ  และผู้รับชม/ผู้รับสาร สามารถผสมผสานศิลปะ และ ศิลธรรมเข้าด้วยกันได้อย่างเข้าใจ  คำว่าเรตติ้งก็เขียนอยู่ในใจแล้วค่ะ

 

  • ตามมาอ่านวะเพื่อนรัก
  • ทำอะไรกันเนี่ย งง แล้วนะ
  • เจอกันต้นเดือนเมษายนนะ

ตามอ่านอยู่ อ.แหววต้องมองภาพงานของพวกเธอทั้งหมดให้ออก อ.ว่า พวกเธอไม่มีภาพงานอันเดียวกันในหัว และที่ปรึกษาต่างๆ ก็ไม่มีภาพเดียวกัน

ไม่ได้ว่า ไม่ดีนะ อย่าเข้าใจผิด

แต่ภาพที่มีมันคนละมุม แม้ภาพเดียวกัน กระแสคิด ก็จะไม่แรงเท่าที่ควร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท