ตอนที่ 39….จากวิทยากรเกษตรกรสู่ศูนย์เรียนรู้การเกษตร “สวนพยุงขวัญ”


ได้ทุ่มเทกำลังกายและกำลังใจในการทำไร่นาสวนผสมตั้งแต่ปี 2531 จนได้รับความสำเร็จ

                

             การทำงานมักจะเหนื่อยล้า อาการผิดปกติของร่างกายจะแสดงทันทีคืออาการง่วงเหงาหาวนอน มึนศรีษะ ตามไปด้วยวิงเวียนเหมือนจะเป็นลม อีกทั้งความหิวก็ตามมา คราวนี้ก็เช่นกันอาการต่างๆ ได้เกิดขึ้นกับผู้เขียน วิธีแก้ไขคือรีบเก็บข้อมูลต่างๆ ที่กำลังทำเกี่ยวกับตัวเลขอันยุ่งเหยิง ก่อนที่ความเบื่อหน่ายที่มีทับถมมานานจะมากไปกว่าเดิม ความเบื่อเรื่องเลขคณิตได้เกิดขึ้นตั้งแต่เรียนประถมจนถึงมัธยมก็ยังทำใจรักไม่ได้จึงหนีไปเรียนเกษตร แต่ชะตากรรมชีวิตก็หนีไม่พ้น ได้มารับงานข้อมูล ก็เช่นนี้ละตามคำโบราณกล่าวไว้ว่า “เกลียดเช่นไรมักจะได้เช่นนั้น” สาวๆ เกลียดคนเจ้าชู้ก็ระวังนะ จะบอกให้

                  เกริ่นมานานยังไม่เข้าเรื่องสักที อีกทั้งไม่เข้ากับเรื่องที่จะบอกเล่า เนื่องจากเรื่องนี้ได้มาเพราะความเบื่องานที่ทำจึงหาวิธีตามพี่เอนก สุธา และพี่ต่าย (รัตนา แสงสุย) 2 นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร 6ว ที่จะไปเป็นวิทยากรศูนย์เรียนรู้การเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เลยต้องผิดศิล 5 ข้อที่ 2 คือโกหกท่านเกษตรจังหวัดชัยนาท (นายรังสรรค์ กองเงิน) ไปว่าอากาศเปลี่ยนทำให้รู้สึกไม่สบายเวียนหัว ขอพักไปกับพี่ทั้ง 2 ท่านก็ใจดีอนุญาตให้ไปได้ (หายมึนทันที)

         ศูนย์เรียนรู้การเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง“สวนพยุงขวัญ”  เดิมเป็นสวนไม้ผลในโครงการปรับโครงสร้างเพื่อการเกษตร จากการชักชวนของพี่ประหยัด คำสิงห์ ขณะเป็นเกษตรตำบล ได้พัฒนาประสบผลสำเร็จ ได้รับการคัดเลือกเป็นจุดถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ของกรมส่งเสริมการเกษตร ในศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล ได้เป็นแหล่งเรียนรู้ ฝึกปฏิบัติ และศึกษาดูงานแก่ผู้สนใจ เป็นแบบอย่างสำหรับเกษตรกรรายอื่นๆ นำไปปฏิบัติตาม และเป็นสถานที่ของการเรียนรู้ร่วมกันของเกษตรกรในชุมชน นั่นคือการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมของชุมชนและสังคมให้มีความเจริญอย่างยั่งยืน นับได้ว่าเป็นจุดถ่ายทอดเทคโนโลยีไร่นาสวนผสมที่ประสบผลสำเร็จและมีเกษตรกรจำนวนมากเข้าเยี่ยมชม ผลสำเร็จนี้ได้จากความเพียรพยายามของ น้าพยุง ส่งพูล เกษตรกรคนเก่งวัย 60 ปี บ้านเลขที่ 226 หมู่ 6 ต.ตลุก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ก่อนที่จะได้รับให้เป็นปราชญ์ชาวบ้าน และตั้งให้เป็นศูนย์เรียนรู้การเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง “สวนพยุงขวัญ” ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

               ถ้าท่านใดสนใจเข้าเยี่ยมชม การเดินทางเข้าเยี่ยมชมไม่ยากนัก หลังจากเข้าชมทัศนียภาพของเขื่อนเจ้าพระยาที่เป็นดังเส้นโลหิตเลี้ยงประชาชนจนพอใจ จึงดินทางลงมาตามเส้นทางเดิมของแม่น้ำเจ้าพระยา เลี้ยวขวาตามลำคลองส่งน้ำเข้าบ้านศาลาขาว(กรณีลงจากเขื่อนผ่านสนามกอล์ฟ) เมื่อพบสะพานข้ามคลองส่งน้ำแห่งแรก ก็ได้เห็นป้ายบอกทางเข้าสู่สวนพยุงขวัญ สำหรับผู้เขียนได้เดินทางมาพบเจ้าของสวนแล้วเห็นรอยยิ้มพร้อมเสียงทักทายก็ผ่อนคลายความร้อน และมองเห็นความคุ้มค่าที่ได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ฝ่าความร้อนมา

                น้าพยุง กล่าวว่าได้ทุ่มเทกำลังกายและกำลังใจในการทำไร่นาสวนผสมตั้งแต่ปี 2531 จนได้รับความสำเร็จนั้น นอกจากจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่ดีแล้ว ยังต้องขึ้นอยู่กับการดูแลเอาใจใส่อย่างดียิ่งอีกด้วย จากการเปลี่ยนพื้นที่นา 23 ไร่ เป็นสวนแบบยกร่อง10 ไร่ นาอีก 8 ไร่ เป็นที่อยู่อาศัย ถนน และสระน้ำอีกจำนวน 5 ไร่ จากการดำเนินการได้นำพันธุ์ลิ้นจี่พันธุ์ฮงฮวย พันธุ์ค่อม และพันธุ์จักรพรรดิ์ มาปลูกด้วยความมั่นใจว่าอนาคตจะดีขึ้นจึงได้พยายามเรียนรู้ด้วยตนเอง เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร และเอกสารวิชาการ เป็นแนวทาง จนถึงปีที่ 3 ลิ้นจี่ให้ผลผลิตทำให้เกิดกำลังใจและความพอใจเป็นอย่างมาก ปัจจุบันมีลิ้นจี่จำนวน 120 ต้น ผลที่ได้จากการดำเนินงาน ในปี 2550 ลิ้นจี่ให้ผลผลิต 2,080 กก. จำหน่ายเป็นเงิน 108,000 บาท กำไรจากนาปี 9,000 บาท นาปรัง 13,000 บาท พืชผักสวนครัวเช่น ชะอม แตงกวา ถั่วพู และมะเขือเทศ ประมาณเดือนละ 1,500 บาท

                 การปฏิบัติและการดูแลรักษาพอสรุปได้ดังนี้ คือ หลังจากปลูกลิ้นจี่ได้ 2-3 เดือน ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 จำนวน 1 กก./ต้น และปุ๋ยอินทรีย์ 1-2 กก./ต้น ให้น้ำไม่น้อยกว่าอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง เมื่อได้ 3 ปี ลิ่นจี้จะเริ่มให้ผลผลิต จึงต้องตัดแต่งกิ่งน้ำค้างในทรงพุ่มออก หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วประมาณ เดือนเมษายนของทุกปี ให้ตัดแต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 จำนวน 1-2 กก./ต้น และปุ๋ยอินทรีย์ 1-2 กก./ต้น ขึ้นอยู่กับทรงพุ่มและอายุของลิ้นจี่ คลุมด้วยฟางข้าว รดด้วยปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพและให้เป็นระยะ 3 เดือนต่อครั้ง(ให้แบบวิธีราดบริเวณทรงพุ่มผสมน้ำอัตราปุ๋ยชีวภาพ 1 ต่อน้ำ 20 ส่วน) ให้น้ำตามปกติ ก่อนแทงช่อดอกใส่ปุ๋ยน้ำชีวภาพ จนถึงเดือนธันวาคม งดการให้น้ำ เพื่อให้แทงช่อดอก เมื่อแทงช่อดอกเริ่มให้น้ำเพียงเล็กน้อย แล้วค่อยเพิ่มปริมาณเป็นระยะจนปกติ ฉีดพ้นด้วยสารเคมีป้องกันเพลี้ยไฟ(เซฟวิน) และสารเคมีป้องกันเชื้อรา แต่เมื่อดอกเริ่มบานจะต้องหยุดการใช้สารเคมีเพราะจะทำให้ดอกร่วงได้ และเป็นอันตรายต่อแมลงที่เป็นประโยชน์ต่อการผสมเกสร ลิ่นจี่จะไม่ติดผล แต่ในช่วงเดือนมีนาคม จะมีอากาศร้อนจำเป็นต้องให้น้ำด้วยวิธีฉีดพ้นให้ทั่วต้น หรือถูกใบลิ้นจี่บ้าง เพื่อให้ต้นลิ้นจี่ได้รับความชื้นลดความร้อน จำนวน 4 วันต่อครั้ง เมื่อผลลิ้นจี่เริ่มเปลี่ยนสีเป็นเขียวอมส้ม ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 เพื่อเพิ่มความหวาน อัตรา 1-2 กก./ต้น ขึ้นอยู่กับทรงพุ่มและอายุของลิ้นจี่ จะช่วยให้ได้รสชาติที่ดีมาก และปลอดภัยจากสารพิษ

              น้าพยุง ฝากว่าจะกลุ่มเพื่อนเกษตรกรสนใจเข้ารับการอบรมหรือหรือศึกษาดูงานติดต่อเยี่ยมชมสวนได้ยินดีต้อนรับครับ หรือโทร.087-1952177 ไม่เพียงการจัดการในสวนลิ้นจี้เท่านั้น แต่จะได้ศึกษาการทำการเกษตร จากวิทยากรต่างๆ หลายหน่วยงานที่ท่านต้องการ แต่ขอให้ติดต่อล่วงหน้านะครับ

หมายเลขบันทึก: 166572เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2008 18:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 16:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ตาเล็กปีนี้มีลิ้นจี่ไหม เดี่ยวหนูกับแม่จะขึ้นไปหานะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท