ตอนที่ 38 ย้อมสีผ้าทอจากธรรมชาติด้วยภูมิปัญญาไทย


สีทอผ้าจากธรรมชาติเป็นความรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดกันมาจากปู่ย่าตายาย

       

สีทอผ้าจากธรรมชาติเป็นความรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดกันมาจากปู่ย่าตายาย ได้ค้นคว้าจากแหล่งวัตถุดิบสีธรรมชาติที่สามารถหาได้จากบริเวณบ้าน ชุมชน หรือป่าสาธารณะที่อยู่ใกล้เคียง เช่น แก่นยอ สีเขียวจากใบเตย สีเหลืองจากแก่นขนุน สีน้ำเงินจากดอกอัญชัญ สีธรรมชาติจากสัตว์มีเพียงสีแดงจากครั่ง ควบคู่การผลิตผ้าทอ ที่ได้มีการสั่งสมถ่ายทอดกรรมวิธีการย้อมสีและการทอ ให้แก่สมาชิกในครอบครัวจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง จนอาจถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ได้รับการถ่ายทอด เสมือนมรดกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของคนไทยในยามว่างจากไร่นา

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าบ้านโป่ง หมู่ที่ 2 ต.หนองมะโมง อ.หนองมะโมง จ.ชัยนาท เป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท อีกกลุ่มหนึ่ง ที่ได้พยายามฟื้นฟูภูมิปัญญาการย้อมสีด้ายที่จะนำมาทอผ้าด้วยสีที่ได้จากธรรมชาติ และการทอผ้าด้วยรวดลายสมัยเก่า เป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้จากการทำนาซึ่งน้อยปีที่จะได้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ เพราะส่วนใหญ่พบแต่ภัยธรรมชาติไม่ท่วมก็แล้งอย่างซ้ำซากยากแก่การแก้ไข ซึ่งการย้อมสีด้วยวัสดุจากธรรมชาตินั้นมีความยุ่งยากกว่าการใช้สีเคมีย้อมผ้ามากนัก แต่ นางสนิท จบศรี ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าบ้านทุ่งโป่ง บอกว่า ประหยัดดี สีสดใส ไม่กระด้าง และสีไม่ตก

           นางสนิท จบศรี กล่าวถึงการย้อมสีจากธรรมชาติว่า เริ่มจากการเตรียมวัสดุเพื่อให้ได้สีด้ายที่ต้องการนำไปทอผ้าให้ได้ลายต่างๆ ที่ต้องการ เช่น สีดำจากผลมะเกลือ สีเหลืองจากไม้ขนุน, แก่นยอ เหลืองเข้มจาก ไม้ประดู่ ลูกรังให้ได้สีลูกรัง เขียวจากใบเตย สีน้ำเงินจากเปลือกมังคุด ดอกอัญชัน เป็นต้น นำวัสดุที่จะสกัดสีลงต้มในน้ำเดือดให้สีออกมามากที่สุด กรองคัดแยกเศษผงวัสดุออกให้หมด ใส่เกลือ และสารส้มลงไปในปริมาณที่พอสมควร เพื่อป้องกันสีตก และความสม่ำเสมอของสี ต้มให้เดือด ใส่ด้ายลงไปพร้อมลดไฟให้อ่อนต้มไว้ 1 ชั่วโมง ก่อนนำด้ายฝ้ายที่ผ่านการย้อมไปใส่ราวผึ่งลมให้แห้ง

             การทอนั้นเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากและต้องใช้ความอดทน เริ่มจากการนำด้ายฝ้ายที่แห้งมาใส่ “ ระวิง “ เพื่อทำการเสาะ ( สาว )เส้นด้าย นำไป “ ขึงเครือหูก “ โดยการกวักฝ้ายจาก “ กง “ ไปใส่กวักแล้วดึงจากกวักไปเกี่ยวกับ “ หลักเฝือ “ เพื่อทำเป็นเส้น“ เส้นยืน “ ที่เรียกกันว่าคนหูก หรือขึงเครือหูกปั้นหลอด คือ การนำเส้นด้ายไปใส่ “ กง “ แล้วแกว่งหลาดึงเส้นฝ้ายจากกงไปเข้า “ หลอด “ ที่เสียบสวมไว้กับแกนเหล็กไน เพื่อเอาไปแยกใช้ทำเป็น “ เส้นพุ่ง“ ด้วยการนำหลอดฝ้ายไปใส่ในกระสวยสืบหูก คือ การนำเส้นฝ้ายเครือหูก ( ด้ายยืน ) มาต่อเข้ากับเส้นด้ายที่ติดอยู่กับตะกอ หรือเขาหูกโดยผูกด้ายเครือไว้กับเสาและใช้ “ ไม้ข้วย “ ดึงด้ายเครือทีละเส้นจนครบตามความกว้างของหน้าฟืม การบิดหรือต่อด้ายทั้ง 2 เข้าด้วยกัน หรือที่เรียกว่า การสืบหูก กางหูก ด้วยการนำเส้นฝ้ายเครือที่สืบหูกแล้วไปจัดให้เข้าที่พร้อมที่จะเริ่มทอผ้า โดยขึงเส้นเครือให้ตึงแล้วใช้แปรงหวีหูกหวีไปตามความยาวของเครือหูก เพื่อจัดระเบียบเส้นไม่ให้เส้นเครือพันกัน ทุกขั้นตอนจะต้องทำอย่างประณีตวางเส้นด้ายให้ตรงสีและตำแหน่งตามลายผ้าที่ต้องการเพราะถ้าผิดพลาดลายจะผิดเพี้ยนจากที่หวังไว้ จากนั้นจึงทำการทอเป็นผ้าต่อไป

            จากการเที่ยวชมการทอผ้าทำให้ได้รับรู้สำนึกถึงคุณค่าของภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย และของผ้าทอที่ได้มาอย่างยากลำบาก การทำนั้นเป็นขั้นตอน ตั้งแต่การสับตะกอ โดยใช้ส้นเท้าเหยียบไม้เหยียบหูก เพื่อรั้งตระกอขัดลง ซึ่งจะดึงด้ายยืนกลุ่มที่ต้องการตามลงมาด้วย ส่วนตะกอขัดถัดมาจะยกเส้นด้ายยืนอีกกลุ่มหนึ่ง ขึ้นเกิดเป็นช่องว่างระหว่างเส้นด้ายของแต่ละกลุ่ม ก่อนพุ่งกระสวยด้ายพุ่งเข้าไปในช่องด้ายยืนจากด้านขวาไปทางด้านซ้ายทำให้เส้นด้ายพุ่งเข้าไปสานกับด้ายยืน แล้วใช้ฟืมกระแทกเส้นด้ายเพื่ออัดเส้นด้ายพุ่งให้เป็นเส้นตรง แล้วจึงเหยียบไม้เหยียบหูกสลับกับครั้งแรกดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอน อย่างเป็นระบบด้วยจิตใจที่เป็นสมาธิอย่างมั่นคงและแน่นอน สอดคล้องกับเส้นด้ายยืนที่จะสลับกันไป โดยผลัดกันขึ้นลง สัมพันธ์กับกระสวยที่พุ่งและย้อนกลับเข้าไปในช่องด้ายยืนจากด้านซ้ายมาด้านขวา นำเส้นฝ้ายพุ่งหรือด้ายพื้นก็จะสอดไปสานขัดกับเส้นด้ายยืนกระทบฟืมหรือฟันหวี อัดเส้นด้ายพุ่งให้ชิดติดแน่นเป็นเส้นตรงอีกครั้ง

 การสลับตะกอและพุ่งกระสวยกลับไปมาและกระทบฟืมหรือฟันหวีหลาย ๆ ครั้งจะปรากฏเป็นลวดลายและผืนผ้าขึ้น การทอผ้าของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านทุ่งโป่ง มีผ้าฝ้ายลายช้างซึ่งเป็นที่นิยมของผู้เข้ามาชมและเลือกซื้อไป เพราะช้างคอไม่ขาดเป็นสิริมงคลต่อผู้สวมใส่ สร้างความภาคภูมิใจแก่กลุ่มที่ได้ประดิษฐ์ผ้าสวยจากความอดทนกับการต่อด้ายทุกเส้นที่ขาดไปนางสนิท จบศรี ฟากถึงผู้อ่านว่า จึงทำให้ตลาดและชื่อเสียงของผ้าทอยังไม่กว้างขวางเท่าทีควร ผ้าทอที่ผลิตขึ้นมาประกอบด้วยลายช้างยกดอกเก็บลาย ผ้าฝ้ายเกรียวลายช้างยกดอกเก็บลาย มีทั้งผ้าขาวม้า ผ้าสไบ ผ้ารองถ้วยน้ำชาใหมประดิษฐ์ ผ้านุ่งตีนจก และอื่นๆ อีกหลายชนิด ราคาไม่แพงนัก ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 0–5641-5742 ยินดีต้อนรับและให้ข้อมูลค่ะ

           บทความเรื่องนี้ขอขอบพระคุณทีมงานสำนักงานเกษตรอำเภอหนองมะโมงซึ่งมีท่านเกษตรอำเภอ (นายปิยะ แสงตะคร้อ) ที่ได้แนะนำ และนำทาง อีกทั้งเกษตรจังหวัดชัยนาท(นายรังสรรค์ กองเงิน) ที่ได้ให้เวลาไปพักผ่อนเที่ยวเตร่ดูงานของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ขอบคุณมากๆ ครับ



         

หมายเลขบันทึก: 166568เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2008 17:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ต้องการผ้าฝ้ายที่ยังไม่ทอ และย้อมสีเสร็จมีขาย กรุณา ติดต่อกลับด้วยนะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท