ชีวิตติดหนังสือ


พ่อชอบอ่านหนังสือ แม่ก็ชอบอ่านและเป็นกองสนับสนุนการอ่านของพวกเรา

     

              คิดถึงพ่อเล่าเรื่องพ่อ พ่อชอบอ่านหนังสือ แม่ก็ชอบอ่านและเป็นกองสนับสนุนการอ่านของพวกเราลูกทั้งสี่ จำได้ว่าสมัยเด็ก จะมีมอเตอร์ไซด์ไซต์ส่งหนังสือพิมพ์ นิตยสารมาจอดหน้าบ้านทุกวัน ตอนสาย ๆ แล้ววันเสาร์-อาทิตย์ พวกเราจะตื่นเช้าเพื่อแย่งชิงความเป็นที่สองที่จะได้อ่านนิตยสาร

 

                ที่ต้องเป็น "บุคคลลำดับที่สอง" เพราะว่าในครอบครัวเรามีข้อตกลงชัดเจนว่าจะต้องให้สิทธิ์พี่น้องคนใดคนหนึ่งก่อน ที่จะได้ดื่มด่ำกับการอ่านนิตยสารที่ตัวเองเป็นผู้เสนอแนะให้สั่งรับ และมีสิทธิ์ที่จะให้พี่หรือน้องคนไหนได้อ่านต่อจากตัวเอง หากตัวเองเป็นคนเจอหนังสือนั้นคนแรก (สี่คนพี่น้องบางทีจึงมีการแบ่งพรรคแบ่งพวก ถ้าทะเลาะกันช่วงนั้นก็มีอดอ่านด้วยเหมือนกัน)

                บ้านเราจึงอุดมไปด้วยนิตยสารสมัยนั้น (พ.ศ. 2510-) นอกจากหนังสือพิมพ์ ซึ่งก็หลากประเภท ทั้งไทยรัฐ , Bangkok Post, Student Weekly (ลูกอ่านบ้างไม่อ่านบ้าง แต่บ้านเราก็ยังรับ.. ) เรามีหนังสือการ์ตูน หนูจ๋า ตุ๊กตา เบบี้ ชัยพฤกษ์การ์ตูนวิทยาศาสตร์  (ฉบับที่มีการกำหนดสิทธิ์การอ่าน) เราอ่านนิตยสารกุลสตรี สกุลไทย แม่บ้าน ฟ้าเมืองไทย อสท.และต่วยตูน เราเห็น (ก็ได้แต่มองตอนนั้น) นิตยสาร Time, Reader's Digest (ฉบับภาษาอังกฤษ) เท่าที่จำได้มอเตอร์ไซต์จากร้านหนังสือใหญ่สุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์ จะบริการนำส่งบ้านเราทุกสัปดาห์ นับเป็นกิจกรรมการตลาดที่เยี่ยมมาก เพราะถ้ามีนิตยสารออกใหม่ เค้าก็จะมีวิธีเชิญชวนเสนอสั่งรับเดี๋ยวนั้นเลย หรือหนังสือที่เรารอคอยเล่มใหม่ ๆ พี่เค้าก็จะเอาติดรถมาให้)

                พอโตเป็นวัยรุ่นขึ้นมาหน่อย มีการทวบทวนการสั่งรับ หนังสือสำหรับวัยเด็กเปลี่ยนไป นิตยสารวัยรุ่น(วุ่นวาย) เข้ามาแทนที่ เช่น แพรว แพรวสุดสัปดาห์ (สมัยนั้นเป็น Pocket Book กะทัดรัด) แต่พอยุคสมัยเปลี่ยนแปลง โลกเจริญก้าวหน้า ธุรกิจทุกวงการมีคู่แข่ง ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น แต่ไม่รู่ว่าใครเป็นคนเลิกใช้-รับบริการมอเตอร์ไซค์ส่งหนังสือพิมพ์/นิตยสาร เพราะดูเหมือนว่าบ้านเราจะมีหนังสือ นิตยสารสะเปะสะปะไปหมด ประเภทโดนใจปก เรื่องราวในเล่มไหน ก็ซื้อเข้าบ้าน

                นอกจากการผูกปิ่นโตนิตยสาร หนังสือรายเดือน พ่อและแม่ยังให้โอกาสพวกเรา Shopping หนังสือในร้านหนังสือ (ที่ใหญ่ที่สุดสมัยนั้น) ในเชียงใหม่  พวกเราได้สิทธิ์เลือกหนังสืออ่านเล่น เฉลี่ยคนละสองเล่มต่อเดือน คิดดูสิคะว่าลูกสี่คน หนังสือแปดเล่มต่อเดือน ยังไม่รวมของพ่อและแม่ จะรวมหนังสือเป็นตั้งขนาดไหน เมื่อเวลาผ่านไป ดิฉันเองจำได้ว่าตัวเองเลือกอ่านหนังสือประเภทสืบสวนสอบสวนของอกาธ่า คริสตี้ ที่มีคุณเฮอร์คูล ปัวโร กับคุณป้าเจน มาร์เปิ้ล เรียงเต็มชั้นเก็บหนังสือไปหมด ซึ่งพี่ ๆ น้อง ๆ ไม่เห็นมีใครหยิบไปอ่านกันบ้างเลย (เลยไม่รู้ว่าคุ้มหรือไม่คุ้ม?กับการอ่านอยู่คนเดียว) แต่หนังสือหรือนิตยสารที่เราอ่านไม่เต็มบ้านหรอกค่ะ เพราะพ่อสอนให้หมุนเวียน แบ่งปัน เราจึงมีการให้เพื่อนบ้านยืมอ่าน (และบ่อย ๆ ที่เราก็ยืมหนังสือของเพื่อนบ้านมาอ่านด้วยเหมือนกัน) เราจะคัดเล่มที่เราคิดว่า "โปรด" "เป็นประโยชน์ (ในการทำรายงาน)" จริงๆ เก็บไว้  อย่างแม่จะชอบอ่านต่วยตูน กุลสตรี แม่บ้าน ก็เก็บและหวงมาก  สกุลไทย และ Time เราเก็บไว้ "ตัด" สาระประโยชน์ส่งคุณครูที่โรงเรียน Reader's Digest (ฉบับภาษาอังกฤษ) พ่อจัดเรียงเต็มชั้นหนังสือ รอเวลาที่ลูกจะหยิบอ่าน เพื่อพัฒนาด้านภาษา ส่วนนิตยสารอื่น บางทีพ่อก็เก็บไปวางไว้ที่คลินิกให้คนไข้อ่านฆ่าเวลารอตรวจ

                พ่อยังสั่งรับหนังสือจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่มาในเครือ Reader's Digest  ไว้ให้พวกเราใช้ประโยชน์ จำได้ว่าเมื่อไรมีรถคันโตจากไปรษณีย์หรือบริการขนส่งสินค้ามาบ้าน พวกเราจะมีความสุขและสนุกกับการจัดชั้น จัดตู้หนังสือ และหยิบเล่มนั้นเล่มนี้ออกมาดูรูปภาพ รอเวลาที่พ่อว่าง หลังสองทุ่มครึ่งไปแล้ว พ่อจะเรียกพวกเรามานั่งล้อมวงแล้วเปิดหนังสือ อธิบายให้ฟัง พวกเราจะชอบดูแผนที่โลก ชอบพินิจพิจารณาความนูน เว้าของผืนดินแผ่นน้ำ(เค้าทำให้มันดูมีมิติจริงๆ ด้วย)  จากหนังสือเล่มโตๆ  เมื่อพ่อยังมีชีวิตอยู่ พ่อจะสั่งซื้อหนังสือจากต่างประเทศเล่มใหม่ ๆ มาอัพเดท หนังสือเหล่านั้นได้ใช้ประโยชน์จนถึงชั้นหลาน  จนพ่อตาย เรายังได้รับพัสดุเป็นหนังสือเล่มใหญ่เกี่ยวกับแผนที่โลก เล่มสุดท้ายที่พ่อสั่งซื้อไว้ แต่ไม่มีโอกาสเปิดอ่าน และพ่อตายไปหลายปีแล้ว แต่จิตวิญญาน(ไม่มีชีวิต) ของพ่อก็ยังผูกพันติดกับหนังสือ(ของพ่อ)

                วันนี้พวกเราลูกๆ เป็นผู้ใหญ่ มีครอบครัวกันหมดแล้ว เรายังทำได้ไม่ถึงครึ่งของพ่อ แต่เราก็พยายามสร้างคลังความรู้ตามแบบอย่างของพ่อไว้ให้หลาน ๆ ของพ่อ เผื่อว่าสักวันจะได้(ทายาท)หนอนหนังสือเหมือนพ่อ แม้ว่าคลังหนังสือนั้นอาจจะไม่ปรากฏเป็นรูปเล่มจับต้องเป็นเจ้าของเหมือนยุคพ่อ

ลิงค์แนะนำ

หนังสือพิมพ์

นิตยสาร

 

หมายเลขบันทึก: 166525เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2008 10:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:47 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (23)
  • สวัสดีเจ้า..

ชอบอ่านหนังสือเหมือนกันค่ะ   ^^

ครูอ้อย ตามน้องต้อม มาบอกก็ชอบหนังสือค่ะ

ขอบคุณคุณต้อม เนปาลี  ยินดีจังที่ได้รู้จักชาวเชียงใหม่ด้วยกันค่ะ และครูอ้อย 
ที่ทำให้ดาวลูกไก่ (ชื่นชมยินดี) สงสัยมาตลอดว่าครูอ้อยนอนวันละกี่ชั่วโมง ครูอ้อยนอนหัวค่ำเหมือลูกสาวหนูเลย ไม่ใช่สิคะ ต้องลูกสาวหนูนอนหัวค่ำเหมือนครูอ้อยมากกว่า แล้วก็ตื่นดึกมาอยู่หน้าจอ วันนี้วันหยุดมีโอกาสเล่นเรื่อยเปื่อยหน้าจอคอมที่บ้านค่ะ ไม่มีลูกสาวแย่งใช้คอมด้วย เพราะไปเรียนพิเศษ ได้อ่านบล็อกโน้นบล็อกนี้ มีความสุข และอินไปกับเรื่องเล่ามากมาย แอบตามไปทำความรู้จักข้างเดียวกับ ราชา'วดี พี่สาวคุณต้อมด้วย ^^  อยากให้มีวันหยุดเยอะๆ หรือไม่ก็วันหนึ่งมีเพิ่มอีกหลาย ๆ ชั่วโมงจัง จะนั่งสบตากับชาว G2K ทุกวันเลยค่ะ

P

ดาวลูกไก่ ชื่นชมยินดี

 

ชื่อบันทึกนี้ (คงจะ) โดนใจผู้รักในการอ่าน...

อาตมาก็ศิษย์ มช. เพิ่งจบ ๓-๔ ปี มานี้เอง ตอนเรียนอยู่วัดฝ่ายหิน วงจรชีวิตก็วัด ภาควิชา หอสมุดภาค และหอสมุดกลาง (ดูรูปคุณโยมแล้วคุ้นๆ หน้า )... คราวใดที่วารสารลูกช้างสัมพันธ์มาเยือนก็ให้นึกถึงมช. ครั้งหนึ่ง...

ชีวิตติดหนังสือ ? ... อาตมากลับคิดว่า หนังสือติดอาตมา มากกว่า (...............)

หมุนเวียน แบ่งปัน ! เห็นด้วยเลย... ตอนเด็กๆ อาตมาอยู่คูขุด ริมฝั่งทะเลสาปสงขลา บรรดาญาติติดหนังสือบางกอก ซึ่งสมัยนั้น ถ้าไม่ซื้อมาจากตัวจังหวัดสงขลาก็ซื้อมาจากตัวจังหวัดพัทลุง (มีเรือแล่นโดยสาร ตัดข้ามฝั่งสงขลา-พัทลุง) ถ้าบ้านใดได้มาก็จะหมุนเวียนแบ่งปันกันไป... อาตมาจึงมีหน้าที่ต้องไปเอาจากบ้านโน้น มาให้บ้านนี้ ตลอดตั้งแต่จำความได้....

และนี้คงจะเป็นสาเหตหลักทีุ่ทำให้อาตมาเริ่มหัดอ่านนิยายบางกองตั้งแต่เริ่มอ่านหนังสือออก...

เจริญพร

นมัสการพระคุณเจ้าBM.chaiwut

เป็นไปได้ค่ะที่ท่านอาจคุ้นหน้าดิฉัน ถ้าท่านแวะเวียนไปหอสมุดกลางบ่อย ๆ ช่วงที่เรียนอยู่นั้น เข้าใจว่าดิฉันยังทำงานในฝ่ายบริการฯ งานโสตทัศนศึกษา จะหมุนเวียนทำงานให้บริการโสตทัศนวัสดุ และไมโครฟิล์มหนังสือพิมพ์ค่ะ ตอนนี้ย้ายงานกลับไปช่วยในสำนักงานเลขานุการ เป็น Back Office ไปเสียแล้วค่ะ ต่อไปจะไม่เป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตากับใครเขา

หรืออาจเจอกันใน Hi5 ที่บังเอิญหลงทางเข้าไปเพราะเพื่อนชักจูง เพื่อนเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษคณะศึกษาศาสตร์ ที่ใช้ประโยชน์จาก Hi5 เพื่อเป็นสื่อกลางกับลูกศิษย์ ๆ ส่งงาน การบ้านให้อาจารย์โดยมีข้อแม้ว่าต้องสนทนาเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น ส่วนดิฉันเองใช้ Hi5 เล่น ๆ เพื่อเลี้ยงลูกสาววัยรุ่นค่ะ ตามให้ทันว่าเด็ก ๆ เขาสนใจอะไรกันแต่ไม่ได้ Add ลูกเป็นเพื่อนนะคะ

การหมุนเวียน แบ่งปัน เป็นเรื่องที่เราถูกฝึกมาตั้งแต่เล็กโดยไม่รู้ตัวนะคะ ในยุคนั้นมองไม่ออกว่าจะมาเป็นทฤษฎี-วิธีปฏิบัติวิธีหนึ่งในการจัดการความรู้ แต่การได้ให้ได้แชร์เรื่องที่ดี ๆ ก็ทำให้ใจพองทุกครั้งที่เห็น (อา)การแสดงออกซึ่งความยินดีในการได้ของเพื่อน ๆ ค่ะ วันนี้ถึงลูก ๆ จะแบ่งปันหนังเกาหลี (ชุด) กันกับเพื่อน ๆ แทนที่จะเป็นหนังสือ เราก็ยังยินดีอย่างน้อยลูกก็รู้จัก เข้าใจ เห็นความต้องการของเพื่อน ๆ เป็นฐานรากของจิตใจที่ดีงาม

ยินดีที่ได้สนทนากับท่านค่ะ

  • สวัสดีเจ้า..

ตั้งแต่จำความได้ต้อมก็พบว่า เวลาไปไหนต้องมีหนังสือติดมือหรือติดกระเป๋าน่ะค่ะ  นิสัยรักการอ่านก็คงจะมาจากพ่อ  พ่อเป็นครูบ้านนอกที่รักการอ่านเหมือนกันค่ะ  ติดหนังสือชนิดที่ว่า..ตอนต้อมเรียนมัธยม  การเอาหนังสือไปกางอ่านตอนทานข้าวถือว่าเป็นการกระทำที่จะถูกตำหนิ  ก็เลยอาศัยอ่านฉลากน้ำปลาไปพลางๆ น่ะค่ะ   หรือเวลาเดินทางไปไหนไกลๆ ก็อาจจะมีดิกชันนารีเล่มเล็กๆ ติดกระเป๋ากางเกงไปด้วย   มีเพื่อนสนิทเป็น"หนังสือ" ค่ะ  

^^  ยินดีที่ได้รู้จักนะเจ้า 

คุณ เนปาลี ค่ะ

เมื่อเด็ก ๆ นอกจากกิจกรรม ดนตรี กีฬา ที่(โดน) บังคับทำ พวกเราจะรอเวลาแดดร่มลมตก ที่จะปั่นจักรยานเรียงแถว เลาะเรียบรั้วสวนดอก (โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่) ข้ามสี่แยกไฟเขียวแดงแจ่งหัวริน (แบบขาสั่นๆ กลัวรถยนต์ชนเอา) เพื่อไปยืมหนังสือนวนิยายของห้องสมุดประชาชนค่ะ มีความสุขกับการอ่านแม้ว่าหนังสือส่วนใหญ่จะเก่ากรอบเป็นสีน้ำตาล ติดอ่านทั้งนั่งทั้งนอน (ซุกผ้าห่มอ่านในเตียง) (มิน่าถึงป่วยบ่อยตอนเด็ก) เวลาไปพักร้อนไกล ๆ ก็มีหนังสือจากห้องสมุดประชาชนตามไปด้วยเป็นเพื่อนเหมือนกันค่ะ จำได้ไม่ลืม ก็มีชุดนิทานกริมส์ อ่านแล้วเพ้อฝันเป็นเจ้าหญิง...555

เรามีเพื่อนชื่อเหมือนกันเลย (^0^)/
  • สวัสดีเจ้า..

ต้อมจำเรื่องราวในวัยเยาว์ไม่ค่อยได้เอาเสียเลยค่ะ   เพียงแต่รู้ว่าไม่ค่อยจะได้เล่นอะไรเหมือนเด็กในวัยเดียวกัน  เพราะต้อมจะติดหนึบอยู่กับหนังสือของพ่อ หรือหนังสือที่หยิบยืมมาจากห้องสมุดของโรงเรียนมากกว่า  และเช่นกันค่ะ  ที่จะจินตนาการให้ตัวเองเป็นตัวเอกในนั้นซะงั้น  ^^ 

หนังสือในดวงใจมีหลายๆ เล่ม แล้วแต่ว่าตอนนั้นจะ "รู้สึก" มากที่สุด  แต่ หนังสือชุดบ้านเล็กฯ  และเพชรพระอุมา น่ะยังครองพื้นที่หัวใจอยู่มั่นคงดีค่ะ 

บ้านเล็กฯ น่ะ  อ่านทีไร  ต้อมชอบเอากระดาษมานั่งเขียนรายการของที่จะต้องเตรียมในฤดูหนาวมหาโหด  หรือนั่งเขียนแผนที่ว่ากระท่อมหลังน้อยจะอยู่ไกลจากลำธารเท่าไหน

เพชรพระอุมา น่ะ  นึกให้ตัวเองเป็น "แงซาย" เจ้าชายหนุ่มจากพงไพร ซะงั้น

 http://gotoknow.org/blog/naepalee/118330

http://gotoknow.org/blog/naepalee/119772

http://gotoknow.org/blog/naepalee/120969

http://gotoknow.org/blog/naepalee/121271

 

  • ครูอ้อยมาทักทายค่ะ
  • วันนี้เป็นวันหยุด  มีความสุขกับการทำงานนะคะ
  • ฝาก จุ๊บจุ๊บ ที่แก้มหลานด้วยค่ะ

สวัสดีค่ะคุณเนปาลี ตามไปอ่านความสุข และเก็บมาไว้ใกล้ตัวใกล้ใจ ทั้งเรื่องราวเรื่องเล่าของคุณเนปาลี และคุณวาดวดีที่ชุมชนประชาไท รอเวลาและวันว่างได้อ่าน

อยากเป็นนักเขียนบ้าง แต่ได้เพียงแค่ (อยาก)เขียนค่ะ นอกจากอ่าน อ่าน ในวัยเด็ก ก็มีบ้างที่แอบขลุกตัวอยู่มุมห้องแล้วเขียน แต่ไม่เคยมีใครได้อ่าน เขียนเป็นนิยายเพ้อฝันเสียมาก สุดท้ายก็ปลิวเป็นเถ้าสีขาว ๆ เทา ๆ ไม่เคยไปถึงฝั่งฝันสักครั้งเลยนะคะ ปีที่แล้วคุณหมอพงศกรและคุณชัยกร นักเขียนมาพูดเรื่อง จับปากกาเขียนหนังสือใน CMU Book Fair ติดใจคำพูดปลุกเร้าอารมณ์อยากเขียนขึ้นมาอีกครั้ง อยาก เขียน ก็เขียน ๆ ๆ ไปเถิดไม่ต้องกลัวว่าจะดี ไม่ดี มีคนอ่าน? ชอบ? หรือไม่ !! อย่างน้อยก็ได้เขียน ได้.. ที่สำคัญได้ทำในสิ่งที่อยากทำ

แต่สำหรับตัวเราแล้ว ถึงชอบเขียน ก็คงยังไม่สามารถทำเป็นเรื่องราว หรือจริงจังเต็มร้อยได้ค่ะ ภาระงานทั้งหลวงทั้งราษฎร์ยังเยอะอยู่เลย ^^

  • สวัสดีเจ้า..

ต้อมก็ชอบเขียนค่ะ  และเคยนึกฝันอยากจะเป็นนัก((อยากจะ))เขียน   อาจจะเพราะด้วยความที่ตัวเองชอบอ่าน  เลยอยากจะถ่ายทอดจินตนาการและความรู้สึกให้คนอื่นได้รับรู้บ้าง   และที่สำคัญ..ต้อมพูดไม่เก่ง  เลยต้องอาศัยการเขียนเป็นทางออกอีกทาง

หลายๆ ครั้งที่เขียนอะไรมากมาย  แต่ในที่สุดก็ไม่กล้าเอาออกมาให้ใครได้อ่าน  พอเข้าสู่โลกไซเบอร์ก็มีที่ให้เขียนบ้าง นับเป็นทางออกที่ดีอยู่เหมือนกัน  เขียนไปเขียนมาจนพี่ๆ ยุให้ทำหนังสือ  ก็มาลงเอยที่หนังสือทำมือ  ก็เขียนตามความรู้สึกน่ะค่ะ  ไม่มีเงื่อนไขอะไร  เป็นอิสระ   แบบว่า..เขียนตามใจฉัน  แรกๆ ก็กลัวว่าแล้วจะมีใครมาอ่านไหมเนี่ย  แต่ในที่สุดก็ทำออกมาแล้วได้รับการตอบรับที่ดี(มั้งคะ)  เลยค่อยมีกำลังใจ  ให้ทำอีกเรื่อยๆ   ค่ะ..ที่สำคัญคือ เราได้ทำในสิ่งที่เคยคิดฝัน  ถึงแม้จะไม่ใช่หนังสือที่วางบนแผงหนังสือก็เถอะ  

มีความสุขที่ได้ทำค่ะ  ^^  แต่มีความสุขมากกว่านี้หากใครสักคนมาบอกกับเราว่า "ชอบจัง"    ความสุขกระจายอยู่รอบๆ ตัว คนเขียน - คนให้ - คนรับ น่ะค่ะ  

 

สวัสดีคุณครูอ้อยค่ะ วันเสาร์ ไม่เหงาแล้ว เพราะได้คุยกับพี่ ๆ เพื่อน ๆ น้อง ๆ (แต่อาวุโสใน G2K) ไม่รู้เป็นยังไงถ้าเปิดคอมปุ๊บ ต้องแวะบ้านที่นี่ก่อน งานการที่ตั้งใจจะทำ เลื่อนออกไปสักหน่อย..น่า ขอคุยก่อน

หลานสาวของครูอ้อยตัวโตแล้วค่ะ จุ๊บ จุ๊บ ไม่ถึงแก้มแล้ว อิอิ เป็นวัยรุ่น (วุ่นวาย) คนเป็นแม่วิ่งตามอารมณ์ไม่ถูก ครูอ้อยมีเทคนิคเลี้ยงลูกสนุก ๆ บ้างไหมคะ จะตามไปอ่านค่ะ

 

 

·     สวัสดีค่ะพี่ดาวลูกไก่

·     ตามลิงค์มาอ่านต่อ   ...อ่านหนังสือเรื่องเดียวกันหลายเล่มทีเดียวค่ะ

·     ชอบตรงย่อหน้าสุดท้ายของบันทึกด้วยค่ะ    “…..เราก็พยายามสร้างคลังความรู้....     ที่ปรับไปตามยุคสมัย   แต่อย่างไรก็ตามในความเห็นส่วนตัวนะคะการอ่านเป็นรูปเล่มหนังสือที่เราสามารถหยิบจับเล่มหนังสือได้นั้น  ให้ความรู้สึกและมีเสน่ห์กว่าการอ่านบนโลกออนไลน์นะคะ

·     ขอบคุณค่ะ    แล้วจะแวะเวียนมาตามอ่านอีกค่ะ

 

 

สนับสนุน อ.ศิริพร เกื้อกูลนุรักษ์ ค่ะ

มีหนังสือเป็นของเราเอง มีความสุข กลับไปอ่านอีกเมื่อไรก็ได้ จะมีความสุขที่ได้รื้อชั้น จัดชั้นหนังสือด้วยนะคะ เวลาขนหนังสือมาวางตั้งแล้วเรียงหมวดหมู่ใหม่ จะรู้สึกดีจัง รู้ว่า ช่วงไหนที่เราอ่านหนังสือค่อนไปแนวไหน

หยุดหลายวันนี่เตรียมหนังสือเด็กที่ลูกไม่อ่านแล้ว รอไปบริจาคค่ะ ชั้นหนังสือจะได้ว่าง สะสมใหม่ค่ะ

  • พี่จ๊ะ..

พอเห็นบันทึกนี้เมื่อกี้ก็รีบกระโจนเข้ามาหา   ด้วยว่านี่คือบันทึกแรกที่เราได้คุยกันผ่านตัวหนังสือนี่นา   เพราะหนังสือแท้ๆ เชียวที่ทำให้เราได้มาเจอกัน   เนอะ  ^^

น้องจ๊ะ

เนปาลีค่ะ

ดีจังนะคะ ที่คนหลายคนที่ชอบในสิ่งเดียวกันได้มาเจอกันในพื้นที่ที่ไม่ใช่ที่เล่นๆ เฉยๆ

เล่นด้วยเรียนด้วยอย่างมีสาระ

^^ ช่วงนี้พี่เหนื่อยจัง ^^

ว่าจะลงอนุทิน ขอจำศีลตัวเองนิ่งๆ สักพัก สวนทางกับใครๆ ที่บ่นว่ากำลังจะลงแดงเพราะไม่ได้แวะมา G2K...ช่วงหยุดยาวๆ

ชีวิตติดหนังสือเช่นกันค่ะ เด็กๆ ชอบไปสิงสถิตย์อยู่บ้านข้างๆบ้านตัวเองเพราะเขามีหนังสือให้อ่านมากมาย บางวันถึงกับยอมอดข้าวเที่ยง ตอนนี้ก็สะสมไว้เยอะ กะว่าตอนแก่ชราจะเปิดให้เช่าแบบเล็กๆน้อยๆ แก้เหงา ดีจังที่เจอคนคอเดียวกัน

พี่ดาวลูกไก่คะ

อ่านบันทึกนี้แล้วชอบจัง อ่านไปคิดภาพตามไป

เพลงก็เพราะด้วย ขออนุญาตเก็บเข้าแพลนเน็ตนะคะ :)

คุณ newwave1 ค่ะ

ตั้งชมรมชีวิตติดหนังสือกันค่ะ เวลารื้อบ้าน เอาหนังสือมากองรวมกัน ตัดใจไม่ได้ค่ะ จะบริจาค จะจำหน่ายเป็นหนังสือมือสอง (ส่วนมาคือหนังสือนวนิยาย อ่านเล่น นิตยสารแฟชั่น) สุดท้ายก็ยังกองรวมให้บ้านรกอย่างนั้นเลยค่ะ...เป็นไหมคะ

คุณน้อง jaewjingjing ค่ะ

แสดงว่าพี่เขียนเรื่อง...เล่าพอเร้าพลัง...ได้ไหมคะ ^^

ขอบคุณค่ะ เพลงนี้น่ารัก พี่ชอบค่ะ อยากกลับเป็นเด็กเล็ก...มีความสุขกว่าเป็นคนโตนะคะ

  • พี่จ๊ะ ..

เคยอ่านพระจันทร์เสี้ยว ของท่านรพินทรนาถ  ฐากูร มีอยู่บทหนึ่งที่เด็กน้อยสงสัยว่าคนโตๆ อย่างผู้ใหญ่ทำอะไรกัน(ทำงานยุ่ง-วุ่นวายกับตัวเลข บัญชี)  สู้มานั่งเล่นวาดรูป ล่นดิน เล่นทรายอย่างเขาก็ไม่ได้

ต้อมชอบมากนะ....  ต้อมรักตัวหนังสือที่บอกเล่าถึงความคิดของเด็กน้อย  

ป.ล. คิดึงมาก  จุ๊บๆ

^

^

1.แป้นเกเร พิมพ์ตัว "ถ.ถุง" และ "สระเอ" ไม่ติด อันนี้ไม่ใช่ความผิดหนู

2.หนูพิมพ์เร็วไป เพราะกะให้ทันกับความคิดถึงจริงๆ

เพราะงั้นจึงสมควรให้อภัยเน้อ

คิดถึงในวันฝนพรำเหรอจ๊ะ...อ๊ะ เอามาฝาก น้องจ๊ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท