เมื่อแรกเชื่อ ว่าเป็นเนื้อ ทับทิมแท้


"คนเราเมื่อรักมากย่อมเสียดายมาก ถ้าไม่อยากเสียดายมากก็อย่าไปรักอะไรให้มันมากนัก ถ้าจะรักต้องให้รู้ว่า เป็นกรวด(พลอยหุง) รึว่าเพชร(ทับทิม) ถ้ารู้ค่าของมันเสียแล้วว่าเป็นกรวด(พลอยหุง/กา) รึว่าเพชร(ทับทิม/หงส์) เมื่อมันไปหาย ก็ไม่เสียดาย มากนัก"

 ในทางพุทธศาสนาทุกข์ที่เกิดจากรักเป็นทุกข์จร(ปกิณณกทุกข์) มีอยู่ 8 อย่าง

1 โสกะ ความโศก ความแห้งใจ ความกระวนกระวาย
2.ปริเทวะ ความคร่ำครวญรำพัน
3.ทุกขะ ความเจ็บไข้ได้ป่วย จากรัก
4.โทมนัสสะ ความน้อยใจ ขึ้งเคียด
5.อุปายาสะ ความท้อแท้กลุ้มใจ ความอาลัยอาวรณ์
6.อัปปิเยหิ สัมปโยคะ ความขัดข้องหมองมัว ตรอมใจ จากการประสบสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก
7.ปิเยหิ วิปปโยคะ ความโศกเศร้าโศกาเมื่อพลัดพรากจากของรัก
8.ยัมปิจฉัง น ลภติ ความหม่นหมองจากการปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น


พระพุทธองค์ ทรงแสดงพุทธพจน์ ไว้ความว่า

เปมโต ชายเต โสโก
เปมโต ชายเต ภยํ
เปมโต วิปฺปมุตฺตสฺส
นตถิ โสโก กุโต ภยํ . . . ฯ ๒๑๓ ฯ

ที่ใดมีความรัก ที่นั่นมีโศก
ที่ใดมีความรัก ที่นั่นมีภัย
เมื่อไม่มีความรักเสียแล้ว
โศก ภัย ก็ไม่มี

From love springs grief,
From love springs fear;
For him who is free from love
Thire is neither grief nor fear.



และเมื่อข้าพเจ้ามีโอกาสได้อ่าน วรรณคดี สี่แผ่นดิน ของ ศาสตราจารย์ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

มีใจความโดยสรุป ว่า คนเราเมื่อรักมากย่อมเสียดายมาก ถ้าไม่อยากเสียดายมากก็อย่าไปรักอะไรให้มันมากนัก ถ้าจะรักต้องให้รู้ว่า เป็นกรวดรึว่าเพชร ถ้ารู้ค่าของมันเสียแล้วว่าเป็นกรวดรึว่าเพชร เมื่อมันไปหาย ก็ไม่เสียดาย มากนัก



สี่แผ่นดิน ใช้โวหารเปรียบเทียบ ระว่าง เพชร และกรวด ก็ยิ่งทำให้นึกถึง บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตอนขุนแผนต่อว่านางวันทอง ซึ่งได้เปรียบเทียบระหว่าง ทับทิม และ พลอยหุง ไว้ ความว่า

เมื่อแรกเชื่อ...ว่าเป็นเนื้อ...ทับทิมแท้
มาแปร..เป็นพลอยหุง..ไปเสียได้
กาลวง..ว่าหงส์....ให้ปลงใจ
ด้วยมิได้...ดูหงอน....แต่ก่อนมา

คิดว่าหงส์..จึงได้หลง...ด้วยลายย้อม
ช่างแปลงปลอม...ท่วงที...ดีนักหนา
พอลับถิ่น...มุจรินทร์...ก็คลาดคลา
พอลับตา...ฝูงหงส์...ก็ลงโคลน


การหุงพลอย หรือ การเผาพลอย เป็นกรรมวิธีการเพิ่มมูลค่าให้อัญมณีด้วยการใช้ความร้อนซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมากก่อนการเริ่มต้นเจียระไน ทั้งนี้การหุงพลอยจะทำให้พลอยชนิดต่างๆ เช่น ทับทิม บุษราคัม ไพลิน มรกต มีสีสวยและเนื้อใสสะอาดขึ้น โดยธรรมชาติแล้วพลอยสดหรือพลอยที่ยังไม่ได้เผาที่มีสีสวยเนื้อใสสะอาดพร้อมที่จะนำมาเจียระไนได้ทันทีนั้นมีอยู่จำนวนน้อยมาก ดังนั้น การหุงพลอยจึงเป็นกรรมวิธีที่ทำให้พลอยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นและได้รับการยอมรับในตลาดการค้าอัญมณีทั่วโลกโดยไม่ถือว่าเป็นการทำเทียมหรือขายของปลอมให้แก่ผู้ซื้อ (แต่เมื่อวิเคราะห์จากเสภาขุนช้างขุนแผน พลอยหุง เจ้านายโบราณท่านถือว่า มีค่าด้อยว่าทับทิม) เนื่องจากเป็นการพัฒนาสิ่งที่มีอยู่แล้วในเนื้อพลอยธรรมชาติให้มีคุณค่ามากยิ่งขึ้น

การประเมินคุณค่าและราคาของอัญมณีจะขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ 4 ประการ คือ สี ความใสสะอาด การเจียระไน และน้ำหนักกะรัต การหุงพลอยสามารถเพิ่มคุณค่าตามหลักที่ใช้ประเมินราคาที่สำคัญได้ 2 ประการ คือ สีและความใสสะอาด

1. สี การหุงพลอยจะช่วยทำให้ได้พลอยที่มีสีตรงกับคุณสมบัติของพลอยที่ดี ซึ่งอาจมีสีเข้มขึ้นหรือจางลงจากสีเดิมหรืออาจช่วยกระจายสีให้ดูกลมกลืนสม่ำเสมอทั่วทั้งเม็ดพลอย ในการหุงพลอยอาจให้สารเคมีเป็นตัวช่วยเร่งปฏิกริยาเพื่อให้การหุงพลอยได้ผลดี ซึ่งการหุงพลอยด้วยวิธีนี้เป็นที่ยอมรับของตลาด อย่างไรก็ตาม ยังมีการหุงพลอยในอีกรูปแบบหนึ่งที่มีการเติมสารเคมีเพื่อทำให้เกิดสีในเนื้อพลอย แม้พลอยที่ได้จะมีความคล้ายคลึงพลอยธรรมชาติและมีสีสันที่คงทนก็ตาม แต่พลอยหุงที่ได้จากวิธีนี้จะไม่เป็นที่ยอมรับของตลาด

2. ความใสสะอาด การหุงพลอยจะช่วยให้เนื้อพลอยมีความใสสะอาดเพิ่มขึ้น โดยปกติการหุงพลอยไม่จำเป็นต้องใส่สารเคมีใดๆลงไป เนื่องจากความร้อนจะเป็นตัวทำให้ธาตุที่อยู่ในเนื้อพลอยจัดเรียงตัวใหม่อย่างเป็นระเบียบ พลอยที่ได้จึงใสสะอาดขึ้น

ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความสำเร็จของการหุงพลอยที่สำคัญได้แก่
- สภาวะบรรยากาศการเผา
- อุณหภูมิสูงสุดในการเผา
- ระยะเวลาที่ใช้อุณหภูมิสูงสุด
- อัตราการให้ความร้อนในแต่ละช่วงอุณหภูมิ
- อัตราการเย็นตัวในแต่ละช่วงอุณหภูมิและการคงระดับความร้อน ณ อุณหภูมิใดๆ
- ธรรมชาติของวัตถุหรือสารเคมีที่สัมผัสกับเม็ดพลอย
- ความดันบรรยากาศ

พลอยดิบที่นำมาเผาหรือหุงแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ

1. พลอยหม่า เป็นพลอยที่มีลักษณะขาวขุ่นคล้ายสีน้ำนมหรือน้ำข้าว บางเม็ดยังอาจปรากฎ แถบเส้นไหมปนอยู่ด้วย พลอยชนิดนี้สามารถเผาให้เป็นสีน้ำเงินเข้มหรือสีเหลืองได้ขึ้นกับชนิดของธาตุในเนื้อพลอยและกรรมวิธีในการเผา

2. พลอยเชื้อ เป็นพลอยที่แสดงสีให้เห็นแต่ไม่ทั่วทั้งเม็ดพลอยโดยทั่วไปจะพบ 2 ลักษณะคือ ชนิดที่มีสีตามขอบเม็ดและชนิดที่มีสีอยู่ภายในเนื้อพลอย การเผาพลอยชนิดนี้อาจได้พลอยทีมีสีเข้มขึ้น คงเดิม หรืออาจทำให้สีจางหายไปเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับชนิดของพลอย

ในการเลือกพลอยที่จะนำมาหุงนั้น ผู้เลือกที่มีประสบการณ์เท่านั้นจึงจะทราบว่าพลอยหม่าหรือพลอยเชื้อชนิดใดที่เผาแล้วจะได้สีตามต้องการ

ข้อมูลจาก : หนังสือทิศทางการส่งออกและลงทุน เล่ม 3 , 2543, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย



รูปวาด "กาเทียบหงส์"

พลอยหุง/กา และ ทับทิม/หงส์ ในเสภาขุนช้างขุนแผน ถือเป็นโวหารประเภท นามนัย (metonymy) นามนัย เป็นโวหารภาพพจน์ที่เรียกชื่อสิ่งหนึ่งโดยใช้คำอื่นแทน ไม่เรียกตรงๆ ส่วนใหญ่จะเป็นคำที่รู้จักกันทั่วไป และเมื่อกล่าวถึงแล้วผู้คนก็จะเข้าใจได้โดยง่าย

ขุนแผนรังเกียจความไม่บริสุทธิ์ของนางพิม (นางพิม หรือ นางพิมพ์พิลาลัย ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น นางวันทอง) เพราะมีขุนช้างมาร่วมครองรัก ขุนแผนจึงบริภาษนางพิม โดยใช้โวหารภาพพจน์ดังนี้

เดิมทีหลงคิดว่านางพิมเป็นหญิงที่ยึดมั่นในรักมีค่าเท่ากับทับทิมน้ำงามบริสุทธิ์และหายาก แต่แล้วขุนแผนก็ต้องผิดหวัง เพราะนางพิมพ์ยอมเป็นเมียขุนช้าง อนึ่งขุนช้างมีน่าตาอัปลักษณ์ แต่ทว่ารวยทรัพยศฤงคาร การที่นางพิมแต่งงานกับขุนช้างย่อมที่จะหวังในทรัพยศฤงคารของขุนช้างด้วยประการหนึ่ง เมื่อการณ์เป็นเช่นนี้ ในสายตาขุนแผน นางพิมจึงมิใช่ทับทิมน้ำงามอีกต่อไป คุณค่าของนางพิมถูกลดชั้นลงเหลือเพียงแค่ พลอยหุง ดังที่กลอนเสภาขุนช้างขุนแผน กล่าวไว้ความว่า

เมื่อแรกเชื่อ...ว่าเป็นเนื้อ...ทับทิมแท้
มาแปร..เป็นพลอยหุง..ไปเสียได้

วรรณคดี สี่แผ่นดิน ของ ศาสตราจารย์ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช วรรคที่ว่า

"คนเราเมื่อรักมากย่อมเสียดายมาก ถ้าไม่อยากเสียดายมากก็อย่าไปรักอะไรให้มันมากนัก ถ้าจะรักต้องให้รู้ว่า เป็นกรวด(พลอยหุง) รึว่าเพชร(ทับทิม) ถ้ารู้ค่าของมันเสียแล้วว่าเป็นกรวด(พลอยหุง/กา) รึว่าเพชร(ทับทิม/หงส์) เมื่อมันไปหาย ก็ไม่เสียดาย มากนัก"

เพชรกับกรวด นั้น คุณค่าต่างกันมาก เป็นเวลาที่เราเลือกเก็บ กรวดมาไว้กับตัว ครั้นเผลอทำหายไปก็คงไม่เสียดายเท่าใดนัก ทว่าแตกต่างจากการเลือกทับทิมหรือพลอยหุง หากเราตาไม่ถึงพอเลือกซื้อพลอยหุงในราคาทับทิม เมื่อใดก็ตามที่เรารู้ความจริงในข้อนี้แน่นอนว่าเราต้องเสียใจเป็นครั้งที่หนึ่ง และถึงแม้ว่าพลอยหุง ที่เราเลือกมาไว้คู่กับตนจะกระเด็นหายไป เราก็ย่อมจะทำใจให้รู้สึกว่าพลอยหุง เป็นกรวดได้ยาก เพราะเสียอย่างไรพลอยหุงก็มีค่ามากกว่าเม็ดกรวดเป็นแน่แท้ หากประจักษ์ในข้อเท็จจริงในข้อนี้ก็เท่ากับเป็นการเสียใจคำรบที่สอง



เมื่ออ่านเสภาขุนช้างขุนแผนท่อนที่ว่า

เมื่อแรกเชื่อ...ว่าเป็นเนื้อ...ทับทิมแท้
มาแปร..เป็นพลอยหุง..ไปเสียได้

ก็ทำให้เข้าใจความรู้สึกของขุนแผนว่า กำลังประสบกับปกิณณกทุกข์ ข้อที่ว่าด้วย ปิเยหิ วิปปโยคะ ความโศกเศร้าโศกาเมื่อพลัดพรากจากของรัก นั่นเอง เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
 


 
หมายเลขบันทึก: 166234เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2008 20:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 08:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • สุดท้ายทุกข์ทั้งหลาย....ก็เกิดจากอุปทาน....นั่นแล....

 

สวยดี อะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท