ดังที่ได้เล่าไว้ในตอนก่อนๆว่า แนวทางการจัดการความรู้ของคณะแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ นั้น คงจะไม่ได้เริ่มดำเนินการโดยจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างธารปัญญาโดยทันที เพราะเรายังขาดวัฒนธรรมการเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม หากจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขึ้นมา จะไม่มีคนแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างจริงจังหรือจริงใจ ผู้เข้าร่วมอาจพบว่าไม่ได้อะไร และจะทำให้หมดกำลังใจในการดำเนินงานต่อไป ทีมริเริ่ม KM ของคณะแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ จึงคิดว่า กลยุทธแรกของการเริ่มต้นจัดการความรู้ของเรา จึงควรเริ่มที่การเติมเต็มความรู้เสียก่อน โดยมีเหตุผลหลายข้อคือ
1. กิจกรรมเติมเต็มความรู้ เป็นกิจกรรมที่จัดง่าย ส่วนใหญ่เป็นการฝึกอบรม หรือทำ workshop ถ้าจัดหัวข้อดีๆ ทำให้น่าสนใจ จะทำให้มีคนอยากเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้น ถึงแม้หลายคนอาจจะบอกว่าการจัดฝึกอบรมไม่ใช่การจัดการความรู้ที่แท้จริง แต่เราคิดว่า เป็นการเริ่มต้นสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ร่วมกันเสียก่อน เพื่อเป็นพื้นฐานของการสร้างกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อไป
2. เราจะใช้กิจกรรมเติมเต็มความรู้ เป็นกิจกรรมเพื่อเพาะสร้างทีม KM ของเรา โดยในขณะนี้เรามีทีม KM เกิดขึ้นมาแล้ว 5 ทีม เราจะแบ่งกิจกรรมทั้งหมด ที่จะเกิดขึ้นในช่วง 6 เดือนต่อไป 25 ครั้ง แบ่งให้ทุกทีมไปเป็นเจ้าภาพ โดยจะจัดสรรงบประมาณให้ทุกทีม ไปหาทางจัดกิจกรรมเอาเอง โดยจะจัดประกวดแข่งขันกัน เพื่อให้ทีม KM พัฒนาแนวทางการทำงานร่วมกันเป็นทีมเกี่ยวกับการจัดการความรู้ให้ได้ภายใน 6 เดือน
3. กิจกรรมเติมเต็มความรู้ จะช่วยให้บุคลากรพัฒนา core competency ส่วนที่เขาคิดว่ายังขาดอยู่ได้ เพื่อเพิ่มความมั่นใจในความรู้ของตนเอง เมื่อบุคลากรมั่นใจในความรู้ของตนเองส่วนหนึ่งแล้ว เราจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อไป ก็คงจะคึกคักมากขึ้น
ทีม KM ทั้ง 5 ทีม ได้ประชุมร่วมกัน กำหนดวันศุกร์บ่าย 13-16 น. ทุกสัปดาห์ เป็นวันทำกิจกรรมร่วมกัน เริ่มตั้งแต่ 17 มี.ค. - ก.ย. 2549 โดยทีม KM ทีมแต่ละทีมจะเวียนสลับกันเป็นเจ้าภาพ กำหนดหัวข้อกิจกรรม โดยยึดแนวทางการพัฒนา core competency เป็นหลัก มีหัวข้อที่น่าสนใจหลายข้อ เช่น ฝึกใช้ Mind map ในการวางแผนการทำงาน, การพัฒนาทีมงาน, การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์, การฝึกสมาธิ, การฝึกโยคะ, กิจกรรม sport days, การดูงานนอกสถานที่ ฯลฯ ประมาณการงบประมาณ ที่ต้องใช้ 16x,xxx บาท
กำหนดให้บุคลากรของคณะในสายสนับสนุนวิชาการ ควรเข้าร่วมกิจกรรม อย่างน้อยคนละ 10 ครั้ง โดยจะแจกสมุดบันทึกความรู้ให้แต่ละคนใช้เป็นสมุดประจำตัว เมื่อเข้าร่วมกิจกรรมแล้ว ให้ช่วยประเมินกิจกรรมแต่ละครั้ง นอกจากนั้น ทีมผู้บริหารคณะจะเข้าร่วมกิจกรรมด้วย และเป็นคณะกรรมการให้คะแนนประเมินกิจกรรม คะแนนทั้งหมดจะถูกรวบรวม เป็นคะแนนของ KM ทีมแต่ละทีม และนำมาจัดอันดับทีม KM อันดับที่ 1-5 ต่อไปในเดือนกันยายน
หากเทียบกิจกรรม KM ในคณะแพทยศาสตร์ มธ. กับขั้นตอน PDCA ขณะนี้ เรากำลังจะผ่านขั้นตอน Plan เข้าสู่ขั้นตอน Do ผลจะเป็นอย่างไร คงจะมาเล่าสู่กันฟังต่อไปครับ
น่าสนใจครับ เท่ากับทางคณะฯ ใช้วิธีขับเคลื่อนที่วงจรความรู้วงซ้าย (Explicit K) ก่อน ผมคิดว่า วิธีนี้อาจได้ผลดีกว่าวิธี "เข้ามวย" ที่วงขวา (Tacit K) ก็ได้ สำหรับบางองค์กร ลางเนื้อชอบลางยาครับ ผมขอเอาใจช่วยและจะรอฟังผลครับ
วิจารณ์ พานิช