เสวนาระบบการตรวจสอบและประเมินผล (๑)


ต้องมองกระบวนการตรวจสอบคู่เคียงกับการบริหาร

วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๕.๐๐ น.ที่ มวล. มีจัดการประชุมที่เรียกว่า “เสวนา” เรื่อง "ระบบการตรวจสอบและประเมินผลที่สร้างสรรค์" ที่ห้องประชุมชั้น ๒ อาคารวิทยาศาสตร์การกีฬา โดยมีผู้บริหารทุกระดับและตัวแทนหน่วยงานเข้าประชุมจำนวนประมาณ ๙๐ คน วัตถุประสงค์เพื่อให้รู้ถึงนโยบาย วัตถุประสงค์ ขอบเขต รูปแบบ บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในการตรวจสอบและประเมินผล ตลอดจนเพื่อให้เกิดความร่วมมือ

รศ.ดร.ไทย ทิพย์สุวรรณกุล อธิการบดี กล่าวเปิดและบรรยายนำเรื่อง “การตรวจสอบและประเมินผลกับการบริหารมหาวิทยาลัย” ได้อย่างชัดเจนเพราะท่านมีประสบการณ์ในเรื่องนี้มานานประมาณ ๑๕ ปี พร้อมทั้งได้ชี้ประเด็นที่ควรทำความเข้าใจ อาทิ ที่พูดๆ กันว่ามหาวิทยาลัยนอกระบบนั้น จริงๆ ไม่มี มหาวิทยาลัยอยู่ในระบบทั้งนั้นแล้วแต่ว่าจะเป็นระบบไหน

มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ต้องบริหารและใช้ทรัพยากรที่มีจำกัด ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงความเหมาะสมและความถูกต้องตามระเบียบที่ใช้บังคับอยู่ คำว่า “ระเบียบ” นั้นไม่ใช่ระเบียบอย่างเดียว ยังหมายถึงข้อบังคับและอื่นๆ มี ๒ ส่วนคือของรัฐและที่สภามหาวิทยาลัยกำหนด สิ่งเหล่านี้ใหญ่กว่า “แนวปฏิบัติ”

การตรวจสอบเป็นเครื่องมือสนับสนุนการบริหารดำเนินงาน ไม่ใช่การจับผิด บทบาทหน้าที่ของการตรวจสอบคือ (๑) ให้ข้อมูลสนับสนุนการทำงานของมหาวิทยาลัย (๒) ช่วยให้การบริหารงานมีความถูกต้อง เหมาะสม มีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุด (๓) ช่วยให้ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนา

หลักคิดของการตรวจสอบและประเมินผลคือ PMA- Performance, Management, Auditing โดย Positive, Mental, Auditing เป็นลักษณะของ “เพื่อนคู่คิด”

การดำเนินงานขององค์กรการตรวจสอบ
๑. สอบทานข้อมูลการเงินและการดำเนินงาน
๒. สนับสนุนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย
๓. สอบทานประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร
๔. สอบทานการดูแลรักษาทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย
๕. เสนอแนะแนวทางการป้องกันแก้ไขปัญหา
๖. กระตุ้นให้มีการพัฒนาการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

หน่วยงาน/องค์กรที่มีหน้าที่ ได้แก่
๑. หน่วยปฏิบัติ มีหน้าที่ตรวจสอบทุกเรื่อง
๒. หน่วยตรวจสอบภายใน สุ่มตรวจ สัมพันธ์กับการประเมินความเสี่ยง เสี่ยงมากอาจตรวจบ่อย
๓. สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจเพื่อรับรองงบการเงิน
๔. คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลของสภามหาวิทยาลัย

สิ่งที่อธิการบดีอยากเห็นคือผู้บริหารกับการสนับสนุนการตรวจสอบ ปรับทัศนคติ มองการตรวจสอบเป็น “เพื่อนคู่คิด” ให้ความร่วมมือกับกระบวนการตรวจสอบ สนับสนุนการดำเนินงานการตรวจสอบ และพัฒนาศักยภาพของผู้ตรวจสอบให้เพิ่มมากขึ้น

หัวใจสำคัญคือต้องมองกระบวนการตรวจสอบคู่เคียงกับการบริหาร

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑

หมายเลขบันทึก: 164658เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2008 18:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 16:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท