ไปคุยกับสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯที่นครสวรรค์


วันที่ 4 กพ. เราไปช่วยอาจารย์จากม.เชียงใหม่คุยกับสมาชิกกองทุนฟื้นฟูที่นครสวรรค์   เกษตรกรที่นี้ปลูกพืชหลากหลายทั้งกล้วยไข่  พุทรา ส้ม มะนาว ฝรั่ง ละมุด  พริก มะเขือ และข้าวโพด   เกษตรกรขยัน พยายามดิ้นรนหลายทาง แต่ก็หนีไม่พ้นปัญหาหนี้สิน  ส่วนใหญ่เพราะ "น้ำท่วม" 2  ปีติดต่อกัน ทำให้สวนล่ม   กลุ่มแม่บ้านเคยรวมกลุ่มทำโน่นทำนี่แต่ก็ขายไม่ออกเป็นปัญหา "คลาสสิก"  บางคนลงทุนฟาร์มไก่ แต่ก็เป็นหนี้ในที่สุดเพราะ "ไข้หวัดนก" เมื่อ 2 ปีก่อน  เมื่อเป็นหนี้ คืนธกส.ไม่ได้ ก็ต้องกู้นอกระบบเพื่อืน ธกส.ก่อนถูกยึดที่ยึดบ้าน ดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบร้อยละ 3-5 ต่อเดือน !!!

ทางเลือกสุดท้ายในความเห็นของเกษตรกร คือ  การเข้าร่วมโครงการกองทุนฟื้นฟูฯ  เมื่อเจ้าของหนี้ยื่นฟ้องเกษตรกร  กองทุนฯจะซื้อหนี้จากเจ้าของหนี้ (ธกส. หรือ สหกรณ์การเกษตร) แล้วลดหนี้ให้เกษตรกรครึ่งหนึ่ง  เกษตรกรผ่อนที่เหลือภายใน 3 ปี ดอกเบี้ยร้อยละ 1   เกษตรกรบอกว่า ผ่อนหนี้แล้วไม่อยากจะไม่ก่อหนี้อีก

ในภาวะการณ์ปัจจุบัน  มีเกษตรกรประมาณ 30 คนจากสมาชิกร่วม 200 คนที่ได้รับการซื้อหนี้แล้ว  เพราะเกษตรกรกลุ่มนี้ถูกสหกรณ์ฯยื่นฟ้อง  กองทุนฯจึงยื่นมือเข้ามา   แต่เกษตรกรอีกจำนวนมากที่เป็นหนี้ ธกส.  เกษตกรกลุ่มนี้อยากให้มีการโอนหนี้จาก ธกส. เสียที  อยากให้ ธกส.ตั้งเรื่องฟ้อง แต่ ธกส.ไม่ยอมยื่นฟ้อง "บอกว่าห่วงใย"  กองทุนฯจึงไม่ได้ซื้อหรือโอนหนี้  

"ตั้งแต่มีกองทุนฯ ฟื้นฟู   ธกส.ก็มาดีกับเรา ..... แต่เมื่อเราเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ แล้ว  ก็กู้ ธกส.ไม่ได้"   เกษตรกรที่ไม่เข้ากองทุนฟื้นฟูฯ ก็เพราะคิดว่ายังจำเป็นต้องกู้ยืมจาก ธกส.อยู่

"ถ้าไม่มีกองทุนฟื้นฟูฯ  ธกส.คงยึดบ้านยึดที่เราไปแล้ว  ตอนนี้ที่ไม่ยึดเพราะมีกองทุนฯขวางอยู่"    ตอนนี้เกษตรกรที่ไม่สามารถจ่ายเงินคืน ธกส.ได้ ก็ไม่จ่าย  ธกส.ก็ไม่ได้เพิ่มดอกเบี้ย

นอกจากในส่วนของงบจัดการหนี้แล้ว  ในส่วนของงบอุดหนุน  กองทุนฟื้นฟูฯก็กำหนดให้เกษตรกรรวมกลุ่มทำโครงการด้านอาชีพ   เกษตรกรกลุ่มนี้ (อยู่ในเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย) ทำโครงการปลูกพุทราและไผ่หวาน  เกษตรกรร้อยคนรวมหุ้นกันคนละ 200 บาท คาดว่าจะได้เงินอุดหนุนส่วนหนึ่งจากกองทุนฯด้วย  แต่ก็ยังไม่ได้

เมื่อถูกถามว่า เมื่อไม่ได้กู้จาก ธกส.แล้วทำอย่างไร  ชาวบ้านพอว่า "ก็ทำน้อยลง" "ไม่งั้นก็ต้องกู้นอกระบบ"  กองทุนในชุมชนเช่น กองทุนหมู่บ้าน หรือกลุ่มออมทรัพย์ ดูจะเป็นแหล่งเงินกู้ทางเลือกที่ช่วยเหลือได้บ้าง แต่ก็ไม่สำคัญนักสำหรับพื้นที่นี้ซึ่งเกษตรกรต้องการใช้เงินลงทุนมาก (โดยเฉพาะกับ "ยา")    ส่วนโครงการปลูกพุทราของกลุ่มก็ขาดทุนไปเรียบร้อยแล้ว เพราะแมลงมาก  ออกดอกเยอะ แต่ไม่ให้ผล  ใช้ยามาก สุขภาพก็แย่  "คิดว่าจะหันไปทำไผ่หวานมากขึ้น"

ตอนนี้ถ้ากองทุนฯไม่เข้ามา  เกษตรกรมีความคิดแตกเป็น 2 แนวทาง  แนวทางแรก  อยากให้ ธกส.ทำแบบกองทุนฯ คือลดหนี้ให้ครึ่งหนึ่ง  ให้ผ่อนชำระ 3 ปี ดอกเบี้ยร้อยละ 1  แนวทางที่สอง อยากให้ปรับโครงสร้างหนี้  เพราะยังอยากกู้ ธกส.อยู่   แต่แนวทางนี้ถูกเพื่อนสมาชิกส่วนใหญ่คัดค้านมากว่า ไม่ดี

จนถึงวันนี้ ชาวบ้านยังไม่มีทางออก   ดูเหมือนว่า ชาวบ้านจะไม่เห็นทางเลือกอื่นๆ 

พื้นที่นี้ก็เหมือนอยุธยา คือ ไม่มีเอ็นจีโอ หรือสถาบ้นการศึกษาใดเข้ามาทำงานกับชาวบ้าน

เราสนใจตรงต้นตอของภาวะหนี้สิน คือ  การเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อภัยธรรมชาติขัดแย้งอย่างมากกับลักษณะการลงทุนของชาวบ้านที่ลงทุนสูง

ถามชาวบ้านว่า  เมื่อก่อนอยู่กันได้อย่างไร   ชาวบ้านบอกว่า ก็ปลูกพืชอายุสั้น หนีน้ำได้

...นั่นไง...

แล้วทำไมตอนนี้ถึงปลูกพืชสวน อายุยาว ลงทุนมาก  ชาวบ้านบอกว่า  พืชอายุสั้นผลตอบแทนน้อย   พืชสวน ถ้าได้..ก็ได้เยอะ...

คิดว่าเป็นคำอธิบายที่แสดงถึงวิธีคิดของชาวบ้านได้ชัดเจนมาก  

High risk high return....ชาวบ้านพอใจกับความเสี่ยงเพราะคาดหวังผลตอบแทนสูง ชาวบ้านไม่เลือก Low risk low return  หรือ หลีกเลี่ยงความเสี่ยง    (ทฤษฏีบอกว่า เกษตรกรรายย่อยพอยังชีพจะมีเป้าหมายการผลิตที่ minimize risk  ไม่ใช่ maximise income หรือ profit..... แต่ที่นี่ไม่ใช่เกษตรกรรายย่อยพอยังชีพ !!)

เมื่อความพอใจเป็นเช่นนั้น  จะแก้อย่างไรก็ไม่หลุด  ต่อให้กองทุนฯจัดการหนี้หมดไปแล้วรอบหนึ่ง  แต่หากลักษณะการผลิตเป็นแบบเดิม ก็จะตกลงมาในบ่วงหนี้อีก  เพราะภัยธรรมชาติก็ยังเกิดขึ้นอีก  ดูการทำเลือกโครงการปลูกพุทรา นั่นเป็นไร

...  กองทุนฟื้นฟู ฯ ธกส. สหกรณ์ฯ  ...ไม่มีหน่วยงานไหนช่วยลงมาช่วยชาวบ้านคิดวิเคราะห์จริงๆจังๆกับการหาแนวทางที่ยั่งยืนกว่าการซื้อหนี้

นักวิชาการอย่างเราเองก็เหมือนไม่จริงใจ เพราะลงมาพูดคุยช่วงสั้นๆ  ได้แต่พยายามชี้แนะให้ลองทบทวนความคิดเรื่องการลงทุนสูงในสภาพพื้นที่เสี่ยงภัย  หรือพยายามเล่าเรื่องความพยายามของกลุ่มองค์กรชาวบ้านอื่นๆในหลายพื้นที่ ที่เขาคิดพึ่งตนเอง ลดรายจ่าย ลดหนี้ หรือแม้แต่กองทุนชาวบ้านซื้อหนี้จาก ธกส.เสียเอง พิสูจน์ให้หน่วยงานรัฐเห็นความพยายาม จนรัฐเองต้องหันลงมาขอมีส่วนร่วมทำงานและสนับสนุนวิธีคิดของชาวบ้าน

"เราพึ่งตนเองถึงที่สุดแล้ว  ตอนนี้ไม่เห็นทางออกนอกจากรัฐต้องเข้ามาช่วย"  ชาวบ้านบอก

เราก็เห็นว่า ชาวบ้านช่วยตัวเองอย่างถึงที่สุดแล้ว  แต่ภายใต้มุมมองแบบเดิม ข้อจำกัดแบบเดิม  ...ก็คงไม่เห็นทางเลือกมากนัก

 

 

หมายเลขบันทึก: 164361เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2008 23:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)
  • บอกแล้วว่าขาดตัวเชื่อม 
  • คนที่อยู่กับชาวบ้าน  รู้จักชาวบ้าน  รัก  หวังดี  รู้เรื่องดี   กอดคอทำงานกับชาวบ้าน
  • ถ้าไม่มีก็เหมือนเดิม  ทำอะไรไม่ได้
  • นักวิชาการไม่ใช่ไม่จริงใจ  แต่มาศึกษา  รู้แล้ว  ก็กลับ  ไม่มีเวลาทำต่อจนจบ  ต้องหาตัวเชื่อม  อิอิ
  • ตีโจทย์ถูกก็น่าจะสำเร็จ  ใครควรเป็นตัวเชื่อม  ทำยังไงต่อ  อิอิ 
  • บอกแล้วว่าขาดตัวเชื่อม 
  • คนที่อยู่กับชาวบ้าน  รู้จักชาวบ้าน  รัก  หวังดี  รู้เรื่องดี   กอดคอทำงานกับชาวบ้าน
  • ถ้าไม่มีก็เหมือนเดิม  ทำอะไรไม่ได้
  • นักวิชาการไม่ใช่ไม่จริงใจ  แต่มาศึกษา  รู้แล้ว  ก็กลับ  ไม่มีเวลาทำต่อจนจบ  ต้องหาตัวเชื่อม  อิอิ
  • ตีโจทย์ถูกก็น่าจะสำเร็จ  ใครควรเป็นตัวเชื่อม  ทำยังไงต่อ  อิอิ 

สวัสดีครับอาจารย์ครับ

อาจารย์มาเกาตรงที่คันเลยครับ...

.......เราสนใจตรงต้นตอของภาวะหนี้สิน คือ  การเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อภัยธรรมชาติขัดแย้งอย่างมากกับลักษณะการลงทุนของชาวบ้านที่ลงทุนสูง

ถามชาวบ้านว่า  เมื่อก่อนอยู่กันได้อย่างไร   ชาวบ้านบอกว่า ก็ปลูกพืชอายุสั้น หนีน้ำได้

...นั่นไง...

แล้วทำไมตอนนี้ถึงปลูกพืชสวน อายุยาว ลงทุนมาก  ชาวบ้านบอกว่า  พืชอายุสั้นผลตอบแทนน้อย   พืชสวน ถ้าได้ก็ได้เยอะ...

คิดว่าเป็นคำอธิบายถึงวิธีคิดของชาวบ้านที่ชัดเจนมาก  

High risk high return....ชาวบ้านพอใจกับความเสี่ยงเพราะคาดหวังผลตอบแทนสูง

ชาวบ้านไม่เลือก Low risk low return  หรือ หลีกเลี่ยงความเสี่ยง

เมื่อความพอใจเป็นเช่นนั้น  จะแก้อย่างไรก็ไม่หลุด  ต่อให้กองทุนฯจัดการหนี้หมดไปแล้วรอบหนึ่ง  แต่หากลักษณะการผลิตเป็นแบบเดิม ก็จะตกลงมาในบ่วงหนี้อีก  

ดูการทำเลือกโครงการปลูกพุทรา นั่นเป็นไร ...  กองทุนฯ ธกส. สหกรณ์ฯ  ...ไม่มีหน่วยงานไหนช่วยลงมาช่วยชาวบ้านคิดวิเคราะห์จริงๆจังๆกับการหาแนวทางที่ยั่งยืนกว่าการซื้อหนี้

นักวิชาการอย่างเราเองก็เหมือนไม่จริงใจ เพราะลงมาพูดคุยช่วงสั้นๆ  ได้แต่พยายามชี้แนะให้ลองทบทวนความคิดเรื่องการลงทุนสูงในสภาพพื้นที่เสี่ยงภัย  หรือพยายามเล่าเรื่องความพยายามของกลุ่มองค์กรชาวบ้านอื่นๆในหลายพื้นที่ ที่เขาคิดพึ่งตนเอง ลดรายจ่าย ลดหนี้ หรือแม้แต่กองทุนชาวบ้านซื้อหนี้จาก ธกส.เสียเอง พิสูจน์ให้หน่วยงานรัฐเห็นความพยายาม จนรัฐเองต้องหันลงมาขอมีส่วนร่วมทำงานและสนับสนุนวิธีคิดของชาวบ้าน

"เราพึ่งตนเองถึงที่สุดแล้ว  ตอนนี้ไม่เห็นทางออกนอกจากรัฐต้องเข้ามาช่วย"  ชาวบ้านบอก

เราก็เห็นว่า ชาวบ้านช่วยตัวเองอย่างถึงที่สุดแล้ว  แต่ภายใต้มุมมองแบบเดิมก็คงไม่เห็นทางเลือกมากนัก

  • ความจริงที่นครสวรรค์มี NGO ครับ ใกล้แถบนี้ก็มี เช่นที่ พิจิตรก็มี อุทัยก็มี แต่เขาไม่ได้จับงานด้านนี้ครับ
  • ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ว่ารัฐต้องเข้ามาช่วย ควรจะเข้ามานานแล้ว มัวแต่ไปช่วยภาคการส่งออกและอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ช่วยได้ครับ แต่ควรหันมาช่วยภาคชนบทให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ผมหมายถึงตัวรัฐบาลเอง หน่วยงานภาครัฐคือกรมกองต่างๆนั้น หวังไม่ได้ครับ..
  • สิ่งที่อาจารย์กล่าวมาทั้งหมดต้องพูดให้เป็นเรื่องใหญ่ ให้ดังๆ แต่ช่องทางไม่มีเลย นอกจากจะเอาข้อเท็จจริงเหล่านี้จับยัดใส่มือนักการเมืองที่อยู่ข้างประชาชนจริงๆ  แต่ก็มองไม่เห็น เห็นบ้างก็กำลังจมน้ำหายใจค็อกแค๊ก..อยู่ไม่กี่คน..
  • อย่างไรก็รอรัฐบาลไม่ได้ครับ ใครมีลู่ทางใดๆก็หาทางช่วยกัน
  • หากอาจารย์มีโอกาสในเวทีวิชาการ อาจารย์หยิบเอาไปขยายต่อด้วยนะครับ
  • ผมเองก็คิดมากขึ้นในเรื่องนี้ มันซ้ำซาก แต่ก็ต้องทำ เพราะมันหนักมากขึ้นนะครับอาจารย์...
  • ขอบคุณที่เอาข้อเท็จจริงมาสู่สาธารณะ

เรียนคุณหมอ

  • น่าเสียดายมากที่ทีมงานเปลี่ยนแผนไม่ได้ขึ้นไปพิษณุโลก ก็เลยไม่ได้ไปแวะคารวะคุณหมอ  ไว้โอกาสหน้านะคะ....
  • ตัวเชื่อม...  ตัวเชื่อม...  อืมมม...  ก็..คนธกส. คนกองทุนฯ เจ้าหน้าที่การเกษตร  ฯลฯ ... มีเจ้าหน้าที่มากมายอยู่ในพื้นที่แล้ว ...จะทำอย่างไร ดี พัฒนาคน พัฒนาบุคคลากร ??? 
  • เจ้าหน้าที่ทุกคนบอกว่า งานเยอะ..เต็มมือ.. ก็อีก ..ต่อให้ทำงานเยอะ แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ก็คิดแบบเดิม  ไม่วิเคราะห์โจทย์  ย่อมหาทางออกไม่เจอ..

สวัสดีค่ะคุณบางทราย

ปัญหาที่เขียนคงเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายหลายคนก็รู้กันอยู่   มีเพื่อนรุ่นพี่เก่งๆ ก็ทำงานกับชาวบ้าน ทำงานกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานเพื่อปรับวิธีคิดคนทำงาน  และทำงานในกองทุนฯด้วย  แต่งานเช่นนี้คงต้องใช้เวลา   บางครั้งหัวขบวนเปลี่ยนวิธีคิดแล้ว แต่กลางขบวนยังไม่เปลี่ยน  หรือกลางขบวนเปลี่ยนแต่หัวไม่เปลี่ยน ......

ในเวทีวิชาการ  นักวิชาการที่ไม่มีประสบการณ์ด้วยตนเองก็คงไม่ "ซึ้ง"  หมายถึง  นักวิจัยอาจรู้และเข้าใจปัญหาแต่มักไม่คิดจริงจังเพื่อช่วยหาทางออก   ก็วิจัยไปเรื่อยๆตามอาชีพ  เหมือนเจ้าหน้าที่บางส่วนที่ทำงานไปเรื่อยๆตามอาชีพ ...

เรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องซับซ้อนสัมพันธ์ทั้งโครงสร้าง วิธีคิด และพฤติกรรม    มีหลายเรื่องที่เราเข้าใจผิดๆ เพราะมองไม่ครบทั้งระบบ  ไม่เข้าใจกลไกการทำงานเชิงระบบ  จึงอยู่ในวังวนของปัญหา

แต่ถึงที่สุดยังเชื่อเรื่องการทำงานร่วมกันหลายสาขาแบบบูรณาการ อย่างที่อาจารย์ป๋วยวางแนวทางไว้ค่ะ

  • ถ้าคิดว่าขาดตัวเชื่อมจริง  ก็ต้องหาว่าใครควรเป็น (  ระยะสั้น  และระยะยาวที่จะยั่งยืน  อาจเป็นคนละคน  หมายถึงองค์กร )
  • ได้ตัวแล้ว ( แต่ละที่อาจแตกต่างกันที่จุดเริ่ม )  ก็ศรัทธา  มุ่งมั่น  มีความรัก  แล้วลงทำงานด้วยกัน  สร้างทีมงานขึ้นมาใหม่
  • ทั้งหมดนี้คงต้องอาศัยความกล้าที่จะคิดใหม่  ทำใหม่  กล้าลองทำ  อิอิ  ไม่กลัวผิด  เพราะทดลองทำเล็กๆ
  • ตีโจทย์ไม่ถูก  ใจร้อนทำใหญ่  ค่าโง่แพง  อิอิ
  • คุณหมอครับ ตัวเชื่อมนี้ใช้น้ำตาลได้ไหม
  • อิอิอิ
  • พี่ปัท
  • สงสารชาวบ้าน
  • ถ้ามีการทำงานแบบองค์รวมและบูรณาการคงเป็นไปได้
  • คงต้องมีเวที
  • มีตัวเชื่อม ชี้ให้เห็นการบูรณาการครับอาจารย์
  • ขอบคุณครับ

ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิมเป็นองค์ปาฐกมูลนิธิโกมล คีมทองพูดเรื่องสายพานชีวิต ที่สะท้อนเรื่องราวของเกษตรกรไทยในระบบทุนนิยมที่ไร้หลักประกัน เส้นทางสายนี้ต้องวัดดวงกัน ซึ่งส่วนใหญ่ดวงจู๋ ความน่าจะเป็นคงไม่ต่างจากการลงทุนกับหวยใต้ดินเท่าไร?

ผมเองเคยเป็นกษตรกร รู้ได้ด้วยตัวเองว่าถูกเอาเปรียบสารพัดจากกลไกในระบบที่ควบคุมได้ยาก เราทุกคนล้วนเป็นเหยื่อของระบบ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เกษตรสมัยใหม่ต้องใช้ปุ๋ยยาเป็นผลผลิตที่เรากินโดยตรง หรือตกทอดอยู่ในห่วงโซ่อาหารและสภาพแวดล้อม ไม่หายไปไหน
วิธีการลัดสั้นคือ การขึ้นภาษีปุ๋ยยาเคมี นำเข้ากองทุนฟื้นฟูฯโดยตรง (เช่นเดียวกับกองทุนสสส.) แก้พรบ.กองทุนฟื้นฟูฯกระจายอำนาจการบริหารจัดการไปอยู่ที่จังหวัด ให้ภาคส่วนที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการบริหารมีหน้าตาคล้ายคลึงกับกองทุนส่งเสริการจัดสวัสดิการสังคม(ที่จริงว่าไปแล้วกองทุนฟื้นฟูฯก็คือรูปหนึ่งของกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม)

อย่างไรก็ตามทิฐิที่ผิดพลาดในเรื่องนี้มีขุมพลังใหญ่อยู่ในสถาบันการศึกษา ในระบบคิดของวิทยาศาตร์ การปฏิวัติอุตสาหกรรมและการปฏิวัติเขียวซึ่งยังคงทำการผลิตซ้ำเป็นขุมกำลังใหญ่อยู่ในปัจจุบัน เรื่องจึงซับซ้อนและซ่อนเงื่อน จนยากที่จะเข้าไปแก้ไขที่ต้นเหตุเพราะมันเกี่ยวพันกับฐานคิดและกลไกจัดการของบรรษัทโลกที่ไร้ตัวตน นักการเมืองทำได้เพียงการเยียวยาอย่างไม่มีที่สิ้นสุดด้วยการพักชำระหนี้ หรือโอนหนี้ และแม้ในกลไกโอนหนี้ของกองทุนฟื้นฟูก็มีปัญหาการจัดการเรื่องผลประโยชน์ต่างตอบแทน ด้วยระบบการเมืองเรื่องเลือกตั้งที่แพร่เชื้อเข้าไปด้วย พวกเราที่เป็นผู้บริโภคผลิตผลทางการเกษตรได้รับการดูแลอย่างดีจากกลไกสายพานการผลิตที่โหดร้ายตามรายทาง จนกว่าจะถึงวันนั้น  วันที่ฟางเส้นสุดท้ายขาด

โฉมหน้าของโลกเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจัยสำคัญคือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(การเมืองก็มีมาตลอดในการแย่งชิงบ้านเมืองกัน แต่ผลที่เกิดขึ้นจากสงครามหรือการเมืองด้วยเทคโนโลยีที่ต่างกันนั้นต่างกันมาก)

และเพราะการเปลี่ยนแปลงมาจากเทคโนโลยี ดังนั้น ตัวที่จะยับยั้งหรือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก็มาจากตัวเทคโนโลยีนั่นเองคือสภาวะโลกร้อนหรือพิบัติภัยจากธรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลพวงจากเทคโนโลยี มนุษย์อาจเปลี่ยนแปลงมันได้ แต่ผลประโยชน์ร่วมที่สานขึ้นจากระบบทุนนิยมโลกอาจบดบังความรู้ที่เรามี

อาจารย์ขจิตคะ

ใช้น้ำตาลเป็นตัวเชื่อมก็อาจจะดีค่ะ  จะได้ทำงานแบบ"สมานฉันท์"

สว้สดีค่ะอาจารย์ภีม

อาจารย์เสนอหลายประเด็นทั้งที่เห็นด้วย ชวนให้แย้ง และชวนให้ขยายความ  ไว้ว่างๆจะเขียนบล็อกสืบเนื่องจากเรื่องนี้ค่ะ

ที่จริงอยากชวนคุยนะคะว่า ทำไมจึง "เคยฝัน" อยากเป็นเกษตรกร 

ผมมาเพิ่มเติมครับอาจารย์

  • ชาวบ้านขาดข้อมูลที่ช่วยในการตัดสินใจ ยิ่งการปลูกพืชในแนว "พืชเศรษฐกิจ" ที่มีความเสี่ยงมากมาย อาจารย์และทุกท่านทราบดีว่าแล้วทำไมเกษตรกรจึงตัดสินใจปลูกพืชที่มีความเสี่ยงมากอย่างนั้น
  • กระบวนการให้ความรู้อย่างเท่าทันต่อเงื่อนไขต่างๆ การตลาด ความรู้เกี่ยวกับพืชตัวนั้น การเคร่งครัดต่อการดูแลพืช ฯลฯ สาระเหล่านี้ไม่เพียงพอต่อเกษตรกร  แล้วยังมีรายละเอียดที่เป็นความเสี่ยงอีกมากมาย รัฐไม่มีกระบวนการที่จะเข้ามาจัดการตรงนี้ดีเพียงพอ ปล่อยให้ระบบเสรีประชาธิปไตยเบ่งบานมากเกินไป ระบบธุรกิจเกษตรก้เข้าไปพูดแต่สิ่งดีดีแก่เกษตรกร ปลูกนี่แล้วจะได้เงินเท่านั้นเท่านี้ แต่ไม่ได้พูดในแง่ปัญหาต่างๆ พูดบ้าง แต่ไม่ได้พูดในแง่ปลุกให้เขาเข้าใจและทบทวนการตัดสินใจเลือกชนิดพืชปลูกอย่างจริงจัง
  • หนี้สินจึงเกิดขึ้นเพราะความเสี่ยงต่างๆนั้น มิใยจะพูดถึงความด้อยต่อระบบการจัดการเงินของเขาเอง  เกษตรกรก็กลายเป็นเด็กน้อยที่พ่อค้าเอาน้ำตาลใส่ขนมมาล่อ เอาสีสวยๆมาล่อให้เด็กซื้อขนมนั้นไปกินกัน  เจ้าหน้าที่ของรัฐก็น่าเห็นใจว่าพื้นที่กว้างขวางนั้นทำงานได้ไม่ทัน ไม่หมด ไม่ทั่ว ไม่ถึง
  • เหล่านี้คือสาเหตุใหญ่ข้อหนึ่งที่นำเกษตรกรไปสู่การเป็นหนี้สิน แล้วรัฐก้เข้ามาแก้ที่ปลายเหตุ  จำเป็นต้องแก้ครับ  แต่ต้นเหตุนั้นก็ต้องหาทางเข้ามาทำด้วย  ทำไม่ไหวก็ต้องคิดอ่านประสานความร่วมมือกับใครที่มีศักยจะทำได้บ้าง เช่น NGO หรือองค์กรชุมชนที่เก่งๆยิ่งดี ปรับกระบวนการทำงานระบบส่งเสริมการเกษตรให้สามาระรับมือกับเรื่องเหล่านี้ได้ในอนาคต มันต้องมีทางครับ เพียงแต่ยังไม่ได้ระดมกันเท่าที่ควร
  • ไม่รู้ออกทะเลไปหรือเปล่าครับอาจารย์ครับ

เรียนคุณบางทราย

ยังไม่ออกทะเลหรอกค่ะ  แต่สังคมเรายังวนอยู่ในอ่างมากกว่า

อีกส่วนหนึ่ง คือ  ชีวิตเกษตรกรมีความเปราะบางพร้อมที่จะเข้าสู่ภาวะหนี้สินได้ทุกเมื่อ   เกษตรกรที่พิษณุโลกทั้งหมู่บ้านถูกพ่อค้ารับซื้อข้าวโกง นับเป็นก้าวแรกที่พวกเขาตกลงไปในหุบเหวของหนี้สินแล้วถอนตัวไม่ขึ้น    เกษตรกรที่นครสวรรค์ขาดทุนจากน้ำท่วมและไข้หวัดนก  เกษตรกรอีกราย อดออมสุดๆ แต่เป็นหนี้เพราะลูกถูกรถชนอาการสาหัส

ระบบสวัสดิการที่เป็นโครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม และระบบความสัมพันธ์ของครอบครัวและสังคม จึงสำคัญเช่นกันในการพยุงสภาพชีวิตที่เปราะบางเช่นนี้

เรียนคุณหมอคนชอบวิ่งและชอบหัวเราะอิอิ  (โปรดสังเกตว่าชื่อของท่านยาวขึ้นทุกที ทุกที)

ขออภัยที่ตอบเมล์ข้ามไปนะคะ 

ข้อเสนอดีๆของคุณหมอ ก็คือ ต้องสร้างทีมและต้องอยู่ในพื้นที่ที่จะทำงานอย่างต่อเนื่องด้วยใช่ไหมคะ

คนที่ถนัดงานสร้างทีม คือ อาจารย์ภีมและครูนงเมืองคอนค่ะ (ขออภัยที่พาดพิง) ทั้งสองท่านกำลังพยายามอยู่ในพื้นทีนครฯและหลายๆที่ค่ะ

ขอบคุณอาจารย์ที่ชม เรื่องประสานสร้างทีมงานต้องยกให้ครูนงเมืองคอน สำหรับผมยังไม่ถึงขั้นครับ

ประสบการณ์ของผมเห็นว่าปัจจัยที่เป็นเหตุให้เกษตรกรถลำเข้าสู่วังวนนี้มาจาก
-การปฏิวัติเขียว ทำให้เกษตรกรรมกลายเป็นอุตสาหกรรม ผลิตได้ทุกที่ทุกเวลาไม่ขึ้นกับธรรมชาติแต่ต้องลงทุนจัดระบบในโรงงานเช่น ระบบชลประทาน ปุ๋ยเคมี พันธุ์พืช เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ทำได้ทั่วโลกมากบ้างน้อยบ้าง ประเทศอุตสาหกรรมจะใช้เงินจากอุตสาหกรรมมาลงทุนและปกป้องเกษตรกรของเขา เพราะหากมองสายพานการผลิตทั้งวงจรแล้ว แยกไม่ออกว่าเป็นเกษตรกรรมหรืออุตสาหกรรม เช่น การทำนา แปลงนาก็คือโรงงานนา ต้องมีโรงงานรถไถ โรงงานปุ๋ย ยา อุตสาหกรรมน้ำมัน รถเกี่ยวตัดข้าว โรงสี การขนส่ง ร้านค้า จนออกมาเป็นเมล็ดข้าวในถุง เกษตรกรรมอยู่ตรงไหน แยกออกได้ยากขึ้น
-ปริมาณสินค้ามากน้อยในตลาดมีผลทำให้ราคาขึ้นลงแตกต่างกันถึง30กว่าเท่าตัว เช่น มังคุดราคา3บาท ตอนนี้100กว่าต่อกิโลกรัม มะนาวช่วงถูกลูกละ10สตางค์ก็ไม่มีคนซื้อ ตอนนี้ 3-4บาท เป็นต้น เมื่อก่อนมันเป็นไปตามฤดูกาล เดี๋ยวนี้จากเทคโนโลยีปฏิวัติเขียวทำให้สามารถทำได้ด้วยการลงทุนเพิ่มในระบบอุตสาหกรรมดังกล่าว แต่การลงทุนนี้ต้องใช้ทุนสูงและยังคงมีความเสี่ยงอยู่ด้วยจากธรรมชาติ เนื่องจากยังไม่อยู่ในระบบอุตสาหกรรม100% เช่นไม่มีหลังคากันน้ำท่วม และเนื่องจากเกษตรกรก็อยากถูกหวยด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้น จึงแข่งขันกันด้วยความรู้บ้างไม่รู้บ้าง  กู้ธกส.เป็นแมงเม่าบินเข้ากองไฟ(มีเกษตรกรทำสำเร็จอยู่หยิบมือหนึ่งเพื่อเป็นตัวอย่างให้แมงเม่ารุ่นต่อๆไป)เพื่อให้พ่อค้าที่จ้างบัณฑิตลูกศิษย์อาจารย์เก็บข้อมูลทราบปริมาณผลผลิตในตลาด สามารถวางแผนควบคุมปัจจัยที่เกี่ยวข้องได้มากกว่าเกษตรกร ปล่อยให้ปัญหาที่เกิดขึ้นตกอยู่กับเกษตรกรและส่งผลให้ธกส.เติบใหญ่ขึ้นรวมทั้งเป็นฐานเสียงอย่างมั่นคงให้กับนักการเมือง เป็นวังวนให้พวกเราทุกคนต้องจ่ายเงินภาษีพักชำระหนี้เกษตรกรกันเรื่อยไป

เกษตรกรที่ต้องการทำเกษตรอินทรีย์ รักษาผืนดิน แหล่งน้ำก็ต้องมอดม้วยไปด้วยกับระบบตลาดรวมที่เชื่อมโยงกันทั่วโลก เราทุกคนจึงเป็นเหยื่อของระบบที่มองไม่เห็น ทั้งเคราะห์กรรมจากทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายปนเปื้อนด้วยสารเคมีและการขูดรีดทางการเมืองจากนโยบายปลายเหตุ

ผมไม่ได้อยากเป็นเกษตรกร แต่ต้องการมีวิถีชีวิตแนบชิดกับธรรมชาติ ผมได้สัมผัสมาแล้วด้วยการใช้ชีวิตที่มองภายนอกว่าเป็นนักพัฒนาและเกษตรกรมากว่า10ปี และความฝันนั้นก็ไม่เป็นปมในชีวิตอีกต่อไปแล้ว พูดให้สั้นคือ ตายก็นอนตาหลับแล้วครับ

อาจารย์ภีมวิเคราะห์ได้ครบวงจรดีแท้....

ทำการเกษตร ด้านหนึ่งได้มีวิถีชีวิตแนบชิดกับธรรมชาติ  อีกด้านหนึ่งต้องพึ่งตลาดเพื่อแลกเป็นเงินมาเลี้ยงชีพและครอบครัว... แต่ทั้งธรรมชาติและตลาดต่างผันผวนและมีอำนาจเหนือเรา

ถ้าตัดเสียหนึ่งด้าน คือ ด้านที่ต้องพึ่งพิงตลาด ก็ต้องมีทางเลือกอื่นในการหาเลี้ยงชีพ  

แม้ความจริงจะไม่สวยงาม  แต่ได้ทำตามที่ฝันแล้ว...

มันผิดตั้งแต่ต้นแล้วครับ

คือการกู้หนี้ยืมสิน

ถ้าแนวคิดของทุกคนว่าการเป็นหนี้เป็นทางออกของทุกอย่าง

เราก็วนอยู่ในอ่าง แทนที่จะไปแก้ไขเรื่องการทำมาหากิน

การยกระดับและพัฒนาอาชีพที่ตนเองทำกลับต้องมาเสียเวลากับการแก้ปัญหาหนี้สิน

ผมไม่เคยเห็นคนที่ไม่เป็นหนี้มีปัญหา

ผมไม่เคยเห็นคนที่เป็นหนี้เพราะความจำเป็นที่ไม่คาดฝันและพยายามปลดหนี้ โดยไม่พยายามสร้างหนี้ใหม่มีปัญหา

ผมว่าเราน่ามีข้อจำกัดการช่วยเหลือนะ

บางครั้งเราก็ต้องปล่อยวาง เมื่อเห็นคนที่มีปัญหาไม่ยอมแก้ไขปัญหาตัวเอง

จริงแล้วผมไม่ชอบคำว่าการลงไปช่วยเหลือ

แต่ผมอยากใช้การไปให้คำแนะนำและให้โอกาสมากกว่า

ใครไม่ฟังหรือไม่พยายามฉกฉวยโอกาสเพื่อแก้ไขตัวเองก็ไม่จำเป็นต้องสนใจ ปล่อยให้เป็นไปตามกรรม

ให้กู้นอกระบบ

+++++ในเขตกทม ++++

พ่อค้าแม่ค้าก็ทำได้

มีแบลคลิสหรือไม่ไม่เกี่ยว เราจัดกุ้ให้ทุกรายที่ตรวจสอบได้ชัดเจน

เอกสาร

1.ทะเบียนบ้าน

2.บัตรประชาชนตัวจริง

3.เสตจเมนต์ย้อนหลัง3เดือน

4.สลิปเงินเดือน(สำหรับพนักงาน)

5.บุคคลค้ำ

6.มีที่อยู่แน่นอนตรวจสอบได้

0895166718เอก

อย่าหลงเข้าเป็นสมาชิกเป็นอันขาดนะครับ เราต้องโอนที่ดินให้กองทุน พอเราใช้หนี้ครบแล้วกองทุนไม่ยอมคืนที่ดินให้ครับ เพิ่มเติม 083-621349

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท