“กลุ่มไทรงาม” บนหนทางช่วยเอดส์


 

 

ใต้ร่มไทรใหญ่ลานวัดไทรงาม อำเภอเมืองสงขลา เคยเป็นที่รองรับผู้ป่วยเอดส์แปลกหน้า
เหตุการณ์ร้อนเจ้าอาวาสต้องดูแลเบื้องต้น งานช่วยเหลือเร่งด่วนลำดับถัดมาตกเป็นหน้าที่ของนางสมจิต ฟุ้งทศธรรมผู้มีบทบาทช่วยเหลือผู้ป่วยเอดส์คนสำคัญแห่งเทศบาลนครสงขลา เธอทำงานเรื่องนี้มาตั้งแต่คนทั่วไปยังไม่เชื่อว่าเอดส์มีจริง    จนกระทั่งกลายเป็นกลุ่มขับเคลื่อนต่อสู้เอดส์นาม “กลุ่มไทรงาม”

ถัดจากใต้ร่มไทรไม่กี่ก้าวเป็นที่ทำการอยู่ที่ศูนย์ประสานงานหลักประกัน สุขภาพประชาชนจังหวัดสงขลา และศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชนไทรงาม นอกจากภาระเอดส์ที่ทำมาต่อเนื่องยาวนาน  ยังทำหน้าที่เกี่ยวกับ หลักประกัน  สิทธิ รับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์  โดยสมจิตรมานั่งประจำที่นี่ทุกวันพุธ

เธอเป็นคนพื้นเพอำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก  

“แฟนพี่เป็นคนสงขลา ตอนนั้นเราทำงานอยู่กรุงเทพด้วยกัน ย้ายมาอยู่สงขลาเนื่องจากแฟนถูกรถชน กลายเป็นคนพิการ  ญาติทางนี้ไปรับกลับมา ตอนนั้นลูกคนโตราว 3 ขวบพี่เลยตามมาด้วย”

สมจิตมากับอาชีพติดตัวคือเย็บผ้า พอลูกโตจึงหันไปรับจ้างคัดปลาให้เรือประมง
 
ตอนย้ายมาอยู่ใหม่ๆ  รอบวัดไทรงามที่มีสภาพเป็นดินทราย กำลังจัดเขตธรณีสงฆ์ให้ชัด เริ่มทำกำแพงวัด  ชุมชนรอบวัดจึงแบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือด้าน ตะวันตกและตะวันออกวัด

“เขตออกวัดเป็นคนมีเงิน รับราชการ ทำงานบริษัท ส่วนพี่อยู่ตกวัด มีทั้งคนเหนือ อีสาน คนใต้จากนครศรีธรรมราช ปัตตานี ยะลา  อาชีพออกเรือประมงเสียเป็นส่วนใหญ่ มีห้องแบ่งให้เช่าอยู่ก็มีประมาณสัก 10 ครอบครัว ปล่อยลูกหลานเล่นในวัด เล่นน้ำสกปรก จนเป็นผื่นคันแผลพุพอง โรคผิวหนัง แล้วยังขาดสารอาหารอีก เพราะพ่อแม่ออกทะเล”

ช่วงปี พ.ศ. 2533 ได้เข้าอบรมกับเทศบาลเกี่ยวกับแม่บ้าน

“ความที่พี่เป็นคนพูดกลาง คนที่นี่ก็จะใช้ให้พี่ไปช่วยติดต่อราชการ เรื่องทะเบียนบ้าน เวลาไปเกิดลูกไปช่วยพาออกจากโรงพยาบาลบ้าง เพราะเขาไม่มีเงิน ตอนนั้นยังไม่มีบัตรอะไร บัตรรายได้น้อยก็ยังไม่มี”

ปี2534 สมจิตเริ่มเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.)  ปีที่โรคเอดส์เริ่มระบาดมาทางภาคใต้หลังจากมีคนพูดกันมาเยอะหลายปี ต่อมาได้อบรมกับมูลนิธศุภนิมิตจัดร่วมกับศูนย์กามโรคเขต 12  เจ้าหน้าที่บอกว่าจะมาให้ความรู้กับลูกเรือประมง

“พอ เห็นว่าพี่รู้จักพวกลูกเรืออยู่ เขาบอกว่าขอพี่เป็นอาสาสมัครได้ไหมประชุมเดือนละครั้งจะให้ความรู้พี่ก็เลยบอกว่าได้”

หลังผ่านการอบรมสมจิตได้ความรู้ใหม่ว่าโรคเอส์ มี 3 ระยะ เป็นแล้วตาย สภาพน่ากลัว การให้ความรู้ในระยะแรกทางราชการเน้นไปที่น่ากลัวเพราะจะทำให้คนจะได้ไม่ กล้าไปเที่ยวสำส่อนกับผู้หญิงหากิน

“ตอนนั้นหน้าวัดไทรงามมีซ่องเยอะ ของป๋าไหวอะไรนี่ ตึกเหลือง ตรงถนนไชยาอีก”

สมจิตเล่าว่าตอนได้ความรู้จากคุณหมอชาญ และคุณหมอประสิทธิ์ โรงพยาบาลสงขลากลับมาพบว่าไม่มีผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยเอดส์ให้เห็นเลย อาจมีคนผอมแห้งตายก็จะสรุปว่าวัณโรค

ความพยายามค้นหาผู้ป่วยของ อสม.ใน 6 ชุมชน มี ไทรงาม  แหลมทราย ไชยมงคล ท่าสะอ้าน บ่อนวัวเก่า ร่วมใจพัฒนา ก็ไม่พบคนในชุมชนรุมด่าสมจิตโดยตั้คำถามว่า “ เอดส์ เป็นอย่างไร รูปร่างอย่างไร ไหนเอามาให้ดูหน่อยซิ ไม่กลัวหรอกเอดส์ กลัวอด”  

สมจิตเอาสิ่งที่พบรายงานกลับที่ประชุมเขาบอกว่าอย่าท้อเพราะต่อไปสงขลาจะมี โรคเอดส์ระบาดมากที่สุดเพราะเป็นแหล่งคาราโอเกะ แรงงานประมง  แรงงานเคลื่อนย้ายและแรงงานต่างชาติ

กลางปี 2537 สมจิตพบผู้ติดเชื้อรายแรก

“เป็นคนในชุมชนไทรงาม รู้สึกจะอยู่ปัตตานี แล้วมาได้สามีที่นี่ อยู่มาหลายปีอาจก่อนพี่เสียอีก   เขารับจ้างซักผ้า สามีทำงานท่าเรือ  วันหนึ่งพี่กวาดบ้านอยู่ผู้หญิงคนนั้นเขาใส่เสื้อแขนยาวตลอดนะ ก็มาชุดนั้น บอกว่าช่วยหนูด้วย หนูเป็นเอดส์พูดแล้วก้มหน้า”

ผู้หญิงคนนั้นเสียชีวิตหลังจากมาบอกไม่นาน สมจิตพยายามช่วยเหลือขอทุนสงเคราะห์ให้ ปัญหาตอนนั้นเจ้าหน้าที่บอกว่าทุนโดยตรงส่งกลับหมดแล้วเพราะไม่มีผู้ติด เชื้อมาเอาเพราะไม่มีใครกล้าเปิดเผยตัวเอง เลยต้องหาทุนวิธีอื่น เพื่อช่วยเหลือรวมทั้งลูกของหล่อน

นั่นเป็นจุดที่คนในชุมชนเริ่มรู้ว่าเอดส์น่ารังเกียจ ต้องให้ความรู้ต่อกับชุมชนอีกว่า อยู่ร่วมกันได้ถ้าไม่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วย  ผู้คนยอมรับสมจิตขึ้นทีละนิด    พอชุมชนอื่นในเทศบาลนครสงขลาพบผู้ติดเชื้อบ้างจะเรียกหาสมจิตไปช่วยให้ความ รู้ และช่วยเหลือผู้ป่วย โดยเฉพาะการส่งต่อโรงพยาบาล

ปี 2542 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครนทิร์  ร่วมกับสภากาชาดไทยจัดประชุมเกี่ยวกับโรคเอดส์เชิญสมจิตรข้าไปเป็นกรรมการด้วย

“โครงการเขามียาผ้าอ้อมผู้ใหญ่ให้ผู้ติดเชื้อ  ปัญหาแบบนี้อย่างชุมชนร่วมใจ เป็นชุมชนแออัดที่ลำบากมาก หรือชุมชนหัวป้อมหลังอาชีวะเนี่ย  พอมีผู้ติดเชื้อจะให้ไปนอนนอกชาน ท้องเสียไม่มีใครซักผ้าที่ถุงที่จะให้เปลี่ยน หมักหมม ”

สมจิตแนะนำและเอาถุงมือยางไปให้เขา บอกว่าอยู่ร่วมกันได้อย่างไร  รายหนึ่งแม่อายุ 30 กว่าติดเชื้อ ลูกอายุ 10 กว่าไม่กล้าเข้าใกล้ ก็ให้ความรู้ใส่ถุงมือดูแล เวลาเป็นโรคแทรกซ้อน ท้องเสีย เป็นตุ่ม สมจิตไปขอยาคาไมล์ ชุดทำแผลมาให้อีก

หลังชุมชนวัดตีนเมรุ มีผู้ป่วยสาวประเภทสอง

“อสม.ที่นั่นเขามาหาพี่บอกว่าช่วยไปดูหน่อยขังตัวอยู่แต่ในห้อง พี่ไปหาเขาก้มหน้าไม่พูดหรอก พี่ใช้เทคนิคที่อบรมมา 3 ปี เข้าไปบ่อย คุยให้กำลังใจ จนยอมรับ เปิดตัวออกมานั่งหน้าบ้านไปตัดผมให้สั้น ดูแลตัวเองเวลาไม่สบายกินยาไปหาหมอ”

รายนี้ตอนหลังเคยอาการทรุดหนักเพราะซื้อยากินเอง ใครว่ามียาดีที่ไหนก็ไปซื้อมาเต็มที่ พอใกล้ตาย ถึงนาทีกำลังหามไปวัด แม่กับน้ากวาดเมรุรอ เตรียมศาลาทำศพ ประธานชุมชนนิมนต์พระมาบังสุกุลให้

“พี่ให้เขากินยาบอกว่า ไม่อยากตายก็อย่าตายซิ เรื่องอะไรให้เขาหามไป พี่ให้ยาเขาทุกอย่าง ให้กินน้ำมากๆ ใช้ความรู้ที่มีทั้งหมดช่วย บอกว่าถ้าตายจริงก็อย่าเอาผิดกันนะ”

สมจิตพยายามบอกว่าทุกอย่างอยู่ที่กำลังใจ การรักษาต้องหาหมอ ถ้าท้องเสียก็ให้รักษาอาการท้องเสีย  หมั่นออกกำลังกาย กินอาหารที่ถูกสุขลักษณะ  ปรากฏว่าในที่สุดดีขึ้นลุกนั่งได้ ยืนได้ โชคดีไม่เป็นวัณโรค เขามีกำลังใจไม่อยากตาย ตอนนี้มีชีวิตมา 10 ปีแล้ว  ยังช่วยเป็นวิทยากรการติดเชื้อกับกลุ่มไทรงามอีกด้วย

แต่บางราย เสียชีวิตต่อหน้าสมจิตก็มี

รายหนึ่งที่เธอไปเยี่ยมที่บ้านสามีหลังรู้ว่าติดเชื้อชิงผูกคอตายไปก่อน  ผู้ป่วยไม่ยอมไปหาหมอ ไม่ยอมกินยา  และเป็นวัณโรค มีลูก 3 คนที่เกลี้ยกล่อมแม่ให้รักษาตัวเองก็ไม่ยอม ลูกจึงอยู่โยงเฝ้าแม่กันหมด ยกเว้นลูกสาวคนโตต้องไปขายไก่ทอดแทนแม่  

“เราบอกว่าสงสารลูกเถอะไปหาหมอ เขาก็ไม่ไป พี่ไปเยี่ยมตลอด  ตอนแรกเดินได้ ตอนหลังเดินไม่ได้ พอนั่งลุกไม่ได้แล้วนอน  บอกว่า ถ้าหาหมอเสียแต่แรกจะไม่มีอาการอย่างนี้ พอเขานอนติดที่ เราบอกว่าให้ไปหาหมอ ลูกบอกว่าให้ไป แต่แม่ไม่ยอมไป ตอนนั้นเขาบอกว่าจะไปแล้ว พี่คิดว่าเขาจะไปหาหมอ ปรากฏว่าเขาค่อยนิ่งลงเอง ขณะจับมือพี่”

หลังสัมผัสผู้ป่วยเอดส์มานานสมจิตเชื่อว่าผู้ป่วยหลายรายไม่ยอมรักษาตัวเอง จำนวนมากแอบเอายาทิ้ง สิ่งที่ดีคือ ให้ความรู้ ตอนไม่เจ็บหนัก  ผู้ป่วยอาจดูแลป้องกันตัวเองได้

“เราไปให้ความรู้ชุมชน คนในครอบครัว ว่าอยู่ร่วมกันได้ ไม่ติดต่อในการกินอาหารหรืออยู่  ใช้ห้องน้ำ การกินน้ำ ไอจามรด ส่วนคนอ่อนแอ ผู้สูงอายุ หรือเด็กควรอยู่ห่างอะไรอย่างนี้ แนะนำเขากินยาตามหมอสั่ง”

ผู้ติดเชื้อชายคนหนึ่ง พออาการดีขึ้นก็ออกเรือเลย ยาหมดนอกทะเลเริ่มมีอาการ เพราะไปทำงานหนัก และติดเชื้อในปอดด้วยเลยเสียชีวิต

ผู้ป่วยบางคนบอกว่าตัวเองมีกำลังใจแต่จริงๆ ไม่ได้เป็นอย่างนั้น  

“ผู้ป่วยแถวบ้านบนคนหนึ่งบอกว่าตัวเองมีกำลังใจดี  แต่พี่เห็นว่าเขาเครียดตาโรย อยู่แต่ข้างบน ญาติพี่น้องก็ไม่กล้าให้มาอยู่ข้างล่างด้วย เพื่อนมาเยี่ยมก็ไม่เข้าใกล้  ทำให้เขาไม่มีกำลังใจ คนไม่ยอมรับ ขนาดพี่น้องเองยังกลัว”

บางคนไม่ไปเผาศพ ไม่ไปรดน้ำศพ สมจิตให้ความรู้ ที่ถูกต้อง การทำกิจกรรมชุมชนจะเข้าหา อสม. หรือญาติที่เปิดเผย หรือรวมกลุ่มพ่อบ้านแม่บ้านให้ความรู้ แต่ถ้ากิจกรรมไปอยู่ใกล้บ้านผู้ติดเชื้อจะถอยไปจัดอยู่ห่างๆ บ้านเขา

กรณีเด็กเล็กติดเชื้อบางรายไม่ไปเรียนร่วมกับคนอื่น เพราะญาติเห็นว่า “ไม่นานมันก็ตาย”  ส่วนที่เก้าเส้งครูกลัวว่าจะติดเชื้อจากเด็ก  สมจิตอธิบายตามหลักการแพทย์ว่าไม่ติด บอกกับครูว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไร เอาใจใส่พิเศษตรงไม่เล่นโลดโผนไม่ให้บาดเจ็บเลือดออก ระวังไม่ให้เด็กเป็นโรคแทรกซ้อนจากอาหารเป็นพิษ

ผลตอบรับอย่างหนึ่ง จากการทำงานอย่างต่อเนื่องมาหลายปีคือ ชุมชนเริ่มยอมรับ ไม่ทิ้งผู้ป่วย เหมือนเมื่อก่อน

“วัดไทรงามเรายังเป็นที่รองรับผู้ป่วยอยู่   อย่างลูกเรือที่ไม่มีครอบครัว แต่ก่อน ใต้ต้นไทรเป็นปูน ไม่ได้ปูกระเบื้อง เขามานอนอยู่ เจ้าอาวาสดูแลเอาข้าวเอามุ้งมาให้ จัดที่นอนให้ ชาวบ้านก็ไปบอกพี่ พี่ก็เรียกรถพยาบาลมาเอาไปโรงพยาบาล อยู่ 2-3วัน เสียชีวิต ไอ้ที่ดีขึ้นก็ ไม่รู้ส่งไหน ไปประชุมได้พบอาจารย์ วัดธรรมรักษ์นิเวศ ถ้ำรับร่อ ท่าแซะ ชุมพร ก็รับไป ส่งไป ปีหนึ่ง 3-4 คน”

การส่งต่อผู้ป่วยไปชุมพร ได้รับการช่วยเหลือจากบ้านสุขสันต์เกี่ยวกับรถตู้ขนผู้ป่วย  ภายหลังโรงพยาบาลสงขลาขอฝากผู้ป่วยไปด้วยอีก

ตลาดสดของประมงใหม่ที่ พบผู้ป่วยโรคเอดส์เร่ร่อนนนอนอยู่ มีคนแจ้งหน่วยงานอื่นแล้ว ไม่มีใครเข้ามาจัดการ จึงแจ้งมาที่สมจิตร

“ความที่เลือดอาสาสมัครเยอะก็ไปทีตลาดสดประมงใหม่เจอ 3 คนนอนเป็นมุมๆ

คนหนึ่งอาการตัวดำหน้าดำท้องเสียประจำ คนหนึ่งเป็นคนออกวัดไทรงามนี่พี่น้องไม่เอา เพราะนิสัยลักของประจำเขาก็ไปออกเรือ  พอออกเรือไม่ได้เริ่มไม่สบายไปนอนอยู่  อีกคนกลางวันขอเงินตามท่าเรือ เป็นหิดเต็มตัว เกาแครกๆ ก็เลยไปส่งโรงพยาบาล ให้คุณสุชาติเอาไปส่งที่ชุมพร  พระอาจารย์ที่วัดบอกว่ากี่คนก็เอามาเถอะ รู้สึกรอดอยู่คนหนึ่งกลับมาออกเรือแล้วหายสาบสูญไป”

เหตุผลที่ลูกเรือประมงเป็นเอดส์กันเยอะสมจิตเล่าว่า เพราะเขามักไม่มีครอบครัว ออกทะเลเห็นน้ำกับฟ้า พอเข้าฝั่งเบิกเงิน ก็เที่ยว คาราโอเกะ ผู้หญิงบริการไปรับที่เรือเลยก็มี  
ตอนนี้ซ่องไม่มีแล้วเป็นคาราเกะบังหน้า  แทนที่จะให้ความรู้กับชุมชนจึงไปลงคาราโอเกะด้วย

“ศูนย์กามโรคไปเจาะเลือดให้กับหญิงสถานบริการ เขาชวนพี่ไปด้วย เพราะเขาบอกว่าจะรู้ว่าต่อไปเราช่วยได้อย่างไร  ไปเจาะเลือดกับเขา ไปให้ความรู้  ผู้หญิงเล่าบางคนก็ใส่(ถุงยางอนามัย) บ้าง ไม่ใส่บ้าง  บางคนใส่สองสามชั้นแตกก็มี บางคนบอกว่าขาประจำไม่ใช้หรอก  พี่บอกว่าขาประจำเราสงขลา เขาก็มีขาประจำปัตตานี เขาก็ไม่สวมอีก ถามหน่อยว่าเขาเอาเชื้อมาติดเราทำไง เขาบอกว่าไม่มีหรอกเขาเป็นไต๋  พี่ว่าไต๋ก็ไม่เกี่ยว”

ปี 2551 นี้ สมจิตวางแผนใช้งบที่ได้รับการอุดหนุนมาสำหรับอบรมหญิงบริการ ชุมชน ญาติและลูกเรือ ตามท่าเทียบเรือ  

ย้อนไป ปี2548-49  หลังจากพบว่าเยาวชนเริ่มติดเชื้อมากขึ้น เธอสร้างเยาวชนขึ้นเป็นเครือข่าย ทำ10ชุมชนนำร่องมาอบรมเยาวชน  ปี 2550 เอาเด็กเข้าค่าย และอบรมทักษะการดูแลตัวเอง  ดูว่าเพื่อนในโรงเรียนชุมชน จะบอกต่ออย่างไร

“ปี 2551 วิทยากร สถานที่ ให้เขาประสาน ติดต่อเอง จะเริ่มปล่อยแล้ว มีกลุ่ม หากลุ่มเยาวชน หางบประมาณมาทำ กลุ่มล่าสุดที่ทำกับเยาวชน ทำแล้วต่อเนื่อง นัดกันที่ศูนย์สาธารณสุขมูลฐาน หรือบ้านประธาน อสม.หรือประธานชุมชน  ที่ทำการชุมชนก็นัดมา เอาแรงงานต่อนื่อง  แรงงานประมงในชุมชนมาอบรม  เยาวชนด้วย  กิจกรรมก็ปรับไปตามความเหมาะสมสำหรับชุมชนที่เป็นเครือข่ายจัดปีละ 2 ครั้ง ในเขตเทศบาล”

การดูแลผู้ติดเชื้ออย่างยั่งยืน สมจิตรเห็นว่าต้องส่งเสริมอาชีพ และทุน  ทุกวันนี้มีเงินยังชีพ 500 บาทจากเทศบาล

“คนทำงานก็ไปทำงาน คนที่ตกงานเราก็สอนการทำปูนปาสเตอร์ เพื่อใช้ระบายสีขายตามชายทะเล ทำได้ไม่มีใครรังเกียจเพราะไม่ใช่อาหาร อบรมกัน 12 คน ทำไปตั้งขาย ตกลงไม่มีคนทำก็หยุดพักไป ซื้อโต๊ะ เสื่อ ไว้แล้ว ตอนหลังก็เก็บไว้ พอดีน้องคนหนึ่งเขาตกงานจากแพเลยได้มาทำ พี่ไป กทม.จะซื้อแบบกลับมาให้ แบบที่ไม่มีที่นี่ พี่ไปดูมา ราคาเท่าไรก็ซื้อมาให้”

ทุกวันนี้นอกจากสมจิตอุทิศเวลาครอบครัวมาช่วยผู้ป่วยเอดส์ซึ่งนับเป็นงานเสี่ยงอันตรายอย่างหนึ่ง เธอกลายเป็นที่พึ่งของผู้ป่วย

“บางที่เขายกกันมาหาทั้งบ้านแต่บังเอิญเราไม่อยู่บ้าน  คนข้างบ้านบอกว่าไม่ยอมบอกว่าธุระอะไร อย่างนี้เราก็รู้แล้วว่ามาเรื่องอะไร ตามกลับไปหาก็บอกว่าหลานติดเชื้อ”

บางคนมายืมเงิน ซึ่งก็รู้ว่ายืมแบบไม่ได้คืน บางคนมาบอกว่าค้างค่าเช่าบ้าน เธอพยายามประสานงานหน่วยงานที่ช่วยเหลือได้  ผู้ติดเชื้อบางราย ที่ไม่ทิ้งนิสัยเก่าได้เงิน ไปเล่นไพ่ สูบบุหรี่

“เราต้องดูแลทุกอย่างมายืมตังค์ เราให้ แต่เราพยายามช่วยให้เขามีอาชีพ มากกว่า ไม่ใช่เอาเงินไป แต่เขาไม่ทำงาน”

ความคาดหวังจากการทำงานหนักของสมจิต นอกจากลดอัตราการติดเชื้อ ชุมชนยอมรับให้ผู้ติดเชื้อ สังคมจึงน่าจะช่วยอุดหนุน ของผลิตภัณฑ์ผู้ติดเชื้อ  นอกจากตุ๊กตาปูนปาสตอร์ ยังมีดอกไม้เกล็ดปลา ที่สมจิตลงมือสอนด้วยตัวเอง.

ที่มา songkhlahealth.org

หมายเลขบันทึก: 163971เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2008 18:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 17:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท