Junk Food



ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าคนไทยในสมัยนี้ส่วนใหญ่ ไม่สนใจว่าอาหารที่ทานเข้าไปจะมีผลอย่างไรต่อสุขภาพ คิดว่าเมื่อทานเข้าไปแล้วอิ่มท้องก็พอ ดังนั้นผู้คนส่วนใหญ่จึงฝากปากท้องไว้กับอาหารสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว ขนมปังสำเร็จรูป อาหารจานด่วน ฯลฯ ซึ่งส่วนมากจะมาในรูปอาหารตะวันตก ประเภทสะดวก เร็ว อิ่ม และมีราคาแพง หาได้ทั่วไป ถูกปากคนรุ่นใหม่ ส่วนข้าวแกงแบบไทยๆ ลืมกันไปได้เลย

การมีสุขภาพกายสุขภาพใจที่ดี ส่วนหนึ่งเกิดจากการทานอาหารที่มีประโยชน์ตามหลักโภชนาการ แต่สังคมไทยในปัจจุบันนี้กลับละเลยอาหารไทย ที่ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยผัก ผลไม้และสมุนไพรที่มีประโยชน์ กลับไปนิยมชมชอบ อาหารตะวันตก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารที่มีน้ำตาล ไขมัน และแป้ง หรือที่เราเรียกกันว่า จังค์ฟู้ด (Junk Food) หรืออาหารขยะ ซึ่งก่อให้เกิดโรคภัยต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ

คำว่า Junk Food เป็นศัพท์สแลงของอาหารที่มีสารอาหารจำกัด หรือที่เรียกกันว่า อาหารขยะ อาหารไร้ประโยชน์ อาหารที่นักโภชนาการไม่เคยแนะนำ Junk Food ประกอบด้วยสารอาหารที่ให้พลังงานเป็นส่วนใหญ่ เช่น น้ำตาล ไขมัน แป้ง และมีส่วนประกอบของโปรตีน วิตามิน เกลือแร่ น้อยมาก ตัวอย่างเช่น ขนมขบเคี้ยวรสเค็ม รสหวาน ลูกอม หมากฝรั่ง ขนมหวานทุกชนิด อาหารทอด อาหารจานด่วนบางชนิด และน้ำอัดลม

เคยมีคนกล่าวว่าถ้าคนไทยไม่รู้จักแฮมเบอร์เกอร์ เฟรนช์ ฟราย พิซซ่า แต่ยังคงกินน้ำพริกปลาทู ข้าวกล้อง ส้มตำ ข้าวเหนียว แกงส้ม แกงเลียง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน เบาหวาน และอื่นๆ อีกมากมายก็ไม่น่าจะเจอในคนอายุน้อยๆ เหมือนที่พบมากในปัจจุบัน



ซึ่งก็น่าจะจริง เพราะรายงานล่าสุด อาหารขยะในประเทศไทยยังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ สังเกตจากการโฆษณาอาหารขบเคี้ยว อาหารจานด่วน อาหารทอด ฯลฯ ยังคงแข่งขันโฆษณาอย่างดุเดือด ข้อมูลข่าวสารยังคงหลั่งไหลมา ตามช่องทางต่างๆ และเข้าถึงผู้บริโภคได้รวดเร็ว จนบางครั้งไม่ทันรู้ตัว และผลเสียต่อสุขภาพก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากผลสำรวจแนวทางการปฏิบัติตนเพื่อบำบัดโรค ยามเจ็บป่วยของคนกรุง ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2549 จำนวน 400 คน ที่มีอายุระหว่าง16-77 ปี พบว่าคนกรุงส่วนใหญ่ มีความรู้ด้านการดูแลสุขภาพร่างกายทั้งด้านอาหาร การออกกำลังกาย การเลือกรับประทานอาหารเสริมและสมุนไพร ในระดับค่อนข้างมากด้วยคะแนนเฉลี่ย 7.02 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน

แต่จากผลสำรวจชี้ว่า คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 38.7 มีพฤติกรรมการบริโภคอาหารไม่มีประโยชน์เป็นประจำ ละเลยต่อการดูแลตนเองในภาวะร่างกายปกติ และจะหันมาดูแลสุขภาพตนเองเมื่อเจ็บป่วยเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่คนกรุงส่วนใหญ่ มีความรู้ด้านสุขภาพค่อนข้างมากแต่กลับไม่ให้ความสำคัญในการเลือกรับประทานอาหาร

นอกจากนี้ ยังพบว่าคนทุกวัยเลือกรับประทานอาหารที่เน้นรสชาติความอร่อยเป็นหลัก คุณค่าทางโภชนาการเป็นรอง โดยเมื่อมีอาการเจ็บป่วยจะงดรับประทานอาหารรสจัด อาหารทอด อาหารโคเลสเตอรอลสูง เนื้อสัตว์บางชนิด และรับประทานผัก ผลไม้เพิ่มขึ้น รวมทั้งรับประทานอาหารเสริม วิตามินซี วิตามินบีรวม แคลเซียม และสมุนไพรควบคู่กันไป

แต่ปัญหาน่าเป็นห่วงที่พบคือ คนกรุงร้อยละ 37.5 จะกลับไปกินอาหารตามใจชอบมากกว่าพิจารณาถึงคุณค่าทางโภชนาการหลังจากที่หายป่วยแล้ว ซึ่งเป็นการเริ่มจับเวลาในการรักษาโรคอีกครั้ง

ภัยคุกคามจากอาหารขยะในทศวรรษนี้ เริ่มคืบคลานไปทั่วโลกโดยเฉพาะการเป็นโลกไร้สายที่ทุกคนสามารถเข้าถึงสื่อได้อย่างรวดเร็วอย่างเช่นทุกวันนี้

จากการตรวจสอบการตลาดทางโทรทัศน์ในสหรัฐอเมริกา พบว่า การโฆษณาอาหารขยะ Junk Food ได้พุ่งเป้าหมายไปที่เด็กมากกว่า 20 ชิ้นต่อวัน โดยสองในสามเป็นโฆษณาลูกกวาด และอาหารประเภทโภชนาการต่ำหรืออาหารขยะ ซึ่งทำให้เด็กๆ เหล่านั้นดูโฆษณาเกี่ยวกับอาหารขยะตั้งแต่ 8,000-40,000 ชิ้นต่อปี

ในประเทศออสเตรเลีย เมื่อปี 2548 พ่อแม่และ ผู้ปกครองได้เรียกร้องให้โรงเรียนยกเลิกการตั้งตู้ขายขนมขบเคี้ยวอัตโนมัติในโรงเรียน หลังจากที่แพทย์เตือนว่า บรรดาเด็กหนุ่มออสเตรเลียนครึ่งประเทศจะประสบปัญหาโรคอ้วนภายในปี 2568

ในประเทศอังกฤษ ก็พบว่ามีการรณรงค์ให้เด็กในโรงเรียนอนุบาลเลิกกินอาหารขยะ เมื่อเด็กๆ เริ่มยอมรับ พฤติกรรมเด็กจะเปลี่ยนไป งอแงน้อยลง บางคนที่ต้องกินยาช่วย ก็ไม่ต้องใช้ยาอีก ความจำของเด็กดีขึ้น จนรัฐบาลยอมให้ งบประมาณ 10 ล้านบาท เพื่อปรับเปลี่ยนอาหารกลางวัน ให้แก่เด็กๆ ในโรงเรียน

นักวิทยาศาสตร์ไม่เพียงออกมาเตือนว่า อาหารขยะหรือจังค์ฟู้ด รวมทั้งขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ เป็นสาเหตุหนึ่งซึ่งทำให้คนเราอ้วนขึ้น แต่ล่าสุดมีการวิจัยพบว่า อาหารจำพวกเฟรนช์ฟราย คุกกี้ และมันฝรั่งอบกรอบ มีส่วนทำให้การมองเห็น ของคนเราแย่ลง เนื่องจากขนมขบเคี้ยวที่มีไขมันสูงนั้น เพิ่มความเสี่ยงทำให้กล้ามเนื้อตาเสื่อมก่อนวัย เป็นสาเหตุให้คนอเมริกันอายุ 55 ปีขึ้นไปตาบอด หรือสูญเสียการมองเห็น

นอกจากนี้ ในรายงานล่าสุด ทีมนักวิจัยอังกฤษก็ออกมาเตือนอีกเช่นกันว่า ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ไม่ควรทานอาหาร ไขมันสูง รสหวาน หรือเค็มจัด รวมทั้งอาหารขยะ เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ ทางที่ดีหญิงตั้งครรภ์ควรทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ เพราะจากการศึกษาวิจัยที่แล้วๆ มา นักวิทยาศาสตร์เรียนรู้ว่า ในคนเรานั้น การรับประทานอาหารถูกสุขลักษณะตั้งแต่ช่วงเริ่มแรกของชีวิตจะช่วยสุขภาพของเราในอนาคต และลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน และโรคหัวใจได้

รู้อย่างนี้แล้วคนที่ดำเนินชีวิตตามหลักชีวจิตคงต้องหันมาใส่ใจการบริโภคให้มากขึ้น โดยเฉพาะอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลที่ควรเลือกทานให้เหมาะสม

คอลัมน์ วิถีชีวจิต - โดย เจสดาร์

คำสำคัญ (Tags): #ป.บริหารรุ่น6
หมายเลขบันทึก: 163177เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2008 21:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 15:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • บางทีก็อยากกินจังเลยอ่ะครับ
  • อาหารพวกนี้อ่ะ
  • อิอิ

สวัสดีค่ะ พี่ๆน้องๆทุกคน

-

-

-

-

-

ยินดีที่ได้รู้จักคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท