อนาคตการเมืองไทย


ขณะที่เขียนบทความนี้ คุณยงยุทธ ติยะไพรัช ได้ขอลาออกจากตำแหน่งบริหารของพรรค พปช.แล้ว เพราะที่ประชุม 6 พรรค ซึ่งจะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลไม่ขัดข้องที่คุณยงยุทธจะดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา ซ้ำไม่ขัดข้องที่ตำแหน่งรองประธานทั้งหมดเป็นคนของพรรค พปช.ด้วย

ท่าทีสมยอมของพรรคร่วมรัฐบาลดังกล่าวเป็นสัญญาณด้วยว่า จะสมยอมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่พรรค พปช.เสนออย่างแน่นอน

พรรค พปช.ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากย่อมเสนอหัวหน้าพรรคคือ คุณสมัคร สุนทรเวช ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

เป็นอันว่า ประเทศไทยจะมีคุณสมัครเป็นนายกฯ และมีคุณยงยุทธเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ในยามที่ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาที่ค่อนข้างสาหัสสากรรจ์รุมเร้าอยู่หลายเรื่อง และต้องการความชอบธรรมของระบบการเมืองสูงเป็นพิเศษ เพื่อแก้หรือบรรเทาปัญหาเหล่านั้น

คุณสมัครในปัจจุบันนั้นเป็นคนหัวเดียวกระเทียมลีบในทางการเมือง คุณสมัครเคยมีฐานคะแนนเสียงท่วมท้นในกรุงเทพฯ แต่ฐานคะแนนเสียงนั้นหายไปกว่าครึ่งเมื่อคุณสมัครรับเป็นหัวหน้าพรรค พปช. ฉะนั้น จึงไม่อาจช่วยผู้สมัคร พปช.ในเขตเลือกตั้งที่เป็นปฏิปักษ์กับ พปช.คือกรุงเทพฯ ได้สักเท่าไร

ในทางการเมือง คุณสมัครได้สะสมศัตรูไว้จำนวนมาก เช่น การเลือกจะยืนอยู่ฝ่ายคุณทักษิณ ตั้งแต่ยังไม่เกิดรัฐประหาร ใช้รายการโทรทัศน์ของตนรับเหมาเอาศัตรูของคุณทักษิณทั้งหมดมาไว้เป็นศัตรูของตัวด้วย รวมทั้งกลุ่มคนที่ศรัทธาชื่นชม พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ทั้งหมด ทั้งนี้ ยังไม่นับนักการเมืองอีกมากที่เคยร่วมงานกับคุณสมัคร หรือเป็นพันธมิตรกับคุณสมัคร ก็กลับบาดหมางกันไปด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง แล้วกลายเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน (เท่าที่จะเป็นได้ในการเมืองไทย)

นักการเมืองที่คุณสมัครชื่นชมและคงชื่นชมคุณสมัครตอบแทน เช่น คุณเนวิน ชิดชอบ, คุณเฉลิม อยู่บำรุง, คือคนที่มีฐานคะแนนเสียงและสมัครพรรคพวกในวงการเมืองของตนเอง ไม่ได้ต้องอาศัยชื่อเสียงของคุณสมัครในการแสวงหาอำนาจทางการเมืองแต่อย่างใด

แม้ภายในพรรค พปช.เอง คุณสมัครก็หาได้รับความนิยมศรัทธาจากนักการเมืองเป็นพิเศษไม่ เพราะพรรค พปช.ก็เหมือนกับพรรค ทรท. คือประกอบด้วยกลุ่มแก๊งต่างๆ ภายใต้อุปถัมภ์ของนักการเมืองที่มีฐานคะแนนเสียงกว้างขวางในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่ง เช่น อีสานใต้, ภาคเหนือตอนบน, อีสานตอนบน, ฯลฯ เป็นต้น

ความสำเร็จในการรับเลือกตั้งของพรรค พปช.ในครั้งนี้ พิสูจน์ให้เห็นว่าพลังที่มีอำนาจจริงคือ คุณทักษิณ ชินวัตร จะด้วยกำลังเงินของคุณทักษิณหรือมิใช่ ไม่มีทางทราบได้ แต่ที่แน่นอนก็คือ วางอยู่บนฐานของความนิยมที่คุณทักษิณได้รับจากประชาชนในภาคเหนือและอีสาน แม้แต่คำขวัญหาเสียงของ พปช.เอง ก็เน้นย้ำว่ารักทักษิณต้องเลือกพรรคนี้ ฉะนั้น เสียงที่สั่งได้เด็ดขาดที่สุดในพรรคจึงเป็นเสียงใครไม่ได้ นอกจากเสียงของคุณทักษิณ และแน่นอนไม่ใช่สมัคร สุนทรเวช

ความเป็นนักการเมืองหัวเดียวกระเทียมลีบของคุณสมัครคงเป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ที่คุณทักษิณเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรค นอกจากเหตุผลที่คุณทักษิณยอมรับเอง (จากคำให้สัมภาษณ์คุณจอม เพชรประดับ) ว่า ชื่อคุณสมัครช่วยป้องกันข้อครหาว่าไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ได้แน่นหนาดี แน่นอนเมื่อเปรียบเทียบกับนักการเมืองคนอื่นซึ่งอาจช่วยรวบรวม 'ทักษิณิสต์' ไว้ภายในพรรคเดียวกันได้ ไม่ว่าจะเป็น พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ, คุณบรรหาร ศิลปอาชา, คุณสุวิทย์ คุณกิตติ, คุณยงยุทธ ติยะไพรัช ฯลฯ แล้ว ล้วนขาดคุณสมบัติสำคัญคือ ความหัวเดียวกระเทียมลีบเหมือนคุณสมัคร

ดังนั้น เราจะมีนายกรัฐมนตรีที่มีศัตรูเต็มเมือง ขึ้นมาเป็นนายกฯ ได้เพราะบารมีของคนอื่นซึ่งมีมิตรเต็มเมือง (แต่ก็มีศัตรูไม่น้อยเหมือนกัน) แม้แต่คนที่ดูเหมือนอยู่ฝ่ายเดียวกับนายกฯ แท้จริงแล้วก็ไม่ได้ศรัทธาหรือต้องพึ่งพิงนายกฯ ในทางการเมืองแต่อย่างใด เพียงแต่รวมตัวกันภายใต้กลไกทางเทคนิคการเมือง (หรือที่เรียกว่ากลยุทธ์) เพื่อช่วงชิงอำนาจจากการเลือกตั้งเท่านั้น

แม้ว่ารัฐธรรมนูญถูกออกแบบมาให้ฝ่ายบริหารไม่สามารถอำนวยการนำได้มาแต่ต้น แต่ไม่มีครั้งใดที่รัฐบาลไทยจะไร้การนำได้อย่างสิ้นเชิงเหมือนครั้งนี้ กลุ่มแก๊งในพรรค พปช.และพรรคร่วมรัฐบาลต่างๆ จะเข้าไปกินโควต้ากระทรวงต่างๆ แล้วดำเนินกิจการของตนไปโดยขาดเอกภาพของการนำอย่างสิ้นเชิง

ถึง 'ผู้มีบารมี' นอกประเทศไทยอาจอำนวยการนำจากนอกประเทศหรือนอกรัฐบาลได้บ้าง แต่คุณทักษิณ ซึ่งเป็นคนหยาบในรายละเอียดอยู่แล้ว ขาดคู่คิดที่จะเป็นผู้บริหารนโยบายด้วยตนเอง รัฐบาลกลุ่มแก๊งภายใต้สมัคร สุนทรเวช จะบริหารนโยบายนั้นๆ ได้อย่างไร ซ้ำนายกฯ ยังขาด 'ลีลา' อย่างคุณทักษิณ ซึ่งสามารถผลักดันนโยบายต่างๆ ของตัวอันได้เรื่องบ้างไม่ได้เรื่องบ้างให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน ความชอบธรรมของระบบการเมืองซึ่งมีคุณสมัครเป็นนายกฯ และคุณยงยุทธเป็นประธานรัฐสภา จะยิ่งลดต่ำลงเพียงใดในระยะเวลาอันสั้น

ในขณะที่กลุ่มแก๊งของ 6 พรรค ยึดกุมรัฐสภาไว้ได้อย่างเด็ดขาด ภายใต้ประธานรัฐสภาซึ่งมีบุคลิกอย่างคุณยงยุทธ (ตู้เย็น) คงมีความขัดแย้งกันอย่างหนักระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน แม้ว่าความขัดแย้งดูเป็นเรื่องปกติของรัฐสภาทุกแห่ง แต่ความขัดแย้งนั้นต้องถูกจัดการอย่างที่ประชาชนมองว่า 'เป็นธรรม' และเป็นผลให้เกิดการ 'กำกับ' ฝ่ายบริหารได้ในระดับหนึ่ง ภาพเหล่านี้อาจหายไปหมดภายใต้การควบคุมการประชุมของท่านประธาน และภายใต้การตอบโต้อย่างเผ็ดร้อนของท่านรองนายกฯ เฉลิม อยู่บำรุง หรือแม้แต่ของท่านนายกฯ สมัคร สุนทรเวช เอง

การตอบโต้ของฝ่ายค้านเหลืออยู่ทางเดียวคือ 'วอล์ก เอ๊าท์' หากเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ การโหวตทุกครั้งในสภาเป็นการโหวตของกลุ่มแก๊งร่วมรัฐบาล หลังจากได้ต่อรองผลประโยชน์กันในหมู่หัวหน้าแก๊งมาเรียบร้อยแล้ว ยังจะเหลือความชอบธรรมของระบบการเมืองอะไรไว้ให้ประชาชนศรัทธาอีกหรือ

เมื่อพูดถึงความชอบธรรมของระบบการเมือง ควรเข้าใจด้วยว่า ด้านหนึ่งของความชอบธรรมนั้นมาจากกฎหมาย เช่น การได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชน การได้คะแนนเสียงข้างมากในสภา การได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งตามกฎหมาย ฯลฯ แต่กฎหมายด้านเดียวยังไม่พอ ยังมีอีกด้านหนึ่งซึ่งมีความสำคัญกว่าเสียอีก นั่นคือ วัฒนธรรม หรือในค่านิยม, การยอมรับนับถือ, ในกระแสความคิดเห็นว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิดในทางการเมือง, ในความคาดหวัง ฯลฯ อันเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยตลอดเวลา ไม่ได้หยุดนิ่งคงที่เหมือนกฎหมาย

และเพราะฐานทางวัฒนธรรมของความชอบธรรมของระบบการเมืองเฝ้าเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดหย่อน จึงไม่เกี่ยวกับคะแนนเสียงเลือกตั้ง แม้แต่ที่เคยลงคะแนนเสียงเลือกมาอย่างคึกคักสักปานใด ก็อาจกลับมองว่าระบบการเมืองขาดความชอบธรรมเสียแล้ว เพราะผิดคน, ผิดตัว, ผิดสี, ผิดความคาดหวัง ฯลฯ ได้

ด้วยเหตุดังนั้น ประเทศไทยในอนาคตอันใกล้ข้างหน้า จะไม่มีอะไรต่างจากประเทศไทยภายใต้รัฐประหารมากนัก นั่นคือขาดความชอบธรรมของระบบการเมือง แม้ว่ามหาอำนาจตะวันตกจะรีบให้การต้อนรับประเทศไทยกลับสู่อ้อมแขนของประชาธิปไตยในทันทีก็ตาม

และภายใต้ระบบการเมืองที่คนภายในประเทศเองเห็นว่าไม่ชอบธรรมนั้น จะเกิดความเปลี่ยนแปลงในด้านการลงทุนของทั้งต่างประเทศและในประเทศได้อย่างไร, จะเกิดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจได้อย่างไร, จะบริหารนโยบายที่มีความขัดแย้งในสังคมสูง เช่น นโยบายพลังงาน, ประหยัดน้ำมัน, การลอยตัวราคาสินค้า, เสรีภาพของสื่อไซเบอร์, แรงงานอพยพ, พม่า, ความไม่สงบในภาคใต้, ฯลฯ ได้อย่างไร

ประเทศไทยจะทนต่อความล้มเหลวของรัฐบาลเยี่ยงรัฐบาลสุรยุทธ จุลานนท์ ไปได้นานสักเท่าไร ก่อนที่รัฐประหารครั้งใหม่จะมาถึง และวกกลับไปสู่วงจรอุบาทว์ทางการเมืองของรัฐประหารและการเลือกตั้งอย่างโงหัวไม่ขึ้นอีกเลย

อย่านึกเป็นอันขาดว่าการรัฐประหารของกองทัพเกิดจากมีหรือไม่มีคำสัญญาส่วนบุคคล หรือคำประกาศของผู้บัญชาการเหล่าทัพ กองทัพก็คือสถาบันทางการเมืองขนาดใหญ่ ซึ่งต้องตอบสนองต่อปัจจัยทั้งภายนอกภายใน เหมือนสถาบันทางการเมืองอื่นๆ เพียงแค่การเมืองภายในอย่างเดียว ก็อาจบังคับให้กองทัพต้องทำรัฐประหารแล้ว ยิ่งมีปัจจัยภายนอกเสริม ยิ่งเหมาะ

อนาคตทางการเมืองของประเทศไทยไม่สู้จะสดใสนัก พลังเดียวที่เหลืออยู่พอจะประคับประคองไปให้ได้ คือ พลังของสังคมไทยเอง ถึงเวลาที่เราต้องช่วยกันคิดว่า จะสร้างและใช้พลังนั้นอย่างไรให้การเมืองไทยดำเนินต่อไปได้อย่างพอมีอนาคตบ้าง

   
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
คำสำคัญ (Tags): #ป.บริหารรุ่น6
หมายเลขบันทึก: 163174เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2008 21:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2012 08:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับ  ผมชอบตรงนี้ครับ

  พลังของสังคมไทยเอง ถึงเวลาที่เราต้องช่วยกันคิดว่า จะสร้างและใช้พลังนั้นอย่างไรให้การเมืองไทยดำเนินต่อไปได้อย่างพอมีอนาคตบ้าง

                        ตอนนี้คงต้องรอดูไปก่อน

                                         ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท