283 วังเชียงแก้วที่หลวงพระบาง


ประเทศลาววันนี้ไม่มีกษัตริย์ในฐานะประมุข แต่มีประธานประเทศกับพรรคคอมมิวนิสต์ลาวที่มีอำนาจสูงสุด ดังนั้นสิ่งตกค้างต่างๆของพระมหากษัตริย์ ทั้งวัง อนุสาวรีย์ ข้าวของเครื่องใช้ จึงมีสถานภาพที่สูงต่ำดำขาวไปตามข้อกำหนดจากพรรคคอมมิวนิสต์เท่านั้น....

ผมกลับมาจากหลวงพระบางนานแล้วแต่เรื่องราวของหลวงพระบางหลายเรื่องยังติดอยู่ในหัว 

คราวนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวังเจ้านายของหลวงพระบางครับ ผมทราบจากเอกสารท่านอาจารย์ชาญวิทย์ว่าที่โรงแรมระดับ 5 ดาวชื่อ แกรนด์ หลวงพระบางนั้นเดิมคือวังของเจ้านายประเทศลาวปัจจุบันมีนักลงทุนไทยมาบริหารอยู่ ผมหาโอกาสแวะเข้าไปเยี่ยม พบป้ายทางเข้าเขียนไว้ว่า Xiengkeo & Hotel & Resort ยืนยันว่าโรงแรมแห่งนี้คือวังเชียงแก้ว(เอกสารบางฉบับกล่าวว่าเป็นพระราชวังสีสุวันนะหอคำ) ของ เจ้าเพ็ดชะราช รัตตะนะวงสาเจ้าพระองค์นี้เกี่ยวข้องกับเราเพราะพระองค์เคยเสด็จมาพักอยู่ในประเทศไทยนานถึง 11 ปี และเป็นบุรุษเหล็กของลาวที่รวมตัวพี่น้องชาวลาวต่อต้านลัทธิอาณานิคมฝรั่งเศส  เพื่อให้รู้จักพระองค์ท่านจึงของนำประวัติย่อมาแนะนำดังนี้   

(บน)ป้ายบอกทางเข้า Xiengkeo Hotel & Resort (ล่าง)ป้ายโรงแรมแกรนด์ หลวงพระบาง  

ประสูติเมื่อ : 1 กุมภาพันธ์ 2433  วังสีสุวันนะหอคำ ใต้วัดมหาธาตุ เมืองหลวงพระบาง

การศึกษา : เรียนประถมศึกษาที่หลวงพระบาง หรือ ที่เรียกว่าโรงเรียนฝรั่ง ลาว (Ecole Franco Laotiane) ศึกษาต่อที่วิทยาลัยชาชเสอลูบโลบา (Collége Chasseloup Laubat) ที่ไซ่ง่อน เป็นเวลา 1 ปี แล้วศึกษาต่อที่โรงเรียนอาณานิคม (Ecole Coloniale) ประเทศฝรั่งเศสที่กระทรวงอาณานิคมตั้งขึ้น เพื่อฝึกอบรมบุคลากรเป็นข้าราชการฝ่ายปกครองหัวเมืองขึ้น จากนั้นพระองค์ศึกษาต่อ ที่วิทยาลัยมงเตย์ (Lycée Montaigne) หลังจากสำเร็จการศึกษาได้กลับมาบวชเป็นภิกษุ ที่วัดหนองช้างแก้ว เมืองเชียงแสน ลาสิกขาบทแล้ว ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงคำแว่น พระราชธิดาเจ้าสักรินทร์ (คำสุก) และเจ้าหญิงคำปิ่น

   รูปเจ้าเพ็ดชะราช ตั้งแต่สมัยเด็ก ตอนเป็นอุปราช และเป็นคณะลาวกู้ชาติ 

การทำงาน : พ.ศ.2457 เริ่มทำงาน เป็นผู้แต่งหนังสือ ที่พระคลังมหาสมบัติ ของเจ้าศรีสว่างวงศ์ ปลายปี นั้น การ์นิเยร์ (M. Garnier) ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองลาว (Rèsident Supérieur du Laos) ได้มาทูลเจ้าอุปราชบุนคง ขอไปทำงานกับเขา ที่เวียงจันทน์ เจ้าเพ็ดชะราชจึงมีโอกาสเดินทางไปทุกแขวงของลาว ซึ่งทำให้รู้กลวิธีการปกครองของฝรั่งเศส และได้รับรู้ปัญหาของคนลาวทั่วประเทศ   

พ.ศ 2462 ได้รับแต่งตั้ง จากการ์นิเย ให้เป็นอธิบดีกรมการปกครอง ในโอกาสนี้ เจ้าเพ็ดชะราชได้ปรับปรุงการจัดองค์กรการปกครอง กำหนดให้ข้าราชการมีชั้นยศ ตำแหน่งบรรดาศักดิ์ และจัดให้มีระบบสวัสดิการ รวมทั้งได้ก่อตั้งโรงเรียนรัฐประศาสน์ลาว สอนวิชากฏหมายและการปกครอง      

 

เจ้ามหาชีวิต เจ้าศรีสว่างวงศ์ แห่งนครหลวงพระบาง  

พ.ศ 2484 เจ้าศรีสว่างวงศ์โปรดเกล้าฯ ตั้งเจ้าราชภาคิไนยเพ็ดชะราช ขึ้นเป็นเจ้ามหาอุปราช แห่งราชอาณาจักรหลวงพระบาง และยังได้มีพระราชโองการในวันเดียวกัน ให้ดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีหอสนามหลวง (เทียบได้กับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี) ช่วงเวลานั้นกระแสชาตินิยม ได้แพร่หลายในอินโดจีน ขบวนการกอบกู้เอกราชได้ก่อตัวขึ้น บรรดาผู้รักชาติของลาวส่วนใหญ่ ได้รวมตัวภายใต้ร่มธงของ "คณะกู้อิสรภาพ" ที่เจ้าเพ็ดชะราชได้ก่อตั้งขึ้น  

  

รูปทั่วไปของโรงแรมแกรนด์ หลวงพระบาง พยายามรักษาสถาปัตยกรรมแบบโบราณ

 เดือนตุลาคม 2488 เจ้าเพ็ดชะราชได้ประกาศตั้งรัฐบาลลาวอิสระที่เวียงจันทน์ ปลดปล่อยประเทศออกจากฝรั่งเศส เดือนมกราคมในปีเดียวกันเจ้าเพ็ดชะราชพร้อมด้วยคณะรัฐบาลลาวอิสระจำนวนหนึ่ง เดินทางไปหลวงพระบาง เพื่อเจรจาตกลงกับเจ้าศรีสว่างวงศ์ เรื่องเอกราชของลาว แต่ฝรั่งเศสยึดเวียงจันทน์คืนได้ในเดือนเมษายน พ.ศ 2489 ทำให้เจ้าเพ็ดชะราช อพยพหลบภัยไปมาอยู่ประเทศไทย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2489 และเดือนธันวาคม พ.ศ 2489 ได้รับเชิญให้เป็นประมุขของขบวนการลาวอิสระพลัดถิ่นหรือคณะกู้ชาติในกรุงเทพฯ เดือนมีนาคม พ.ศ 2500 ได้เดินทางกลับลาว 

เจ้าเพ็ดชะราช กลับไปประเทศลาวได้เพียง 2 ปีก็เสด็จสวรรคตในวันพุธที่ 14 ตุลาคม พ.ศ 2502 รวมอายุได้ 70 พรรษา ณ ที่พักวังเชียงแก้ว ในเดือนและปีเดียวกันนี้ เจ้าศรีสว่างวงศ์ก็ได้เสด็จสวรรคตเช่นเดียวกัน ชาวลาวเรียกเจ้าเพ็ดชะราชว่า บุรุษเหล็กของลาว    

ท่านอาจารย์ชาญวิทย์เขียนถึงตอนนี้ว่า.... วังเชียงแก้ววันนี้ช่างเงียบเหงา เวิ้งว้าง โดดเดี่ยว ผู้เขียนนึกถึงคำประกาศของเจ้าเพชรราชที่มีต่อประชาชนลาวเมื่อครั้งลี้ภัยอยู่กรุงเทพฯว่า..ข้าพเจ้า เจ้าเพชรราช ขอประกาศให้พี่น้องชาวลาวทั่วพระราชอาณาจักรทราบว่า ข้าพเจ้าได้อพยพจากบ้านเกิดเมืองนอน มาพึ่งบรมโพธิสมภารของราชอาณาจักรไทยเป็นเวลาเกือบ 11 ปีแล้ว มาบัดนี้คณะผู้แทนรัฐบาลและคณะผู้แทนพี่น้องลาวทั้งประเทศ ได้พร้อมกันมาเชิญข้าพเจ้ากลับคืนสู่ประเทศเพื่อร่วมไม้ร่วมมือกับพี่น้องชาวลาวทั้งปวงช่วยกันสร้างประเทศให้วัฒนาถาวรสืบไป ซึ่งเป็นความปรารถนาอันสูงสุดของข้าพเจ้าแต่ดั้งเดิม   

   

นี่คือวังเชียงแก้วของเจ้าเพ็ดชะราช อยู่ในบริเวณโรงแรมแกรนด์ หลวงพระบาง  

อาจารย์ชาญวิทย์กล่าวไว้อีกว่า .... สำหรับประเทศลาวแล้ว วังเก่าๆ แม่จะมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ก็จริงแต่บางที มันก็ไม่แปลกนักหากวันหนึ่งจะมีสถานภาพเพียงแค่อาคารหลังหนึ่งภายในโรงแรมที่บริหารโดยชาวต่างชาติ  

ประเทศลาววันนี้ไม่มีกษัตริย์ในฐานะประมุข แต่มีประธานประเทศกับพรรคคอมมิวนิสต์ลาวที่มีอำนาจสูงสุด ดังนั้นสิ่งตกค้างต่างๆของพระมหากษัตริย์ ทั้งวัง อนุสาวรีย์ ข้าวของเครื่องใช้ จึงมีสถานภาพที่สูงต่ำดำขาวไปตามข้อกำหนดจากพรรคคอมมิวนิสต์เท่านั้น....  

   

อาคารด้านขวามือ(ช้ายของรูปนี้)ของวังเชียงแก้วเป็นโรงเลี้ยงม้ากับวัวของสมัยโบราณ 

(จากคำบอกเล่าของผู้เฝ้าอาคาร)  

วังเชียงแก้ว หรือโรงแรมแกรนด์ หลวงพระบางแห่งนี้ เป็นโรงแรม 5 ดาว ตั้งอยู่ชานเมืองจึงมีผู้เข้ามาพักไม่มากนักเมื่อเทียบกับโรงแรมหรือรีสอร์ท หรือเฮือนพักต่างๆที่อยู่กลางเมืองหลวงพระบาง แต่ก็ทำการโปรโมทโดยจัดกรุปทัวร์จากต่างประเทศรวมทั้งประเทศไทยด้วย ท่านที่สนใจสามารถเปิด internet เสริชหาข้อมูลได้เลย 

การมาหลวงพระบางของผมนอกจากจะรับรู้เรื่องราวปัจจุบันของสภาพเมืองมรดกโลกและชุมชนชนบทแล้ว ผมยังได้มาสัมผัสประวัติศาสตร์เพื่อนบ้านที่เกี่ยวข้องลึกซึ้งกับไทยมาช้านาน  และส่งผลไม่มากก็น้อยต่อความสัมพันธ์ และทัศนคติของคนในปัจจุบัน  การศึกษาประวัติศาสตร์ทำให้ผมเที่ยวสถานที่ต่างๆของลาวอย่างมีความรู้สึก มีน้ำหนัก และเคารพความเป็นชนชาติของเขาที่ใกล้ชิดกับเรามากที่สุด

 --------------------------------

แหล่งข้อมูล: 1) http://www.pakxe.com/home/modules.php?name=Content&pa=showpage&pid=880                   

              2) http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/K3676160/K3676160.html     pantip                

                 3) The Mekong: From Dza Chu-Lancang-Tonle Thom to Cuu Long, บรรณาธิการโดย ชาญวิทย์                         เกษตรศิริ อัครพงษ์ ค่ำคูณ

หมายเลขบันทึก: 163173เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2008 21:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 00:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

สวัสดีครับพี่บางทราย

              ดูสิ่งก่อสร้างสมัยใหม่ ๆ แล้ว แต่ก็ดูเรียบง่ายไม่มีงานปั้น ประดิษฐ์  อะไรมากนัก 

              แสดงว่าวังพึ่งสร้างสมัยฝรั่งเศส เข้ามาหรือเปล่าครับ  น่าสนใจว่าวังเก่า ๆ ของพระมหากษัตริย์ อยู่ที่ไหนบ้างครับ  ผมไปที่เวียงจันทร์ก็ไม่เห็นว่ามีสิ่งก่อสร้างแบบเดิมในพื้นที่เดิมที่เคยเป็นราชวัง    เอ....หรือว่านโยบายพรรคบริหารจัดการไปซะเกลี้ยง

สวัสดีครับพี่บางทราย

คิดถึง เพราะว่าไม่ได้แวะเข้ามาหลายวันทีเดียว

พูดถึงโรงแรมแปรสภาพ เห็นในต่างประเทศก็เยอะนะครับ ที่นำเอาปราสาทราชวัง มาทำเป็นโรงแรม เพิ่งอ่านหนังสือเรื่องอินเดีย ก็มีแนวนี้เหมือนกัน แต่ดูๆ ไปก็ขลังดีนะครับ ;)

 Sasinanda

สวัสดีค่ะ

สปป.ลาว มีระบอบการปกครองแบบสังคมนิยม มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศจีน

ในปี 2529 ได้เปลี่ยนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเสรี ตามนโยบาย จินตนาการใหม่ เพื่อให้หลุดพ้นจากความยากจน

สินค้าไทยครองตลาดในลาวถึง 80 %มาก่อน ตอนนี้เหลือ 60%

แต่ต่อไปเราก็ต้องซื้อไฟฟ้าจากลาวมากค่ะ

ไปเที่ยวมาหลายหน แต่ก้ยังไม่แปลกตาเท่าไรนะคะ

หลายคนที่เคยถามมาว่าทำไมเวลาไปหลวงพระบางไม่ชอบไปพักโรงแรมที่เป็นวังเก่า ได้คำตอบว่าไม่ใช่เพราะแพง แต่ส่วนใหญ่มักจะกลัวเจ้าของเดิมที่เคยอยู่ กลัวจะออกมาทักทายยามวิกาลค่ะ อิ อิ ส่วนหนูว่าที่พักแบบนี้มีเสน่ห์ดี เสียที่ส่วนใหญ่แพงไปหน่อยเท่านั้น เอ...อยู่นอกเมืองไกลหรือคะ หนูว่าคุ้นๆ มากเลย เหมือนจะผ่านด้วยนะ ที่คุ้นมากคือป้ายชื่อโรงแรมค่ะ โรงแรมนี้อยู่ใกล้กับอะไรคะพี่
  • สวัสดีครับพี่บางทราย
  • ขอบคุณมากครับที่นำเรื่องราวดีๆ มาแบ่งปันเสมอ

สวัสดีครับน้อง สุมิตรชัย 

              ดูสิ่งก่อสร้างสมัยใหม่ ๆ แล้ว แต่ก็ดูเรียบง่ายไม่มีงานปั้น ประดิษฐ์  อะไรมากนัก 

              แสดงว่าวังพึ่งสร้างสมัยฝรั่งเศส เข้ามาหรือเปล่าครับ  น่าสนใจว่าวังเก่า ๆ ของพระมหากษัตริย์ อยู่ที่ไหนบ้างครับ  ผมไปที่เวียงจันทร์ก็ไม่เห็นว่ามีสิ่งก่อสร้างแบบเดิมในพื้นที่เดิมที่เคยเป็นราชวัง    เอ....หรือว่านโยบายพรรคบริหารจัดการไปซะเกลี้ยง

เรื่องลักษณะอาคารและระยะเวลาที่ก่อสร้างพี่ไม่มีความรู้เลยครับ ทราบจากเอกสารว่าในเวียงจันทร์นั้น เราไปตีเขาแล้วเผาเสียเป็นหน้ากลอง เหลือเพียงวัดพระแก้ว ?? พี่เดาว่าสาเหตุนั้นจึงทำให้ตึกรามเก่าๆ เสียหายทุบทิ้งหมด ต้องก่อสร้างใหม่ และตึกใหม่ก็เป็นสมัยใหม่หมดแล้ว ดูอยุธยาซิถูกพม่าเผาเสียหายหมดต้องย้ายเมืองกันเลย ในทำนองเดียวกัน ครับ

สวัสดีครับน้อง P  ธ.วั ช ชั ย


พูดถึงโรงแรมแปรสภาพ เห็นในต่างประเทศก็เยอะนะครับ ที่นำเอาปราสาทราชวัง มาทำเป็นโรงแรม เพิ่งอ่านหนังสือเรื่องอินเดีย ก็มีแนวนี้เหมือนกัน แต่ดูๆ ไปก็ขลังดีนะครับ ;)

พี่เองก็คิดถึงเช่นกัน .. ไม่แปลกหรอกที่จะเอาวังเก่ามาทำอะไรในเชิงประโยชน์การใช้อาคาร แต่สิ่งที่เราคิดคือ ควรรักษา พัฒนาให้อาคารนั้นๆคงสภาพเดิมๆไว้ ให้ชนรุ่นหลังเข้ามาเรียนรู้น่ะครับ ในเมืองไทยก็มีมากเหทือนกันที่เอาวังเก่ามาทำเป็นสถานที่ราชการ หรือพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น วังของเจ้าดารารัศมีในค่ายตำรวจแม่ริม พี่ไปชมมาสองครั้งแล้วสวยมากครับ ศาลากลางหลังเดิมของจังหวัดนครพนม ปัจจุบันทำเป็นสำนักงานการศึกษา อะไรสักอย่างนี่ครับ  หากไม่ใช้ประโยชน์ก็จะผุพังทะลายไป แต่การใช้ประโยชน์ต้องอนุรักษ์ด้วยนะ อีกมากมาย...

หวังว่าสบายดีนะครับ 

สวัสดีครับท่านพี่ใหญ่  Sasinanda

สปป.ลาว มีระบอบการปกครองแบบสังคมนิยม มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศจีน  ในปี 2529 ได้เปลี่ยนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเสรี ตามนโยบาย จินตนาการใหม่ เพื่อให้หลุดพ้นจากความยากจน  สินค้าไทยครองตลาดในลาวถึง 80 %มาก่อน ตอนนี้เหลือ 60%  แต่ต่อไปเราก็ต้องซื้อไฟฟ้าจากลาวมากค่ะ

ไปเที่ยวมาหลายหน แต่ก้ยังไม่แปลกตาเท่าไรนะคะ

ผมเห็นด้วยครับว่าจีนมีอิทธิพลทางการค้ามากขึ้น เพราะสินค้าเขามีราคาถูกกว่าสินค้าจากไทยมาก แต่สินค้าจากของไทยคุณภาพดีกว่า ผมได้ยินการแซวในเรื่องนี้จากคนลาวด้วยกันเองว่า รถมอเตอร์ไซด์จากไทยราคาแพงกว่าจีนเป็นสองถึงสามเท่าตัว  แต่ใครซื้อรถมอเตอร์ไซด์จีนต้องขอถุงพลาสติกจากร้านขายมาด้วย  ผมถามว่าทำไม เขาบอกว่า เอาไว้เก็บน๊อตที่มันจะหลุดออกมาครับ เป็นคำแซวที่เห็นภาพทีเดียว  แต่เนื่องจากพลเมืองเขายังยากจนอยู่นะครับ การซื้อมอเตอร์ไซด์จากไทยก็ต้องเป็นคนที่มีเงินเท่านั้น

ผมไปดูร้านโชวห่วย สินค้า 90% มาจากไทย เป็นสินค้าอุปโภค บริโภคทั้งสิ้น รวมทั้งน้ำผลไม้ในกระป๋อง เขาขนส่งมาทางรถ และเรือ ส่วนใหญ่ทางรถมากกว่า

หากถนนสายหลวงพระบาง ไชยบุรี หงสา เลย พัฒนาเสร็จโดยงบ ADB ธุรกิจคงจะสะพัดมากขึ้น

เรื่องไฟฟ้าก็ใช่เลยครับ ที่ผมเข้าไปนี้ก็เป็นโครงการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้ไทยโดยบริษัท ช.การช่าง ไปลงทุนทั้งหมด และมีโครงการสร้างเขื่อนอีก 4-6 แห่งครับล้วนผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งสิ้นครับ

สวัสดีน้องสาว P  Little Jazz \(^o^)/

หลายคนที่เคยถามมาว่าทำไมเวลาไปหลวงพระบางไม่ชอบไปพักโรงแรมที่เป็นวังเก่า ได้คำตอบว่าไม่ใช่เพราะแพง แต่ส่วนใหญ่มักจะกลัวเจ้าของเดิมที่เคยอยู่ กลัวจะออกมาทักทายยามวิกาลค่ะ อิ อิ ส่วนหนูว่าที่พักแบบนี้มีเสน่ห์ดี เสียที่ส่วนใหญ่แพงไปหน่อยเท่านั้น เอ...อยู่นอกเมืองไกลหรือคะ หนูว่าคุ้นๆ มากเลย เหมือนจะผ่านด้วยนะ ที่คุ้นมากคือป้ายชื่อโรงแรมค่ะ โรงแรมนี้อยู่ใกล้กับอะไรคะพี่
วังนี้ ระยะห่างประมาณสนามบินน่ะครับ
พี่ก็ว่ามันแพงไปสำหรับเรา  ส่วนเรื่องความขลังจนน่ากลัวนั้น เป็นเฉพาะคนน่ะครับ สำหรับพี่ไม่มีปัญหา ชอบมากกว่าไปสัมผัสบรรยากาศเก่าๆ เช่น สมัยหนึ่งที่พี่ทำงานกับโครงการไทย-ออสเตรเลีย กับสภาพัฒน์ พี่ลงกรุงเทพฯก็จะไปพักที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ และขอพักตึกติดถนนราชดำเนินซึ่งเป็นตึกเก่า ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆในห้องก็เก่า ตู้ก็เก่า เตียงก็เก่า ตู้เปิดทีเสียงดัง ออดแอด.. อิอิ ห้องก็ใหญ่โตโอฬาร หลายคนไม่เอาคืนห้องหรือย้ายไปพักซีกตึกใหม่  แต่ฝรั่งชอบนะ จองตึกเก่ากันหมดเลย อิอิ..
แต่พี่ก็ไม่พบอะไร  บางครั้งไปพักตึกใหม่ เพราะตึกเก่าเต็ม กลับเจอะของดี อิอิ อุบ ไม่บอก..

สวัสดีครับน้องสิงห์

กึ๊ดเติงหาเมืองหละปูนเน๊าะ...  พี่มีอาคนหนึ่งมีครอบครัวพักอยู่ที่ "เหมืองง่า" ไม่ได้ติดต่อกันนานแล้วย้ายไปไหนแล้วมั๊ง..

ก็  พี่สนใจเรื่องราวทางนี้เลย หยิบเอามาเผื่อแผ่กันน่ะครับ  อาจจะเป็นประโยชน์สำหรับท่านที่สนใจจะไปเที่ยวหลวงพระบางแบบ หาข้อมูลไปก่อนน่ะครับ  ขอบคุณครับน้องสิงห์

สวัสดีครับ

น่าสนใจมากครับ

ผมสะสมหนังสือเก่าของฝรั่งเศสในช่วงนั้นไว้หลายเล่ม มีข่าวและภาพของประเทศลาวในสมัยนั้นพอสมควร

ลาวกับไทยนั้นมีประวัติศาสตร์ที่ใกล้ชิดกันมาช้านาน

ต้นตระกูลของผมเองก็ทราบว่ามาจากทางแถบนี้เหมือนกันและคำว่า "วรฉัตร" ก็มาจากคำ "วอ" ซึ่งหมายถึงท้าวสุวอ กับ "ฉัตร" ซึ่งมาจากคำว่า "ท้าวขัตติยะ(สอน)" กลายมาเป็น "วรขัตติยะ" และต่อมากลายเป็น "วรฉัตร"

คงต้องหาเวลาสืบค้นประวัติศาสตร์ของตระกูลตัวเองด้วย

ขอบคุณครับสำหรับเรื่องดีๆ 

สวัสดีครับท่านโยคี P  พลเดช วรฉัตร

          สะสมเอกสารดีดีไว้มากเลยนะครับ ดีมากครับ เมื่อมีเวลาก็เอาออกมาทำเป็นภาษาไทยให้มีการศึกษากันนะครับ

          มีนักวิชาการกล่าวกันมากว่า "ไทย" คือการรวบรวมเผ่าพันธุ์ต่างๆเข้าด้วยกัน คนไทย จึงเป็นการผสมผสานสายเลือดเผ่าพันธุ์ต่างๆมากมาย ของผมเองนั้นมาทางจีนครับ แม่นี่ไทยแท้ แต่พ่อนี่ผสมจีนครับ

         เหตุผลหนึ่งที่ผมเขียนสิ่งเหล่านี้ก็คือ มีการพูดกันมากว่าสังคมเราควรเป็นสังคมแห่งกาเรเรียนรู้ แต่ได้แต่พูดกันนะครับ ไม่ค่อยมีการทำอย่างจริงจังเท่าใดนัก  การที่ผมใช้เวลาค้นคว้าเอาข้อมูลมาประกอบก็เพื่อสร้างการเรียนรู้บ้าง น่ะครับ ผมเองก็รู้เรื่องมากขึ้นด้วย เอามาเขียนในที่สาธารณะ ก็ทำให้สาธารณะเรียนรู้มากขึ้น

          ข้อมูลที่ผมเอามาเขียนนี้เกือบทุกท่านก็สามารถเข้าถึงได้โดยตัวท่านเหล่านั้นอยู่แล้ว แต่ไม่มีเวลา ไม่ใช่เรื่องที่ท่านเหล่านั้นสนใจ หรือไม่มีเหตุให้ค้นคว้า ผมมีเหตุให้ค้นคว้าก็เลยใช้เวลาสักหน่อยครับ หากผู้สนใจอ่านแล้ว หากมีโอกาสไปเที่ยวสถานที่เหล่านั้นก็จะเข้าใจมากขึ้น และมีสาระมากขึ้นมากกว่าความสวยงามหรือรูปธรรม หรือกายภาพที่เห็นเท่านั้น แต่มีเรื่องราวของสิ่งนั้นๆอยู่ด้วย  ผมคิดว่า นี่คือการเสริมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ครับ 

          ยิ่งเรื่องราวที่ท่านโยคีพลเดชมีอยู่ในมือ วันข้างหน้าเอาออกมาสู่สาธารณะ อาจมีข้อมูลใหม่ๆทางประวัติศาสตร์มาเรียนรู้กันมากเลยนะครับ

ย่าผมนะเป็นลาวอพยพมาจากหลวงพระบางเหมือนนะ อิอิ จะบอกให้ แต่ตอนนี้ญาติโกโหติกา หากัน เชื่อมกันไม่ได้ แตกเผ่าเหล่ากอไปไหนก็ไม่รู้ นี่แหละมนุษย์ บางทีก็ผูกพัน บางที่ก็เผื่อนผัน เจือนๆกันไป

ท่านครูบาครับ

ผมเชื่อครับว่าพี่น้องอีสานจำนวนมาก คือลาวอพยพสมัยนู้นนน...มาจากหลายที่หลายทาง แน่นอนหลวงพระบางคือแห่งหนึ่งหละครับ

ปัจจุบันผสมกลมกลืนกันไปหมดแล้ว เหมือนกับคนไทยที่พม่ากวาดต้อนไปก็เช่นกัน กลายเป็นพม่าไปหมดแล้วแต่ยังหลงเหลือรากเหง้าอยู่บ้าง

ผมเคยได้ยินคุณหมอเขาคุยกันว่า ในทางการแพทย์เขสนใจที่จะเอาเลือดมาตรวจกัน เพราะคนลาวนั้นมีลักษณะกลุ่มเลือดเฉพาะอยู่ โดยเพาะมีส่วนไม่น้อยที่เป็นพาหะโรคทาลาสซีเมีย หรือโรคเลือดนั่นเอง หากมาผสมกับจีน กับแขก กับไทย กับเขมร อัตราการเกิดโรคนี้ก็จะลดลงมากกว่าการแต่งงานกันเอง  ได้ยินมานานแล้วครับ

ฟังแล้วออนซอนชาติเนาะ.........อดีตมันเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งจริงๆ

ผมเพิ่งกลับจากลาว เวียงจัน ผมเข้าชุมชน ทตามถนนสายที่ 13 ใต้ ผมพบพี่น้องคนไทยที่อพยพมาใช้ชีวิตที่ลาวนี่ครับ มาจากอุบลราชธานี มาจากอุทัยธานี กรณีที่มาจากอุบลพอเข้าใจเพราะเป็นอีสาน รากเหง้าเดียวกัน แต่มาจากอุทัยธานี นั่นภาคกลางไม่น่าจะปกติ เมื่อสอบถามลึกๆพบว่า มีพ่อเป็นคนอีสานไปได้ภรรยาที่อุทัยแล้วอพยพไปหาที่ทำกินตั้งแต่นานมาแล้ว ก่อนนายพลกองแลจะก่อสงครามโน้นแนะครับ ท้องถิ่น หรือภูมิภาคนี้น่าสนใจมากครับ พี่น้องกันจริงๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท