ปรากฏการณ์การย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติจากพม่า


“แรงงานข้ามชาติ” หรือที่เรียกตามภาษาราชการว่า “แรงงานต่างด้าว” เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากการเคลื่อนย้ายแรงงานจากประเทศหนึ่งสู่อีกประเทศหนึ่ง โดยมีลักษณะที่มีปฏิสัมพันธ์กับอีกสังคมและ/หรืออีกวัฒนธรรมหนึ่งผ่านการว่าจ้างแรงงาน ซึ่งการเคลื่อนย้ายลักษณะดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในแทบทุกภูมิภาคของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่การสื่อสารคมนาคมมิได้เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางของมนุษย์ดังเช่นอดีต ผนวกรวมกับปัจจัยทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่มีความรวดเร็วและซับซ้อนมากขึ้น จนอาจกล่าวได้ว่า “แรงงานข้ามชาติ” เป็นอาการอย่างหนึ่งอันเกิดจากภาวะ “ทุนนิยมโลกาภิวัตน์”

ปรากฎการณ์การย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า

ท่ามกลางการเดินทางของโลกาภิวัตน์ ปรากฏการณ์การย้ายถิ่นข้ามพรมแดนเป็นสภาวการณ์ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาให้ความสำคัญของรัฐบาลแทบทุกประเทศ การย้ายถิ่นข้ามชาติเป็นประเด็นที่ทวีความสำคัญมากขึ้นในทุกภูมิภาคของโลกในสามช่วงทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ 20 เป็นประเด็นสำคัญในการกำหนดนโยบายของประเทศต่างๆจำนวนมาก มีการคาดทำนายว่าในศตวรรษที่ 21 นี้ จะเป็นศตวรรษของการย้ายถิ่นข้ามชาติและตัวปรากฏการณ์นี้จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมืองอย่างไม่เคยเกิดขึ้นในประชาคมโลกมาก่อน[1]
“แรงงานข้ามชาติ” หรือที่เรียกตามภาษาราชการว่า “แรงงานต่างด้าว” เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากการเคลื่อนย้ายแรงงานจากประเทศหนึ่งสู่อีกประเทศหนึ่ง โดยมีลักษณะที่มีปฏิสัมพันธ์กับอีกสังคมและ/หรืออีกวัฒนธรรมหนึ่งผ่านการว่าจ้างแรงงาน ซึ่งการเคลื่อนย้ายลักษณะดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในแทบทุกภูมิภาคของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่การสื่อสารคมนาคมมิได้เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางของมนุษย์ดังเช่นอดีต ผนวกรวมกับปัจจัยทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่มีความรวดเร็วและซับซ้อนมากขึ้น จนอาจกล่าวได้ว่า “แรงงานข้ามชาติ” เป็นอาการอย่างหนึ่งอันเกิดจากภาวะ “ทุนนิยมโลกาภิวัตน์”
          แรงงานข้ามชาติเป็นปรากฏการณ์ของวัฒนธรรมโลกาภิวัฒน์ที่มีลักษณะร่วมที่สำคัญห้าประการ ได้แก่[2]
          ประการแรก เป็นปรากฏการณ์ระดับนานาชาติ เนื่องจากเป็นการเดินทางจากประเทศหนึ่งเข้าไปทำงานในอีกประเทศหนึ่ง จากระบบเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมหนึ่งเข้าไปติดต่อสัมพันธ์ (ผ่านการจ้างงาน) กับอีกระบบหนึ่ง สะท้อนให้เห็นว่าพรมแดนของรัฐชาติที่เคยถูกปิดกั้นด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองหรือการกีดกันทางเศรษฐกิจในช่วงสงครามเย็นได้เปิดกว้างมากขึ้น
          ประการที่สอง แรงงานข้ามชาติ แท้ที่จริงก็คือการไหลเวียนของกำลังคนในวัยทำงานจากประเทศที่ระบบเศรษฐกิจที่มีภาคเกษตรกรรมเป็นหลักไปยังประเทศที่มีอุตสาหกรรมและบริการเป็นหัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจของประเทศ จากประเทศที่ยากจนกว่าไปยังประเทศที่ร่ำรวยมากกว่า
          ประการที่สาม ความยากจนและความต้องการโอกาสในชีวิต ยังคงเป็นแรงผลักที่สำคัญของการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติ แรงงาน ไม่ว่าจะเป็นกรรมกร คนทำงานบ้านหรือโสเภณีต่างก็ดิ้นรนทำงานหาเงินเพื่อส่งกลับไปช่วยเหลือครอบครัวของตน เงินตราต่างประเทศไม่เพียงแต่จะช่วยเหลือครอบครัวของแรงงานแต่ละคนแล้วยังช่วย
หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของประเทศได้อีกด้วย
          ประการที่สี่ ปมปัญหาของแรงงานข้ามชาติซับซ้อนและหลากหลายมากขึ้น เช่น เกี่ยวข้องกับการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (กรณีของฟิลิปปินส์) การแพร่ระบาดของโรคเอดส์ การขยายตัวของแก๊งใต้ดินข้ามชาติที่ทำธุรกิจผิดกฎหมาย เช่น การลักลอบขนคนเข้าเมือง การลักลอบค้าประเวณีและยาเสพติดในบางกรณี เป็นต้น
          ประการสุดท้าย แรงงานข้ามชาติ เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่าสังคมนานาชาติในโลกสมัยใหม่มีการติดต่อเชื่อมโยงกันทางเศรษฐกิจ การเมือง การติดต่อสื่อสารและสังคมวัฒนธรรมมากขึ้น แรงงานจากไทย และฟิลิปปินส์ช่วยให้ธุรกิจการก่อสร้างในไต้หวันเจริญก้าวหน้า คนทำงานบ้านและคนเลี้ยงเด็กจากฟิลิปปินส์ช่วยให้คนในวัยทำงานของฮ่องกงและสิงคโปร์มีเวลาทำงานมากขึ้น เป็นต้น ในกรณีของประเทศไทยการย้ายถิ่นข้ามพรมแดนไปมาระหว่างประชาชน 2 ประเทศที่พรมแดนติดต่อกัน เช่น ไทย-พม่า ไทย-ลาว ไทย-กัมพูชา และไทย-มาเลเซีย เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในอดีตการย้ายถิ่นเป็นไปเพื่อการกวาดต้อนประชาชนของฝ่ายที่ปราชัยจากการรบพุ่งไปเป็นประชาชนของประเทศตนเอง แต่ในปัจจุบันการย้ายถิ่นเป็นเรื่องของการเปิดเสรีทางการค้า การลงทุนของประเทศที่มีความพร้อมมากกว่า
สำหรับประเทศพม่าการย้ายถิ่นนับเป็นความเฉพาะที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากปัจจัยจากประเทศต้นทางที่เป็นปัจจัยผลักดันทางด้านเศรษฐกิจแล้ว อันได้แก่ รัฐบาลได้นำนโยบายเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมพม่ามาใช้ทำให้ประชาชนต้องอดอยากยากแค้น เกิดภาวะเงินเฟ้อ และเกิดภาวะความยากจนอัตคัดขึ้นในทุกพื้นที่ ปัจจัยทางด้านการเมืองมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับการย้ายถิ่น โดยเฉพาะในเรื่องของความไม่ปลอดภัยในการดำรงชีวิต เช่น การที่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศเบ็ดเสร็จ มีการปกครองแบบรัฐบาลเผด็จการทหาร ปฏิเสธบทบาทพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ปราบปรามขบวนการนักศึกษาระหว่างมีการชุมนุมประท้วงของประชาชน ในวันที่ 8 สิงหาคม 1988, การต่อสู้ระหว่างกองกำลังชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลทหารพม่าในช่วง 10-15 ปี ที่ผ่านมา และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ
นอกจากปัจจัยผลักดันดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ปัจจัยดึงดูดในประเทศไทยก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดการการย้ายถิ่น คือ การที่ประเทศไทยมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมากจนทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม การอพยพย้ายถิ่นจากประเทศพม่าไม่ใช่ลักษณะของการเข้าตามตรอกออกตามประตู ไม่ใช่การเดินอย่างสง่าผ่าเผยข้ามด่านที่เปิดอย่างเป็นทางการ แต่เป็นลักษณะของการ “ลอดรัฐ” เข้ามาตามช่องทางต่างๆ กล่าวคือ ชน
กลุ่มน้อยจากพม่ายังคงถูก “บีบบังคับ” ให้ลี้ภัยออกนอกประเทศอย่างไม่ขาดสาย เพราะรัฐบาลพม่ามีนโยบายในการเข้าไปจัดการและควบคุม “พื้นที่” ที่ชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่อย่างเข้มข้น อาทิเช่น โครงการโยกย้ายถิ่นฐานใหม่ (Resettlement Programs) ซึ่งมุ่งเน้นบังคับให้ชาวบ้านต้องโยกย้ายออกจากที่อยู่เดิม โดยที่บางครั้งก็ไม่ได้จัดหาที่อยู่ใหม่ให้ หรือจัดสรรที่อยู่ซึ่งง่ายต่อการควบคุม หรือเป็นพื้นที่ซึ่งมีสภาพแย่กว่าที่อยู่เดิมเป็นต้น นอกจากนี้ยังมีปฏิบัติการที่เข้าไปจัดการกับชีวิตประจำวันของผู้คน เช่น การเกณฑ์แรงงานหรือไปเป็นลูกหาบให้ทหารพม่า หรือทหารพม่าเข้าไปทำร้ายร่างกายของประชาชนโดยที่กฎหมายไม่สามารถคุ้มครองใดๆได้ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้[3]

เมื่อมีการเคลื่อนย้ายคนกลุ่มนี้เข้ามามาก นอกเหนือจากสถานภาพการเข้ามาเป็นแรงงานแล้ว 
นัยสำคัญของการเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายก็ติดตามมาอย่างยากจะหลีกเลี่ยง ผู้เขียนพบว่า
รัฐราชการไทยได้เกิดการตื่นตระหนกและลุกขึ้นมาจัดการกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยการใช้มุมมอง
ที่เริ่มต้นจาก“ปรากฏการณ์ที่เป็นปัญหา” การจัดการกับปัญหาหรือสภาวการณ์ดังกล่าวของรัฐราชการ
ไทยได้วางอยู่บนพื้นฐานที่สำคัญอยู่สองประการ คือ ความต้องการจัดการกับปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมือง
เพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคง และความต้องการแรงงานไร้ฝีมือทดแทนแรงงานไทยที่ขาดแคลนในภาค
การผลิตบางส่วน ซึ่งในส่วนหลังนี้เองก็มีการตั้งคำถามที่สำคัญว่าแรงงานที่นำมาทดแทนนั้นจะต้องเป็น
แรงงานราคาถูกด้วยใช่หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อตอบสนองต่อความได้เปรียบในการแข่งขันทางการค้าของ
ผู้ประกอบการในประเทศไทย สิ่งที่สำคัญก็คือ ทั้งสองความต้องการนี้ก็ได้กลายเป็นแนวคิดสำคัญในการ
จัดการแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ภาวการณ์ที่สังคมไทยยังให้ความสำคัญกับวาทกรรม “ความมั่นคงแห่งชาติ” ที่มุ่งเน้น
การ“จัดระเบียบ”เพื่อก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยภายใน นโยบายของรัฐไทยต่อผู้ย้ายถิ่นเองก็มีความไม่ต่อเนื่อง
ขลุกขลักลักลั่น ไม่ไปในทางเดียวกัน และมักจะนิยมใช้นโยบาย “ลด” จำนวนผู้ย้ายถิ่นให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่
จะทำได้ หรือมีนโยบายผลักดันกลับไปสู่ภูมิลำเนาเมื่อโอกาสเอื้ออำนวย แต่ขณะเดียวกันด้วยสถานภาพ
ของการเป็นผู้หลบหนีเข้าเมือง อคติของสังคมไทยต่อแรงงานข้ามชาติ ประกอบกับแนวคิดในการจัดการ
ของรัฐไทยที่ผ่านมาก็วางอยู่บนฐานแนวคิดเรื่องของความมั่นคงแห่งชาติและเรื่องของการต้องการแก้ไข
ปัญหาการขาดแคลนแรงงานเป็นหลัก ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ เท่ากับเป็น
การเปิดโอกาสให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสิทธิแรงงานอันเป็น
เรื่องพื้นฐานสำคัญในการดำรงชีวิตของแรงงานเหล่านี้และเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะสร้างสังคมให้อยู่ร่วมกัน
อย่างมีความสงบสุข
          การละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่าง ๆ[4]โดยเฉพาะปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติที่เกิดขึ้น ได้แก่
1.  การถูกขูดรีดจากนายหน้าในระหว่างการขนย้ายแรงงานข้ามประเทศ
การเดินทางเข้ามาเป็นแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยนั้น กลุ่มนายหน้าเป็นบุคคลสำคัญที่จะนำพาพวกเขาเดินทาง
เข้ามาแสวงหาชีวิตใหม่ในประเทศไทยได้ นายหน้าเหล่านี้จะเป็นผู้จัดการการเดินทางทั้งหมดของแรงงาน
ข้ามชาติ เริ่มตั้งแต่เรื่องการเดินทาง จัดหาที่พัก และการหางานให้ทำ แรงงานที่เข้ามาหางานทำใน
ประเทศไทย มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพึ่งพิงนายหน้าเหล่านี้ คนพม่าที่ทำหน้าที่เป็นนายหน้าส่วนใหญ่
บ้างก็เป็นคนที่แรงงานรู้จักไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้อง เพื่อน หรือคนในหมู่บ้านเดียวกัน หรือเป็นคนที่ไม่รู้จักกัน
มาก่อน แต่ได้รับการแนะนำให้ไปติดต่อ  หรือนายหน้าเองเป็นผู้ที่เข้าไปชักชวนและเสนองานให้ทำ
ซึ่งมีทั้งแบบที่ไปหาถึงหมู่บ้านหรือนัดหมายให้มาเจอกันที่ชายแดน
            ในขบวนการนายหน้ารวมทั้งที่เป็นคนพม่าและคนไทย นายหน้าทำงานได้ต้องมีความสัมพันธ์
หรือมีความสามารถในการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เช่น การจ่ายส่วย
ค่าผ่านทาง จนถึงการเป็นหุ้นส่วนในการนำพาแรงงานเข้าเมือง หลายครั้งเจ้าหน้าที่รัฐเองเป็นผู้นำแรงงานข้ามชาติเหล่านี้เดินทางข้ามชายแดนเข้ามาหางานทำในเมืองใหญ่ๆ การจ่ายเงินให้นายหน้าเพื่อหลบหนีเข้าเมืองมาหางานทำมิได้เป็นหลักประกันความปลอดภัย เพราะแรงงานข้ามชาติต้องเดินทางแบบหลบซ่อนในรูปแบบต่างๆ เช่น ซ่อนตัวอยู่ในรถขนส่งสิ่งของ พืชผักต่างๆ ซึ่งค่อนข้างยากลำบากอันตรายและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุถึงขั้นเสียชีวิต แรงงานหญิงหลายคนเสี่ยงต่อการถูกข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศจากนายหน้าหรือเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อถูกจับกุมได้ ขบวนการนายหน้าบางส่วนทำหน้าที่เป็นเสมือนพวกค้าทาสในอดีต แรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะผู้หญิงมักจะถูกนายหน้าหลอกไปขายให้แก่สถานบริการ และบังคับให้แรงงานหญิงเหล่านี้ค้าบริการทางเพศหรือขายบริการให้แก่ชาวประมงที่ต้องออกทะเลเป็นเวลานาน
การจ่ายค่านายหน้า นายหน้าโดยส่วนใหญ่จะใช้วิธีเก็บเงินโดยตรงที่นายจ้าง และนายจ้างจะหักจากค่าแรงของแรงงานอีกต่อหนึ่ง ซึ่งกลายเป็นข้ออ้างของนายจ้างที่จะไม่จ่ายค่าแรงให้แก่แรงงาน ทำให้หลายกรณีที่แรงงานข้ามชาติทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างเลย

2.       ต้องเผชิญกับสภาพการทำงานที่เลวร้าย

            ลักษณะงานที่แรงงานข้ามชาติเข้ามารับจ้างทำงานส่วนใหญ่ ถูกจัดให้อยู่ในประเภท 3 ส. คือ สุดเสี่ยง แสนลำบาก และสกปรก ในขณะเดียวกันต้องทำงานหนักและได้รับค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม งานบางประเภทเป็นงานที่ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับฤดูกาล เช่น งานในภาคเกษตร ซึ่งต้องทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานานๆหลายชั่วโมงและไม่มีวันหยุด บางกรณีแรงงานจะถูกใช้ให้ไปทำงานที่ผิดกฎหมาย เช่น ให้ไปตัดไม้ในเขตป่าสงวนซึ่งเสี่ยงต่อการถูกจับกุมโดยนายจ้างจะไม่รับผิดชอบใดๆทั้งสิ้นต่อสิ่งที่เกิดขึ้น 
ปัญหาของแรงงานข้ามชาติแตกต่างกันไปตามลักษณะของงาน จำแนกพอเป็นสังเขปได้ ดังนี้
1. งานในภาคเกษตรกรรม ได้รับค่าแรงต่ำ ไม่มีความแน่นอนในการทำงานเพราะเป็นงานตามฤดูกาล นอกจากนี้แรงงานในภาคเกษตรกรรมยังไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานของไทย ปัญหาที่พบมากที่สุด คือ การไม่ได้รับค่าแรงจากนายจ้าง เนื่องจากนายจ้างจะใช้วิธีการบ่ายเบี่ยงไม่ยอมจ่ายค่าแรง ด้วยการอ้างว่าหักค่าใช้จ่ายจากส่วนอื่นๆแล้วหรือบางครั้งใช้วิธีการแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาจับกุมแรงงานเหล่านี้
            2. ในภาคประมงทะเล แรงงานข้ามชาติมักต้องออกทะเลเป็นเวลานาน นับตั้งแต่ 4 เดือนจนถึงนานเป็นปี โดยต้องทำงานอย่างหนัก มีเวลาพักผ่อนวันละไม่กี่ชั่วโมง สภาพความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก รวมถึงเรื่องอาหารและยารักษาโรคที่มีเพียงเพื่อให้อยู่รอดไปวันๆเท่านั้น นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อการถูกทำร้ายร่างกายและถูกฆ่าจากหัวหน้างานหรือไต้ก๋งเรือ หากทำงานไม่เป็นที่พอใจหรือเมื่อเกิดมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกัน เรื่องราวการทำร้ายฆ่าฟันมักจะเงียบหายไปจนแรงงานข้ามชาติเรียกสถานการณ์แบบนี้ว่า"นักโทษทางทะเล" ลูกเรือที่ออกเรือเข้าไปทำประมงในเขตแดนทะเลของประเทศอื่นยังเสี่ยงต่อการถูกจับกุมของเจ้าหน้าที่ในประเทศนั้นๆด้วย
            3. งานรับใช้ในบ้าน แรงงานต้องทำงานตั้งแต่เช้าจนค่ำมืด บางรายทำงานบ้านแล้วยังต้องทำงานในร้านขายของหรือทำงานในบ้านญาติของนายจ้างโดยได้รับค่าแรงจากนายจ้างคนเดียว แรงงานที่ทำงานเป็นคนรับใช้ในบ้านส่วนใหญ่มักถูกห้ามมิให้ติดต่อกับคนภายนอก โดยนายจ้างจะให้เหตุผลว่ากลัวแรงงานนัดแนะให้คนข้างนอกเข้ามาขโมยของในบ้าน รวมทั้งอาจจะถูกนายจ้างดุด่าว่ากล่าวอย่างรุนแรงรวมถึงการทำร้ายร่างกายด้วย
            4. แรงงานห้องแถว แรงงานข้ามชาติที่ถูกหลอกให้เข้าไปทำงานในโรงงานห้องแถวจะถูกกักให้ทำงานอยู่แต่เฉพาะในโรงงาน และต้องทำงานอย่างหนักตั้งแต่เช้าไปจนเกือบเที่ยงคืน โดยนายจ้างจะเป็นผู้จัดเตรียมอาหารให้ ซึ่งเป็นอาหารที่แย่มากบางครั้งนำอาหารที่เกือบเสียแล้วมาให้แรงงานทาน บางกรณีแรงงานได้รับประทานอาหารเพียงวันละ 2 มื้อ และไม่เพียงพอ
            5. แรงงานก่อสร้าง  แรงงานในภาคการก่อสร้างเป็นกิจการที่พบว่าแรงงานข้ามชาติจะถูกโกงค่าแรงบ่อยที่สุด ปัญหาค่าแรงนับเป็นปัญหาหลักที่อยู่คู่กับแรงงานข้ามชาติตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน และพบในแทบทุกกิจการ โดยที่นายจ้างมักจะผลัดผ่อนค่าแรงไปเรื่อยๆ เมื่อแรงงานเข้าไปทวงค่าแรงมักจะได้รับคำตอบว่าหักเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆไปหมดแล้ว หรือหากเป็นเงินจำนวนมากๆบางรายมักจะใช้วิธีแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปจับกุมแรงงานข้ามชาติเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายเงิน ในขณะเดียวกันแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่เมื่อยังไม่ได้รับค่าแรงมักจะดำรงชีวิตโดยการหยิบยืมเงินหรือเอาข้าวของจากร้านค้าต่างๆด้วยการติดหนี้สินไว้ก่อน เมื่อไม่มีเงินจ่ายหนี้ทำให้แรงงานอยู่ในภาวะยากลำบาก ในหลายกรณีแรงงานไม่ได้รับค่าแรงอย่างเต็มที่ คือ นายจ้างให้แรงงานทำงานไปก่อน 25 วันและจ่ายเพียง 15 วัน โดยค่าจ้าง 10 วันที่เหลือ นายจ้างใช้เป็นกลวิธีควบคุมแรงงานไม่ให้คิดหนีหรือไม่ทำงาน
            ในแง่ของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มีบทบัญญัติบังคับให้นายจ้างจ่ายค่าตอบแทนให้แรงงานตามค่าแรงขั้นต่ำที่กำหนด แต่ปรากฏว่าค่าแรงของแรงงานข้ามชาติเกือบทั้งหมดจะได้รับต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ โดยเฉลี่ยจะอยู่ในอัตราตั้งแต่ 40 - 120 บาทต่อวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแทบพื้นที่ชายแดนรายได้ต่อวันสูงสุดไม่เกินวันละ 80 บาท และน้อยรายนักที่จะได้รับค่าแรงล่วงเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้  โดยในบางพื้นที่ต้องทำงานวันละ 12 - 14 ชั่วโมงโดยไม่ได้รับค่าล่วงเวลาเลย
3.       การถูกทำร้ายร่างกายและล่วงละเมิดทางเพศ
            ปัญหาภาษาเป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งของแรงงานข้ามชาติ เมื่อแรงงานข้ามชาติไม่สามารถสื่อสารกับนายจ้างได้มากนัก ทำให้นายจ้างหลายรายไม่เข้าใจและเกิดความรู้สึกไม่พอใจแรงงานข้ามชาติ แรงงานข้ามชาติจึงมักถูกนายจ้างด่าทออย่างหยาบคาย ทั้งนี้อาจเนื่องด้วยอคติทางชาติพันธุ์ประกอบ บางครั้งถึงกับลงมือทำร้ายแรงงานข้ามชาติอย่างรุนแรง บางกรณีจนถึงขั้นเสียชีวิต แรงงานข้ามชาติหนึ่งจำนวนไม่น้อยถูกนายจ้างหรือคนในบ้านของนายจ้างข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศ และ/หรือบางครั้งนายจ้างที่เป็นผู้หญิงเองก็เพิกเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
4.       ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐ
             เนื่องจากแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่เป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ไม่มีบัตรอนุญาตทำงานจึงหวาดกลัวต่อการถูกจับกุม ทำให้แรงงานส่วนใหญ่ใช้วิธีจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็น "ค่าคุ้มครอง" เพื่อไม่ให้ตนเองถูกจับกุม ประกอบกับที่ผ่านมาแม้รัฐบาลมีนโยบายให้แรงงานข้ามชาติจดทะเบียนเพื่อขออนุญาตทำงาน แต่นายจ้างมักจะยึดบัตรอนุญาตของแรงงานเอาไว้ทำให้แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ไม่รอดพ้นจากการถูกจับกุมของเจ้าหน้าที่ แรงงานหลายคนจึงรู้สึกว่าการมีหรือไม่มีบัตรอนุญาตทำงานไม่มีความแตกต่างกันมากนัก เพราะยังไงต้องจ่ายเงิน ”ค่าคุ้มครอง” ให้กับเจ้าหน้าที่อยู่ดี ทำให้แรงงานข้ามชาติหลายคนใช้วิธีการจ่ายส่วยให้แก่เจ้าหน้าที่แทนการไปจดทะเบียน
            แรงงานข้ามชาติจำนวนมากไม่มีเงินจ่ายค่าส่วยจะถูกจับกุมคุมขัง ปัญหาการจับกุมคุมขังของแรงงานข้ามชาติมีความรุนแรงอยู่มาก นอกจากเรื่องของห้องขังที่แออัดยัดเยียด ปัญหาสภาพความเป็นอยู่ อาหารประจำวันและห้องน้ำของผู้ถูกคุมขัง ยังพบว่ามีการทำร้ายร่างกายแรงงานข้ามชาติที่ถูกจับกุมโดยทั้งจากเจ้าหน้าที่และผู้ช่วยผู้คุมซึ่งเป็นนักโทษไทยที่อยู่ในที่คุมขัง มีการทุบตีทำร้ายแรงงานข้ามชาติที่ถูกจับกุมหากไม่พอใจจนถึงขั้นบาดเจ็บอย่างรุนแรงจนถึงเสียชีวิต มีการข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศ การกระทำอนาจารต่อผู้ต้องขังที่เป็นแรงงานข้ามชาติหญิง เช่น ให้ผู้ต้องขังชายช่วยตัวเองหน้าห้องผู้ต้องขังหญิง ไปจนถึงการข่มขืนกระทำชำเราผู้ต้องขังหญิง โดยนักโทษชายที่เป็นคนไทยต่อหน้าเจ้าหน้าที่ที่ไม่ใส่ใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือบางครั้งเจ้าหน้าที่รัฐบางคนก็เป็นผู้กระทำเสียเอง
จากที่กล่าวมาทั้ง 4 ข้อใหญ่ๆจะเห็นได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านั้นเป็นปัญหาเชิงความรุนแรงที่เกิดขึ้นซ้อนทับกันตั้งแต่ความรุนแรงทางกายภาพที่ปรากฎเห็นได้ชัด ดังเช่น กรณีการทำร้ายร่างกาย การล่วงละเมิดทางเพศ และการฆ่า ไปจนถึงความรุนแรงทางโครงสร้างที่มองไม่เห็นได้ชัดเจนนัก เช่น การปกครองประเทศโดยระบอบเผด็จการทหาร การมีนโยบายรัฐที่ไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน การกดขี่แรงงาน การขูดรีดค่าแรง รวมไปถึงกระบวนการคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศต้นทางและในประเทศไทย
          แต่ผู้เขียนเห็นว่ามีความรุนแรงที่แฝงเร้นอีกชนิดหนึ่ง ซึ่ง“เรา”อาจลืมเลือนไปหรือไม่คิดว่ามันดำรงอยู่ คือความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากอคติและความเคยชิน จะเห็นได้ชัดว่าหากเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่มีต่อคนเหล่านี้ขึ้น หลายคนมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา หลายคนมองว่าเป็นเรื่องสมควรแล้วที่คนเหล่านี้จะได้รับ หลายคนรับรู้แล้วลืมเลือนมันไป ปัญหาของความรุนแรงชนิดนี้ไม่ได้อยู่ที่การทำร้ายร่างกาย แต่เป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่โดยไม่รู้ตัว ที่สำคัญคือผู้ที่กระทำความรุนแรงประเภทนี้ก็ไม่รู้ตัวเช่นกันว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดความรุนแรง และที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ แท้จริงแล้วพวกเขาเหล่านั้นก็เป็นเหยื่อของความรุนแรงด้วยเช่นกัน
5.  ความรุนแรงเชิงอคติทางชาติพันธุ์
            ปัญหาหนึ่งที่เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิต่อแรงงานข้ามชาติ คือ ปัญหาอคติทางชาติพันธุ์ที่มีต่อแรงงานข้ามชาติ  มีการสร้างและผลิตซ้ำผ่านสื่อหรือกลไกต่าง ๆ ในสังคมเพื่อตอกย้ำให้เห็นว่าแรงงานข้ามชาติเหล่านี้เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐต้องทำการควบคุมอย่างจริงจัง แรงงานข้ามชาติเหล่านี้เข้ามาแย่งงานแรงงานไทยต้องไล่ออกไปให้หมด  ทั้งที่แรงงานเหล่านี้เข้ามาทำงาน “3 ส.” งานที่แรงงานไทยส่วนใหญ่ไม่ทำกันแล้ว
แนวคิดและการผลิตซ้ำทำให้สังคมไทยสร้างภาพความหวาดระแวงต่อแรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะแรงงานพม่า คิดว่าแรงงานข้ามชาติเป็นตัวอันตรายน่ากลัว แรงงานข้ามชาติเองต้องคอยหลบๆซ่อนๆด้วยเกรงว่าจะถูกจับกุมทำร้าย สภาพการณ์เหล่านี้ถูกสร้างเป็นภาพมายาที่กดทับให้สังคมไทยหวาดระแวงแรงงานข้ามชาติ เกิดเป็นคำถามสำคัญว่าในฐานะมนุษย์ที่อยู่ร่วมพรมแดนติดต่อกันจะดำรงสถานภาพของมิตรภาพและสันติสุขต่อกันได้อย่างไรในเมื่อต่างหวาดระแวงปราศจากความไว้วางใจต่อกันและกัน
          ในช่วงที่ผ่านมาสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากเรื่องแรงงานข้ามชาติก็คือ สังคมที่ดำรงอยู่ด้วยความกลัว เราถูกทำให้กลัวในซึ่งกันและกัน คนไทยกลัวแรงงานพม่า กลัวว่าพวกเขาเหล่านั้นจะมาทำร้ายตนเอง กลัวพวกเขาเหล่านั้นจะก่อเหตุร้ายกับคนรอบข้างของตนเอง ในขณะเดียวกันแรงงานข้ามชาติก็กลัวคนไทยจะมาทำร้ายพวกเขา กลัวคนไทยจะแจ้งความจับพวกเขา กลัวการถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายพวกเขา กลัวนายจ้างจะทำร้ายพวกเขา กลัวการถูกส่งกลับไปสู่ความไม่ปลอดภัยในประเทศของตนเอง ความกลัวเหล่านี้ไม่ใช่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เป็นความกลัวที่ถูกสร้างขึ้นจากการรับรู้ผ่านสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการบอกเล่า การนำเสนอข่าว การประชาสัมพันธ์โดยรัฐ จากการศึกษา และรวมถึงจากการไม่รู้ เช่น เรากลัวเพราะเราไม่สามารถสื่อสารกับพวกเขาได้ ซึ่งก่อให้เกิดฐานคติที่เป็นลบต่ออีกฝ่ายหนึ่ง และสังคมได้ผลิตซ้ำฐานคติเหล่านี้ครั้งแล้วครั้งเล่า จนกลายเป็นความปกติ ความเคยชิน และสุดท้ายกลายเป็นเรื่องธรรมชาติของใครหลายคนไป
          การดำรงอยู่ของ “สังคมแห่งความกลัว” นี้เองที่ช่วยเสริมสร้างให้ความรุนแรงทางกายภาพเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้การกดขี่ขูดรีดคนข้ามชาติเหล่านี้เกิดขึ้นเหมือนเป็นเรื่องปกติ จนกระทั่งกลายเป็นแนวนโยบายแนวปฏิบัติของรัฐ และกลายเป็นความชอบธรรมให้แก่ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆไป


[1] กฤตยา อาชวนิจกุล, สถานะความรู้เรื่องแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยและทิศทางการวิจัยที่พึงพิจารณา (นครปฐม: โครงการพัฒนาและปรับปรุงฐานข้อมูลแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2546) หน้า 1.
[2] สุริยา สมุทคุปติ์ และพัฒนา กิติอาษา. มานุษยวิทยากับโลกาภิวัฒน์: ข้อเสนอเบื้องต้นเกี่ยวกับ “แรงงานข้ามชาติ” และ“นักมานุษยวิทยา” ในบริบทของ
วัฒนธรรมโลก.
(นครราชสีมา:ห้องไทยศึกษานิทัศน์,สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ,2538) หน้า 88-89.
[3] สุรสม กฤษณะจูฑะ. สิทธิของผู้พลัดถิ่น :ศึกษากรณีชาวไทใหญ่จากประเทศพม่า. (กรุงเทพมหานคร:งานวิจัยชุดโครงการการพัฒนาระบบสวัสดิการสำหรับคนจนและคนด้อยโอกาสในสังคมไทย, 2546) (เอกสารอัดสำเนา)
[4] อดิศร เกิดมงคล บรรณาธิการ. จากแรงงานทาสสู่แรงงานเถื่อน (กรุงเทพมหานคร: เฟื่องฟ้าพริ้นติ้ง, 2546) บทนำ.
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 16225เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2006 13:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 11:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับ อาจารย์

ข้อมูลที่เขียนมามีประโยชน์มากเลย โดยเฉพาะถ้าพูดถึงเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานแล้ว ทุกประเทศจะหนีไม่พ้นเพียงแค่มากหรือน้อย แต่ส่วนใหญ่แล้วสำหรับประเทศที่ร่ำรวยกว่าจะขาดแรงงานไร้ฝีมือ

หากอาจารย์มีข้อมูลหรือเว็บไซด์เกี่ยวกับแรงงานที่อาจารย์ หรืออื่นเขียน ขอโปรดขึ้นเว็บ

จักขอบคุณยิ่ง

ตาสันญืองา

คุณอดิศรค่ะ

อยากรบกวนขอถามเกี่ยวกับทุนวิจัยที่เกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติค่ะ

พอดีดิฉันเรียนป.โท อยู่สาขาการศึกษานอกระบบ ม.เชียงใหม่ค่ะ

และเป็นอาสาสมัครจัดการศึกษาให้กับแรงงานข้ามชาติชาวไทใหญ่

ในจังหวัดเชียงใหม่ค่ะ ก็จะทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ค่ะ

ในประเด็นเกี่ยวกับการศึกษาเรียนรู้ของแรงงานข้ามชาติชาวไทใหญ่ค่ะ

จึงอยากรบกวนถามว่ามีแหล่งทุนไหนที่สนับสนุนงานวิจัยที่เกี่ยวกับเรื่องของ

แรงงานข้ามชาติบ้างค่ะ รบกวนด้วยนะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท