หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

ยาลดอ้วนนี้แรงพอรึเปล่า


การเคลื่อนไหวร่างกาย ช่วยให้กล้ามเนื้อของผู้ป่วยโรคเบาหวาน และ ความดันโลหิตสูง ตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินดีขึ้น การเคลื่อนไหวร่างกายให้พอเหมาะกับสภาพร่างกายจึงให้ประโยชน์ต่อคนเป็นเบาหวานในการช่วยคุมโรค และช่วยคนไข้ความดันโลหิตสูงไม่เกิดโรคเบาหวานแทรก

ครอบครัวหนูดี มาพบฉันในวันหนึ่ง  ณ วันนี้หนูดีมีอายุ 14 ปีแล้ว  ครอบครัวหนูดีมีอาชีพทำสวนยาง  แม่เป็นคนตัด ลูกไปช่วยเก็บรวบรวม  กิจวัตรทุกเช้าของแม่ คือ ตื่นนอนตั้งแต่เที่ยงคืน เข้าสวนไปกรีดยาง  และเช้าหนูดีตามเข้าสวนไปช่วยรวบรวมขี้ยาง  หนูดีได้ออกไปช่วยแม่ทำงานราววันละ 2 ชั่วโมง  เมื่อหนูดีทำงานเสร็จ 2 แม่ลูกก็จะกลับบ้านพร้อมกัน

 

วันที่หนูดีมาพบฉัน   ปัญหาที่หนูดีมาพบฉันไม่ใช่เรื่องเบาหวาน  แต่เป็นเรื่องอาการคันช่องคลอด   หนูดีมีคู่ชีวิตแล้ว แม่เล่าว่าอยู่ในบ้านเดียวกัน 

 

เพราะแวบนึกถึง หนูต่าย คนไข้โรคผิวหนังที่ฉันดูแลเธอมาตั้งแต่อายุ 10 ขวบซึ่งขณะนี้หนูต่ายเป็นเบาหวานมาราว 3 ปี   และเห็นหนูดีหุ่นท้วมๆ   ฉันจึงซักถามเธอเพิ่มเรื่องน้ำหนักตัว และรอบเอว  หนูดีบอกว่า น้ำหนักตัวเธอ 58 กก.  ฉันคำนวณหุ่นแล้วเธอสูงประมาณ 150 ซม.  เธอบอกว่ารอบเอวกางเกงอยู่ที่ 80 ซม.  จึงไม่ต้องพูดถึงว่ามีพุงหรือไม่  

 

เมื่อรู้ขนาดตัวของหนูดี  และปัญหาที่เธอมาพบฉัน  ฉันก็แว๊บไปถึงโรคเบาหวาน  จึงซักประวัติเพิ่มว่ามีความเสี่ยงในครอบครัวหรือไม่   แม่บอกว่าไม่มีใครเป็นเบาหวาน   หนูดีเริ่มงงๆว่า เธอมาหาฉันเรื่องอื่น ทำไมฉันซักประวัติเรื่องเบาหวานในครอบครัวเธอ   แม่เองก็งง  ฉันจึงบอกว่า  อาการแบบเธอพบในคนเป็นเบาหวานได้  ที่ซักถามเพราะขณะนี้โรคเบาหวานเจอในคนอายุน้อยแล้ว  โรคนี้จึงไม่ใช่โรคของคนแก่อีกต่อไป   โรคนี้เมื่อเป็นแล้วอยู่กับตัวไปจนตาย  จะลงเอยด้วยอะไรในตระกูลมันไม่มีใครรู้ตัวล่วงหน้า  จึงอยากให้เธอถอยห่างจากมันในขณะที่ยังถอยห่างได้

 

สิ่งที่ควรปรับในกิจวัตรประจำวันของคน เพื่อป้องกันความดันเลือดสูงและเบาหวาน คือ การกินอาหาร และ การเคลื่อนไหว  จากที่หนูดีเล่ามาแล้วข้างต้น  การเคลื่อนไหวของเธอนานพอที่จะไม่ทำให้เกิดอาหารส่วนเกินเหลือเก็บในร่างกายให้เอวเพิ่ม  ฉันจึงให้หนูดีเล่าเรื่องกิจวัตรประจำวันให้ฉันฟังต่อ  แล้วแม่ลูกก็ช่วยกันเล่า ได้ข้อมูลใหม่เพิ่มมา คือ  หนูดีตื่นช่วยแม่ตั้งแต่ 6 โมงเช้า ไปทำงานเลยโดยไม่กินอาหาร ทำงานช่วยแม่ 2 ชั่วโมง  กลับบ้านก็ไม่กินมื้อเช้า  กินมื้อเที่ยงเลย  หลังกินข้าวเที่ยงก็นอนพัก   ข้าวมื้อเที่ยงกินประมาณ 4 ทัพพี เข้านอนหลังกินมื้อเย็น 2 ชั่วโมง นอนราว 2 ทุ่ม มื้อเย็นบางมื้อกินข้าว 6 ทัพพี บางวัน 4 ทัพพี    แม่เล่าว่า วันที่ไม่ได้ไปช่วยงานแม่ หนูดีจะตีแบดกับเพื่อนที่บ้าน 

 

ฉันจึงถึงบางอ้อ น้ำหนักโยโย่และกินแล้วนอนหลังกินไม่ถึง 4 ชั่วโมงนี่เองที่ทำให้หนูดีท้วม   ฉันจึงให้หนูดีปรับกิจกรรมประจำวันใหม่ 

 

- ให้กินอาหารเช้าก่อนไปทำงานช่วยแม่  ไม่ควรอด เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดน้ำหนักโยโย่จากการอด    หากไม่ได้กินข้าวเช้าจริงๆ  ก็ให้ดื่มน้ำอุ่นก่อนไปช่วยแม่ และให้นำน้ำไปดื่มด้วย  

 

- กลับจากงาน  ไม่ควรกินอาหารก่อนพักนอน แต่ควรกินหลังนอนพัก  หากหิวก็ให้กินผลไม้หรือน้ำดื่มสะอาดแล้วเข้านอน  ตื่นแล้วจึงกินอาหารเพื่อให้อาหารที่กินเข้าไปมีการใช้ออกตอนตื่น     

 

-มื้อเย็นให้ลดอาหารลงไม่ควรกินหนักถึง 6 ทัพพี   และให้ปรับเพิ่มผลไม้และผัก หากปรับแล้วไม่อิ่ม  ให้กินผลไม้ก่อนตามที่กินได้ ไม่อิ่มจึงกินข้าวตาม 

 

- ให้งดน้ำเย็น ดื่มน้ำอุ่นเพิ่มขึ้นให้มาก

 

- งดการเล่นแบดมินตัน ในวันที่ได้ไปทำงานสวน  เพราะการตีแบดมินตันในขณะที่น้ำหนักตัวหนูดีขนาดนี้ จะทำให้เกิดการบาดเจ็บที่เข่าสะสมจากแรงกระแทกซ้ำๆในขณะตีแบด แล้วในที่สุด หนูดีก็จะมีปัญหาปวดเข่ามาให้รักษาอีก    ถ้าชอบตี ให้น้ำหนักตัวหนูดีเบากว่านี้  ค่อยตีใหม่

 

- แม่ถามว่า กิจวัตรของเธอต่างจากหนูดี ตรงที่ เธอไม่พักนอนกลางวัน หลังกลับจากสวนเธอจะทำงานบ้านตลอดบ่าย นานราว 4 ชั่วโมง  สำหรับแม่ อดอาหารมื้อเช้าไม่เป็นไรใช่ไหม   ฉันจึงเล่าเรื่องน้ำหนักโยโย่ให้ฟัง    ระหว่างเล่า ก็สำรวจตัวแม่โดยเร็ว แม่เองก็เอวเกิน ดูท้วม   การที่แม่คุย ลปรร กับฉันบอกให้รู้ว่า แม่เริ่มเข้าใจแล้วว่า แม่ต้องปรับพฤติกรรมตัวเองด้วย แม่จึงจะมีโอกาสถอยห่างจากโรค    ฉันจึงให้ข้อมูลป้อนกลับว่า  สิ่งที่แม่ทำอยู่ดีแล้ว สำหรับการไปทำสวน และ การใช้เวลาทำงานบ้านนานๆ  เพื่อเพิ่มการใช้อาหารสะสมของร่างกาย  แต่ที่ต้องปรับ คือ การปรับเวลากินมื้อเช้า  ให้มีการกินก่อนใช้งาน  

 

การประเมินหนูดีว่าเคลื่อนไหวพอเพียงกับการมีสุขภาพดีมากน้อยเพียงไร   ฉันใช้หลักดูจาก

- ระดับความแรงของการเคลื่อนไหวที่เป็นกิจวัตรประจำวันอยู่แล้ว

- ระยะเวลาที่เคลื่อนไหวสะสมต่อวัน

- ความต้องการใช้พลังงานในกิจวัตรประจำวัน

 

โจทย์ที่ 1 ของหนูดี คือ เพียงพอในการทำให้กล้ามเนื้อตอบรับอินซูลินได้ดีหรือไม่

คำตอบ คือ  การเดินหิ้วยางในสวนยางที่ไม่เรียบ นาน 2 ชั่วโมงโดยไม่หยุดเกือบทุกวัน วันที่หยุดไปสวนยางตีแบดมินตัน  พอสำหรับการทำให้กล้ามเนื้อหนูดีตอบรับอินซูลินดี   การถอยห่างจากความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานจึง O.K. แล้ว

หนูดียังมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูงจากการท้วม   ระดับความแรงของการเคลื่อนไหวของการทำงานในสวนของหนูดีได้ระดับปานกลางถึงหนัก และระยะเวลาถึงระดับแอโรบิก  จึงไม่จำเป็นที่จะต้องปรับเพิ่มเรื่องของการออกกำลังกายแอโรบิก     

สิ่งที่ไม่เพียงพอสำหรับหนูดี คือ การเคลื่อนไหวข้อต่อเพื่อไล่ความเมื่อยล้าของข้อต่อทั้งระยางค์ส่วนบนและส่วนล่าง  ความคล่องตัวต่อการไปช่วยแม่ทำงานจึงจะคงตัว

  

โจทย์ที่ 2 ของหนูดี  คือ เพียงพอที่จะลดความท้วมได้หรือไม่

คำตอบ  คือ  ระยะเวลาที่เดินและระดับความแรงช่วยลดความท้วมได้อยู่แล้ว  ดังนั้นการที่หนูดีท้วม ไม่ได้เกิดจากการออกกำลังกายไม่พอ แต่เกิดจากกินไม่เหมาะสม  หากต้องการลดความท้วม ก็ต้องไปปรับเรื่องอาหาร

 

โจทย์ที่ 3  ของหนูดี  คือ  ความท้วมมาจากอาหารมื้อไหนเกิน  

คำตอบ  คือ  ชีวิตประจำวันของคน ใช้พลังงานจากอาหารมื้อที่กิน หากไม่กิน ก็ไปนำเอามาจากที่สะสมไว้ในร่างกายใช้แทน  หากกินเกินใช้  ส่วนที่เหลือใช้จะถูกแปลงเก็บเป็นไขมันในร่างกาย   มื้อใดที่อด จะมีการโปรแกรมไว้ว่า ให้ไปดึงจากที่เก็บมาใช้   สำหรับหนูดีมีทั้ง 2 เรื่องเป็นสาเหตุ   

ผังการใช้ชีวิตประจำวันใหม่ของหนูดีจึงควรปรับที่ การจัดเวลาของการกินเสียใหม่ให้สอดคล้องกับกิจวัตรการเคลื่อนไหว และควรจัดเวลานอนหลังอาหารไว้ให้ห่างเวลากินอาหารอย่างน้อย 4 ชั่วโมง

 

ก่อนจากกัน แม่ของหนูดี ถามว่า หากจะซื้อแอบเปิ้ลไปกิน  จะดีไหม  คำถามบอกให้ฉันรู้ว่า  2 แม่ลูกเข้าใจสิ่งที่ฉันแนะนำ และรู้ว่า จะไปทำอย่างไรให้เป็นเรื่องดีๆกับตัวเองแล้ว   แปลว่าวันนี้ ฉันช่วยคนให้ถอยห่างจากโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงได้เพิ่มขึ้นอีก 2 คนแล้ว   น่าดีใจใช่ไหม

 

26 มกราคม 2551  

  

 

 

  

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 161574เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2008 22:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:29 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท